“สวัสดีครับคุณผู้ชม คุณผู้ชมอยู่กับ iTAN แทนไร้เทียมทาน และนี่คือรายการ แท่น แทน แท๊น ทางช่อง iTAN TV”

เสียงเจื้อยแจ้วและบุคลิกกระฉับกระเฉงในต้นคลิปของช่องยูทูบ iTAN TV แทบทุกคลิป คงจะเป็นตัวการันตีความเชี่ยวงานในวงการมาอย่างยาวนานของ แทน-กิตติเดช วิมลรัตน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘แทนไร้เทียมทาน’ ได้เป็นอย่างดี

หากย้อนกลับไปเมื่อราว ๆ 10 กว่าปีที่แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แทนไร้เทียมทานเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเส้นทางสายอาหารที่สำคัญมากคนหนึ่ง และทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีเริ่มขยับไปไกลกว่าที่เคยจินตนาการ ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทำให้ ‘แทนไร้เทียมทาน’ ในวันนั้น กลายมาเป็น ‘iTAN TV’ ในวันนี้

iTAN TV เส้นทางใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ ผู้เดินทางบนสายอาหารมากว่า 12 ปี

EP.1
The Beginning of แทนไร้เทียมทาน

ถ้าได้รับชมรายการของแทนในตอนนี้ เราคงไม่อาจจินตนาการได้ว่า เขาเคยเป็นคนกลัวการพูดหน้ากล้อง และไม่ได้อยากทำอาชีพพิธีกรเลย

ย้อนไปเมื่อ 12 ปีก่อน แทนเริ่มเข้าสู่เส้นทางสายพิธีกรในรายการโทรทัศน์ช่อง 5 เพราะโปรดิวเซอร์รายการเล็งเห็นศักยภาพการเล่าเรื่องอาหารที่โดดเด่นของเขา สล็อตเวลาบ่าย 3 โมงวันอังคารของช่อง 5 จึงตกเป็นของแทนไปโดยปริยาย และนั่นเอง คือจุดกำเนิดของแทนไร้เทียมทาน

เมื่อมีต้นทางก็ย่อมมีปลายทาง หลังสิ้นสุดบทบาทหน้าที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ การปรับตัวในระลอกแรกก็มาถึง เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Instagram เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทย รวมถึงในชีวิตของชายคนนี้ด้วย

“ถ้าเห็นชื่ออินสตาแกรม จะเห็นว่ามันสั้นมาก ชื่อ itan เพราะเราสมัครเร็วมาก คือถ้าไปดูวันที่เข้าร่วม แทบจะเป็นวันแรก ๆ ที่อินสตาแกรมเปิดตัวเลย เราทำแอคเคานต์อาหารเป็นคนแรก ๆ ของเมืองไทย” แทนพูดด้วยน้ำเสียงที่สัมผัสได้ถึงความภูมิใจ

“ไอจีเราในวันแรกมันคือเราเลย ชอบอะไรก็ลงทุกสิ่งทุกอย่าง จนวันหนึ่งคนถามว่าทำไมไม่กลับมาทำรายการอาหารแล้ว ตอนนั้นก็ลองเริ่มลงรูปอาหารสลับกับรูปไลฟ์สไตล์นี่แหละ เราได้แรงบันดาลใจในการทำแอคเคานต์อาหารมาจากร้านอาหารร้านหนึ่ง ในวันนั้นเราติดตามเขาแล้วอยากช่วยเหลือ เพราะเขาย้ายที่แล้วไม่มีคนตามไปกิน ก็เลยรีวิวร้านเขาลงในไอจี ตอนนั้นมีผู้ติดตาม 600 คนเอง ก็คือเพื่อน ๆ ที่ตามมาจากเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีคนตามไปกิน”

แทนเล่าว่าเขาค้นพบกลไกของเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้น จากการที่อินสตาแกรมในยุคแรก ๆ นั้นรับรู้ได้ว่า คนที่เราติดตามอยู่กดถูกใจโพสต์อะไรบ้าง กลายเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลดีเกินคาด

“เรามีผู้ติดตาม 600 คน มีคนกดถูกใจ 60 คน แล้วผู้ติดตามของทั้ง 60 คนนั้นก็เห็นว่าเขามากดถูกใจรูปนี้ ทำให้ร้านมีลูกค้า จากอยู่ที่เดิมเคยขายดี แล้วย้ายร้านไปอยู่ที่ใหม่ พอไม่มีการตลาด คนก็ไม่รู้ว่าย้าย ไอจีเราช่วยบอกว่าร้านเขาย้ายไปอยู่ที่ไหน” แทนขยายความกลไกของโซเชียลมีเดียในยุคนั้นที่ทำให้เขามีความตั้งใจอย่างแรงกล้า ในการผันตัวมาเป็นอินสตาแกรมเมอร์ด้านอาหารเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ

“วันหนึ่งเริ่มมีคนแปลกหน้าเข้ามาติดตาม เราก็ลบรูปไลฟ์สไตล์ออกหมดเลย เหลือแต่อาหาร เชื่อไหมว่าภายในเดือนเดียว ยอดผู้ติดตามเพิ่มจาก 600 เป็น 1,000 เลยนะ แล้วภายในไม่กี่เดือนขึ้นเป็น 2,000 3,000 4,000 5,000 จนถึงหลักหมื่น”

เรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ทางโซเชียลมีเดียของแทนเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกยังคงหมุนไปอย่างไม่รีรอ จากแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อภาพนิ่ง ก็ถึงเวลาเปิดรับสื่อรูปแบบใหม่อย่างวิดีโอ ซึ่งนับเป็นจุดหยุดชะงักที่ยาวนานของแอคเคานต์ itan

“ตอนนั้นใครลงวิดีโอจะถูก Push เข้าไปอยู่ในหมวด Explore แล้ว Growth Rate ของคนทำวิดีโอมันเพิ่มขึ้นไปหมดเลย ภายในช่วงเวลา 1 ปี แพลตฟอร์มวิดีโอของอินสตาแกรมก้าวกระโดดมาก ของเราหยุดอยู่กับที่เลย ถามว่าทำไมถึงไม่ทำวิดีโอ เพราะเราเป็นคนเดียวที่มีสปอนเซอร์เป็นกล้องถ่ายรูป วันที่ทุกคน Push ไปกับวิดีโอหมด เรานิ่งเลย แล้วนิ่งอย่างนั้น 10 ปีเต็ม ยอดผู้ติดตามเพิ่งทะลุ 100,000 คน เมื่อ 2 ปีที่แล้วเอง”

เมื่อมีการยกเรื่องสปอนเซอร์ขึ้นมา ก็อาจเป็นที่สงสัยของใครหลายคนว่า แทนรับงานสปอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารหรือไม่ คำตอบของเขาคือสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า แทนไร้เทียมทานไม่เคยรับเงินจากร้านอาหารแม้แต่บาทเดียว หรือแม้แต่สปอนเซอร์อะไรก็ตามที่เอาเข้าปากได้ เขาปฏิเสธทั้งหมด สปอนเซอร์ที่แทนจะรับ ต้องเป็นสิ่งที่กินไม่ได้เท่านั้น ซึ่งเมื่อเอ่ยถามถึงเหตุผล เขาก็เปิดเผยสิ่งที่คิดออกมาอย่างจริงใจ

“วันแรกที่ทำไอจีอาหารในประเทศไทย เราอยากให้คนติดตาม เลยไปบอกคนดัง ๆ สมัยก่อนให้ช่วย Shout Out ว่าให้ไปตามอันนี้ อะไรอย่างนี้ เราไปบอกทุกคนว่าให้มาช่วยดูร้านอาหาร โดยจะไม่รับจ้างรีวิว คนเลยเต็มใจเข้ามาช่วยโปรโมตให้เยอะ คนติดตามก็กระโดดจากหลักร้อยเป็นหลักพัน หลักหมื่น ในเวลาอันสั้นมาก เพราะฉะนั้น เราพูดไปแล้วว่าทำอันนี้มา เราไม่ได้รับจ้าง” แทนอธิบายที่มาของเหตุผลซึ่งเขายึดถือมานาน “เราไปบอกเขาว่าเราทำเพื่อช่วยคน เราก็ต้องยึดจุดยืนตรงนี้”

เมื่ออุดมการณ์อันแรงกล้าในการสนับสนุนร้านอาหาร ผนวกกับกระแสเรียกร้องให้กลับมารับบทบาทพิธีกรรายการอาหาร อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่เข้ามาในชีวิตของแทน นั่นคือเส้นทาง ‘ยูทูบเบอร์’ จึงมาถึง 

iTAN TV เส้นทางใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ ผู้เดินทางบนสายอาหารมากว่า 12 ปี

EP.2
แทนไร้เทียมทาน สู่ iTAN TV และ แท่น แทน แท๊น

“เราทำรายการต่อ ไม่ได้เพื่อให้ตัวเองมีบทบาทหรือว่าเพื่ออะไรนะ หนึ่ง คือยังมีร้านอาหารอีกหลายร้านที่เราต้องซัพพอร์ต ยังมีคนดูอีกหลายคนที่อยากดูเรา ถึงจะน้อยนิด แต่ก็ยังมี” แทนเปิดเผยว่าหลังจากเคยมีบทบาทในช่องยูทูบช่วงหนึ่งและหายไปเกือบพักใหญ่ เขาเลือกกลับมาอีกครั้งใน iTAN TV ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ช่อง iTAN TV ประเดิมคลิปแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2022 ปัจจุบันมีคอนเทนต์ในช่องรวม 13 คลิป และมียอดผู้ติดตามกว่า 6,500 คน โดยคลิปเปิดตัวมียอดวิวถึงหลักแสน เรียกว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดาเลยกับก้าวแรกในการทำยูทูบ

หากกดไปดูสักคลิป คงสะดุดหูกับชื่อรายการเด่นประจำช่องอย่าง แท่น แทน แท๊น ซึ่งชื่ออันเป็นเอกลักษณ์นี้ เป็นไอเดียของ เทพ-พงศ์เทพ อนุรัตน์ พี่ชายคนสนิทของเขานั่นเอง

“ชื่อรายการถามว่าทำไมต้อง แท่น แทน แท๊น พี่เทพบอกว่า มันเป็นการบอกทุกคนว่านี่คือเราจริง ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการควบคุม กำกับ ดูแลโดยโปรดิวเซอร์หรือว่าอะไร เราเลือกร้านเอง กำหนดทิศทาง ตัดต่อ กำหนดคอนเซ็ปต์ กำหนดมุมกล้องทุกอย่างเอง แต่ช่วงแรกคงเป็นการปรับตัวระหว่างเรากับทีมงาน อยากให้ทุกคนอดใจรอนิดหนึ่ง แต่อันนี้คือเป็นเราเลย คือเป็น แท่น แทน แท๊น

แทนปิดท้ายประโยคที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่รายการได้อย่างเหมาะเจาะ หลังพักดื่มน้ำกันให้คลายร้อน บทสนทนาก็ดำเนินต่ออย่างลื่นไหล

แท่น แทน แท๊น เป็นรายการวาไรตี้ ถามว่า iTAN TV ที่ทำ แท่น แทน แท๊น ออกมาต่างจากช่องอื่นยังไง คือมันวาไรตี้มาก อย่าง 1 เดือนเราจะมี กินข้าวเล่าเรื่องช่อง 3 ครั้ง แล้วจะสลับ 1 ครั้งเป็นเกมโชว์ อันนี้ก็ไม่รับสปอนเซอร์เหมือนกัน” แทนยังคงยืนยันความตั้งใจเดิมของเขา 

“เป้าหมายคือ อยากให้ iTAN TV เป็นเหมือนทีวีช่องหนึ่ง มีทั้งอาหารและเกมโชว์ ต่อไปอาจจะมีท่องเที่ยวหรืออะไรก็ตามที่ไม่จำกัดว่าพิธีกรจะต้องเป็นผม แต่ถ้าวันใดพิธีกรเป็นผม มันก็จะอยู่ภายใต้ แท่น แทน แท๊น

iTAN TV เส้นทางใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ ผู้เดินทางบนสายอาหารมากว่า 12 ปี
iTAN TV เส้นทางใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ ผู้เดินทางบนสายอาหารมากว่า 12 ปี

EP.3
เจาะลึกเบื้องหลัง iTAN TV

หากนึกถึงภาพสื่อที่ครองใจใครหลาย ๆ คน จนนำไปสู่อาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีนี้ และกำลังเป็นที่นิยมสูงไม่แพ้อาชีพไหน ๆ คงหนีไม่พ้นการเป็นยูทูบเบอร์ ซึ่งโลกที่กระแสส่วนใหญ่เบี่ยงจากหน้าจอโทรทัศน์ไปสู่หน้าจอสมาร์ทโฟน iPad หรือโน้ตบุ๊ก จนทุกอาชีพ ทุกบทบาท ผันตัวเข้าสู่วงการนี้แทบทั้งหมด แน่นอนว่าสายงานด้านอาหารของแทนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามปรับตัวให้ทันกระแสสังคม

“เราเป็นนักการตลาด เรามองว่าสิ่งที่เปลี่ยนมากที่สุดก็คือ Generation Change ของคนปีนี้ ตำรวจ ทหาร พยาบาล หมอ นั่นคืออาชีพในฝันของคนไทย วันนี้ไม่มีใครอยากทำอาชีพเหล่านี้เลย คุณไปถามเด็กประถมนะ โตขึ้นอยากเป็นอะไร เขาจะตอบคำตอบเดียวเลย ยูทูบเบอร์” แทนขยายความประโยคที่เขาพูดก่อนหน้านี้ว่า ‘โลกมันเปลี่ยน’

จากจุดกำเนิดที่อยู่ในโทรทัศน์ เข้าสู่ยุคสมัยของอินสตาแกรม จนกระทั่งได้เดินในเส้นทางยูทูบร่วมกับใครอีกมากมาย คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักกับการเริ่มต้นเส้นทางใหม่ด้วยตนเองในวัย 45 ปี แทนแชร์ประเด็นนี้อย่างจริงจังและไม่ปิดบังว่า

“จำนวนผู้ชมในยูทูบเป็นเด็กนะ ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ เด็กอายุ 21 เวลาฟังคนอายุ 45 เล่าอะไร สิ่งแรกที่รู้สึกคือ มันเหมือนพ่อแม่พูด เพราะฉะนั้น ถ้าคนอายุ 45 เดินเข้าไปหาผู้ชมที่เป็น Majority มันจะเกิดขึ้นช้ามาก ความน่าเชื่อถือมันน้อยเพราะแก่ ดังนั้น สิ่งที่กระทบตามมาคือ ร้านที่เราอยากซัพพอร์ตจะมีคนเห็นน้อย”

เมื่อเล็งเห็นถึงผลกระทบและอุปสรรคของตัวเองในสายงานนี้ เขาจึงเริ่มคิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนช่องให้เข้าถึงฐานผู้ใช้งานหลักของแพลตฟอร์ม อย่างวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่นมากขึ้น

“คอนเซ็ปต์รายการที่ออกมาในช่องใหม่เลยกลายเป็น กินข้าวเล่าเรื่องช่อง ยกชื่อรายการย่อยอีกหนึ่งรายการของ แท่น แทน แท๊น ซึ่งเป็นการเชิญยูทูบเบอร์ที่มีชื่อเสียงมากินข้าวร่วมกัน เพื่อเล่าว่าร้านนี้เป็นอย่างไร และนำไปสู่การเจาะลึกเส้นทางการทำงานสายยูทูบเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ หรือแม้กระทั่งเคล็ดลับความสำเร็จ โดยให้เหตุผลของการทำรายการในลักษณะนี้อย่างกระชับและเข้าใจง่าย คือการที่เด็กเข้ามารับชมรายการของเขามากขึ้น จะนำไปสู่การที่คนจำนวนมากได้เห็นร้านอาหารที่เขาอยากนำเสนอ

“เราบอกไม่ได้ว่าจุดประสงค์ในการทำงานของแต่ละคนคืออะไร แต่จุดประสงค์ของเราชัดเจนแน่นอน คืออยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการซัพพอร์ต ทั้งร้านอาหารและคนที่หาร้านกินอาหาร ช่วยเหลือธุรกิจวงการอาหารให้มันเกิดผลต่อไปถึงผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เกษตรกรหรืออะไรก็ตาม เราอาจเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ แต่เราทำให้คนไปกินข้าวเพิ่มขึ้นได้ 1 โต๊ะ ชาวประมงก็ขายปลาเพิ่มขึ้นได้ 1 ตัวแล้ว แค่นั้นเอง”

บทบาทใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ เมื่อโลกเปลี่ยนผ่าน การเดินบนเส้นทางสายอาหารจึงต้องปรับตัว

EP.4
ผลักดันความฝันของคนอื่น

แม้ iTAN TV อาจดูเป็นน้องใหม่ในแวดวงยูทูบ แต่ประสบการณ์ของแทนเรียกได้ว่าไร้เทียมทานสมฉายา เพราะนอกจากงานเบื้องหน้าอย่างการเป็นพิธีกรผู้เปี่ยมประสบการณ์แล้ว งานเบื้องหลังของเขาก็เข้มข้นไม่แพ้กัน ด้วยการฟอร์มทีมงานมากความสามารถ ทั้งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดการ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับหมุดหมายใหม่

“อยากให้ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ฝันของคนรุ่นใหม่เป็นจริง”

แทนเปิดแผนอนาคตว่า สิ่งที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้ คือให้ทุกคนที่ฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์เข้ามาพูดคุยกัน เพื่อสนับสนุนให้ใครก็ตามได้ทำในสิ่งที่รักและชื่นชอบ ขอแค่มีความสามารถและมีใจรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าคนทั่วไป แทนและทีมงานก็พร้อมช่วยคุณคิดหาไอเดียและวางแผนการทำงานร่วมกัน

“ด้วยความที่เราเห็นฝันของเด็ก รวมถึงเป็นสิ่งที่เรากำลังทำแล้วรู้ว่ามันไม่ง่าย เพราะฉะนั้น ถ้าใครสักคนอยากทำแล้วมีคนช่วยซัพพอร์ต ไม่ต้องช่วยโปรดักชันก็ได้ ช่วยคิดช่วยแนะนำอย่างนี้ ก็เป็นหนึ่งจุดเล็ก ๆ ที่เข้าไปต่อฝันของเด็กรุ่นใหม่ให้ไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น” แทนเล่าความตั้งใจที่อยากช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่ด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ราวกับกำลังรอวันจะได้เจอกับกลุ่มคนซึ่งมีแพสชันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ต่างกับเขา

ร้านนี้ดีปะ”

“ร้านนี้อร่อยไหม”

เชื่อว่าประโยคเหล่านี้คงเป็นประโยคที่หลาย ๆ คนต้องเคยเป็นทั้งผู้ถามและผู้ถูกถามบ้างไม่มากก็น้อย ในทุกครั้งที่กำลังจะเปิดใจลองร้านอาหารใหม่ ๆ และบทสรุปของคำถามนั้นอาจไม่ได้จบลงที่ไหน แต่เป็นการหารีวิวผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ

เมื่อคำรีวิวเป็นสิ่งสำคัญที่ใครหลาย ๆ คนใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกมื้ออาหารสัก 1 มื้อ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนักที่ในปัจจุบันจะเห็นนักรีวิวรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน รวมถึงร้านอาหารหลายร้านที่เป็นเป้าหมายให้นักรีวิวจับจ้องเพื่อหยิบยกมาเป็นคอนเทนต์ จนอาจเคยเห็นเหตุการณ์ที่ร้านอาหาร 1 ร้าน ได้เข้าไปอยู่ในเพจรีวิวอาหารกว่า 10 เพจ ซึ่งเมื่อเราลองนำประเด็นนี้มาสนทนากับแทน ก็ได้เห็นถึงมุมมองในฐานะนักรีวิวอาหารรุ่นเก๋าคนหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

“วันนี้ร้านอาหาร 1 ร้าน มีเพจมารีวิวเต็มเลย มันเยอะไปไหมสำหรับผู้บริโภค ถ้าถามในความเห็นเรา ในแต่ละกลุ่ม ในแต่ละเพจ เขาก็มีกลุ่มแฟนคลับที่ต่างกัน มันอาจจะมีซ้อนกันบ้าง หรืออาจจะมีส่วนที่ตรงกันบ้าง แต่อย่างน้อยมันมีกลุ่มที่ไม่ตรงแน่ ๆ เพราะฉะนั้น ยิ่งมี Food Vlogger เยอะ มีเพจเยอะ มีคนรีวิวเยอะ ก็ยิ่งดีกับธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร ร้านจะมีคนเห็นมากขึ้น Supply หรืออะไรก็ตามก็มีคนใช้บริการมากขึ้น เพราะฉะนั้นยิ่งเยอะยิ่งดี

“วันนี้เด็กสมัยใหม่ฝันอยากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ฝันอยากเป็นบล็อกเกอร์ ฝันอยากเป็นยูทูบเบอร์ นี่เป็นการลองเริ่มอาชีพที่ง่ายที่สุดในประวัติศาสตร์ คนยุคก่อนบางทีเขาอาจทำสิ่งที่ไม่ชอบไปจนแก่ไปจนตายเลยก็ได้ เพราะไม่มีโอกาสเหมือนเด็กสมัยนี้” แทนเล่ามุมมองผ่านเลนส์ของชายวัย 45 ปี

“อยากให้ทุกคนลองเลย ลองในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราอาจได้เจออาชีพที่ชอบจริง ๆ ตั้งแต่ยังเด็กอยู่ก็ได้ ถ้าลองแล้วไม่ชอบ ไม่ Success เราก็อาจจะไม่เหมาะกับการเป็นสิ่งนั้น ก็ค่อยไปทำอย่างอื่นที่มีความสุขกับมัน”

บทบาทใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ เมื่อโลกเปลี่ยนผ่าน การเดินบนเส้นทางสายอาหารจึงต้องปรับตัว

EP.5
จากวันวานสู่อนาคต

ถ้าย้อนกลับไป เราอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะพ่อแม่ซื้อหนังสือพิมพ์ แล้วมีวันหนึ่งเราไม่ซื้อ แต่ดูในมือถือ จนสุดท้ายพ่อแม่ต้องตามมาดูในมือถือ พอเรามีลูก ลูกก็ดูในมือถือตามเรา แต่หนังสือพิมพ์ไม่ตามมาแล้ว เพราะหยุดไปตั้งแต่พ่อแม่แล้ว จากเดิมเราดูในเฟซบุ๊ก ลูกก็จะเล่นเฟซบุ๊กกับเราก่อน จนเขาไปเจอแพลตฟอร์มใหม่กับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็น Twitter, TikTok เขาก็จะ Shift ไปดูของเขา พอคนในเจเนอเรชันเขาโตขึ้นมา สิ่งที่เราถืออยู่ก็เลือนรางไปแล้ว”

แทนอธิบายการเปลี่ยนผ่านของสื่อในปัจจุบัน ที่ขยับไปพร้อมกับการถือกำเนิดของคนรุ่นใหม่อย่างชัดแจ้ง

กระนั้นคอนเทนต์ด้านอาหารก็ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่มาได้ โดยรูปแบบไม่ได้ห่างไกลกันมาก โดยเฉพาะในแง่การรีวิว หรือการมีคนไปชิมอาหารแล้วมาอธิบายความดีงามของอาหารจานนั้น ๆ ให้ฟัง ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับสิ่งที่แทนทำมาตลอดระยะเวลาหลายปีในวงการนี้

“รีวิวอาหารก็ไม่ได้เปลี่ยนมา 30 – 40 ปีแล้วนะ มีทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ถามว่าทำไมถึงต่อเนื่องที่สุด เพราะมันเข้าถึงง่ายกว่าพวกกราฟหรือชาร์ต ฟังมนุษย์คนหนึ่งพูดว่าอร่อยหรือไม่อร่อยยังไงก็เสพง่ายกว่า”

อย่างไรก็ตาม แม้รูปแบบจะใกล้เคียงกับในอดีต แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับเด็กในยุคนี้ คือการเสพง่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นทุกวัน กลายเป็นโจทย์ให้เหล่าผู้สร้างคอนเทนต์ต้องคิดกลยุทธ์การนำเสนอใหม่ ๆ ตลอดเวลา

แทนเดินทางบนเส้นทางสายอาหารมากว่า 10 ปี ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่โลกหมุนเวียนอย่างไม่รีรอมาหลายครั้ง จนกระทั่งในวันนี้ เขาเดินทางมาถึงจุดที่เล็งเห็นถึงบทบาทใหม่ คืออยากเป็นยูทูบเบอร์ในฐานะอาชีพ

“โซเชียลมีเดียสมัยนี้มี Life Circle ไม่เหมือนธุรกิจสมัยก่อน บอกไม่ได้ว่าธุรกิจนี้อยู่ในจุดไหน เพราะมันเกิดจากผู้บริโภคล้วน ๆ เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งจะไม่มี MSN เคยรู้ไหมว่ามันจะประกาศปิด Internet Explorer ไม่รู้หรอกว่ามันคือช่วงไหนของแพลตฟอร์ม แต่ถามว่าวันนี้อะไรคือดาวรุ่ง มันคือ YouTube กับ TikTok”

แม้เครื่องมือจะเปลี่ยน แต่ความสามารถและเป้าหมายในการทำงานเพื่อสนับสนุนร้านอาหารของแทนไม่เคยเปลี่ยนไป รวมถึงเกณฑ์การคัดเลือกร้านอาหารที่ยืนยันว่า ช่องยูทูบของเขานั้น ไม่ใช่ ‘Content is king’ หรือ ‘Consumer is king’ แต่เป็น ‘iTAN is king’

“เราเป็นคนมีจุดยืนชัดตั้งแต่ทำไอจีแล้วว่า ถ้าไม่อร่อย เราจะไม่พูดถึงเลย จะไม่บอกว่าไม่อร่อย เราเลือกเฉพาะร้านที่รู้สึกว่าอร่อยเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น เราจะไม่เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานการวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าลิ้นแต่ละคนไม่เหมือนกัน” แทนย้ำจุดยืนในฐานะผู้ผ่านประสบการณ์การรีวิวอาหารมาแล้วอย่างโชกโชน “ร้านที่เราเสนอในยูทูบ หนึ่ง เรารู้สึกว่าอร่อยและเราชอบ สอง เราคิดว่าคนควรจะเห็นเขามากกว่านี้ เพราะเขามีของ ควรได้รับการเผยแพร่แก่สาธารณชน”

การสนทนาดำเนินมาได้พักใหญ่จนเห็นสมควรแก่การปิดท้าย เราจึงขอเอ่ยถามถึงเป้าหมายความสำเร็จที่อยากไปให้ถึง คำตอบที่ได้ไม่เพียงเห็นความมุ่งมั่นที่เหลือล้น แต่ยังเห็นแพสชันที่เขามีต่ออาหารและการซัพพอร์ตร้านอาหาร

“อยากเห็นร้านที่เราไปรีวิว มีคนไปจองคิว ไปต่อคิว จนเกิดปรากฏการณ์แท่น แทน แท๊น กับร้านอาหารในเมืองไทย”

ทิ้งท้ายอีกสักข้อความที่ทำให้เราเห็นถึงอารมณ์ขันของชายวัย 45 ผู้มีความตั้งใจอันแรงกล้าในการเดินต่อบนเส้นทางโซเชียลมีเดีย

“ไม่อยากดูก็ดูเถอะ (หัวเราะ) ให้โอกาสกันหน่อย ให้โอกาสคนรุ่นเก่าได้มาเล่าอาหารในมุมมองที่เขาผ่านประสบการณ์มาหน่อย”

เห็นทีว่าอ่านบทความนี้จบ คงต้องเปิดดูรีวิวร้านอาหารสักร้าน แล้วตามรอยไปฝากท้องในวันนี้แล้วล่ะ

ติดตามช่อง iTAN TV ได้ที่ www.youtube.com/c/iTANTV

บทบาทใหม่ของ ‘แทนไร้เทียมทาน’ เมื่อโลกเปลี่ยนผ่าน การเดินบนเส้นทางสายอาหารจึงต้องปรับตัว

Writer

Avatar

วิมพ์วิภา ค้ำจุนวงศ์สกุล

เด็กนิเทศผู้หลงรักของหวาน การเล่าเรื่อง และตั้งใจจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวัน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ