Cornell University น่าจะเป็นชื่อที่พอคุ้นหูคนไทยอยู่บ้าง แต่หลายคน (เช่นตัวผู้เขียนเองก่อนที่จะได้มาเรียนที่นี่) อาจยังไม่ทราบว่าคอร์แนลเป็นมหาวิทยาลัยที่ต่างจากมหาวิทยาลัยไอวีลีก (Ivy League) หรือกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนเก่าแก่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง คือมีความ ‘บ้านนอก’ กว่าชาวบ้านชาวช่องเขาพอสมควร 

คอร์แนลตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ชื่อว่า อิธากา (Ithaca) ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก พอบอกว่าคอร์แนลอยู่รัฐนิวยอร์ก ญาติพี่น้องของผู้เขียนมักเข้าใจว่ามาเรียนที่นี่ ผู้เขียนคงมีชีวิตหรูหราฟู่ฟ่า เข้าไปเที่ยวนิวยอร์กซิตี้ เดินเล่นในไทม์สแควร์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แต่เอาเข้าจริง ผู้เขียนเรียนปริญญาเอกที่นี่เข้าปีที่ 4 แล้ว ได้เข้านิวยอร์กอย่างมากปีละครั้ง ไม่นับครั้งที่ไปเพราะต้องไปขึ้นเครื่องบิน เพราะสนามบินที่นี่เล็กมาก เที่ยวบินน้อย

เมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่ทราบว่าได้มาเรียนที่นี่ เคยคาดหวังว่าเมื่อเครื่องบินลงที่นิวยอร์กซิตี้ จะนั่งรถไฟหรืออะไรที่สะดวกสบายได้สักหน่อย ใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมงก็คงถึงแล้ว แต่ในความเป็นจริงต้องนั่งรถบัส (ที่คล้าย ๆ กับ บขส. บ้านเรา) 5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำกว่าจะมาถึงคอร์แนล เรียกได้ว่าถ้ากางแผนที่แล้วลากเส้นจากนิวยอร์กซิตี้ไปที่โตรอนโต เมืองสำคัญในแคนาดา อิธากาก็จะอยู่ตรงกลางพอดี

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

อิธากาเป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีมหาวิทยาลัย 2 – 3 แห่ง ทำให้ประชากรจำนวนมากของเมืองคือนักศึกษาทั้งชาวอเมริกันและชาวต่างชาติ บรรยากาศของเมืองตอนเปิดเทอมและปิดเทอมจึงแตกต่างกันมาก คล้ายๆ กรุงเทพฯ ช่วงวันธรรมดากับช่วงวันหยุดยาว ต่างกันแค่อิธากาไม่มีห้างอะไรให้ไปเดินเล่นอย่างกรุงเทพฯ มีแต่น้ำตก ภูเขา กับตลาดชาวสวน (Farmer’s Market) ให้ไปเดินเล่นแทน ประสบการณ์การเรียนเมืองนอกของผู้เขียนจึงต่างจากคนที่เรียนตามเมืองใหญ่ๆ คือเรียนมา 4 ปี มีเพื่อนมาเยี่ยมแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ตอนที่ COVID-19 เริ่มระบาดในประเทศอเมริกานั้น คนที่นี่ไม่ได้กังวลมากนัก เพราะเราไม่ใช่เมืองใหญ่ แถมยังกันดารถึงที่สุด หลายคนคิดว่าคงยากที่อิธากาจะมีผู้ติดเชื้อมากเท่ากับในเมืองใหญ่ๆ และน้อยคนมากที่คิดว่าคอร์แนลจะถึงขั้นปิดมหาวิทยาลัยเหมือนอย่างไอวีลีกอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่างมากก็แค่ประกาศไม่ให้เดินทางไปต่างประเทศหรือต่างเมือง

จนกระทั่งวันหนึ่งที่คอร์แนลตัดสินใจปิดมหาวิทยาลัย ย้ายการเรียนการสอนและการทำงานทุกอย่างไปออนไลน์ ตอนนั้นอิธากายังไม่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อเลยแม้แต่รายเดียว

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

“ขอให้ทุกคนกลับบ้านของตัวเองให้เร็วที่สุด”

คอร์แนลส่งอีเมลที่มีเนื้อความนี้ให้นักศึกษาทุกคนในวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2020 หลังจากเมื่อ 2 วันก่อนหน้า ประกาศว่าเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ต้นเดือนเมษายนจนกว่าจะจบเทอมกลางเดือนพฤษภาคม ประกาศใหม่นี้คือแทนที่จะให้เรียนในห้องเรียนตามปกติไปอีก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะถึงวันหยุดยาวประจำเทอม ให้ทุกวิชาหยุดการเรียนการสอน 3 อาทิตย์ แล้วเริ่มเรียนออนไลน์กันเต็มรูปแบบตามกำหนดเดิม

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

ช่วงหยุด 3 อาทิตย์นี้ ให้ทุกคนเก็บข้าวของกลับบ้านให้เร็วที่สุด นักศึกษาปริญญาตรีทั้งหอในหอนอกและนักศึกษาปริญญาโทที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรที่ต้องทำวิจัย ต้องออกจากมหาวิทยาลัยก่อนวันที่ 29 มีนาคม เว้นแต่จะกลับไม่ได้จริงๆ เช่น นักศึกษาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่างๆ แต่ถ้ากลับไม่ได้เพราะไม่มีเงินเดินทางกลับบ้าน มหาวิทยาลัยสนับสนุนเงินค่าเดินทางให้

ส่วนนักศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโทที่ต้องทำวิจัย ก็ยังอยู่ต่อไปได้เท่าที่จำเป็น แต่ให้เตรียมตัวว่าบริการต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยก็อาจจะปิดเหมือนกัน ส่วนอาจารย์และเจ้าหน้าที่ให้เตรียมตัว Work from home ได้เลย

ทำไมต้องกลับบ้าน

หลังจากประกาศครั้งแรกว่านักศึกษาต้องกลับบ้าน มีคำถามว่าทำไมคอร์แนลต้องทำถึงขนาดนี้ นักศึกษาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ก็อายุน้อย ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอะไร จำเป็นด้วยหรือที่ต้องส่งทุกคนกลับบ้าน 

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

อธิการบดีมหาวิทยาลัยก็ออกประกาศตอบคำถามว่า ถึงนักศึกษาจะไม่อยู่ในช่วงวัยที่โอกาสเสียชีวิตสูงเท่ากับช่วงวัยอื่นๆ แต่โปรดเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้มีแค่นักศึกษา แต่มีทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมถึงชาวเมืองอิธากาที่อายุมากหรือมีโรคประจำตัว เราทุกคนต้องช่วยเหลือกัน เพื่อปกป้องชุมชนที่กว้างกว่าแค่บริเวณมหาวิทยาลัยเท่านั้น

อีกคำถามคือ จะปลอดภัยกว่าไหมถ้าให้ทุกคนอยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ออกไปไหน ลดโอกาสติดเชื้อจากการเดินทางด้วย อธิการบดีอธิบายว่าก่อนตัดสินใจก็คำนึงถึงปัญหาข้อนี้ เพราะเข้าใจว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน สำหรับบางคนอาจปลอดภัยกว่าที่จะอยู่ที่นี่ แต่ก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยคือที่ที่มีคนรวมกันอยู่เยอะโดยธรรมชาติ มีคนเข้าออกมากและควบคุมได้ยาก ถ้ามีคนเป็นพันๆ ออกไปนอกเมืองช่วงวันหยุดยาว ไม่ว่าจะกลับบ้านหรือไปเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ จะมีกี่คนที่พาไวรัสกลับมาด้วย 

ก่อนที่ทุกอย่างจะควบคุมไม่ได้ คอร์แนลจึงเลือกส่งนักศึกษากลับบ้าน และลดจำนวนคนในพื้นที่ให้มากที่สุด

ปัญหาที่ตามมาคือส่งทุกคนกลับบ้าน แล้วทำอย่างไรต่อ…

เรียนออนไลน์

การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย วิชาที่มีแต่การบรรยาย อาจารย์อัดวิดีโอได้ แต่วิชาที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันจะทำอย่างไร ที่เมืองไทยอาจไม่มีปัญหานี้เท่าคอร์แนลซึ่งมีนักศึกษานานาเชื้อชาติ บ้านของนักศึกษาทั่วโลกอยู่ต่างไทม์โซนกัน คลาสบ่ายโมงที่อิธากาคือ 10 โมงที่แคลิฟอร์เนีย 6 โมงเย็นที่เยอรมนี เที่ยงคืนที่ไทย ตี 3 ตี4 ที่ออสเตรเลีย แถมหลายคนไปอยู่ประเทศที่ใช้โปรแกรมเรียนออนไลน์ไม่ได้ ไม่รู้จะสอนกันอย่างไรให้ทุกคนเรียนได้เต็มที่ทุกคน นี่รวมไปถึงการสอบวัดผลต่างๆ เวลา 3 อาทิตย์นี้จึงเป็นเวลาที่อาจารย์และผู้ช่วยสอนต้องคิดวางแผน ว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนออนไลน์นี้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ไม่ใช่ทุกวิชาที่เรียนออนไลน์ได้ วิชากีฬา วิชาทำอาหาร หรือวิชาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต้องประกาศยกเลิก การสอบว่ายน้ำที่นักศึกษาปริญญาตรีต้องสอบให้ผ่านเพื่อให้เรียนจบก็ต้องยกเลิกเหมือนกัน แล้วยังมีนักศึกษาอีกมากที่เรียนออนไลน์ไม่ได้ เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตที่บ้าน 

สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำหลังจากประกาศให้ทุกคนกลับบ้าน คือออกประกาศว่าถ้านักศึกษามีปัญหาในการเรียนออนไลน์ให้รีบติดต่อมา มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนเป็นอุปกรณ์หรือเงิน เพื่อให้ทุกคนเรียนออนไลน์ได้ทั่วถึง

ทำวิจัยอย่างไรถ้าไปห้องสมุดหรือห้องทดลองไม่ได้

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

งานของมหาวิทยาลัยไม่ได้มีแค่การสอนหนังสือ แต่ยังมีการวิจัยที่เป็นงานหลักอีกส่วนด้วย มหาวิทยาลัยปิดแบบนี้ ถึงอนุญาตให้คนที่ต้องทำวิจัยอยู่ต่อ แต่ห้องสมุดปิด การทดลองที่ต้องทำในห้องทดลอง หรืองานวิจัยที่ต้องทดลองกับมนุษย์ก็ต้องงดไปชั่วคราว เรื่องนี้มหาวิทยาลัยช่วยอะไรมากไม่ได้ นอกจากส่งอีเมลแนะนำว่าให้ทำสิ่งที่ทำในบ้านได้ไปก่อน เช่น เขียนบทความ วิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น หลายคนโชคดีที่ทำเช่นนั้นได้ แต่หลายคนที่อยู่ในขั้นเก็บข้อมูล ทดลอง หรือลงภาคสนามอย่างผู้เขียน ก็ต้องปรับแผนการทำงานกันไปตามสภาพ

ส่วนเรื่องห้องสมุด มหาวิทยาลัยพยายามให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลให้ได้ทางออนไลน์ ยกเว้นค่าบริการสแกนหนังสือ โชคดีที่ตอนนี้สำนักพิมพ์ต่างๆ ยอมให้เข้าถึง E-Book หรือบทความออนไลน์ได้ฟรีเป็นพิเศษในช่วงนี้ด้วย ซึ่งช่วยในการทำวิจัยแบบ Work from home ได้มากทีเดียว

ทำงานจากที่บ้าน

เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นประชากรสำคัญของมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสติดเชื้อได้เหมือนกับคนอื่น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับระบบทั้งหมดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านได้ มหาวิทยาลัยออกประกาศว่าพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อให้ทำงานที่บ้าน หรือถ้าเป็นงานที่ทำไม่ได้หากไม่ได้ไปแคมปัส มหาวิทยาลัยยังจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ นอกจากนี้ยังช่วยเหลือดูแลในกรณีที่ป่วยหรือมีคนที่บ้านป่วยด้วย 

คอร์แนลจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอิธากา

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

การปิดมหาวิทยาลัยอย่างกะทันหันแบบนี้ไม่ได้มีผลแค่กับคนในมหาวิทยาลัย แต่มีผลกับชุมชนรอบข้างด้วย อิธากาเป็นเมืองมหาวิทยาลัย เศรษฐกิจของเมืองขึ้นอยู่กับนักศึกษา ปกติมีช่วงเงียบเหงาซบเซาเฉพาะช่วงปิดเทอม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าช่วงปิดเทอมมาถึงเร็วกว่าที่คิด เมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์มหาวิทยาลัยจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้คอร์แนลให้การช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้ด้วย 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกอย่างในการส่งนักศึกษากลับบ้าน คือโรงอาหารของคอร์แนลจะมีอาหารเหลือและเจ้าหน้าที่ไม่มีงาน คอร์แนลจึงร่วมมือกับธนาคารอาหารของเมืองในการรวบรวม จัดเตรียม และแจกจ่ายอาหาร ให้ครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนในอิธากา

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

ความช่วยเหลือที่คอร์แนลมีกับเมืองยังรวมถึงโรงพยาบาลประจำเมืองอิธากา และโรงพยาบาลของคอร์แนลเองในนิวยอร์กซิตี้ด้วย ทุกคนคงทราบกันดีว่าตอนนี้นิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดในอเมริกา โรงพยาบาลเหล่านี้จึงเป็นเหมือนแนวหน้าในการควบคุมสถานการณ์ สำหรับโรงพยาบาล ชาวคอร์แนลและแล็บต่างๆ ในมหาวิทยาลัยที่ทำงานไม่ได้ในช่วงนี้ได้จัดหาและรวบรวมอุปกรณ์สำคัญไปแจกจ่าย เช่น หน้ากาก N95 หน้ากากผ้าทำเองจากอาสาสมัคร ถุงมือ ฯลฯ

ปลอดภัยไปด้วยกัน

สิ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามทำมาตลอดตั้งแต่เริ่มประกาศฉบับแรก คือทำให้ทุกคนรู้ข้อมูลทุกอย่างอย่างเร็วที่สุด มีอีเมลส่งมาแทบทุกวันเกี่ยวกับสถานการณ์และการตัดสินใจต่างๆ มีเว็บไซต์เฉพาะสำหรับประกาศที่เกี่ยวกับ COVID-19 และมีบริการสนับสนุนทุกคนและทุกเรื่องที่เป็นไปได้ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพจิต ออกประกาศให้ความเชื่อมั่นต่างๆ และให้ข้อมูลศูนย์สุขภาพจิตที่โทรติดต่อได้ตลอดเวลา

หรือถ้ากังวลเรื่องติดโรค ฝ่ายสุขภาพของมหาวิทยาลัยก็ออกประกาศยืนยันว่าประกันสุขภาพที่รวมอยู่ในค่าเทอมนั้นรวมการตรวจโรค COVID-19 และครอบคลุมค่ารักษาส่วนหนึ่งด้วย

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

สำหรับเรื่องการบ้านของนักศึกษา มหาวิทยาลัยออกประกาศชัดเจนว่า อาจารย์ห้ามสั่งการบ้านในช่วง 3 อาทิตย์ที่เราหยุด และห้ามสั่งให้นักศึกษาส่งการบ้านทันทีที่เปิดเรียนออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาได้เตรียมตัวกลับบ้านอย่างเต็มที่ งานรับปริญญาตอนนี้ก็เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่มหาวิทยาลัยยืนยันชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ และจะต้องเป็นงานที่ทุกคนได้มีความสุขเฉลิมฉลองร่วมกันได้แน่นอน ขอให้ไม่ต้องกังวลไป

มาวันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อในคอร์แนล 2 คน ในเมืองอิธากา 70 คน คอร์แนลได้ส่งอีเมลหาทุกคนในมหาวิทยาลัยเพื่อแจ้งข่าว ไม่ต้องรอให้ทุกคนไปหาอ่านจากสำนักข่าวอื่นๆ เอง

มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา
มาตรการดูแลนักศึกษาของมหา’ลัย Ivy League กลางวิกฤต COVID-19 ในอเมริกา

สถานการณ์ที่นี่อาจไม่หนักหนาเท่ากับที่อื่นในโลก การจัดการของคอร์แนลก็อาจไม่ได้สมบูรณ์เรียบร้อยเท่ากับอีกหลายๆ ที่ ทั้งยังฉุกละหุกมากจนแทบเตรียมการไม่ทัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามหาวิทยาลัยพยายามเต็มที่ เพื่อทำให้ทุกคนรับรู้ข้อมูลทุกอย่าง ทุกขั้นตอน ทุกการตัดสินใจ และอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน 

ไม่ใช่เพียงแต่นักศึกษา แต่รวมถึงอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และชาวเมืองรอบๆ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ที่ที่คนมาหาความรู้ แต่เป็นสังคมหนึ่งที่ต้องดูแลกันและกันด้วย

อธิการบดีได้ทิ้งท้ายไว้ในอีเมลฉบับล่าสุดว่า 

“We’re in a marathon now, not a sprint. It’s going to be a long time before things return to normal. For now, it’s one step after another. It’s remembering to be kind: to our families, and to those with whom we study and learn. It’s staying together as a community, even when we’re physically apart. And it’s being creative and resourceful in finding ways to connect, ways to encourage each other and ways to find joy in these difficult days.”

“ขณะนี้เรากำลังวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น อีกนานกว่าทุกอย่างจะกลับสู่สภาวะปกติ ในตอนนี้ คือการไปทีละก้าว คือการไม่ลืมที่จะใจดีต่อครอบครัวของเรา ต่อคนที่เราเรียนด้วย คือการอยู่ด้วยกันเป็นชุมชน แม้ในตอนที่ตัวเราไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ตาม และคือการมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะหาทางติดต่อ ทางให้กำลังใจกันและกัน และทางหาความสุขในวันที่ยากลำบากนี้”

ป.ล. สำหรับเพื่อนและญาติพี่น้องที่อ่านอยู่ ไม่ต้องเป็นห่วง ผู้เขียนยังไม่กลับประเทศไทย แม้เข้าไปทำงานในมหาวิทยาลัยไม่ได้ก็ตาม เพราะไม่ว่ามีโรคระบาดหรือไม่ ผู้เขียนก็กักตัวทำงานวิจัยที่บ้านเป็นปกติอยู่แล้ว ชีวิตไม่เปลี่ยนแปลงจนเดือดร้อนหนักแต่อย่างใด ที่เดือดร้อนสักหน่อยคือขณะนี้สินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะกระดาษชำระในห้องน้ำ หมดสต็อกแม้แต่ในร้านออนไลน์อย่าง Amazon ถ้าเพื่อนและญาติพี่น้องต้องการช่วยเหลือช่วยส่งมาให้ผู้เขียนด้วย

Writer

Avatar

สิรีมาศ มาศพงศ์

นักเรียนภาษาศาสตร์ งานคืออ่านเอกสารเก่าและตามอัดเสียงคนตามที่ต่าง ๆ ชอบแมว แต่ที่หอเลี้ยงแมวไม่ได้

Photographer

Avatar

อรวรา ตริตระการ

เด็กกรุงเทพฯ ที่เพิ่งผันตัวมาเป็นคนชอบฟังเสียงน้ำตกและเฝ้ามองหานกบนต้นไม้เมื่อย้ายมาอยู่เมืองอิธากา