เป็นที่รู้กันในหมู่คนดูภาพยนตร์ว่า อิตาลีทำภาพยนตร์ออกมาได้อย่างวิเศษประเทศหนึ่ง หลักฐานสนับสนุนอย่างง่าย ๆ ก็คือ ในเวทีออสการ์นั้น สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะนับอย่างไร อิตาลีก็ได้รับรางวัลนี้สูงสุด นั่นคือ 11 ตัว
ที่บอกว่า “ไม่ว่าจะนับอย่างไร” เป็นเพราะว่า ก่อนหน้าที่จะมีรางวัลในสาขานี้เป็นการถาวร ได้มีการมอบรางวัลพิเศษให้แก่ภาพยนตร์ชาติอื่น ๆ มาก่อนแล้ว นัยว่า ดีจนคณะกรรมการทนไม่ได้ และประเทศแรกที่ได้รับรางวัลนี้ก็คือ อิตาลี นั่นเอง และจากนั้นไม่นานก็ได้รับอีกครั้ง รวมเป็น 2 เมื่อรวมกับ 11 ตัวที่กล่าวไป ก็เป็น 13 ตัว แต่ในบางครั้งก็มีผู้นับว่า 11+3 เนื่องจากหนังอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับรางวัลเกียรติยศนี้เป็นหนังที่ทำร่วมกับฝรั่งเศส แต่ไม่ว่าจะนับอย่างไรก็ตาม อิตาลีก็ถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ถี่ที่สุดนั่นเอง
สำหรับมือใหม่หัดดูหนังอิตาเลียน ลองเริ่มจากหนังอิตาเลียนที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ก่อนเป็นไร เพราะอาจจะหาดูได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ได้เรียงรายชื่อมาให้ข้างล่างนี้แล้ว และเกริ่นเรื่องอย่างสั้นมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เพราะไม่อยากสปอยล์เลยจริง ๆ
La strada
ปีที่ออกฉาย 1954
ผู้กำกับ Federico Fellini
ออสการ์ครั้งที่ 29 (ปี 1957)

เรื่องราวของเจลโซมีนา (Gelsomina) เด็กสาวที่ถูกครอบครัวขายให้ไปเป็นผู้ช่วยของซัมปาเนาะ (Zampanò) ซึ่งเป็นนักแสดงปาหี่ร่อนเร่ ซัมปาเนาะทั้งใช้งานและทำร้ายจิตใจเธอต่าง ๆ นานา จนในที่สุด และมารู้ใจตัวเองว่ารักเธอ ก็เมื่อสายเสียแล้ว
Cabiria’s Nights (Le notti di Cabiria)
ปีที่ออกฉาย 1957
ผู้กำกับ Federico Fellini
ออสการ์ครั้งที่ 30 (ปี 1958)

คาบีเรีย เป็นชื่อของหญิงโสเภณีคนหนึ่ง เธอถูกคนรักชิงทรัพย์และผลักเธอตกแม่น้ำ แต่เธอรอดตายมาได้ราวปาฏิหาริย์ จากนั้นชีวิตของเธอก็ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งได้พบกับชายที่เธอคิดจะแต่งงานด้วย
เมื่อนึกถึงหนังเรื่องนี้ หลายคนจะนึกถึงภาพคาบีเรียเดินยิ้มอยู่กลางถนนที่ครึกครื้น มีน้ำตาสีดำหนึ่งหยดในช่วงท้ายของเรื่อง
นักแสดงนำฝ่ายหญิงของเรื่อง คือคนเดียวกันกับเรื่อง La strada เธอคือ จูลิเย็ตตา มาซีนา (Giulietta Masina) ภรรยาของเฟลลีนี่นั่นเอง
8½
ปีที่ออกฉาย 1963
ผู้กำกับ Federico Fellini
ออสการ์ครั้งที่ 36 (ปี 1964)

เป็นเรื่องของผู้กำกับที่ประสบปัญหา ‘สมองตัน’ ทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ไม่ได้ ชื่อเรื่องมาจากจำนวนหนังที่เฟลลีนีทำมาก่อนนั่นเอง ส่วนที่เป็นครึ่งนั้น คือเรื่องที่กำกับร่วมกับผู้อื่น
บรรยากาศของหนังเป็นแนวฝัน ๆ ฟุ้ง ๆ และเหนือจริง
เรื่องนี้ได้อีก 1 รางวัลคือ รางวัลการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์ขาว-ดำ)
Yesterday, Today and Tomorrow (Ieri, oggi, domani)
ปีที่ออกฉาย 1963
ผู้กำกับ Vittorio De Sica
ออสการ์ครั้งที่ 37 (ปี 1965)

หนังแบ่งออกเป็น 3 เรื่องย่อย เขียนบทโดยนักเขียนใหญ่ของอิตาลี 3 คน คือ เด ฟิลิปโป้ (Eduardo De Filippo), โมราเวีย (Alberto Moravia) และ ซาวัตตีนี (Cesare Zavattini) ทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องของชีวิตคู่สามีภรรยาใน 3 เมืองต่างกัน คือ นโปลี มิลาน และ โรม โดยใช้นักแสดงคู่เดิม คู่เดียวกัน คือ โซเฟีย ลอเรน (Sophia Loren) และ มาร์แชลโล มัสโตรยันนี (Marcello Mastroianni)
Investigation of a Citizen Above Suspicion (Indagine su un cittadino al di sopra di ogni sospetto)
ปีที่ออกฉาย 1970
ผู้กำกับ Elio Petri
ออสการ์ครั้งที่ 43 (ปี 1971)

ภาพยนตร์ชื่อยาวเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อในประเภทบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย (แต่ไม่ได้รับ) เป็นเรื่องของนายตำรวจใหญ่ที่ฆ่าชู้รักของตัวเอง และกลมกลืนอยู่ในทีมสอบสวนการฆาตกรรมครั้งนี้ โดยมั่นใจว่า จะไม่มีใครสงสัยตน หรืออาจจะสงสัย แต่ไม่กล้าจับกุม
The Garden of the FInzi-Continis (Il giardino dei Finzi-Contini)
ปีที่ออกฉาย 1970
ผู้กำกับ Vittorio De Sica
ออสการ์ครั้งที่ 44 (ปี 1972)

ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ตัวที่ 4 ของเดซีกาเรื่องนี้ นำมาจากนวนิยายของ โจร์โจ บัซซานี (Giorgio Bassani)
เนื้อเรื่องพูดถึงชีวิตอันสงบสุขของครอบครัวฟินซี-คอนตีนี ชาวยิวผู้มีอันจะกินที่มีบ้านหลังงามอยู่ที่เมืองแฟร์รารา เมื่อเกิดมีกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติของฟาชิสม์และสงครามโลก เหตุการณ์เศร้าต่าง ๆ ก็ประดังประเดเข้ามาสู่ชีวิตแสนสุขของครอบครัวนี้และผู้คนที่เกี่ยวข้อง
Amarcord
ปีที่ออกฉาย 1973
ผู้กำกับ Federico Fellini
ออสการ์ครั้งที่ 47 (ปี 1975)

หนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ตัวที่ 4 และตัวสุดท้ายของเฟลลีนี เป็นการเดินทางไปในกาลเวลาที่ฝันฟุ้งของเฟลลีนี ไปสู่วัยเด็กของตนในยุคทศวรรษที่ 30 ที่บ้านเกิดแถบเมืองรีมีนี (Rimini)
ฟังดูเหมือนจะเป็นอัตชีวประวัติ แต่เฟลลีนีย่อมมีดีกว่าจะเล่าเรื่องของตนไปดื้อ ๆ ตัวละครที่โดดเด่นอันเป็นที่จดจำมีหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นช่างทำผมสุดเซ็กซี่ หรือหญิงขายบุหรี่ทรงโต และภาพนกยูงรำแพนหางกลางหิมะ ยังคงติดตาตรึงใจคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้แม้ว่าจะสงสัยว่า ต้องตีความหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
อมาร์คอร์ด เป็นภาษาถิ่น แปลว่า “ฉันจำได้” แต่ผู้ร่วมเขียนบทได้บอกไว้ว่า มันยังเป็นคำเพี้ยนเสียงจากคำว่า Amaro Cora อันเป็นคำที่เรามักได้ยินที่ร้านขายเครื่องดื่ม เมื่อมีคนสั่งเหล้าบิตเทอร์ชื่อ โครา อีกด้วย
(Nuovo) Cinema Paradiso
ปีที่ออกฉาย 1988
ผู้กำกับ Giuseppe Tornatore
ออสการ์ครั้งที่ 62 (ปี 1990)

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความงุนงงให้แก่ฉันเมื่อครั้งยังเด็ก เนื่องจากชื่อภาษาอิตาเลียนมีคำว่า Nuovo (ใหม่) แต่ในภาษาอังกฤษไม่มี ตอนแรกนึกว่ามีการตัดต่อแบบ 2 เวอร์ชัน นั่ง ๆ ดูก็หาไม่เจอ อ้าว เรื่องเดียวกันนี่เอง
หลังจากห่างหายการเดินขึ้นเวทีไปรับรางวัลมานาน โตร์นาโตเรก็พาอิตาลีกลับไปรับรางวัลอีกครั้ง หนังเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตผู้กำกับหนังคนดังคนหนึ่งที่หลงใหลในภาพยนตร์และขลุกอยู่ในโรงหนังมาตั้งแต่เด็ก ๆ หนังแสดงให้ภาพอันน่าประทับใจของคนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมทะเลแห่งหนึ่งที่โรงหนังเป็นเหมือนความบันเทิงอย่างเดียวในชีวิตของพวกเขา ดนตรีประกอบอันไพเราะ ภาพการฉายหนังออกมานอกโรงและภาพตอนจบของเรื่อง ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน
Mediterraneo
ปีที่ออกฉาย 1991
ผู้กำกับ Gabriele Salvatores
ออสการ์ครั้งที่ 64 (ปี 1992)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารอิตาเลียนกลุ่มหนึ่งได้รับคำสั่งให้ไปยึดเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในทะเลอีเจียส ประเทศกรีซ แต่กลับถูกทิ้งลืมไว้ที่เกาะนั้น ติดต่อโลกภายนอกไม่ได้ จนในที่สุดก็ได้กลับอิตาลีโดยที่พวกเขาก็ไม่ค่อยเต็มใจนัก เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็ได้นัดเจอกันที่เกาะนั้นอีกครั้ง
Life is beautiful (La vita è bella)
ปีที่ออกฉาย 1997
ผู้กำกับ Roberto Benigni
ออสการ์ครั้งที่ 71 (ปี 1999)

ว่าด้วยเรื่องของพ่อที่หลอกลูกว่า ชีวิตของพวกเขาในค่ายกักกันชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงแค่เกมสนุก หนังเล่าเรื่องสงครามด้วยความตลกและเสียดสี คนดูหัวเราะและร้องไห้ไปพร้อม ๆ กันในหลายฉากหลายตอนของเรื่อง
หนังเรื่องนี้มิได้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมภาษาต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม (Nicola Piovani) ส่วนเบนิญญี (Roberto Benigni) เอง ซึ่งเป็นทั้งผู้กำกับและนักแสดงนำ ก็ได้รับรางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายด้วย
The Great Beauty (La grande bellezza)
ปีที่ออกฉาย 2013
ผู้กำกับ Paolo Sorrentino
ออสการ์ครั้งที่ 86 (ปี 2014)

15 ปีผ่านไป ซอร์เรนตีโนก็พาอิตาลีไปกอดตุ๊กตาชื่อเดิมอีกครั้ง
เนื้อเรื่องว่าด้วยภาวะคิดงานไม่ออกของศิลปินอีกครั้ง คราวนี้เป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ ที่ไม่มีงานเขียนออกสู่สาธารณะมาหลายปีแล้ว เขาจึงออกเดินทางเพื่อค้นหาความงามที่แท้จริงยิ่งใหญ่ ซึ่งเขาก็มิได้ไปไหนไกล หากแต่เดินทางซอกซอนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงโรมนั่นเอง
ลองตาม ๆ ดูกันนะ สารภาพว่าบางเรื่องก็ยังไม่ได้ดู ใครรู้แหล่งที่จะหาดูได้ รบกวนใส่ไว้ในคอมเมนต์ จะตรงนี้หรือที่เพจ ‘ครูก้า’ ก็ได้จ้ะ