ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมาเขียนเรื่องนี้ เพราะกลัวการแตะเรื่องศาสนามาก แต่เนื่องจากมีวันหนึ่งสอน ๆ อยู่ ก็คุยกับนักเรียนเรื่องนักบุญ แล้วพบว่านักบุญเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนอิตาเลียนมาก ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เช่นเดียวกับตอนอื่น ๆ ของบทความนี้ อย่าหาความลึกซึ้งใด ๆ นี่มันยิ่งกว่าวิชา ‘พื้นฐานวัฒนธรรมอิตาเลียน 101’ เสียอีก

นักบุญกับชื่อคนอิตาเลียน

ความสัมพันธ์ประการแรก ได้แก่ ชื่อของคนอิตาเลียน หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า ชื่อของคนอิตาเลียนมักซ้ำไปซ้ำมา ส่วนใหญ่เป็นชื่อของนักบุญแทบทั้งสิ้น นาน ๆ จะเจอคนชื่อแหวกแนวให้เราได้ฮือกัน เช่น ฉันเคยมีเพื่อนใหม่คนหนึ่ง แนะนำตัวในงานปาร์ตี้ว่าชื่อ Rosalba (โรซาลบา อันอาจแปลได้ว่า กุหลาบยามอรุณ) เล่นเอาคนทั้งวงฮือขึ้นมา แล้วบทสนทนาก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่มาของการตั้งชื่อนี้ทันที หรือครั้งหนึ่งเคยมีเพื่อนถามฉันว่า ที่เมืองไทยมีนักบุญบุสก้าด้วยเหรอ

นักบุญกับวันแต่ละวัน

ปฏิทินในอิตาลี หรืออาจกล่าวได้ว่า ปฏิทินคาทอลิก ในแต่ละวันจะมีชื่อวันประจำนักบุญต่าง ๆ การกำหนดว่าวันไหนเป็นของนักบุญใด เป็นหน้าที่ของทางคริสตจักร การเลือกว่านักบุญไหนอยู่วันใด ก็จะต้องดูความเกี่ยวโยงกับนักบุญท่านนั้น ๆ เช่น นักบุญวาเลนไทน์ เป็นนักบุญประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพราะตามตำนานท่านมรณภาพในวันนั้น (อ่านเรื่องราวของท่านได้อีกนิดที่คอลัมน์ตอน ตามหาเมืองแห่งวาเลนไทน์ที่แท้จริงของอิตาลี ที่เป็นบ้านเกิดและที่ตายของนักบุญวาเลนไทน์)

นักบุญประจำตัวคนอิตาเลียน และนักบุญของนักบินอวกาศ แอร์โฮสเตส ช่างตัดเสื้อ สัตวแพทย์
นักบุญวาเลนตีโน
ภาพ : laprensatexas.com

คนอิตาเลียนโบราณจำวันต่าง ๆ ด้วยวันของนักบุญ คงเหมือนเราจำวันเป็นข้างขึ้นข้างแรมในสมัยก่อน พบว่าในเอกสารโบราณของอิตาลี หมายวันกันด้วยชื่อนักบุญ จำกันได้ยังไงก็สุดจะเดา ปัจจุบันแม้คนอิตาเลียนจะเรียกวันเป็นแบบสากลกันแล้ว แต่ก็ยังมีบางวันที่คนอิตาเลียนนิยมเรียกด้วยชื่อนักบุญ เช่น หลังวันคริสต์มาส 1 วัน ที่อังกฤษเรียกว่า Boxing Day นั้น อิตาเลียนเรียกว่า วันซานโต สเตฟาโน (Santo Stefano) วันสิ้นปีเรียกว่า วันซาน ซิลเวสโตร (San Silvestro)

นักบุญประจำตัวคนอิตาเลียน และนักบุญของนักบินอวกาศ แอร์โฮสเตส ช่างตัดเสื้อ สัตวแพทย์
รูปปั้นนักบุญซานโต สเตฟาโน
ภาพ : commons.wikimedia.org

หรือบางวันก็ไม่ถึงกับเรียกด้วยชื่อ แต่ก็ระลึกถึงเสมอ เช่น ถ้าถามคนอิตาเลียนว่า วันไหนนะเธอที่ได้ชื่อว่าเป็นวันที่มีดาวตกเยอะสุดในรอบปี คนอิตาเลียนก็มีแนวโน้มสูงที่จะบอกว่า (คืน) วันซาน ลอเรนโซ (San Lorenzo) ไงล่ะ แล้วจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า วันที่ 10 สิงหาคม เป็นต้น (อ่านได้ในคอลัมน์ตอน คืนแห่งนักบุญลอเรนซ์วันที่ 10 สิงหาคม คืนที่คนอิตาลีเชื่อว่ามีดาวตกเยอะมากที่สุด)

วันฉลองนักบุญวันเกิด

ดังที่ได้บอกไปแล้วว่า คนอิตาเลียนส่วนใหญ่มีชื่อเป็นนักบุญ และทุกวันก็มีนักบุญประจำวัน ด้วยเหตุนี้เด็กอิตาเลียนจึงมีวันฉลองสำคัญอยู่ 2 วัน คือวันเกิด และอีกวันคือวันฉลองนักบุญ หรือที่เรียกว่า โอโนมาสติโค (Onomastico)

ยกตัวอย่างง่าย ๆ น้องวาเลนตีโน ก็จะมีวันสำคัญของตัวเอง 2 วันต่อปี (เป็นอย่างน้อย) นั่นคือวันเกิดของน้อง และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะน้องแก่แดดแก่ลมแต่อย่างใด หากแต่เพราะวันดังกล่าวมีนักบุญประจำวันคือ นักบุญวาเลนตีโน หรือชื่อ วาเลนไทน์ ในภาษาอังกฤษเท่านั้นเอง

ที่เรียกว่า ‘น้อง’ เพราะผู้ที่ดูจะตื่นเต้นกับวันฉลองนักบุญวันเกิด ส่วนใหญ่มักเป็นเด็ก ผู้ใหญ่จะไม่ค่อยฉลองวันเหล่านี้แล้ว อาจลืมไปด้วยซ้ำ เคยมีเด็กมาเล่าให้ฟังว่า ไปอวยพรวันฉลองนักบุญอาจารย์อิตาเลียนท่านหนึ่ง อาจารย์อึ้งไปครู่ใหญ่ แล้วก็รำพึงออกมาว่า “จริงด้วย ฉันลืมไปแล้ว”

นักบุญประจำเมือง

นอกจากนักบุญจะอยู่ในชื่อแล้ว ยังอยู่รอบตัวคนอิตาเลียนในมิติอื่น ๆ อีกด้วย เรียกได้ว่าถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นคาทอลิก แต่ก็มิอาจมิรับรู้ได้ เมืองแต่ละเมืองล้วนมีนักบุญประจำเมือง เมืองโรมคือ นักบุญปีเตอร์ และ นักบุญพอล เมืองโบโลญญาคือ นักบุญปีโตรนัส เมืองเนเปิลส์คือ นักบุญเจนนาโร เมืองมิลานคือ นักบุญอัมบรอโจ ส่วนเมืองฟลอเรนซ์มีนักบุญร่วมกัน คือ นักบุญจอห์น แบปติสต์

ในวันที่นักบุญท่านนั้นปรากฏในปฏิทินคาทอลิก เมืองนั้น ๆ ก็มักจะกำหนดให้เป็นวันหยุด แล้วในเมืองก็จะฉลองกันอย่างเอิกเกริก

ไม่ได้มีแค่นักบุญประจำเมือง นักบุญประจำประเทศอิตาลีก็มีเช่นกัน นั่นคือ นักบุญแคทเธอรีนแห่งเซียน่า (Santa Caterina da Siena) และ นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี (San Francesco d’Assisi)

นักบุญประจำตัวคนอิตาเลียน และนักบุญของนักบินอวกาศ แอร์โฮสเตส ช่างตัดเสื้อ สัตวแพทย์
นักบุญแคทเธอรีนแห่งเซียน่า
ภาพ : en.wikipedia.org
นักบุญประจำตัวคนอิตาเลียน และนักบุญของนักบินอวกาศ แอร์โฮสเตส ช่างตัดเสื้อ สัตวแพทย์
นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี
ภาพ : view.genial.ly

นักบุญประจำกลุ่มคน

คนไทยพุทธ-พราหมณ์ มีพระพิฆเนศเป็นเทพประจำศิลปินฉันใด อิตาเลียนคาทอลิกก็มี นักบุญลูกา ประจำอาชีพศิลปินได้ฉันนั้น แต่ไม่ใช่แค่อาชีพศิลปินเท่านั้น อาชีพใด ๆ ในอิตาลีก็ล้วนแล้วแต่มีนักบุญประจำทั้งสิ้น

การได้รับเลือกเป็นนักบุญประจำอาชีพนั้น มิได้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการโดยศาสนจักร หากแต่เป็นการเชื่อต่อ ๆ กันมาโดยมิอาจรู้ได้ว่าต้นเรื่องเป็นใคร แต่หากถามว่าด้วยเหตุใดคนเหล่านี้จึงยกนักบุญท่านโน้นท่านนี้ขึ้นมาเป็นนักบุญประจำ ตอบได้ว่าเพราะลักษณะ นิสัย หรือการกระทำในชีวประวัติของท่าน มีอะไรบางอย่างที่เกี่ยวโยงกับคนกลุ่มนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น นักบุญฟรานซิส นักบุญประจำอาชีพสัตวแพทย์ เพราะเชื่อว่าท่านคุยกับสิงสาราสัตว์ได้ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นนักบุญของพวกขอทานด้วย เพราะท่านใช้ชีวิตสมถะเยี่ยงยาจก หรือ นักบุญโจเซฟ นักบุญประจำอาชีพช่างฝีมือ เพราะท่านเป็นช่างไม้ เป็นอาทิ

อาจยังไม่แปลกหูแปลกตาพอ ลองดูอาชีพเหล่านี้บ้างเป็นไร

นักบุญประจำนักบินอวกาศ ได้แก่ นักบุญโจเซฟแห่งเมืองโคแปร์ตีโน (Giuseppe da Copertino) เพราะเล่ากันว่าปรากฏอัศจรรย์ ท่านลอยตัวขึ้นระหว่างประกอบพิธีมิสซาอยู่มากกว่า 1 ครั้ง

นักบุญประจำตัวคนอิตาเลียน และนักบุญของนักบินอวกาศ แอร์โฮสเตส ช่างตัดเสื้อ สัตวแพทย์
นักบุญโจเซฟแห่งเมืองโคแปร์ตีโน
ภาพ : it.wikipedia.org

นักบุญประจำแอร์โฮสเตสและมัคคุเทศก์คือ นักบุญโบนาดิปิซา (Bona di Pisa) เพราะได้นำทางผู้คนพร้อมทั้งช่วยเหลือทุกอย่าง ระหว่างทางไปจาริกแสวงบุญในสเปนถึง 9 ครั้ง

นักบุญประจำตัวคนอิตาเลียน และนักบุญของนักบินอวกาศ แอร์โฮสเตส ช่างตัดเสื้อ สัตวแพทย์
นักบุญโบนาดิปิซา
ภาพ : insidethevaticanpilgrimages.com

บางอาชีพก็มีนักบุญประจำอาชีพมากกว่า 1 รูป ยกตัวอย่างเช่น ช่างตัดเสื้อ มีนักบุญประจำอาชีพอยู่อย่างน้อย 5 รูป ได้แก่

นักบุญแอน หรือยายพระเยซู อาจเพราะท่านมีภาพความเป็นหญิงที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เย็บชุนเสื้อผ้า

นักบุญบาร์โตโลเมโอ หนึ่งในอัครสาวก เพราะท่านตายโดยการถูกถลกหนัง อันที่จริงท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของอาชีพที่ใช้มีดหรือของมีคมแทบทั้งสิ้น

นักบุญจอห์น แบปติสต์ อาจเพราะท่านนำหนังเสือมาตัดเย็บเป็นอาภรณ์ แปลว่าต้องมีความรู้เชิงช่างอยู่มิใช่น้อย

นักบุญมาร์ตีโนแห่งเมืองตูร์ เพราะท่านได้ตัดเสื้อคลุมแบ่งให้ขอทาน เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บ

นักบุญโอโมโบโน เนื่องจากท่านเป็นพ่อค้าขายผ้ามาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีนักบุญประจำกลุ่มคนที่ไม่ได้แยกตามอาชีพด้วย เช่น กลุ่มคนตาบอด มี นักบุญลูเซีย (Santa Lucia) เป็นนักบุญผู้ปกป้องพวกตน เนื่องจากตามตำนาน ชายนอกศาสนาผู้มีอิทธิพลบังคับให้ท่านแต่งงาน ด้วยหลงรักในดวงตาคู่งามของท่าน ท่านจึงควักลูกตาออกเสีย

นักบุญลูเซีย
ภาพ : en.wikipedia.org

ไม่แค่นั้น นักบุญประจำ ‘คอ’ ก็ยังมี ได้แก่ นักบุญบียาโจ (San Biagio) เนื่องจากท่านเคยช่วยเด็กที่ก้างปลาติดคอให้รอดชีวิตมาได้

เราจะพบเจอนักบุญได้ที่ไหน

เมื่อคุณไปอิตาลี คุณอดไม่ได้หรอกที่จะไปเดินเยี่ยมชมโบสถ์ วิหาร หรือเดินหอศิลป์ ที่เหล่านี้แหละที่คุณจะได้พบกับนักบุญท่านต่าง ๆ ผ่านบรรดารูปสลักและจิตรกรรม

แล้วเราจะรู้ว่าท่านเป็นใครได้อย่างไร

แน่นอนว่าหากไม่ใช่นักบุญในสมัยใหม่อย่างเช่น นักบุญเทเรซา เราย่อมไม่รู้ว่าท่านหน้าตาเป็นอย่างไร ดังนั้นในการสร้างสรรค์งานศิลปะหรือการอ้างถึงใด ๆ จึงต้องมีตัวบอก เช่น เพศที่ชัดเจน เครื่องแต่งกาย ของที่ถือ สัตว์ที่อยู่แวดล้อม เป็นต้น ของที่บอกจะมีอย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ได้ ต่อไปนี้คือพื้นฐานการดูนักบุญสำหรับมือใหม่ ได้แก่

นักบุญปีเตอร์ ชายแก่มีเครา ถือกุญแจ เพราะท่านเป็นผู้ถือกุญแจประตูสวรรค์

นักบุญพอล ถือดาบ หนังสือ เพราะท่านเป็นหนึ่งในผู้เขียนพระวรสาร และถือว่าเป็นนักรบ (ทางจิตวิญญาณ) ผู้ต่อสู้เพื่อศาสนาคริสต์

นักบุญปีเตอร์กับนักบุญพอล
ภาพ : urbanpost.it

นักบุญลูกา อยู่กับวัวและหนังสือ

นักบุญมาร์ค อยู่กับสิงโต

นักบุญมาร์ค
ภาพ : www.catholicfaithstore.com

นักบุญจอร์จ ถือหอก อยู่กับมังกร

นักบุญแอนดรูว์ อยู่กับไม้กางเขนรูปตัว X เพราะท่านถูกตรึงบนกางเขนรูปนี้

นักบุญแอนดรูว์ ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
ภาพ : michelangelobuonarrotietornato.com

นักบุญเวโรนิกา ถือผ้าที่มีใบหน้าของพระเยซู เนื่องจากท่านเป็นผู้ซับเหงื่อและเลือดของพระเยซู ระหว่างทางเดินไปยังสถานที่ตรึงกางเขน

นักบุญเวโรนิกา ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
ภาพ : michelangelobuonarrotietornato.com

นักบุญโจเซฟ มักอยู่กับพระกุมารเยซู ถือดอกลิลลี่ รอบตัวมักมีอุปกรณ์ช่างไม้

นักบุญโจเซฟ
ภาพ : www.catholicnewsworld.com

ถ้าคิดในใจว่า อุปกรณ์ช่างไม้น่ะเข้าใจได้ แต่ดอกลิลลี่นั้นมาได้ยังไง จริง ๆ ดอกลิลลี่เป็นเครื่องหมายที่บอกว่า นักบุญในรูปนั้นเป็นชายหรือสาวบริสุทธิ์ สัญลักษณ์เช่นนี้ก็จะช่วยให้เราดูออกได้ง่ายขึ้น

เอาล่ะ พอหอมปากหอมคอ ใครจะต้องคบค้าสมาคมกับคนอิตาเลียน หรือใครจะไปอิตาลี ก็จะสนุกขึ้นแล้ว แค่เวลาไปโบสถ์ไหน มองหานักบุญปีเตอร์ในร่างของชายชราถือกุญแจให้เจอก็ตื่นเต้นแล้ว

อ้อ ถ้าอยากรู้เรื่องสัญลักษณ์เหล่านี้ แนะนำหนังสือเล่มนี้เลย ‘เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์’ แปลโดย ศาสตราจารย์กุลวดี มกราภิรมย์ อ่านสนุกมาก

ข้อมูลอ้างอิง

www.pitturaomnia.com/pitturaomnia_00012b.htm

it.cathopedia.org/wiki/Lista_di_santi_patroni_cattolici_(professioni)

www.santiebeati.it/dettaglio/35350

www.quatarobpavia.it/san-biagio-pavia/

urbanpost.it/il-santo-del-giorno-29-giugno-santi-pietro-e-paolo/

michelangelobuonarrotietornato.com/2021/01/30/san-pietro-quattro-pilastri-quattro-santi-e-quattro-reliquie/

www.catholicnewsworld.com/2016/03/10-amazing-facts-about-st-joseph-to.html

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า