หลาย ๆ คนอาจมีภาพจำว่า ‘บ้านต่างจังหวัด’ ต้องมีหน้าตาคล้ายบ้านไม้เก่า ๆ เป็นบ้านที่รายล้อมไปด้วยสวนผลไม้ หรือเป็นบ้านความทรงจำในวัยเด็ก บ้านเกิด ที่ที่เราชอบไปปั่นจักรยาน ซึ่งแต่ละคนก็มีภาพที่แตกต่างกันออกไป

ยังมีสิ่งหนึ่ง เมื่อเราใช้ความรู้สึกนึกถึงบ้านต่างจังหวัด เราจะรู้สึกถึง ‘ความสบายใจ’ สบายใจที่จะพัก สบายใจที่จะใช้เวลาดื่มด่ำและซึมซับบรรยากาศ ณ ห้วงเวลา ณ สถานที่แห่งนั้น  

น่าสนใจ ที่ว่าเพราะอะไร ทำไมผู้คนถึงรู้สึกสบายใจ เมื่อได้ (กลับ) ไปบ้านต่างจังหวัด อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนหวนนึกถึง คนรักที่อยู่ที่นั่น ? ต้นมะขามหวานข้างบ้าน ? ผู้คน ? ธรรมชาติแถวนั้น ? อาหารที่นั่นอร่อย ? หรือห้อง พื้นที่แบบนั้นที่ชอบไปนั่ง ?

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

อาจมีหลายสิ่งหลายอย่างอยู่รวมกันจนแยกไม่ออก เลยเรียกเหมารวม ๆ กันว่า เป็น ‘ความสัมพันธ์’ ของพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติแถวนั้น และดึงดูดผู้คนให้มาอยู่ร่วมกัน ดังนั้นบ้านต่างจังหวัด อาจไม่ต้องเป็นบ้านเก่า บ้านไม้ หรือไม่ต้องมีพื้นฐานของการเติบโตจากที่นั่น แต่อาจหมายถึงสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ ชุมชน หรือเมือง ที่มีความเอื้ออาทรให้แก่กัน และเกิดความรู้สึกว่าเป็นบ้านให้แก่กัน

เราทำงานหนักอยู่ในเมืองใหญ่ จนบางทีเราอาจหลงลืมอะไรไปบางอย่าง หรือรู้สึกสูญเสียตัวตน ความรู้สึกเหล่านี้ถูกยึดโยงรวมกัน และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราเหนื่อยล้า เริ่มโหยหาอยากกลับมาสู่ บ้านในใจเรา พื้นที่ปลอดภัย ที่ทำให้เราหวนคิดถึง อยากจะกลับไปพักกาย พักใจ ให้เป็นอิสระ

คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราได้เจอบ้านที่รู้สึกพอดีกับตัวเรา หากได้มีเวลารู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจกับความต้องการของตัวเอง เราอาจจะเจอคำตอบในใจว่าท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องการอาจไม่ใช่บ้านหลังใหญ่ แต่เป็นบ้านที่เรามีความสุขในการเลือกพื้นที่ที่อยากอยู่ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสิ่งรอบตัว

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

บ้านที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจ ช่วยรักษา ฟื้นฟู และเติบโตไปด้วยกัน

เดิมที เต้ย-ทรงชัย ทองผาสุข เป็นคนจังหวัดพังงา ซึ่งในช่วงชีวิตการทำงานคงคล้ายกับใครหลายคน ที่ได้ทำงานในเมืองใหญ่ ผ่านการพบเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งความสุข ทุกข์ทางจิตใจ ความยากลำบากและเหนื่อยล้าจากการทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้เต้ยเลือกมาทำงานที่เชียงใหม่ และได้มาเป็นสถาปนิกในใจบ้านสตูดิโอ

เมืองเชียงใหม่ที่เป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ แม้ไม่ใช่เมืองเกิด แต่ความรู้สึกที่ได้รับการเยียวยา ความเอื้ออาทร ความสัมพันธ์จากทั้งผู้คนและธรรมชาติที่โอบอุ้มไว้ ทำให้เต้ยเลือกอยู่ที่นี่ ซึ่งในบางทีไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรมากมายในการอธิบาย นอกจาก ‘ความสบายใจ’

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

ในช่วงแรกของการออกแบบบ้าน เต้ยทำความเข้าใจกับตัวเองผ่านสัญชาตญาณ 

“จุดที่จับสัญชาตญาณของตัวเองได้ คือช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจ เราชอบความคิดตอนนั้นที่สุด เพราะรู้สึกว่ามัน Pure มาก” เต้ยเริ่มต้นเล่า

สิ่งที่เขาต้องการ ข้อแรก คือการกลับไปยังจุดเริ่มต้นของความสะดวกสบาย ข้อสอง ประยุกต์กับวัสดุหาได้ง่ายในท้องที่ นั่นเป็นภาพใหญ่ให้กับการออกแบบบ้านหลังนี้ และข้อสาม มีเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย โดยปรุงแต่งจากภายนอกให้น้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดก็เป็นไปในแบบที่เต้ยต้องการ และมีแต่เขาเท่านั้นที่รู้ใจบ้านหลังนี้

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

ส่วนโจทย์เพิ่มเติมที่ช่วยเหลาความคิดตอนออกแบบ คือสถาปนิกหนุ่มต้องการปลูกบ้านด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพื่อเรียนรู้และทดลองรายละเอียดที่อยากใช้ต่อไปกับบ้านของตัวเอง ซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนไขการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง โครงสร้างบ้านจึงทำให้ง่ายต่อการเข้าใจและก่อสร้าง อย่างระบบ ‘Modular’ ที่ก่อสร้างตามขนาดและสัดส่วนของวัสดุ เห็นได้จากระยะแผ่นพื้นเรียงตัวกันพอดีตามขนาดของวัสดุ (1.2 x 2.4 เมตร) เหลือเศษตัดที่จะกลายเป็นขยะก่อสร้างให้น้อยที่สุด (ซึ่งดีต่อใจของเต้ยเองด้วย)

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่
บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

มุมที่สะท้อนความเป็นตัวตนของบ้านและผู้อยู่

เมื่อเริ่มปลูกอาณาจักรส่วนตัวในมุมต่าง ๆ ของพื้นที่ ทั้งภายในและภายนอกบ้าน เราจึงได้เห็นตัวตนและจิตวิญญาณของเต้ยผ่านมุมเหล่านี้

อย่างมุมโปรด ‘แม่เตาไฟ’ พื้นที่หัวใจของบ้าน ซึ่งรวมทุกกิจกรรมความสัมพันธ์ของทุกสิ่งไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาย่างปลากินข้าวกับเพื่อน นอนดูทีวี เล่นกับเควิน บักกี้ สองแมวลูกรัก ชงชายามเช้า หรือแม้แต่เสื่อไม้ไผ่สาน ที่ป้านักทำเสื่อก็มาสานมาให้ถึงบ้าน ราวกับพลังงานจากแม่เตาไฟได้แผ่และดึงดูดผู้คนให้เกิดเรื่องราวรอบ ๆ

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

ส่วนระเบียงชา พื้นที่ใต้ชายคาภายนอก เกิดจากการออกแบบร่นระยะเสาให้เข้าไปภายในอาคาร เกิดเป็นพื้นที่ว่าง และบริเวณนี้เอง เต้ยยังได้แรงบันดาลใจมาจากซีนในหนังเรื่อง Little Forest: Summer/Autumn (2014) ที่นางเอกชอบมานั่งกินขนมตรงระเบียงหน้าบ้าน

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่
บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

ยังมีมุมอื่น ๆ อีก หลายจุดที่มีที่มาที่ไปจากหนังแนวที่เจ้าของบ้านหนุ่มชอบ อย่างช่องเก็บของใต้พื้นอันนี้ ที่เรายกนิ้วแจ๋วให้ มาจากเรื่อง Mortal Kombat (2021) ที่พระเอกเอาลูกไปซ่อน เขามาดัดแปลงเป็นที่เก็บของ บางช่องทำเป็นตู้เย็นฝังดินไว้เก็บอาหารแบบไม่ง้อไฟฟ้า ซึ่งในช่วงฤดูหนาว ถ้าใครได้แวะมาเยี่ยมบ้านเต้ย จะได้ชิมเหล้าบ๊วยที่ดองผ่านตู้เย็นนี้แน่นอน

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับตัวตนสถาปนิกหนุ่มใต้ ผู้ย้ายมาปลูกบ้านตามฉากหนังอยู่เชียงใหม่

หนังที่ใช่ยังต่อเนื่องไปถึงรูปร่างหน้าตาของบ้านและสวนข้างนอก เต้ยชอบดูหนังแนวเอาชีวิตรอด หนังสยองขวัญที่มักมีฉาก Cabin ร้าง ซ่อนตัวอยู่ในป่า แลดูไม่มีคนอยู่ แต่ถ้าแอบมองเข้าไปก็จะเห็นแสงสว่างจากเตาไฟอยู่ในนั้น และใช่! คุณเดาไม่ผิด หลังคาบ้านของเขาเลยเป็นทรงจั่วที่กดชายคาต่ำลงเล็กน้อย เพื่อให้ดูคล้ายกระท่อม และเป็นกิมมิกทำให้คนที่เข้าไปข้างในต้องก้มหัวทักทายบ้านก่อน

เต้ยได้เล่าต่อว่า “ทำบ้านให้เหมือนหนังที่ชอบ สนุกดี” เหมือนตัวตนของผู้อยู่ก็คือตัวตนของบ้าน โดยสื่อสารผ่านพื้นที่ ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน หรือแม้แต่ความรู้สึก ซึ่งเป็นด้านที่ต้องใช้ ‘ใจ’ เท่านั้น จึงมองเห็น

ต้องเข้ามาอยู่ก่อน ถ้าไม่ได้ใช้ จะนึกไม่ออก

นี่เป็นคำบอกเล่าของเต้ยที่พูดถึงการจัดข้าวของต่าง ๆ ในบ้าน ถ้ามองให้ลึกละเอียดลงไปในเครื่องใช้สารพันอันละสิ่ง จะเห็นได้ว่าเจ้าของบ้านนั้น ๆ เป็นคนยังไง อย่างห้องครัวที่ห้อยแขวนหม้อกระทะ ชั้นเก็บจานชามใบเล็ก ๆ ตาข่ายเก็บของแห้ง จังหวะและระยะการจัดเรียงของเหล่านี้ เลยเป็นสิ่งบ่งบอกนิสัยเจ้าของบ้านโดยไม่ต้องเอ่ยถาม

 “เราชอบทำกับข้าว ติดมาตั้งแต่เด็ก ทำกับข้าวแล้วนึกถึงแม่” นั่นไง เขาตอบคำถามทางสายตาของเราแล้ว

ความชอบอาหารการกินนี้ก็นำไปสู่พื้นที่ภายนอกบ้าน อย่างแปลงผักสวนครัว เลือกปลูกเฉพาะผักที่อยากกินและปลอดสารพิษ แล้วก็ยังมีสวนโซนป่าเล็ก ๆ มีทั้งต้นไม้เดิมและต้นไม้เพิ่มเติม อย่างต้นฝ้าย ออกดอกเป็นขนปุยนุ่มสีขาว เอาไปทำไส้หมอนได้

ส่วนที่น่ารักมาก ๆ เห็นจะเป็นระบบการรดน้ำต้นไม้ที่ปล่อยให้ไหลไปตามร่องเล็ก ๆ ซึ่งขุดล้อมรอบต้นไม้ แบ่งเป็นเกาะเล็ก เกาะใหญ่ ให้ระดับของร่องน้ำเป็นตัวพาน้ำไปสู่ต้นไม้ (และแมว) 

เมื่ออยู่ ๆ ไป หนุ่มเชียงใหม่ (ใหม่) ก็รู้สึกว่าต้องมีขอบอาณาเขตบ่งบอกดินแดนให้กับตัวบ้านสักหน่อย เลยทำซุ้มประตูไม้หน้าบ้านกับ กนก-อดิศักดิ์ วัฒนะตันทะ เพื่อนยาก เป็นซุ้มประตูที่สัดส่วนและสเกลความสูง สอดคล้องกับเจ้าของบ้าน เวลาเดินผ่านเข้าไปจะเห็นอิฐเรียงเป็นแนวทางเดิน นำทางผู้มาเยือนสู่ตัวบ้าน โดยแนวอิฐจะสิ้นสุดที่ที่เจ้าตัวบอกว่ามันคือ ‘พื้นที่ Spirit ของบ้าน’ เสาตอม่อบ้านเก่าซึ่งรวบรวมหินก้อนเล็ก ก้อนใหญ่เอาไว้ และที่ต้องนำมารวมกันตอนก่อสร้างบ้าน เต้ยอธิบายไว้ว่า “อีกนัยหนึ่งเป็นเการเคารพพื้นที่ที่แต่ก่อนเคยเป็นมา”

มิตรภาพและความสัมพันธ์แบบบ้าน ๆ

เรื่องราวที่ฟังแล้วชวนอมยิ้ม ตั้งแต่วันแรกที่เต้ยมาดูที่ มีเพื่อนบ้านอย่างเจ้าชานมและชาดำ (หมาข้างบ้าน) วิ่งมาต้อนรับ กระดิกหางดีใจที่มีคนมา เขานึกในใจว่า “ถ้าได้มาอยู่ คงได้เจอกันอีกนะ” ซึ่งนับจากวันนั้นถึงวันนี้ เจ้าชานมและชาดำยังคงวิ่งมาต้อนรับเต้ยทุกครั้งหลังเลิกงานกลับมาบ้าน และได้มาเป็นลูกค้า VIP นอนที่ระเบียงชาหน้าบ้านทุกวัน เลยคุยกันติดตลกว่า ที่มาของชื่อ ‘ระเบียงชา’ คือเจ้าชานม ชาดำนี่แหละ และยังมีอีก 2 สหาย คือเควินและบักกี้ แมวสองศรีพี่น้องที่ชอบชวนกันออกไปเล่นสวนหน้าบ้าน เวลาชายหนุ่มรดน้ำต้นไม้หรือไปทำงาน

สำหรับเต้ย ที่นี่คือ ‘สถานที่สถิตวิญญาณ’ ที่ฝากเรื่องราวความทรงจำ ความสัมพันธ์ของผู้คนรอบตัว เมื่อไหร่ที่ได้มองในมุมนั้น ๆ ก็ทำให้หวนนึกถึง ทั้งพี่ช่างเหล็กที่ช่วยทำหลังคา พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทำงานผู้ช่วยกันทำผนังบ้าน เพื่อน ๆ ที่มาย่างปลากินด้วยกันรอบแม่เตาไฟ หรือป้าทำเสื่อที่มานั่งสานเสื่อให้ถึงบ้าน เจ้าเควิน-บักกี้ ที่คอยหาจังหวะแอบไปนอกบ้านผ่านช่องหน้าต่างห้องน้ำ 

ไม่ว่าความสัมพันธ์ของบ้าน จะเป็นผู้คน ต้นไม้ หรือว่าสัตว์เลี้ยง สิ่งเหล่านั้นเลยเป็นผู้มอบจิตวิญญาณให้แก่บ้าน เขากล่าวไว้

เราสร้างบ้าน บ้านก็สร้างเรา

ก่อนกลับ เต้ยเล่าเสริมอีกว่า “เราคิดว่าบ้านก็เหมือนคนคนหนึ่ง มีวัยเด็ก วัยแก่ ผุพังได้” ซึ่งถ้าจะให้เขาบอกอายุของบ้านหลังนี้ “ก็คงจะอายุเท่ากับเราในตอนนี้” เป็นบ้านที่เติบโตไปพร้อมกัน มีพื้นที่ว่าง ยืดหยุ่นพอให้ได้ต่อเติม ตกแต่ง หรือปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบ ความสนใจ

นั่นจึงเป็นสิ่งที่พี่เต้ยได้เรียนรู้จากการปลูกบ้าน 

“เราสร้างบ้าน บ้านก็สร้างเรา”

 คำว่า ‘สร้าง’ ตรงนี้อาจไม่ได้แปลว่าก่อสร้าง แต่เป็น ‘สร้าง’ ที่แปลว่า ก่อให้เกิดตัวตน เมื่อมองในมุมที่เราไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้านายหรือเป็นใหญ่ในบ้าน แต่เป็นการมองว่าเราอยู่ร่วมกันกับบ้าน นี่เองที่ทำให้เต้ยได้เรียนรู้บางอย่างและปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับบ้าน อย่างเป็นไปในจังหวะทำนองเดียวกัน

และเป็นเพราะเต้ยเข้าใจตัวเอง เข้าใจบ้าน ตัวตนสถิต ณ ที่อยู่ เลยทำให้บ้านหลังนี้เกิดความสัมพันธ์อันแสนน่ารัก “บ้านจึงสุขใจที่ได้อยู่” เขาว่าอย่างนั้น

Writer

Avatar

ธีรสุดา วิเชียรสรรค์

สถาปนิกอู้กำเมืองบ่จ้าง เป็นมือใหม่หัดเล่าเรื่อง ชอบเดินป่า และอยากใกล้ชิด รู้จักธรรมชาติผู้สร้างให้มากขึ้นเรื่อยๆ

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ