ครั้งหนึ่ง ดิฉันเคยเป็นกรรมการคอมเมนต์แผนธุรกิจของหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง และได้พบกับผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ท่านหนึ่ง เธอก้าวขึ้นมาแนะนำบริษัทของเธออย่างมั่นใจ จากความสำเร็จในธุรกิจสุขภัณฑ์ห้องน้ำ เธออยากก้าวไปเปิดร้านกาแฟ และทดลองผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าคู่กันไปด้วย 

ดิฉันและกรรมการอีก 2 คน ได้แต่ตกใจในความมุ่งมั่นของเธอ เราพยายามจะทักท้วงว่า อาจกลายเป็นการลงทุนเกินขนาด และธุรกิจใหม่ที่เธอสนใจก็แตกต่างจากธุรกิจเดิมมาก ขอให้เธอทบทวนใหม่ บ่ายวันนั้น เธอรับปากและเดินลงจากเวทีไป 

ปัจจุบัน ดิฉันไม่รู้ว่าผู้ประกอบการท่านนี้ยังคงอยู่กับธุรกิจสุขภัณฑ์ที่เธอภูมิใจ หรือกระโดดไปเปิดร้านกาแฟเสียแล้ว แต่ในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ ดิฉันได้แต่ภาวนาขอให้เธออยู่กับธุรกิจเดิมอย่างมั่นคง จู่ๆ ดิฉันก็คิดถึงผู้ประกอบการหญิงท่านนี้ เนื่องจากบังเอิญได้อ่านเรื่องบริษัทเฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่นแห่งหนึ่งซึ่งมีอายุกว่า 130 ปี

เฟอร์นิเจอร์ร้อยปี

บริษัทอิโตคิ-โชเทน ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1890 เดิมเป็นบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสินจากต่างประเทศ เช่น ที่เย็บกระดาษ ปากกาหมึกซึม กระติกน้ำ โดยมีปณิธานว่าจะทำให้สังคมญี่ปุ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัทเริ่มเขยิบไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่ระหว่างช่วงสงคราม กองทัพญี่ปุ่นสั่งโต๊ะเหล็กเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทอิโตคิค่อยๆ สั่งสมองค์ความรู้ในการทำโต๊ะสำนักงานจากเหล็ก

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

หลังสงคราม อิโตคิหันมาผลิตเฟอร์นิเจอร์สำหรับออฟฟิศอย่างเต็มตัว โต๊ะสำนักงานของอิโตคิถูกออกแบบอย่างใส่ใจ หากเป็นโต๊ะประชุมแบบมีล้อเลื่อน ทางดีไซเนอร์ก็ออกแบบให้ปุ่มล็อกกดเปิดปิดได้ง่าย แม้ใส่รองเท้าส้นสูงก็ล็อกได้ เพื่อให้สาวๆ ไม่ต้องลำบากก้มลงไปปลดล็อก 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

หรือตอนออกแบบสำนักงานให้บริษัทแห่งหนึ่งย่านกินซ่า ทางทีมงานศึกษาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของบริษัท ปรัชญาบริษัท วัฒนธรรมองค์กร ลักษณะคนที่ทำงาน ตลอดจนอนาคตที่พนักงานบริษัทนี้มอง 

เนื่องจากบริษัทลูกค้าแห่งนี้มีต้นกำเนิดมาจากท่าเรือ ทางทีมงานจึงออกแบบทางเข้าคล้ายท่าเรือที่มีเรือมาเทียบท่า ห้องประชุมเป็นชื่อของนักสำรวจ ตู้ล็อกเกอร์ก็ดีไซน์คล้ายตู้คอนเทนเนอร์ ไอเดียต่างๆ เหล่านี้ทำให้อิโตคิชนะคู่แข่งอีก 5 ราย และได้เข้าไปสร้างออฟฟิศในกินซ่าในที่สุด 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

เติบโตแบบร้อยปี

ในหน้าประกาศรับสมัครงาน อิโตคิบรรยายภาพของพนักงานอิโตคิดังนี้

“คนช่างคิด

พวกเราเป็นนักคิด

เช่น คิดตั้งเป้าหมายว่า จะทำอย่างไรให้ผู้คนทำงานได้สะดวกสบายขึ้น

เช่น คิดว่าจะสร้างวิถีชีวิตแบบใหม่ให้คนอยู่อย่างปลอดภัยและสบายใจ แม้ตอนเกิดภัยพิบัติ

เช่น คิดว่าจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีอย่างไรดี

เช่น คิดว่าคอมมูนิตี้แบบไหนจะสำคัญ ท่ามกลางยุคที่ผู้คนใช้ชีวิตตัวคนเดียวได้

พวกเราไม่ใช่บริษัทขายสินค้า แต่เป็นนักแก้ปัญหา

เราเดินเคียงข้างผู้คน มองโลกกว้าง และมุ่งหาปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม

จากนั้น เราก็คิด คิด คิด และหาทางแก้ไข

นั่นแหละ คือเหตุผลที่เราดำรงอยู่

มาร่วมกันทำให้คนทำงานทุกคนมีวันพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น”

บริษัทที่ทำเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศเช่นนี้จะมีสินค้าอะไรจำหน่ายบ้าง โต๊ะ? เก้าอี้? ตู้ใส่เอกสาร? 

สิ่งเหล่านี้เป็นสินค้าที่อิโตคิมี แต่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขานำเสนอ 

อิโตคิมิได้ขายแค่ตู้ใส่เอกสารสวยๆ ที่จัดเอกสารง่ายเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังนำเสนอ ‘วิธีแก้ปัญหา’ บางอย่างอีกด้วย

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

หนึ่งในบริการแก้ปัญหา คือบริการ ‘Filing System’ ทีมงานจะเข้าไปรับฟังและสำรวจว่าเอกสารชนิดใดไม่จำเป็นสำหรับบริษัทท่าน หลังจากนั้น 6 เดือน อิโตคิจะออกแบบระบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้เอกสารไม่ซ้ำซ้อน ลดปริมาณเอกสารลงเพื่อประหยัดพื้นที่ 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริการให้คำปรึกษาด้านการกำจัดเอกสารด้วย บริการดังกล่าวจะช่วยให้พนักงานเห็นรอบกำหนดการทิ้งเอกสารชัดขึ้น ทำให้พนักงานทิ้งเอกสารได้ง่าย 

มีบริษัทหลายแห่งใช้บริการนี้ ช่วงบริษัทกำลังจะย้ายออฟฟิศหรือมีการควบรวมแผนก และอิโตคิก็สร้างผลงานโดยช่วยลดปริมาณเอกสารไปได้มากกว่าร้อยละ 50 โดยเฉลี่ยเลยทีเดียว 

วิธีการขยายธุรกิจของอิโตคิ มิใช่เน้นแต่ขายโต๊ะตู้ให้ได้มากๆ แต่เข้าไปช่วยลูกค้าแก้ปัญหาด้วย 

นอกจากนำเสนอสินค้าดีไซน์ดี ตลอดจนการบริการให้คำปรึกษาแล้ว อิโตคิยังมีแอปพลิเคชัน Workcise App เพื่อใช้ควบคู่กับเฟอร์นิเจอร์ ให้พนักงานจองที่นั่งทำงานได้ ตลอดจนวัดจำนวนก้าวที่เดิน ยืน และประเมินสุขภาพพนักงานได้ 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

ล่าสุด อิโตคิร่วมมือกับบริษัท Veldhoen จากเนเธอร์แลนด์ นำเสนอรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า Activity Based Working (ABW) หรือการทำงานตามกิจกรรมหรือรูปแบบ 

รูปแบบการทำงานแบบเก่านั้น พนักงานแต่ละคนวิ่งไปคุยกันที่ห้องประชุม แล้วกลับมานั่งทำงานที่โต๊ะตนเองต่อ แต่การทำงานรูปแบบใหม่ไม่ใช่ ทุกวันนี้ พนักงานออฟฟิศประชุมกันบ่อยขึ้น สื่อสารกันมากขึ้น เอกสารส่วนใหญ่ก็อยู่ในคอมพิวเตอร์ จึงย้ายไปทำงานที่ต่างๆ ได้ง่าย

การทำงานแบบใหม่ตามหลัก ABW นั้น จะเป็นออฟฟิศแบบเปิด (Open Plan Space) กล่าวคือ พนักงานไม่มีโต๊ะประจำของตนเอง แต่ย้ายไปทำงานตรงมุมไหนก็ได้ในบริษัท 

บางวันอยากนั่งทำงานเงียบๆ คนเดียว ก็เลือกที่นั่งแบบนั่งเดี่ยว บางจังหวะอยากคุยกับเพื่อนร่วมงาน ก็ชวนกันเดินไปทำงานที่โต๊ะคู่ 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

โต๊ะมีลักษณะโค้งมน ให้ความรู้สึกใกล้ชิด

แต่ก็มีพื้นที่เว้าเข้าไป เพื่อให้พนักงานทั้ง 2 คนมีพื้นที่วางคอมพิวเตอร์

ตอนบ่าย เวลาง่วงๆ ก็ไปยืนทำงานที่โต๊ะยืนสัก 1 ชั่วโมง แล้วค่อยกลับมานั่งทำงานที่โต๊ะเดี่ยวก็ได้ 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

หรือหากอยากหาความสงบ แรงบันดาลใจยิ่งกว่านั้น ทางอิโตคิก็รับออกแบบห้องสำหรับทำสมาธิได้เช่นกัน 

ในออฟฟิศอิโตคิเอก็มีพื้นที่ลักษณะเช่นนี้กว่า 10 แบบ เพื่อตอบสนองการทำงานแบบคนเดียว สองคน หรือการทำงานเป็นทีมได้ 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ภาพ : www.itoki.jp

ปัจจุบันอิโตคิยังรับออกแบบห้องประชุม ห้องสมุด โรงอาหาร หรือห้องวิจัยในมหาวิทยาลัยอีกด้วย

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki
ห้องประชุมและห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยทสึคุบะ 
ภาพ : cs.itoki.jp/case-studies/tsukuba-university-uda

อนาคตร้อยปี

จากที่อ่านเรื่องราวของอิโตคิมา ท่านรู้สึกว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทเก่าแก่อายุ 130 ปีหรือเปล่าคะ 

นอกจากเฟอร์นิเจอร์แล้ว บริษัทนี้มีทั้งแอปพลิเคชัน บริการให้คำปรึกษา ตลอดจนนำเสนอรูปแบบการทำงานสไตล์ใหม่ให้ตรงกับวิถีการทำงานของคนยุคใหม่ยิ่งขึ้น 

พันธกิจ (Mission) ของอิโตคิคือ ‘ออกแบบการทำงานของวันพรุ่งนี้’

บริษัทเก่าแก่ แต่ไม่เคยหยุดมองอนาคตเลย

อิโตคิตั้งศูนย์วิจัยเพื่อศึกษาการทำงานของผู้คน ตลอดจนรูปแบบการทำงานในอนาคต ตอนนี้พวกเขากำลังศึกษาวิเคราะห์อยู่ว่าคนในปี 2030 จะทำงานอย่างไร มีอะไรที่พวกเขาจะช่วยให้คนทำงานได้ดีขึ้นบ้าง 

อิโตคิ-โชเทน บริษัทนักแก้ปัญหา 130 ปีที่ไม่เพียงขายเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ แต่แก้ยัน Filing System, Itoki, Diversification
โครงการวิจัยเรื่อง Mixed Reality (MR) สังเกตวิธีการสื่อสารระหว่างผู้คนในโลกความเป็นจริงกับโลกสมมติ
ภาพ : www.itoki.jp

นับตั้งแต่วันแรกที่บริษัทอิโตคิกำเนิดขึ้นใน ค.ศ.1890 (สมัยรัชกาลที่ 5) สิ่งหนึ่งที่บริษัทยึดถือไว้ไม่เปลี่ยนแปลง คือการเป็นบริษัทที่ก้าวล้ำกว่ายุคสมัย หรือสร้างยุคสมัยนั้นขึ้นมา จากการนำเข้าลวดเย็บกระดาษ สู่การออกแบบห้องทำงานแบบ Mixed Realit

ปรัชญาของอิโตคิ คือ 

เราจะรักษาจิตวิญญาณแห่งความเป็นนักพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ 

เราจะพัฒนาและดัดแปลงสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่

เราจะทำธุรกิจอย่างเป็นธรรม ด้วยวิริยอุตสาหะ

เราจะร่วมมือร่วมใจกันก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ 

เรามุ่งมั่นจะเป็น No.1 ในอุตสาหกรรม

เราจะเป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกไม่เสียทีที่เกิดมา 

แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่อิโตคิ ยังคงช่วยให้ผู้คนทำงานด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพสืบต่อไป


Lesson Learned : 

หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า Diversification จากบทเรียนเรื่องการวางกลยุทธ์ Diversification หมายถึง การกระจายไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น ตนเองทำธุรกิจร้านสุขภัณฑ์ แต่ไปลงทุนในธุรกิจคาเฟ่ ร้านอาหาร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า 

ข้อดีของ Diversification คือการกระจายความเสี่ยง หากธุรกิจทำเฟอร์นิเจอร์ไปไม่รอด ก็ยังมีรายได้จากธุรกิจร้านอาหารค้ำอยู่ ผู้ประกอบการหญิงที่ดิฉันเจอในงานก็คงคิดแบบเดียวกัน 

คำถามคือ กลยุทธ์ Diversification ของผู้ประกอบการหญิงกับบริษัทอิโตคิต่างกันอย่างไร 

กรณีของอิโตคินั้น ให้บริการหลากหลายทั้งด้านประเภทลูกค้า (ออฟฟิศ ห้องสมุด โรงอาหาร) และประเภทการให้บริการ (เฟอร์นิเจอร์ ให้คำปรึกษา ออกแบบ) แต่ทุกกิจกรรมมีจุดร่วมจุดเดียวกัน คือการทำให้ผู้คนทำงานได้ดีขึ้น 

แก่นองค์ความรู้นี้ เป็นสิ่งที่อิโตคิสร้างขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และค่อยๆ สั่งสมขึ้นมาเรื่อยๆ ในช่วงร้อยกว่าปี เช่นนี้ บริษัทจึงนำองค์ความรู้นี้ไปปรับประยุกต์กับหลากหลายสินค้าและลูกค้าได้ ส่วนเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็อาศัยการร่วมงานกับบริษัทพาร์ตเนอร์ แต่ยังทำงานบนหลักการเดียวกัน คือช่วยเหลือวิถีการทำงานของผู้คน

แยกให้ออกว่า อะไรคือแก่น อะไรคือธุรกิจที่เราควรแตกไปทำ

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย