สมัยเรียนมัธยม เวลาเราเรียนภาษาอังกฤษ ส่วนมากจะเน้นข้อสอบแกรมม่าอย่างเข้มข้น เรื่องสั้นที่นานทีจะได้อ่าน เป็นงานเขียนต่างชาติรูปแบบเดียวกับที่เราเจอได้ประปรายในห้องเรียนมัธยม แต่ด้วยความบังเอิญหรือพลังงานอะไรบางอย่าง ทำให้เราจับพลัดจับผลูมาเรียนวิชาพัฒนาทักษะการเขียนด้านวรรณคดีอังกฤษที่ชื่อ Jane Austen ในมหาวิทยาลัย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากวิชาด้านสื่อ การเมือง และกฎหมายที่เราสนใจเต็มหมดแล้ว

แล้ว Jane Austen เป็นใครกันล่ะ

เจน ออสติน (Jane Austen) เป็นนักเขียนหญิงชื่อดังจากประเทศอังกฤษในยุครีเจนซี่ หรือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายคนคงคุ้นชื่อ Pride and Prejudice หนังสือนิยายรักโรแมนติกระดับตำนานของเธอ แน่นอนว่าต้องนึกถึงซีรีส์ยอดฮิต Bridgerton เรื่องราวความรักสุดร้อนแรงระหว่างท่านดยุก และ ดาฟเน บริดเจอร์ตัน ที่เกิดขึ้นในยุครีเจนซี่เช่นเดียวกัน 

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น
ภาพ : janeaustenlf.org/inspired-by-jane

เจน ออสติน นับว่าเป็นผู้พลิกวงการนิยายแห่งยุคเลยทีเดียว เธอเป็นคนแรกๆ ของยุครีเจนซี่ที่นำเสนอลักษณะนิสัยของตัวละครและสภาพสังคมแบบสมจริงแบบสุดๆ จนนิยายของเธอกลายเป็นต้นแบบนิยายรักสมัยนั้นไปเลย ข้อมูลทั้งหมดนี้ ก่อนเข้าคลาสเราก็ไม่เคยรู้เรื่องรู้ราวมาก่อนเลยสักนิด 

ก่อนจะเข้าเรียนแบบจำใจ เราก็นั่งนึกว่าวิชาที่มีชื่อเป็นเพียงนักเขียนยุคเก่า ใช้ภาษาอังกฤษโบราณๆ จะเรียนไปเพื่อ! แต่พออ่านไปอ่านมา ออสตินกลับทำให้เราตะลึงกับความโมเดิร์นที่แอบซ่อนอยู่ในหนังสือเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ก็ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว ออสตินมองเห็นอนาคต หรือคนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองกันสักเท่าไหร่กันแน่ แต่ที่รู้สึกคุ้มที่สุดก็คือ คลาสนี้ทำให้เราดู Bridgerton ได้แบบมีสาระและสนุกขึ้นเป็นเท่าตัวเลย

ในคลาสนี้ เราอ่านผลงานของเจน ออสติน 5 จาก 6 เรื่อง เพื่อถกเถียง วิเคราะห์ ไปพร้อมกับเพื่อนๆ แอบน้ำตาไหลเบาๆ เพราะต้องอ่านหนังสือนิยายประมาณสัปดาห์ละร้อยหน้า จากนักเขียนคนเดิมตลอดระยะเวลา 3 เดือน 

ถ้าอ่านมากกว่านี้อีกนิดก็ต้มหนังสือกินพอดี แต่ถ้าต้มกินจริงๆ หนังสือพวกนี้ก็ถือว่าถูกปากเราทีเดียว 

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น

ท่องยุครีเจนซี่กับ 5 นิยายจาก Jane Austen

1. Sense & Sensibility

หนังสือนิยายเล่มแรกที่ได้สัมผัสในคลาสคือ Sense and Sensibility เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Elinor พี่สาวผู้มีสติปัญญาเป็นเลิศ รู้จักคิดแยกแยะไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลา และ Marianne น้องสาวขั้วตรงข้ามที่ใช้ชีวิตแบบติสต์ๆ ตามอารมณ์และอินเนอร์ ถ้าจะให้เทียบแล้ว Elinor ในยุคนี้คงทำงานเป็น Data Analyst ส่วน Marianne คงเป็นศิลปินคลั่งรักที่ชอบโพสต์คำคมอกหักตามทวิตเตอร์ 

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น

จากการอ่านนิยายเล่มนี้ เราพบว่าหนังสือของออสตินโฟกัสไปที่การฟาดฟันกันใน Marriage Market ของสาวๆ ยุครีเจนซี่เพื่อตามหาความมั่นคงในชีวิต โดยการแต่งงานกับชายหนุ่มที่มีเกียรติและฐานะเพียบพร้อม เพียงแค่แต่งชุดราตรีให้สวยที่สุด เต้นรำให้เป๊ะ วาดรูปให้เป็น เปียโนฟอร์เต้ต้องเซียน และที่สำคัญต้องไม่เรื่องมาก แล้วเลือกคนรวยที่สุดก็พอ หญิงสาวในสมัยนั้นก็จะบรรลุเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิต ก็คือการแต่งงานนั่นเอง 

แต่ถ้าคิดว่านางเอกของออสตินจะต้องเรียบร้อย อยู่ในกรอบ พร้อมตกลงปลงใจกับหนุ่มๆ ทันทีแบบในรายการ Take Me Out บอกเลยคุณคิดผิด เพราะนางเอกของเธอล้วนแปลกแหวกแนวจากสาวงามทั่วไปในยุคสมัยนั้น 

จนทำให้เกิดปมปัญหาในการหาคู่ แบบนี้สิเรื่องราวถึงจะสนุก

2. Pride & Prejudice

เล่มที่ 2 เป็นหนังสือเรื่อง Pride and Prejudice นิยายรักโรแมนติกฮอตฮิตตลอดกาลของเจน ออสติน เราจะพบกับ Elizabeth นางเอกของเรื่องที่ฉีกขนบของยุครีเจนซี่ เพราะเธอเป็นหญิงสาวที่ไม่ได้สวยหวานเพอร์เฟกต์แบบดาฟเน บริดเจอร์ตัน แต่กลับมีความฉลาดเฉลียว พูดจาฉะฉาน พร้อมลุยทุกสถานการณ์ กล้ายกกระโปรงเดินลุยโคลน แถมยังกล้าปฏิเสธเหล่าชายหนุ่มลูกเศรษฐีที่เข้ามาขอแต่งงานอีกต่างหาก 

นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักหว่าง Elizabeth และ Mr.Darcy มีอุปสรรคเป็นความแตกต่างระหว่างชนชั้น ความทะนงตน (Pride) ของ Mr.Darcy และอคติ (Prejudice) ของ Elizabeth 

พออ่านเรื่องนี้จนจบ เรากลับพบว่า อ้าว เห้ย ไม่เห็นจะอินเท่าไหร่เลย แต่เรากลับสนใจตัวประกอบที่รับบทเป็นพ่อของสาวๆ ในเรื่องซะมากกว่า เรามีสมมติฐานที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าว่า ตัวละคร Mr.Featherington จากซีรีส์ Bridgerton ผู้ที่วันๆ เอาแต่เล่นการพนันจนทำครอบครัวถังแตก คงจะได้รับอิทธิพลมาไม่มากก็น้อยจาก Mr.Bennet ใน Pride and Prejudice ผู้เป็นพ่อที่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้นนอกจาก Elizabeth ลูกสาวคนโปรด และการใช้ชีวิตในห้องสมุดของตัวเองเพื่อหลบหนีความวุ่นวาย ไร้สาระของลูกสาวคนอื่นๆ ในบ้าน โดยเฉพาะจากภรรยาของเขา

บทบาทของ Mr.Featherington และ Mr.Bennet ทำให้เรามองเห็นการกดทับทางสังคมต่อเพศชาย ที่ทำให้พวกเขาต้องแบกรับภาระหน้าที่รับผิดชอบครอบครัว โดยแสดงอารมณ์ใด ๆ ออกมาไม่ได้ ในหนังสือของเจน ออสติน เรามักพบกับฉากระเบิดอารมณ์ (Hysterics) ของผู้หญิงที่ต้องเผชิญความกดดันทางสังคมเรื่องการแต่งงานอยู่บ่อยๆ แต่ใน Bridgerton เรากลับได้เห็น Mr.Featherington ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรกับการเป็นหนี้พนัน 

สำหรับเราแล้วนั่นเป็นฉากที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นการสลับบทบาทของผู้หญิงที่มักจะระเบิดอารมณ์ (Goes into Hysterics) ในยุคของเจน ออสติน กลายเป็นตัวละครผู้ชายที่ร้องไห้ออกมาแทน เมื่ออินขนาดนี้ เราเลยเขียน Essay เรื่องความเป็นพ่อในยุครีเจนซี่ส่งอาจารย์ไปหนึ่งเรื่อง แล้วก็นั่งคิดไปพลางๆ ว่า นี่คือ Toxic Masculinity ที่กดดันผู้ชายให้เป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีที่แล้วหรือเปล่านะ

จดหมายรัก : (จินตนาการ) ว่ามาจากท่านดยุก

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น

คลาสของเราพักเบรกจากนิยายกันสักหนึ่งสัปดาห์ เพื่อแวะชม Special Collection ของห้องสมุดมหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บเอกสารทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย เราได้ลองอ่านหนังสือของเจน ออสติน ฉบับจริงที่ตีพิมพ์ในช่วงศตวรรษที่ 18 แถมยังแอบอ่านจดหมายของคนยุครีเจนซี่ตัวจริงเสียงจริงที่มหาวิทยาลัยอนุรักษ์ไว้ด้วย อ่านทีต้องจับจดหมายแบบเบามือที่สุด เพราะกระดาษกรอบๆ อายุเป็นร้อยปีพร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น

รูปที่เห็นเป็นจดหมายรักที่เขียนแบบทแยงมุมทับกัน อ่านได้ทั้งหน้าตรงๆ ทั้งแนวทแยงมุม หลังจากนั่งแกะลายมือกับเพื่อนๆ ก็เจอคำว่า I love you, Beautiful แล้วก็ Lover คนสมัยก่อนเขาโรแมนติกกันจริงๆ ใครจะยืมวิธีนี้ไปเขียนจดหมายจีบสาว สารภาพรักวันวาเลนไทน์ก็ไม่ว่ากัน

3. Mansfield Park

เรื่องต่อมา เราขอเรียกว่านิทานซินเดอเรลล่าแบบฉบับของ เจน ออสติน

Mansfield Park หนังสือเล่มที่ 3 ของออสติน เรื่องราวเกี่ยวกับ Fanny หญิงสาวต่ำต้อยที่ได้รับการเลี้ยงดูในคฤหาสน์ Mansfield Park เธอต้องใช้ชีวิตเศร้าสร้อยกับพี่เลี้ยง พ่อเลี้ยง และแม่เลี้ยงที่ไม่ได้ดูแลประคบประหงมเธอสักเท่าไหร่ เรื่องราวของ Fanny คล้ายกับ Marina จาก Bridgerton แม้ทั้งสองจะเป็นหญิงสาวจนๆ ที่ถูกรับมาเลี้ยง แต่กลับไม่ยอมตกลงแต่งงานกับชายหนุ่มผู้ร่ำรวยที่มาสู่ขอ พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงฐานะดีจึงต้องส่งพวกเธอไปเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบแร้นแค้น เพื่อให้พวกเธอเห็นความสำคัญของการแต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะดีที่สุด 

นิยายเรื่องนี้มีความแอบแซ่บที่คล้ายกับ Bridgerton แต่ Mansfield Park ของออสตินพูดถึงเรื่องเพศอย่างเปิดเผยที่สุดหากเทียบกับเล่นอื่นๆ คือการแอบเล่นละครของหญิงสาวกับชายหนุ่มที่มีการจับไม้จับมือกันเล็กๆ น้อยๆ แต่ถือว่าเป็นการสัมผัสที่ยิ่งใหญ่ เร่าร้อน ผิดขนบธรรมเนียมแบบสุดๆ สำหรับยุคนั้น จนบทละครที่ลูกหลานเอามาเล่นกันถูกคุณพ่อเจ้าของคฤหาสน์ Mansfield Park เผาทิ้งจนเกลี้ยง พอเราได้เห็นการกดทับการแสดงออกทางเพศของคนในสมัยนั้นแล้วก็คิดว่า ฉากหนังสุดฮอตใน Bridgerton คงไม่ได้ทำขึ้นมาเรียกคนดูมั่วๆ แต่เป็นจินตนาการและการตีแผ่เรื่องเพศที่ถูกซ่อนในวรรณกรรมและสังคมในยุครีเจนซี่ต่างหาก จะว่าไปยุครีเจนซี่ก็มีบางมุมที่คล้ายเมืองพุทธบ้านเราอยู่ไม่น้อย

4. Emma

และแล้วก็มาถึงเรื่องโปรดของเรา มีชื่อว่า Emma ใช่แล้ว ชื่อเรื่องก็คือชื่อนางเอกของเรานี่เอง ซึ่งเหมาะมากๆ เพราะ Emma คือ Mean Girl แห่งยุครีเจนซี่ นิยายทั้งเรื่องพูดถึงแต่มุมมองของเธอ ซึ่งสวย รวย ฉลาด ไม่สนใจผู้ชาย ไม่อยากแต่งงาน และใช้เวลาไปกับการวางแผนจับคู่ให้คนอื่น ส่วนตัวเองแกล้งทำเป็นรักกับหนุ่มหล่อคนหนึ่ง คล้ายๆ กับดาฟเนและท่านดยุกของเราเลย เพื่อนผู้หญิงในห้องเรียนเราส่วนใหญ่ชอบตัวละคร Emma กันเป็นพิเศษ เพราะความมั่นใจของเธอ ในขณะพี่เพื่อนผู้ชายหลายคนไม่ประทับใจ Emma เลยสักนิด เพราะรู้สึกว่าเธอนิสัยร้ายๆ เกินไปหน่อย 

การที่หนุ่มๆ ไม่ชอบ Emma คงจะไม่แปลกอะไร ขนาดออสตินเองยังพูดไว้ว่า  Emma น่าจะเป็นตัวละครที่ไม่มีใครนอกจากเธอที่ชอบ เพราะออสตินก็เป็นสาวที่ครองโสดในยุครีเจนซี่ และใช้เวลานั่งบงการตัวละครของเธอ พอๆ กับที่ Emma ชอบบงการคนรอบตัว

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น

สำหรับเราที่อ่านหนังสือของออสตินในเวลา 200 ปีถัดมา ก็รู้สึกว่าออสตินเหมือนเห็นภาพผู้หญิงไปถึงโลกอนาคต แม้ Emma จะมีนิสัยเอาแต่ใจ ชอบตีความทึกทักไปเอง แต่ก็เป็นผู้หญิงที่พึ่งพาตัวเองได้ และตั้งใจเลือกทางเดินของตัวเองเหมือนกับ Working Women ในสมัยนี้ แถมยังคล้ายกับ Eloise ใน Bridgerton ด้วย 

Emma น่าจะเป็นหนังสือเล่มหนาที่สุดของออสติน แต่ก็มีความตลกขบขัน เสียดสี ประชดประชันมากที่สุดเช่นกัน ถ้าใครอยากเริ่มก้าวเข้าสู่โลกของเจน ออสติน เราแนะนำให้เริ่มให้อ่านเล่มนี้ได้เลย หรือถ้าใครติดใจหนังแนวย้อนยุคจาก Bridgerton ก็ลองไปแอบดูหนังเรื่อง Emma ก่อนก็ได้ นางเอกคนสวย อันยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) จาก The Queen’s Gambit เป็นคนแสดงนะจะบอกให้

5. Persuasion

เล่มสุดท้ายคือ Persuasion เป็นผลงานที่โด่งดังไม่น้อยของเจน ออสติน ต้องขอสารภาพว่า เราเริ่มอ่านหนังสือได้แค่ครึ่งเล่มเพราะใกล้สอบ เลยเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ได้ว่า Persuasion เป็นเรื่องราวของ Anne สาวโสดรุ่นใหญ่อายุ 27 ปีที่กำลังรอความหวัง ว่าชายหนุ่มทหารเรือคนรักของเธอที่เธอปฏิเสธไปเมื่อหลายปีก่อนจะยังอยากรีเทิร์นกับเธออยู่หรือไม่ เนื้อเรื่องประมาณเพลง ฝันถึงแฟนเก่า ของวง Three Man Down ถ้าเปิดเพลงนี้คลอไป พร้อมพลิกหน้ากระดาษของ Persuasion ไปด้วย คงทำให้หลายๆ คน ได้รำลึกความหลังกันไม่มากก็น้อย

ลงเรียนวิชา Jane Austen นักเขียนระดับตำนานแห่งยุครีเจนซี่ที่ทำให้ดู Bridgerton สนุกขึ้น

เล่ามาจนหมดแล้วว่าวิชานี้เรียนอะไร ได้อ่านหนังสืออะไรบ้าง หลายคนอาจจะยังติดค้างในใจว่าอ่านหนังสือขนาดนี้มันคุ้มกับเวลาในมหาวิทยาลัยที่เสียไปเหรอ สำหรับเราแล้ว การอ่านวรรณกรรมในห้องเรียนกับการอ่านนิยายอยู่บ้านนั้นต่างกันมาก การเรียนในวิชาเจน ออสติน สอนให้เราทำความเข้าใจตัวละครต่างๆ อย่างลึกซึ้ง พยายามค้นหาที่มาที่ไปของตัวละคร และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของพวกเขาว่ามีสาเหตุมาจากความนึกคิดแบบไหน ก่อนที่จะเรียบเรียงมันลงไปบนหน้ากระดาษเรียงความของเรา ที่สำคัญ เราได้เรียนรู้การยอมรับตัวละครแต่ละตัวในแบบที่มันเป็น และบางครั้ง ก็หยุดเอามุมมองในยุค 2000 ของเราไปตัดสินลักษณะนิสัยและการตัดสินใจของตัวละครเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว 

ยิ่งกว่านั้น เราเริ่มหันมาศึกษาคนรอบข้าง เหมือนกับกำลังพลิกหน้าหนังสืออันเต็มไปด้วยตัวละครที่มีพื้นหลังแตกต่าง เราพยายามลองทำความเข้าใจเรื่องราวชีวิตและบุคลิกที่ถูกกำหนดมาแล้วของคนรอบตัวเรา พอคิดแบบนั้นแล้ว การยอมรับพวกเขาในแบบที่เป็นอยู่ก็กลายเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นมาทันที 

การเรียนวรรณคดีอังกฤษครั้งนี้ คงทำให้เรารู้จักรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไว้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ เหมือนกับที่เราได้ใส่ความเข้าใจลงไปในทุกตัวอักษรบนหน้ากระดาษนิยายไม่รู้จบของเจน ออสติน

Writer & Photographer

Avatar

วีรินทร์ บุษบรรณ

นักเรียนในเมืองป่าๆ ที่อเมริกา เป็นเป็ดที่บางวันก็นั่งอ่านนิยายจนหัวฟู และ บางวันก็ท่องเที่ยวได้ไม่รู้จักเหนื่อย