หากอธิบายถึงผลงานของ ไฮเม่ ฮายอน (Jaime Hayon) จำเป็นต้องใช้หน้ากระดาษจำนวนมากเพื่อนิยามถึงความหลากหลายที่มีตั้งแต่ Swarovski Carousel งานอินสตอลเลชันม้าหมุนที่ประดับตกแต่งด้วยคริสตัล 15,000,000 ชิ้นจากออสเตรีย แจกันรูปใบหน้าชวนให้ยิ้ม โซฟาหลังทรงโค้งชวนนั่งสบายที่ได้แรงบันดาลใจมากจากสีหน้าของนกกระทุง รวมถึงงานวาดภาพอีกนับจำนวนชิ้นไม่ถ้วน ราวกับว่าเขามีเวลาวันละ 48 ชั่วโมงมากกว่าคนอื่นๆ

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในทุกผลงานของเขาคือความสนุกสนาน ความน่ารักกำลังดี มีคอนเซปต์ซ่อนไว้อย่างคาดไม่ถึง ที่ผ่านมา เขายังได้รับรางวัล Best Designer จากนิตยสารชื่อดังทั่วโลกหลายหัว รางวัล Maison & Objet Designer of the year 2010 และนิตยสาร Time กับ Wallpaper ยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งในนักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลแห่งยุค ปัจจุบันนี้เขาเปิดสตูดิโอของตัวเองชื่อ Hayon Studio และเป็นนักออกแบบให้กับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติดัชต์ระดับตำนานอย่าง Fritz Hansen

ด้วยฝีมือและประสบการณ์ทำงานกว่า 20 ปีทำให้ชื่อของไฮเม่เป็นทั้งไอคอนและต้นแบบของทั้งนักออกแบบหลายต่อคน เรามีโอกาสได้คุยกับ ไฮเม่ ฮายอน ตั้งแต่เรื่องของแนวคิดการทำงาน จนถึงการจัดการกับวันแย่ๆ และองค์ประกอบเล็กจนใหญ่ในชีวิต ที่ทำให้เขาสร้างสรรค์ผลงานได้ประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

เราเห็นอารมณ์ขันปรากฏบ่อยครั้งในผลงานของคุณ อะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้คุณมีความสนุกหรืออารมณ์ขันได้อย่างทุกวันนี้

ผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนผมเองนะ คนสเปนมักมีนิสัยเปิดกว้างและเราไม่ชอบทำให้ชีวิตซีเรียส ผมบอกเสมอว่าสไตล์ของผมและวิธีที่ผมมองเห็นชีวิตคือความสนุกแบบจริงจัง นั่นหมายถึงในสิ่งที่จริงจังมากๆ แต่ยังคงความสนุกอยู่ ผมทำสิ่งต่างๆ ให้มีคุณภาพดี ในเวลาเดียวกันก็เติมส่วนของความสนุกเข้าไป

ไฮเม่ ฮายอน เติบโตมาอย่างไร

ผมเติบโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยพลังบวก ครอบครัวผมแฮปปี้สุดๆ เวลาผมวาดรูปหรือเวลาผมค้นพบอะไรใหม่ๆ ผมเกิดใน ค.ศ. 1974 ปีเดียวกับที่สเปนยุติการปกครองจากระบอบเผด็จการจาก นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) พ่อแม่ผมนี่เหมือนกับ “ในที่สุดเขาก็ตายเสียที!” ผมเลยเติบโตมากับเมืองที่ทุกคนมีความสุข เต็มไปด้วยอิสรภาพ เจเนอเรชันของผมเติบโตมาด้วยอิสรภาพที่สร้างขึ้นมาจากการถูกกดขี่ของคนรุ่นก่อน 

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

เพราะงั้น ผลงานของคุณหลากหลายมาก ตั้งแต่งานพิมพ์ ภาพวาด เฟอร์นิเจอร์ จนถึงงานอินสตอลเลชัน แล้วคุณเคยคิดถึงเรื่องของขีดจำกัดในการทำงานบ้างไหม

ผมไม่มีข้อจำกัดเลย ผมเคยคิดและบอกกับตัวเองว่า “คุณจำเป็นต้องเลือกว่าจะเป็นนักออกแบบ ศิลปิน สถาปนิก ตกแต่งภายใน จิตรกร” แต่ถึงจุดหนึ่งไม่จริงเลย เพราะอย่าง ลีโอนาโด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) ก็ไม่จำเป็นต้องเลือก เขาทั้งวาดภาพโมนาลิซา และเป็นวิศวกรออกแบบเครื่องบินไปด้วย มีเกลันเจโล (Michelangelo) หรือ ปิกัสโซ (Picasso) เองก็ไม่ต้องเลือกเหมือนกัน 

ถ้าหากคุณเป็นคนสร้างสรรค์ คุณจะมีโอกาสในการค้นหาความถนัดใหม่ๆ เสมอ ผมไม่มีปัญหาในทำงานกับแบรนด์อื่น ผมทั้งออกแบบโรงแรม ออกแบบเก้าอี้ที่ทรงสวยงามมาก มันเป็นวิธีการพูดภาษาของผมออกไป เพราะผมมีบทสนทนากับความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ข้อจำกัดคือสิ่งที่คุณตั้งขึ้นมาเอง และคิดว่าไม่ควรจำกัดกรอบของความคิดสร้างสรรค์ด้วย

ปัญหาคือ โลกนั้นสร้างข้อจำกัดให้เรา ไม่ใช่เป็นเราที่ไปสร้างข้อจำกัดให้โลก 

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ
Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

แล้ววิธีการทำงานแบบไร้ข้อจำกัดของคุณเป็นแบบไหน

ผมทำงานต่างกับคนอื่นในวงการ โดยเฉพาะกับธุรกิจศิลปะและการออกแบบ ผมคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้า ฝันถึงว่าอยากจะทำอะไรและมองหาคนที่ใช่ในการทำงานด้วย

ผมไม่รอให้มีบางคนเข้ามาหาและพูดว่า “เราต้องการเก้าอี้แบบนี้ หรือร้านอาหารแบบนี้” ผมจะฝันว่า “ถ้าหากผมมีร้านอาหารของตัวเอง หน้าตามันจะเป็นอย่างไรนะ” ส่วนใหญ่ผมอยู่ในจักรวาลของตัวเอง และโลกมันช่างกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด ตื่นขึ้นมาทุกเช้าด้วยสารพัดไอเดียที่วิ่งอยู่ในหัว เป็นโลกใหม่ในทุกๆ วัน

หลังจากทำงานมากว่ายี่สิบปี ผมมีภาษาที่ผู้คนจดจำได้ มันเลยเป็นเรื่องง่ายในการตีพิมพ์หนังสือใหม่สักเล่ม ทำหน้าร้านใหม่สักแห่ง เพราะเหมือนมีสูตรอาหารอยู่กับตัวเสมอ ฉะนั้น หากคุณมีภาษาของตัวเองเมื่อไหร่ คุณจะโชคดีเมื่อนั้น เพราะว่าคุณไม่ต้องพยายามเป็นเหมือนใครสักคน ไม่ต้องเรียนไวยากรณ์ใหม่ๆ

กว่าจะออกมางานหนึ่งชิ้น กระบวนการคิดของคุณเป็นอย่างไร

ขั้นตอนการทำงานส่วนใหญ่เริ่มจากการพูดคุยกับลูกค้า ไม่สำคัญเลยว่าเขาจะเป็นใคร คุณจำเป็นต้องตั้งใจฟังให้ดีว่าพวกเขาต้องการอะไร และพูดคุยกันให้มาก อาจมีนักสะสมผลงานศิลปะที่ต้องการภาพวาด แกลเลอรี่ที่อยากมีนิทรรศการ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่าง Fritz Hansen ที่ต้องการเก้าอี้แบบใหม่
จากนั้นผมจะสื่อบางความรู้สึกออกไป เช่น เริ่มต้นพูดไปว่า “เก้าอี้ตัวนี้ต้องมีทรงโค้งมนเล็กน้อยและน้ำหนักเบา” จากประโยคนี้ คุณจะสังเกตได้ว่าเราเลือกอะไรกันไปแล้ว นั่นคือไม่เอาเก้าอี้ที่หนักและทรงเหลี่ยมใช่ไหม ค่อยต่อด้วยคำถาม “เอาแบบที่ยกเคลื่อนย้ายได้ง่ายด้วยไหม นั่นหมายถึงต้องมาในขนาดที่เหมาะสม ไม่เกินห้าสิบเซ็นติเมตร” หากคุณจับตรงนี้ได้ ไอเดียก็เกิดขึ้นมากมายมหาศาล

เหมือนเวลาไปปั๊มน้ำมัน ถ้าจะเติมให้รถมอเตอร์ไซค์ต้องใช้กรวยใช่ไหม คุณจำเป็นต้องมีฟิลเตอร์คอยกรองทุกอย่างที่ออกมา เพื่อหาส่วนสำคัญ สิ่งที่ลูกค้าต้องการ สิ่งที่ขาดไปในอุตสาหกรรม ความคิดของตัวคุณเอง สำหรับผมแล้ว ในช่วงเริ่มงาน เปิดใจให้กว้างเป็นอิสระมากๆ ปล่อยทุกอย่างลอยขึ้นไปในอากาศ และพิจารณาทีละชิ้น ค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย เริ่มทำให้ไอเดียทั้งหมดแคบลงจนได้ไอเดียที่ใช่ 

ผมคิดว่าการออกแบบที่ดีและความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะทั่วไปต้องการใจที่เปิดกว้าง เหมือนเด็กเล็กในช่วงแรกเริ่ม ก่อนค่อยๆ เรียนรู้มากขึ้นเพื่อสร้างสิ่งที่ถูกต้องจากไอเดียเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

ทำไมการออกแบบที่ดีหรือความคิดสร้างสรรค์ถึงควรเริ่มจากไอเดียเล็กๆ น้อยๆ 

ตอนสอนในมหาวิทยาลัย ผมบอกกับนักศึกษาเสมอว่าควรเริ่มจากศูนย์ พวกเขาจะโวยวายว่า “พวกเราจะโชว์งานของตัวเองให้อาจารย์ดูได้ยังไง ถ้าไม่ได้โชว์รูปจากในมือถือหรืออินสตาแกรม” ผมจะตอบกลับไปว่า “ไม่เลย คุณบอกผมจากเรื่องเล่าที่ดีได้” ซึ่งนั่นคือความจริง

ถ้าผมบอกคุณถึงสถานที่ที่ไม่เคยไปเห็น หรือถ้าบอกข้อมูลว่า “ของชิ้นนั้นไม่มีเหลี่ยมมุม ผมต้องการให้ทุกอย่างโค้งมน โค้งที่ตรงนี้และตรงนั้น บอกคู่สีที่ใช้ มีสัมผัสที่ให้ความรู้สึกเหมือนผิวทรายแต่ก็นุ่มนวล” คุณจะหลับตานึกภาพออกได้อย่างชัดเจนเลย บางครั้งจึงเป็นเรื่องดีกว่าหากไม่เริ่มจากการวาดตั้งแต่แรก เพราะคุณคิดภาพในหัวล่วงหน้าไปได้ไกลกว่านั้น

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ
Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

คุณใช้วิธีไหนแปลงไอเดียจากความคิดนามธรรมให้กลายเป็นผลงานจริงได้

ผมพยายามคิดไปถึงผลลัพธ์ปลายทางที่ต้องการและเทคนิคที่จะใช้ งานของผมเริ่มเปลี่ยนจากฟรีสไตล์มาเลือกใช้วัสดุอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เพราะต้องทำงานฝีมือหรืองานทำมือ ผมเป็นคนประณีตมาก ถ้าทำเฟอร์นิเจอร์สักชิ้น ผมจะทำงานร่วมกับช่างฝีมือ คนในอุตสาหกรรม ผมจะตรวจสอบว่าสมบูรณ์แบบหรือยัง

ผมมักมีภาพชัดตั้งแต่ตอนเริ่ม เห็นเลยว่าสิ่งต่างๆ จะต้องเป็นไปอย่างไร และสื่อสารกับช่างได้ว่าสิ่งนี้โอเค และสิ่งนั้นไม่โอเค ทุกขั้นตอนในการทำงานล้วนเป็นเรื่องท้าทาย แต่ในท้ายที่สุดแล้วไม่ง่ายเลย มันเกี่ยวกับต้นทุน ความสมดุล และเวลา 

ทำไมทุกขั้นตอนการทำงานถึงท้าทาย แล้วจัดการความไม่ง่ายนั้นอย่างไร

ถ้าเป็นฐานะศิลปิน มีคนเดินมาบอกว่าเราชอบงานคุณมาก และต้องการซื้อผลงานชิ้นนี้ นั่นคือจบ แต่สำหรับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มันคือการลงทุนของบริษัท มีการเตรียมเนื้อผ้า การทำการตลาด การกระจายสินค้า เรื่องของน้ำหนักและจำนวน ราคา ว่าไปจนถึงความคงทน การออกแบบเป็นเรื่องของความสนุก แต่ก็เป็นเรื่องของความถูกต้องแม่นยำด้วย คุณพลาดไม่ได้เลย ไม่มีพื้นที่สำหรับเรื่องนั้น การออกแบบมันดูง่ายถ้าเป็นคนนอกมองเข้ามา แต่ถ้าหากคุณเผชิญหน้ากับเจ้าของธุรกิจแล้ว ไม่ง่ายเลย พวกเขาต้องการตัวเลขที่เป๊ะสุดๆ คุณบอกไปว่า “ลองเลขนี้ดูสิ” ไม่ได้ คุณต้องพูดอย่างมั่นใจว่า 1.3 มิลลิเมตรคือค่าที่ถูกต้อง เพราะว่าผมลอง 1.4 1.5 1.6 และ 1.7 มาแล้ว

คุณเล่าว่าเริ่มทำงานด้วยการสเก็ตช์ เหมือนใช้สมุดเป็นสื่อบันทึกไอเดียต่างๆ และเล่าวิธีคิดเสมอ ในเวลาว่างคุณสเก็ตช์ภาพเพื่อความสนุกบ้างไหม

ผมทำนะ การวาดของผมมีสองแบบ หนึ่งคือ วาดแบบมีตรรกะ เป็นสิ่งที่ใช้ความคิดและเพื่อหาทางแก้ปัญหาบางอย่าง เป็นส่วนที่ซีเรียสของผม วาดตอนที่คิดว่าจะเลือกทำแบบไหนดีกว่า ซึ่งเป็นวิธีคิดเชิงคณิตศาสตร์มากๆ ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ วาดเป็นอิสระเลย ตื่นขึ้นมาแล้ววาดอะไรก็ตามที่ขึ้นมาให้หัว เหมือนเป็นไดอารี่ ซึ่งวาดมาแล้วหลายเล่มมากๆ นี่คือวิธีที่ผมเติบโตมากับจินตนาการและความคิดของตัวเอง เพราะจากจินตนาการเหล่านั้น ผมดึงเอารูปร่าง รูปทรง และสิ่งใดๆ ก็ตามกลับมาใช้ในงานต่างๆ ทั้งประติมากรรม ผลงาน หรืออินสตอลเลชัน

ผมชอบวาดรูปเพี้ยนๆ แม้ว่ามันจะไม่เมกเซนส์ บางทีคุณอาจนึกขึ้นมาได้ว่า “เราทำรูปทรงนี้ได้ดี ควรใช้รูปทรงนี้ในผลงานชิ้นต่อไป” ในการวาดรูปเล่นๆ ผมก็จริงจังกับมันมาก ผมมีสมุดสเก็ตช์ติดตัว ไม่ว่าเดินทางไปไหนก็พกไปด้วยทุกที่ และวาดรูปนู่นนี่ตลอดเวลา จนมีหลายเล่มมากๆ หากต้องโชว์ให้ดู คุณอาจหัวใจวายตายไปเลย (หัวเราะ)

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

ในฐานะนักออกแบบที่อยู่ในวงการมานาน คุณคิดว่า ‘แรงบันดาลใจ’ ยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ไหม

จำเป็น เพราะแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่เปิดโลกให้กับคุณ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและเราต้องใช้มันด้วย

งานออกแบบ ข้อดีคือเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในสังคม เปลี่ยนมุมมอง ช่วยเหลือผู้คนหรือช่วยชีวิตคุณได้ ลองนึกถึงช่วงเวลาที่เราอยู่กับ COVID-19 ตอนนี้สิ กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์มากมายมีส่วนร่วมในการออกแบบหน้ากากจนถึงเครื่องช่วยหายใจ หรือมีคนจำนวนเท่าไหร่ที่ต้องติดอยู่ที่บ้าน แล้วนึกได้ว่าควรทำอะไรสักอย่างให้ดีขึ้น นั่นคือแรงบันดาลใจสำหรับผม

ผมทำโต๊ะใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์ในมาดริด มีนิทรรศการจัดแสดงอยู่ตอนนี้ และตั้งชื่อว่า Connected ซึ่งแรงบันดาลใจมาจากมีดพับสวิส หลักการทำงานเหมือนกัน คุณแยกและนำชิ้นส่วนไปไว้ตรงไหนในบ้านก็ได้ จะใช้เป็นโต๊ะกินข้าว โต๊ะทำงาน ตามแต่ละส่วน

ผมใช้เวลาส่วนมากในบ้าน และคิดว่าโต๊ะที่มีมันไม่เวิร์กเอาเสียเลย ผมต้องการโต๊ะที่น่าสนใจกว่านี้ เลยเป็นที่มาของไอเดียโต๊ะเพี้ยนๆ ตัวนี้ ตอนทำงานก็ตื่นตาตื่นใจสุดๆ ผมตั้งชื่อว่า Mesamachine ภาษาสเปนที่แปลว่า Table Machine ทำจากไม้เนื้อแดง เป็นงานทดลองที่ให้ประสบการณ์ที่ดี และเป็นตัวอย่างของการได้แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19

คุณได้รับแรงบันดาลใจจากทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ ศิลปินไม่เคยหยุดสร้างสิ่งใหม่ เพราะพวกเขามีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อะไรสร้างแรงบันดาลใจให้คุณอีกบ้าง

ผมมีลิสต์สถานที่ในใจเสมอไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะกับประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ที่ดีสำหรับค้นพบสิ่งใหม่ๆ ไม่สิ้นสุด ผมจะบอกความจริงกับคุณหนึ่งอย่างว่า ที่นี่ให้แรงบันดาลใจในการทำงานกับผมไปตลอดกาล ผมเจอวัฒนธรรมที่งดงาม เจอสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนน ตลาด ผู้คนมากมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ความสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นที่นั่น 

ผมเป็นพลเมืองโลก ผมรู้จักหลายสถานที่และที่เหล่านั้นก็ส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ผมมี ต่อชีวิตที่ผมใช้ 

ถ้าไปปารีส ผมจะไปพิพิธภัณฑ์ เป็นที่โปรดเหมือนกับนิวยอร์ก ลอนดอน กรุงเทพฯ ทุกที่มีความสวยงามของตัวเอง และมันทำให้เข้าใจว่าถ้าอยากทำงานให้เป็นสากล ต้องเข้าใจว่าผู้คนเข้าใจและไม่เข้าใจอะไร

คุณรักษาลายเซ็นของตัวเองพร้อมกับนำเสนอเอกลักษณ์ของแบรนด์นั้นๆ ได้อย่างไร

   ผมพูดเสมอว่านั่นคือการร่วมมือ จากประสบการณ์กว่ายี่สิบปี ผมคิดว่าส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาแฮปปี้ถ้าได้ทำงานร่วมกับคนที่มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง เพราะพวกเขารู้ว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น 

ในช่วงที่ผมเริ่มต้นเส้นทางนี้ ลวดลายของผมชัดเจนเอามากๆ แบรนด์ต่างๆ เลยกลัวนิดหน่อยว่างานของผมจะไปกลบเอกลักษณ์ของพวกเขา พวกเขาอาจจะชอบหากตอนนั้นผมโด่งดังแล้ว สิ่งนี้เลยทำให้ผมพยายามเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น และหาวิธีสร้างงานคุณภาพดี เพื่อสะท้อนสิ่งที่ทั้งผมและแบรนด์เป็น 

ผมลองหาภาษาทางการออกแบบของตัวเอง อย่างเช่นการทำงานร่วมกับ Fritz Hansen ผมเริ่มใส่สิ่งที่เรียกว่าสำเนียงลงไป เช่น ความเป็นสแกนดิเนเวีย ความนุ่มนวล และสีที่คิดมาเป็นอย่างดี แต่ถ้าทำงานกับร้านอาหารในฝรั่งเศสหรืองานอินสตอลเลชันในญี่ปุ่น งานของผมจะระเบิดความฉูดฉาดออกมาเต็มพลัง เติมไอเดียหลุดโลก ซึ่งไม่เป็นปัญหาเลยในการผสมสไตล์ของตัวเองเข้าไปในผลงาน 

ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวประติมากรรมสำหรับเด็กในสวนสาธารณะที่เกาหลี สีสันสดใสและสไตล์เกาหลีมากๆ ก็ถือเป็นไฮเม่ที่เกาหลีใต้ ตอนนี้ก็เป็นไฮเม่ที่ประเทศไทย มีกลิ่นอายของแบรนด์ แต่ก็ยังเป็นตัวผมอยู่

Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ
Jaime Hayon นักออกแบบสเปนที่เกิดในยุคเผด็จการตาย ไม่มีข้อจำกัดการสร้างสรรค์งานทุกรูปแบบ

การได้ร่วมงานกับ Fritz Hansen เปลี่ยนชีวิตคุณขนาดไหน

ถ้าหลายปีก่อน คุณไปถามนักศึกษาที่ชื่อ ไฮเม่ ฮายอน เขาไม่มีวันฝันถึงเลยว่าจะได้ทำงานร่วมกับ Fritz Hansen ที่ถือเป็นสุดยอดบริษัทด้านการออกแบบ เหมือนฮอลลีวูดแห่งโลกดีไซน์ งานสถาปัตยกรรมทั่วโลกต้องการเฟอร์นิเจอร์จากแบรนด์นี้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ ซึ่งพวกเขามองหาใครสักคนที่มีเอกลักษณ์ มีวิสัยทัศน์ที่แตกต่าง

สำหรับผม ช่างโชคดีที่ได้รับเลือกให้ทำงานร่วมกัน จนในวันนี้ ผมได้ไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์การออกแบบที่เดนมาร์ก ซึ่งมีผลงานจากสถาปนิกและนักออกแบบทั่วโลก และผลงานของผมเป็นหนึ่งในนั้น โดยเป็นนักออกแบบจากสเปนเพียงคนเดียว (หัวเราะ) ได้เป็นส่วนหนึ่งกับประวัติศาสตร์การออกแบบที่ยิ่งใหญ่ และผมเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ทำงานออกแบบร่วมกันกับพวกเขา
ผมทำงานกับ Fritz Hansen มายาวนาน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่เป็นคอลเลกชันพิเศษให้กับแบรนด์ โดยพยายามทำให้เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ผมเริ่มจากโซฟาก่อน แล้วค่อยมาเป็นเก้าอี้ รวมถึงของตกแต่งอีกหลายชิ้น จนมีโอกาสออกแบบหน้าร้านที่กรุงเทพฯ ผมชอบไอเดียการเปลี่ยนบ้านเก่าให้เป็นโชว์รูม ประสบการณ์ทำงานร่วมกับ Fritz Hansen ทำให้ผมได้เรียนรู้อย่างมาก ออกแบบผลงานพิเศษ และได้คิดสิ่งใหม่ ทั้งกับการเลือกใช้วัสดุหรือการผสมเทคนิคในเชิงการผลิต Fritz Hansen เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดี ถือว่าเป็นบริษัทที่จริงจังมากเลยทีเดียว

ตัวคุณเองเคยมีวันที่แย่บ้างไหม อย่างเช่นวันที่แผนต่างๆ หรือไอเดียไม่เป็นไปอย่างที่คิด คุณทำอย่างไรกับวันเหล่านั้น

ผมมีวันแย่ๆ บ่อยเลย มันเป็นวันปกติในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะมีวันเหล่านั้น เพราะหากไม่มีวันที่แย่ คุณจะไม่มีวันที่ดีได้ สำหรับตัวผมมันเหมือนการต่อสู้ เพราะว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่งานประจำแบบเข้าเก้าโมงเช้า เลิกห้าโมงเย็น งานสร้างสรรค์นั้นต้องดิ้นรน ยากเย็น มืดหม่น และเป็นช่วงเวลาของความกลัว เมื่อคุณออกแบบอะไรสักสิ่งหนึ่ง คุณเปิดเผยตัวเองในสิ่งนั้น คุณฝากจิตวิญญาณเข้าไปในผลงาน

คนทั่วไปรู้ว่าผมเป็นคนสนุกสนาน คิดบวก แต่ถึงอย่างนั้นผมก็เป็นทุกข์มากกับวันที่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เอาเข้าจริงผมรักวันแย่ๆ และรักช่วงเวลาแห่งความเศร้า ผมขอบคุณทุกวันแย่ๆ เหล่านั้น เพราะได้เรียนรู้กับทุกอย่าง เหมือนแนวคิดหยินกับหยาง สัญลักษณ์อันน่ามหัศจรรย์ เป็นเรื่องจริงที่ว่าคุณจะไม่มีวันเห็นความสวยงาม ถ้าคุณไม่เคยรู้จักกับความน่าเกลียดมาก่อน คุณจะมองไม่เห็นความเลวร้ายถ้าคุณไม่เคยเห็นความดีงาม ใช้กับความคิดสร้างสรรค์ได้เหมือนกัน ในวันที่แย่ที่สุด คุณอาจคิดไอเดียที่ดีที่สุดได้ เราก็แค่ต้องเปิดรับทุกอย่างที่เข้ามา เปิดรับสิ่งเหนือความคาดหมาย เแล้วสนุกไปกับมัน

การที่คุณเป็นนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหมเมื่อเทียบกับตอนเป็นนักศึกษาด้านการออกแบบ

ผมไม่ได้สนใจตรงนั้นมากเท่าไหร่ เพราะคนที่รู้จักผมจริงๆ จะรู้ว่าผมไม่ได้เปลี่ยนไป ยังเป็นคนเพี้ยนๆ เหมือนเดิม ว่ากันตามตรง คำว่าความสำเร็จหรือการที่มีคนจดจำเราได้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย สุดท้ายเราตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้อยู่ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้ทำในสิ่งที่รักและยังคงทำต่อไปได้อยู่ มีชีวิตอยู่แม้นักสะสมงานศิลปะบางคนจะอยากฆ่าผม เพราะราคาผลงานที่สูงลิบก็ตาม (หัวเราะ)

ไม่มีอะไรเปลี่ยนจริงๆ เหรอ

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดก็คงเป็นการที่ไม่ต้องแสดงหรือสาธิตสิ่งที่ผมทำได้กับลูกค้าหรือผู้รับชมงานอีกแล้ว พวกเขาเชื่อใจผมมากขึ้น ในเมืองที่มีผลงานหรือนิทรรศการของผมจัดแสดงอยู่ เวลาผมเดินตามถนนอาจต้องหยุดเป็นระยะ เพราะว่ามีบางคนอยากจะทักทายผมบ้าง ผมโอเคเลยนะ เพราะผมเองก็เป็นแฟนคลับของหลายคนเหมือนกัน (หัวเราะ)

Writer

Avatar

กมลกานต์ โกศลกาญจน์

นักเขียนอิสระที่สนใจเรื่องงานออกแบบ สังคม และวัฒนธรรม ชื่นชอบการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะอยากเรียนรู้ในความแตกต่างที่หลากหลายของโลกใบนี้

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล