คนหนุ่มสาว ถ้ามีปีกแล้วไม่บิน ปีกจะกลายเป็นส่วนเกินของชีวิต

ตอนนี้คนส่วนใหญ่น่าจะรูู้จัก วิรัตน์ โตอารีย์มิตร ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือ Booktopia ที่อุทัยธานี

เขาทำสำนักพิมพ์ อารีมิตร พิมพ์งานดีๆ ของนักเขียนดีๆ เช่น ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ, ทิวา สาระจูฑะ และ ม.ร.ว.นารี รัชนี ยิ้มศิริ รวมถึงงานของเขาด้วย

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

เขาเป็นนักเขียนมีผลงานกว่า 20 เล่ม ในหลายนามปากกา ทั้งชื่อจริง ญามิลา และปลาอ้วน

เขาเคยได้รับการพูดถึงว่าเป็นคอลัมนิสต์นิตยสารที่เขียนงานมากที่สุดในประเทศ เดือนละเกือบ 30 ชิ้น

ผมเคยเขียนคอลัมน์อยู่หน้าใกล้ๆ เขาในนิตยสารหลายเล่ม

เคยเป็นบรรณาธิการรับต้นฉบับจากเขา ในยุคที่เขายังเขียนด้วยลายมือแล้วส่งมาทางแฟกซ์

ในวัยหนุุ่ม ผมเคยลังเลว่าจะเลือกทำงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อ หรือลาออกมาทำงานนิตยสารดี พอได้อ่านประโยคหนึ่งในหนังสือเรื่อง ครึ่งจริงครึ่งฝันและพระจันทร์ของคนหนุ่ม ของเขา ผมก็ตัดสินใจลาออก จนเกิดเหตุการณ์ 2 ย่อหน้าบน ประโยคนั้นเขาเขียนว่า

“คนหนุ่มสาว ถ้ามีปีกแล้วไม่บิน ปีกจะกลายเป็นส่วนเกินของชีวิต”

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

เธอ, เขา, เรา, ฉัน และสามร้อยกว่าวันในดินแดนแสนโศก

“ผมไม่ได้ตั้งใจให้ร้านเป็นแบบนี้นะ มันเป็นของมันเอง” วิรัตน์พูดถึงร้านหนังสือของเขา ที่ว่าเป็นแบบนี้คือ มีคนแวะเวียนเข้ามาพูดคุย เล่าเรื่องชีวิตให้ฟังในร้าน บางคนก็เข้ามาพร้อมเรื่องราวและน้ำตา

เขากับ เป้-ชุติมา ศรีทอง ภรรยาและเพื่อนคู่คิด เคยคุยกันนานแล้วว่า ในระยะยาวยังไงก็ต้องเปิดสำนักพิมพ์เอง เพราะการรอให้สำนักพิมพ์มาของานไปพิมพ์ หรือการถืองานไปเสนอ ไม่น่าเป็นทางที่ดี เขาควรพิมพ์งานตัวเองแล้วขายเองโดยไม่ต้องพึ่งพาสายส่งและร้านหนังสือ ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านหนังสือรอ ก่อนทำสำนักพิมพ์

“เวลาคนมาซื้อหนังสือ เราจะได้คุยกันเพื่อละลายพฤติกรรมทั้งผมและลูกค้า แล้วก็นำไปสู่เรื่องอื่นๆ จนกลายมาเป็นเพื่อนกัน ผูกพันกัน มีคนรู้จักกันที่ร้านของผมเยอะพอสมควร ผมเคยจัดกิจกรรมพาคนอ่านไปทำนา ไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับป่าที่ห้วยขาแข้งด้วยกัน มันเลยเป็นร้านหนังสืออีกแบบ” วิรัตน์เล่าถึงความพิเศษของร้าน Booktopia

“ผมอยากเขียนเรื่อง Ballad of Booktopia ควรจะบันทึกไว้หน่อยว่า เกิดอะไรขึ้นในร้านนี้บ้าง”

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

ก่อนหน้านั้นมนุษย์ไม่มีประเทศ และดวงดาวไร้นาม

วิรัตน์เรียนจบคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวัยหนุ่มเขาสนใจเรื่องการเมือง ถึงขนาดเคยใช้นามปากกาว่า อ้วน เลนิน แต่สุดท้ายพอเรียนจบมาเขาก็ตัดสินใจไม่เดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง และไม่วอกแวกไปสูุ่เส้นทางใดเลย เพราะเขามีความฝันเดียว คือการทำนิตยสาร

ความฝันนั้นก่อตัวตั้งแต่อ่านนิตยสาร สตรีสาร ของพี่สาว มาเด่นชัดตอนอ่านนิตยสาร ลลนา เขารู้สึกว่าทุกอย่างที่อยู่ในเล่มนี้มันดูเท่ไปหมด ทั้งบทสัมภาษณ์ฝีมือนันทวัน หยุ่น งานเขียนที่สดมากของนักเขียนหน้าใหม่อย่างวาณิช จรุงกิจอนันต์, ชาติ กอบจิตติ, สุวรรณี สุคนธา, เทพศิริ สุขโสภา และจักรพันธุ์ โปษยกฤต

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

ด้วยความที่สนใจเรื่องเพลงและหนังมาก เขาได้อ่านและลองส่งต้นฉบับไปที่นิตยสารหลายเล่ม จนงานเขียนชิ้นแรกของเขาเรื่องจอห์น เลนนอน ตาย ได้ลงคอลัมน์เล็กๆ ชื่อกระบอกเสียง ในนิตยสาร Super Sonic ชิ้นต่อๆ มาก็ได้ลงในนิตยสาร Starpics และได้ลงตีพิมพ์แบบได้รับค่าเรื่องเป็นครั้งแรกที่ ลลนา งานที่ทำให้เขาได้รับธนาณัติมูลค่า 150 บาท ไม่ใช่เรื่องเพลงที่เขาถนัด แต่เป็นกลอนเปล่า ซึ่งได้ลงอย่างต่อเนื่อง

“ใจมันอยากจะไปแถวนั้นให้ได้” เขาหมายถึงอยากทำงานนิตยสาร เลยเอาตัวเองไปคลุกคลีกับทีมงานนิตยสารเล่มต่างๆ จนได้ช่วยทำสัมภาษณ์ย่อยให้นิตยสาร เปรียว ช่วงก่อนเลือกตั้ง เขาต้องสัมภาษณ์รุ่นใหญ่อย่างสุทธิชัย หยุ่น และอาจารย์ประทุมพร วัชรเสถียร เขาจำได้ว่า งานนั้นได้ค่าเรื่องมา 400 บาท

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

แล้วเขาก็ยังพาตัวเองไปอยู่ใกล้ๆ ทิวา สาระจูฑะ ในวันที่นักวิจารณ์เพลงรุ่นใหญ่เพิ่งออกจากนิตยสาร กรุงเทพ30 มาเปิดนิตยสาร สีสัน จนเขาได้เขียนวิจารณ์เพลงใน สีสัน ถือเป็นการเขียนคอลัมน์ประจำครั้งแรกในชีวิต ประมาณ พ.ศ. 2531 เขาใช้ชีวิตวิถีฟรีแลนซ์ซึ่งเลี้ยงตัวเองไม่ได้แบบนี้อยู่ปีกว่า

“เมื่อก่อนผมชอบไปนั่งที่ร้านมิสเตอร์โดนัทสยามสแควร์ ข้างสกาล่า เป็นแหล่งซ่องสุมของใครต่อใครที่อยากเป็นนักเขียน จุุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ก็เจอกันที่นั่น ผมได้รู้จักเพื่อนเพิ่ม วันหนึ่งเพื่อนบอกว่า นิตยสาร Looks เปิดรับกองบรรณาธิการ ผมก็เลยไปสมัคร และได้ทำงานประจำเป็นครั้งแรก”

โรงละครสีเทาที่ใครๆ ต่างเป็นนักแสดง

ในที่สุดวิรัตน์ก็พาตัวเองเข้าไปอยู่ในความฝันได้สำเร็จ

Looks เป็นนิตยสารแฟชั่น เขารับหน้าที่เขียนคอลัมน์ทั่วๆ ไป จนถึงช่วยประสานงานกองถ่ายแฟชั่น ที่นี่เขาได้รู้จักคนที่ทั้งคู่ได้กลายมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร IMAGE ในเวลาต่อมา คือ นิภา เผ่าศรีเจริญ และ ลิษา ห่วงมณี เขาสนุกกับงานที่นั่นอยู่ 2 ปี อริยา ไพฑูรย์ (ผู้ซึ่งต่อมาแปลเรื่อง เจ้าชายน้อย คนแรก และเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน) โทรมาชวนวิรัตน์ไปทำงานด้วยกันที่นิตยสาร แพรว

แต่พอได้คุยกับสุภาวดี โกมารทัต หัวเรือใหญ่ของ แพรว เธอก็ตัดสินใจส่งวิรัตน์ไปช่วยงานมนทิรา จูฑะพุทธิ ที่นิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์ แทน ที่นั่นเขามีเพื่อนร่วมงานเป็นคนหนุ่มมากมายที่เพิ่งเข้าสู่วงการนิตยสาร อย่างวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, โตมร ศุขปรีชา. อธิคม คุณาวุฒิ, นัท ประกอบสันติสุข และกงพัฒน์

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia
ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

“ผมเขียนคอลัมน์เยอะมาก ทั้งท่องเที่ยว สัมภาษณ์ วิจารณ์เพลง หนังสือ เคยเขียนมากสุดเจ็ดคอลัมน์ต่อปักษ์” เขาหมายถึงต้องส่งงาน 7 ชิ้นในรอบ 15 วัน และสิ่งพิเศษที่สุดที่เกิดกับเขาก็คือ ได้มีคอลัมน์ประจำเป็นของตัวเอง ซึ่งส่งให้เขากลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง

“ผมเขียนคอลัมน์ตัวโน้ตแตกแถว ได้อิทธิพลมาจากคอลัมน์ Rock for Life ของน้าทิวา ในนิตยสาร Melody Maker น้าเขียนเรื่องชีวิตแล้วเอาเพลงมาแทรก เขียนด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ผมก็ทำแบบนั้นบ้าง ได้รับความนิยมพอสมควร แต่ด้วยวัยนั้นก็เป็นการเขียนด้วยอารมณ์ฟูมฟาย อยากเล่าเยอะๆ ตามประสาคนที่ยังรู้จักชีวิตไม่มาก”

วิรัตน์เล่าต่อว่า เขาใช้นามปากกาว่า ญามิลา เป็นชื่อวรรณกรรมรัสเซีย เขียนโดย ชินกิซ เอ็ตมาต๊อฟ (Chinghiz Aitmatov) เป็นเรื่องรักสามเส้าที่เขาว่าสวยงาม นางเอกเรื่องนี้ชื่อ ญามิลา

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia
ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

คอลัมน์ตัวโน้ตแตกแถวได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก เมื่อสำนักพิมพ์อมรินทร์เปิดตัว จตุพล บุญพรัด บรรณาธิการสำนักพิมพ์ก็มาขอต้นฉบับไปรวมเล่มในชื่อเดียวกับคอลัมน์ เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตของวิรัตน์ และเล่มที่ 2 ของสำนักพิมพ์

ชื่อของวิรัตน์จึงได้รับการพููดถึงมากขึ้น มีสื่อมาขอสัมภาษณ์มากขึ้น ทั้งในบทบาทของนักวิจารณ์เพลงและนักเขียน

คนเป็นของฟ้า และเวลาเรามีน้อย

“ผมไม่เสียดายนะ” วิรัตน์พูดถึงการออกจาก แพรวสุดสัปดาห์ “ผมอยากเป็นบรรณาธิการที่ประสบความสำเร็จ”

เขาถูกทาบทามให้เป็นบรรณาธิการนิตยสารผู้หญิงหัวใหม่เอี่ยมชื่อ Jackie-O ทำได้เกือบปีก็ต้องปิดตัวลงเพราะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

จากนั้นเขาก็ถูกชวนไปทำนิตยสารแฟชั่นผสมท่องเที่ยวหัวใหม่ชื่อ W Arcade แต่ทำได้ 2 เล่ม นายทุนก็หยุดทำต่อ

“ผมไม่เสียดายเลย” เขาย้ำอีกรอบ

The Ballad of The Columnist

อาจจะด้วยฝีไม้ลายมือและชื่อเสียงที่คนในวงการต่างพูดถึง รวมกับการมีเพื่อนพ้องเยอะ และการว่างงานแบบไร้สังกัด ทำให้มีคนชวนวิรัตน์ไปเขียนคอลัมน์ประจำให้นิตยสารหลายหัว เช่น แพรวสุดสัปดาห์ ขวัญเรือน Lips เปรียว GM และ Life & Family ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเพลงกับความเรียงเรื่องทั่วๆ ไป

ยุคนี้นักเขียนอาจจะมีรายได้จากหลายช่องทาง แต่ยุคนั้นวิรัตน์มีรายได้ทางเดียวเท่านั้นคือ ค่าเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร หากอยากดำรงชีพให้ได้ก็ต้องเขียนงานเดือนละ 10 ชิ้น

“ตอนเริ่มเขียนรายสัปดาห์ให้นิตยสาร ศรีสยาม รายได้พอจะเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ผมไม่อยากกลับไปทำงานประจำอีกแล้ว” วิรัตน์จึงเริ่มต้นวิถีการเป็นคอลัมนิสต์อาชีพประมาณ พ.ศ. 2542

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia
ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

จากนั้นเขาก็ได้เขียนคอลัมน์ให้ เนชั่นสุดสัปดาห์ เสาร์สวัสดี a day HAMBURGER adayweekly และอีกหลายหัว ผมจำได้แม่นว่า เขาเป็นนักเขียนคนเดียวที่ส่งต้นฉบับด้วยการเขียนด้วยลายมือแล้วส่งแฟกซ์มา

“ผมพิมพ์อะไรไม่เป็นเลย ไปเที่ยวไหนก็กังวลเรื่องส่งคอลัมน์ เคยไปเที่ยวเพชรบุรี วันนั้นต้องส่งคอลัมน์ เพื่อนกินเหล้ารออยู่ ผมต้องขับรถไปส่งแฟกซ์ก่อน แผ่นละสี่สิบบาท ผมยังจำได้อยู่เลย” คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่หัวเราะ

ช่วงที่งานชุกที่สุดคือ เดือนละเกือบ 30 ชิ้น เขียนให้นิตยสารรายสัปดาห์ 3 เล่ม บางวันเขาต้องวางแผนส่งงานตอนเช้าหนึ่งชิ้น ตอนเย็นอีกชิ้น ด้วยตัวเลขนั้นทำให้เขาได้รับการพูดถึงว่า เป็นคอลัมนิสต์นิตยสารที่เขียนงานมากที่สุดในประเทศ

“ตอนนั้นคิดอะไรเป็นคอลัมน์หมด ไม่ทรมานนะ เข้านอนพร้อมเรื่องที่จะเขียนเป็นคอลัมน์ บางทีตื่นมาก็ทำงานเลย เมื่อก่อนผมรับนิตยสารเยอะ เดือนหนึ่งสามพันบาท หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือน เจออะไรน่าสนใจก็ตัดเก็บไว้หมด มีกองหนังสือไว้ค้น” เขาพูดถึงแหล่งข้อมูลส่วนตัวก่อนยุคกูเกิล

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

วิรัตน์เป็นนักเขียนสายความเรียง ซึ่งตอนนี้งานประเภทนี้หายไปพร้อมนิตยสารและการเกิดขึ้นของเฟซบุ๊ก

“เสน่ห์ของความเรียงคือ ไม่ใช่งานที่อ่านแล้วจบ แต่อยู่ได้นาน เป็นเรื่องที่มีความจริงอยู่ในนั้น มีเนื้อหาของชีวิต แล้วก็มีความหลากหลาย นักเขียนแต่ละคนมีทางของตัวเอง” วิรัตน์หยุดคิดเล็กน้อย “งานผมเป็นทางอารมณ์ ความรู้สึก ที่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน มีท่อนฮุกที่โดน”

ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา คอลัมน์ของเขาลดน้อยถอยลงด้วยเหตุผลต่างๆ เมื่อ ขวัญเรือน ปิดตัวลง เขาก็เหลือแค่คอลัมน์วิจารณ์เพลงใน สีสัน เป็นคอลัมน์สุดท้าย ซึ่งเขาเป็นฝ่ายขอหยุดเองด้วยความเบื่อใน พ.ศ. 2560

ความรักจับมือให้ฉันเขียน

ก่อนจะหยุดงานคอลัมนิสต์ วิรัตน์มีผลงานหนังสือ 10 กว่าเล่ม เกือบทั้งหมดเป็นความเรียง และทั้งหมดเป็นการรวมจากคอลัมน์ในนิตยสาร เมื่อถามถึงหนังสือที่มีความหมายกับเขาสัก 3 เล่ม เขาเลือก

ตัวโน้ตแตกแถว ผลงานรวมเล่มครั้งแรกในชีวิต คนเล็กๆ ที่หายตัวได้ รวมงานจากคอลัมน์ Life by the dot ในเซกชัน เสาร์สวัสดี หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เป็นการพูดเรื่องชีวิตหม่นๆ ที่โยงกับเพลงบ้าง พิมพ์ซ้ำมาแล้วหลายรอบ และ

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

“Rocktopia เป็นคอลัมน์ใน adayweekly ตอนตั้งต้นผมคุยกับอธิคม (บรรณาธิการบริหาร) ว่าจะเขียนให้ศิลปินที่ตายแล้วไปอยู่รวมกันในดินแดนร็อกโทเปีย มาวิจารณ์การเมือง เหตุการณ์ปัจจุบันของโลกในมุมของคนที่ตายแล้ว แต่พอเขียนตอนแรกก็กลายเป็นนิยายเลย เป็นนิยายแบบไม่มีพล็อต” วิรัตน์เล่าต่อว่า ทั้ง 3 เล่มนี้เขาเอากลับมาทำต้นฉบับใหม่แล้วพิมพ์ซ้ำกับสำนักพิมพ์อารีมิตรด้วย

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

ดอกไม้บานแล้วโรย แต่ความรักบานแล้วไม่โรยก็ได้

“ผมคิดกับเป้ว่า อาชีพคอลัมนิสต์อาจจะยุติลงโดยเวลาหรือโดยวัย แต่มันมาถึงเร็วกว่าที่คิด ใครจะไปคิดว่า ขวัญเรือน จะปิด วงการนิตยสารล้มระเนระนาดไปหมด ถ้าไม่มีอะไรรองรับผมคงกระทบมาก แต่พอดีมีร้านหนังสือ” วิรัตน์พูดถึงร้าน Booktopia ที่เปิดมาแล้ว 15 ปี

วิรัตน์เอาเวลาที่เคยเขียนคอลัมน์ไปใช้เขียนงานชุดใหม่ซึ่งเป็นทั้งนิยายและความเรียง เขาได้เขียนงานที่เป็นตัวเองจริงๆ โดยไม่ต้องอยู่ในกรอบเรื่องสไตล์ตามหัวนิตยสาร หรือความสั้นยาว ทำให้เกิด Sad Cafe นิยายทดลอง ที่ตัวละคร 3 ตัวสลับกันเล่าเรื่องราวในคาเฟ่แห่งหนึ่ง ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมาก

“ผมเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งอยู่ ทำมาสองปีแล้ว เป็นความเรียงชื่อ โลก บ้าน จักรวาล และการข้ามไป มีสิบห้าตอน แต่ละตอนยาวเหยียดเลย เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ชีวิต ความไม่แน่นอน การพลัดพราก เป็นมุมมองของคนวัยห้าสิบปลายๆ ที่มองไปข้างหน้า ข้างหลัง มองบ้านเกิด บ้านเก่า เด็กๆ เราไม่เห็นความสำคัญของครอบครัว แต่พออายุขนาดนี้ ครอบครัวจำเป็นมาก มุมมองเปลี่ยนไปเยอะ พอเทียบกับงานความเรียงเล่มสุดท้ายอย่าง คนเล็กๆ ที่หายตัวได้ คล้ายๆ เล่มนั้นจะโอเวอร์โรแมนติกไปเลย”

วิธีการทำงานของเขาคือ เขียนงานเกือบทุกวันด้วยลายมือลงในสมุด พอเขียนจบก็เอามาพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์แล้วแก้ไขขัดเกลาในนั้น

โดยเนื้อหา ถ้าเป็นคนอื่นคงจะเอาบางส่วนหรือทั้งหมดมาทยอยลงเพจ ได้ทั้งยอดและการโปรโมต แต่วิรัตน์ไม่ทำ

“ผมไม่ได้ต่อต้านนะ แค่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ผมรู้สึกว่าเขียนออนไลน์เหมือนอยู่ในอากาศ ถ้าลงเพจก่อน มันจะช้ำ อ่านแล้ว ไม่สด ผมอยากเอาเนื้อหานั้นมาเขียนเป็นเล่มเลยดีกว่า ให้คนได้มาเปิดหนังสือกระดาษอ่านทีเดียว” เจ้าของร้านหนังสือตอบพร้อมรอยยิ้ม

บางสถานการณ์ความรักไม่ต่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมมีปาฏิหาริย์

วิรัตน์เคยทำสำนักพิมพ์ของตัวเองตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ชื่อบีเยศ (B-Yes) เป็นชื่อที่มีความหมายว่า เป็นที่รัก เขาพิมพ์หนังสืออย่าง คนเมืองใหญ่ ของทิวา สาระจูฑะ และ วัน เดือน ปี กับ ปลา(อ้วน) ว่ายทวนน้ำ ของตัวเอง

พอย้ายกลับมาอยู่อุทัยธานี เขาก็เริ่มกลับมาทำสำนักพิมพ์อย่างจริงจังอีกครั้งในชื่อ ‘อารีมิตร’ เขายังคงพิมพ์งานตัวเองและงานของนักเขียนที่เคารพรัก เขาไม่ได้คิดว่าต้องขายถล่มทลาย ไม่ต้องพิมพ์เยอะ ต้นทุนในการทำหนังสือก็ไม่มากเพราะเขากับภรรยาทำกันเองแทบจะทุกขั้นตอน หลักในการเลือกงานคือ เป็นงานที่ดีและน่าจะมีคนอยากอ่านก็พอ

งานของเขาเองก็เช่นงานพิมพ์ซ้ำ รักเล่มเล็ก หนังสือที่แจกในงานแต่งงานของเขา กับ Rocktopia ส่วนงานที่เขียนขึ้นมาใหม่คือ Sad Cafe และ ปลาไม่มีประเทศ บทกวีประกอบภาพวาด

หนังสือของนักเขียนคนอื่นก็อย่างเช่น ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ เรื่อง ไม่มีใครจากไปไหนหากเรายังคิดถึงเขาอยู่ และ หัวใจ, เวลา, กลางป่าแสงจันทร์

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

อีกเล่มที่เป็นที่ฮือฮาในวงการคือ ฉัน, เขียน, ความรัก ของ ม.ร.ว.นารี รัชนี ยิ้มศิริ ที่วันหนึ่งมาที่ร้าน วิรัตน์เลยยุให้ภรรยาของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ประติมากรระดับตำนานของประเทศ เขียนหนังสือเล่มแรกในวัย 70 กว่าปี เป็นเรื่องความรักและชีวิตคู่ ซึ่งทำออกมาดีมาก และกำลังจะมีเล่มสองตามมาเร็วๆ นี้

“ถ้ามีทุนมากกว่านี้ ผมก็จะเอางานเก่าๆ ของตัวเองมาพิมพ์ซ้ำอีก เรารู้ว่าหนังสือช่วยพยุงร้านได้ แล้วร้านก็ช่วยพยุงสำนักพิมพ์ด้วย” วิรัตน์พูดถึงแผนในอนาคต

วิรัตน์เคยผ่านยุครุ่งเรืองของวงการหนังสือที่พิมพ์หนังสือครั้งละ 3,000 – 5,000 เล่ม แล้วก็พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ตอนนี้เขาลดขนาดลงมาพิมพ์เองในจำนวนที่น้อยกว่าเดิมหลายเท่า แล้วก็วางขายในพื้นที่ที่แคบลงคือร้านตัวเองเป็นหลัก มีร้านของเพื่อนพ้องบ้างเล็กน้อย

“ความสุขไม่ได้น้อยลงนะ” วิรัตน์ตอบทันที “ถ้าเราไม่พูดเรื่องเงินนะ รายละเอียดในการทำงานมันสนุกกว่าเดิมเยอะ เมื่อก่อนก็แค่ไปรวมต้นฉบับมาจากคอลัมน์ รีไรต์ แต่ตอนนี้เขียนใหม่ มันได้ความสด มันทำให้เราอยากทำงาน มีไฟในการเขียน มีโปรเจกต์อยากทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ ความสดมันหล่อเลี้ยงชีวิตนะ โดยเฉพาะในคนวัยห้าสิบเจ็ด”

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

อากาศอยู่ตรงนี้ หวังว่าคุณคงหายใจ

การใฝ่ฝันตั้งแต่วัยหนุ่มว่าอยากเป็นนักเขียน แล้วได้ใช้ชีวิตอยู่ในความฝันนั้นมาจนถึงวันนี้ เป็นสิ่งที่พิเศษมาก

“ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้ว่ามันคืองานที่รักนะ จนได้มองย้อนกลับไปถึงรู้ การเขียนให้อะไรผมเยอะเลย ได้รับเกียรติ มีคนรู้จัก มีร้านหนังสือ มีสำนักพิมพ์ มีคนมาหาตามสมควร จะเรียกว่าให้ชีวิตก็ได้” นักเขียนผู้อยู่ในวงการมาเกือบ 30 ปีทบทวนอดีตที่ผ่านมา

ถ้าจะให้มองชีวิตนักเขียนของเขาเป็นหนังสือสักเล่ม เขาคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ

“อาจเขียนเป็นนิยาย สร้างตัวละครขึ้นมา เป็นนักเขียนแก่ๆ และตกยุค ที่คอยเฝ้าร้านหนังสือ แล้วเจ้าแก่คนนี้ก็ชอบเล่าความหลังให้คนที่มาซื้อหนังสือฟัง การเขียนด้วยรูปแบบนิยาย น่าจะทำให้เรื่องที่นำมาเล่าไหลลื่นกว่าการเขียนด้วยวิธีความเรียงหรือสารคดี แล้วมันก็ดูเป็นนิยาย จะให้สมจริง เหนือจริง หรือต่ำกว่าจริง อย่างไรก็ได้ ชื่อหนังสืออาจจะเป็น…แผ่นดินกระดาษ”

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia
ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

นักเขียนเป็นอาชีพที่ประหลาด ถึงแม้เราจะรักมัน แต่ถ้าบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ และคนอ่านไม่รักงานเรา ก็ยากที่จะได้ทำอาชีพนี้ต่อ

“ผมไม่กลัว ผมตัดกระบวนการนี้ออกหมดแล้ว เรามีสำนักพิมพ์ มีร้านของตัวเอง มันก็สะดวกในการเผยแพร่ ตอนเขียน Sad Cafe หรือที่กำลังจะเขียน Rocktopia เล่มสอง ผมไม่ได้คิดว่าคนกลุ่มไหนจะอ่าน ผมแค่เขียนแบบที่ผมอยากเขียน ถ้าผมเขียนแล้วมีความสุุข งานก็น่าจะดี ถ้างานดี ก็ต้องมีคนอ่าน” วิรัตน์ตอบด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจในชีวิตในวงการน้ำหมึก

ไม่มีใครพรากอาชีพนักเขียนไปจากเขาได้ ถ้าเขาไม่อนุญาต

ญามิลา จากคอลัมนิสต์ผู้เขียนงานมากสุดในประเทศ สู่เจ้าของร้านหนังสือเสน่ห์แรง Booktopia

* ชื่อตอนทั้งหมดมาจากคำโปรยปก และชื่อหนังสือของวิรัตน์ โตอารีย์มิตร

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ