ตอนอยู่อิตาลี มักมีคนถามเสมอว่า ให้อยู่เลยเอาไหม ได้แต่หัวเราะแล้วส่ายหน้า ผู้ที่รักและมองกันในแง่ดีก็คงคิดว่าช่างเป็นคนดีรักชาติบ้านเมืองเสียนี่กระไร หารู้ไม่ว่าสิ่งที่อยู่ในหัวฉันคือทองหยอดและฝอยทอง ตอนนี้ที่ต้องระวังน้ำตาลแล้ว มีใครเอาบ้านที่อิตาลีมาล่อ ก็พร้อมจะเต้นหรับ ๆ ออกไปเหมือนเงาะป่าเห็นดอกชบาสีแดง
แล้วก็มีคนเอามาล่อจริง ๆ ด้วย คนที่มาล่อก็คือทางการอิตาลีนั่นเอง ด้วยโครงการบ้านราคาถูก อันที่จริงโครงการนี้มีมาสักพักแล้ว แต่ฉันไม่ได้บอกใคร เพราะกลัวจะตามไปเป็นเพื่อนบ้านกัน
ที่ว่าถูก เท่าไหร่เหรอ
หลังละ 1 ยูโร หรือไม่ถึง 40 บาทนั่นเอง

ภาพ : edition.cnn.com
ไม่เชื่อ ของฟรีไม่มีในโลก บ้านอะไรจะถูกปานนั้น ถูกขนาดนี้ไม่ให้ฟรีเลยล่ะ
ขอตอบคำถามหรือคำประชดก่อนว่า จริง ๆ เขาก็จะให้ฟรีนั่นล่ะ แต่ก็เป็นลูกเล่นเสียหน่อยว่ายูโรเดียว ส่วนคำถามว่าอยู่ที่ไหน ขอตอบว่า มีอยู่ทั้งอิตาลีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคใต้ หากสนใจดูรายละเอียด เข้าเว็บนี้ได้เลย เลือกแบบเป็นภาษาอังกฤษไว้ให้แล้ว
ทำไมถึงขายบ้านราคาถูกอย่างนั้น
จริง ๆ แล้วบ้านเหล่านั้นคือบ้านร้าง ความร้างของบ้านเกิดมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน บางเมืองก็เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว บ้านพังจนสุดจะเยียวยารักษาไว้ได้ ผู้คนก็ทิ้งบ้านไปหาที่อยู่ใหม่ ดีกว่าจะเก็บบ้านเก่าแล้วเสียภาษีค่าบ้านไปเรื่อย ๆ แต่อีกเหตุผลสำคัญก็คือเรื่องของผู้คนที่อพยพโยกย้ายไปหางานใหม่ในเมืองใหญ่ เรื่องนี้เราคงเข้าใจได้ไม่ยากเท่าใด เนื่องจากสังคมในอิตาลีก็ไม่ต่างจากของไทยมากนักคือ ในชนบทห่างไกล คนรุ่นเก่าก็ทำการเกษตรกัน ลูกหลานถ้ามีโอกาสก็เรียนสูง ๆ เมื่อเรียนสูงแล้วก็ย่อมไม่มีงานทำในเมืองเล็ก ๆ จึงพากันเข้าเมืองใหญ่ หรือบางทีก็ไปต่างประเทศเลยก็มี บ้านเหล่านั้นจึงไม่มีคนอยู่ แต่ภาษีโรงเรือนอะไรก็ยังต้องเสีย อย่ากระนั้นเลย ทิ้งไปเลยดีกว่า
การที่หมู่บ้านมีคนค่อย ๆ ทยอยออกไปย่อมทำให้ขวัญและกำลังใจของคนที่เหลือพลอยแย่ไปด้วย เมืองกลายเป็นมีแต่คนแก่ ๆ อยู่ นับวันก็จะเงียบลงทุกที หากเป็นอย่างนี้ต่อไป การที่เมืองจะร้างย่อมเป็นไปได้สูง อันที่จริงหมู่บ้านร้างในอิตาลีก็มีจำนวนไม่น้อย เช่น เมือง Craco ที่นับเป็น Ghost Town ของอิตาลี เป็นต้น

ภาพ : it.wikipedia.org
เรื่องการกลัวเมืองจะร้างนี้ ดูส่วนราชการท้องถิ่นจะกลัวกันมาก อย่าว่าแต่ขายบ้านหลังละ 1 ยูโรเลย ก่อนหน้านี้เคยได้ยินว่ายกหอคอย ปราสาทให้ฟรี ๆ แลกกับการบูรณะมาแล้วก็ยังมี มิหนำซ้ำ บางเมืองยังถึงกับชิงรางวัลให้คนมาอยู่ด้วย แลกกับการเขียนรีวิวเมืองตลอดเวลา
กลับมาบ้านหลังละยูโรของเราต่อ เมื่อประกาศออกไป ผู้คนก็แห่แหนกระจัดกระจายกันไปดูบ้านเหล่านั้น โดยส่วนใหญ่ก็เป็นคนจากอังกฤษ อเมริกา และยุโรปทางเหนือ บางคนก็ซื้อไว้หลายหลังให้ลูก ๆ ได้อยู่ด้วยกัน

ภาพ : www.basilicata24.it
หนึ่งยูโรจริงน่ะหรือ มีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า
หากคุณรู้สึกไม่ชอบมาพากล จงอย่าได้รู้สึกผิดแต่อย่างใด เพราะสัญชาตญาณของคุณถูกต้องแล้ว
อย่างที่เกริ่นไปสักครู่ การให้บ้านฟรี ๆ ในอิตาลีก็เคยมี แลกกับการบูรณะ บ้านหนึ่งยูโรนี้ก็เช่นกัน หลัก ๆ เขาขายเพื่อตั้งใจจะให้มีคนกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อมีคนในหมู่บ้าน สีสันชีวิตชีวาก็มีขึ้น เศรษฐกิจอะไรต่ออะไรก็น่าจะดีขึ้น ความหวังหลักของเขาจึงคือ ให้คนมาซ่อมแซมและมาอยู่จริง ๆ
เขาจึงมีเงื่อนไขคร่าว ๆ ที่ผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบดังนี้ (แตกต่างออกไปแล้วแต่เมือง)
- จัดทำโครงการปรับโครงสร้างและตีราคาใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ปกติคือ 1 ปีนับจากวันซื้อ
- ค่าธรรมเนียมทนายความสำหรับการลงทะเบียน การโอน และภาษีที่ดิน
- เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จะต้องดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดโดยเทศบาลเมือง เช่น 1 ปี
- ค่าประกันว่าจะทำตามนั้นจริง โดยอยู่ราว 1,000 – 5,000 ยูโร และจะได้รับคืนหากงานสิ้นสุดภายใน 3 ปี

ภาพ : it.wikipedia.org
คุณจะเห็นว่า มันมีราคาค่างวดที่จะต้องใช้จ่ายอีกมาก เคยมีคนลองคิดเล่น ๆ ก็ราว 3 แสนกว่าบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าเครื่องบินและค่าเดินทาง ที่หลับที่นอนอื่น ๆ ระหว่างการบินไป-กลับเพื่อดูงานก่อสร้างนะ
แต่ที่สำคัญก็คือ ตัวราคาบ้านหนึ่งยูโรนั้น เอาจริง ๆ ก็อาจจะไม่ใช่ราคานั้น เนื่องจากว่า หากบ้านหลังนั้นมีคนสนใจเยอะ ก็จะมีการประมูลกันเกิดขึ้น บางหลังราคาเริ่มต้นหนึ่งยูโรก็จริง แต่คนที่ได้ไปประมูลไปด้วยราคา 9 แสนกว่าบาทก็มี นั่นยังไม่รวมราคาอื่น ๆ
เอาล่ะ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หากสนใจ ติดต่อโดยตรงได้ที่เทศบาล (Comune) บางแห่งต้องกรอกแบบฟอร์มอธิบายเหตุผลแห่งความสนใจซื้อบ้าน หลายแห่งกำหนดให้ผู้ที่คิดจะซื้อต้องไปดูบ้านก่อนด้วย เพื่อดูว่าผู้ซื้อมีความจริงจังเพียงใด
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้มาจากเว็บของทางการเอง ทางเว็บยังได้แนะนำว่า เรื่องทนายและเรื่องวิศวกรผู้รับเหมาต่าง ๆ ควรจะใช้บริการคนท้องถิ่นจะดีกว่า เพราะจะคุ้นเคยกฎหมายและระเบียบวิธีมากกว่า

ภาพ : www.facebook.com/comunefabbrichedivergemoli/
เป็นคนไทยซื้อได้จริงหรือ
ก็ต้องดูข้อตกลงระหว่างรัฐบาล แล้ว โดยทั่วไปคือหากคนอิตาเลียนสามารถซื้อในไทยได้ เราก็ซื้อในอิตาลีได้เช่นกัน
โดยสรุป ถามว่าน่าสนไหม ก็ดูเหมือนจะน่าสนนะ เท่าที่ดูในเว็บที่เขาสัมภาษณ์คนที่ไปซื้อบ้านเหล่านี้อยู่ ก็พบว่า เอาจริง ๆ แล้ว ซื้อบ้านหลังละ 1 ยูโรย่อมไม่ควรคาดหวังว่ามันจะสมบูรณ์แบบ บ้านหลายหลังเปิดเข้าไปนึกว่าตัวเองเป็นชอลิ้วเฮียง หากแต่มิได้ถล่มวังค้างคาว แต่เป็นวังนกพิราบที่ส่งเสียงอืดอือดูน่ากลัว บางบ้าน ยืนพิงผนังนิดเดียวก็พังโครมลงมา บ้านสวย ๆ ก็ต้องประมูลกันด้วยราคาสูง อีกอย่าง หมู่บ้านเหล่านั้นก็มักจะห่างไกลจากแสงสี บอกชื่อไปอิตาเลียนยังไม่รู้ว่าอยู่ประเทศตัวเองก็ยังมี
แต่มุมงดงามก็ย่อมมี ด้วยความที่เป็นชนบทนั้น ยังมีมิตรภาพของเพื่อนบ้านอยู่อย่างอบอุ่น ชาวเมือง (หลาย ๆ เมือง) มองคนต่างชาติที่มาอยู่ในหมู่บ้านของตนอย่างเป็นมิตร ผู้ซื้อรายหนึ่งบอกว่า เพื่อนบ้านชวนไปกินอาหารที่บ้าน นับเป็นลาซานญ่าที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมา และเพื่อนบ้านยังได้สอนทำอาหารอิตาเลียนอีกด้วย
แหล่งข้อมูล
casea1euro.it/come-funziona-e-agevolazioni/
www.youtube.com/watch?v=nP2vtDLTAgM
www.thetrainline.com/it/in-viaggio/europa/italia/top-10-citta-fantasma-per-ghost-tour-italia