เมื่อสบโอกาส ฉันก็รีบบินไปอิตาลีโดยทันที เพราะอนาคตไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะได้ออกอีกครั้งเมื่อไหร่
เวลาไปอิตาลี มักมีคนคิดว่าไปเที่ยว จริง ๆ คือหวังเพียงไปนอนนาน ๆ ตื่นมาพร้อมเสียงระฆังหง่างเหง่งจากโบสถ์ในเมือง เสไสอยู่ในผ้าห่มสักพัก ก่อนจะลุกขึ้นล้างหน้าล้างตา อ้อยอิ่งไปกินคัปปุชชีโนในชั่วโมงสุดท้ายของช่วงเช้า ก่อนบาริสต้าจะเหล่ตามองแม้ไม่พูดอะไร จากนั้นก็เดินทอดหุ่ยไปเรื่อย ๆ ในเมือง เข้าร้านหนังสือ แวะเดินตลาดก่อนจะกลับมาทำอาหารกิน จะปาสต้าหรือมาม่าก็แล้วแต่ความอยาก ก่อนจะนอนกลางวันอีกรอบ แล้วลงมาเดินเมืองยามเย็น
ใช่ ฉันไม่ใช่นักท่องเที่ยวมืออาชีพ เพียงแต่เป็นคนที่ชอบไปและชอบอยู่ในอิตาลี ต้องเป็นครั้งเป็นคราวด้วยนะ ถ้าจะให้อยู่ยาว ส่งขันหมากมา
ระหว่างไปอิตาลีก็มีพันธกิจติดตัวแต่พองาม หนึ่งในนั้นคือการเขียนคอลัมน์นี้ ใจคิดตลอดเวลาว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี แต่ในระหว่างที่อยู่ที่นั่น ก็ได้พบกับลูกศิษย์ลูกหา หลายคนถามว่ามาอิตาลีครั้งแรกคือช่วงไหน ก็ตอบว่า ช่วงปี 1991 – 1992 ไม่ได้คิดอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งระหว่างนั่งอาบแดดอุ่นอยู่ ก็สะดุ้งนึกขึ้นได้ว่า นี่มัน 30 ปีพอดิบพอดีเลยนี่นา
เท่านั้นเอง ภาพแต่ละภาพก็ชิงผุดขึ้นมาในสมองว่า วันนี้เวลาในปีนั้นเราทำอะไรอยู่หรือ แต่ด้วยความที่มันก็นานเหลือเกิน ประกอบกับก็ได้กลับไปอยู่เนือง ๆ จึงมักแยกไม่ค่อยออกว่า ประสบการณ์นั้นเกิดขึ้นในครั้งแรกที่ไป หรือครั้งต่อ ๆ มาที่แวะไปเยือน คงเหลือแต่ความคิดว่า ตอนนั้นกับตอนนี้มีอะไรแตกต่างหรือเหมือนกันบ้าง
หลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างก็คงอยู่และเปลี่ยนไป พยายามกลั่นกรองให้อยู่ในประเด็น แล้วก็คิดว่า สิ่งที่กล่าวถึงได้โดยไม่เหมือนคนแก่ขี้เพ้อ คือ เรื่องการเดินทางสัญจร เพราะอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปอิตาลีด้วยตัวเอง… เป็นครั้งแรก

การเดินทางด้วยทางสาธารณะในอิตาลี
เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนก่อนไปอิตาลี ในสมัยนั้นการขอวีซ่ายังต้องขอจากสถานทูตอิตาลี ณ ถนนนางลิ้นจี่ ว่ากันว่ายากเย็นพองาม แต่ด้วยความที่ครั้งแรกนั้นไปด้วยทุนรัฐบาลอิตาลี วีซ่าเลยไม่ยากนัก แต่พูดถึงความลำบากแล้ว ต้องไม่ลืมว่า วีซ่าในขณะนั้นยังไม่มีเชงเก้น ความลำบากในการอยู่ประเทศหนึ่งแล้วออกไปอีกประเทศหนึ่งจึงยังมีอยู่มาก จริงอยู่ถึงมีวีซ่าอิตาลีอาจจะเข้าฝรั่งเศสได้ แต่ก็ต้องขอ Re-entry Visa เพื่อจะกลับมาอิตาลีอีกครั้ง ใครไม่รู้ว่าต้องทำก่อนไป ก็จะเกิดปัญหาร้อยแปด
หรือในกรณีหนึ่งคือ ในสมัยนั้น สวิตเซอร์แลนด์ยังไม่ได้เข้าเชงเก้นด้วย เพื่อนที่อยู่ฝรั่งเศสจะมาเยี่ยม ขนาดบอกคนขายตั๋วแล้วว่า ไม่ขอเอาขบวนที่แล่นตัดผ่านประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คนขายตั๋วก็อุตส่าห์ขายตั๋วมาจนได้ ร้อนถึงสองเขือเพื่อนหลับใหลลืมตื่น ต้องถูกปลุกแล้วอัญเชิญลงที่ชายแดนสวิตฯ จากนั้นสองนางก็ต้องต่อรถไฟเลาะชายแดนมา กว่าจะถึงโบโลญญาได้ สิริรวมคือ 24 ชั่วโมง บินไปกลับกรุงเทพฯ-ปารีส ได้เลยทีเดียว
ตั๋วเครื่องบินสมัยนั้นก็ยังเป็นกระดาษและมีชั้นซ้อนกันอย่างงุนงง กระดาษแต่ละชั้นหรือก็บางราวกับผ้าซับมันปากในร้านสุกี้ ไม่มีการบันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ ต้องรักษาพาสปอร์ตและตั๋วเครื่องบินไว้ให้จงดี จะมาจะไปก็ต้อง Confirm Flight ล่วงหน้า หาไม่ ก็อาจจะเจอตั๋วล้นเที่ยวบินจนต้องกลับบ้านมาหงอย ๆ ได้
ปัจจุบันสะดวกอย่างไร คงไม่ต้องพูดถึงแล้วมั้ง
ผ่านเรื่องเครื่องบินไป สมมติว่ามาถึงอิตาลีแล้ว
สมมติว่าเป็นโรม
สนามบินนานาชาติของโรมมีชื่อเป็นทางการว่า Leonardo da Vinci แต่มีชื่อเรียกเล่นอย่างลำลองว่า ฟิวมิชีโน (Fiumicino) แปลว่า แม่น้ำน้อย อันเป็นชื่อย่านที่ตั้งของสนามบินแห่งนั้น

ภาพ : lemiapp.com
อันย่านฟิวมิชีโนนั้นเล่า ก็ให้ห่างจากตัวเมืองโรมพอชั่วเคี้ยวหมากจืด การเดินทางมายังตัวเมืองหรือสถานีแตร์มีนี (Termini) นั้น ต้องเดินทางด้วยรถไฟ 2 ขบวนด้วยกัน นั่นคือนั่งรถไฟบนดินจากสนามบินมาลงที่สถานี Ostiense จากนั้นก็ลากกระเป๋าไปที่ขึ้นรถไฟใต้ดินที่สถานี Piramide เพื่อไปยังจุดหมาย ประดักประเดิดพอสมควร ไม่สิ มากทีเดียวกับกระเป๋าเดินทางใบเขื่องของเรา
จากนั้นไม่นานไม่กี่ปี ก็เพิ่งมีคนคิดได้ว่าทำไมเราไม่ทำทางรถไฟตรงจากสนามบินไปแตร์มีนีเลย ปัจจุบันเหรอ นอกจากจะมีรถไฟสายตรงแล้ว ก็ยังมีรถบัสที่ตัดราคากันฉุบฉับ อย่าว่าแต่เข้าเมืองเลย ข้ามเมืองก็ไม่เป็นปัญหา ในการนี้ ขอแนะนำให้หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตให้ได้มากที่สุด เพราะไป ๆ มา ๆ การสัญจรที่สะดวกที่สุดคือรถบัส ซึ่งมิได้พุ่งทะยานเข้าสู่ตัวเมืองเท่านั้น หากแต่ยังมีเส้นทางออกไปยังเมืองอื่นโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้ามาในเมืองของสนามบินด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณจะไปตูริน แล้วลงเครื่องที่มิลาน รถบัสจากสนามบินมิลานไปยังใจกลางเมืองตูรินก็มีให้บริการ สนนราคา 22 ยูโรเท่านั้นเอง คุณไม่จำเป็นต้องเข้ามาใจกลางมิลานแล้วนั่งรถไฟต่อไปที่ตูริน เพราะหากดูแผนที่ คุณจะรู้ได้ทันทีว่ามันย้อนไปย้อนมา
สมมติว่ามาถึงในเมืองแล้ว
การสัญจรในเมืองนั้น หลัก ๆ ก็คือรถเมล์ มีไม่กี่เมืองเท่านั้นที่มีรถไฟใต้ดินเช่นโรมและเนเปิ้ลส์ วิธีขึ้นรถเมล์แต่ก่อนนั้นแทบจะมีอยู่วิธีเดียว กล่าวคือ ต้องไปซื้อตั๋วจากร้านขายบุหรี่ (หรือแผงขายหนังสือ แล้วแต่ที่) เพื่อเอามาตอกที่เครื่องบนรถ ขึ้นรถโดยมีตั๋วแต่ไม่ตอกก็ถือเป็นการทุจริต และหากจับได้ก็จะต้องโดนปรับจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากตั๋วที่ยังไม่ได้ตอก ย่อมใช้ได้ตลอดชั่วนาตาปี และนายตรวจนั้นไม่ได้มาคนเดียว แต่แยกกันยืนขวางประตูทางลงไว้ราวกับทวารบาล อ้อ และหากเครื่องตอกนั้นใช้การไม่ได้ เป็นหน้าที่ของผู้โดยสารที่จะต้องใช้ปากกาเขียนหลังตั๋วว่า ได้ขึ้นเมื่อวันที่และเวลาเท่าไหร่ ส่วนปากกาจะมาจากไหนได้นั้น นายตรวจไม่รับรู้



ภาพ : roman-vacations.com
ใครที่เคยไปอิตาลีแล้วบอกว่า คนอิตาเลียนไม่เห็นตอกกันเลย งั้นฉันไม่ตอกบ้าง
เพื่อนของฉันเคยคิดอย่างนั้น ปรากฏว่าเมื่อนายตรวจขึ้นมา ไฟทุกดวงก็พุ่งลงจับที่ตัวเธอแต่เพียงผู้เดียว ด้วยว่าทุกคนในรถล้วนยื่นตั๋วเดือนให้นายตรวจดู อันเป็นตั๋วที่ตอกแค่ครั้งแรกที่ใช้ พวกเขาย่อมไม่จำเป็นต้องตอกทุกครั้งที่ขึ้น
อนึ่ง ตั๋วรถเมล์ในอิตาลีมักเป็นตั๋วเวลา กล่าวคือ นับจากการตอกตั๋วแล้วจะมีอายุไปอีก 75 – 90 นาที แล้วแต่เมือง หากคุณไปปลายทาง ทำธุระ และกลับมาภายในเวลานับจากการตอกตั๋วแล้ว คุณก็ไม่ต้องตอกตั๋วใบใหม่
ขอแอบสรุปให้สำหรับมือใหม่หัดเที่ยวในเมืองใหญ่ ๆ ว่า อย่าซื้อตั๋วธรรมดา (Biglietto Ordinario) ซื้อตั๋ววัน (Biglietto Giornaliero) ไปเถอะ แพงหน่อยแต่คุ้ม หลงได้ไม่ยั้ง แต่อย่าลืมตอกตั๋วในครั้งแรกที่ใช้ล่ะ

ภาพ : www.tper.it
ปัจจุบันนี้ อาจมีช่องทางในการซื้อตั๋วได้มากกว่าเดิม โดยทั่วไปการซื้อตั๋วก่อนขึ้นรถถือเป็นช่องทางที่ยังคงปลอดภัยกว่าเสมอ ด้วยว่าแม้บางเมืองจะมีเครื่องสแกนบัตร แต่ก็ใช่ว่าทุกคันจะมีเครื่อง หรือใช้กับบัตรที่เรามีอยู่ได้ หรือถ้าจะใช้ คุณอาจต้องโหลดแอปฯ กันเอิกเกริก โรมมิ่งที่เราซื้อไป ก็อาจจะโหลดแอปฯ อิตาเลียนไม่ได้ก็ประสบมาแล้ว คงมีแต่เมืองเล็ก ๆ บางเมือง ที่ซื้อตั๋วบนรถเมล์ได้ แต่เอาจริง ๆ ก็ลุ้นระทึกเหมือนกันนะ เพราะถ้าคุณขึ้นไปถามเขาว่าซื้อตั๋วที่นี่ได้ไหม หากเขาตอบว่าต้องไปซื้อมาก่อน ที่ตรงโน้นนนน คุณก็คือพลาดรถเที่ยวนั้นไป และหากเคราะห์ร้ายอย่างถึงที่สุด เที่ยวต่อไป อาจไม่แค่ชั่วเคี้ยวหมากจืด
อย่างไรก็ตาม บางเมืองก็แอบมีนวัตกรรมเท่ ๆ เช่น เมืองโบโลญญา ต้องเกริ่นก่อนว่า ราคาตั๋วธรรมดาของเมืองนี้คือ 1.5 ยูโร และตั๋ววันคือ 6 ยูโร และคุณแค่ตอกบัตรครั้งแรกเท่านั้นพอ หากเป็นตั๋วธรรมดาก็ขึ้นได้ 90 นาที (มั้ง) แต่หากเป็นตั๋ววัน ก็จะนับไป 24 ชั่วโมง
กล่องตี๊ดหรือเครื่องสแกนของโบโลญญานี้ ให้คุณใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตที่คุณมีอยู่ ตี๊ด ได้ แต่มันจะไม่หักเงินคุณในทันที แต่จะไปหักเงินเอาตอนตี 2 เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า มันจะรวมการตี๊ดของคุณในทุกครั้งที่ขึ้น (ไม่ใช่ครั้งแรกอีกแล้ว) และคำนวณว่าทั้งหมดเป็นราคาเท่าไหร่ ทั้งนี้จะไม่ให้เกิน 6 ยูโร อันเป็นราคาของตั๋ววันเป็นอันขาด ฉันประทับใจมาก ถ้าพกทองคำเปลวไป ฉันคงติดไปที่เครื่องแล้ว

กระนั้น ก็แอบโป๊ะเล็กน้อย นั่นก็คือ บางคันก็ไม่มีที่ตี๊ด ยามนั้น ตั๋วกระดาษที่ร้านขายบุหรี่ก็ต้องถูกงัดมาใช้
มาพูดถึงการสัญจรระหว่างเมืองกันบ้าง แต่ก่อนร่อนชะไรฉันก็จะอาศัยแต่รถไฟเท่านั้น ด้วยว่าช่างสะดวกสบาย ประหยัด และยืดแข้งยืดขาได้สะดวก ยกเว้นเมืองอย่างเซียน่าเท่านั้นที่ฉันจะใช้รถทัวร์ เพราะมันเจาะเข้าไปในเมือง ในขณะที่สถานีรถไฟอยู่ออกไปนอกเมือง ต้องต่อรถเมล์เข้ามาอีก ถ้ามาในช่วงดึก ไม่สะดวกเอาเสียเลย

ปัจจุบัน (ซึ่งสมัย 30 ปีก่อนไม่มี) รถไฟของอิตาลีมีอีกยี่ห้อ คือ Italo นับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก เพราะมีโปรโมชันดี นอกจากมีชั้นหนึ่ง ชั้นสองให้เลือก ซึ่งรถไฟของรัฐ (ขอเรียกว่า TRENITALIA ตามชื่อเว็บ) มีอยู่แล้ว ยังมีตู้ที่มีหนังฉาย ตู้ประชุม เลือกที่นั่งให้มีโต๊ะได้ ฯลฯ และในบางครั้งการยกระดับจากชั้นสองไปชั้นหนึ่งก็เพิ่มเงินอีกไม่เท่าไหร่เอง (เช่น อย่างที่ฉันเจอมาคือเพิ่มอีก 4 ยูโรเท่านั้น) ราคาก็เร้าใจมาก ที่ว่าเร้าใจเพราะยิ่งจองนานราคายิ่งดี ตอนแรกไม่รู้ มองราคาก็ว้าวถูกจัง อีกวันมาเปิด อ้าว ขึ้นราคา อีกวัน อ้าวขึ้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ‘อิตาโล’ จึงเหมาะมากกับผู้ที่มองการณ์ไกล และยืนหยัดมั่นคงในแผนการ ข้อด้อยของอิตาโลคือ มีเส้นทางไม่หลากหลายเท่าของ TRENITALIA เท่านั้น

เรื่องของรถไฟ สิ่งที่แตกต่างไปจากเมื่อ 30 ปีก่อนก็คือ สมัยนั้นมีแต่ตั๋วกระดาษ ปัจจุบันหลายคนก็ยังนิยมใช้ตั๋วกระดาษ สิ่งสำคัญสำหรับตั๋วกระดาษก็คือ ก่อนจะขึ้นรถ คุณต้องเอาตั๋วกระดาษนี้ไปตอกที่เครื่องเสียก่อน ปัจจุบันนี้เครื่องดังกล่าวก็ยังพบได้โดยทั่วไป ซึ่งพิธีกรรมนี้ ผู้ที่ซื้อตั๋วออนไลน์ในยุคปัจจุบันไม่ต้องทำ เพราะในตั๋วระบุวัน-เวลาเดินทางชัดเจนอยู่แล้ว ในขณะที่ตั๋วกระดาษนั้น ตราบใดที่ยังไม่ตอก คุณก็ใช้ได้ในขบวนถัดไป แต่ต้องเป็นรถไฟประเภทเดียวกันนะ ยากตรงนี้

ภาพ : www.moduli.it
นอกจากรถไฟจะแข่งกันเองแล้ว ยังมีคู่แข่งเป็นรถทัวร์อีกด้วย อ้าว ไม่ได้มีมานานแล้วหรือ ใช่ รถทัวร์น่ะมีมานานแล้ว แต่ผู้คนก็ไม่ค่อยจะนิยมเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะราคาที่ต่างกันไม่มากพอที่จะทำให้คนยอมมาเลือกหลังขดหลังแข็งอยู่บนรถเป็นเวลานาน ๆ แต่ตอนนี้ รถบัสสีเขียวตองอ่อน พะยี่ห้อว่า Flixbus ได้มีราคาที่ยั่วยวนชวนหลังแข็งมาก จากราคารถไฟหลักสิบกว่า ‘ฝลิกซ์บุส’ (เรียกแบบอิตาเลียน) มีหลายราคาให้เลือกตามแต่เวลารถ ไม่ถึงสิบก็มีถม

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์กับฝลิกซ์บุส แม่หมอขอเตือนว่า ก่อนจะผลีผลามจองไป กรุณาเช็กก่อนว่า สถานีรถที่ฝลิกซ์บุสจะจอดนั้น อยู่ตรงไหนของเมือง พลาดท่าเสียทีไปอาจจะไปเคว้งคว้างอยู่กลางทุ่ง รถราไม่มีต้องเรียกแท็กซี่ กลายเป็นแพงกว่าไปเสียฉิบ ตัวอย่างเช่น ป้ายฝลิกซ์บุสของฟลอเรนซ์นั้น อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปราว 25 นาที โชคดีที่ฟลอเรนซ์มีรถรางเชื่อมต่อป้ายนี้ที่สะดวกมาก ส่วนถ้าหากจะมาเซียน่า ฝลิกซ์บุสมีป้ายจอดแตกออกไปถึง 3 ป้าย แล้วแต่คัน เวลาเลือกต้องคลิกดูแผนที่ให้ดี
อ้อ แล้วถ้าเดินทางผ่านช่วงราว ๆ บ่ายโมง คนขับรถก็อาจจอดรับประทานอาหารกลางวันเอาเสียดื้อ ๆ เราก็จะได้สัมผัสกับ ‘คุณสาหร่าย’ ในเวอร์ชันอิตาเลียน ได้ประสบการณ์ไปอีกแบบ
ตอนแรกว่าจะจบแค่นี้ แต่ไม่พูดถึงแท็กซี่ก็ดูจะขาด ๆ หาย ๆ ไป ขอเตือนว่า แท็กซี่ไม่ใช่ของถูก นอกจากนี้ เขาคิดค่ากระเป๋าเดินทางคุณด้วยนะ คุณมีมากี่ใบเขาก็กดเพิ่มไปตามนั้น กับหากคุณเดินทางในยามวิกาลมาก ๆ เขาก็จะกดปุ่มเพิ่มอีก

ส่วนเรื่องเรือ ไม่ขอกล่าวถึง เพราะนอกจากจะมีแค่ที่เวนิสแล้ว เมืองนี้ยังมีเรื่อง (ที่ร่ำ ๆ ว่าจะ) เปลี่ยนแปลงชนิดเดือนต่อเดือน ตามไม่ค่อยทันเหมือนกัน
มีเรื่องมาแชร์แค่นี้ หวังว่าจะพอมีประโยชน์กับผู้ที่คิดจะไปอิตาลีเป็นครั้งแรกในยามเปิดประเทศ ขออวยพรให้เดินทางปลอดภัยและมีความสุข กลับมาแล้ว ส่งรูปมาอวดด้วยล่ะ
แหล่งอ้างอิง
www.autobusweb.com/bologna-tper-biglietto-contactless-autobus