The Cloud x Designer of the Year

เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล คือนักวาดภาพประกอบชาวไทยที่มีผลงานออกแบบภาพประกอบสีสันสดใสออกสู่สายตาชาวไทยและชาวโลกอย่างต่อเนื่อง และโดดเด่นมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งบนหน้านิตยสารและบริษัทชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Monocle, FREITAG, BEAMS JAPAN, UNIQLO, Facebook นอกจากจะเป็นนักวาดภาพประกอบแล้ว เหนือยังเป็นทั้งอาจารย์และนักออกแบบงานกราฟิกที่เคยออกแบบงานมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นออกแบบปกซีดี ออกแบบคอนเสิร์ต ออกแบบโมชันกราฟิก ออกแบบฟอนต์ แถมยังเคยเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอและอีกมากมายหลายต่อหลายอาชีพ

ภาพประกอบชีวิตของ จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบไทยที่แบรนด์ดังทั่วโลกให้การยอมรับ

การยืนระยะผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ว่ายากแล้ว การยังคงพัฒนาทั้งรูปแบบและวิธีทำงานไปอยู่เสมอๆ ด้วยนั้นเป็นสิ่งที่ยากขึ้นไปอีก และนี่คือสิ่งที่เหนือทำมาตลอด ยิ่งในช่วงหลังที่เขาเริ่มผันตัวเองไปเป็นศิลปินผู้ทำงานผ่านการวาดภาพที่อยากให้คนเห็นมีความสุขในสเกลที่ใหญ่ขึ้นด้วยนั้นยิ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก

ล่าสุดเขาเพิ่งได้รับรางวัลนักออกแบบแห่งปี Designer of the Year สาขา Illustration Design เราจึงขอใช้วาระนี้เดินทางมายังสตูดิโอของเหนือย่านแบริ่ง เพื่อชวนคุยถึงชีวิตการทำงานความคิดสร้างสรรค์ในฐานะนักวาดภาพประกอบที่ยืนระยะอยู่ในวงการมาได้นานคนหนึ่ง และนี่คือหลายสิ่งหลายอย่างที่มาประกอบกันจนเป็นภาพของเขา

ภาพประกอบชีวิตของ จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบไทยที่แบรนด์ดังทั่วโลกให้การยอมรับ

ภาพของนักเรียนออกแบบผู้ไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง

เหนือเล่าให้เราฟังว่า เขาเข้าสู่วงการออกแบบด้วยการเป็นนักเรียนสาขาวิชาออกแบบภายในตามคำแนะนำของญาติ เมื่อเริ่มต้นเรียนวาดภาพประกอบและออกแบบกราฟิกนั้น ตัวเขาไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเองด้วยซ้ำ หลังจากเรียนไปได้ 2 ปี เหนือก็รู้ตัวว่าไม่ได้ชอบสิ่งที่เรียน จึงตัดสินใจลาออกเพื่อย้ายไปเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์แทน เป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แทบทุกคนได้รับผลกระทบ และแน่นอน ครอบครัวของเหนือก็ไม่ถูกยกเว้น

“ตอนนั้นธุรกิจที่บ้านประสบปัญหาหนัก อย่าว่าแต่จะส่งผมไปเรียนเลย ผมต้องไปเดินตามข้างถนนเก็บเศษเหล็กข้างทางเอาไปขาย เพื่อซื้อไข่มาเป็นอาหารสำหรับครอบครัวด้วยซ้ำ” เหนือเล่าถึงอดีต

กว่า 1 เทอม ที่เหนือหยุดเรียนเพื่อช่วยที่บ้านหาเงิน ด้วยการช่วยพ่อทาสีแผ่นไม้แล้วเอาไปขายที่ตลาดนัดจตุจักร 

เทอมถัดมาเหนือสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัญหาข้อเดียวคือ เหนือมีเงินเก็บจากการทำงานอยู่แค่ 6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ เหนือจึงตัดสินใจขอทุนการศึกษา และเป็นโชคดีที่มหาวิทยาลัยอนุมัติทุน ทำให้รายชื่อนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ปีนั้นมีชื่อของจักรกฤษณ์ อนันตกุล

ภาพประกอบชีวิตของ จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบไทยที่แบรนด์ดังทั่วโลกให้การยอมรับ

“ผมเป็นนักศึกษาคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง (หัวเราะ) เวลาจะทำงานส่งก็ต้องวิ่งไปทำที่ห้องคอมฯ ของคณะอยู่ตลอด” เหนือเล่าชีวิตก้าวแรกของการเป็นนักศึกษาให้เราฟัง ซึ่งข้อดีของเรื่องนี้ก็คือ เหนือได้นอนเร็วกว่าคนอื่นๆ เพราะเหนือต้องรีบทำงานให้เสร็จก่อน 5 โมงเย็น เวลาปิดของห้องคอมฯ เขาจึงใช้เวลาตอนกลางคืนไปกับการอ่านหนังสือที่บ้านแทน ซึ่งคะแนนของเหนือก็ถือว่าค่อนข้างดีแม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ก็ตาม

นักออกแบบที่ไม่กลัวงานที่ทำไม่เป็น

ระหว่างที่เรียน เหนือสนใจงานด้านภาพประกอบ เพราะโตมากับการเห็นภาพประกอบในนิตยสารของแม่ และยังสนใจงานด้านโมชันกราฟิกและงานออกแบบกราฟิกด้วย เมื่อเรียนจบก็รวบรวมงานภาพประกอบที่มีกับงานที่วาดใหม่เป็นพอร์ตฟอลิโอยื่นสมัครงาน ทำให้ได้ทำงานประจำที่บริษัทออกแบบชื่อดังอย่าง Ductstore The Design Guru โดยรับหน้าที่ออกแบบกราฟิกปกเทปและซีดีให้ศิลปินหลายคน ทำงานอยู่ประมาณ 1 ปี ก็เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เหนือจึงลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ระหว่างนั้นก็วาดภาพประกอบให้นิตยสารอีก 2 หัวด้วย แต่ก็ตัดสินใจเลิกวาดไปเพราะยังค้นหารูปแบบที่ตัวเองอยากวาดไปตลอดไม่ได้

Monocle
Monocle

หลังจากนั้นไม่นาน อาจจะเพราะความสนใจเรื่องเสียงดนตรีที่สะท้อนชัดเจนอยู่ในงานออกแบบของเหนือ ส่งผลให้ผลงานของเขาไปเตะตาใครบางคนเข้า จนวันหนึ่งได้รับการติดต่อจาก คุณเพชร โอสถานุเคราะห์ ให้เหนือมาทำคอนเสิร์ตให้

“ตอนนั้นก็ทำไม่เป็นหรอก ไม่รู้ด้วยว่าเขาทำกันยังไง แต่ก็สนใจอยากจะทำดู เราก็ทำสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ เวทียาวสิบห้าเมตรไปเลย ซึ่งไม่มีคนเขาทำกัน (หัวเราะ) โปรแกรมสามมิติก็ทำไม่เป็น เราเลยตัดโมเดลกระดาษมาวางไว้ที่หน้าจอแล็ปท็อปเพื่อเปิดภาพกราฟิกแทน ไอเดียของคอนเสิร์ตนั้นคือให้เวทีเปลี่ยนไปตามสภาพแสง ตอนพรีเซนต์กลายเป็นว่าทุกคนชอบและยอมเลื่อนวันจัดออกไปเพื่อให้ทีมงานทำเวทีตามที่เราออกแบบได้ทัน

“มองย้อนกลับไปก็ตลกดี เราทำงานไม่เป็น แต่ก็เอาตัวรอดด้วยการนำเสนอสิ่งที่เราทำได้ เราจึงมีมุมมองต่องานที่เราทำว่ามันไม่ใช่อุปสรรค และสิ่งสำคัญคือความคิดและความตั้งใจจริงที่ใส่ลงไปในงาน” เหนือเล่าย้อนไปถึงวันที่ทำให้ชีวิตของเขาพลิกผันไปไกล

“อย่างในคอนเสิร์ตพี่เพชรนั้นผมก็ไปเปิดโมชันกราฟิกประกอบคอนเสิร์ต ซึ่งเราก็ทำมาเป็นรูปภาพปกติ เปิดโปรแกรมดูรูปในโน้ตบุ๊ก แล้วกดเลื่อนซ้ายเลื่อนขวาเอาเองตามจังหวะดนตรี หรือถ้าเป็นภาพเคลื่อนไหว ตอนจังหวะที่เพลงมันพีกผมก็เลื่อนแถบบาร์ข้างล่างให้มันเดินหน้าถอยหลังแบบเร็วๆ เอา 

“ปกติคนอื่นๆ เขาจะมีโปรแกรมสำหรับเปิดโมชันกราฟิกในคอนเสิร์ตโดยเฉพาะนะ แต่ผมไม่รู้จัก (หัวเราะ) แต่มันก็ให้ผลที่แตกต่างจากงานของคนอื่นจริงๆ” เหนืออธิบายกลั้วเสียงหัวเราะ

ความแตกต่างของผลงานที่ทำไม่เป็นนี้ผลิดอกออกผล เพราะหลังจากนั้นมีคนติดต่อให้เหนือไปทำงานในวงการดนตรีและคอนเสิร์ต ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่เหนือล้วนแล้วแต่ไม่เคยทำและทำไม่เป็นทั้งสิ้น ตั้งแต่ออกแบบคอนเสิร์ต ดูแลโมชันกราฟิกในคอนเสิร์ตของ MTV หาศิลปินมาทำงานประกอบเพลงในคอนเสิร์ต และกำกับมิวสิกวิดีโอ

ช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นช่วงที่วงการดนตรีเริ่มซบเซา ก็ประะจวบเหมาะที่มีคนมาชวนเหนือไปทำงานในบริษัท YouWorkForThem บริษัทต่างประเทศที่มีลูกค้าใหญ่ๆ อย่าง Apple, Starbucks, Nike, Coca-Cola โดยในตอนนั้น YouWorkForThem เป็นบริษัทที่รับผิดชอบงานโมชันกราฟิกในคอนเสิร์ตทัวร์รอบโลกของวงดนตรีร็อกอย่าง U2 และยังเป็นบริษัทออกแบบฟอนต์ ภาพประกอบ และกราฟิกเวกเตอร์ ขายนักออกแบบคนอื่นๆ บนโลกอีกด้วย

“เราทำฟอนต์ไม่เป็นหรอกนะ (หัวเราะ) แต่ก็อยากลองทำดู เราไม่มีเงินไปเรียนต่างประเทศ การได้ทำงานกับเจ้าของบริษัทคนนี้ก็เหมือนได้ไปเรียนกราฟิกที่ต่างประเทศ แล้วเราสนุกกับการทำงานที่นี่มาก จากที่ตั้งใจจะทำสักปีหนึ่งก็อยู่ไปสี่ปี ส่วนหนึ่งเพราะตัวงานเป็นงานกราฟิกเชิงทดลองที่ต้องทำอะไรใหม่ๆ ออกมาขายให้นักออกแบบคนอื่นๆ ซึ่งเจ้านายก็พยายามอธิบายและดึงศักยภาพการทำงานที่เราไม่เคยรู้ว่ามีมาก่อนออกมา เป็นงานกราฟิกเชิงทดลองแบบที่ต้องขายได้ด้วย ทำให้เรารู้จักการหีบห่องานใหม่ให้สื่อสารง่ายขึ้น เหมือนเราทำขนมหน้าตาเหมือนแอปเปิ้ล แต่มันไม่ใช่แอปเปิ้ล มีรสชาติพิเศษกว่าและไม่มีมีใครเห็นมันมาก่อน

ภาพประกอบชีวิตของ จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบไทยที่แบรนด์ดังทั่วโลกให้การยอมรับ

“การที่เราทำงานแบบนี้ได้ เราต้องหาตัวตนของเราให้เจอและทำงานที่เป็นเรา เราก็ต้องรวบรวมและค้นหาสิ่งที่ชอบในตัวเองออกมาใช้ทำงาน ซึ่งถ้ามองดูรอบๆ บ้านก็จะเห็นว่าของที่เรามีมันเป็นของที่ย้อนยุคนิดๆ เราก็เป็นคนแบบนั้นแหละ แล้วเมื่อมาผสมกับสไตล์งานที่เราชอบทำ ก็เลยออกมาเป็นแบบที่คนเห็นงานเรา คือมีความคลาสสิกโบราณผสมผสานกับงานเส้นเด็กๆ และสีสันสดใส” เหนืออธิบายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของงานเขา

ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่เหนือได้สร้างเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อลงผลงานที่ทำกับ YouWorkForThem ให้เป็นอีกช่องทางในการโปรโมต และเว็บไซต์นี้เองที่ทำให้นิตยสารต่างประเทศได้เห็นงานเขาแล้วเริ่มติดต่อให้เหนือทำภาพประกอบให้ โดยมีมาจากทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง ซึ่งงานที่พีกที่สุดคืองานของนิตยสาร Monocle ไปจนถึงมีคนติดต่อขอซื้องานกราฟิกที่ทำในฐานะงานศิลปะ
หลังจากนั้นเหนือจึงลาออกเพื่อมาเริ่มต้นอาชีพนักวาดภาพประกอบอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน และยังแสดงงานนิทรรศการ Shape and Form ด้วย ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก

ผมถามไปถึงวิธีการคิดงานของเหนือว่า มีวิธีในการคิดภาพประกอบยังไงบ้าง

“วิธีคิดงานของผมคืออ่านโจทย์ที่ได้รับมาให้ดี อ่านให้เข้าใจ อ่านให้ละเอียด หรือถ้าไปรับโจทย์จากลูกค้ามา ผมก็จะได้คีย์เวิร์ดหลายๆ คำมาไว้ใช้คิดสร้างเป็นภาพประกอบ แต่ก่อนหน้านั้นผมก็ต้องคิดว่าจะเล่าเรื่องนั้นออกมายังไง จะเล่าแบบตรงไปตรงมาหรือเล่าอ้อมๆ จากนั้นก็คิดตัวเรื่องราวที่จะถ่ายทอด โดยผมมักจะหยิบเอาคีย์เวิร์ดที่ลูกค้าให้มา แล้วคิดว่าถ้าเอาคีย์เวิร์ดพวกนี้มารวมกัน จะออกมาเป็นคนแบบไหน คนคนนี้จะมีนิสัยยังไง ไลฟ์สไตล์ทำอะไรบ้าง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร บุคลิกเป็นยังไง แล้วจึงค่อยถ่ายทอดบุคลิกของคนคนนั้นให้ออกมาเป็นภาพประกอบอีกทีหนึ่ง” เหนือเล่าถึงวิธีคิดงานในแบบของเขา

จุดเปลี่ยนของนักวาดภาพประกอบ

หลังจากงาน Shape and Form จบลง ทั้งที่ชีวิตของเหนืออยู่ในจุดที่ถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพ มีทั้งชื่อเสียงและเงินทอง แต่เหนือกลับรู้สึกถึงความผิดปกติบางอย่างในจิตใจที่รุนแรง และทำให้เขารู้สึกทุกข์ทรมาน นั่นคืออาการของโรคซึมเศร้า

เหนือบอกว่า เขาน่าจะเป็นโรคนี้มานานแล้ว แค่ไม่ได้แสดงอาการออกมามาก แต่หลังจากเสร็จจากนิทรรศการนั้น อาการกลับรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จุดนี้เองที่ทำให้เหนือหันมาสนใจศาสนามากขึ้น โดยมีจุดเปลี่ยนในชีวิตคือ วันที่เขาได้หยิบคัมภีร์ไบเบิลมาอ่าน และเปิดไปเจอข้อความในหน้าหนึ่งที่ทำให้เหนือรู้สึกถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่ นั่นคือ การใช้ชีวิตเพื่อปรนนิบัติคนอื่น

ภาพประกอบชีวิตของ จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบไทยที่แบรนด์ดังทั่วโลกให้การยอมรับ

ด้วยความที่เป็นนักวาดภาพประกอบ เหนือจึงเริ่มแบ่งเวลาที่เหลือจากการทำงานภาพประกอบมาทำงานร่วมกับคริสตจักร ด้วยการลงพื้นที่และสอนศิลปะให้เด็กๆ ในชุมชนลาซาล และเริ่มทำงานร่วมกับโบสถ์ เพนต์รูปให้สถานพินิจเพื่อช่วยเหลือให้เด็กๆ ในสถานพินิจเห็นคุณค่าและมีความหวังในตัวเอง ทุกวันนี้ เหนือจึงเรียกตัวเองว่า Christian Illustrator และรูปแบบงานที่ทำก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน

“ผมเปลี่ยนจากนักวาดภาพประกอบมาเริ่มทำงานเป็นศิลปินที่สื่อสารด้วยภาพประกอบแทน ภาพประกอบเป็นแค่สื่อที่เราใช้เท่านั้น มันทำให้เรามีโอกาสใช้ข้อความหรือคำสอนในศาสนามาสะท้อนผ่านมากขึ้น ผมทำงานด้วยแง่มุมของความรักที่อยากให้คนเห็นงานที่ผมวาดหรือข้อความที่ซ่อนอยู่ในนั้นแล้วมีความสุข มีความหวังมากขึ้นในชีวิต” เหนือสรุปถึงความตั้งใจครั้งใหม่ในฐานะนักวาดภาพประกอบคริสเตียน

ภาพประกอบชีวิตของ จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบไทยที่แบรนด์ดังทั่วโลกให้การยอมรับ

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan