โบกี้รถไฟสีแดงของ JR Kyushu สาย Hisatsu Line ค่อยๆ พาเราลัดเลาะเลียบแม่น้ำคุมะกะวะ จากสถานียัตสึชิโระไปยังสถานีฮิโตโยชิ จากที่นั่นเราจะเดินทางต่อด้วยรถยนต์เพื่อไปหมู่บ้านในหุบเขาแห่งหนึ่งในจังหวัดคุมาโมโตะบนเกาะคิวชู หมู่บ้านนี้มีแม่น้ำคาวาเบะไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ที่นั่นมีชาวบ้านรอพวกเราอยู่

เราเลือกรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปยังหมู่บ้าน เหตุผลไม่ซับซ้อนอะไร แค่เพราะเรารักการเดินทางโดยรถไฟ ชอบมองภาพเคลื่อนไหวของภูเขา แม่น้ำ ทะเล ผ่านกรอบหน้าต่างเก่าๆ ของรถไฟไทย ภาพมัวๆ ของท้องนาผ่านหน้าต่างเปียกฝนของรถไฟอินเดีย เมื่อมีตัวเลือกระหว่างการขับรถมุ่งตรงเข้าหมู่บ้านเลย กับการนั่งรถมาขึ้นรถไฟและนั่งรถเข้าหมู่บ้านอีกรอบ เราจึงไม่รีรอที่จะบันทึกตารางรถไฟไว้ในตารางการเดินทางครั้งนี้

Itsuki ญี่ปุ่น

ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมขบวนหัวใจพองโตแค่ไหน แต่หัวใจฉันอมยิ้มไปตลอดเส้นทาง แอบนึกขอบคุณ คุณเอจิ มิโตะโอะกะ (“ผู้เปลี่ยนรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุข”-ข้อความจากกระดาษหน้าแรกของหนังสือ ทางรถไฟสายดาวตก) ไปกับคุณก้อง แม้จะไม่มั่นใจนักว่ารถไฟขบวนที่นั่ง คุณมิโตะโอะกะได้เป็นผู้ออกแบบหรือเปล่า และเห็นด้วยทุกประการกับข้อความในหนังสือ “รถไฟไม่ได้เป็นแค่ยานพาหนะที่ให้บริการขนส่ง แต่ยังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการมอบความสุขและความสนุกระหว่างการเดินทางให้กับผู้โดยสาร” ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่เป็นเพื่อนเดินทางไปกับพวกเราบนโบกี้รถไฟด้วย 

  ผู้โดยสารที่จับจองที่นั่งอยู่บนรถไฟทั้งหมดคือชาวญี่ปุ่น ไม่แน่ใจนักว่าพวกเขาเป็นนักท่องเที่ยวเหมือนพวกเรา หรือเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่พวกเขาเดินทางไปกลับกันเป็นประจำ เสียงหัวใจของพวกเราทุกคนเต้นดังโครมครามตั้งแต่เริ่มก้าวเท้าขึ้นไปบนโบกี้ แน่นอนว่าอาการนี้เกิดขึ้นเพราะได้ขึ้นรถไฟขบวนนี้ แต่หัวใจของทุกคนเต้นหนักมากกว่าที่ควร เพราะเพิ่งวิ่งมาจากร้านกาแฟ Cafe Mic เพื่อให้ถึงสถานีทันเวลารถไฟออกเดินทาง

Itsuki ญี่ปุ่น

พวกเราระงับอาการตื่นเต้นและปิดวาจาทันทีที่เห็นกิริยาสำรวมของผู้โดยสารคนอื่น ต่างคนต่างหาที่ยืนส่วนตัวเพื่อเฝ้าดูภาพเคลื่อนไหวของภูเขาและแม่น้ำที่สวยที่สุดผ่านกระจกใสๆ ของรถไฟญี่ปุ่น เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งบนรถไฟนั้นนานพอสำหรับการทานอาหารที่เราเลือกซื้อมาจากร้านแห่งหนึ่ง แต่ฉันเลือกหยิบเอาลูกพลับออกมาเป็นอาหารกลางวันแทนเบนโตะในถุง เพราะยังไม่อยากละสายตาไปจากภาพเคลื่อนไหวของภูเขาลูกแล้วลูกเล่า และยังอยากเฝ้าดูสถานีระหว่างทางทุกสถานี

พูดถึง Cafe Mic แล้วก็อยากเล่าต่อ คาเฟ่มิคเป็นร้านกาแฟของ คุณอากิระ อิซึมิ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงของยัตซึชิโร เขาเกิดและเติบโตที่นี่ แต่ย้ายออกไปเพื่อเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาพร้อมภรรยาเพื่อเปิดคาเฟ่ในปี 1967 ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ ดนตรี และกาแฟดีๆ เดิมทีที่นี่เคยเป็นร้านกิโมโนเก่าของคุณพ่อ คุณอากิระมักจะเปิดเพลงแจ๊สที่เขาชื่นชอบให้ลูกค้าในร้านฟังเป็นประจำ หลังจากภรรยาเสียชีวิตลง ลูกสาวของเขาก็มาช่วยพ่อดูแลร้าน ที่นี่มักจะเป็นที่จัดนิทรรศการของศิลปินและอีเวนต์ต่างๆ อยู่เสมอ ช่วงที่เราแวะไปมีนิทรรศการผ้าทอเล็กๆ แสดงอยู่ในร้านด้วย

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

การต้อนรับอย่างอบอุ่นที่สถานีฮิโตโยชิ

ทันทีที่เราก้าวเท้าออกจากสถานีฮิโตโยชิ การแสดงหุ่นกระบอกบนหอนาฬิกาสูงหน้าสถานีก็เริ่มขึ้น ไม่มีใครรีบร้อนไปไหน ต่างหามุมเหมาะๆ ของตัวเองแหงนดูการแสดงนี้ให้ถนัด แอบคิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 5 ปี และมีโอกาสขึ้นรถไฟไปลงที่สถานีนี้พร้อมปั้น บุญ เอม เซบ และเพื่อนๆ บ้านเรียน ฉันคงได้เห็นภาพเด็กๆ อ้าปากค้างยืนตาโตเฝ้าดูการแสดงอย่างตื่นเต้น ดีใจแทนเด็กๆ ทุกคนที่มีโอกาสขึ้นรถไฟมาลงที่สถานีนี้

หอนาฬิกานี้ได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทฮิโตโยชิ จำลองเป็นปราสาท 3 ชั้น มีตัวแสดงหุ่นกระบอกทั้งหมด 17 ตัว จะออกแสดงพร้อมกับเสียงเพลงพื้นเมืองของเมืองคุมะโดยมีการตั้งเวลาไว้ล่วงหน้า ตัวแสดงสำคัญมีโชกุน เด็กหญิงในชุดกิโมโน และการแสดงการตีกลองที่เรียกว่า ‘อุสุไดโกะ’ (Usudaiko) การตีกลองแบบนี้สมัยก่อนจะทำกันยามออกศึกเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ปัจจุบันเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่แสดงกันทั่วทุกพื้นที่ในคุมาโมโตะ

พระจันทร์ก็มาต้อนรับ

จากสถานีฮิโตโยชิเราเดินทางต่อเข้าหมู่บ้านอิตซึกิด้วยรถยนต์ 2 คัน โดยมีสารถีกิตติมศักดิ์ 2 คน คนหนึ่งคือ ยูจัง ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของการเดินทางครั้งนี้ ความจริงจังจริงใจของเธอทำให้พวกเราผลัดกันน้ำตาไหลเป็นระยะๆ ระหว่างการเดินทางตลอดทริป ฉันนัดเจอยูจังครั้งแรกที่เมืองไทยเพื่อวางแผนการเดินทางครั้งนี้ แต่ดูเหมือนเราจะรู้จักกันมานานแรมปีก่อนเจอหน้ากันผ่านคำบอกเล่าของอุ๊เพื่อนของฉันและของเธอ ยูจังมีลูกสาวชื่อมี้จัง ทำงานเป็น NGO รักหมู่บ้านอิตซึกิและชาวบ้านที่นี่ราวกับเป็นบ้านเกิดของเธอ

Itsuki ญี่ปุ่น

สารถีกิตติมศักดิ์ของพวกเราอีกคนคือ อากิเอะซัง พี่สะใภ้ของยูจัง ทุกคนเรียกเธอว่าพี่อากิเอะ ดูเหมือนเธอจะเข้าใจว่ามันเป็นคำเรียกที่แสดงความเคารพรักและเอ็นดูไปพร้อมๆ กัน พี่อากิเอะเป็นพยาบาลและเลือกทำงานในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเฉพาะที่เป็นโรคเรื้อน เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลถูกถ่ายทอดให้เราฟังระหว่างการเดินทาง เรื่องเศร้าที่เราได้รับรู้เรื่องหนึ่งคือลูกหลานของผู้ป่วยบางคนต้องเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลเพื่อให้มีที่ยืนในสังคม 

รถยนต์ 2 คันแล่นไปตามถนนเลียบแม่น้ำที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาและภูเขาในคืนที่พระจันทร์สวยที่สุดคืนหนึ่ง ฉันแอบขอบคุณพระจันทร์คืนนั้นที่ออกมาช่วยส่องแสงนำทางพาเราเดินทางเข้าหมู่บ้านอย่างปลอดภัย เราช่วยกันนึกถึงบทเพลงเกี่ยวกับดวงจันทร์ นึกออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่ก็นำพามาซึ่งบทสนทนาที่เข้ากับบรรยากาศการเดินทางท่ามกลางแสงจันทร์นวลเช่นนี้

หมู่บ้านกลางหุบเขา

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

‘อิตซึกิ’ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ทางใต้ของจังหวัดคุมาโมโตะ ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร มีธรรมชาติทั้ง 4 ฤดูที่สวยงาม มีประชากรจำนวนพันกว่าคน มีแม่น้ำคาวาเบะไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่บอกว่า คาวาเบะเป็นแม่น้ำที่สะอาดที่สุดสายหนึ่งของประเทศ ปลาที่จับได้จากแม่น้ำนี้จึงเป็นปลาที่สะอาดมากเช่นกัน หมู่บ้านแห่งนี้ผ่านการต่อสู้และการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ หลังจากรัฐบาลมีนโยบายการสร้างเขื่อนและต้องการอพยพทั้งหมู่บ้านไปที่อื่น

ยูจังเคยเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ครั้งนั้น เธอเล่าให้เราฟังถึงชายชราในหมู่บ้านคนหนึ่งที่ยืนกรานไม่ยอมย้ายออกจากผืนดินของตนเพราะบอกว่าตนเป็นชาวไร่ชาวนา ผืนดินของแกคือชีวิตของแก นโยบายการสร้างเขื่อนของรัฐบาลยุติลงไปแล้ว ยูจังยังทำหน้าที่ของเธอต่อไป เพื่อให้ชาวบ้านมองเห็นว่าวิถีชิวิตที่ดำเนินกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ชีวิตท่ามกลางหุบเขา แม่น้ำ มีผืนดินบริสุทธิ์ให้ปลูกผัก ปลูกข้าว มีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีลำธารใสที่มีปลาขึ้นมาวางไข่ เป็นวิถีชีวิตที่งดงาม เธอทำงานร่วมกับกลุ่ม Green Tourism Association เพื่อเริ่มต้นทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และนำนักท่องเที่ยวที่เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตของชาวอิตซึกิเข้ามาทำความรู้จักหมู่บ้าน

Itsuki ญี่ปุ่น

Miyazono no Oyado เกสต์เฮาส์อายุกว่า 100 ปี 

 เรามาถึงหมู่บ้านกลางดึก ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างปิดไฟเข้านอนกันเงียบสนิท คืนนี้และทุกคืนในหมู่บ้านเราจะนอนในบ้านไม้ชั้นเดียวอายุกว่าร้อยปีหลังนี้ บ้านหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมและเปิดเป็นเกสต์เฮาส์สำหรับนักท่องเที่ยวเมื่อปี 2011 มีห้องพื้นเสื่อ (Tatami) 3 ห้อง และห้องพื้นไม้ 2 ห้อง กรอบประตูไม้บุด้วยกระดาษสาทำหน้าที่แบ่งสัดส่วนระหว่างพื้นที่ห้องนอนและห้องกลางของบ้าน สามารถถอดเข้า-ถอดออกได้หากต้องการเพิ่มพื้นที่ห้องรับแขกให้กว้างขึ้น

Itsuki ญี่ปุ่น

พื้นที่กลางห้องพื้นไม้ห้องหนึ่งเป็นที่ผิงไฟ มีไม้ล้อมรอบ 4 ด้าน ตรงกลางเป็นที่ใส่ถ่านสำหรับย่างมัน ย่างปลา ด้านบนมีที่แขวนกาน้ำ ในยามอากาศหนาวๆ บริเวณนี้จะเป็นที่ที่ทุกคนนั่งล้อมวงเพื่ออาศัยความอบอุ่น ดื่มซุปจากโซบะร้อนๆ หรือนั่งล้อมวงจิบสาเกอุ่นๆ

ที่นี่ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ในค่ำคืนที่หนาวเหน็บปลายฤดูใบไม้ร่วงเช่นนี้ น้ำอุ่นเป็นสิ่งจำเป็นนัก เจ้าของบ้านได้จุดฟืนในเตาไว้ต้อนรับพวกเรา ความร้อนจากเตาฟืนด้านนอกจะช่วยให้น้ำในอ่างซีเมนต์ทรงสี่เหลี่ยมภายในห้องอาบน้ำอุ่นตลอดเวลา ทุกคนตื่นเต้นกับบรรยากาศในบ้านจนเก็บเรื่องการอาบน้ำไว้เป็นธุระสุดท้ายของคืนนั้น 

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

ที่นี่เราทำอาหารทานกันเอง และมีชาวบ้านมาสอนทำเส้นโซบะ ถ้าใครอยากจะแช่ออนเซนก็สามารถขับรถไปเพียง 10 นาที แต่พวกเราบางคนแอบเขิน จึงเลือกที่จะอาบน้ำที่บ้านหากมีคนจุดเตาฟืนอุ่นน้ำไว้ให้ แต่คืนใดเรากลับบ้านกันดึก น้ำในอ่างซีเมนต์ก็เย็นยะเยือกเกินกว่าจะทำใจได้ 

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

“ไปเก็บส้มยูสุกัน”

“ไปเก็บส้มยูสุที่ญี่ปุ่นกัน”  นี่คือประโยคสั้นๆ ที่ฉันใช้ชวนเพื่อนไปเที่ยวญี่ปุ่น ไม่นานก็มีเพื่อนตัดสินใจร่วมเดินทางไปเก็บส้มยูสุด้วยกันหลายคน นอกเหนือจาก ‘อุ๊’ เพื่อนยูจังผู้เป็นธุระประสานงานในทุกเรื่อง ฉันมีเพื่อนร่วมเดินทางไปอีก  4 คน ‘จ๋า’ สาวเพชรบูรณ์ที่เลือกสืบทอดภูมิปัญญาของแม่ด้วยการทำผ้านวมอินทรีย์ขาย ‘อ้อม’ หญิงสาวที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นแอร์ แต่มีความสุขที่สุดกับการสอนศิลปะเด็กๆ และเป็นตากล้องประจำทริปนี้

‘ปุ๋ย’ อดีตแอร์หัวใจออร์แกนิกผู้รักการทำอาหารพอๆ กับการดูแลสุขภาพ และ ‘หลิน’ ผู้ตัดสินใจร่วมเดินทางกับพวกเราในวินาทีสุดท้าย เธอเลือกเดินออกจากชีวิตที่วุ่นวายในกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตท่ามกลางป่าเขากับครอบครัว และย้อมผ้าอยู่ที่นั่น พวกเราล้วนแตกต่างทั้งอายุ อาชีพ และไม่ได้เป็นเพื่อนจากสถาบันใด แต่ทุกคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน พวกเรามีหัวใจที่เปิดกว้างพร้อมน้อมรับเรียนรู้จากชาวบ้านด้วยความเคารพ

เช้าแรกในหมู่บ้านหลังแวะไปเยี่ยมแม่น้ำหน้าบ้านและแอบชื่นชมแปลงหัวผักกาดยักษ์แปลงใหญ่ของชาวบ้าน เราออกเดินทางไปเก็บส้มยูสุเพื่อเตรียมไว้ทำแยมในวันรุ่งขึ้น

Itsuki ญี่ปุ่น

ยูจังและพี่อากิเอะพาเราเดินทางไปพบมิซึโกะซัง เจ้าของฟาร์มเห็ดชิตาเกะในหมู่บ้าน วันนี้มิซึโกะซังจะเป็นคนพาเราเก็บส้ม ต้นส้มยูสุที่นี่ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามไหล่เขา ต้นส้มสูงเต็มไปด้วยลูกสีเหลืองสุกเต็มต้น แต่ก็เต็มไปด้วยหนามแหลม การเก็บส้มด้วยมือเปล่าแม้จะเอื้อมถึงจึงเป็นไปไม่ได้เลย เราต้องใช้เครื่องมือที่มิซึโกะซังเตรียมไว้ให้

กว่าพวกเราจะคุ้นชินกับเครื่องมือเก็บส้ม ส้มยูสุเหลืองๆ จำนวนมากก็กลิ้งหลุนๆ หล่นไหล่เขาไปแบบหาทางเก็บกลับมาไม่ได้ เราได้ส้มครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว และคืนนี้เราจะแวะไปที่ห้องเรียนเพื่อเตรียมหั่นส้มไว้สำหรับการทำแยมครั้งสำคัญในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับกินแกงกวางที่ชาวบ้านตั้งใจเตรียมไว้ให้ ที่นี่ชาวบ้านล่ากวางกินกันเพราะประชากรกวางมีมากเกินไป เป็นเรื่องเดียวจริงๆ ตลอดทริปที่ไม่อยากทำเลยยยยย… กินกวาง

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

 

ทำแยมในห้องเรียนกลางเขา

จะว่าไปแล้วห้องเรียนทำแยมของพวกเราสวยที่สุดจริงๆ ห้องเรียนที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา

การทำแยมวันนั้นดูจะสำคัญมากอยู่ เพราะมีรายการทีวีและหนังสือพิมพ์หลายฉบับมารอถ่ายภาพ และสัมภาษณ์ แม้จะรู้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของ Green Tourism Association ของหมู่บ้าน แต่พวกเราต่างยินดีให้ความร่วมมือเพื่อแสดงความขอบคุณยูจังและชาวบ้านทุกคน ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าให้ผู้คนรับรู้ว่าวิถีชีวิติเรียบง่ายของพวกเขาน่าสนใจเพียงไร

Itsuki ญี่ปุ่น

การทำแยมโฮมเมดจบลงด้วยการบรรจุลงขวด ลงถุง เพื่อเตรียมไว้สำหรับนำกลับเมืองไทย ขอบคุณฮิโตมิซังที่ถ่ายทอดวิธีการทำแยมให้พวกเราอย่างละเอียด ภารกิจหลักของการเดินทางจบลงในวันนั้น แต่การเดินทางยังไม่จบลง หมู่บ้านอิตซึกิยังมีเรื่องราวมากมายรอพวกเราอยู่

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

Otaki Natural Forest Park

Itsuki ญี่ปุ่น

ทาดาชิซังพาเราเดินไปตามเส้นทางเดินป่า เลียบลำธารสายเล็กที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำคาวาเบะ แม่น้ำที่หล่อเลี้ยงหมู่บ้านอิตซึกิ ระหว่างทางทาดาชิซังแนะนำให้เรารู้จักเฟิร์นและต้นไม้ชนิดต่างๆ ที่พบในป่า เราได้รู้จักต้นคุโรโมจิ ต้นไม้สีดำที่นำไปทำไม้จิ้มขนมในพิธีชงชา ต้นโฮโนกิ (แมกโนเลียญี่ปุ่น) ที่สามารถนำเนื้อไม้ไปทำแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์งานศิลปะ และใบโฮบะใช้ห่ออาหารในหลายเมนู เช่น โฮบายากิ เห็ด Monkey Chair อายุกว่าร้อยปีมีสรรพคุณเป็นยา ดอกคามิเลียที่สามารถนำเมล็ดมาสกัดน้ำมันเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางสำหรับดูแลผมและผิวพรรณ

Itsuki ญี่ปุ่น

เราพบคามิเลีย 2 ชนิดคือ ซาซังก้าและซือบากิ ดอกซาซังก้าจะบานช่วงเดือนพฤศจิกายน และซือบากิจะบานช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ดอกซือบากิเป็นดอกไม้ประจำหมู่บ้านเวลาร่วงจะร่วงทีเดียวพร้อมกันทั้งดอก ขณะที่ซาซังก้าจะร่วงลงพื้นทีละกลีบ ในป่าเต็มไปด้วยดอกซึบากิที่กำลังเริ่มผลิดอกตูมพร้อมบานเต็มต้นในไม่ช้า ช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนปลายามาเมะจะขึ้นมาวางไข่ในลำธารใส ปลาตัวผู้จะเป็นคนเลือกตำแหน่งวางไข่และทำความสะอาดทรายบริเวณนั้นให้ขาวสะอาด รอให้ตัวเมียมาวางไข่ไว้ใต้ผืนทรายและจากไป และหลังจากนั้นปลาตัวผู้จึงจะมาปล่อยเชื้อให้ผสมกับไข่ของตัวเมีย

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

“เราดื่มน้ำในลำธารได้ไหม” น้องคนหนึ่งถาม

 “ได้สิ น้ำที่นี่สะอาดมาก” 

น้ำในลำธารรสชาติดีกว่าน้ำในขวดมาก เราจึงตัดสินใจเทน้ำในขวดทิ้งและกรอกน้ำในลำธารพกเก็บไว้แทน

Handmade Acorn Gallery Cafe

Itsuki ญี่ปุ่น

Itsuki ญี่ปุ่น

 ซูจิซังและภรรยาย้ายจากฮิโตโยชิมาทำ Gallery Cafe ในหมู่บ้านนานหลายปีแล้ว ซุจิซังเป็นศิลปินทำงานปั้นโดยใช้ดินในหมู่บ้านสร้างงาน ถ้าดินที่ใช้มีเหล็กมากเซรามิกที่เผาออกมาจะมีสีเทาเข้ม ถ้ามีเหล็กน้อยก็จะได้เซรามิกสีน้ำตาล ดินสีขาวที่ซูจิซังใช้สร้างลวดลวยดอกบ๊วย ดอกซือบากิ และลวดลายอื่นๆ บนถ้วยกาแฟ ถ้วยชา แจกัน กาน้ำชา ที่คั่วกาแฟและชิ้นงานอื่นๆ เป็นดินจากริมทะเล ใกล้กับคูมาโมโตะ เห็นได้ชัดว่าลวดลายส่วนใหญ่บนงานของซูจิซังได้แรงบันดาลใจต้นไม้ดอกไม้ในหมู่บ้าน

Itsuki ญี่ปุ่น

เค้กอร่อยที่นี่เป็นฝีมือของมาซาโกะซังภรรยาของซูจิซัง หนึ่งในเมนูอร่อยทำจากส้มคึเนะบุ ซึ่งเป็นส้มท้องถิ่นของหมู่บ้าน เมื่อถึงฤดู พวกเขาจะเก็บส้มมาทิ้งไว้ให้ลืมต้นนานหลายสัปดาห์ ก่อนนำมากวนเป็นแยมถนอมเก็บไว้ใช้ตลอดปี พวกเขาเเลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ในหมู่บ้านมาทำขนม ทำภาชนะ นอกเหนือจากแยมส้ม เรายังเห็นแยมที่ทำจากเบอร์รี่ป่าที่หาได้ในหมู่บ้านวางขายอยู่ในร้าน ถ้วยกาแฟจับถนัดมือฝีมือซูจิซังจากดินในหมู่บ้าน จานรองไม้ ช้อนคนจากเศษไม้ที่หาได้ในป่า นี่คือเสน่ห์ของร้าน ขอบคุณยูจังอีกครั้งที่พาเราไปที่นี่ในบ่ายวันนั้น

อยากดูดาวที่บ้านเก่า 80 ปี เอนกาวะ

เอนกาวะ (Engawa) มีความหมายว่า ระเบียงบ้าน บ้านหลังนี้เป็นของชาวบ้านในหมู่บ้านคนหนึ่ง หลังจากที่เธอเสียชีวิตลงก็กลายเป็นบ้านร้าง ลูกชายของเจ้าของบ้านใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ตัดสินใจยกบ้านหลังนี้ให้กับหมู่บ้าน กลุ่มชาวบ้านนำโดยโยตะกะซังได้บูรณะบ้านหลังนี้เพื่อเตรียมเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆ ที่นี่มีพิซซ่าที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นขาย ใช้น้ำต้มชาจากน้ำแร่ธรรมชาติที่ได้จากภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร และจะเป็นจุดชมดาวที่สวยมาก

เราไปที่นั่นเพื่อทานอาหารกลางวัน บนโต๊ะมีอาหารจานเล็กจานน้อยวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ บ้างก็อยู่ในกล่อง มีป้ายชื่อคนทำวางอยู่ข้างๆ พอทานเสร็จคานะจังก็นำของที่ระลึกที่ทุกคนที่นี่ช่วยกันทำ เป็นโอริกามิรูปต่างๆ ที่ใส่ถุงพร้อมติดชื่อพวกเราทุกคนไว้มาให้ คานะจังเป็นผู้ดูแลที่นี่อีกคน เป็นอาสาสมัครทำงานให้กับหมู่บ้าน ตอนเด็กๆ เธอกลับมาเยี่ยมคุณปู่คุณย่าและคุณตาคุณยายที่นี่ในช่วงปิดเทอมบ่อยครั้ง และเมื่อคุณพ่อของเธอตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่หมู่บ้าน คานะจังจึงตามกลับมาทำงานช่วยชุมชนที่นี่

HISTORIA TERRACE ITSUKIDANI

ที่นี่เป็นที่แสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ของหมู่บ้านอิตซึกิ เราชื่นชอบการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ของชาวบ้านที่จัดแสดงเป็นแนวตั้งมาก เพราะใช้พื้นที่ไม่มากแต่ทำให้นิทรรศการน่าสนใจ เราสามารถทานอาหารและชาในคาเฟ่เล็กๆ ในนี้ได้ Kinai Cafe ขายอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากหมู่บ้าน น่าเสียดายที่เราไปถึงที่นั่นเกินเวลาอาหารกลางวันแล้ว

Itsuki ญี่ปุ่น Itsuki ญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีห้อง Kodomo Kan สำหรับให้คุณแม่พาลูกน้อยมาเล่น ภายในห้องมีบ่อลูกบอลไม้ บ้านไม้ ร้านค้าจำลอง และของเล่นไม้อื่นๆ ที่แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเราเมื่อหลงเข้าไปในห้องนี้ก็ใช้เวลาอยู่ในนั้นเป็นชั่วโมง ติดกับห้องของเล่นมีมุมห้องสมุดเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยหนังสือที่คนในหมู่บ้านสามารถยืมกลับไปอ่านได้ ที่นี่อยู่ใกล้กับโรงเรียน เราจึงได้เห็นภาพเด็กๆ มานั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้านกัน ภายในบริเวณห้องสมุดนี้ นอกจากนี้ก็มีมุมให้ฟังเพลง Itsuki Lullaby กันแบบเพลินๆ จนอาจเผลอหลับไปได้

สื่อสารกันด้วยงานฝีมือ อาหาร เพลงการ์ตูน และการเต้นรำ

Itsuki ญี่ปุ่น

เราจัดงานเลี้ยงที่ Miyazono บ้านร้อยปีที่เราพักเพื่อทำความรู้จักชาวบ้านให้มากขึ้น และเพื่อเป็นการเลี้ยงขอบคุณทุกคนก่อนจะเดินทางกลับ ทุกคนที่เราได้พบก่อนหน้านั้นจะมาเจอกันอีกครั้งในคืนนี้  ยูจังขอให้พวกเราเตรียมรูปและพูดถึงสิ่งที่พวกเราทำที่เมืองไทยเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้าน เราจัดมุมคราฟต์เล็กๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว มีผ้านวมเย็บมือ กระเป๋าจากผ้าที่ย้อมด้วยสีจากป่าหลังบ้าน เสื้อผ้าที่ตัดเย็บและออกแบบจากลายผ้าพิเศษ พร้อมทำเมนูอาหารไทยอย่างผัดไทย แกงเขียวหวาน ส้มตำ และ ต้มยำที่เลือกใช้ส้มยูสุแทนมะนาว

ชาวบ้านรวมทั้งเพื่อนๆ ในกลุ่ม Green Tourism Association กว่า 30 คนมาเจอกันในคืนนั้น ทุกคนนำเมนูโฮมเมดอย่างเกาลัดต้มน้ำตาล เต้าหู้ทอดกับน้ำซุปเห็ด หน่อไม้ป่าดองเกลือผัดไข่ สาเกหมักน้ำตาลทรายแดงอายุ 2 ปี วาราบิที่เก็บในเดือน 5 ผัดกับมายองเนสใส่พริกนิดหน่อย ชาวบ้านบอกว่ากินกับเหล้าสาเกอร่อยมาก เห็ดฮิตาเกะทอด ถั่วแดงโมจิ หัวผักกาดปลูกเองดองเกลือกับน้ำส้มยูสุ โกบุดองกับยูสุ ปลาอายุจากแม่น้ำคาวาเบะ มาพร้อมบอกเล่าความพิเศษของอาหารของพวกเขา 

Itsuki ญี่ปุ่น

เพลงในการ์ตูนอย่าง โดราเอมอน, อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา ที่ร้องได้จนขึ้นใจตั้งแต่เด็ก เป็นเครื่องมือที่เราใช้สื่อสารและเชื่อมโยงกันได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และทำให้ทุกคนเป็นอิสระจากข้อจำกัดทางภาษา

ภาพการเต้นรำแบบญี่ปุ่นและการรำวงแบบไทยๆ ของทุกคนในคืนนั้นยังทำให้ฉันอมยิ้มได้ทุกครั้งที่นึกถึง

とってもうれしいです(^-^)

あなた達が帰ったあと、グループみんなで近い将来あなた達に会いに行こうと決めました。

私の子供がタイに6人も出来たと思っています ❤️

นี่คือข้อความจากคุณแม่ฮิโตมิที่ส่งมาหาอ้อมเพื่อบอกว่า พวกเขาทุกคนที่นั่นตัดสินใจจะเดินทางมาเยี่ยมพวกเราที่เมืองไทยในเร็ววัน เวลาเพียงไม่กี่วันในหมู่บ้านทำให้เราผูกพันกันเหมือนญาติสนิท ขอบคุณยูจัง ผู้หญิงมหัศจรรย์และหัวใจอันยิ่งใหญ่ของเธอ ผู้หญิงที่นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ ขอบคุณที่พาเรามารู้จักหมู่บ้านที่รักของเธอ ขอบคุณการต้อนรับอันอบอุ่นของทุกคน แล้วพวกเราจะกลับไปตามสัญญาเพื่อดูดอกซือบากิบานด้วยกัน

Itsuki ญี่ปุ่น

ขอขอบคุณ: กุลภดามาศ เส็งประชา

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง

จบคณะโบราณคดี ศิลปากร เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นครู และ เลือกเป็นครูของลูกด้วยการทำบ้านเรียน ปัจจุบันก็ยังเลือกเป็นครูพาเด็กๆเก็บผัก เก็บดอกไม้ใบไม้ มาทำขนม ทำงานศิลปะ