คุณเคยฟังเพลงอิตาเลียนหรือเปล่า

ถ้าคุณเป็นเด็กศิลปากร ข้ามคำถามนี้ไป เพราะนอกจากคุณจะเคยได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว คุณน่าจะร้องได้อย่างคล่องแคล่วด้วย

ถึงแม้ท่านอื่นจะยังคงเอานิ้วจิ้มแก้ม เอียงคอ มองบน นั่งคิดอยู่ แต่เชื่อว่าถ้าได้เปิดเพลงที่ยกมากล่าวเป็นตัวอย่าง 4 เพลงที่กำลังจะมาเล่าให้อ่านในวันนี้แล้ว คาดว่าน่าจะพอคุ้นอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ 1 เพลงล่ะน่า

เพลงเหล่านั้นได้แก่

  1. Santa Lucia (ซานตา ลูเชีย)
  2. Torna a Surriento (โตร์นา อา ซูร์ริแยนโต)
  3. Funiculì Funiculà (ฟูนิคูลิ ฟูนิคูลา)
  4. ’O sole mio (โอ โซเล มีโย)

เพลงทั้งหมดนี้ มีกำเนิดที่เมืองนโปลี (Napoli) หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า เนเปิลส์ (Naples) อันเป็นเมืองทางใต้ของอิตาลี เพลงเหล่านี้แต่งเป็นภาษาถิ่นนโปลี เนื้อร้องเกี่ยวกับชีวิต (รัก) ของชาวบ้าน อันมีธรรมชาติหรือเหตุการณ์สำคัญๆ ของเมืองเป็นฉากหลัง

พร้อมลงใต้ไปรู้จักเพลงเหล่านี้กันแล้วหรือยัง

1. Santa Lucia (ซานตา ลูเชีย)

เพลงแรกที่จะต้องกล่าวถึง จะเป็นเพลงอื่นไปไม่ได้นอกจากเพลงนี้ ที่ดังติดปากคนอิตาเลียนโดยทั่วไปรวมทั้งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ด้วย จนบรรดาลูกศิษย์ของท่านสังเกตได้ว่าเป็นเพลงโปรด จึงนำมาเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรจวบจนถึงทุกวันนี้

ซานตา ลูเชีย เป็นเพลงที่แต่งขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1849 แต่งเป็นภาษาถิ่นเมืองนโปลี แต่ผู้แต่งได้แปลเป็นภาษาอิตาเลียนกลางในภายหลัง จึงทำให้เพลงนี้เป็นเพลงรักชาวเรือของนโปลีเพลงแรกที่แปลเนื้อเป็นภาษากลาง และนั่นน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้เพลงติดหู ติดปาก และกระจายต่อไปโดยง่าย

ซานตา ลูเชีย ไม่ได้เป็นเพลงสดุดีนักบุญลูซีอย่างที่บางท่านอาจจะคาดเดาแต่อย่างใด แต่ซานตา ลูเชีย ในเพลงนั้นคือย่านชายฝั่งช่วงหนึ่งของนโปลี เนื้อเพลงเชิญชวนให้ผู้คนลงเรือลำน้อยของตน (Venite all’agile, barchetta mia) เพื่อดื่มด่ำบรรยากาศยามค่ำคืนอันแสนสดชื่นในท้องทะเลริมฝั่ง บรรยาการในเพลงเป็นอุดมคติของชาวเรือมาก คลื่นอ่อนและลมดี ดาวพราวพร่าง จากเพลงน่าจะเป็นคืนเดือนแรม (เพราะ) มองนภาไม่แจ่มแลแอร่มแค่แสงดารา

เพลงจริงๆ มี 6 ท่อน ใน 1 ท่อนมี 4 บรรทัด ร้องย้อนทุก 2 บรรทัด เราจึงไม่ค่อยได้ยินเพลงนี้จนจบเพลง คาดว่าถ้าไม่ได้มีร่างกายที่พร้อมจริง ร้องไปพายเรือไปคงขาดใจตายกลายเป็นผีเฝ้าอ่าวได้โดยไม่ยาก

2. Torna a Surriento (โตร์นา อา ซูรีแยนโต)

แปลว่า “กลับมาโซร์แรนโตเถิด… (ที่รัก)”

โซร์แรนโต เป็นเมืองอันสวยงามอยู่ชายฝั่งทางตอนใต้ของนโปลีลงไปอีก ใครเคยไปก็จะได้กลิ่นมะนาวโชยไปทั้งเมือง ทุกบ้านปลูกมะนาวลูกเหลืองโตพราวตัดกับสีเขียวของพุ่มใบ น่าสวมวิญญาณแม่นากเอื้อมมือไปปลิดมายิ่งนัก ไม่น่าแปลกใจอันใดที่ OTOP ของเมืองนี้คือ ลิมอนแชลโล เหล้ามะนาวที่มักกรึ๊บกันตอนตบท้ายมื้ออาหารอันสุนทรีย์

ดูความหมายของเพลงกันหน่อยดีไหม

ดูทะเลสิ ช่างสวยงาม

พาให้เกิดอารมณ์ปั่นป่วนรัญจวนใจ

เหมือนกับที่เธอทำกับผู้คนที่มองเธอ

เธอทำให้เขาฝันแม้ยามตื่น

ดูสวนสิ กลิ่นของดอกส้มเหล่านั้น

ช่างหอมหวน ตรงเข้าสู่กลางใจเธอ

แล้วเธอมาบอกว่า “ฉันจะไป ลาก่อน”

เธอไปจากหัวใจของฉัน

ไปจากดินแดนแห่งความรักนี้

เธอคิดจะไม่กลับมาหรือเปล่า

อย่าจากฉันไปเลย

อย่าปล่อยให้ฉันอยู่ในความระทมทุกข์นี้

กลับมาโซร์แรนโตเถิด

ให้ฉันได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

ดูดุ๊ ความหมายของเพลงช่างหวานปนเศร้า บีบคั้นหัวใจยิ่งนัก ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นคนโซร์แรนโต แต่ก็พร้อมที่จะจัดกระเป๋าหนีตามหากมีใครมาร้องเพลงนี้อยู่ตรงใต้หน้าต่างบ้าน

แต่ก็ยังอุตส่าห์มีคนทำให้ความหวานนี้กร่อยลงไปเป็นกอง ซึ่งก็หาใช่ใครไหนอื่น แต่เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองโซร์แรนโตนี่เอง

ว่ากันว่า ใน ค.ศ. 1902 นายกรัฐมนตรีของอิตาลีเยือนซอร์เรนโต นายกเทศมนตรีประกาศแนะนำเพลงว่า เพลงนี้แต่งให้ท่านโดยเฉพาะ เป็นเสมือนคำอ้อนวอนให้ท่านนายกฯ กลับมาเหลียวแลเมืองซอร์เรนโตที่เสื่อมโทรมเพราะขาดงบประมาณ

ตำนานนี้เล่นเอาคนรุ่นหลังที่ได้ยินถึงกับอกหัก เพลงรักแสนหวานกลายเป็นเพลงของบฯ ไปเสียฉิบ

แต่! อย่าเพิ่งสิ้นหวังไป เพราะต่อมาได้มีผู้ค้นพบเรื่องจริงอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เพลงนี้แต่งโดยสองพี่น้อง De Curtis คนน้องที่เป็นนักดนตรีแต่งทำนอง แล้วจึงส่งให้พี่ที่เป็นกวีและจิตรกรแต่งเนื้อ และสองพี่น้องได้ส่งมอบสำเนาเพลงนี้ให้แก่ ‘สมาคมนักเขียนและบรรณาธิการแห่งอิตาลี’ ตั้งแต่ ค.ศ. 1894

เป็นอันจบข่าว แยกย้ายกลับบ้าน นอนหลับฝันดีกันต่อไป

3. Funiculì, Funiculà (ฟูนิคูลิ ฟูนิคูลา)

ได้ฟังหรือยัง 

เพลงอันคึกคัก สนุกสนานนี้ แน่นอนเป็นภาษานโปลี

ผู้แต่งทำนองคือ ลุยจิ เดนซ่า (Luigi Denza) คำร้องคือ เป็ปปีโน ตูร์โก (Peppino Turco) ผู้เป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่งเสร็จใน ค.ศ. 1880 แต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงการเปิดรถไฟขึ้นภูเขาไฟเวซูเวียสสายแรก ซึ่งเปิดใช้เมื่อ 1 ปีก่อนหน้า และน่าจะแต่งกันเล่นๆ ไม่ได้หวังผลหวังรางวัลอะไรมากมาย แต่กลายเป็นว่า พอเพลงนี้ออกแสดง โน้ตเพลงกลับขายได้ถึง 1 ล้านแผ่น

ความหมายโดยรวมของเพลงนี้ คือการชวนสาวเจ้าขึ้นรถไฟไต่เขานี้ มีการโฆษณาชวนสาวเจ้าด้วยนะว่า ขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วราวกับมีลมหอบขึ้นไป แล้วพอไปถึงข้างบนก็จะมองเห็นไปได้ถึงฝรั่งเศส สเปนโน่น เป็นเราได้ยินจะไปมั้ย ไปสิ จะรออะไร

4. ’O sole mio! โอ โซเล มีโย

หนึ่งในเพลงฮิตติดชาร์ต ถ้าไม่นับเวอร์ชันต่างๆ รวมทั้งของ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) แล้ว เพลงนี้ก็ยังคงนิยมร้องเป็นภาษานโปลี เนื้อเพลงกล่าวถึงความงดงามของดวงตะวัน หากแต่ก็ยังงามสู้เธอไม่ได้

เพลงนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1898 รู้จักกันทั่วโลก แต่งคำร้องโดย โจวันนี คาปูร์โร ทำนองโดย เอดูวาร์โด ดิ คาปัว ซึ่งคาปูร์โรเขียนคำร้องก่อนแล้วจึงค่อยส่งให้ ดิ คาปัว ซึ่งอยู่ที่เมือง Odessa ในยูเครน ซึ่งตอนนั้นอยู่ใต้ปกครองรัสเซียแต่งทำนองต่อ

เนื้อร้องจึงอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากนโปลี แต่ดูเหมือนว่าทำนองจะได้รับแรงบันดาลใจจากยามเช้าของ ‘ทะเลดำ’

นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันในยุคนั้นว่าแรงบันดาลใจอีกอย่างของเพลงได้แก่ภริยาของวุฒิสมาชิก จอร์โจ อาร์โคเลโอ (Giorgio Arcoleo) ซึ่งเพิ่งได้ตำแหน่งนางงามนโปลีไป ถามว่ารู้ได้ยังไง คำตอบคือ เจ้าของเพลงประกาศหราให้รู้กันไปเลย

แต่ก็ว่ากันว่า แรงบันดาลใจนี้เป็นป้ายไฟ หาใช่ใดอื่น แต่เป็นการเอาใจท่านวุฒิสมาชิกนั่นเอง เผื่อจะมีเส้นสนกลในผลักดันให้ชนะในการประกวดเพลงที่กำลังจะมาถึงได้

แต่จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ เพลงนี้ได้รางวัลที่สองมาแทน และไม่ดังจนกระทั่งผู้แต่งทั้งสองตาย

แต่ถึงแม้จะได้ที่สอง แต่เพลงนี้ก็คงดังพอสมควร เพรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเพลงนี้ไว้ว่า ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ ค.ศ. 1920 ณ เมืองแอนต์เวิร์ป (Antswerp) ประเทศเบลเยียม เมื่อทีมอิตาลีได้รับชัยชนะและต้องบรรเลงเพลงชาติ ก็ให้บังเอิญให้โน้ตเพลงชาติอิตาลีหายไป ผู้คุมวงจึงใช้สติปัญญาไหวพริบ หยิบเอาเพลง O Sole mio ซึ่งนักดนตรีทุกคนจำโน้ตได้ขึ้นใจมาเล่นแทน ข่าวว่าผู้คนร้องนี้กันกึกก้องอัฒจันทร์สั่นครืน บ้างก็บอกว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้คุมวงที่คิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงชาติอิตาลีจริงๆ

ส่วนรางวัลอินฟลูเอนเซอร์ดีเด่นในแง่การฮัมเพลง ขอมอบให้แก่ ยูรี กาการิน (Jurij Gagarin) นักบินอวกาศคนแรกของโลกชาวรัสเซีย ที่ร้องเพลงนี้บนยานขณะที่ท่องอยู่กลางอวกาศ จะด้วยเป็นเพราะเห็นพระอาทิตย์ใกล้ๆ หรือคิดว่าเพื่อบอกให้คนทางโลกรู้ว่าสบายดีก็ไม่รู้ล่ะ แต่เพลงนี้ก็ดังไปทั่วโลกในทันทีอีกเช่นกัน

ปัจจุบันเพลงเหล่านี้ร้องกันไปทั่วประเทศและทั่วโลก

คนนโปลีได้ยินคนแจวเรือกอนโดล่าร้องเพลงเหล่านี้ได้แต่อมยิ้มขำๆ เหมือนได้ยินลิเกฮูลูในแม่น้ำปิง แต่ตอนนี้คงไม่ค่อยรู้สึกอะไรแล้วกระมัง เพราะเพลงเหล่านี้ดังไปทั่วโลก ทำไมจะมาร้องที่เวนิส ในอิตาลีเองบ้างไม่ได้เล่า

ข้อมูลอ้างอิง 

www.fanpage.i

www.napolimilionaria.it

www.vesuvioinrete.it

www.napolinpillole.it

ภาพ La Fenice theatre โดย Youflavio 

ข้อมูลส่วนหนึ่งของบทความนี้ได้มาจากการเตรียมเพื่อพูดคุยในรายการ SILPAKORN MUSIC Xperience podcast คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอขอบคุณรองศาสตราจารย์คมธรรม ดำรงเจริญ ที่เป็นแรงบันดาลใจด้วยครับ

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า