8 กุมภาพันธ์ 2021
33 K

หลังกำแพงขาวสะอาดประดับตราแผ่นดินของอิตาลี กิ่งมะกอกและโอ๊กโอบล้อมดวงดาวในล้อฟันเฟือง เราเข้าสู่พื้นที่ของ Ambasciata d’Italia a Bangkok

สวนเขียวชอุ่ม ตัวบ้านขาวแต้มชมพูระเรื่อจากเฟื่องฟ้าที่ห้อยระย้าจากระเบียงชั้นสอง รถ Maserati สีขาวมันปลาบประจำตำแหน่งจอดนิ่งอยู่หน้าบันไดครึ่งวงกลมสีเขียวหยก เอกอัครราชทูต โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti) เปิดประตูบ้านออกมาทักทาย สมกับเป็นประเทศแห่งดีไซน์และไมตรี บรรยากาศทำเนียบเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยงดงามเหมาะเจาะไปเสียทุกอย่าง

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

ปกติทำเนียบทูตเปิดต้อนรับแขกของสถานทูตเพียงเท่านั้น น้อยครั้งที่จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม แต่เช้าวันนั้นที่ฝนตกพรำ ท่านทูตอนุญาตให้เราเข้าชมพร้อมพาสำรวจตัวบ้านด้วยตัวเอง ทั้งยินดีให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับบ้านและการทำงาน แบบที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน

ก่อนเข้าไปสำรวจตัวบ้าน มาทำความรู้จักประวัติมิตรประเทศจากยุโรปกันเสียหน่อย

อิตาเลียนเยือนสยาม

ชาวอิตาเลียนคนแรกที่มาเยือนแดนสยามคือ นิโคโล คอนติ (Nicolò Conti) ใน ค.ศ. 1430 พ่อค้าและนักเดินทางชาวเวนิสผู้เดินทางทั่วอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มาเยือนสยามในสมัยอาณาจักรอยุธยากำลังเติบโต คำบอกเล่าของเขาช่วยให้การทำแผนที่โลกฉบับ Fra Mauro แสดงทวีปเอเชียได้ละเอียดแม่นยำกว่าแผนที่อื่นที่เคยปรากฏก่อนหน้า และบันทึกการเดินทางของเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปยุคกลางได้รู้จักอุษาคเนย์

หลายร้อยปีผ่านไป ความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีและสยามงอกงามขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 19 อิตาลีและสยามลงนามสนธิสัญญาฉบับแรก คือสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ใน ค.ศ. 1868 ปีรัชสมัยแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าวิตโตรีโอ เอมานูเอเลที่ 2 แห่งอิตาลี (King Vittorio Emanuele II of Italy) ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลี ผู้รวมรัฐต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวและสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีได้สำเร็จ

ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติที่เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ อิตาลีได้แต่งตั้งกงสุลอิตาลีประจำประเทศไทย และอิตาลีเป็นประเทศยุโรปแรกที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนเมื่อพระองค์เสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง ต่อมาราชสำนักสยามก็ต้อนรับชาวอิตาเลียนโดยเฉพาะสถาปนิกและศิลปินเข้ามาทำงาน เช่น มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม สถานีรถไฟกรุงเทพ ตึกไทยคู่ฟ้า ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ฯลฯ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินเจ้าของผลงานภาพวาดบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม และบุคคลสำคัญที่คนไทยรักใคร่มาก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร บิดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย 

บ้านอิตาลี

สาธารณรัฐอิตาลีมีสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์อิตาลีที่เชียงใหม่และภูเก็ต (ส่วนสถานเอกอัครราชทูตและทำเนียบเอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลีอยู่ที่กรุงโรม) 

บ้านหลังเก่าของสถานทูตอิตาลีเดิมอยู่ที่ถนนสาธรเหนือ มีทำเนียบทูตตั้งอยู่เคียงกัน จากนั้นย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ถนนนางลิ้นจี่ ต่อมาสถานทูตฯ ย้ายออกมาใน ค.ศ. 2011 พื้นที่เดิมกลายเป็นร้านอาหารและบริษัทเอกชน ส่วนสถานทูตย้ายมาอยู่ตึก All Seasons Place ถนนวิทยุ 

ส่วนทำเนียบเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย สถานทูตฯ เช่าบ้านเก่าแสนสวยในรั้วขาว ซอยสีลม 19 ไว้เป็นที่พำนักตัวแทนประเทศ เดิมอาคารหลังนี้เป็นบ้าน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตต์ ณ สงขลา) สร้างในที่ดิน 3 ไร่ ที่ท่านได้จากทางคุณตาหรือทางตระกูลวัชราภัย เมื่อ ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470) เป็นที่ดินยาวๆ ขนานกับซอยสีลม 19 ในที่ดินมีบ้านสามหลัง โดยบ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังกลาง 

หนังสือ Treasured Homes of Thailand ระบุว่า บ้านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์นี้ออกแบบโดยพระนรินทรักษา (ไม่ปรากฏขุนนางในราชทินนามนี้ จึงต้องค้นหาต่อไป) ต่อมาใน ค.ศ. 1929 เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ให้ นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ออกแบบต่อเติมโถงและเฉลียงออกมา เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาแบน เน้นรูปทรงโค้งครึ่งวงกลม วางแบบอสมมาตร ต่างไปจากส่วนดั้งเดิมที่มีลักษณะแบบคลาสสิกเรียบๆ ตกแต่งภายในด้วยลวดลายบัวไม้ คล้ายๆ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมในซอยพิพัฒน์ 

ทำเนียบทูตหลังนี้บรรจุประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากตัวสถาปนิกชื่อดังแห่งยุค นายจิตรเสน เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ศึกษาที่ École des Beaux-Arts กรุงปารีส เมื่อกลับมาเมืองไทยใน ค.ศ. 1927 ได้ออกแบบอาคารมากมายในกรุงเทพมหานครที่เป็นมรดกของยุคนั้น เช่น สมาคมพาณิชย์จีน ถนนสาทร บ้านพระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) สโมสรสีลม วังรื่นฤดี ถนนสุโขทัย และไปรษณีย์กลาง ต่อมาเข้าทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และออกแบบอาคารถนนราชดำเนินกลางด้วย ปัจจุบันอาคารที่เขาออกแบบหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก และบ้านหลังนี้ก็มีลายเซ็นของเขาชัดเจนทีเดียว 

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ภาพ : อัสสัมชัญอุโฆษสมัย เล่มที่ 28, กันยายน ค.ศ.1920, โรงเรียนอัสสัมชัญ 
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ภาพ : อัสสัมชัญอุโฆษสมัย เล่มที่ 60, กันยายน ค.ศ. 1928, โรงเรียนอัสสัมชัญ 

สำหรับเจ้าของบ้านเดิม เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์เป็นคนสุดท้ายที่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าพระยา โดยรับราชการสำคัญหลายตำแหน่ง เคยเป็นประธานศาลฎีกา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีหลายกระทรวง ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานองคมนตรี บ้านหลังนี้จึงเคยต้อนรับแขกสำคัญของประเทศมากมาย 

เมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ถึงแก่อนิจกรรม บ้านตกเป็นของบุตรชายคนที่ 6 คุณจินดา ณ สงขลา ต่อมาคุณพิมสิริ ณ สงขลา ผู้เป็นภรรยา และบุตรสาว คุณวิภาดา โทณวณิก เป็นผู้ดูแลต่อมา และราว 20 กว่าปีก่อน สถานทูตอิตาลีจึงได้เช่าบ้านหลังนี้สำหรับเป็นทำเนียบทูต 

เล่าประวัติศาสตร์มาพอสมควรแล้ว ตามท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี เข้ามาชมทำเนียบกันดีกว่า

ในบ้านเก่า

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

เดินลัดสนามแสนเขียวร่มรื่นหน้าบ้าน ซึ่งเคยเป็นลานจัดฉายหนังเทศกาลภาพยนตร์สหภาพยุโรป 2 ปีซ้อน ผ่านศาลพระภูมิสีขาวดีไซน์เก๋ข้างบ้านเข้ามาในตัวทำเนียบ จะพบความโอ่อ่าน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันก็ดูปลอดโปร่งอยู่สบายจากเพดานสูงและกรอบประตูมีช่องลมฉลุ ส่วนต่างๆ ของบ้านทะลุมองถึงกัน ตัวบ้านสภาพดีมากเพราะเจ้าของดูแลปรับปรุงอยู่เสมอ พื้นไม้และสวิตช์ไฟโบราณยังคงใช้งานได้ดี

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

  ห้องรับรองเล็กๆ ติดกับโถงบันไดทางหน้าบ้าน เคยกลายเป็นห้องทำงานชั่วคราวของท่านทูตเมื่อต้อง Work From Home ช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนักในปีที่แล้ว 

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

พื้นที่รับแขกเป็นห้องโล่งยาว มีมุมโซฟาหลายมุมสำหรับจัดเลี้ยงรับรองแขกได้หลายสิบคน โต๊ะรับแขกทุกโต๊ะเต็มไปด้วยหนังสือหลากหลาย มีทั้งนิตยสาร หนังสือภาพถ่าย ไปจนถึงตำราอาหาร ซึ่งเป็นคอลเลกชันส่วนตัวของท่านทูตผู้เชี่ยวชาญหลายภาษา 

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

พื้นที่ต่อขยายด้านข้างตัวบ้านคือที่โปรดของท่านทูต เฉลียงพื้นหินอ่อนปูทับด้วยเสื่อสาน ผนังกระจกด้านข้างรับแสงธรรมชาติและวิวสวนอันร่มรื่น ขณะเดียวกันก็เว้าเป็นช่องที่นั่งแสนสบาย ปกติท่านทูตจะเล่นโยคะและรับประทานอาหารเช้าที่นี่ ยามแขกมาเยือน ห้องที่ดูอบอุ่นนี้ใช้รับรองผู้คนและเป็นห้องเลี้ยงอาหารกลางวันได้เช่นกัน

ลึกเข้าไปในด้านหลังตัวบ้านมีห้องอาหารโต๊ะเล็ก เชื่อมกับห้องรับประทานอาหารค่ำขนาดใหญ่ที่ระดับพื้นต่ำกว่าด้านหน้า ตกแต่งโทนสีเข้มที่เต็มไปด้วยศิลปะเอเชีย เป็นทั้งที่จัดเลี้ยงดินเนอร์ และดัดแปลงเป็นห้องแถลงข่าวได้ 

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

พื้นที่ชั้นสองและชั้นสามเป็นพื้นที่ส่วนตัวของท่านทูตและครอบครัว มีทั้งห้องนอนเจ้าบ้านและห้องนอนแขก เมื่อวนครบรอบชั้นหนึ่งของบ้านแล้ว ขอเชิญพบไฮไลต์แสนสนุกของทำเนียบทูต ใต้บันไดมีห้องลับสู่ชั้นใต้ดิน ภายนอกมีกรอบหลอกเสมือนหน้าต่างอันแนบเนียน ต้องเปิดบานไม้ออกจึงพบทางเข้าอันลึกลับ สันนิษฐานว่าใช้งานเป็นห้องหลบภัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม
ทำเนียบทูตอิตาลี บ้านเก่าแสนสวยอายุเกือบ 100 ปีในสีลม

ปีนบันไดลงไปด้านล่างจะพบประตูลูกกรงเหล็กเก่าแก่กับตู้เซฟโบราณ แต่บรรยากาศไม่น่าหวาดกลัวแต่อย่างใด เพราะทางทำเนียบทาสีห้องเป็นสีขาว ติดเครื่องปรับอากาศอย่างดี ใช้เป็นห้องสำหรับเก็บชีสและไวน์อิตาเลียน กลิ่นอายห้องนี้จึงเหมือนห้องใต้ดินในบ้านยุโรปดีๆ นี่เอง 

รู้จักบ้านเก่ากันเรียบร้อย ขอเชิญเอนหลังนั่งลงที่โซฟานุ่มๆ จิบ Espresso กาแฟดำถ้วยเล็กฉบับอิตาลี แล้วสนทนากับเจ้าบ้าน ท่านทูตโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยผู้เคยประจำการที่เซเนกัล ซีเรีย และสหรัฐอเมริกา ก่อนเข้ามารับตำแหน่งดูแลความสัมพันธ์ระหว่างอิตาลีกับเมืองไทย กัมพูชา และลาว ตั้งแต่ ค.ศ. 2018 และพาครอบครัวมาใช้ชีวิตอยู่ใจกลางสีลมตลอดมา

โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti)

ทำไมสถานทูตอิตาลีจึงเลือกเช่าบ้านหลังนี้เป็นทำเนียบทูต

ผมคิดว่าเหตุผลหลักๆ เพราะทูตคนก่อนๆ ตกหลุมรักบ้านนี้ และย่านนี้ก็เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจตั้งแต่ตอนนั้น อยู่ใกล้บางรักซึ่งมีสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและโปรตุเกส ตัวบ้านเองก็มีลักษณะแบบไทยผสมอิทธิพลอิตาลี ใช้หินอ่อนอิตาลีปูพื้น เป็นส่วนผสมที่น่าสนใจ 

สิบปีที่แล้วมีทูตคนหนึ่งตัดสินใจย้ายทำเนียบไปที่นนทบุรี แล้วทูตสองคนก่อนหน้าผมก็ย้ายกลับมาที่นี่ เราโชคดีที่ตอนย้ายกลับมาบ้านหลังนี้ว่างพอดี และได้ทำให้ที่นี่เป็น House of Italy

เอกลักษณ์ของ House of Italy เป็นอย่างไร

เอกลักษณ์คือการต้อนรับขับสู้ผู้คน ความเป็นมิตร อาหาร และศิลปะ 

ที่นี่เป็นที่ที่ช่วยเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน คนชอบมาที่นี่ ภรรยาของผมและผมก็ชอบชวนเพื่อนๆ มาพบปะกัน เราเคยจัดงานหลายแบบ ทั้งสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่นงานเลี้ยงรับรองบริษัทสัญชาติอิตาลีที่มาอยู่ไทย หอการค้าไทย หรือถ้าต้องรับรองบุคคลสำคัญจากทั้งสองประเทศ เช่น เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม เราจะจัดงานเลี้ยงที่นี่ งานใหญ่ที่สุดที่เคยจัดที่นี่คืองานเลี้ยงสำหรับคุณสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานคณะที่ปรึกษาบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล มีคนมาร้อยห้าสิบคน 

เราเคยจัดงานแต่งงานให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารของอิตาลีด้วย เป็นงานที่พิเศษมาก ปกติทำเนียบทูตไม่ใช้จัดงานแบบนี้ เคยจัดแค่สองครั้งเท่านั้น แต่เพราะเขาเป็นคนสำคัญในสถานทูตฯ ของเรา มีแขกเพื่อนๆ ชาวไทยมาเต็มเลยครับ จริงๆ แขกมาจากทั่วโลกเลย เพราะเจ้าสาวไม่ใช่คนไทย ผมก็ยินดีไปกับเขาด้วย 

นอกจากนั้นก็มีงานแถลงข่าว อย่างงาน Italian Film Festival รวมถึงจัดงานวัฒนธรรมอย่างเทศกาลภาพยนตร์ยุโรป น่าเสียดายที่ปีนี้จัดไม่ได้เพราะ COVID-19 แต่เราหวังว่าจะได้จัดงานนี้ต่อไป

ชีวิตในทำเนียบทูตบ้านเก่าย่านสีลมเป็นอย่างไรบ้าง

การมีบ้านแบบนี้เป็นความหรูหราอย่างหนึ่งเลยล่ะครับ เพราะเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ต่างขายที่ดินไปสร้างตึกสูงกันหมด พวกเราโชคดีมากที่ได้อยู่ในบ้านเก่าที่เป็นมรดกสถาปัตยกรรมของเมือง มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่จัดเลี้ยง บางทีผมก็คิดว่าถ้าไปอยู่คอนโดฯ หรูในสาทรที่มีวิวเมืองสวยๆ ก็ดีนะ แต่ว่าพวกเรามีความสุขที่อยู่ที่นี่ ซึ่งมีทั้งประวัติศาสตร์และความทรงจำ ผมเคยเจอคนจากรัฐบาลที่บอกว่าเขาเคยอาศัยอยู่ที่นี่ตอนเด็ก แล้วก็ชอบเล่นในสวนด้วย 

คุณชอบส่วนไหนในบ้าน ได้เปลี่ยนอะไรในบ้านไหมตอนมาอยู่ที่นี่

ปกติทำเนียบจะตกแต่งเรียบร้อยอยู่แล้ว ดังนั้นแค่นำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นโปรดจากอิตาลีมาตกแต่งก็ทำได้ตามชอบ แล้วพอย้ายตำแหน่งค่อยเอาของเก่ากลับมาวาง ผมไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากนัก ยกเว้นชั้นบนเพราะเราอยากใช้เฟอร์นิเจอร์ของเราเอง และมีแค่หนังสือกับนิตยสารที่เป็นของผม 

ผมชอบบ้านที่เป็นแบบนี้อยู่แล้ว มีหลายจุดที่ผมชอบ อย่างห้องนั่งเล่นที่เรานั่งคุยกัน แล้วก็มุมห้องกระจกที่ไว้ทานอาหารเช้า รู้สึกเหมือนได้อยู่กลางแจ้งเพราะมองเห็นต้นไม้สบายตา ชอบเพดานสูงๆ ที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง ซึ่งหาไม่ได้จากการอยู่ในตึกสูง เป็นอภิสิทธิ์ของการอยู่ที่นี่ 

โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti)

ใช้ชีวิตในสีลม ยากไหม

เป็นย่านที่พลุกพล่านและมีชีวิตชีวา เราชอบที่เป็นย่านที่เดินได้ ออกไปเจอห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารหลายๆ แห่ง การเดินเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเรา เราไม่ชอบนั่งรถตลอดเวลา และการอยู่ในย่านนี้ทำให้เราได้เดิน 

แต่ข้อเสียคือรถติดมากครับ โดยเฉพาะตอนเย็น เวลาจัดงานแขกต้องเผื่อเวลาเดินทางมาก เวลาผมกลับมาบ้านในเวลาเร่งด่วน บางทีต้องใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงบนรถเพื่อจะเดินทางแค่สี่กิโลเมตร ดังนั้นบางทีเวลาไม่อยากขับรถ ผมก็ชอบขึ้นรถไฟฟ้า 

คุณเคยทำงานที่ซีเรีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ทำเนียบทูตอื่นๆ เป็นบ้านเก่าเหมือนที่นี่ไหม

แล้วแต่ครับ ทำเนียบทูตที่ปารีส ลอนดอน ลิสบอน เป็นโบราณสถาน ทำเนียบและสถานทูตที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเป็นที่ลิสบอน Palace of the Counts of Pombeiro สร้างในศตวรรษที่ 18 ส่วน Villa Firenze ทำเนียบทูตที่วอชิงตัน ดี.ซี. เป็นบ้านเก่าอายุเกือบร้อยปีที่สวยมากๆ 

ทำเนียบทูตที่อื่นก็ต่างกันไป มีหลายแบบมากครับ แต่ว่าต้องสวยงาม ดีไซน์ดี และสื่อว่าชาวอิตาลีให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และศิลปะวัฒนธรรม บางแห่งก็ออกแบบโดยสถาปนิกอิตาลีอย่างที่โตเกียว 

งานหลักๆ ของเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยคืออะไรบ้าง

งานส่วนใหญ่ของผมคือการสนับสนุนการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น รถยนต์ เครื่องจักร เพราะเมืองไทยเป็นที่ตั้งโรงงาน ผมอยากทำให้ความสัมพันธ์ด้านธุรกิจของเราพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเทคโนโลยีของอิตาลีเข้ามาใช้ในเมืองไทย นี่อาจเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของงานของผม 

รวมไปถึงการสนับสนุนการลงทุนของนักธุรกิจไทยในอิตาลี อย่างกรุ๊ปเซ็นทรัลที่ลงทุนซื้อห้างสรรพสินค้าใหญ่ของอิตาลีและประสบความสำเร็จ ไมเนอร์ที่ลงทุนโรงแรม แล้วก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่ทำงานร่วมกัน เรามีหอการค้าไทย-อิตาเลียน ซึ่งมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งบริษัทไทยและอิตาเลียน 

งานของผมเกี่ยวข้องกับทั้งธุรกิจ วัฒนธรรม แต่สิ่งที่สนใจมากคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนมักคิดถึง Food, Furniture และ Fashion เมื่อคิดถึงอิตาลี แต่จริงๆ แล้วประเทศที่มีอุตสาหกรรมใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป รองจากเยอรมนีคืออิตาลี และโรงงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น รถ Mercedes-Benz หรือ BMW ของเยอรมนีก็มีเทคโนโลยีอิตาลีอยู่ และอิตาลีก็ทำงานด้านเทคโนโลยียานอวกาศด้วย 

ผมอยากทำงานกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยอีกเยอะๆ เพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ ตอนอยู่อเมริกาได้ทำงานด้านนี้เยอะ เลยเข้าใจความสำคัญว่าผลลัพธ์ของมันเปลี่ยนแปลงโลกได้ 

ความร่วมมือกับเมืองไทยเรื่องไหนที่คุณอยากเล่าให้คนทั่วไปได้ฟัง

เรื่องความยั่งยืนครับ ใน ค.ศ. 2021 อิตาลีจะเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 และการประชุม COP 26 (การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ร่วมกับสหราชอาณาจักร เพราะฉะนั้น สถานทูตก็เลยร่วมมือกับเมืองไทยในหลายๆ ด้านในการสนับสนุนความยั่งยืน เรากำลังทำงานร่วมกับ ESCAP (คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล และ Siam Center 

และเราทำโครงการ Smart Talk Bangkok คล้ายๆ TED Talks จัดนิทรรศการสามวัน มีการแสดงสดจากคณะนักแสดงศิลปะการแสดงอิตาเลียนที่เน้นประเด็นความยั่งยืน โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทย หลายบริษัทในอิตาลีและเมืองไทย เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักเรื่องความยั่งยืนและปัญหาโลกร้อนด้วย

โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti)

โดยปกติ งานเทศกาลที่สถานทูตอิตาลีจัดมีอะไรบ้าง

เทศกาลภาพยนตร์อิตาเลียนช่วงเดือนตุลาคมเป็นเทศกาลแรกของเราใน ค.ศ. 2020 เพราะ COVID-19 ปกติเราจะมีเทศกาลอิตาเลียนหลากหลายทั้งปี เช่น ดนตรีคลาสสิกและดนตรีแจ๊สจากนักดนตรีอิตาลี นิทรรศการศิลปะอย่างที่เราเคยจัดงานคาราวัจโจ งานลีโอนาโด ดาวินชี และมีงานวัฒนธรรม ค.ศ. 2019 ก็มีงานบทสนทนาพหุวัฒนธรรมและทำหนังสือที่เล่าเรื่องราวระหว่างชาวไทยและชาวอิตาเลียน น่าสนใจที่หลายเรื่องเกี่ยวกับอาหาร (ยิ้ม) แล้วก็เรื่องเด็กที่เติบโตมากับหลายวัฒนธรรม 

ตัวผมเองคุณแม่เป็นชาวเยอรมัน และคุณพ่อเป็นคนอิตาเลียน ซึ่งต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ผมเองก็เติบโตมากับวัฒนธรรมเยอรมันหลายอย่าง ก็เลยสนใจมุมมองของการผสมผสานวัฒนธรรมหลากหลาย อย่างไทยกับอิตาเลียน หรือไทยกับประเทศยุโรปอื่นๆ 

ทำไมสถานทูตอิตาลีถึงนิยมจัดกิจกรรมวัฒนธรรมมากมายในเมืองไทย

ตอนที่ผมมาถึง เราเพิ่งฉลองร้อยห้าสิบปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมืองไทยและอิตาลี ซึ่งตอนเริ่มความสัมพันธ์ อิตาลีเพิ่งรวมประเทศเป็นราชอาณาจักรได้ไม่นาน หลังจากถูกปกครองโดยต่างชาติหรือแยกกันอยู่เป็นกลุ่มๆ หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน เราเพิ่งกลับมามีเอกภาพตอน ค.ศ. 1860 โรมไม่ใช่เมืองหลวง เพราะตอนนั้นโรมปกครองโดยพระสันตะปาปา จนถึง ค.ศ. 1870 เมืองหลวงเก่าของอิตาลีคือตูรินและฟลอเรนซ์ 

การที่รัฐในเวลานั้นเริ่มความสัมพันธ์กับประเทศที่อยู่ไกล เป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลมาก ในช่วงรัชกาลที่ 5 และ 6 ชาวอิตาเลียนหลายคนเดินทางมาทำงานในเมืองไทย โดยเฉพาะสถาปนิกและศิลปินซึ่งได้เข้ามาทำงานศิลปะกับศิลปินไทย บุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งคืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกวันที่ 15 กันยายนที่เป็นวันเกิดของอาจารย์ ยังมีลูกศิษย์ที่เคยเรียนด้วยมาร่วมงานด้วยอยู่เสมอ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรามีวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมโยงหลัก รากของความสัมพันธ์มาจากวัฒนธรรมและผู้คน นักศึกษาและนักวิชาการหลายคนในไทยก็ไปเรียนต่อที่อิตาลี มิตรภาพระหว่างเรามาจากคนที่ชื่นชอบวิถีชีวิตของกันและกัน และอาหาร ขอโทษที่พูดเรื่องอาหารเยอะนะครับ แต่ผมรู้ว่ามันก็เป็นเรื่องสำคัญในวัฒนธรรมของคนไทยเหมือนกัน 

คนไทยชอบมาเที่ยวอิตาลี หลายคนไปหลายครั้งเพราะชื่นชอบ แต่จำนวนคนอิตาเลียนที่มาเมืองไทยมีมากกว่าเยอะเลยครับ ไวรัสนี้ทำให้คนอิตาเลียนหลายคนที่ชอบมาพักผ่อนที่ไทยครั้งละสองสามเดือนกลับมาไม่ได้ พวกเขาแทบอดทนรอไม่ไหวให้พรมแดนเปิด จะได้กลับมาเที่ยวที่นี่อีกครั้ง 

สำหรับทูตอย่างผม การที่ประชาชนมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อกันมาตลอด ทำให้เราหาทางแก้ไขปัญหาทางการทูตได้ตลอด 

โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti)

คนอิตาเลียนถูกใจอะไร ถึงชอบมาเที่ยวเมืองไทย

ชอบความเป็นมิตรและการต้อนรับขับสู้ของคนไทย ความสวยงามของประเทศซึ่งไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ แต่ในที่อื่นๆ อย่างเชียงราย ภาคอีสาน และจังหวัดอื่นๆ ก็สวยงามมาก 

ตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้งที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวใน ค.ศ. 1998 การมาเที่ยวไทยเป็นเรื่องที่คนยุโรปนิยมมากจนเป็นธรรมเนียม ไม่ใช่แค่คนอิตาเลียนนะครับ บางคนก็มาพักนานๆ ทุกปี ซื้อบ้านพักไว้ก็มี ก่อนช่วง COVID-19 ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวอิตาเลียนมาไทยราวๆ 265,000 คน ซึ่งส่วนมากมาอยู่นานๆ หลายคนมาช่วงฤดูหนาว เรามีชาวอิตาเลียนที่พำนักในไทยถาวรราวๆ หกพันคน แต่ปกติมีถึงหนึ่งหมื่นคน ซึ่งก็เยอะอยู่นะครับ ขณะที่กัมพูชามีราวสองพันห้าร้อยคน ที่ลาวประมาณหนึ่งพันคน ซึ่งตอนนี้ก็เหลือประมาณหนึ่งในสามที่ยังอยู่

ตอนที่ COVID-19 ระบาดใหม่ๆ คนอิตาเลียนในไทย กัมพูชา และลาว อยากกลับบ้านหรืออยู่แถวนี้มากกว่า

พวกเขาเปลี่ยนใจกันบ่อยมากเลยครับ (หัวเราะ) ที่กัมพูชาและลาวไม่ค่อยมีคนอิตาเลียนอยู่มากนัก ประเทศเหล่านั้นค่อนข้างเงียบสงบ ตอนแรกหลายคนอยากกลับบ้านเพราะกลัวว่าถ้าโรคระบาดหนักเข้า จะหาทางเข้าถึงการรักษาได้ยาก เราเลยร่วมมือกับหลายประเทศในยุโรปจัดเที่ยวบินพิเศษให้ชาวยุโรปกลับบ้านสามครั้ง 

ส่วนในเมืองไทย การหาเที่ยวบินพาณิชย์กลับอิตาลียังพอเป็นไปได้ หลังจากนั้นทุกคนก็รู้ว่าสถานการณ์ที่นี่ยังควบคุมได้มากกว่า หลายคนเลยตัดสินใจอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยอยู่แล้ว ทุกคนอยู่ที่นี่ต่อ นักท่องเที่ยวและคนที่มาชั่วคราวกลับกันไปบ้าง ซึ่งเราขอบคุณรัฐบาลไทยมากที่ขยายเวลาพำนักในประเทศไทย ให้พวกเขาได้มีเวลาตัดสินใจว่าอยู่เมืองไทยหรือกลับอิตาลี ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก 

หลังสถานการณ์ COVID-19 ที่อิตาลีระบาดรอบสอง ทางรัฐบาลรับมือยังไงบ้าง

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การใส่หน้ากากกลายเป็นเรื่องจำเป็นครับ ช่วงพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 เราเจอเคสใหม่ๆ ราวสี่หมื่นเคสต่อวัน ที่ตัวเลขดูเยอะเพราะไล่ตรวจโรควันละประมาณหนึ่งแสนคนทุกวัน ปัจจุบัน (มกราคม ค.ศ. 2021) เจอผู้ติดเชื้อใหม่ราวหนึ่งหมื่นห้าพันคนต่อวัน ท้องถิ่นต่างๆ ก็ล็อกดาวน์เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าออก ที่ผ่านมาคนกักตัวอยู่บ้านหลายเดือน เป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนที่ช่วยได้มาก 

ถ้าจำกันได้ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ อิตาลีเจอวิกฤต COVID-19 อย่างหนักหนาสาหัส ส่วนหนึ่งเพราะเรามีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก มาตรการเลยต้องเข้มงวดมาก และตอนนี้เราก็ตระหนักแล้วว่าเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคระบาดจนกว่าจะมีวัคซีน เพราะเศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อ และเราต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้นต้องหาสมดุล ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์สาธารณสุข 

แม้ว่าตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อจะกลับไปสูง แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ค.ศ. 2020 ค่าเฉลี่ยอายุต่ำลงมาก อัตราผู้เสียชีวิตก็ต่ำลงมากด้วย โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ก็รับมือได้ดีขึ้น กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวก็รู้วิธีดูแลตัวเอง ปู่ย่าตายายต้องหลีกเลี่ยงการเจอหลานๆ ที่ไปโรงเรียนเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง 

ถึงต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่ภาพคนอิตาลีออกมาร้องเพลงและเล่นดนตรีตามระเบียงก็น่าประทับใจมาก

ความคิดสร้างสรรค์ของคนอิตาลีเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อสู้ความลำบากของการกักตัวอยู่บ้าน การล็อกดาวน์ส่งผลต่อสุขภาพจิตมาก ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปโดยสิ้นเชิง คุณแม่และลูกสาวของผมก็กักตัวอยู่ที่อิตาลี ถึงอยู่ที่นี่ผมจะไม่ออกไปไหน แต่มันก็ต่างกัน ผมยังไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่การกักตัวอยู่บ้านโดยรู้ว่าทั้งประเทศก็ต้องกักตัวเหมือนกัน ข้างนอกทุกอย่างเงียบสนิท มันน่ากลัวมากนะครับ 

การรับมือความโดดเดี่ยวทำให้เรารู้ว่าเราคิดถึงคนอื่นๆ มากขนาดไหน การร้องเพลงที่ระเบียงคือความพยายามปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ให้รู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ถึงเราจะติดต่อกันผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากเท่าที่เราต้องการ แต่เราต่างคิดถึงสัมผัสของคนต่อคน ซึ่งโซเชียลมีเดียช่วยส่งต่อเรื่องนี้จนไวรัลไปทั่วโลกแบบไม่ได้ตั้งใจ ผมว่าทุกคนคงประทับใจที่ได้เห็น และผลตอบรับก็ดีมาก

วันนี้ (วันที่สัมภาษณ์) เป็นวันสุขภาพจิตโลก ผมอยากย้ำว่า COVID-19 ทำให้สุขภาพจิตของผู้คนย่ำแย่ลง เราควรตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย

โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti)

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่คนไทยและคนอิตาลีมีเหมือนกัน

หลายอย่างเลยครับ เราให้ความสำคัญกับครอบครัว ไม่ใช่แค่พ่อแม่กับลูก แต่รวมถึงครอบครัวขยาย เราชอบความอิสระ ชอบการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต ชอบช่วงเวลาดีๆ ชอบทำงานนะ แต่ว่าไม่ได้อยู่เพื่อทำงาน เราทำงานเพื่ออยู่ และขอโทษที่พูดเรื่องนี้อีกแล้ว (ยิ้ม) เราชอบอาหาร และเราใส่ใจเปิดรับวัฒนธรรมอาหารใหม่ๆ ไม่ได้กินแต่อาหารบ้านตัวเองอย่างเดียว แต่ชอบทดลองกินอาหารอื่นด้วย ครอบครัวผมชอบอาหารไทย ถ้าออกไปกินข้างนอก ไม่ไปร้านอาหารอิตาเลียนก็จะไปร้านอาหารไทย

ร้านอาหารอิตาเลียนในกรุงเทพฯ ไหนที่เป็นร้านโปรดของคุณ

บอกแค่ร้านเดียวไม่ได้ครับ ต่อให้เลือกที่หนึ่งในใจได้ ผมก็จะไม่มีวันบอกคุณ (หัวเราะ) หลายร้านมาร่วมออกงาน Italian Cuisine Week in Thailand ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี มีร้านอาหารอิตาเลียนในไทยเยอะมาก ผมอาจจะไม่ได้เคยชิมทั้งหมด 

ในเมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีอาหารอิตาเลียนแท้ๆ เยอะเลยครับ วัตถุดิบมาจากอิตาลี สูตรการปรุงก็ตรงตามต้นฉบับ แต่ก็มีอาหารฟิวชันเยอะเหมือนกัน เช่น ใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวแทนพาสต้า ใช้วัตถุดิบไทยแทนวัตถุดิบเดิม ซึ่งสนุกสนานดีครับ แต่ในฐานะทูต เรื่องสำคัญสำหรับผมคือเวลาคุณไปจ่ายตลาด คุณควรรู้ว่าของที่คุณซื้อเป็นของอิตาเลียนแท้ๆ หรือว่าไม่ใช่ เพราะมีของเลียนแบบเยอะ บางทีบนห่อมีธงอิตาลีแต่ว่าข้างในมาจากที่อื่น อันนั้นผมรับไม่ได้ ผู้บริโภคต้องรู้ว่าของที่เขาซื้อเป็นของอิตาเลียนแท้รึเปล่า มันอาจราคาสูงกว่ายี่ห้ออื่นนิดหน่อย แต่มันเป็นของแท้แน่ๆ ไม่ว่าคุณจะชอบของทดลองหรือของดั้งเดิมก็ควรรู้ที่มา

นอกจากแบ่งปันเรื่องงาน พอเล่าให้ฟังได้ไหมว่าวันหยุดของคุณเป็นอย่างไร

ผมชอบท่องเที่ยว เมืองไทยสวยมากครับ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ผมชอบขับรถออกไปนอกเมือง ที่ที่ชอบมากๆ คือเกาะเกร็ด นนทบุรี มีคาเฟ่น่ารัก ปั่นจักรยานได้ แล้วก็มองเห็นแม่น้ำได้ตลอด

ช่วง COVID-19 นี้โรงแรม ร้านอาหาร และที่สวยๆ มากมายที่ปกติคนเยอะก็ว่างให้ไปเที่ยว ผมไม่ได้กลับไปอิตาลีเพราะการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ค.ศ. 2020 เลยเดินทางเที่ยวในประเทศไทย ที่นี่มีทิวทัศน์หลากหลายแบบน่าสนใจ ผมชอบเขาใหญ่ ชอบอุทยานและพื้นที่รอบๆ และจะกลับไปเที่ยวอีกแน่นอน 

มีที่หนึ่งชื่อ Toscana Valley เขาใหญ่ ตอนแรกผมคิดว่าจะดูปลอมนะ แต่ไปแล้วประทับใจมาก สร้างได้ถูกต้อง ไปแล้วรู้สึกเหมือนได้กลับไปทัสคานี ซึ่งเป็นแคว้นที่ผมจากมา ช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมาเลยรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านแป๊บหนึ่ง 

ผมกับลูกชายไปเดินป่าที่เขาใหญ่ เราได้เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่ที่นั่นว่าพืชกินได้ที่นั่นมีมหาศาลมาก มีทั้งวัตถุดิบอาหารไทยและสมุนไพรไทยซึ่งกลายเป็นสินค้าหลายอย่างมาก ประทับใจวัฒนธรรมการใช้พืชดูแลสุขภาพ ซึ่งคล้ายๆ คนอิตาลีที่มีวัฒนธรรมอาหารเพื่อสุขภาพ 

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่มีแม่น้ำใหญ่ทำให้เกษตรกรรมที่นี่ดี และทำให้พืชกลายเป็นส่วนประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ชอบมาก แล้วผมก็ชอบกาญจนบุรี อยากขับรถไปเที่ยวน้ำตกเอราวัณอีก สวยมาก มีภูเขาเขียวรอบๆ ถึงอากาศร้อนก็ชอบ แล้วก็ชอบเกาะต่างๆ กระบี่ ผมเพิ่งกลับจากสมุย ที่นั่นก็ดีมาก 

ผมชอบธรรมชาติ ต้องการธรรมชาติ ผมชอบอยู่กรุงเทพฯ นะ แต่ก็ต้องออกไปอยู่ในพื้นที่สีเขียว ในชนบทที่มีต้นไม้เยอะๆ เพื่อหายใจและฟื้นฟูตัวเอง เหมือนอยู่ที่อิตาลี ผมชอบโรม แต่ก็ต้องหาเวลาไปเมืองอื่นที่มีธรรมชาติ 

คำถามสุดท้าย ถ้าสอนภาษาไทยให้คนอิตาเลียนได้หนึ่งคำ คุณจะสอนคำว่าอะไร

(เงียบคิดนาน) คำเดียวเองเหรอ ท้าทายมาก ผมน่าจะสอนคำว่า ขอบคุณครับ (Grazie) ขอบคุณสำหรับน้ำใจและมิตรภาพของคนไทยที่เราซาบซึ้งมาก ช่วง COVID-19 แต่ละประเทศไม่ได้แค่ปิดพรมแดน แต่ปิดความสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะความกลัวด้วย ผมคิดว่าเราไม่ควรลืมมิตรภาพระหว่างกัน มีคนอิตาเลียนมากมายที่อยากกลับมาเมืองไทย และคนไทยอีกหลายคนที่อยากไปอิตาลี ผมขอบคุณความรู้สึกดีๆ ที่เรามีให้กัน 

โลเรนโซ กาลันตี (Lorenzo Galanti)

ขอบคุณข้อมูลจาก 

ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม 

www.thaiembassy.it/index.php/

www.eliteplusmagazine.com/ 

en.wikipedia.org/wiki/Victor_Emmanuel_II_of_Italy 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล