“ฉันเป็นอะไรก็ได้ และเธอก็เป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน”

ในโลกที่คาดหวังให้เราสวมใส่สถานะบางอย่างตลอดเวลา และตัดสินตัวตนเราจากบทบาทนั้น ‘จั๊กกะจิ่งจิ่ง’ คือหนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัยที่สื่อสารว่า ต่อให้ใครแปะป้ายดูถูก มองเธอด้วยสายตาค่อนขอดไม่เข้าใจ และยัดเยียดความฝันที่ไม่ใช่ตัวตนแท้จริง เธอมีสิทธิ์เลือกเสมอว่าจะเป็นอะไร

นำเสนอผ่านตัวละครหลักในชื่อเดียวกัน ไร้นิยาม ไร้รูปทรง ไร้สีสันตายตัว

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

โปรเจกต์สุดน่ารักที่แฝงเนื้อหาสำคัญไว้ภายในนี้ เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้คนหลากหลาย ทั้ง แหม่ม-วีรพร นิติประภา, Eyedropper Fill, กลุ่มหิ่งห้อยน้อย กลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา นิสิตนักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็ก คนทำสื่อ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนาม ‘คณะใกล้เที่ยงคืน’

ดูแตกต่างหลากหลาย อายุน้อยสุดในกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.4 ไล่เรียงไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตมานานกว่าราว 4 เท่า แต่สิ่งเหมือนร่วมกันของกลุ่มคนเหล่านี้คือ มองเห็นความน่าเจ็บปวดของระบบที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องเลือกเป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อนุญาตให้เผยตัวตนแท้จริงภายใน ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่เป็นเพราะค่านิยมและความเชื่อเดิมที่ยึดถือกันมา

ห้ามเป็นเพศหลากหลาย ต้องเรียนหรือทำงานอาชีพนี้เท่านั้น ผู้หญิงเป็นแบบนี้ไม่ดี ผู้ชายห้ามอ่อนแอ และอีกสารพัดเรื่อง

ไม่น่าเศร้าหรือ หากโลกอันกว้างใหญ่อิสระเสรีนี้ ไม่มีพื้นที่ให้เด็กทุกคนเติบโตแบบที่ใจอยากเป็น แต่ต้องทนทุกข์ระทมกับความฝันของคนอื่น

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

เมื่อหนังสือเล่มนี้วางแผนจะเผยแพร่สู่สาธารณชน เราจึงชวนตัวแทนของโปรเจกต์นี้ทั้ง แหม่ม, ฟ้า-พัชชา ชัยมงคลทรัพย์ นักวาดภาพประกอบ, จั๊วะ-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล และ เบสต์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย สองหนุ่มนักสร้างสรรค์จาก Eyedropper Fill ที่มอบชีวิตให้ จั๊กกะจิ่งจิ่ง โลดแล่นบนหน้าหนังสือและแพลตฟอร์มอื่นๆ มาสนทนากันถึงแนวคิดเบื้องหลังผลงานสุดน่ารักที่แฝงความหมายลึกซึ้ง

เมื่อคนเราด่วนตัดสินกันเร็วจากสิ่งที่เห็นชั่ววูบ และช่องว่างระหว่างวัยในสังคมขยายตัวมากขึ้นทุกที จั๊กกะจิ่งจิ่ง อาจเป็นอีกหนึ่งความหวังที่ช่วยให้เข้าใจกัน

ว่าทุกคนล้วนงดงามในแบบตัวเอง และเราเลือกได้เสมอว่าชีวิตนี้จะเป็นอะไร

ภาพ: Eyedropper Fill
01

หนังสือเด็กที่มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ 

“สิ่งที่พ่อแม่ต้องการทุกวันนี้คือ อยากให้ลูกโตมาเป็นลูกที่ดีของฉัน แต่ไม่ใช่คนที่โตมาเป็นตัวของเขาเอง” แหม่มกล่าวประโยคที่ลูกหลายคนคงพยักหน้าเห็นพ้อง หลายคนอาจจดจำเธอในฐานะนักเขียน แต่ในอีกมุมหนึ่ง เธอคือแม่ผู้เลี้ยงลูกชายด้วยการให้อิสระทางความคิดเสมอมา

ในขณะเดียวกัน เมื่อมองไปรอบตลาด เราจะพบนิทานร้อยพันที่ประเคนบอกข้อเท็จจริงแก่เด็กๆ อย่างตรงไปตรงมา และพร้อมปิดท้ายด้วย ‘เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่มีน้อยแหล่งเกินไปหรือเปล่าที่ชวนให้พวกเขาเริ่มใคร่ครวญ ตั้งคำถาม และคิดบทสรุปของตัวเองเป็นตั้งแต่ยังเล็ก

การรวมตัวของคนแวดวงการศึกษาที่เห็นช่องโหว่นี้จึงเกิดขึ้น เริ่มจากคนสองคน ชักชวนกันต่อจนขยายเป็นกลุ่มใหญ่ที่หลากหลายราว 20 ชีวิต เพื่อร่วมส่งสารสำคัญไปยังเด็ก ผู้ปกครอง และคุณครู ด้วยเครื่องมือราคาไม่แพงซึ่งเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายอย่างหนังสือภาพ

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

“เราตั้งใจทำหนังสือเล่มนี้ให้เข้าถึงวงกว้าง และส่งไปห้องสมุดโรงเรียนขนาดเล็กในที่ห่างไกล พ่อแม่และเด็กเปิดอ่านจับต้องได้ ถ้าทำแค่ตัวดิจิทัล มันจะกันการเข้าถึงของคนที่ไม่มีเครื่องมือ” หนึ่งในทีมงานเผยแนวคิดเบื้องหลังการเลือกพิมพ์เป็นหนังสือในยุคดิจิทัล

ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เกิดการนัดหมายทีมครั้งแรก งานนี้ไม่มีหัวหน้า ทุกคนพกความตั้งใจพร้อมมาร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม เสนอไอเดียอย่างเปิดเผย ทำให้การประชุมดำเนินไปอย่างรวดเร็วตามวิถีการทำงานสมัยใหม่

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

ภายในครั้งเดียว พวกเขาเคาะคอนเซปต์ว่าหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงความหลากหลาย ความเป็นไปได้แบบปราศจากขอบเขตใด

“ความจริงเรื่องนี้สำคัญต่อการพูดถึงตั้งแต่เมื่อสิบถึงยี่สิบปีที่แล้วด้วยซ้ำ เด็กๆ ควรได้รับรู้ความหลากหลายของโลกใบนี้ เห็นและเข้าใจผิวสี เพศ ศาสนา อาหาร วัฒนธรรมที่แตกต่าง ไม่ใช่ถูกบีบบังคับจนไม่เหลือพื้นที่ปลอดภัยให้คิดอะไรเลย ผู้ใหญ่อาจกังวลว่าเด็กจะมีอิสรภาพมากไป แต่ชีวิตจริงเราถูกโลกกำจัดและลิดรอนสิทธิกันมากพอแล้วนะ ถ้าไม่ให้พื้นที่เขาจนพ้นอายุสิบถึงสิบสองขวบ ก็อาจช้าไปแล้ว

“หนังสือเด็กมักมีแต่คำตอบที่ไม่ได้ถูกถาม แต่หนังสือเล่มนี้จะมีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ” คุณแม่วัยใกล้เลข 6 ที่เข้าอกเข้าใจธรรมชาติเด็กยุคใหม่เอ่ย

02

กำเนิดจั๊กกะจิ่งจิ่ง

“เรานึกถึงตัวสไลม์ที่เด็กๆ ชอบเล่นกัน มัน Free Form และ Abstract ที่สุดแล้ว และคิดว่าชื่อก็ควร Abstract ตามไปด้วย สุดท้ายโหวตกันว่าสไลม์ตัวนี้จะชื่อ จั๊กกะจิ่งจิ่ง” ทีมงานเล่าย้อนถึงจุดกำเนิดของตัวละครที่ไม่อาจบ่งบอกรูปทรงหรือตัวตนได้อย่างชัดเจน มาพร้อมกับนามที่ไร้ความหมาย พอแนวคิดเริ่มลงตัว นักวาดภาพประกอบอย่างฟ้าก็รับช่วงออกแบบสร้างสรรค์ให้มีตัวตน

เมื่อพลิกหนังสือดู เราพบจั๊กกะจิ่งจิ่งที่หน้าตาไม่ซ้ำกันเลย

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

“เราออกแบบให้ทุกหน้าดูเยอะและหลากหลาย มีให้เลือกเต็มไปหมด แต่ต้องทำให้ไม่ดูเกลื่อนเกินไป หรืออย่างหน้า ‘ฉันชอบอะไร’ กับ ‘ฉันเกลียดอะไร’ เราออกแบบให้ทั้งสองหน้ามีวัตถุเหมือนกัน แต่หน้าตาต่างเล็กน้อย เป็นการบอกว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ อาจน่ารักสำหรับคนอื่นก็ได้ หรือคนเราจะกลัวอะไรก็ได้เหมือนกัน” ฟ้าอธิบายกระบวนการที่แฝงอยู่ พวกเขายังปรึกษาผู้ศึกษาด้านวรรณกรรมเด็ก ทำให้เก็บเกี่ยวรายละเอียดแม้แต่เรื่องสีที่เลือกสรรให้เป็นมิตรต่อสายตาของชาวปฐมวัย รวมถึงมีการแปลภาษาอังกฤษประกอบไว้ในเล่มด้วย

คำถามในแต่ละหน้าดูเผินๆ ไม่ได้ซับซ้อน ให้เลือกเฉดสี (ไม่ได้เป็นเพียงชื่อสีทั่วไปเท่านั้น แต่มีทั้งสีดอกบานชื่น ตะวันตกดิน น้ำทะเล และอื่นๆ) รูปร่าง เครื่องแต่งกาย สถานที่อยู่ สิ่งสำคัญสำหรับเจ้าสไลม์ตัวนี้ แต่จริงๆ คำถามเหล่านี้ถือเป็นตัวแทนของทางเลือกอันหลากหลายในสังคม เช่น เป็นเพศอะไร นับถือศาสนาอะไร สุดท้ายแล้วพวกเขามีทางเลือก พวกเขาสามารถเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้เอง และโลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว

พร้อมกันนั้น ระหว่างทำรูปเล่ม ทีมงานจั๊กกะจิ่งจิ่งพัฒนาเว็บไซต์อินเทอร์แอคทีฟไว้ให้เด็กๆ เข้าไปสร้างตัวละคร เลือกจิ้มสิ่งที่ถูกใจให้จั๊กกะจิ่งจิ่งด้วยตัวเองและแชร์ต่อบนโซเชียลมีเดีย สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าทุกคนมีจั๊กกะจิ่งจิ่งของตัวเอง

ลองเข้าไปเล่นแล้ว เชื่อว่าจะมีรอยยิ้มปรากฏขึ้นแต้มใบหน้า หรือหวนนึกถึงวัยเด็กสักขณะแน่นอน

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้
03

โลดแล่นบนท้องถนน

“เราอยากให้มันหลุดออกจากหนังสือไปโลดแล่นอยู่บนพื้นที่จริง” เบสท์และจั๊วะจาก Eyedropper Fill กล่าวถึงความคิดเมื่อได้รับชวนให้เข้าร่วมขบวนนี้ พวกเขาเป็นคนที่ขาดไปไม่ได้เลย หากอยากให้จั๊กกะจิ่งจิ่งทำงานกับความรู้สึกของเด็กๆ จนพวกเขาต้องกระโดดโลดเต้นดีใจ

Eyedropper Fill เป็นบริษัทด้านมัลติมีเดียดีไซน์ที่สร้างปรากฏการณ์ผ่านผลงานศิลปะหลากรูปแบบ รวมถึงการฉายแสงกระทบพื้นที่ (Street Projection) เพื่อสื่อสารเรื่องราว โดยมีงานด้านการศึกษาเป็นแก่นหนึ่งที่อยากขับเคลื่อนเสมอมา

“งานศิลปะหลายชิ้นมักจัดอยู่ภายในหรือคนต้องเดินไปหา แต่เราอยากเปลี่ยนให้ตัวจั๊กกะจิ่งจิ่งเดินทางไปหาคนแทน อยากเห็นว่าพอไปอยู่บนพื้นที่จริงแล้ว คนที่เห็นจะมีปฏิสัมพันธ์กับมันอย่างไร” นักสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ตื่นตาตื่นใจเล่า พวกเขาเปลี่ยนจั๊กกะจิ่งจิ่งให้กลายเป็นภาพที่ลอยล่องบนโลกแห่งความเป็นจริง เดินไปฉายตามถนนหนทางต่างๆ

ภาพ: Eyedropper Fill

“ปรากฏว่าเด็กเล่นกันนานเลย พ่อแม่ที่ขายของอยู่ก็บอกว่าลูกชอบมาก เกิดการคุยกัน บางคนบอกว่ารูปร่างจั๊กกะจิ่งจิ่งนี่เหมือนดาวเลย แต่อีกคนเดินมาบอกว่าไม่ นี่มันทุเรียน

“บางคนเห็นจั๊กกะจิ่งจิ่งใส่กระโปรงแล้วบอกว่าเป็นผู้หญิง เราชวนคุยต่อเลยว่า อ้าว ถ้าใส่กางเกงจะถือเป็นผู้ชายได้เลยหรือเปล่า เขาก็คิดแล้วบอกว่าไม่ใช่” ทั้งสองเล่า พวกเขาตกลงกันว่าจะไม่ชี้ชัดคำตอบให้น้องๆ แต่จะตั้งคำถามให้ครุ่นคิดแลกเปลี่ยนกัน

บทสนทนาเหล่านี้ทำให้ทีมจั๊กกะจิ่งจิ่งคิดต่อว่า ในประเทศนี้มีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อแก่การเล่นของเด็กเพียงพอแล้วหรือไม่ หากยังไม่เพียงพอด้วยข้อจำกัดที่เป็นอยู่ งานสร้างสรรค์แบบนี้ก็ดูจะช่วยเปิดจินตนาการและความสนุกสนานทดแทนได้อยู่บ้าง รวมถึงทำให้เด็กเริ่มสนใจเทคโนโลยี

“มีน้องถามว่าเราฉายภาพได้อย่างไร ขอเก็บจั๊กกะจิ่งจิ่งไปฉายในรถ เอากลับบ้านไปด้วยได้ไหม” เบสท์เล่าประสบการณ์ที่ได้รับ พร้อมเปิดคลิปวิดีโอที่ถ่ายเด็กๆ เล่นกับเจ้าสไลม์อย่างเพลิดเพลิน

Eyedropper Fill เพิ่งลงพื้นที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผลตอบรับที่ได้กลับมานี้ถือเป็นการเรียนรู้และเรื่องน่ายินดียิ่งสำหรับทีมงาน

“ตอนแรกเราคิดถึงแค่การตอบโต้กับหนังสือเป็นหลัก พอเห็นการตอบโต้รูปแบบนี้ก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน” ฟ้าประทับใจ เมื่อเห็นตัวละครมีชีวิตขึ้นจริงในความทรงจำของเด็กๆ โดยที่แต่ละคนล้วนมีปฏิสัมพันธ์และให้ความหมายจั๊กกะจิ่งจิ่งแตกต่างกันไป

หลังจากปรากฏการณ์นี้ ทีมจั๊กกะจิ่งจิ่งจึงชวนเพจมนุษย์กรุงเทพฯ มาร่วมขยายผลให้ไปถึงผู้ใหญ่ ด้วยการออกเดินทางไปสนทนากับผู้คนวัยต่างๆ ทำเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ พูดคุยว่าจั๊กกะจิ่งจิ่งของพวกเขาเป็นอย่างไร แห้งหายตายจากใจไปแล้วหรือยัง

ถ้าหายไปแล้ว เป็นเพราะอะไรกันหรือ

เราจะนำความเชื่อและสายตาแห่งความหวังนั้นกลับมาหาเราอีกครั้งได้ไหม

04

เรียนรู้ความหลากหลายของกันและกัน

“พี่ปลื้มมาก เป็นการทำงานแบบโลกอนาคต” นักเขียนผู้สะสมประสบการณ์ชีวิตมานานเล่า “แจกจ่ายงานกันรวดเร็วทางออนไลน์ ทำงานด้วยความรู้สึกว่าทุกคนเท่ากัน ไม่ต้องมีท่านประธาน กล้าแย้งแล้วคุยกันดีๆ ไม่บั่นทอน จริงๆ พี่ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรเลย มาเรียนจากพวกเขาว่าทำงานกันอย่างไรมากกว่า” 

โดยปกติแล้ว เรามักเห็นความไม่เข้าใจ ความขัดแย้งระหว่างวัยเกิดขึ้นอยู่เสมอในโลกการทำงาน แต่ทีมจั๊กกะจิ่งจิ่งกลับทำงานร่วมกันอย่างไม่ติดขัด และต่างได้เรียนรู้จากกันและกัน

“คงเพราะทุกคนถูกร้อยกันไว้ด้วยจั๊กกะจิ่งจิ่ง” จั๊วะกล่าว “เราไม่ได้คิดว่าทำโปรเจกต์นี้เพราะฉันเป็น Eyedropper Fill กลุ่มคนทำงานหลายคนก็ไม่ได้ต้องการเผยชื่อตัวเอง แต่ทำเพราะอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ให้เห็นว่าตัวละครนี้จะไปถึงไหนได้บ้าง เราเห็นแล้วก็ยินดีทำ”

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

แต่ละคนต่างพกความถนัดของตัวเองมาลงแรงลงใจให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริง เช่น ในทีมมีนักเขียนที่ใฝ่ฝันอยากทำห้องสมุดของตัวเอง และมีคลังข้อมูลห้องสมุดในประเทศนี้ เมื่อในทีมคุยกันว่าอยากส่งหนังสือให้ห้องสมุด เนยหยิบยื่นข้อมูลที่เก็บสะสมมาด้วยความหลงใหลให้พวกเขาได้เลยทันที

หรืออย่างเว็บไซต์จั๊กกะจิ่งจิ่งก็เกิดขึ้นจากฝีมือของนักพัฒนาเว็บไซต์ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี แต่ช่ำชองในสิ่งที่ทำอย่างยิ่ง

“เราเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ทุกอย่างเป็นแอนะล็อก แต่เด็กรุ่นใหม่เขาเติบโตมากับอีกระบบ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก คนรุ่นเราจริงๆ อาจจะไม่ทันโลกเองนะ นี่เป็นโลกของอีกรุ่นหนึ่งแล้ว

“ต้องถามว่าทำไมถึงไม่เชื่อพลังของพวกเขาล่ะ” 

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้
05

เธอเป็นใคร

“การบอกให้คนเชื่อมั่นในตัวเองอย่างเดียวไม่พออยู่แล้ว มันต้องมีการทำงานอื่นๆ ควบคู่กันอีกเยอะ” หนึ่งในทีมงานกล่าวขึ้น เพราะโลกภายนอกมักโหดร้ายกว่าที่เราจินตนาการไว้เมื่อเติบโตขึ้น พลังของจั๊กกะจิ่งจิ่งเพียงอย่างเดียวอาจไม่มากพอในการสร้างความเข้มแข็งให้เด็กๆ ตลอดชีวิต

ทีมงานเปรยว่าหลังจากนี้อาจผลิตหนังสือการ์ตูนที่ขยายเนื้อหาต่อตามมา หรือเป็นตุ๊กตาที่จับต้องได้ เสมือนมาสคอตที่คนรู้ความหมายทันทีแค่เพียงเห็น เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์พ่อแม่ยุคใหม่ที่อาจเคยเจ็บปวดจากการถูกกดดันโดยคนรุ่นก่อน และเชื่อว่ารุ่นลูกหลานของพวกเขาไม่ควรถูกกดทับไว้อีกเช่นเคย

“แต่แน่นอนว่าเราควบคุมสังคมภายนอกไม่ได้หรอก สิ่งหนึ่งที่เราหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะทำงานกับเด็กๆ คือการบอกเขาในเสี้ยวชีวิตหนึ่งว่าคุณเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเขาสามารถจดจำเพื่อนชื่อจั๊กกะจิ่งจิ่งนี้ ตั้งแต่วันที่ยังไม่ถูกกรอบไอเดียของสังคมมาจำกัด พอโตขึ้นไปในวันที่เขามีแรงมากขึ้น เราหวังว่าเขาจะเชื่อมั่นตัวเองมากพอเมื่อต้องเผชิญโลก เหมือนซีนหนังซีนหนึ่งที่กระทบความคิดเรามาจนถึงทุกวันนี้”

เมื่อพลิกหนังสือจั๊กกะจิ่งจิ่งถึงหน้าสุดท้าย จะพบหน้ากระดาษเปล่าที่ตั้งใจเว้นว่างไว้ให้แต่งเติมวาดลวดลายจั๊กกะจิ่งจิ่งของตัวเอง

“ฉันคือจั๊กกะจิ่งจิ่ง ฉันคือฉัน ฉันเป็นอะไรก็ได้ เธอก็เป็นอะไรก็ได้เหมือนกัน” ประโยคหน้าก่อนๆ เขียนไว้ให้เปิดกว้างจินตนาการ

“แล้วเธอล่ะเป็นใคร” เราถามขึ้นด้วยความสงสัยในคำตอบของทุกคน

ในห้องนิ่งเงียบไปสักครู่ คำถามนี้จริงๆ อาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อค้นหาคำตอบ

“เออ พอโตแล้วคิดเยอะเนอะ มีข้อจำกัดมากมาย ตอนเด็กๆ คงตอบคำถามนี้ได้ง่ายกว่านี้”

“ฉันคือจั๊กกะจิ่งจิ่งไง” เสียงผู้ใหญ่ที่ยังไม่ลืมจั๊กกะจิ่งจิ่งของตัวเองดังขึ้น พร้อมสายตาแห่งความหวัง

แล้วเธอล่ะเป็นใคร

จั๊กกะจิ่งจิ่ง หนังสือภาพเด็กที่บอกสังคมว่าเรามีสิทธิ์เลือกเป็นอะไรก็ได้

สร้างจั๊กกะจิ่งจิ่งในแบบฉบับที่เราเป็นผู้เลือกเอง หรือสั่งซื้อหนังสือภาพ 2 ภาษาให้คนที่รักหรือห้องสมุดและโรงเรียนทั่วประเทศ ในราคาเล่มละ 99 บาทได้ที่เว็บไซต์ : จั๊กกะจิ่งจิ่ง

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน