พูดถึงพิซซ่า ใครฤาจะไม่รู้จัก

ครั้งหนึ่งในอิตาลี เคยริอ่านจะทำพิซซ่าให้เพื่อนรุ่นน้องร่วมบ้านกินวันเกิด ก็กุลีกุจอเชียวนะ วิ่งเข้าห้องสมุด หาตำราทำ ก็ให้มาสะดุดที่ตำราอาหารเล่มหนึ่ง เขียนโดย โซเฟีย ลอเรน (Sophia Loren) ดาราฮอลลีวูดรุ่นใหญ่ที่มีเชื้อสายอิตาเลียน ไม่สิ นโปลีเลยล่ะ แหม อะไรจะเหมาะเหม็งเช่นนั้น เจ้าถิ่นแท้ๆ เหมือนป้าย่นมาสอนทำแหนมยังไงยังงั้น

หยิบหนังสือมาพลิกไปยังหน้าที่ว่าด้วยพิซซ่า ป้าโซเฟียบอกว่า

“พิซซ่า ถ้าอยากกินให้อร่อย… ไปกินที่ร้าน”

ตึง!

นี่มันจังหวะซิตคอมชัดๆ!

ว่าแล้วป้าก็สอนอย่างอื่นต่อไป

Pizza นั้นคนอิตาเลียนออกเสียงว่า ปิ๊ต-ส่ะ การออกเสียงที่ผิดเพี้ยนไปจากนี้อาจทำให้เขารู้สึกว่าคุณอยากไปหย่อนลูกตุ้มจากหอเอนของกาลิเลโอก็ได้ แต่ในที่นี้จะขอสะกดแบบที่ทุกคนคุ้นเคยว่า พิซซ่า แล้วกัน

 Antica Pizzeria Port’Alba ร้านพิซซ่าร้านแรกของอิตาลี
ร้านพิซซ่าร้านแรกของอิตาลี
ภาพ : www.genteditalia.org

เชื่อกันจริงจังว่าพิซซ่ากำเนิดที่นโปลี (Napoli ภาษาอังกฤษคือ Naples) ในราวศตวรรษที่ 16 ร้านพิซซ่าร้านแรกก็เกิดที่นั่น ชื่อ Antica Pizzeria Port’Alba ส่วน ‘คำ’ ว่าพิซซ่านั้นปรากฏมาก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ ค.ศ. 997 แต่ที่คนไม่นับว่าพิซซ่าเกิดขึ้นตอนนั้น อาจเป็นเพราะเราไม่รู้ว่า Pizza ในเอกสาร (ที่เขียนด้วยภาษาละติน) หมายถึงสิ่งเดียวกันนี้หรือไม่

ปัจจุบัน พิซซ่าแพร่หลายไปทั่วโลก ลักษณะหน้าตาแปลกไปจนต้นตำรับเกิดอาการวิตก ที่นโปลีจึงได้เกิดสมาคมพิซซ่านโปลีที่แท้จริง (Associazione Verace Pizza Napoletana) และได้กำหนดลักษณะพิซซ่าต้นตำรับของเมืองตนเอาไว้ เช่น ต้องแผ่แป้งด้วยมือเท่านั้น ต้องอบในเตาฟืน พิซซ่าต้องหนาไม่เกิน 4 มิลลิเมตร ขอบสูง 1 – 2 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 35 เซนติเมตร มอซซาเรลล่าต้องกระจายให้ทั่ว น้ำมันมะกอกต้องโรยเป็นเกลียว ฯลฯ

จริงจังกันถึงขนาดนี้

พิซซ่าต้องอบในเตาฟืน และต้องวางบนพื้นเตาโดยตรง
พิซซ่าต้องอบในเตาฟืน และต้องวางบนพื้นเตาโดยตรง
ภาพ : www.meteoweb.eu

แล้วการกินพิซซ่าในอิตาลีล่ะ ต้องกำหนดวิธีกินด้วยหรือเปล่า

ก็ไม่ถึงขนาดนั้น งั้นลองตอบตามที่มักได้ยินคนถามมาแล้วกัน

พิซซ่าอิตาเลียนต้องกินทั้งถาดใช่หรือไม่

พิซซ่ามีด้วยกันหลายแบบ ถ้าไปกินที่ร้าน ก็จะเป็นกลมๆ แบนๆ ถ้าอย่างนั้นน่ะใช่ ควรจะกินให้หมดถาด ไป 4 สั่ง 2 ร้านก็เสียที่นั่งไป อันที่จริงก็ไม่มีใครบังคับให้กินหมดถาดหรอกนะ ไม่หมดก็ปล่อย แต่ก่อนจะทึกทักไปขอแบ่งกับเพื่อนคนละครึ่งน่ะ ถามเพื่อนให้แน่ใจก่อนนะว่าเพื่อนอยากแบ่งด้วยหรือไม่ เขาอาจจะอยากกินทั้งถาดก็ได้ เพราะเอาจริงมันก็ไม่ได้เยอะมากนะ มันบาง

แต่ถ้าเราไม่อยากกินทั้งถาดจริงๆ ในอิตาลีก็มีพิซซ่าแบบแบ่งขาย ก็กินอย่างนั้นไปสิ แต่มันก็มีหน้าไม่กี่หน้าให้เลือกหรอกนะ แล้วมักจะหนากว่าพิซซ่ากลมด้วย

พิซซ่าอิตาเลียนไม่มีหนานุ่มใช่ไหม

ถ้าเป็นพิซซ่ากลมก็ไม่มีหนานุ่ม อย่าว่าแต่หนานุ่มเลย ขนาดก็มีขนาดเดียว ส่วนพิซซ่าหนานุ่มนั้น ก็เห็นมีอยู่นะแต่เป็นแบบแบ่งตัดขายไว้เดินกิน จริงๆ มันเป็นแป้งอีกแบบด้วยล่ะ มันชื่อ โฟกัชช่า (Focaccia) มันหนากว่าและทรงตัวได้ดีกว่าแป้งบาง เหมาะสำหรับการแบ่งเป็นชิ้นๆ ขาย

พิซซ่าอิตาเลียนไม่ใส่สับปะรดใช่ไหม

สับปะรดเป็นผลไม้ ใส่ผลไม้อะไรลงไปก็ไม่ได้ทั้งนั้นล่ะ อันที่จริงไม่ใช่แค่เพราะมันเป็นผลไม้หรือความรู้สึกผิดขนบหรอก อาหารอิตาเลียนไม่มีรสหวานเลย ของหวานก็ส่วนของหวาน ไม่ปะปนกัน

พิซซ่าอิตาเลียนไม่ใส่ Ketchup จริงหรือไม่

จริง เหตุผลน่าจะเป็นเพราะมันหวาน แต่ถ้าคุณจะใส่กับพิซซ่าอเมริกันก็ไม่ว่านะ แต่ในร้านอาหารอิตาเลียนจะไม่มี Ketchup เลย คงไม่ได้ห้ามกับพิซซ่าอย่างเดียวหรอก คำศัพท์ภาษาอิตาเลียนคำนี้ยังไม่มีด้วยซ้ำ

สิ่งอื่นๆ ที่คุณอาจจะอยากรู้เกี่ยวกับพิซซ่า

  • คุณควรกินพิซซ่าด้วยมือ อย่าห่วงสวย อย่าไฮโซ อย่ามาดามทูต มันเป็นอาหารที่เป็นกันเอง เด็กวัยรุ่นอิตาเลียนเวลานัดกินข้าวกันไม่นัดที่ร้านอาหารนะ นัดที่ร้านพิซซ่า
  • ร้านพิซซ่าไม่ได้ออกเสียงว่า พิซซ่าเรีย แต่ออกเสียงว่า พิซเซเรีย มันสะกดอย่างนี้ PIZZERIA อยากเอาให้ชัดๆ ใช่มั้ย “ปิต-เส่-รี่-หย่ะ” ลงน้ำหนักเสียงตรง ‘รี่’
  • รีบ (รุม) กินพิซซ่าตอนที่มันยังร้อน พิซซ่าร้อนๆ กับพิซซ่าที่เย็นชืดรสชาติและสัมผัสแตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อ
  • ในกรณีที่สั่งพิซซ่ามากินที่บ้านแล้วกินไม่หมด วิธีอุ่นง่ายๆ คือวางด้านแป้งลงบนกระทะร้อนๆ สิทธิการิยะ ท่านว่าชะงัดนักแล

พิซซ่าหน้าอิตาเลียนแท้ที่ควรรู้จัก

  • พิซซ่ามาร์เกรีต้า (Pizza Margherita) เป็นพิซซ่าประจำชาติของอิตาลีเพราะมี 3 สีของธงชาติ กล่าวคือ สีเขียวจากใบเบซิล สีขาวจากมอซซาเรลล่า สีแดงจากมะเขือเทศ ทำขึ้นครั้งแรกถวายพระนางมาร์เกรีต้า ราชินีของอิตาลีในสมัยนั้นที่เสด็จเยือนนโปลี
พิซซ่ามาร์เกรีต้า (Pizza Margherita)
Pizza Margherita
ภาพ : onlineculinaryschool.net

พระราชินีมาร์เกรีต้า แห่งซาวอย
พระราชินีมาร์เกรีต้า แห่งซาวอย
ภาพ : www.italiareale.it
  • พิซซ่ามารีนารา (Pizza Marinara) ส่วนประกอบหลักคือ มะเขือเทศ โอริกาโน และกระเทียม คนส่วนใหญ่มักจะอกหักเพราะนึกว่าเป็นพิซซ่าหน้าอาหารทะเล อันนั้นเรียกหน้าเปสกาโตรา (Pescatora)
พิซซ่ามารีนารา (Pizza Marinara)
Pizza Marinara
ภาพ : www.buonissimo.it/lericette/
  • พิซซ่า 4 ฤดู (Pizza quattro stagioni) มี 4 หน้าแยกกันชัดเจน อาร์ตีโช้ค = ฤดูใบไม้ผลิ มะเขือเทศและเบซิล = ฤดูร้อน เห็ด = ฤดูใบไม้ร่วง แฮมและมะกอก = ฤดูหนาว ถ้าเอาทุกอย่างมารวมกันไม่แยกหน้า จะเรียกว่าพิซซ่าคาปริชโชซ่า (Pizza capricciosa)
  • แถมท้ายถึงพิซซ่าที่หลายคนคุ้นเคยแต่ไม่มีในอิตาลี นั่นคือ พิซซ่าเปปเปโรนี่ ตกใจไหมล่ะ น่าตกใจไปกว่าคือ คำว่า Peperoni ในภาษาอิตาเลียนคือพริกกระดิ่ง (Bell Peppers) คิดเอาเองแล้วกันว่าถ้าเผลอสั่งไปคุณจะได้อะไรมากิน ถ้าคุณอยากกินพิซซ่าหน้าเนื้อก้อนมีรสเผ็ดอะไรแบบนั้นคุณลองสั่งพิซซ่าดิอาโวลา (Diavola) อันแปลว่า พิซซ่าปิศาจ น่าจะเหมือนกัน

คนอิตาเลียนคิดอย่างไรกับพิซซ่า

เมื่อหลายปีก่อน มีรุ่นน้องขอให้พาท่านผู้มีเกียรติกลุ่มหนึ่งไปเที่ยวอิตาลี เหมือนเป็นทริปที่จัดให้แก่ผู้มีอุปการคุณ จึงต้องจัดเป็นอย่างดี โรงแรมดีที่สุดของเมือง อาหารอย่างดีมีตรามิชลินเท่านั้น ฉันอ่านรายละเอียดทัวร์อย่างตื่นตะลึง อ่านไปได้สักพักในใจก็คิดว่า ให้เวลา 2 วัน จะต้องมีคนทักอะไรแน่ๆ

แต่เพียงแค่ผ่านไป 2 มื้อ ก็เริ่มมีคนรำพึงรำพันออกมา

“เราจะได้กินพิซซ่ากันเมื่อไหร่คะ”

คำตอบที่ฉันอ้อมแอ้มตอบด้วยความเกรงใจคือ ไม่มีอยู่ในตารางเลย

ผู้คนทั้งคันรถอ้าปากค้างตกตะลึง

คำถามคือ คุณคิดว่าทำไมไม่มีพิซซ่าอยู่ในทัวร์นี้

พิซซ่าอิตาเลียนแท้เป็นยังไง ทำไมไม่ใส่สับปะรดและ Ketchup แถมห้ามพาไปกินในเดทแรก
สัญลักษณ์สมาคมพิซซ่านโปลีที่แท้จริง
ภาพ : https://www.pizzanapoletana.org/it/

คำตอบคือ มันกันเองไป

หากเขาจะปฏิบัติต่อคุณราวกับราชาหรือมหารานีเขาจะไม่มีทางจัดพิซซ่าให้คุณกินแน่ๆ

เอาอย่างนี้ หนังสือที่ใช้สอน มีตอนหนึ่งที่ผู้หญิงเม้ากันรวมความล้มเหลวของการนัดครั้งแรก หนึ่งในนั้นคือ ผู้ชายพาไปกินพิซซ่า

พิซซ่าคือความกันเอง คือความสะดวก คือความประหยัด ความไม่คิดเยอะ ความติดดิน

สำหรับฉัน มันคือส้มตำ

ที่ว่าเหมือนส้มตำ เพราะอีกอย่างคือ มันกินคนเดียวไม่สนุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกินในร้าน มันต้องกินไปคุยไป ถ้าจะกินคนเดียวมักจะกินที่บ้าน กินไปดูทีวีไป ฯลฯ การไปนั่งกินคนเดียวในร้านถ้าไม่ดูเหมือนคนอกหักก็จะเหมือนพาแม่ซื้อมานั่งกินด้วย

วันนั้น ลูกทัวร์ทำหน้าไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะปลาบปลื้มที่ได้รับเกียรติอันสูงส่ง หรือเสียดายที่ไม่ได้กินพิซซ่าในประเทศต้นกำเนิดดี

ปิดท้ายด้วยความคิดผ่านทางภาษา พิซซ่า เป็นสแลงภาษาอิตาเลียน หากมีคนอิตาเลียนบอกว่า Oggi sei proprio una pizza. ไม่ได้แปลว่าเธอน่ากิน แต่แปลว่า เธอน่าเบื่อมาก

โถ แต่ไม่ว่าอิตาเลียนจะคิดอย่างไร เราก็ชอบกินพิซซ่า เนาะ 🙂 


แหล่งข้อมูล (บางส่วน)

Lo Zanichelli 2019: vocabolario della lingua italiana

www.pizzanapoletana.org/

www.eatthis.com/pizza-facts/

www.galbani.it/ricette/pizza-quattro-stagioni

it.wikipedia.org/wiki/Antica_Pizzeria_Port%27Alba

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า