นี่เป็นนัดครั้งที่ 2 ของเรากับ จ๋า-ดร.ณัฐฐาวีรนุช ทองมี ครั้งแรกคลาดกันเพราะสถานการณ์ COVID-19 ที่คาดเดาไม่ได้ 2 สัปดาห์ผ่านไป เรานัดกันที่เดิมอีกครั้ง 

จ๋ามาก่อนเวลานัด 15 นาทีเช่นเดียวกับครั้งแรก 

เธอเริ่มบทสนทนาด้วยการถามไถ่เรื่องรอบๆ ตัวเรา ก่อนจะแลกเปลี่ยนด้วยเหตุการณ์ของตัวเองที่เพิ่งเจอล่าสุด

หลายคนรู้จักจ๋าสมัยเป็นวีเจ Channel V หลายคนรู้จักจากภาพยนตร์เรื่อง คู่แท้ปาฏิหาริย์ (2003) ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) ไม่ก็ แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า (2006)

บางคนอาจเคยเจอเธอจากมหาวิทยาลัยในฐานะ Speaker เกี่ยวกับรัฐศาสตร์และสื่อสารมวลชน ทริปเที่ยวต่างประเทศที่มีเธอเป็นผู้ช่วยไกด์ หรือจดจำว่าเป็น YouTuber ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากหันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น และไม่แปลกถ้าคุณจะเห็นภาพเธอในหลายบทบาท เพราะสิ่งที่เธอทำมาตลอดตั้งแต่เข้าวงการเมื่อ 20 ปีก่อน มีเยอะอย่างคาดไม่ถึง

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

จ๋าเข้าวงการตอนเรียนปี 4 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มจากเป็นวีเจก่อน แล้วจึงมางานแสดง พิธีกร ระหว่างนั้นก็เรียนปริญญาโทไปด้วย

หลังจากนั้น เธอก็หยิบจับงานหลายอย่าง ทั้งก็อปปี้ไรเตอร์ นักเขียน วิทยากร ไกด์ เคยแม้กระทั่งไปเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการให้หน่วยงานรัฐบาล จนตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกด้วยเหตุผลข้อเดียวใหญ่ๆ คือ เธออยากมีความรู้ให้มากกว่านี้ เพื่อส่งต่อให้ดีที่สุด

ชีวิตของนักศึกษาปริญญาเอกเรียกได้ว่า โหด มัน ฮา เธอใช้โควต้าเรียนเต็ม 8 ปี แต่ไม่ใช่เพราะไม่มีเวลาหรืออย่างไร จ๋าเจออุปสรรคทุกรูปแบบก่อนจะจบออกมาอย่างภาคภูมิใจ พร้อมบทเรียนสำคัญข้อใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

จ๋าในวัย 41 ยังสนุกกับชีวิตเหมือนตอน 25 เธอกำลังอินกับกีฬาเซิร์ฟสเก็ต และหาความรู้จากแหล่งต่างๆ อยู่เสมอ เรื่องล่าสุดคือภาวะ Languishing เธอบอกว่าข้อดีข้อหนึ่งของตัวเองที่ชอบมากที่สุดคือ เป็นคนที่พูดคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ บ่อยกับทุกเรื่อง และวันนี้ให้ความสำคัญกับตัวเองน้อยลง เอาใจใส่คนรอบข้างมากขึ้น

เราขอโทษเธออีกครั้งที่นัดมาสัมภาษณ์ถึง 2 รอบ 

“ไม่เป็นไรค่ะ สบายมาก” เธอคงกำลังยิ้มอยู่ใต้หน้ากากอนามัยสีดำนั้น

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

ปีนี้คุณกำลังจะอายุ 42 ชีวิตในวัยเลข 4 เหมือนที่คิดไว้ไหม

ไม่เหมือน (หัวเราะ) ตอนเด็กเราจะรู้สึกว่าอายุยี่สิบห้าคือโต แก่ คำว่าเบญจเพสของเราคือผู้ใหญ่สุดๆ แล้ว พอยี่สิบห้าผ่านไป ก็จะรู้สึกว่าสามสิบนี่แหละ สามสิบคือแก่มากๆ พร้อมที่จะเผชิญทุกอย่าง พอสามสิบไปแล้วเริ่มคิดถึงเลขสี่ ตอนนั้นที่เรามองคนเลขสี่คือโคตรแก่ แต่พอแตะเลขสี่จริงๆ เรากลับเฉยๆ 

น่าจะเป็นเพราะตัวเราเองเดินทางไปเรื่อยๆ อายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความเป็นตัวเองก็ยังคงอยู่ ซึ่งเราก็รู้จักตัวเองเหมือนที่เคยรู้จัก เพียงแต่ว่ามุมมองของเราต่ออายุเท่านี้ในตอนนั้นมันไกล พอต้องอยู่กับมันจริงๆ ก็ธรรมดา ก็เหมือนเมื่อวานนี้ เพียงแต่เราเข้าใจอะไรมากขึ้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเลยคือเราปล่อยง่าย ไม่ใช่ก็ปล่อย ไม่ใช่ก็วาง ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ที่เจอ นั่นคือส่วนที่คิดว่าตัวเองโตขึ้น อาบน้ำร้อนมาก่อน (หัวเราะ)

เราไม่ได้รู้สึกว่าสี่สิบแก่ บั้นปลายชีวิต (หัวเราะ) เรายังสนุกกับชีวิตได้เหมือนเดิม 

อะไรคือสิ่งที่ จ๋า ณัฐฐาวีรนุช ในวัย 41 ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนเหมือนตอน 25

ยังสนุกกับการเจอของใหม่ๆ สนุกกับการได้ Explore เราเคยนิยามตัวเองว่าเป็นคน ‘เยอะ’ แล้วเราก็ยังเยอะอยู่ดี แต่เมื่อก่อนจะเยอะเอเนอจี้ อย่างตอนอายุยี่สิบกว่าๆ ตื่นเต้นกับทุกอย่างที่ได้เจอ อยากกระโจนเข้าไปลองด้วยพลังทั้งหมดที่มี เราไม่ได้คิดอะไรเยอะ เพราะเราไม่รู้ ก็เลยอยากขอลองขอทำ เราไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อาจด้วยความเป็นเด็กที่ร่างกายก็เหนื่อยน้อยกว่า 

หนึ่งวัน เราตั้งเป้าไว้เลยว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรถึงหกหรือเจ็ดอย่าง เราจะรู้สึกเสียเวลาชีวิตมาก เมื่อก่อนเราทำงานแถวนี้เกือบสิบปี เพราะ Channel V อยู่ซอยสุขุมวิท 49 เราเริ่มต้นวันด้วยการจัดรายการสด รายการสดเริ่มเก้าโมง ขับรถจากบ้านแถวเกษตรฯ มาถึงนี่ก่อนแปดโมง แปลว่าเราต้องตื่นก่อนเจ็ดโมง จัดรายการเสร็จเก้าโมง ซึ่งยังไม่มีอะไรเปิดเลย (หัวเราะ) ถ้ามีออกกองก็ไปออกกอง แล้วก็เรียนปริญญาโท พอเรียนเสร็จไปขายเสื้อผ้าที่สยาม ร้านเราไม่ได้รับมานะ ทำกันเอง ในหนึ่งวันเราต้องวิ่งไปหาช่าง ช่างเสื้อกับช่างกางเกงก็อยู่คนละที่ เสื้อกางเกงร้านสกรีนก็คนละที่ เสื้อกางเกงร้านทำแพ็กเกจก็คนละที่ ไปเลือกผ้าก็เป็นอีกที่หนึ่ง พอเสร็จช่วงๆ เย็นๆ มีจัดรายการสดอีกตอนสี่ทุ่ม เลิกเที่ยงคืน ก็กลับมาแถวนี้ หลังเที่ยงคืนก็ไปเที่ยวต่อ เมื่อก่อนที่เที่ยวปิดตีสาม ตีสี่ ตีห้า ยังไม่กลับแวะก่อน ช่วงเพื่อนใกล้เลิกกำลังสนุกกันเลย เราก็อยู่แป๊บหนึ่ง ไม่ได้เน้นอยากดื่มแต่อยากเต้น อยากเจอเพื่อน เสร็จปุ๊บก็กลับถึงบ้านประมาณตีสามกว่า แล้วก็ตื่นใหม่ ชีวิตแน่นมาก

ถ้าแน่นคือชอบ

ชอบ สนุก รู้สึกใช้ชีวิตคุ้ม หนึ่งวันแบบนี้มีความหมายมาก เกลียดการหายใจทิ้ง เกลียดคำว่า ‘พัก’ ถ้าให้นั่งชิลล์ๆ จะอึดอัด อีกสิ่งที่ต่างไปมากๆ แต่ก่อนเกลียดการนวด ไม่ชอบการนอนเฉยๆ เราจะรู้สึกเหมือนถูกตรึงไว้ ทำไมต้องมานอนให้คนนวดแล้วเวลาเราหายไปสองชั่วโมง แต่ทุกวันนี้คือขอนวดเถอะ เราแก่ขึ้น และเดี๋ยวนี้ทำอะไรจากมือถือได้แล้ว เมื่อก่อนมันไม่ได้

ตอนนี้ก็ยัง ‘เยอะ’ เหมือนเดิมนะ แต่เลือกทำน้อยลง จัดลำดับมากขึ้น อันนี้ไม่เป็นไร พอว่างค่อยไปทำ มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น แต่ยังอยากทำนะ ยังอยากลองอยู่

เป็นคนแอคทีฟมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เรียกว่าไฮเปอร์ ชอบทำทุกอย่าง เป็นเด็กเรียนหนังสือ ชอบเรียน เป็นเด็กเนิร์ดเลย แต่ชอบเล่นกีฬากับวาดรูป คือเอาหมดทุกสกิลล์ แต่ไม่ได้เก่งนะ เราแค่รู้สึกชอบทำ

ตอนเด็กๆ เราเรียนต่างจังหวัด ด้วยความที่โตต่างจังหวัดก็เลยได้ออกไปโน่นไปนี่ ได้ใช้ชีวิตที่ถ้าอยู่กรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้ทำ ได้ขี่จักรยานกับเพื่อนเหมือนแก๊งแฟนฉัน ประมาณนั้นเลย

ชีวิตวัยเด็กแบบนั้นทำให้คุณโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

เป็นผู้ใหญ่ที่รู้เยอะ อาจารย์สมัยมหาวิทยาลัยบอกว่า เราเป็นเป็ด เป็นเด็กที่รู้เยอะ โตขึ้นมาเลยรู้เยอะ อาจไม่ได้รู้ลึกมาก แต่เราเข้าใจ เข้าใจอะไรมากกว่าคนที่ไม่เคยเจอ เราเห็นวัฒนธรรมหลายแบบ เราเข้าใจว่าวิถีชีวิตแต่ละแบบมันเป็นยังไง หรืออย่างการเล่นกีฬา เราก็จะเข้าใจว่าเวลาซ้อมต้องอยู่ยังไง เล่นอะไร คุยอะไร กลับกี่โมงกี่ยาม ทำอะไรกันบ้าง ยิ่งเราชอบเรียนหนังสือก็อ่านหนังสือเยอะ พอมาทำงาน งานวีเจมันเปิดโลกกว้างให้เรามาก การได้ไปสัมภาษณ์คนก็ทำให้เรารู้จักมุมมองคนหลายแบบ แต่ไม่ใช่แค่การจัดรายการ มันมีการไปออกกอง ในสมัยที่ไม่ใช่โลกโซเชียลแบบนี้ อะไรๆ ก็ช้ากว่า 

บางทีเราต้องรอคนหลายชั่วโมงยังไม่ได้ถ่ายเลย บางกองให้เราไปเรียนขับเครื่องบิน บางกองต้องนั่งรถตู้ไปถ่ายที่หนองคาย แต่ไม่ได้นั่งสบายๆ นั่งเบียดกันสิบสามคนแล้วแอร์เสียอีก มันสอนให้เรามีความอดทนในการทำงาน และเข้าใจว่าทำไมต้องรอ 

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์
จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

คุณโตกว่าคนในรุ่นเดียวกันไหม

โตกว่าไหมเหรอ (นิ่งคิด) บอกไม่ได้เพราะไม่รู้จะไปเปรียบเทียบกับใคร เขาอาจจะโตกว่าเราก็ได้ แต่บอกได้แค่ว่า ณ วันที่อายุยี่สิบ เราชอบเสวนากับคนอายุสี่สิบ ชอบฟังคนอายุสี่สิบ ห้าสิบ คุยกัน อยากรู้วิธีการคิดของเขา หรือบางทีคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันในเรื่องที่เราสนใจก็มี แต่บางคนเขาคุยเรื่องที่เราไม่สนใจ เราก้าวผ่านสิ่งพวกนี้ไปแล้ว ขี้เกียจฟัง (หัวเราะ)

โอ๊ย เสียเวลา เสียเวลาในที่นี่คือ เราไม่ชอบ Small Talk กระจุกกระจิก แต่อยู่กับเพื่อนได้นะ เพียงแต่เราไม่อินกับการคุยเรื่องของคนอื่นที่เอามาเป็นเรื่องใหญ่ เราจะรู้สึกว่า โห ช่างมันเถอะ เรื่องนิดเดียวเอง มีอยู่วัยหนึ่งที่เพื่อนจะเคืองกันในเรื่องที่เล็กน้อยมากสำหรับเรา ก้าวข้ามไปเถอะ แต่เขาจะผ่านไม่ได้ บางครั้งเรื่องเดียวเถียงกันอยู่สี่ห้าวัน เราอินกับการคุยเรื่องที่เปิดโลกเรามากกว่า

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอะไร

มีครั้งหนึ่ง ตอนที่เราเพิ่งเข้าทำงาน Channel V ไม่นานมาก ก็ได้รู้จักพี่ที่เป็นซีอีโอของบริษัทค่ายเพลง เขาเห็นเรากระตือรือร้น อยากรู้เรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็เลยชวนไปกินข้าวร่วมกับคนหลายๆ อายุ 

เขาหันมาถามเราว่า “รู้ไหมว่าเวลาซีอีโอเมืองนอกเลือกคนเข้าทำงาน เขาเลือกจากอะไร” เราไม่รู้ เขาเลยเล่าว่า มีบริษัท Tech บริษัทหนึ่งสัมภาษณ์โดยการยื่นสมุดหน้าเหลือง (Yellow Pages) ให้คนที่มาสมัครงาน แล้วถามว่า คุณคิดว่าคนที่ชื่อ สมมติว่าเป็น Steve Jobs ที่ทำอาชีพนี้ ควรจะอยู่หน้าไหน นั่นแปลว่าคุณต้องรู้ว่าสมุด Yellow Pages มีกี่มลรัฐที่รวบรวมเอาไว้ ในมลรัฐมีกี่คน และในจำนวนนั้นคนชื่อนี้ควรจะอยู่ที่หน้าไหน ประชากรควรจะเท่าไหร่ ตัว S ควรจะมีกี่คน เราก็ว้าวมาก

แล้วเขาก็เล่าอีกว่า ไปเยอรมนีมาเจอคำถามว่า ถ้าคุณมาถึงออฟฟิศเร็ว คุณจะจอดรถตรงไหนในลานจอดรถ เราก็ตอบแบบไม่ได้คิดอะไร ก็จอดใกล้ๆ ประตูสิคะ จอดแล้วก็รีบเข้าไปทำงาน เขาบอกไม่ใช่ คุณต้องไปจอดไกลที่สุดเพื่อที่จะช่วยเซฟเวลาของคนที่มาสาย คือคุณมาเช้า คุณมีเวลาเดิน แต่คนมาสายถ้าจอดใกล้ก็จะได้ขึ้นตึกเลย ทำให้บริษัทคุณไม่ได้เสียเวลาของพนักงานไป

ตอนนั้นเราอายุยี่สิบต้นๆ เป็นช่วงจดจำ ครูพักลักจำ เก็บเรื่องราวต่างๆ มาไว้ในหัว โอเค มันเป็นอย่างนี้ๆ มันดีเว้ย การได้ฟังจากคนที่รู้อะไรเยอะแบบนี้

ชอบอะไรในรัฐศาสตร์ ทำไมเรียนตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก

ถ้าตั้งแต่แรกไม่เรียกว่าตัดสินใจหรอก ตอนอยู่เตรียมอุดมฯ เราสอบเทียบตอนมอห้า แต่ไม่ได้ซีเรียสหรอกว่าจะเอนทรานซ์ติดหรือเปล่า เพราะยังเหลือมอหก แล้วจะเรียนอะไรล่ะ ระบบศึกษาในวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม คือไม่ได้สอนให้เรารู้ว่าอยากเป็นอะไรกันแน่ แต่ปลูกฝังว่าถ้าสอบได้คะแนนสูงๆ เราจะได้เรียนคณะดีๆ เรารู้ประมาณนั้น แม่ก็มาช่วยเลือกคณะ ต่างคนต่างไม่รู้ แม่ก็ช่วยคิด เลือกรัฐศาสตร์ไหม คะแนนสูง เห็นลูกชอบเที่ยว ชอบภาษาอังกฤษ เลือกนี่แหละรัฐศาสตร์การทูต จบไปถ้าได้ทำงานเป็นทูตก็เป็นที่นับหน้าถือตา เราเลยกลับมานั่งคิด โอเค เราชอบเที่ยว ชอบภาษา ชอบประวัติศาสตร์ ดีๆๆ เลือกเป็นอันดับหนึ่ง ปรากฏติด 

ตอนเข้าไปชอบไม่ชอบก็ไม่รู้ โชคดีคือรัฐศาสตร์ไม่ได้สอนว่าถูกหรือผิด แต่สอนให้เราเข้าใจ เข้าใจโลก เข้าใจคน ถ้าเอาไปใช้ดีคือดี ถ้าเอาไปใช้ไม่ดีคือไม่ดี​ พอเริ่มขึ้นปีสองชักสนุก ได้เรียนนโยบายต่างประเทศ ได้เรียนประวัติศาสตร์ที่เราชอบ หลังจากนั้นเลยได้รู้ว่า บางอย่างเราไม่ได้เลือกจากความชอบจริงๆ ตั้งแต่แรก เพราะเราไม่รู้ตัวเอง แต่เราเรียนรู้ที่จะชอบในสิ่งที่เราเรียน แล้วเอามันไปปรับใช้กับชีวิตของเราได้ยังไงบ้าง

ประกอบกับช่วงปีสี่ได้ทำงานวีเจพอดี แล้ววีเจต้องใช้ความคิดเยอะ ต้องเรียงลำดับความคิดในหัว ซึ่งรัฐศาสตร์ตอบโจทย์มาก สมมติมีข้อมูลมาวางอยู่ตรงหน้า คนที่เรียนรัฐศาสตร์มาจะดูออกเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ข้อมูลชุดนี้อยากบอก อะไรคือ Big Picture ของมัน แล้วการจะส่งต่อให้คนเข้าใจ คุณต้องเรียงหนึ่งถึงสิบยังไง หรือจะเริ่มจากผลแล้วค่อยย่อยไป สุดท้ายเลยไม่ได้เอนท์ใหม่ ตัดสินใจเดินหน้ากับอันนี้ แล้วเอาความรู้ที่ได้มาเสริมกับสิ่งที่เราอยากทำ

ตอนปริญญาโท เราเรียน European Study ซึ่งก็เกี่ยวกับรัฐศาสตร์ ตอนนั้นความตั้งใจดีคือเราอยากเอายุโรปมาเป็นโมเดลให้กับประเทศในอาเซียน เขารวมกลุ่มกันยังไง เขาพัฒนากันยังไง ทางอาเซียนของเราเอามาใช้ได้ไหม หลักสูตรตอนนั้นเป็นภาษาอังกฤษ เราก็มองในแง่ดีกว่าอย่างน้อยก็ได้ฝึกภาษา เราไม่เคยเรียนเมืองนอก เราจะเป็นคนที่พยายามหาหลืบที่ดีของสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ได้ พอจบก็ทำทีสิสที่ได้รับเลือกให้ไปนิวซีแลนด์ ทีสิสทำเรื่องการก่อการร้าย (Terrorism) เพราะตอนที่กำลังเรียนอยู่มันเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คือ 9/11 เรานั่งดูทีวีอยู่เห็นเครื่องบินชนตึก ตอนแรกยังคิดว่าหนังเรื่องอะไร 

พอกลับจากนิวซีแลนด์ก็มีโอกาสได้ทำงานเยอะมาก ทำงานทุกอย่าง ในวงการบันเทิงทำทุกอย่างจริงๆ วีเจ พิธีกร งานแสดง เขียนเพลง เป็นก็อปปี้ไรเตอร์ให้รายการของรุ่นพี่ ทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ของพี่อีกคน ไปสัมภาษณ์คนแล้วมาเขียน ตอนนั้นออนไลน์ยังไม่ค่อยมี แล้วก็มีไปเป็นผู้ช่วยไกด์ 

งานในวงการก็ดูจะเพียงพอ ทำไมต้องทำงานหลากหลายขนาดนี้

มันเป็นช่วงที่เรามีงานเข้ามาเยอะ หาเงินได้ไว กลัวว่าตัวเองจะชิลล์เกินไปกับการหาเงินได้ง่าย เลยคิดว่าต้องทำงานเหมือนคนอื่นๆ ติดต่อไปหาพี่ที่รู้จักซึ่งทำบริษัททัวร์ว่า ถ้ามีงานเป็นผู้ช่วยไกด์ให้บอกหน่อย เราก็ไปทดสอบ ทำงานเหมือนเขาทุกอย่าง ดูแลลูกทัวร์ทั้งหมด เตรียมของ ช่วยยกกระเป๋า เรียงกุญแจ จัดหาอาหาร ถ่ายรูปให้ ยืนคุยหน้ารถบัส เล่าประวัติศาสตร์สถานที่ต่างๆ แล้วไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว เราทำเรื่อยๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ดึงตัวเราว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีงานที่ได้เงินเร็ว ได้เงินเยอะแล้ว เราก็โอเค 

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

คุณเรียนจบก็ทำงานในวงการบันเทิงทันที ในฐานะคนที่ยังสนใจเรื่องรัฐศาสตร์มาตลอด ไม่อยากทำงานด้านนั้นโดยตรงบ้างเหรอ

เราเคยฝึกงานที่ United Nations สมัยเรียน เรียกได้ว่าเป็นความใฝ่ฝันของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ฝึกส่วน ESCAP (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific) ตื่นตอนตีห้า เข้างานเจ็ดโมง ต้องรีบไปหาที่จอดรถก่อนเพราะหายากมาก งานที่ทำตอนนั้นก็ถ่ายเอกสาร ชงกาแฟ จดรายงานประชุม ตอบอีเมล ทำทุกอย่างที่เขาทำกัน และได้เรียนรู้ว่ามันดีที่ได้ทำงานในองค์กรระดับโลกแบบนี้ ขณะเดียวกันก็เห็นว่า ถ้าเราทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ สิบปี ยี่สิบปี เราไม่รู้ว่าจะโตได้แค่ไหน แต่เราจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งอันในระบบที่จะช่วยหมุนให้ระบบเดินหน้าต่อไป แล้วถ้าเราตัดสินใจไม่เป็นฟันเฟืองนั้นล่ะ เราออกมาอยู่ข้างนอกเพื่อกลายเป็น Input อื่น เป็น Input ที่ใส่เข้าไปในระบบเหมือนกัน แล้วอาจจะใหญ่กว่าเดิมได้ เราเลือกอย่างหลัง

พอตั้งต้นด้วยความคิดแบบนั้น เป้าหมายในการทำงานในวงการบันเทิงก็เปลี่ยนไปด้วยไหม

ถ้าถอยกลับมาดูเป้าหมายของตัวเองตั้งแต่เด็ก ที่ถึงวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม หนึ่ง เราอยากเป็น Best Version ของตัวเอง สอง อยากสร้างอิทธิพลให้โลก แต่คำว่าโลกอาจจะไม่ได้ใหญ่ระดับ Global ก็ได้ ถ้าใหญ่ได้ขนาดนั้นคงจะดีมาก แต่อย่างน้อยคือโลกของเรา สังคมของเรา กลุ่มคนในชีวิตประจำวันของเรา

เวลาที่คนมาถามว่า “ทำงานบันเทิงทำไมต้องเรียนโน่นเรียนนี่” เราจะบอกว่า เอาใหม่นะ มองใหม่ เราเรียนเพื่อไปทำงาน เราจะเลือกทำงานอะไรก็ได้ งานบันเทิงเป็นอีกแขนงหนึ่งที่เราเลือกทำ เพื่อ Output บางอย่างที่เราอยากได้ เช่น ได้เงิน ได้สร้างตัวตน และมันก็เป็นอาชีพที่ช่วยเหลืออะไรได้รวดเร็วขึ้น

เราชอบเจอคำถามว่า เป็นดาราทำไมต้องเรียนสูงๆ ซึ่งจะถามกลับไปตลอดว่า “แล้วทำไมเป็นดาราต้องไม่เรียนสูงๆ” 

เราไม่เคยนิยามตัวเองว่า นี่คือดารา นักแสดงคือหนึ่งอาชีพ พิธีกรคือหนึ่งอาชีพ คนทำเบื้องหลังคือหนึ่งอาชีพ เราคือคนที่ทำงานหลายอาชีพ ซึ่งนักแสดงเป็นหนึ่งในบทบาทเหล่านั้น และเป็นบทบาทที่คนส่วนใหญ่เห็น แต่การเรียนหนังสือคือการพัฒนาความคิดและต่อยอด ไม่ใช่ว่าเรียนสูงแล้วจะดีกว่าคนอื่น มันดีสำหรับตัวเรา ถ้ามีโอกาสก็อยากจะทำต่อไปเรื่อยๆ

เลยตัดสินใจเรียนปริญญาเอกที่หลายๆ คนถอดใจไปแล้ว

เราเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทมา สิ่งที่ได้ทำอย่างหนึ่งคือการเป็น Speaker ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย เราได้พูดอยู่สองหัวข้อ หนึ่ง รัฐศาสตร์ เพราะเราเรียนมา และสอง สื่อสารมวลชน ที่เราทำงานมาโดยตลอด คุณจะพูดให้คนอื่นฟังได้อย่างดี คุณต้องมีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ ไม่ว่าจะผ่านการเรียน การความเข้าใจ หรือประสบการณ์ชีวิต

พอถึงจุดหนึ่ง เรามานั่งประเมินว่าตัวเองมีความสามารถอะไรบ้าง เรื่องการเป็นพิธีกร งานสื่อสารมวลชน เราพูดได้ เรามีประสบการณ์ตรง ข้อนี้ไม่มีใครค้านได้แน่นอน แต่หากเราอยากส่งต่อความรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เราเรียนปริญญาตรีแล้ว ปริญญาโทแล้ว ปริญญาเอกก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสาขานี้ เรายังอยากเรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ ก็เลยสมัครเรียนปริญญาเอก สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีก แต่กว่าจะจบนี่มันหืดขึ้นคอมากเลยนะ ตอนตรีโทเราชิลล์มาก กล้าพูดได้เลยว่าฉันเป็นคนเรียนเก่ง เราเข้าปีหนึ่งตอนอายุสิบหก จบปริญญาตรีตอนอายุยี่สิบเอ็ด ปริญญาโทอายุยี่สิบสอง เฉยมาก เดี๋ยวก็จบ (หัวเราะ)

มาปริญญาเอกก็คิดว่าไม่น่ามีอะไร ทำได้อยู่แล้ว 

แล้วปรากฏว่า…

เริ่มตั้งแต่ตอนจะสมัครเข้าครั้งแรก มีแฟน คืนก่อนไปสอบทะเลาะ ตีกันไป ตีกันมา ไม่ยอมวาง เราก็ไม่วาง เขาก็ไม่วาง ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง กว่าจะวางหูตีสี่ตีห้า พอเช้าต้องไปสอบ สอบไม่รู้เรื่องเลย เหมือนเราไม่รักตัวเองมากพอที่จะตัดอะไรบางอย่างที่มากวนใจ ก็สอบที่จุฬาฯ ไม่ติด เลยหาที่อื่นสมัครแทน ปรากฏยังไม่มีที่ไหนเปิด เรารอไม่ได้ เสียเวลา แล้วมีที่รามคำแหงเปิดอย่างเดียว แต่เป็นสาขารัฐประสานศนสาตร์ (Public Policy) ก็สมัครไปก่อน กลัวไม่ได้เรียน

เข้าไปเรียนแรกๆ อาจารย์ก็เหมือนจะสบประมาท ดาราก็คงเรียนไปอย่างนั้นแหละ เราไม่ยอมให้เขาว่า ตั้งใจเรียน ตั้งใจพรีเซนต์ จนกลายเป็นศิษย์รักของอาจารย์ไปเลย แล้วก็มีเพื่อนมาบอกว่าที่รามฯ มีหลักสูตรอินเตอร์นะ สาขา IR (International Relations) ด้วย แต่มันโอนหน่วยไม่ได้ ถ้าย้ายก็ต้องเริ่มใหม่ ทิ้งสองปีที่ผ่านมาไปเลย ซึ่งเราย้ายเพราะเป็นสิ่งที่ถนัดมากกว่า

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

มันยากกว่าเรียนปริญญาตรีกับโทอย่างเห็นได้ชัดเลยเหรอ

ยากกว่ามาก ตรีกับโทเราย่อยความรู้ ย่อยมาทำความเข้าใจ แต่เอกเนี่ย คุณต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และต้องสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่จากสิ่งที่คุณเข้าใจอย่างลึกซึ้งนี้ เป็นองค์ความรู้ที่ยังไม่มีใครพูดถึง แล้วต้องพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คุณพูดมันจริงหรือไม่ อย่างไร ใครบอก ถ้ามีคนแย้ง คุณโต้ได้ไหม ใช่หรือไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่เพราะอะไร เขาถึงเรียกว่า Defend คุณต้องปกป้องวิทยานิพนธ์ของคุณอย่างเต็มที่

แต่มันไม่ใช่แค่ยาก เราซวยด้วย (หัวเราะ)

ตอนเราสอบ Coursework เสร็จเรียบร้อย เราก็เริ่มเลือกหัวข้อ อาจารย์ที่ปรึกษาของเราเป็นชาวต่างชาติ เขาโอเคกับหัวข้อเรามาตลอด แต่งเติมตรงนี้ ตัดตรงนั้น จนถึงวันหนึ่งเราลอง Defend ดู อาจารย์ไทยกลับบอกว่า งานของเราไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ทฤษฎีไม่แน่นพอ ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ต่างชาติกลับประเทศไปแล้ว เราเลยส่งอีเมลคุยกับเขาเพื่อได้คำตอบว่า “อ้าว ยูไม่ได้เรียนคณะบริหารฯ เหรอ”

อ้าว

อ้าวสิ ในขณะที่อาจารย์ไทยก็บอกว่า คุณจะเชื่ออาจารย์ได้ยังไง นี่คืองานของคุณ อ้าวไปอีก 

สรุปงานนั้นไม่ผ่าน ตกไป พอไม่ได้ก็ท้อ หยุดเรียนไปก่อน ทำงานๆ แล้วก็ตัดสินใจมาทำต่อ ต้องสอบข้อเขียนใหม่ทั้งหมด เพราะคณบดีย้ายไปแล้ว ก็ฮึด สอบเสร็จจะมาทำวิทยานิพนธ์ต่อ อาจารย์บอกว่าควรเปลี่ยนที่ปรึกษานะ เราเลยถามว่า ที่ปรึกษามีสามคน ต้องเปลี่ยนกี่คนคะ เขาก็บอกว่า อาจารย์คนแรกเขากลับประเทศไทย ซึ่งเขาดูแลอีกสองคน งั้นเปลี่ยนสามไปเลย (หัวเราะ)

ตอนนั้นเหลือเวลากี่เดือนต้องส่งทีสิส

เจ็ดเดือน แต่หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่เป็นคนที่เปลี่ยนชีวิต เขาบอกว่า “คุณอยากให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษาคุณใช่ไหม” ใช่ค่ะ “ถ้าอย่างนั้นคุณพร้อมจะเปลี่ยนไหมคะ” ก็นึกในใจว่าเปลี่ยนอาจารย์อีกเหรอ “คุณพร้อมที่จะเปลี่ยนใช่ไหมคะ” ตอนนี้เริ่มนอยแล้ว “คุณจ๋าคะ งานของคุณมันดี มันน่าสนใจมากเลย แต่คุณนึกออกไหมคะ นี่คือเนื้องานของคุณ ส่วนนี้คือทฤษฎี คุณเห็นไหมคะว่ามันยังไม่เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกัน” แล้วหนูต้องทำยังไงคะ เขาก็ถามย้ำอีก “คุณพร้อมจะเปลี่ยนไหมคะ เปลี่ยนทฤษฎี”

เปลี่ยนทฤษฎี (เสียงดัง) เปลี่ยนทฤษฎีแปลว่ารื้อหมด รื้อทุกอย่างที่มี หาข้อมูลใหม่หมด เลยถามอาจารย์ว่า เขาทราบใช่ไหมว่าเรามีเวลาเหลือแค่หกเดือน ตอนนั้นเหลือหกเดือนแล้วนะ (หัวเราะ)

เขาบอก ทราบค่ะ เราเลยถามเขากลับไปว่า อาจารย์รู้ใช่ไหมคะว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วเขาก็พูดสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเราไปเลย เขาบอกว่า “โอเคค่ะ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ในเมื่อคุณพูดแล้วว่าไม่ได้ ก็จบ นั่นคือคุณบอกตัวเองแล้วว่าไม่ได้”

มันเปิดให้เราเปลี่ยนความคิดตัวเองไปเลย ตัดสินใจลองดู จะพยายามให้ดีที่สุด ในเวลาที่เหลืออีกหกเดือน ถ้าไม่ได้ตอนนั้นคือไม่ได้ แต่วันนี้ยังเหลืออีกหกเดือน หลังจากนั้นชีวิตเปลี่ยนเลย

เปลี่ยนยังไง

หกเดือนนั้นคือนั่งติดเก้าอี้ (หัวเราะ)

คุณทำทีสิสเรื่องอะไร

เรื่อง การสร้างอำนาจอ่อนของประเทศไทยในการใช้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ การเรียนรัฐศาสตร์ทำให้เรารู้ว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่รัฐบาลของทุกประเทศในโลกนี้ต้องการอับดับหนึ่งคืออำนาจ และบริหารอำนาจเพื่อจัดการกับทุกๆ อย่าง อำนาจแบ่งได้หลักๆ สองอย่างคือ Hard Power กับ Soft Power

Hard Power คืออำนาจทหาร เศรษฐกิจ ถ้าแปลตรงๆ คืออำนาจแข็ง ส่วนอำนาจอ่อนคือ Soft Power เป็นอำนาจในการชักจูงคน เช่น วัฒนธรรม อาหาร ภาพยนตร์ ถ้ายกตัวอย่างใกล้ตัวหน่อยก็ประเทศเกาหลีใต้ สิ่งที่เขาสร้างให้เป็นอำนาจอ่อนได้คือสิ่งที่เราชื่นชอบ ชื่นชม เห็นด้วย อยากจะทำตาม เราโปรเขา ฉันชอบแฟชั่นเกาหลี ฉันชอบผู้ชายเกาหลี ฉันชอบอาหารเกาหลี ฉันอยากไปเที่ยวเกาหลี ฉันอยากพูดภาษาเกาหลี

จากวันที่ตัดสินใจทำต่อจนถึงวันสุดท้ายทำไปสามสิบเจ็ดฉบับ แต่เรารู้สึกดี เพราะอาจารย์คนหนึ่งพูดไว้ว่า จริงๆ แล้วถ้าคุณไม่แก้เลยก็ได้ จะใช้อันเดิมก็ได้ แต่คุณจะจบแบบจบไปเฉยๆ กับการจบแบบที่คนชอบงานของคุณ นี่คืองานของฉัน และงานของฉันสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ คุณอยากจบแบบไหน

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์
จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

ได้รู้ลิมิตในตัวเองมากขึ้นไหม

ได้รู้ว่าในการทำอะไรก็ตาม อย่าเพิ่ง Set Limit จนกว่าจะรู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ตอนที่มันถึงเวลาแล้วจริงๆ บางทีเรามองว่าทำไม่ได้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำ จริงๆ อาจจะทำได้ก็ได้นะ เราไม่อยากบอกว่า ‘ไม่ไหว’ ตอนยังไม่เริ่ม แต่บอกว่า ‘ไม่ไหว’ ตอนทำไปแล้วและมันหมดเวลาจริงๆ 

อีกอย่างหนึ่งที่คนพูดกันบ่อย บอกว่าเรียนปริญญาเอกจบมาแล้วจะมีอีโก้ สำหรับเราไม่เลย มันกลับมาสลายอีโก้ในตัวเราด้วยซ้ำ 

จ๋าในวัยนี้ ยังทำงานเยอะเหมือนแต่ก่อนไหม

เยอะ (หัวเราะ) เนื่องด้วยประสบการณ์ชีวิตมันเยอะเกินไป เราปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์ที่เจอ อย่างก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีที่แล้วก็รับงานแสดง ช่วงหนึ่งออนไลน์เริ่มมา บวกกับเจอเหตุการณ์ใหญ่ของชีวิต คือสูญเสียน้องสาวจากโรคซึมเศร้า หลังจากนั้นเริ่มมีคนเข้ามาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ เราก็เลยไปศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนได้รู้ว่าคนรอบข้างเป็นกันมาก ในระหว่างทางมีทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะ

คราวนี้ช่วงทำเรื่องโรคซึมเศร้า เราคิดถึงน้อง แล้วน้องสาวเป็นคนชอบเที่ยว เขาเป็นแอร์โฮสเตส เราก็ชอบเที่ยว แต่เคยบอกตัวเองว่าไม่อยากทำรายการเที่ยว เพราะมันจะทำให้เราเที่ยวไม่สนุก สุดท้ายก็ดันทำขึ้นมา และทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง COVID-19 ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองอีก พอเที่ยวไม่ค่อยได้ก็อัดคลิปออกกำลังกาย ซึ่งเราทำเป็นประจำอยู่แล้วแต่ไม่ค่อยมีคนรู้ แล้วก็ทำมาตั้งแต่ตอนนั้น เพิ่งครบร้อยคลิปไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และมาทำชุดออกกำลังกาย เราเป็นคนที่ใส่ชุดออกกำลังเหมือนยูนิฟอร์ม เราจะรู้ว่าชุดนี้คนชอบ ใส่แบบไหนคนถามเยอะ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเสื้อผ้าที่ชอบอยู่แล้ว แค่บิดมาให้ใกล้เคียงกับไลฟ์สไตล์ที่สุด

บาลานซ์งานทุกอย่างกับบทบาทต่างๆ ในชีวิตทั้งลูกสาวและภรรยายังไง

ข้อดีหนึ่งอย่างของตัวเองคือ เราบริหารจัดการเวลาเก่ง เช่น มีสามสิบนาที เราจะคิดแล้วว่าสามสิบนาทีนี้ทำอะไรได้บ้าง แล้วเราไม่ใช่คนโอ้เอ้ บางคนจะย้ายตัวจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง จะมี Gap ประมาณชั่วโมงหนึ่งในการเคลื่อนตัว แต่เราไม่มี 

หรือสมมติ เราจะเคลื่อนตัวจากเกษตรฯ ไปสุขุมวิท ถ้าเราออกจากบ้านก่อนครึ่งชั่วโมง อาจจะแวะเอาของไปส่ง Kerry ระหว่างทางได้ เราจะนึกเสมอว่ามีอะไรที่ต้องทำแล้วยังไม่ได้ทำ และมันจะทำได้ไหม

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

อย่างที่คุณเล่าเรื่องคืนวันก่อนสอบเรียนปริญญาเอก มาถึงเหตุการณ์ที่ทำให้สูญเสียน้องสาว สิ่งเหล่านั้นที่เกิดขึ้นทำให้การตัดสินใจอะไรต่างๆ ในชีวิตเปลี่ยนไปไหม

เราเชื่อว่าใครที่ได้เจอประสบการณ์ตรง ต้องเกิดความคิดในหัวแน่นอน เรื่องของน้องเปลี่ยนมุมมองเรื่องการรักคนที่ยังอยู่ให้ชัดขึ้น อย่างพ่อแม่ เราว่าทุกบ้านเป็นเหมือนกัน คือรักเขาแหละ แต่ไม่เคยมองว่า ‘ถ้าไม่มี’ จะเป็นยังไง พอไม่มีน้องก็เกิดคำถามในหัวตลอดเวลา ทำไมวันนั้นไม่อย่างนั้น ไม่อย่างนี้ วันนี้เราพยายามทำกับพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า ‘ทำไมไม่ทำ’ เวลาของคนมันไม่เท่ากัน และเราไม่รู้ว่าจะหมดเวลาเมื่อไหร่

เมื่อก่อน เราใช้เวลาไปกับตัวเองเยอะ ฉันอยากทำอย่างนั้น ฉันอยากทำอย่างนี้ แต่ตอนนี้เราใช้เวลาของเราไปกับตัวเองและคนอื่น ซึ่งเราให้คนอื่นมากกว่าด้วยซ้ำ ถ้าเป็นเรื่องของเรา เดี๋ยวค่อยทำ แต่เรื่องของเขา รีบทำให้ก่อน 

เมื่อก่อน เห็นสายโทรศัพท์พ่อแม่มา บางทีเดี๋ยวค่อยรับ ไม่มีอะไรหรอก เขาก็แค่โทรมาถามกระจุกกระจิกหรือบ่นอะไรเรื่อยเปื่อย แต่ตอนนี้ต้องรีบรับ รีบรับตลอด เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาจะบอกอะไร หรือเขาต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า มุมมองเราเปลี่ยนไปเลย

ยังฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์รอบข้างมากแค่ไหน

ฟังค่ะ แต่ไม่ได้ส่งผลต่อจิตใจเท่ากับเมื่อก่อน แยกแยะมากขึ้น พอเราโตขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น เราเริ่มเข้าใจมาสักระยะหนึ่งแล้วว่า โลกโซเชียลทำให้คนพูดดังขึ้น ทำให้คนอยากแสดงความคิดเห็นมากขึ้น แต่ถ้าเกิดไปเจอหน้าเขาจริงๆ เขาอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น เขาอาจจะไม่ได้คิดขนาดนั้นก็ได้ สมมติในโลกโซเชียลเขาบอกว่า ฉันเกลียด มาเจอกันจริงๆ เขาอาจจะแค่ไม่ชอบ มันเบาลง 

จริงๆ แล้วการพูดผ่านโซเชียล เขาอาจจะอยากระบายอะไรสักอย่าง เขาอาจจะอินกับอะไรบางอย่างมากกว่าชีวิตจริงที่เขารู้สึก เพราะฉะนั้น ในวินาทีโพล่งออกมา เขาอาจจะไม่ได้หมายความขนาดนั้น ถ้าเราเก็บไป มันอาจจะส่งผลต่อเราเป็นวัน เป็นเดือน หรือกระทั่งเป็นปี เราต้องเข้าใจว่ามันอาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แค่รับรู้ไว้ว่ามีความรู้สึกแบบนี้อยู่นะ ถ้าเป็นอะไรที่สร้างสรรค์ต่อไปได้ ก็เก็บมาพัฒนาแล้วกัน

พอโตขึ้น เรามีตะแกรงที่มีประสิทธิภาพในการกรองสิ่งต่างๆ มากขึ้น

การเรียนรัฐศาสตร์มา 3 ปริญญาช่วยให้เข้าใจคนขึ้นไหม

ช่วยจัดระเบียบความคิดมากขึ้น ในทุกวันนี้เรารับสาร รับข้อมูลเยอะมากๆ ถ้าอยากรู้เรื่องความคิดคนในปัจจุบัน เราก็เสิร์ชอ่าน กรอง ประมวล คิด อย่างล่าสุด เพิ่งอ่านบทความเรื่อง Languishing เป็นภาวะที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นภาวะเนือยๆ ตรงกลางที่เกิดจากการปรับตัวที่บ่อยเกินไป ทำให้ไม่มีความสุขจริงๆ ในชีวิต แต่ไม่ถึงกับเศร้า และอาจจะส่งผลต่อสภาพจิตของคนในอนาคต

การเรียนรัฐศาสตร์ช่วยให้เรามีพื้นฐานในการเข้าใจคน คนเป็นยังไง ความต้องการพื้นฐานของคนคืออะไร แล้วทุกวันนี้มีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเป็นแบบนั้น แบบนี้ สุดท้ายเอาธรรมะเข้ามาอีก 

แล้วเราจะจัดการเขาได้ไหม เราก็จะตอบตัวเองว่า เราจำเป็นต้องจัดการเขาหรือเปล่า หรือเราจำเป็นต้องจัดการเรา เรื่องนี้เกี่ยวกับเราจริงๆ หรือเปล่า 

แปลว่าศึกษาธรรมะ

ศึกษาเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทุกวันนี้ไปนั่งสมาธิที่วัดอาทิตย์ละครั้ง ยังไปทุกอาทิตย์ ไปนั่งสมาธิ แผ่ส่วนกุศลให้กับน้อง

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์
จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

เพราะทำอะไรมาเยอะ คนเลยจำคุณในหลายบทบาท คนรุ่นหนึ่งจำคุณในฐานะวีเจ อีกรุ่นจดจำในฐานะพิธีกร เด็กรุ่นใหม่อาจจำคุณในบทบาท Speaker หรือ YouTuber คุณอยากให้เขามองคุณแบบไหน

แล้วแต่เขาเลย อย่างน้อยให้เขารู้ว่านี่คือ จ๋า ณัฐฐาวีรนุช แต่คุณจะจำเราในฐานะอะไรก็ได้ เพราะเราเยอะ เมื่อวานก็เพิ่งมีคนคอมเมนต์ในเพจว่า “ชอบดูพี่เล่นแสบสนิทฯ มากเลย” มันก็เป็นภาพจำของเขา บางคนก็บอกว่า “ชอบพี่ตอนเป็นวีเจมาก ดูทุกเย็นเลย” ก็ดีใจนะ แต่เราไม่ได้จัดเย็น เราจัดกลางคืน (หัวเราะ)

จำอะไรก็ได้ ไม่ซีเรียส จำให้ถูกคนพอ

แล้วคุณมองตัวเองยังไง

เราเป็นคนคนหนึ่งที่เรียนรู้ในทุกๆ วัน เยอะ เราเกือบจะเป็น Perfectionist ถ้าไม่ติดว่ายังปล่อยวางบางอย่างได้ เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เป็นคนเฉยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชอบในตัวเอง สมมติอยากได้อันนี้มากเลย แต่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เป็นคนที่พูดคำว่า ‘ไม่เป็นไร’ บ่อย ไม่เป็นไรๆ แล้วคิดว่าคำนี้มีประโยชน์มาก เพราะหลายคนเป็น เป็นไร บางคนอยากสอบได้ที่หนึ่ง ถ้าไม่ได้จะผิดหวัง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า แต่เราถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าได้ก็ดี หรืออยากได้งานนี้ ตั้งใจให้ดีที่สุด สุดท้ายเขาไม่เลือก ไม่เป็นไร ก็เขาไม่เลือกจะทำไงได้

Perfectionist สำหรับเราคือไม่ปล่อย เราเลยชอบทำทุกอย่างให้ Almost Perfect ดีสุดของวันนี้แล้วแหละ อาจจะไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่เราก็ทำให้มันดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ในวันนี้แล้ว ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรอก มันอยู่ที่เราพอใจ 

Midlife Crisis ของคุณคืออะไร

เป็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านตัวตนจากมุมมองของคนอื่น เพราะตัวเองไม่มีปัญหา ตัวเรารู้ว่าอันนี้ยังชอบอยู่ อันนี้ยังทำได้อยู่ แต่บางทีคนอื่นมาสร้างความคาดหวังต่อคนในวัยนี้มากกว่า เขามีภาพว่าคนอายุสี่สิบต้องทำอะไร แล้วก็ตั้งคำถามว่า เราไม่ทำอย่างนั้นเหรอ

เรื่องอะไรที่โดนบ่อยๆ

เป็นแพตเทิร์น แต่งงานเหรอ แต่งงานแล้วมีลูกยัง พ่อแม่ว่าไง สำหรับเราชีวิตของทุกคนไม่มีสูตร อาจจะเป็นการเหมารวมมากกว่า ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันเป็นได้อีกหลายอย่างมาก หรือล่าสุด เราเป็นคนชอบดอกกุหลาบ ก็ปลูกกุหลาบที่บ้าน ขณะเดียวกันก็เล่นเซิร์ฟสเก็ต เพื่อนวัยเดียวกันก็มาแซวว่าวัยนี้ต้องปลูกดอกไม้อยู่บ้านแล้ว ซึ่งเราก็ปลูกดอกไม้อยู่บ้านนะ แต่เรายังชอบเล่นเซิร์ฟสเก็ตอยู่ ไปทะเลก็ไปเล่นเซิร์ฟ ไม่ได้เก่งอะไร แต่กูเล่นได้ กูก็เล่นเปล่าวะ (หัวเราะ)

ในกลุ่มเพื่อน ถ้าเพื่อนมีปัญหาเรื่องแฟน คุณจะเป็นคนที่ให้คำปรึกษาแบบไหน

เราเป็นคนที่เป็นกลาง ความคิดแบบผู้ชายอาจจะไม่ได้ดีกับผู้หญิงเสมอไป ในขณะเดียวกันความคิดแบบผู้หญิ๊งผู้หญิงก็อาจจะน่ารำคาญในบางที มันแล้วแต่เรื่อง เราจะมองกลางๆ ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ เขาอาจจะคิดแบบนี้ เธอก็ไม่ได้ผิด แต่ถ้าเธอทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ฉันว่าเขาจะรู้สึกไม่ดีและอาจจะเป็นแบบนี้ได้นะเว้ย ซึ่งฉันว่าเขาก็ไม่ควร เราจะไม่ใช่ตัวแทนความคิดแมนๆ แต่มองทั้งสองฝ่าย

แล้วถ้าเป็นเรื่องของตัวเองล่ะ

เอาเป็นว่าโตขึ้น เมื่อก่อนความเอาแต่ใจยังมี รู้นะว่าเหตุผลคือไม่ควร แต่ทำไมล่ะ ฉันจะทำ เธอต้องยอมสิ พอโตขึ้นมันมีความประนีประนอมมากขึ้น ถ้าถามว่าสิ่งที่มันต่างจากเวลาเราให้ความเห็นกับคนอื่นยังไง มันต่างที่ว่า ‘กูรู้สึก’ (หัวเราะ) 

จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์
จ๋า ณัฐฐาวีรนุช กับวิกฤตวัยเลข 4 ปริญญาเอกแสนโหด และชีวิตที่ ‘เกือบจะ’ เพอร์เฟกต์

ขอบคุณสถานที่ : Paco Bangkok

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล