ท่ามกลางความพลุกพล่านของย่านอนุสาวรีย์ เราเดินเลยบีทีเอสสนามเป้าไปเล็กน้อย เพื่อเข้าไปยังออฟฟิศใหม่เอี่ยมของ เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ หรือ เจมมี่เจมส์ นักแสดงผู้ควบบทบาทตั้งแต่นักร้อง นักธุรกิจ มาจนถึง ‘เชฟ’
สิ่งแรกที่เราเห็นไม่ใช่โต๊ะทำงานหรือห้องประชุม แต่เป็นห้องครัวที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์เครื่องครัว เหมาะแก่การโชว์ให้แขกรู้ว่า เจ้าของเงินทุนทุ่มเทกับเรื่องการทำอาหารขนาดไหน
เรานั่งเก็บบรรยากาศสักพัก เจ้าของออฟฟิศก็เดินทางมาถึงและทักทายทุกคนอย่างเป็นมิตร
หากถามว่าบทสนทนาในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นใด ท่ามกลางความชื่นชอบอันหลากหลายและความสามารถอันมากมาย เสียงท้องที่ร้องประท้วงในช่วงเวลา 11 โมง คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด
The Cloud ชวนกระเพาะของทุกท่านมาส่งเสียงร้องไปพร้อมกันกับเมนูชีวิตของเจมส์ในวัย 25 พร้อมมุมมองด้าน ‘อาหาร’ จากศิลปินที่ตอนนี้ต่อให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในครัวทั้งวันเขาก็ทำได้

Big Batch Appetizers
จุดเริ่มต้นของไข่เจียวไม่ธรรมดา
เพราะความชอบในการทำอาหาร แผนการเรียนต่อต่างประเทศด้านนี้จึงผุดขึ้นมาอย่างตั้งใจ รวมไปถึงการสร้าง ‘ห้องครัว’ ในออฟฟิศที่หมดเงินจุดเดียวเป็นหลักล้าน และจนถึงตอนนี้อุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ ก็งอกขึ้นมาอย่างไม่รู้จบ
เจมส์บอกว่า เขาต้องการสร้าง Living Space ผสม Co-working Space จึงตั้งใจโชว์ครัวไว้ด้านหน้าสุด เพื่อความสะดวกในการถ่ายรายการและวางเครื่องครัว ซึ่งดีกว่าการยกตู้เย็นขึ้นไปชั้นสองแน่นอน
“เวลาเข้าออฟฟิศของที่แพงคือของที่คนเห็น ผมคิดว่าจริง ผมมองว่าครัวนี้คือการลงทุนทางธุรกิจและเป็นความชอบ เมื่อเวลาผ่านไปมันจะคุ้มค่า ตรงนี้ก็อยากใช้สำหรับ Chef’s Table ครั้งต่อไปด้วย คาดว่าจะมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ตอนนี้อยู่ในช่วงพัฒนาเมนูอยู่”


เจมส์เก็บรวมประสบการณ์จากการทำ Chef’s Table ครั้งแรกมาพัฒนาครั้งต่อไป แต่กว่าชีวิตในครัวของเขาจะมาถึงจุดที่ทำอาหารทั้งวันก็ไม่เบื่อ เขาเคยเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่ยืนมองคุณตาทอดไข่เจียวเท่านั้น
“ชีวิตผมวัยเด็กคงเหมือนข้าวไข่เจียวราดซอสพริก เพราะว่าข้าวไข่เจียวมันคือความธรรมดา เราก็เหมือนเด็กธรรมดา แต่แอบแซ่บเบา ๆ เลยใส่ซอสพริกเข้าไป” เจ้าตัวตอบอย่างขี้เล่น
เด็กชายธีรดนย์เติบโตขึ้นในบ้านที่มีวัฒนธรรมการกินแบบผสมผสานระหว่างจีนและไทย โดยมีคุณตาเป็นตัวแทนฝั่งจีน และคุณยายเป็นตัวแทนฝั่งไทย ส่วนคุณปู่คุณย่ามาจากจีนทั้งคู่
บ้านของเขามีเมนูซิกเนเจอร์ 5 เมนู ได้แก่ ไก่ซอสแดง กะหล่ำต้มเค็ม น้ำพริกกะปิ ข้าวต้มมัด และข้าวมันไก่ ชนิดครบจบทั้งคาวหวาน
“ข้าวมันไก่บ้านผมใช้เวลาทำนานมาก” แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เมนูนี้กลายมาเป็นอาหารจานสำคัญ เพราะเบื้องหลังที่ทรงคุณค่ากว่าคือการชวนให้ทุกคนในบ้านคิดถึงคุณยายผู้เป็นที่รัก
“ตายายเขามีไก่เจ้าประจำที่ไปซื้อ แต่ก่อนยังไม่มีแถวพระราม 5 ต้องไปแถวบางบัวทอง เอาไก่มาต้มเป็นชั่วโมง คอยตักมันที่ลอยออกมาไปทำข้าวมันไก่ ข้าวก็ต้องคลุกตลอดเวลา จากนั้นนำไก่ต้มมาหั่น ทำน้ำจิ้ม ใช้เวลาเสร็จสรรพประมาณ 3 ชั่วโมงได้ แต่เราได้เครื่องและข้าวที่อร่อยจัดเต็ม
“ข้าวมันไก่ของยายคือข้าวมันไก่ที่อร่อยที่สุดสำหรับผม”
เขาเล่าต่อว่า แท้จริงแล้วสมัยเด็กแทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเข้าครัวเลย ทั้งหมดที่เขาทำคือการ ‘ยืนดูคนในบ้านทอดไข่เจียว’

“อีกเรื่องที่คนไม่รู้คือ จริง ๆ ผมชอบกินซีฟู้ดเผา ต้องกินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดไทยสีเขียวเท่านั้น ไม่เอาสีแดง ตอนเด็กผมเคยแพ้กุ้งด้วย แต่ผมสู้กุ้งกลับ กินต่อจนมีภูมิมาจนถึงปัจจุบัน”
แน่นอนว่าเมื่อมีเมนูที่ชอบมากถึงขนาดนี้ ย่อมต้องมีเมนูที่ไม่ถูกจริตด้วยเช่นกัน เขาเบะปากเล็กน้อยก่อนสาธยายเมนูออกมา ทั้งชาเขียว คาโบนาร่า เครื่องใน อาหารประเภทที่ครีมสูง หรือแม้แต่ของหวาน อย่างไรก็ตาม การได้เข้าสู่วงการอาหารทำให้เขาเปิดใจมากขึ้นไม่น้อย
“ผมอาจจะแปลกหน่อย แต่ของคาวต้องติดหวาน ของหวานต้องหวานน้อย”
เจมส์ทิ้งท้ายด้วยรสนิยมการเลือกกินของเขา เวลาที่มีของอร่อยถูกปากมาช่วยหยุดเสียงร้องโครมครามของกระเพาะ นั่นคือช่วงเวลาสวรรค์ประทาน เช่นเดียวกับที่โชคชะตาประทานสายโทรศัพท์ เพื่อชวนเจมส์เข้าร่วมรายการอาหารสุดโหดและฮอตแห่งปีอย่าง MasterChef Celebrity Thailand Season 2

Main Course of Life
ชีวิตสูตรหนัก เน้น และเข้มข้น
ก่อนจะเข้าร่วมรายการ เจมส์เดินทางไปที่ประเทศออสเตรเลียเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives หนังสัญชาติฮอลลีวูดว่าด้วยเรื่อง 13 หมูป่าติดในถ้ำหลวง ซึ่งการออกเดินทางไปใช้ชีวิตต่างแดนในครั้งนี้ไม่เพียงประสบการณ์กระทบไหล่นักแสดงระดับโลก แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ลองทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับอาหารมากขึ้น
เมื่อไปถึงออสเตรเลีย นักแสดงไทยไม่สนใจแม้กระทั่งการแกะสัมภาระออกมาจัดเรียง เพราะแกะเดียวที่เขาสนใจ คือเนื้อแกะบนเตาย่าง!
“ผมชอบย่างเนื้ออยู่แล้ว ไปถึงมื้อแรกผมเข้าซูเปอร์ฯ ซื้อแกะที่นั่น พอ 3 ทุ่มผมมาย่างแกะเป็นมื้อแรก เซอร์มาก กระเป๋าไม่แกะ ย่างแกะก่อนเลย” เจมส์บรรยายภาพในวันนั้นให้ฟัง เราเชื่อว่าตลอดเวลาที่อยู่ออสเตรเลีย ชายคนนี้คงไม่ปล่อยให้ห้องครัวต้องเหงาเลยสักวัน
หลังกลับสู่บ้านเกิด ก็ประจวบเหมาะกับที่ทางรายการติดต่อมาพอดี เจมส์ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่มีในหัวตอนนั้นแทบจะเป็นศูนย์ แต่สิ่งที่ปลุกไฟในตัวคือความรู้สึกอยากเอาชนะตัวเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของหลักสูตรเตรียมความพร้อมฉบับเร่งรัดเพื่อการแข่งขันในครั้งนี้

‘MasterChef Starter Pack’ เป็นชื่อที่ใช้นิยามสิ่งที่ควรทำได้ในรายการ MasterChef Celebrity Thailand Season 2 ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอดการเทรนกับ พลอย-ณัฐณิชา บุญเลิศ จากรายการ MasterChef Thailand Season 1 ผู้ฝึกสอนเฉพาะกิจในครั้งนี้
การเทรนเปรียบเสมือนการเก็งข้อสอบของติวเตอร์ในสถาบันกวดวิชา สำหรับเจมส์แล้วช่างเป็นวิชาคหกรรมที่ยากไม่น้อย แถมเจ้าตัวยังไม่ถนัดดี
การฝึกฝนอย่างเข้มข้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น
“พาสต้าเส้นสดมีอะไรบ้าง มีเส้นแบบไหนที่คุณต้องทำได้ สำหรับตัวโปรตีน ถ้าคุณได้ไก่จะแล่ยังไง ปลาแล่ยังไง ไก่ ปลา หมู เนื้อทำอะไรได้บ้าง เอาไปซูวี (ปรุงอาหารภายใต้ถุงสุญญากาศ) อุณหภูมิกี่องศาฯ หรือถ้าจะเอามาย่าง สุกทันไหม ตัวผักทำอะไรได้บ้าง ดองได้ ตัดแต่งได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่คุณต้องทำให้ได้ในมาสเตอร์เชฟแน่ ๆ นอกนั้นอยู่ที่ว่าคุณจะไปดัดแปลงเป็นเมนูยังไง”
ใช่ว่าการเทรนครั้งนี้จะจบที่การรู้จักวัตถุดิบและวิธีการปรุงอาหารเท่านั้น การจัดการเวลาก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เชฟมือใหม่ต้องฝึกในส่วนนี้เพิ่ม
เขาเสริมในช่วงแข่งขันว่า การได้เห็นผู้เข้าแข่งขันท่านอื่นที่ดูคุ้นเคยกับการทำอาหารอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ทำให้เขากดดันไม่น้อย แต่ท้ายที่สุดเจมส์ก็ได้ค้นพบว่า คนที่เขาอยากจะเอาชนะมากที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือตัวของเขาเอง

“ไม่ใช่การเอาชนะตัวเองที่ทำเพื่อชนะคนอื่น แต่เป็นทักษะที่เราเต็มที่ นี่คือวินัยในการฝึก การอินกับมัน การทุ่มเทเวลากับมัน การยอมรับความกดดัน ผมรู้สึกว่าการไปครั้งนี้ได้อะไรเยอะมาก เหมือนผมค้นพบตัวเองเลยนะว่าผมชอบการทำอาหารมาก”
ขณะที่รายการดำเนินมาถึงวันสุดท้าย การเดินทางบนเส้นทางอาหารของเจมส์กลับเพิ่งเริ่มต้น การเข้าคอร์สเพื่อเตรียมความพร้อมเบื้องต้นสำหรับการแข่งขัน เปลี่ยนไปเป็นการคิดคอนเซ็ปต์และพัฒนาเมนู เพื่อต่อยอดไปสู่การทำ Chef’s Table ของเจมส์ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจคุ้นเคยกันดี หรืออาจจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างกับชื่อ ‘FOCA’

“Chef’s Table เกิดขึ้นหลังไปมาสเตอร์เชฟ เราไปลั่นว่าผมทำ Chef’s Table แน่นอน ก็ไม่ได้รู้ว่ามันจะยากขนาดไหน มีวิธีการจัดการอะไรยังไง แต่พอพูดไปและเราก็อยากทำ เราเลยเอาซีฟู้ดของไทยที่เป็นรสไทย เมนูเหมือนไทย ๆ ทวิสต์ให้อยู่ในการเสิร์ฟแบบเมดิเตอร์เรเนียน” เชฟอธิบายที่มาและคอนเซ็ปต์ของร้าน ต่อด้วยการยกตัวอย่างเมนูที่ผ่านการพัฒนามาอย่างสร้างสรรค์
“ปาเอญ่า (ข้าวอบสเปน) ผมเอามามิกซ์กับข้าวขยำปู เสน่ห์ของมันคือปกติข้าวขยำปูจะค่อนข้างเป็นเม็ดหน่อย แล้วใส่น้ำยำลงไป ใส่ปูเป็นก้อน แต่พอเรามิกซ์กับปาเอญ่า ด้วยความที่ไม่ได้สุกมาก ข้าวจะมีสัมผัสความกรอบ ก็จะแบ่งครึ่งเป็นแบบออริจินัลกับแบบปาเอญ่าขยำปู เป็นเมนูตัวหลักของเรา”
นอกจากการคิดค้นเมนูและจัดการ Chef’s Table ให้ออกมาตามฝัน หนึ่งในแรงบันดาลใจต้นทางของเขา ยังเป็นเชฟที่ตนเองชื่นชอบอย่าง Grant Achatz เจ้าของร้านมิชลินไกด์ 3 ดาว Alinea
“ตอนแรกผมไม่รู้จักเขา แต่หลังจากเห็นเขาเป็นกรรมการในรายการ The Final Table เราเลยไปดู Documentary ของเขา เขาเป็นมะเร็งที่ลิ้น ลิ้นรับรสไม่ได้ แต่เขาสู้จนหาย แล้วมาเปิดร้าน
“เพลตติ้งเขาในเมนูของหวานเป็นโต๊ะใหญ่ ๆ เขาจะโยนและสาดทุกอย่างที่เป็นของกิน ผมว่านี่คือการเพลตติ้งที่มีความ Abstract มันคือศิลปะที่ผมชอบ” ผู้เล่าขยายความด้วยแววตาเป็นประกาย
ชีวิตของเขาก็เหมือนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงาน แต่เป็นผลงานที่มาในรูปแบบของศิลปะที่เคี้ยวได้และมีหลายรสชาติ
Dessert of Love and Art
ศิลปะกินได้
แม้จะเคยเอ่ยปากว่าไม่ถูกกับของหวาน แต่เมื่อให้เจ้าตัวลองเปรียบความรักเป็นของหวานสักจาน เขากลับอธิบายได้อย่างน่าประทับใจ
“ช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี มี Flexible Ganache อยู่ตรงกลาง มีไอศกรีมช็อกโกแลต มีซอสสตรอว์เบอร์รี สตรอว์เบอร์รีหั่นเล็ก ๆ ใส่ลิควิดไนโตรเจนเข้าไป ครอบด้วยโดมช็อกโกแลต เวลาทานเราจะเคาะลงไป ตัวโดมมันจะแตกลงมา แล้วควันมันก็จะขึ้น มีความเวอร์วังอลังการอยู่นิดหนึ่ง แต่ก็เรียบง่ายด้วยวัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่าง ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้มันยืนยาวได้คือแค่ความเรียบง่ายนี่แหละ”
เมนูของหวานเป็นภาพแทนความรักของเขากับแฟนสาวที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันอย่างยาวนานได้เป็นอย่างดี
เมนูอาหารแต่ละจานของเจมส์ล้วนออกแบบอย่างละเมียดละไม เขาบอกว่าอาหารเป็นศิลปะที่ใส่ความเป็นตัวเองลงไปในจานได้ ไม่ต่างกับผืนผ้าใบที่วาดอะไรก็ได้ตามต้องการ และเสน่ห์ของอาหารไม่ต่างจากงานศิลปะที่ความชอบเป็นเรื่องของปัจเจก

“นอกจากเสน่ห์พวกนี้ อีกอย่างที่ผมรู้สึกคือ อาหารมันพาความสุขเข้ามาในโต๊ะ การได้กินข้าวร่วมกัน คุยกันบนโต๊ะอาหาร มันมีความหมายมากกว่านั้น
“อาหารเป็นมากกว่าปัจจัย 4 มันไม่ใช่แค่สิ่งที่เราต้องมี แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข เป็นศิลปะชนิดหนึ่งที่ประเทศเราไม่ค่อยสนับสนุน เราเสร็จงานแล้วหาความสุขให้ตัวเองได้ผ่านอาหารนี่แหละ” ชายหนุ่มพูดเสริมด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
Cheers!
ชนแก้วสู่ความสำเร็จและก้าวย่างแห่งการเติบโต
“จำได้ว่าผมเคยเล่นเกมทอยลูกเต๋าที่ให้เดินไปถึงเส้นชัยแล้วใครมีเงินมากสุดชนะ มีลูกเต๋าทอยอาชีพ มีตัวตลก ทหาร ครู หมอ นักธุรกิจ ทนาย นักธุรกิจเป็นอาชีพที่ได้เงินเยอะมาก เราก็รู้สึกว่านักธุรกิจเท่และอยากเป็นอาชีพนี้” เขาย้อนอดีตให้ฟังเพื่ออธิบายปัจจุบันและก้าวต่อไปในอนาคต
“ชีวิตอยู่กับการแข่งขันมาตลอด ผมเลยเป็นคนชอบเอาชนะ แต่ชีวิตผมก็ไปไม่สุดสักทาง พอเบื่อก็เลิก จนมาเจอการแสดงที่ไม่เบื่อเพราะเห็นผลลัพธ์ มีอะไรเป็นตัวการันตีว่าสำเร็จ เรายึดเป็นอาชีพได้และชอบมันด้วย จนกระทั่งในวัยนี้ก็เจอธุรกิจที่เป็นบาร์และการทำอาหารที่ชอบ”
การบริหารเวลาให้ทั้งการทำงานและความชอบอยู่ด้วยกันของเจมส์นั้นง่ายมาก เพราะเขาเปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นงานไปเลย ไม่ว่าจะเปิดบาร์เพราะชอบดื่ม เปิด Chef’s Table เพราะชอบทำอาหาร เปิดบีชคลับเพราะชอบไปทะเล หรือแม้แต่สร้างบริษัท JMJ LABEL เพื่อเป็นศูนย์รวมความชอบอื่น ๆ และถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของรายการ เช่นเดียวกับสารคดีชีวิตส่วนตัวที่เผยแพร่มาแล้ว 5 ตอน

“จุดประสงค์ของการทำสารคดีคือ ผมอยากแนะนำตัวเองใหม่ตอนอายุ 25 เพราะรู้สึกว่าเป็นเส้นทางใหม่ที่มันใช่กับชีวิตเรา ทั้งอาหาร ดริงก์ คนรัก อาร์ต เพื่อน ครอบครัว นี่คือสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตผมในขณะนี้ ผมอยากจะบอกคนดูว่า สวัสดีครับ ผมเจมส์ที่เป็นแบบนี้”
บทสนทนาดำเนินมาถึงจุดที่เรารับรู้เรื่องราวของเจมส์จนครบทุกรสชาติ แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราลองให้เขาเปรียบชีวิตตัวเองในตอนนี้เป็นเมนูอาหารสัก 1 อย่าง
“Surf & Turf เสิร์ฟพร้อม Side Dish ที่มี Mashed Potato มีผักที่เอาไป Sautéed เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ดแล้วก็ซอสไวน์แดง
“มีตัวเมน 2 อย่าง คือล็อบสเตอร์และเนื้อ เหมือนชีวิตนักแสดงกับเจ้าของธุรกิจ Mashed Potato เป็นพาร์ตเชฟที่เสริมเข้ามา ผักที่เป็นสีสันในจานเป็นเรื่องแฟชั่นที่เราชอบ ส่วนตัวซอสเพิ่มความสไปซี่อาจจะเป็นเรื่องดริงก์
“สิ่งที่อยากนิยามผ่านเรื่องนี้คือความวาไรตี้ที่อยู่ในจาน ผมค่อนข้างชอบคำนี้ เพราะชีวิตเรามันทำหลายอย่าง”
หลังเชฟนำเสนอเมนูอาหารเรียบร้อย คนฟังอย่างเรายังสงสัยเพิ่มว่า แล้ว ‘รสชาติ’ ชีวิตในวัย 25 จะเป็นอย่างไร
“คงครบรสมั้ง เหมือนผงชูรส แต่ Chef’s Table ผมไม่ได้ใช้ผงชูรสนะ (หัวเราะ) ทุกอย่างมันกลมกล่อมมากขึ้น เหมือนก่อนหน้านี้ชีวิตเราคงเปรี้ยวเกิน ขมเกิน หวานเกิน เผ็ดเกิน แต่วันนี้เราทำให้รสชาติมันกลมกล่อมขึ้นในวัย 25”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความกลมกล่อมคือนิยามที่เหมาะกับชีวิตหลายบทบาทของศิลปินไฟแรงคนนี้
มันเป็นความกลมกล่อมที่ไม่ได้เกิดจากผงชูรส แต่เกิดจากส่วนผสมประสบการณ์ที่รวมกันได้อย่างลงตัวผ่านกาลเวลา หลังนั่งฟังเขาเพลิน ๆ เราเดินออกจาก Cinema Club BKK โดยอดคิดไม่ได้ว่า
‘แล้วรสชาติของชีวิตเราในวันนี้เป็นรสอะไรกันนะ’
