เราเชื่อว่า ‘บ้าน’ ของศิลปินย่อมมีความผูกพันกับ ‘ศิลปะ’ ของเขาเสมอ

ยิ่งบ้านที่เป็นสถานที่ทำงานศิลปะหรือ ‘สตูดิโอ’ ด้วยในตัว ย่อมมีสิ่งละอันพันละน้อยที่แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจ ไปจนถึงกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปินไม่มากก็น้อย

วันนี้เราจึงมายืนอยู่หน้าประตูบ้านของ คุณจักกาย ศิริบุตร ศิลปินร่วมสมัยที่เราชื่นชมอย่างตื่นเต้น แน่นอนว่าชื่อของ ‘จักกาย’ มักมาพร้อมกับภาพของผลงานศิลปะสิ่งทออันโด่งดังระดับอินเตอร์ด้วยการสะท้อนแนวคิดสังคมและการเมืองอย่างเปิดเผย ทำให้เราอยากรู้ว่าการกินอยู่และทรงจำของเขาใน ‘บ้าน’ หลังนี้จะถูกถักทอเข้าไปในงานศิลปะมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

จักกาย ศิริบุตร

 

1

จักกายมาต้อนรับเราใต้ซุ้มต้นลดาวัลย์โบราณ และแทนตัวเองว่า ‘พี่’ อย่างเป็นกันเอง ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อก้าวผ่านธรณีประตูเข้าไปในบ้านของเขา เรากลับรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง ในโถงเพดานสูงนั้นมีชุดโต๊ะเก้าอี้ทำจากไม้เก่าวางไว้รับรองแขก เหนือหัวของเราเป็นผนังสีแดงเลือดนก ที่มีงานทั้งภาพถ่ายและจิตรกรรมหลากหลาย แขวนไว้ละลานตา ให้ความรู้สึกไม่ธรรมดาตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาในบ้าน

“บ้านนี้เป็นบ้านเก่ากว่า 80 ปี สมัยคุณชวดโน้น สมัยนั้นท่านมาซื้อไว้ไร่ละประมาณ 3 บาทได้ เมื่อก่อนเป็นทุ่งนา” เจ้าบ้านนำน้ำมาให้เราดื่มและเริ่มชวนคุย

“เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปเยอะ ตอนที่เป็นอาจารย์สอนสาขาพัสตราภรณ์ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ไป-กลับใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง แค่กลับรถจะเข้าบ้านก็เป็นชั่วโมง”

เขาบอกเราว่าเรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักของจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต คือการลาออกจากการเป็นอาจารย์เพื่อมาเริ่มต้นทำงานศิลปะของตัวเองอย่างเต็มตัวเสียที

จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร

“พี่ทำงานมาประมาณ 20 ปีแล้ว เริ่มแรกเราก็ทำงานแบบที่เราเรียนมา คือต้องบอกก่อนว่าเรียนสิ่งทอในตะวันตกเมื่อก่อนเหมือนลูกเมียน้อยนะ ถูกมองเป็นงานคราฟต์ คนมักจะมองเป็นงานบ้าน เป็นงานตกแต่ง ทุกคนก็พยายามขบถกับนิยามนี้ อาจารย์ที่สอนพี่ที่อินเดียนามีแนวคิดว่าศิลปะสิ่งทอต้องเป็นนามธรรม งานช่วงแรกๆ เราเลยจะทำงาน Abstract ซะเยอะ

“หลังเรียนต่างประเทศ 10 ปี พอกลับไทยมา ค.ศ. 1996 ก็ไม่รู้เรื่องเมืองไทยเท่าไร แต่หลักสูตรที่ธรรมศาสตร์มันมีส่วนหนึ่งที่ต้องพานักศึกษาออกภาคสนาม เป็นโอกาสให้รู้จักเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งพออยู่ไปสักพักก็เริ่มสงสัยและเริ่มสนใจเรื่องรอบตัวขึ้นมา”

จักกายเล่าถึงจุดเริ่มต้นกระบวนการค้นคว้าแนวมานุษยวิทยา ซึ่งจะกลายเป็นจุดเด่นในงานของเขาต่อมา ระหว่างนี้เขาเดินไปพิจารณากองหนังสือบนโต๊ะ สันของแต่ละเล่มมีชื่อศิลปินทั้งไทยและเทศที่เราเคยคุ้น เช่นหนังสือบทกวีของ Patti Smith รวมไปถึงหนังสือสารานุกรมศิลปะระดับโลกวางซ้อนกันอยู่ เขาหยิบเล่มบนสุดของสำนักพิมพ์ Phaidon เปิดให้เราดู แน่นอนว่าหนึ่งในงานที่ถูกตีพิมพ์อยู่ด้านในคือของเขาที่เจ้าตัวจะพูดถึง

“งานชุดแรกที่วิพากษ์สังคมอย่างเห็นได้ชัดน่าจะเป็นนิทรรศการชื่อ Temple Fair ที่หอศิลป์ Tyler Rollins Fine Art (นิวยอร์ก) เมื่อปี 2008 เคยไปทำบุญที่วัดต่างจังหวัดแล้วพระที่รับไหว้เราอยู่เอาไม้ช็อตยุงขึ้นมาตียุงต่อหน้าเลย จึงได้ไอเดียในการสร้างงาน Lucky Ware ที่เป็นงานจัดวางซึ่งดูผิวเผินเป็นถังสังฆทานปกติ แต่ภายในถังใส่ของที่ดูผิดที่ผิดทางต่างๆ เอาไว้ เช่น เบียร์ เหล้า ถุงยาง เสื้อบอลที่สื่อถึงการพนัน อ้อ แล้วก็ไม้ตียุงไฟฟ้าด้วย”

สำหรับศิลปิน มันไม่ใช่การตัดสินหรือตีตราพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งคำถามว่า เราเป็นคนพุทธอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบนี้ได้อย่างไร เราเป็นส่วนหนึ่งในวงจรนี้หรือไม่ แล้วทำอย่างไงให้เราเดินทางสายกลางได้

จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร

 

2

นอกจากในหนังสือแล้ว จักกายยังชี้ให้เราดูงานอีกชิ้นหนึ่งบนผนังของเขาที่มาจากนิทรรศการ Temple Fair เช่นกัน

“ปกติเนี่ยพี่จะไม่มีงานตัวเองติดที่บ้านเลยนะ” จักกายกล่าว

“เพราะว่านั่งทำทั้งวันแล้วไง ไม่อยากเห็นงานตัวเองแล้ว”

แต่เขาก็ใจอ่อนให้กับผ้าปะผืนนี้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผนังบ้านของคนต่างจังหวัดที่มักมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น รูปพระ รูปในหลวง รูปครอบครัว และเลขหวย หรือเลขในฝันที่พอตื่นมาแล้วก็รีบจดไว้ก่อนบนผนัง ในงานนี้ของเขาจึงผสมผสานงานปักบนผ้าหลายชนิด มีทั้งรูปบุคคล รูปหมา ก้อนด้าย และตัวเลข หลากสีสัน แถมยังถูกส่องด้วยไฟนีออนคละสี ให้บรรยากาศหรรษาอย่างประหลาด

จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร

“I like kitsch things.” จักกายกล่าว แถมยังเล่าอีกว่าครั้งหนึ่งเขาเองก็เคยเห็นเลขในฝัน แต่เสียดายที่พอไปซื้อแล้วตีเลขผิดเลยไม่ถูกรางวัลใดๆ

“พี่มองว่าเวลาเราขายงานได้เราก็ควรกระจายรายได้ให้มันหมุนวนอยู่ในนี้บ้าง เพราะฉะนั้น เวลาเราได้เงินจากการขายผลงานเราก็มักจะเอาไปซื้องานศิลปะ”

จักกายทยอยเล่าที่มาที่ไปของผลงานจากศิลปินหลายๆ ท่านบนผนังของเขาอย่างใจเย็น เริ่มจากงานของ คุณมานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้โด่งดังจากภาพชุด ‘Pink Man’ แต่จักกายกลับเลือกภาพที่มีเพียงรถเข็นสีชมพูอยู่ในใจกลางโรงงานเย็บผ้ามาแขวน เป็นสัญญะสื่อถึงบริโภคนิยมที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอ

จักกาย ศิริบุตร

ตรงข้ามกันมีงานสีน้ำมันยุคแรกๆ ของ สว่างวงศ์ ยองห้วย อีกผนังมีภาพเปลือยของศิลปิน Shen Wei ถ่ายในบึงแถวที่บ้านเชียงใหม่ซึ่งเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของจักกาย มีภาพพิมพ์ของ หม่อมเจ้ามารศรีสุขุมพันธ์ บริพัตร และอีกมาสเตอร์พีซในบ้านเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ

“รูปนี้คุณตาเป็นคนเขียน ตาพี่เป็นผู้ติดตามรัชกาลที่ 7 กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปอังกฤษหลังจากท่านทรงสละราชสมบัติ คุณตาเป็นพี่น้องต่างมารดากับพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย ตอนแรกช่างฝรั่งเขียนไว้แล้วไม่เสร็จ คุณตาเลยเขียนต่อจนเสร็จ”

แน่นอนว่างานส่วนใหญ่ที่อยู่ตรงนี้เป็นงานที่มีปฏิกริยาต่อความรู้สึกของเขาอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

3

เราถูกเชื้อเชิญให้ไปชมส่วน ‘ไคลแม็กซ์’ ของบ้าน นั่นก็คือสตูดิโอของจักกายด้านล่าง โดยระหว่างทางเราต้องอ้อมผ่านห้องครัวเสียก่อน

“ส่วนนี้เป็นหนึ่งในส่วนที่ถูกบูรณะต่อเติมจากโครงสร้างบ้านเก่า ซึ่งไม่ง่ายนัก เลยได้ขอร้องให้ ม.ร.ว.ชาญวุฒิ ซึ่งเป็นลูกชายของสถาปนิกดั้งเดิมคือ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ คุณชายเลยตัดสินใจเพิ่มความเป็นโมเดิร์นเข้าไป” จักกายเล่า

จักกาย ศิริบุตร

“บ้านสมัยก่อนตอกเสาเข็มลงไป 6 เมตรเอง พอต้องสะเทือนกับงานก่อสร้างขนาดใหญ่รอบข้างไปมากๆ มันก็เอียง มันก็ร้าว ทีนี้เคยคุยกับสถาปนิกและเขาแนะนำว่าให้ทยอยซ่อมไปเหมือนกับพาคนแก่ไปหาหมอ พังตรงไหนก็ซ่อมตรงนั้น ด้วยความที่เราอยู่ที่นี่มาตลอดเราก็จะดูแลให้ดีที่สุด อยู่แบบไม่ยึดติด อย่างเรื่องต้นไม้แถวนี้เนี่ยทางกรุงเทพฯ ก็อยากขยายถนนเพื่อที่จะก่อสร้างคอนโดสูงๆ ได้ เขาก็จะตัดต้นไม้เก่าแก่ ทางชุมชนเราก็ไม่ยอม พยายามสู้ทุกด้าน ไม่ได้ผล เพราะเขาบอกว่าการตัดต้นไม้ขยายถนนจะทำให้ซอยเราสวยขึ้น สุดท้ายเราก็ใช้วิธีนี้เลย คือซื้อผ้า 7 สี 7 ศอกไปผูกรอบต้นไม้ใหญ่ทุกต้น ปรากฏว่าได้ผล เขาก็ทิ้งโปรเจกต์ไปเลย”

ตลอดบทสนทนาของเรา จักกายทำให้เรามองเห็นความหมาย ความทรงจำ และขั้วอำนาจที่ผูกพันอยู่ในสิ่งทอในมุมมองที่เราคาดไม่ถึงเสมอ จึงไม่แปลกที่งานของเขาจะได้รับการจัดแสดงและอยู่ในคอลเลกชันของพิพิธภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา อาทิ Asian Art Museum ซานฟรานซิสโก Asian Civilizations Museum สิงคโปร์ National Taiwan Museum of Fine Arts ไทชุง ไต้หวัน Bill & Melinda Gates Foundation ซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา และ Vebhi Koc Foundation อิสตันบูล ตุรกี เป็นต้น

แต่ที่น่าแปลกคือสถานที่ทำงานของเขานั้นไม่ได้ใหญ่โตโอ่โถงอย่างที่เราคิดไว้ เป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ที่รายล้อมไปด้วยชั้นวางกล่องพลาสติก บรรจุสารพัดอุปกรณ์เย็บปักถักร้อยและทบผ้าหลากหลายชนิด ซ้อนกันจากพื้นถึงเพดาน ตรงกลางมีโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดโต๊ะทานข้าวไว้สำหรับเขาและผู้ช่วยอีก 2 คนนั่งทำงาน ใต้ไฟนีออนสีขาวกรองแสงด้วยแผ่นสีขุ่น

“เมื่อก่อนนี้ทำงานกับพื้น เดินเข้ามาก็เหยียบโน่นเหยียบนี่” จักกายย้ำว่าวันนี้สตูดิโอของเขาสะอาดสุดแล้วนะ

จักกาย ศิริบุตร

จักกาย ศิริบุตร

 

4

ว่าแล้วจักกายจึงเปิดกล่อง หยิบยกงานชุดใหม่ของเขาเอาออกมาคลี่ลงบนโต๊ะให้เราดู

“จริงๆ แล้วพี่ทำงานน้อยนะ เพราะแต่ละชิ้นใช้เวลานานมาก อย่างกองนี้คืองานทั้งปี

“งานบางส่วนถูกซื้อไปโดยพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง บางชุดก็กำลังถูกจัดแสดงตามที่ต่างๆ แต่เอาจริงๆ งานพี่เก็บง่ายนะ มันพับได้ เอาใส่กล่องพลาสติกแล้วก็หยอดเม็ดดูดความชื้นเข้าไปช่วยก็ได้แล้ว

“มันก็คงมีวิธีที่แพงกว่านี้ล่ะมั้ง เวลาส่งผ้าไปมิวเซียมต่างๆ เขาก็มีกระบวนการเอาไปแช่แข็งก่อนบ้างอะไรบ้าง แต่เราไม่ได้สนใจมาก ส่วนตัวคิดว่าผ้าเป็นสิ่งอจีรังอยู่แล้ว มันจะเปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลา ซึ่งพี่มองว่าเป็นเสน่ห์”   

เขาเล่าว่า งานชุดนี้เพิ่งถูกทำขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยได้แรงบันดาลใจมาจากผ้ากึ่งๆ ธงในงานแห่พระเวสสันดรทางอีสาน ซึ่งจะเล่าเรื่องราวแต่ละช่วงที่เกี่ยวกับความเสียสละของพระเวสสันดร

แต่ในงานของจักกาย เขาเลือกที่จะปักภาพที่เล่าเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา 1 เดือนต่อ 1 ผืน ทั้งหมดจึงมี 12 ผืน แน่นอนว่ามีเรื่องเกี่ยวกับข่าวโกงกินของนักการเมืองและคนใหญ่คนโตในประเทศให้เห็นอยู่ไม่น้อย

“ชิ้นนี้มีรูปเสือดำ แล้วมันก็ไปโผล่ในชิ้นอื่นด้วยเพราะเรื่องของเขาเดือนเดียวไม่จบ ส่วนชิ้นนี้มีรูปทีมหมูป่าด้วย”

เราตั้งคำถามว่า การปักเป็นความพยายามที่จะจารึกหรือบันทึกเหตุการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นและหายไปในประเทศ ไทยหรือไม่

“ก็ไม่เคยคิดแบบนั้นนะ แต่เออ คงใช่ มันก็คงเหมือนกับการขีดเขียน”

อีกมุมหนึ่งของสตูดิโอจักกายมีราวแขวนผ้าตั้งอยู่ เราสังเกตว่าชุดที่ถูกแขวนอยู่เป็นชุดกระโปรงยาวลายดอก น่าจะเป็นของผู้หญิง

“เป็นชุดของคุณแม่น่ะ” ศิลปินกล่าว

“คุณแม่เสียเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พี่ก็เอาชุดคุณแม่มาปัก ซึ่งก็จะมีเรื่องการเมืองด้วย คือคุณแม่พี่เขียนไดอารี่ทั้งชีวิตของเขาเลย แล้วพี่ก็เลือกเอาไดอารี่ของแม่ในวันสำคัญอย่างวันที่พี่เกิด วันที่เกิดเหตุการณ์ทางบ้านเมืองต่างๆ 6 ตุลาคม 14 ตุลาคม คุณแม่เคยอยู่ตรงนั้น”

จักกายมองว่าการปักนั้นเป็นวิธีการบำบัดแบบหนึ่ง  

“เวลาใครเสียชีวิตเนี่ยจะมี 2 อย่างคือ เคลียร์ของออกหมดทุกอย่าง หรือไม่แตะเลยสักอย่าง มันเป็นวิธีการไว้อาลัยเนอะ พี่ได้รับมอบหมายให้ดูแลข้าวของของแม่ เราก็เลยเลือกเอามาทำงานดีกว่า

“แล้วช่วงนี้เป็นวัยที่พ่อแม่เพื่อนจะเสียกันเยอะ พี่ก็บอกให้เก็บเสื้อผ้าไว้ส่วนหนึ่ง เดี๋ยวเราเอามาทำงานปักกัน มันเป็นวิธี Grieve แบบหนึ่ง ให้เราได้มานั่งคุยกันด้วย”

เมื่อเราถามว่าความสนใจเรื่องการเมืองของเขานั้นได้มาจากคุณแม่หรือไม่ เขาคิดสักครู่ก่อนจะพยักหน้าตอบ

“อาจจะเป็นอย่างนั้น”

จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร

 

5

ก่อนจะกลับ เราชิงถามคำถามสำคัญข้อสุดท้ายที่อัดอั้นมาตั้งแต่ต้น

“สำหรับจักกายแล้ว ศิลปะเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงไหม”

“ได้” เขาตอบทันควัน

จักกายเล่าว่า ตนรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกของแวดวงศิลปะเสมอ เนื่องจากสื่อสิ่งทอที่ตัวเองเลือกใช้ด้วย และการชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จของคนอื่นอยู่บ่อยๆ ในช่วงแรกๆ ของการทำงาน

จนเมื่อช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ พออายุมากขึ้น เริ่มแคร์ปัจจัยภายนอกน้อยลง เขาได้มีโอกาสทำงานกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งโปรเจกต์เหล่านี้ได้สอนสิ่งสำคัญกับเขาอย่างไม่น่าเชื่อ

“ตอนที่ไปทำเวิร์กช็อปกับพวกเด็กๆ ผู้ลี้ภัยพม่า หลายๆ ชาติพันธ์ุที่รัฐอินเดียนา พี่ใช้วิธีให้ทำงานปักเป็นเครื่องมือการเล่าเรื่อง สร้างสมาธิ และเป็นการบำบัดสำหรับเขา เป็นการอยู่กับตัวเอง ทำให้จิตใจสงบ ตอนนั้นมีคนหนึ่งหันมาบอกว่า งานนี้ทำให้เขารู้แล้วว่าเวลาวุ่นวายใจเขาจะทำอะไร ก็คือปักผ้า ซึ่งพี่คิดว่าถ้าคนหนึ่งจาก 20 คนได้แรงบันดาลใจจากตรงนี้ก็ดีแล้ว คือเด็กบางคนเขาอาจไม่ถนัดพูดหรือเล่าเรื่องราวชีวิต แต่ถ้าให้วาดหรือปักเนี่ยเขาเล่าออกมาได้นะ”

นอกจากนี้ เขายังยกตัวอย่างโครงการคล้ายๆ กันที่ทำกับกลุ่มแม่บ้านที่ปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ บ้างสามีเสียชีวิต หรือลูกเสียชีวิต ศิลปินเองก็คิดไว้ว่าภาพที่ออกมาคงมีความรุนแรงอยู่ในนั้น แต่ปรากฏว่าทุกคนวาดดอกไม้และสิ่งสวยงามต่างๆ ซึ่งพอเสร็จจึงได้รู้ว่าชีวิตเขาผ่านเรื่องเลวร้ายมามาก เขาก็ไม่อยากยึดติดกับภาพจำนั้นอีก เขาอยากจะมีความหวังบ้าง หรืออยากให้คนข้างนอกเห็นว่าพื้นที่นี้ไม่ได้มีแต่เรื่องรุนแรง เป็นต้น

“บางครั้งพี่รู้สึกว่าได้เรียนรู้จากคนที่มาเข้าร่วมมากกว่าที่เขาเรียนรู้จากเราอีก มันเป็นความรู้สึกวิเศษมากที่พี่ไม่เคยได้จากการอยู่ในวงการศิลปะเชิงพาณิชย์เลย” จักกายบอกพร้อมรอยยิ้ม

สุดท้ายเขาเล่าอีกหนึ่งงานสำคัญที่เขาได้รับเลือกจากสถานทูตประเทศโมซัมบิกให้ไปสร้างงานศิลปะที่นั่นเมื่อ 2 ปีก่อน

“พอไปถึงทางสถานทูตเขาเกณฑ์ผู้ช่วยมาให้ ก็เป็นพนักงานทำความสะอาดผู้ชายนี่แหละประมาณ 10 คนได้ ซึ่งคนพวกนี้ไม่เคยปักอะไรมาก่อนในชีวิตนะ แต่เราก็มาทำงานด้วยกัน 3 อาทิตย์ จนสร้างสิ่งทอขนาดมหึมาขึ้นมา คือสถานทูตอยู่ใกล้กับสลัมน่ะ คนแถวนั้นไม่มีงานทำ โปรเจกต์นี้ก็เป็นงานสำหรับเขา และใช้วัสดุจากแหอวนที่เก็บมาจากชายหาดตรงนั้นด้วย”

เขาโชว์ภาพผลงานจากในมือถือให้เราดู รูปถัดมาเป็นรูปชายหนุ่มผิวเข้ม นั่งฉีกยิ้มขาวจั๊วะอยู่กับผ้าปักสีสดใส รู้ภายหลังว่าชื่อ ‘ซิตู้’ มีสถานะเป็นศิษย์เอกของจักกายประจำโมซัมบิก!

“ปรากฏว่าหลังจากนั้นก็มีคนหนึ่งที่ติดใจ ชอบทำงานแนวนี้ แล้วก็ยังทำต่อมาถึงทุกวันนี้ พอพี่กลับไปอีกทีปีนี้ ก็เลยคุยกับทางนั้นว่าอยากจะผลักให้คนนี้ทำงานเยอะๆ ให้สุดท้ายแสดงงานเป็นนิทรรศการได้ ก่อนกลับก็ทิ้งงานให้คนที่นั่นทำ เปิดสตูดิโอสาขาสองที่โมซัมบิกเสียเลย ตอนนี้คุยแนะนำกันทาง Messenger ตลอด พี่ก็อยากลองดูว่าศิลปะจะเปลี่ยนชีวิตคนจากพนักงานทำความสะอาดมาเป็นศิลปินได้ไหม”

จักกายตอบคำถามของเราด้วยรอยยิ้มที่กว้างพอๆ กับภาพของนายซิตู้ ส่งความหวังและความอบอุ่นประทับอยู่ในใจของเรา เนิ่นนานหลังจากที่โบกมือร่ำลากันใต้ซุ้มต้นลดาวัลย์โบราณ

จักกาย ศิริบุตร จักกาย ศิริบุตร

จักกาย ศิริบุตร

Writer

Avatar

โอ๊ต มณเฑียร

ศิลปินวาดรูปนู้ด แม่มด คนรักพิพิธภัณฑ์ และนักเขียนหนังสือ 'London Scene' กับ 'Paris Souvenir'

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล