วันนี้คุยเรื่องนวนิยายอิตาเลียนกันบ้างไหม อย่าคิดว่าเป็นบทความทางวรรณกรรมเลย เพราะมันไม่ใช่ ไม่ใช่จริงๆ เอามาเขียนเพราะพบว่าทุกครั้งที่เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังแล้วดูหูตาแวววาว ก็เลยลองเอามาเล่าให้อ่านตรงนี้บ้าง

ที่มาคือครั้งหนึ่งเคยต้องเรียนเรื่องนวนิยายอิตาเลียนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รู้สึกเปิดกะโหลกกบาลมาก เพราะเคยคิดสงสัยเหมือนกันว่าคนในช่วงนั้นอยู่กันอย่างไร เห็นภาพทีไรก็เป็นคนวิ่งอุดหูหนีหวอลงหลุมหลบภัยหน้าตามอมแมม ขึ้นมาอีกทีทุกอย่างเป็นฝุ่นควัน เอ๊ะนั่นใครอยู่ตรงกองไม้นั่น พร่ำรำพันถึงทางช้างเผือก 

มีนวนิยายให้อ่านหลายเรื่อง แต่ 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องใจมากที่สุด เลยจะมาเล่าให้อ่านกัน

  1. Tutti i nostri ieri หรือแปลง่ายๆ ได้ว่า ‘วันวานของพวกเรา’ ของนาตาเลีย กินซ์บูร์ก (Natalia Ginzburg)
  2. L’Agnese va a morire หรือแปลง่ายๆ ได้ว่า ‘อัญเญเซไปตาย’ ของ เรนาตา วิกาเนาะ (Renata Viganò)
  3. La ciociara หรือแปลง่ายๆ ได้ว่า ‘สาวชาวโชชาเรีย’ ของ อัลแบร์โต โมราเวีย (Alberto Moravia)

นวนิยายทั้งสามมีจุดร่วมเหมือนกันคือตัวละครเอกเป็นผู้หญิง และใช้เหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นฉากหลัง ความเป็นตัวละครหญิงและความที่นักเขียนเป็นผู้หญิงเกือบทุกเรื่องนี่ล่ะ ที่ทำให้นวนิยายเหล่านี้เป็น ‘คันฉ่อง’ สะท้อนภาพสังคมสมัยนั้นอย่างเนียนๆ และละเมียดละไม

เล่าเรื่องย่อแบบพยายามจะไม่สปอยล์นะ

3 นิยายดังจากอิตาลี ที่เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านผู้หญิงอิตาเลียน
หน้าปกวันวานของเรา
ภาพ : www.mondadoristore.it

เรื่องแรก ‘วันวานของเรา’ เป็นเรื่องของ อันนา เด็กสาวคนหนึ่งในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีฐานะ ไม่เดือดร้อนอะไร เธออยู่ตูรินอันเป็นเมืองทางเหนือ พี่ชายของเธอเป็นปัญญาชนที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลฟาสซิสต์ในสมัยสงคราม เรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘เสรีอิตาเลียน’ แล้วกัน แต่เป็นแนวปัญญาชน แนวประชุม แนวออกหนังสือสิ่งพิมพ์ เธอได้พลาดเสียทีหนุ่มหน้าตาดีคนหนึ่งจนท้อง แต่หนุ่มนั้นได้ย้ายจากไป เพื่อนของพ่อเธอได้มาช่วยกู้หน้าครอบครัวโดยการแต่งงานกับเธอ แล้วย้ายลงไปอยู่ในแถบภาคกลางของอิตาลีอันแร้นแค้น… เล่าแค่นี้แล้วกัน

3 นิยายดังจากอิตาลี ที่เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านผู้หญิงอิตาเลียน
หน้าปกอัญเญเซไปตาย
ภาพ : www.amazon.it

เรื่องที่สอง ‘อัญเญเซไปตาย’ นั้น เป็นชื่อเรื่องที่สปอยล์มาก คือรู้แน่ๆ ว่าตัวเอกไปตาย แต่ก็เอาเถอะ ความสำคัญของเรื่องอยู่ตรงระหว่างทางต่างหาก อัญเญเซเป็นหญิงอ้วนใหญ่วัยกลางคนมีอาชีพเป็นหญิงซักผ้า อยู่กับสามีที่ป่วยกระเสาะกระแสะและแมวสีดำตัวหนึ่ง วันหนึ่งทหารเยอรมันเมาจับสามีของนางเอาไปเป็นทหารแล้วยังเมายิงแมวตายอีก นางจึงฆ่าทหารเยอรมันคนนั้น จากนั้นจึงหนีเข้าไปสมทบกับพวกเสรีอิตาเลียน คราวนี้คนละแนวกับพวกตูริน พวกนี้เป็นแนวกองโจรเลย อาศัยว่าตัวเองเป็นมีรูปลักษณ์ที่ดูไม่น่าจะแก่นแก้วกฤษดาดอยอะไรได้ นางจึงรับบทเป็นนางส่งของ และเป็นเหมือนแม่ของพวกนักรบใต้ดินเหล่านั้น ตอนจบนางตาย โอเคอันนี้เล่าได้ เพราะชื่อเรื่องก็เฉลยจนไม่รู้จะยังไงแล้ว

3 นิยายดังจากอิตาลี ที่เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านผู้หญิงอิตาเลียน
หน้าปกสาวชาวโชชาเรีย
ภาพ : en.wikipedia.org
3 นิยายดังจากอิตาลี ที่เล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านผู้หญิงอิตาเลียน
แผ่นปิดภาพยนตร์เรื่อง สาวชาวโชชาเรีย
ภาพ : www.imdb.com

เรื่องที่สาม ‘สาวชาวโชชาเรีย’ เรื่องนี้คอหนังโบราณหลายคนรู้จักโดยไม่รู้ตัวเพราะเคยเป็นหนังมาแล้วแสดงโดย โซเฟีย ลอเรน (Sophia Loren) ใครไม่รู้จักโซเฟีย ลอเรน ก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจอะไรไป นางเป็นดารา จบนะ 

นางเอกของเรื่องนี้ชื่อ… อืมม… อะไรนะ… จำไม่ได้… อ้อ เชซีร่า นางเป็นซิงเกิ้ลมัม มีร้านขายของอยู่ในกรุงโรม มีลูกสาวอยู่คนหนึ่งชื่อโรสเซ็ตต้า วันหนึ่งก็มีผู้หวังดีบอกว่า ภาวะสงครามอย่างนี้ อย่าอยู่ในโรมเลย ออกไปอยู่นอกเมืองเถอะ นางก็ อ้ะ ไปก็ไป ทั้งที่เสียดายว่ากำลังซื้อง่ายขายคล่องกับกิจการตลาดมืดอย่างนี้ ในใจคิดว่าคงไม่กี่วัน จากคนที่ไม่เห็นว่าสงครามจะไปมีอะไร้ ก็พบว่า สงครามนั้นไม่เป็นมิตรกับใครจริงๆ ไม่เล่าตอนครึ่งเรื่องหลัง อันนี้มีหนังที่ใกล้เคียงกับนิยายพอสมควร ชื่อเรื่อง Two women และโซเฟีย ลอเรน ได้รับรางวัลออสการ์ในฐานะนักแสดงนำฝ่ายหญิงจากเรื่องนี้ใน ค.ศ. 1960

ภาพสงครามที่เห็นจากหนังสือแต่ละเล่ม

วันวานของเรา

เล่มแรก วันวานของเรา ด้วยความที่เรื่องนี้มองผ่านเด็กสาวลูกคนมีฐานะผู้อ่อนต่อโลก ในเรื่องไม่ค่อยมีฉากสงครามสักเท่าไหร่ เธอก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ มีแต่พี่ชายของเธอเท่านั้นที่ทำตัวลึกลับ ชอบนัดเพื่อนมาแล้วปิดประตูคุยกัน วันดีคืนดีก็เผาเอกสารอะไรให้วุ่นวายเพื่อทำลายหลักฐาน แล้วก็มีการวิ่งหนีตำรวจทหารไปตามหลังคาตึก จนอันนามีความคิดแค่ว่าการเป็นเสรีอิตาเลียนก็คือการวิ่งหนีไปตามหลังคาตึกแค่นั้น น่าสนุกจะตาย 

จากนั้นอันนาก็ย้ายไปอยู่ทางตอนกลางของอิตาลี ในหมู่บ้านที่ยากจนแร้นแค้น ที่นั่นเธอไม่เป็นอันทำอะไรนอกจากดูแลลูกน้อย สงครามดูห่างไกลของชีวิตเธอเหลือเกิน เธอพบว่าคนที่นั่นแทบไม่เดือดร้อนอะไรเลย เอาใหม่ ต้องบอกว่า ไม่ได้เดือดร้อนมากไปกว่าเดิมเท่าไหร่เลย ดังนั้น ในเรื่องเราจึงสัมผัสได้กลายๆ ว่า คนที่เดือดร้อนคือคนในเมือง ส่วนคนยากจนนอกเมือง ก็ราวกับชีวิตต้องผจญสงครามมาตลอดชีวิต มีหรือไม่มีสงครามก็แทบไม่ต่างกันเลย

อัญเญเซไปตาย 

เรื่องนี้ เราจะเห็นภาพการทำงานของพวกเสรีอิตาเลียนว่ามิได้มีแต่เพียงหน่วยจู่โจม แต่มีกองหลังซึ่งเป็นผู้หญิงอย่างเช่นอัญเญเซคอยทำอาหารให้ คอยปะชุนเสื้อผ้าให้ และมีการส่งของให้

เรื่องราวของเธอทำให้มองเห็นว่า การเข้าร่วมเป็นเสรีอิตาเลียน อย่างน้อยในแบบของเธอนั้น เธอไม่ได้มีปณิธานอันหาญมุ่งอะไรทั้งนั้น เธอฆ่าทหารเยอรมันก็เพราะมาฆ่าแมวอันเป็นตัวแทนของสามีเธอ เธอเข้าร่วมขบวนการเพราะไม่มีที่ไป เธอทำให้อะไรต่ออะไรให้ทุกคนเพราะเป็นสิ่งที่เธอควรจะทำ แม้แต่ตอนตาย เธอก็มิได้ตายเพราะแอ่นอกรับกระสุนแทนใคร หรือถูกทรมานเพราะเก็บความลับของใครทั้งสิ้น ชอบการสร้างตัวละครเสรีอิตาเลียนในเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเป็นผู้หญิงแล้ว ดูไม่วีรกรรมดี ไม่อนุสาวรีย์ดี จะว่ากดตัวละครหญิงไม่ให้มีวีรกรรมก็ไม่น่าจะใช่ คนเขียนก็เป็นผู้หญิง ท่าทางจะเบื่อกับพวกนักเขียนผู้ชายขี้โม้ในยุคนั้นมากกว่า เพราะว่ากันว่า พอสงครามโลกเลิก คนก็ออกมาเขียนหนังสือว่าด้วยวีรกรรมของความเป็นเสรีอิตาเลียนของตัวเองกันยกใหญ่

สาวชาวโชชาเรีย

ด้วยความที่เรื่องนี้อยู่ในโรม อันเป็นฐานหลักของรัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินี เชซีร่าเองก็เป็นชาวบ้านร้านตลาดแท้ๆ ตัวละครตัวนี้จึงน่าสนใจมาก เพราะนางมิได้มีความชิงชังมุสโสลินีแต่อย่างใด ออกจะยกย่องเทิดทูน เชื่อตามโฆษณาชวนเชื่อของมุสโสลินีทุกประการ นางไม่คิดว่าสงครามเป็นเรื่องใหญ่ นางเอ็นจอยกับการของในตลาดมืด สรุปคือนางไม่ทุกข์ไม่ร้อนอะไรเลยถึงแม้นางจะอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์หลักของสงครามในอิตาลีก็ว่าได้

ต่อเมื่อนางออกไปอยู่ในชนบทอันห่างไกลและต้องเปลี่ยนบทบาทจากแม่ค้าเป็นลูกค้านั่นล่่ะ นางถึงสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนไป แต่นั่นยังไม่เท่ากับประสบการณ์อื่นๆ ที่นางไม่คาดฝัน ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากสงคราม เหตุการณ์แรกที่ทำให้นางเปลี่ยนความคิดคือ ระหว่างที่เดินอยู่กับลูกสาว นางก็ถูกทหารที่อยู่บนเครื่องบินลาดตระเวนตามไล่ยิง นางจึงได้สำเหนียกว่า คนในสงครามนี่เป็นศัตรูกันได้แม้โดยไม่รู้จักกัน

สิ่งเหล่านั้นเป็นบางช่วงบางตอน บางเรื่องบางราวที่เก็บมาเล่าสู่กันฟังในพื้นที่อันจำกัด โดยสรุปก็คือ ได้เห็นภาพว่า ชีวิตช่วงสงครามก็มิได้โหดหรือวิ่งลงหลุมหลบภัยทุกขณะจิต ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป มีบ้างที่แร้นแค้นอัตคัด แต่คนที่เดือดร้อนเรื่องนี้มักจะเป็นคนเมือง หรือคนมี คนที่ไม่เคยมีกลับไม่ค่อยได้เห็นความแตกต่างอะไรเช่นนั้น 

อีกสิ่งที่ได้เห็น ถือเป็นผลพลอยได้จากการอ่าน คือความเป็นแม่ ที่ทุกข์หนักในชีวิตของตนนั้นไม่ใช่ระเบิดหรือความอดอยากใดๆ หากแต่เป็นความทุกข์ของลูก ยิ่งเป็นความทุกข์ที่ตัวเองแบ่งเบาบรรเทาไม่ได้ ยิ่งทุกข์หนักกว่าเรื่องใดๆ ในสงคราม

ถามว่านึกยังไงถึงมาเขียนเรื่องนี้เอาตอนนี้ ก็ต้องบอกว่า จริงๆ คิดถึงเรื่องนี้มานานแล้วตั้งแต่ COVID-19 มาใหม่ๆ คิดอยู่เสมอและเคยพูดกับเพื่อนๆ ว่า ชีวิตของเราตอนนี้ก็น่าจะคล้ายๆ ชีวิตคนในยุคสงคราม จนกระทั่งมีคนมาบอกว่า คุณยายก็บอกอย่างนี้เหมือนกัน ก็เลยเอานวนิยาย 3 เรื่องนี้มาย่อยให้อ่านกัน พร้อมทั้งขอส่งกำลังใจให้ทุกคนมีเรี่ยวแรงกำลังในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วยกันเทอญ

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า