3 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

หากจะมีสิ่งไหนที่เป็นนามธรรมที่สุดบนโลกนี้ สิ่งนั้นอาจคือเวลา

ทว่าเสน่ห์ของนามธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเวลา ความรัก ความตาย หรือกระทั่งชีวิต คือการกระตุ้นให้มนุษย์อย่างเรา ๆ ดิ้นรนค้นหาความหมายของมัน

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Anatomy of Time’ คือหนึ่งในความพยายามนั้น มันพาเราไปสำรวจเรือนร่างของเวลาผ่านความสัมพันธ์ของชายหญิงชราคู่หนึ่ง ซึ่งแทบไม่หลงเหลือเยื่อใยความรักต่อกัน แต่ยังอยู่ดูแลกันจนวันสุดท้าย-ด้วยพันธนาการที่ยากจะอธิบาย

หลังได้รับเลือกให้ไปฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลกในปีที่ผ่านมา พร้อมคว้ารางวัลจากหลายสถาบัน ชื่อของ เก่ง-จักรวาล นิลธำรงค์ ขึ้นแท่นเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่น่าจับตา เช่นเดียวกับ

ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาที่ได้รับคำชื่นชมทั้งในแง่งานภาพที่มีเอกลักษณ์ละเมียดละไม บทภาพยนตร์สดใหม่ รวมถึงการนำเสนอประเด็นที่เป็นสากล 

สื่ออย่าง The Hollywood Reporter เขียนถึงผลงานเรื่องนี้ว่า “จักรวาล วาดประวัติศาสตร์ครอบครัวของเขา เพื่อสร้างภาพประทับใจของแม่ซึ่งอุทิศตนเพื่อดูแลพ่อที่ป่วยหนัก ก่อนพาผู้ชมกระโดดเข้าสู่ห้วงการระลึกถึงชีวิตและความสูญเสียในประเทศไทย บ้านเกิดของเขา” 

ในวัย 45 ปี จักรวาลมีอาชีพหลักเป็นอาจารย์ประจำสาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลุกคลีอยู่ในแวดวงภาพยนตร์และศิลปะ ทั้งในฐานะของผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ สลับบทบาทมาเป็นศิลปินบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อมีไอเดียใหม่ ๆ งานของเขาครอบคลุมตั้งแต่ภาพยนตร์สั้น วิดีโออาร์ต ไปจนถึงศิลปะจัดวาง (Installation)

ไม่ว่าโดยบังเอิญหรือตั้งใจ จุดร่วมอย่างหนึ่งที่ปรากฏในงานของจักรวาล คือการนำเอาความทรงจำส่วนตัวมาตีแผ่และทำความเข้าใจ สอดแทรกด้วยกลิ่นอายของปรัชญาและศาสนา ท้าทายให้ผู้ชมขบคิดและแปลความหมาย

ในวาระที่ Anatomy of Time ได้ฤกษ์เข้าฉายในประเทศไทย เราชวนเขามาสนทนาถึงแก่นแท้ของคำว่าเวลา ความสัมพันธ์ที่หาคำอธิบายไม่ได้ และกระบวนการตามหาความทรงจำที่หล่นหาย-ทั้งในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ และในฐานะปุถุชนที่ยังไม่หลุดพ้นจากวังวนแห่งความทุกข์

จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่ใช้หนังเป็นเครื่องมือชำแหละความทรงจำ

สังเกตว่าหนังที่คุณทำหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องล่าสุดคือ Anatomy of Time มีจุดตั้งต้นจากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัว อยากทราบว่าทำไมถึงสนใจนำแง่มุมชีวิตของตัวเองมาเล่าผ่านภาพยนตร์

จริง ๆ แล้วไอเดียของเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากเรื่อง Vanishing Point (2015) ซึ่งโฟกัสที่เรื่องของพ่อ เล่าผ่านมุมมองของพ่อเป็นหลัก พอทำเรื่องนั้นเสร็จ ผมรู้สึกว่าเรายังไม่ได้มองในมุมของ ‘แม่’ หรือภรรยาของผู้ชายคนนี้เลย จึงเป็นความตั้งใจว่า ถ้าจะทำหนังเรื่องต่อไป ผมอยากลองสำรวจมุมนั้นดูบ้าง 

ทั้งสองเรื่องนี้มีประเด็นที่ทับซ้อนกันอยู่ คือพูดถึงเรื่อง ‘ความทุกข์’ เหมือนกัน ความต่างคือใน Vanishing Point มันเหมือนการสำรวจความทุกข์ และหาทางที่จะออกจากความทุกข์นั้น แต่ใน Anatomy of Time มันคือการมองย้อนกลับไปว่าในอดีต คนสองคนเคยมีช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกัน ผมอยากย้อนกลับไปสำรวจว่า ในวันที่เขารู้สึกตกหลุมรักกัน มันเป็นยังไง ผ่านมุมมองผู้หญิงซึ่งมีความละเอียดอ่อนกว่า

คำถามหลัก ๆ ตอนทำ Anatomy of Time คืออะไร

ตอนเริ่มเขียนบท แรงบันดาลใจสำคัญคือ ผมได้เห็นช่วงเวลาสุดท้ายที่คุณแม่ดูแลคุณพ่อ ก่อนคุณพ่อจะเสีย ผมสงสัยว่า ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งถึงทุ่มชีวิตเพื่อดูแลชายแก่คนหนึ่งจนวันตาย ทั้งที่เราก็ไม่ได้เห็นเขามีความรักหรือเยื่อใยต่อกันมานานแล้ว คำถามคืออะไรที่ทำให้เขายังคงทำสิ่งนั้นต่อไป อะไรที่ยึดเหนี่ยวเขาไว้ เพราะคนรุ่นนี้ รวมถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป อาจไม่เข้าใจแล้วว่าความสัมพันธ์แบบนี้คืออะไร

ถ้าให้เปรียบเทียบ คงเหมือนสมัยก่อนที่คนจีนแต่งงานแล้วอวยพรให้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร ซึ่งอาจไม่เวิร์กแล้วกับคนยุคปัจจุบัน ถ้าเป็นผม ผมรู้สึกว่าถ้าไม่รักกันแล้ว จะทนถือไม้เท้าถือกระบองกันไปทำไม ทำให้ผมอยากเข้าใจมุมมองนี้ ตอนนั้นเลยเริ่มหาคำตอบจากการไปบวช และเริ่มต้นเขียนบทหนังเรื่องนี้ตอนที่บวชอยู่ 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการเขียนบท จนถึงถ่ายทำ คำตอบที่คุณสงสัยมันคลี่คลายขึ้นไหม 

ผมมาเห็นคำตอบชัดขึ้นตอนทำหนังเสร็จแล้ว และเอาไปฉายในเทศกาลที่ต่างประเทศ หลังฉายเสร็จมีนิตยสารของโปแลนด์มาขอสัมภาษณ์ผม คนสัมภาษณ์บอกว่าเขาอินกับหนังมาก ซึ่งระหว่างสัมภาษณ์ไป จู่ ๆ เขาก็เล่าเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับแม่ให้ฟัง แล้วบอกว่าหลังดูหนังจบ เขาโทรหาแม่ บอกแม่ว่าเขาดีใจมากที่แม่เลิกกับพ่อได้ เขาเข้าใจแล้วว่าแม่ต้องผ่านอะไรมา 

นั่นคือจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้มันเข้าถึงคนดูได้ในหลาย ๆ มิติ นี่แหละคือสิ่งที่หนังต้องการ สุดท้ายแล้วมันอาจไม่ได้ต้องการคำตอบจากคนรุ่นก่อนขนาดนั้น แต่เป็นการตั้งคำถามกับคนรุ่นปัจจุบันมากกว่า 

แล้วตัวคุณเอง ในฐานะที่ประสบพบเจอความสัมพันธ์แบบนี้มาโดยตรง สุดท้ายแล้วคุณทำความเข้าใจกับมันยังไง

ผมมองว่าความสัมพันธ์ก็คล้ายกับเวลา คือไม่มีความจริงแท้แน่นอน ตัวเราในวันที่ยังไม่มีครอบครัว กับตัวเราในวันที่แต่งงานกัน หรือวันที่ต้องตายจากกันไป อาจไม่ใช่เราคนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่ได้เชื่อว่าคนเราต้องรักกันเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย แต่ขณะเดียวกัน ชีวิตมันก็มีเหตุผล มีกลไกที่ทำให้แต่ละคนโคจรมาเจอกัน ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ตรงนี้ผมว่าน่าสนใจ

สังเกตว่าชื่อหนังภาษาไทยคือ ‘เวลา’ ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องอะไรกับนวนิยายซีไรต์ชื่อเดียวกันของ ชาติ กอบจิตติ หรือเปล่า เพราะดูจากพล็อตเรื่องและคอนเซ็ปต์แล้ว น่าจะมีบางส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่  

เกี่ยวครับ เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเลยก็ว่าได้ ตอนผมเขียนบท จะมีตัวละครหนึ่งที่เขียนขึ้นมาจากหนังสือของพี่ชาติเลย และมีฉากที่เกิดขึ้นในบ้านพักคนชราเหมือนกับในหนังสือ พอเขียนบทเสร็จ เราส่งบทให้พี่ชาติดูด้วย เพราะเราไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้มันคือ Adaptation หรือเปล่า พอพี่ชาติได้อ่านบท แกบอกว่ามีนิดเดียวเอง ไม่เป็นไร ใช้ได้เลย 

แต่นอกจากหนังสือ อย่างที่บอกไปว่า มันตั้งต้นมาจากชีวิตจริงของผมเอง บวกกับจินตนาการที่ผมใส่เพิ่มเข้าไป อย่างช่วงที่เล่าเรื่องในอดีตทั้งหมด อันนั้นมาจากการขอดูรูปเก่า ๆ ของแม่ แล้วจินตนาการออกมาหมดเลย 

จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่ใช้หนังเป็นเครื่องมือชำแหละความทรงจำ
จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่ใช้หนังเป็นเครื่องมือชำแหละความทรงจำ

ในแง่ของการทำบทหนัง ด้วยความที่เรื่องราวตั้งต้นมาจากครอบครัวคุณเอง คุณต้องรีเสิร์ชอะไรเพิ่มเติมไหม ที่บอกว่าต้องจินตนาการ คือจินตนาการอะไร 

อย่างแรกคือผมเอารูปเก่า ๆ ของแม่ในสมัยก่อนมาดู แล้วก็คุยกับแม่บ้าง ซึ่งแม่ก็มักจะบอกว่า จำเรื่องสมัยก่อนไม่ค่อยได้แล้ว คนที่ช่วยได้มากกว่าจะเป็นน้า (น้องสาวของแม่) ที่เล่ารายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีกว่า 

แต่พอเอาเข้าจริง กลายเป็นว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ที่เขียนออกมา เป็นจินตนาการของเราเองมากกว่า โดยเฉพาะพาร์ตที่เล่าถึงอดีต พอเปิดเจอรูปเก่า ๆ ของแม่ในสมัยก่อน ผมรู้สึกว่าแม่เราโคตรสวยเลยว่ะ แล้วมันมีอยู่รูปหนึ่งที่แม่ผมถ่ายกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พ่อ ดูจากการแต่งกายแล้วน่าจะเป็นโค้ชทีมฟุตบอล ไม่ก็ครูพละ พอเห็นรูปนั้น ผมก็ลองจินตนาการต่อว่า ถ้าสมมติเขาเป็นแฟนกัน ผมอาจไม่ได้เกิดมาก็ได้ หรือบางทีชีวิตของแม่อาจดีกว่านี้ ผมเริ่มจากจุดนั้น แล้วค่อย ๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวขึ้นมา

นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ คอนเซ็ปต์ใหญ่ที่คลุมหนังเรื่องนี้ไว้ก็คือ ‘เวลา’ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในหลายมิติ อยากรู้ว่าในมุมมองของคุณ เวลาคืออะไร 

เมื่อพูดถึงคำว่าเวลา คนมักจะมองมันเป็นเส้นตรง คือมีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ถ้าพูดในเชิงพุทธศาสนา จุดสมมติต่าง ๆ ทั้งอดีตและอนาคต มันไม่มีอยู่จริง มันมีแค่ปัจจุบัน แต่ถ้ามองในมุมฟิสิกส์ เวลาคือมิติที่ 4 ซึ่งไม่ได้เป็นเส้นตรงเหมือนกัน แต่เป็นเส้นโค้ง การมองจากหลาย ๆ มุมแบบนี้ สุดท้ายมันทำให้เราไม่ไปเชื่อหรือยึดติดว่าเวลาต้องเป็นเส้นตรงเสมอไป 

สำหรับผม เวลามันมีเท่าเดิม แต่ในระยะเวลาที่เท่ากัน สิ่งที่มากระทบกับเรา ณ ช่วงเวลานั้น ๆ มีผลให้เรารู้สึกว่าเวลานั้นสั้น-ยาวแตกต่างกันไป ผมว่าสิ่งนี้น่าสนใจ นึกภาพง่าย ๆ ว่าเวลาที่เรามีความสุข กับเวลาที่เรารอคอย แม้จะเป็นเวลา 5 นาทีเหมือนกัน แต่ความรู้สึกในใจมันไม่เท่ากัน ผมว่าเวลามันคือสิ่งนั้น มันคืออะไรก็ตามที่มีผลให้ 5 นาทีนั้นช้าหรือเร็ว 

แล้วคุณเอาไอเดียนี้มาใส่ในหนังอย่างไร

ไอเดียของผมคือการหานิยามให้กับคำว่าเวลา โดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ ถ้าได้ดูหนัง จะสังเกตว่ามันเริ่มต้นด้วยความตาย แล้วจบด้วยความตาย เหตุผลที่เป็นแบบนั้น เพราะผมคิดว่าความตายมันไม่ได้มีอยู่จริงในชีวิตเรา ในแง่ที่เราไม่สามารถมีประสบการณ์นั้นได้ด้วยตัวเอง นอกจากจะเป็นคนที่ตายแล้วฟื้นขึ้นมาได้ หมายความว่าเรารู้จักความตายผ่านความตายของคนอื่นอีกที แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความตายมาถึงเรา เมื่อนั้นแหละที่ ‘เวลา’ ของเราหมดลง

สำหรับผม ความตายคือสิ่งที่ทำให้เวลาหยุดลง ผมเลยเลือกเปิดเรื่องด้วยความตาย แล้วเล่าย้อนเวลากลับไปในวันที่ยังมีชีวิต แล้วปิดด้วยความตายอีกรอบ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ความตายของคนคนหนึ่ง อาจหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของใครอีกคนก็ได้

ก่อนหน้านี้ หนังส่วนใหญ่ที่คุณทำจะเป็นหนังแนวทดลอง (Experimental) แต่กับเรื่อง Anatomy of Time เข้าใจว่าเป็นเรื่องแรกที่มีเส้นเรื่องเหมือนหนังทั่วไป อยากรู้ว่าทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้ 

จริง ๆ แล้วเหตุปัจจัยในการทำหนังแต่ละเรื่อง เกิดมาจากตัวผมเองล้วน ๆ ไม่ได้มีใครมาบังคับ อย่างตอนที่ทำ Vanishing Point เสร็จ และรู้ว่าหนังเรื่องต่อไปที่จะทำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่ ผมก็อยากท้าทายตัวเองด้วย อยากออกจากเซฟโซนของตัวเองที่ทำหนังแนวทดลองมาตลอด ดังนั้นเรื่องนี้จึงตั้งใจว่าจะทำออกมาเป็นแนวเรียลลิสม์ (Realism) ซึ่งกระบวนการจะแตกต่างจากเรื่องอื่น ๆ ที่เคยทำมา ตั้งแต่การเขียนบท จนถึงการถ่ายทำ ตัดต่อ 

ตอนแรกก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ แต่สุดท้ายตัวบทมันได้รับการพิสูจน์ ตอนที่เอางานไปขายในตลาดคนทำหนังต่างประเทศ แล้วมีโปรดิวเซอร์ที่เขาชอบและรู้สึกเชื่อมโยงกับผลงานของเรา ทำให้เริ่มมั่นใจว่าบทของเราน่าจะเข้าถึงคนได้เยอะ จากนั้นก็ค่อยพัฒนามาทีละสเต็ป ทีละกระบวนการ หลัก ๆ คือไปในแนวเรียลลิสม์  

จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่ใช้หนังเป็นเครื่องมือชำแหละความทรงจำ
จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่ใช้หนังเป็นเครื่องมือชำแหละความทรงจำ

ในมุมของคนที่ทำหนัง และในฐานะเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงด้วย คุณได้ค้นพบหรือเรียนรู้อะไรจากการทำหนังเรื่องนี้ไหม

อาจตอบไม่ตรงกับคำถามเท่าไหร่ แต่ผมอยากแชร์ให้ฟังว่า คุณพ่อผมเสียก่อนจะถ่ายหนังเรื่องนี้ประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า

ประเด็นคือก่อนหน้านั้น เรามีกระบวนการ Pre-production มาตลอด เขียนบทไว้แล้ว เตรียมพร้อมถ่ายทำ ปรากฏว่าพอพ่อเสีย ผมได้เห็นกระบวนการจัดงานศพ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือลอยอังคาร จำได้ว่าวันที่ลอยอังคารเสร็จ ผมเห็นว่าแม่ดูสบาย เหมือนเขาไม่ทุกข์แล้ว แม่ที่เคยทุกข์ทนกับการแต่งงานจนถึงวันสุดท้ายที่พ่อจากไป ตอนนี้แม่สบายแล้ว 

ความรู้สึกของผมตอนนั้นคือมันจบแล้ว หนังที่ผมตั้งใจจะถ่าย แทบไม่มีความหมายอะไร เพราะมันคงถ่ายทอดหรือถ่ายเทความรู้สึกนั้นออกมาไม่ได้ 

หลังผ่านเหตุการณ์นั้นมา ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันพ้นไปจากเรื่องของครอบครัวผมแล้ว เหมือนแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ เราเลยต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าจะพัฒนาตัวละครยังไง เราอยากถ่ายทอดมันออกมาแบบไหน พูดง่าย ๆ ว่าถ้าพ่อยังอยู่ หนังคงออกมาเป็นอีกแบบหนึ่งเลย 

สมมติว่าเป็นแบบนั้น คิดว่าหนังเรื่องนี้จะออกมาเป็นยังไง 

ข้อแรกคือความรู้สึกที่ผมมีต่อมัน วิธีการถ่ายทอดมันออกมา คงไม่ใช่แบบนี้ อีกอย่างที่เปลี่ยนแน่ ๆ คือโลเคชัน เพราะผมใช้บ้านแม่เป็นโลเคชันในการถ่ายทำเลย ซึ่งเป็นที่ที่พ่อเคยนอนป่วยอยู่ตรงนั้น ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ยังเก็บไว้ที่เดิม กลายเป็นว่ามันยิ่งช่วยหนุนเสริมหนังไปโดยปริยาย แต่ถ้าพ่อยังอยู่ เราคงใช้ที่นี่ไม่ได้

อันนี้ต้องยกเครดิตให้ทีมงานด้วย เพราะตอนแรกเราเล็งว่าจะใช้บ้านของอดีตภรรยานายพลคนหนึ่ง แต่ติดปัญหาว่าบ้านหลังนั้นอยู่ในเขตราชการ เขาเปิดให้เช่าถ่ายทำหนัง แต่ราคาแพงมาก และต้องกำหนดช่วงเวลาถ่ายทำที่แน่นอน ทำให้เราทำงานกันยาก ทีมงานเลยคุยกันว่า ไปถ่ายที่บ้านของแม่พี่เถอะ นักแสดงจะได้ไปอยู่เลย และเวิร์กชอปกันที่นี่เลย ซึ่งสุดท้ายเราก็มองว่าเป็นทางเลือกที่ดี 

สังเกตว่าในหนัง มีการสอดแทรกบริบทสังคมการเมืองที่ส่งผลกระทบกับตัวละครเข้าไปด้วย แต่ไม่ได้ทำในลักษณะที่ตรงไปตรงมา อยากรู้ว่าคุณให้น้ำหนักกับการใส่ประเด็นเหล่านี้ในหนังอย่างไร

จริง ๆ ในบทดราฟต์แรก มีเรื่องพวกนี้เยอะกว่าที่เห็นในหนัง แต่พอถึงกระบวนการช่วงหลัง ๆ มันถูกตัดออกไป เหตุผลหลักคือเราอยากให้หนังโฟกัสที่ชีวิตตัวละครหลักมากกว่า สมมติถ้าไปฉายเมืองนอกอย่างเดียว ผมจะไม่กังวลเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่พอเป็นเมืองไทย ผมรู้สึกว่าเวลาคนมองงานศิลปะสักชิ้น หรือมอง Object อะไรก็แล้วแต่ คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถถอดแว่นที่มีรสนิยมทางการเมืองของตัวเองออกไปได้ ผลที่ตามมาคือ เราจะไม่มีทางมองเห็นเนื้อในของผลงานนั้นจริง ๆ 

ดังนั้น ถ้าในหนังมันมีมิติทางการเมืองที่ถูกใส่เข้าไปเยอะ มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตัดสินด้วยแว่นเหล่านั้น แล้วความสนใจในตัวละครที่เราอยากให้คนโฟกัสเป็นหลัก จะหายไปหรือถูกลดทอนไป ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

หมายความว่าจริง ๆ แล้ว คนทำหนังอาจมีทัศนคติหรือรสนิยมทางการเมืองของตัวเองได้ แต่เวลาทำหนังออกมา ต้องระมัดระวังเหมือนกัน

ใช่ เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าคนอยากรู้ประวัติศาสตร์จริง ๆ เขาไปหาอ่านที่ไหนก็ได้ มันไม่จำเป็นต้องเล่าประวัติศาสตร์ในหนัง แต่ถามว่าเรามีความตั้งใจที่จะใส่เรื่องพวกนี้เข้าไปไหม ก็มี ความตั้งใจของผมคืออยากทำให้คนดูจบแล้วอยากกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ ผ่านเรื่องราวหลังบ้านของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเมียอดีตนายพล

เราอาจไม่ได้พูดตรง ๆ ว่าประวัติศาสตร์มันโหดร้ายยังไง แต่เราทำให้เห็นว่าชีวิตผู้หญิงคนนี้แม่งโคตรเป็นทุกข์เลย แล้วเดี๋ยวคนที่สงสัยหรืออยากรู้ เขาก็ไปหาต่อเองว่าจริง ๆ แล้วนายพลคนนี้ทำอะไรไว้บ้าง

ผมมองว่าทัศนคติทางการเมือง แง่หนึ่งมันเป็นเรื่องรสนิยม เมื่อเราเข้าใจว่ามันรสนิยม ซึ่งเป็นอัตวิสัย เราจึงไม่สามารถเอารสนิยมของเราไปตัดสินใครได้ ยิ่งเป็นการทำหนัง ยิ่งไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องพยายามไปโน้มน้าวให้คนมาเชื่อหรือชอบแบบเดียวกับเรา 

 ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่เชื่อว่าเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง และใช้หนังชำแหละความทรงจำ

เท่าที่ฟังมา สังเกตว่าคุณค่อนข้างสนใจเรื่องศาสนาและปรัชญา ความสนใจเหล่านี้มีที่มาที่ไปยังไง

คงเป็นอิทธิพลที่ได้มาตั้งแต่ตอนเรียน ผมเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนั้นงานที่เราต้องทำ จะเกี่ยวกับสัญลักษณ์ ความหมายทางพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นโครงใหญ่ที่เด็กศิลปากรในยุคนั้นสนใจกัน ก็คือเรื่องศาสนา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจศึกษา 

ต่อมาเมื่อผมได้ไปเรียนที่เมืองนอก ผมอยากรู้จักมันให้ลึกซึ้งขึ้น ก็ไปไล่อ่านหนังสือดาไลลามะ หนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธในเวอร์ชันฝรั่ง ซึ่งทำให้เราเห็นเมืองไทยจากระยะไกล ทำให้เข้าใจแนวคิดต่าง ๆ มากขึ้น พอถึงเวลาที่ตัดสินใจกลับมาทำหนังเลยเลือกที่จะทำสิ่งนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เราสนใจมานาน ถ้าเป็นคำพระก็คงพูดว่า “มาดูเถิดสงฆ์” คือสงสัยอะไรก็มาดูเลย อย่าแค่สงสัยอย่างเดียว ต้องลองปฏิบัติ สุดท้ายผมก็เลยไปบวชอยู่ช่วงหนึ่ง คือช่วงก่อนที่จะทำหนังเรื่องนี้แหละ บวชวัดป่าเลย 

ตอนที่ตัดสินใจบวช คุณสงสัยหรืออยากรู้เรื่องอะไร

ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องชีวิต เรื่องความทุกข์ อยากเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเราจะจัดการกับมันได้ยังไง 

ความทุกข์ในที่นี้ หมายถึงทั้งเรื่องกายภาพและเรื่องจิตใจ ซึ่งตอนนั้นผมไปสายลึกเลย ไปถึงเรื่องญาณ เรื่องการทำสมาธิ จริงจังมาก เมื่อก่อนผมจะปวดหัวบ่อย เคยกินพาราบ่อยจนติด กระทั่งวันหนึ่งที่ผมตัดสินใจว่าจะเลิกกินพารา แล้วหันไปนั่งสมาธิแทน พูดง่าย ๆ คือใช้ธรรมะโอสถ 

จำได้ว่า ผมเคยนั่งสมาธิจนถึงขั้นที่รู้สึกว่าร่างกายแยกออกจากความเจ็บปวด ของแบบนี้ต้องลองเองถึงจะรู้ ผมเลยยิ่งทำให้ผมสนใจสิ่งนี้มันคืออะไร แต่พอไปบวชจริง ๆ อาจารย์ท่านก็บอกว่า สิ่งที่เรารู้สึก มันมีของมันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สาระ 

ทำไมถึงตัดสินใจบวชตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ผมว่าการบวชมันต้องคิด การบวชตามประเพณีเฉย ๆ มันไม่ได้อะไร ผมมองว่าการบวชก็เหมือนการทำวิจัยเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่เราศึกษามันใหญ่และละเอียดอ่อนมาก ถ้าเราอยากรู้จริง ๆ เราต้องทุ่มตัวลงไป ทำแบบฉาบฉวยไม่ได้ ตอนที่ผมจะบวช ผมเตรียมตัวอยู่เป็นปี และเป็นช่วงที่ผมมีลูกแล้วด้วย

 ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่เชื่อว่าเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง และใช้หนังชำแหละความทรงจำ

พอได้บวชแล้วเป็นยังไง รู้สึกว่าคิดถูกไหม

มันทำให้ผมเข้าใจหลาย ๆ อย่างชัดเจนขึ้นเลยนะ เมื่อก่อนผมจะเป็นคนสุดโต่งกว่านี้ แต่ผลจากการบวชมันทำให้เราไม่ซีเรียสกับทุกอย่างจนเกินไป อาจเรียกว่าปล่อยวางก็ได้ มุมมองหนึ่งที่ผมได้มาจากการบวช คือการมองทุกอย่างเป็นเหมือนเหง้า (Rhizome) ที่เชื่อมถึงกันหมด แทนที่จะมองว่าเป็นรากซึ่งแตกแขนงเป็นกิ่งก้านใบ 

สมมติเรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตว่าเป็น ‘ราก’ ที่งอกออกมาเป็นลำต้น กิ่ง ใบ จนออกมาเป็นดอกผลในทุกวันนี้ ถ้าเกิดว่าดอกผลที่งอกมามันไม่เวิร์ก ใช้ไม่ได้ แปลว่าเราต้องโค่นต้นไม้ทิ้งไปเลยถูกไหม แต่ถ้าเรามองเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์นั้น ๆ ว่าเป็น ‘เหง้า’ และทุกเหง้าเชื่อมโยงกันอย่างมีเหตุผล เหง้าบางเหง้ายังอยู่ ส่วนบางเหง้าก็ตายไปแล้ว เราจะเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องไปรื้อมัน หรือถ้าอยากรื้อ ก็รื้อไม่ได้ เพราะมันเป็นเหง้าเดียวกัน การไปบวชทำให้ผมเห็นภาพเหล่านี้ได้กว้างขึ้น 

สำหรับคุณ การบวชกับการทำหนัง ทำให้พบคำตอบบางอย่างของชีวิตในลักษณะเดียวกันไหม กระบวนการเพื่อที่จะได้คำตอบนั้นต่างกันอย่างไร

ต่างกันแน่นอน อย่างตอนที่ผมจะบวช ผมบอก พี่เจี๊ยบ-กฤติยา กาวีวงศ์ (ผู้อำนวยการ Jim Thompson Art Center) ว่าผมจะไปบวชนะพี่ แกก็ถามเราว่าจะไป Residency เหรอ (หัวเราะ) ผมเคยไปเป็น Resident ที่อัมสเตอร์ดัมอยู่ 2 ปี ความรู้สึกมันคล้าย ๆ แบบนั้นแหละ เป็นการไปฝังตัวเพื่อทำงานหรือค้นหาอะไรบางอย่าง คล้ายการทำวิจัยชิ้นหนึ่ง ถ้าเทียบกับการทำหนัง สโคปมันจะกว้างขึ้น เพราะมันคือการทำงานเป็นกลุ่ม คือการประนีประนอมกับทีมงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว 

ผมเคยคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นพระ ตอนนั้นผมเพิ่งกลับมาจากอเมริกา เพื่อนถามว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ ผมบอกว่าทำหนัง ทำวิดีโออาร์ต เพื่อนก็พูดมาคำหนึ่งว่า งานแบบนี้เป็นงานที่ ‘ไกลใจ’ หมายความว่า ถ้าเทียบกับงานศิลปะอื่น ๆ เช่น เพนต์ติ้ง มือเรา ใจเรา กับผืนผ้าใบ มันใกล้กันมาก แต่พอเป็นหนัง มันไกลใจ ผมฟังแล้วก็เห็นด้วย เพราะกระบวนการทำหนังมันมีหลายเลเยอร์ที่กั้นอยู่ ทำให้สิ่งที่อยู่ในใจเรากับหนังเวอร์ชันไฟนอลที่ออกมา ไม่ได้ตรงไปตรงมาหรือเป็นดั่งใจเราขนาดนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร สุดท้ายแล้วมันคือวิธีการทำงานแบบหนึ่ง

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณทำหนังในฐานะที่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ทุกวันนี้ยังคิดแบบนั้นอยู่ไหม 

ใช่ครับ อย่างที่บอกไปว่า การทำหนังคือการประนีประนอมกับทีมงาน กับข้อแม้หรือเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมา อาจไม่ได้เป็นดั่งใจร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แต่สิ่งที่ผมจะไม่ประนีประนอมเด็ดขาด คือไอเดียตั้งต้นหรือที่มาของมัน มันควรมาจากเราที่เป็นคนสร้างงานเป็นหลัก ตรงนี้แหละที่เป็นจุดที่ทำให้เรายังรักษาความเป็นงานศิลปะในการทำหนังไว้ได้ สุดท้ายมันยังเป็นผลผลิตที่ออกมาจากตัวเรา เป็นเรื่องของครอบครัวเรา เป็นปมในชีวิตเรา เป็นสิ่งที่เราประเมินแล้วว่ามันมีความเป็นสากล และน่าจะแชร์กับคนอื่นได้

 ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่เชื่อว่าเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง และใช้หนังชำแหละความทรงจำ
 ผู้กำกับ Anatomy of Time ที่เชื่อว่าเวลาไม่ได้เดินเป็นเส้นตรง และใช้หนังชำแหละความทรงจำ

Writer

Avatar

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร WRITER และ The101.world ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการฝึกหัด ถนัดในการเรียบเรียงน้ำเสียงและความคิดของผู้คนออกมาเป็นงานเขียนที่น่าสนใจ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล