74 ปี สำหรับมนุษย์อาจเป็นเวลายาวนานกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของประชากรบางประเทศ

แต่สำหรับประเทศที่ก่อตั้งมาได้ 74 ปี คงต้องจัดไว้ในหมวดประเทศเกิดใหม่ ซึ่งทยอยถือกำเนิดขึ้นทุกมุมโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร

ตัวเลขดังกล่าวคืออายุปัจจุบันของ ‘รัฐอิสราเอล’ ประเทศเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติซึ่งยินยอมให้ชนชาติยิวจัดตั้งรัฐบนแผ่นดินที่เคยเป็นบ้านของพวกเขาเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ก่อนพวกเขาแตกสานซ่านเซ็นไปยังดินแดนข้างเคียง ไม่ว่ายุโรป เอเชีย หรือแอฟริกา

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

ที่ตั้งของประเทศใหม่นี้ยังเป็นแผ่นดินในพันธสัญญาที่พระเป็นเจ้าในศาสนายูดาห์ทรงให้คำมั่นว่าจะประทานเป็นที่อยู่อาศัยแก่ยิวทั้งมวล ด้วยสำนึกทางชาติพันธุ์เต็มเปี่ยมในกมล พี่น้องชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ในต่างประเทศได้อพยพหลั่งไหลเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในอิสราเอล พร้อมกับวัฒนธรรมที่ติดตัวมาจากดินแดนเดิมของพวกเขา อิสราเอลจึงเป็นชาติเกิดใหม่ที่คลาคล่ำด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมในหลาย ๆ เรื่อง

หนึ่งในนั้นคือเรื่องอาหาร

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

เช้าวันศุกร์ที่ 9 กันยายน ค.ศ. 2022 เรามีนัดพิเศษกับสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยที่ Helena Greek Restaurant Bangkok ร้านอาหารกรีกน้องใหม่ท้ายซอยสุขุมวิท 51 เพื่อทำความรู้จักกับ ‘อาหารอิสราเอล’ ซึ่งทางสถานทูตภูมิใจนำเสนอ

ในความรับรู้ของชาวไทยทั่วไป อิสราเอลคือประเทศหนึ่งในตะวันออกกลาง แม้ต่างเชื้อชาติศาสนากับปวงประเทศอาหรับที่อยู่รายล้อม ทว่าหน้าตาผิวพรรณของผู้คน ตลอดจนอาหารการกินคงไม่แปลกแยกจากกันนัก กลับกันชาติยุโรปยังน่าจะแตกต่างจากอิสราเอลมากกว่า

มายาคติข้างต้นได้นำความกังขามหาศาลโถมทับใจเรา ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ยินว่าสถานที่จัดงานคือร้านอาหารกรีก ซึ่งดูไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องอันใดกับประเทศของชาวยิว และยิ่งงงตึ้บกว่าเก่า เมื่อได้พบเจ้าหน้าที่สถานทูตหลายท่าน ที่ล้วนแต่มีประพิมพ์ประพายค่อนไปทางชาวตะวันตก ไม่ใช่แขกขาวชาวตะวันออกกลางอย่างที่เราวาดภาพไว้ในใจตอนแรก

คงเป็นบทเรียนแรกที่ ออร์นา ซากิฟ (Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตอิสราเอล เตรียมไว้สอนแขกชาวไทยเช่นเรา ก่อนที่งาน ‘Israel’s Diversity: Stories Behind the Dishes’ ในวันนี้จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

หลากที่มา

ครั้นผู้เข้าร่วมงานประจำที่บนโต๊ะอาหารกันอย่างพร้อมหน้า ท่านทูตซากิฟจึงลุกขึ้นกล่าวเบื้องหน้าธงชาติพื้นหลังขาวที่กึ่งกลางมีลายดาวดาวิดหกแฉกสีน้ำเงิน

“อิสราเอลเป็นประเทศอายุน้อย ประชาชนชาวอิสราเอลที่เห็นในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่อพยพมาจากต่างประเทศได้ไม่นานค่ะ” เธอเข้าสู่ประเด็นทันทีที่เสร็จสิ้นการอารัมภบท

ผู้แทนประเทศอิสราเอลเล่าว่า ก่อนการก่อตั้งชาติของเธอเมื่อ ค.ศ. 1948 ชาวยิวไม่เคยมีประเทศของตัวเองมานานนับพัน ๆ ปี พวกเขาพลัดพรายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่เอเชียตะวันตก ยุโรปใต้ ยุโรปตะวันออก เรื่อยไปถึงแอฟริกาตะวันตกอันไกลลิบอย่างอัลจีเรียและโมร็อกโก เป็นชนกลุ่มน้อยที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนาจากคนส่วนใหญ่ในสังคมเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกัน ชาวยิวก็ได้รับเอาวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนในชาตินั้น ๆ มาปนเปในวิถีชีวิตตน จนเกิดเป็นความแตกต่างในหมู่ยิวด้วยกันเอง

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

ชาวยิวที่ถือสัญชาติอิสราเอลทุกวันนี้ หากไม่ใช่รุ่นที่อพยพเข้ามาด้วยตัวเอง ก็มักจะเป็นคนที่เกิดในอิสราเอลไม่รุ่นที่ 1 ก็รุ่นที่ 2 ทุกครอบครัวจะทราบกันดีว่าปู่ย่าตาทวดของตนย้ายถิ่นมาจากประเทศใด อีกทั้งหลายคนก็ยังพูดภาษาในดินแดนที่พวกเขาจากมาได้ นอกเหนือจากภาษาฮีบรูของชาวยิวด้วย

“ในอิสราเอล ถ้าคุณจะแต่งงาน ครอบครัวคุณจะถามเลยว่าคนรักของคุณเกิดที่ไหน พ่อแม่ของเขาย้ายมาจากประเทศอะไร ถ้าพ่อแม่ของเขาเกิดในอิสราเอลเหมือนกัน ก็จะถามถึงรุ่นปู่ย่าต่อไป” ทูตสาวยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพ ก่อนบอกกับเราทุกคนว่าเธอเป็นคนอิสราเอลเชื้อสายโปแลนด์ ที่ครอบครัวได้ย้ายจากโปแลนด์มาอยู่อิสราเอลหลังการสถาปนารัฐอิสราเอลเมื่อ 74 ปีก่อนนั่นเอง

ยามคนอิสราเอลจะดูกันว่าอีกฝ่ายมาจากที่ใด ถ้าไม่ฟังภาษาที่เขาใช้สื่อสารภายในบ้าน ของกินบนโต๊ะอาหารก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชี้ชัดได้เหมือนกัน เพราะครอบครัวที่มีพื้นเพมาจากรัสเซียก็มักจะกินอาหารรัสเซีย ครอบครัวที่ย้ายมาจากโมร็อกโกก็จะนิยมอาหารแบบแอฟริกาเหนือ หรือครอบครัวไหนที่เคยอาศัยอยู่ประเทศกรีซ ก็จะช่ำชองด้านการปรุงอาหารกรีกและเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหลายแหล่ ดังเช่นเจ้าของร้าน Helen Restaurant แห่งนี้ที่เป็นชาวอิสราเอลเหมือนกัน

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

หลากวิธีทำ

ปูพื้นความเข้าใจเรื่องประเทศ เชื้อชาติ และอาหารกันพอหอมปากหอมคอแล้ว แต่เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ ท่านทูตซากิฟพร้อมด้วยรองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต อาเรียล ไซด์มัน เลยนำแขกในงานทุกคนออกไปยังบริเวณเฉลียงที่โต๊ะใหญ่ 3 – 4 ตัววางเป็นแถวเป็นแนว โดยมีพืชผักและเครื่องปรุงนานาชนิด ตั้งรอให้เลือกหยิบไปใช้กับเครื่องครัวที่ไม่เหมือนกันบนโต๊ะแต่ละตัว

ท่ามกลางผู้คนที่สวมผ้ากันเปื้อนยืนหน้าสลอน นักการทูตทั้งสองเชื้อเชิญให้แขกผู้มีเกียรติทุกคนได้ทดลองทำอาหารอิสราเอลด้วยน้ำมือตนเองทั้งหมด 3 เมนู ได้แก่ ชักชูกา (Shakshuka), ฟาลาเฟล (Falafel) และขนมปังคาลา (Challa) โดยมีเชฟประจำร้านคอยสาธิตและช่วยเหลืออยู่ห่าง ๆ

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

เริ่มต้นกันที่ ‘ชักชูกา’ ไข่ลวกกะทะร้อนสไตล์แอฟริกาเหนือซึ่งปรุงด้วยมะเขือเทศ พริก กระเทียม ยี่หร่า น้ำมันมะกอก ให้รสจัดจ้านถูกลิ้นคนไทย

เมนูนี้แพร่เข้ามาในอิสราเอลโดยชาวยิวจากอัลจีเรีย ตูนีเซีย และโมร็อกโก ผู้คนส่วนใหญ่ชอบที่จะรับประทานเป็นอาหารเช้ารับวันใหม่ แต่ด้วยรสชาติอันโอชะ คนอีกไม่น้อยจึงไม่อาจเก็บความอร่อยของชักชูกาไว้ดื่มด่ำเฉพาะมื้อเช้าได้ เราจึงพบชักชูกาได้ทั่วไปในประเทศอิสราเอล ทุกที่ ทุกมื้ออาหาร

ฐานนี้ เชฟใหญ่สอนให้ผู้ร่วมเวิร์กชอปฝานพริกหยวก กระเทียม มะเขือเทศ เป็นชิ้นบาง ส่งเสียงฉับ ๆ ดังกึกก้อง แล้วจึงนำทั้งหมดเทรวมกันลงในกระทะ

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว
ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

กริ๊ง! นาฬิกาจับเวลาในมือคุณไซด์มันส่งสัญญาณบอกหมดเวลา ถึงคราวต้องย้ายฐานกันแล้ว

เราละสายตาจากกระทะผัดชักชูกาที่เชฟกำลังเร่งมือผัดส่วนผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกันอย่างขมีขมัน แล้วหันไปให้ความสนใจกับ ‘ฟาลาเฟล’ ของทอดที่สีสันส่วนผสมดูคล้ายกุยช่ายทอด แต่สัณฐานกลมดิก

ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของอาหารชนิดนี้ยังเป็นที่โต้แย้งกันไม่มีวันจบสิ้น บางกระแสว่ามันมีต้นกำเนิดมาจากอียิปต์เมื่อ 1,000 ปีก่อน บ้างว่ามาจากอินเดียนานกว่านั้น และบ้างก็ว่าเพิ่งมีเมื่อร้อยกว่าปีมานี้ สมัยที่อังกฤษยึดครองตะวันออกกลางเป็นดินแดนอารักขา

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

ความจริงจะเป็นเช่นไร คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ทำการสืบค้นต่อไป เนื่องจากขณะนี้เชฟกำลังเร่งรัดเราให้ปั้นก้อนฟาลาเฟลจากถั่วหัวช้าง ถั่ว และเครื่องเทศ ซึ่งตัวเขาได้คลุกทุกอย่างใส่หม้อรอเราไว้แล้ว หน้าที่ของเราในฐานะผู้ทำเวิร์กชอปคือปั้นพวกมันให้แน่นที่สุด เพื่อที่เวลาลงกระทะจะได้ไม่แตกกระจายเป็นเศษเล็กเศษน้อย

รอยังไม่ทันจะเบื่อ ก็ได้ฟาลาเฟลกลิ่นหอมฉุย ขนาดเท่าลูกชิ้น มากินแก้หิวกันพลาง ๆ

ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว
ตามทูตอิสราเอลเข้าครัว ลงมือปรุงสำรับอาหาร เพื่อรู้จักความหลากหลายของชาวยิว

นาฬิกาลั่นเสียงดังกังวานอีกครั้ง เป็นเหตุให้เราต้องขยับจากฐานฟาลาเฟล มายังฐานสุดท้าย คือฐานทำ ‘คาลา’ ซึ่งมีจุดรวมสายตาอยู่ ณ กะละมังสแตนเลสบรรจุก้อนแป้ง

สำหรับประชาชาติยิวที่มีมากกว่า 14 ล้านคนทั่วโลก คาลาเป็นมากกว่าขนมปังที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน แต่เจ้าขนมปังที่มีทรวดทรงเหมือนเปียผม ยังเป็นดั่งพันธะที่ผูกมัดมนุษย์กับพระเจ้า

ทั้งนี้เพราะคัมภีร์โตราห์ของชาวยิวเล่าย้อนไปในสมัยที่บรรพบุรุษของพวกเขาถูกเนรเทศ ต้องใช้ชีวิตระเหเร่ร่อนอยู่ท่ามกลางความแร้นแค้น พระเจ้าจึงมีรับสั่งให้พวกเขาแสดงความศรัทธาต่อพระองค์ ด้วยการแยกขนมปังบางส่วนของพวกเขาเพื่อถวายเป็นเครื่องสักการะ หลังจากที่พวกเขาเดินทางเข้าสู่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์โดยสวัสดิภาพ อนุชนชาวยิวจึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาว่า ต้องอบและรับประทานขนมปังคาลาทุกวาระสำคัญในศาสนายูดาห์ ยกเว้นเทศกาลปัสคาที่ต้องกินขนมปังไร้เชื้อเท่านั้น

แต่เดิมขนมปังคาลาไม่ได้มีรูปแบบชัดเจนตายตัว ส่วนรูปแบบที่แพร่หลายในอิสราเอลทุกวันนี้ได้รับมาจากชาวยิวในยุโรป บางครั้งจะโรยงาให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น

เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย

วิธีทำคาลาก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่แป้งที่หมักยีสต์และน้ำตาลมา ตอกไข่และเติมเนยลงไปเล็กน้อยให้ได้เนื้อแป้งที่นิ่มหยุ่น แล้วทิ้งไว้ในที่อุ่นอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

จากนั้นนำแป้งที่เตรียมไว้มาแยกเป็นชิ้น ๆ นวดทุกชิ้นเป็นเส้นยาว และนำแป้ง 2 เส้นมาผูกร้อยกันในลักษณะเดียวกับถักเปีย นำไปอบในเตาที่ให้ความร้อนสูง 180 องศาเซลเซียส ทิ้งไว้ราว 25 นาที เท่านี้ก็จะได้คาลาสีน้ำตาลนวลตาสมดั่งใจแล้ว

เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย

หลากความอร่อย

เวิร์กชอปทั้ง 3 ฐานจบลงด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมด แต่คงเป็นเพราะทุกคนขลุกอยู่กับการครัวทั้งที่ท้องยังว่าง ท้องไส้ของแต่ละคนจึงเริ่มส่งเสียงจ๊อก ๆ ท่านทูตซากิฟและคุณไซด์มันเลยอาสานำแขกทุกคนกลับเข้าห้องอาหาร โดยปล่อยให้ขั้นตอนการปรุงที่เหลือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเชฟตัวจริงต่อไป

กลับมารอบนี้ โต๊ะบุฟเฟต์ตัวยาวที่ก่อนหน้ายังคลุมด้วยผ้าทึบกลับเปิดโล่ง เผยความอุดมสมบูรณ์ของ ‘อาหารอิสราเอล’ สารพัดเมนูซึ่งดูคล้ายอาหารชาติอื่นไปเสียทุกจาน นี่กระมังความหลากหลายของอิสราเอลที่ท่านทูตและคณะตั้งใจจะอวดให้เราเห็น

เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย
เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย

มื้อกลางวันที่ทุกคนตั้งตารอนี้ ทางสถานทูตได้ทยอยเสิร์ฟอาหารเรียกน้ำย่อยและสลัดจานเล็ก ต่อด้วยอาหารจานหลักซึ่งมีเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานเลือกตักในถาดบุฟเฟต์ได้ตามอัธยาศัย ก่อนตบท้ายด้วยของหวาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเมนูใด ก็มักจะมีเรื่องราวการนำเข้ามาโดยชาวยิวจากที่นั่นที่นี่เสมอ

บางเมนูมีชื่อที่ฟ้องชัดว่าไม่ใช่อาหารพื้นถิ่นของอิสราเอลเป็นแน่แท้ ยกตัวอย่างเช่นสลัดกรีก (Greek Salad) ซึ่งหาพบได้แทบทุกภัตตาคารในอิสราเอล หรือปลาโมร็อกโก (Moroccan Fish) ที่ชาวอิสราเอลนิยมกินเป็นมื้อเย็นวันศุกร์คู่กับขนมปังคาลา

เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย

บางเมนูเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในตะวันออกกลาง อย่าง ฮุมมุส (Hummus) อาหารเนื้อเหลวละม้ายครีม ทำจากถั่วหัวช้างผสมซอสงาบด เป็นที่นิยมทั้งในอิสราเอล อิหร่าน จอร์แดน เลบานอน ตลอดจนภูมิภาคแอฟริกาเหนือที่เป็นถิ่นทะเลทราย

เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย

แต่ก็มีอีกหลายเมนูที่ชาวอิสราเอลแสดงความเป็นเจ้าของได้อย่างสมภาคภูมิ อาทิ ขนมปังคาลา และเบเกิลเยรูซาเลม (Jerusalem Bagel)

“อิ่ม” คือคำแรกที่เราบอกกับตัวเองเมื่อแขกเหรื่อทยอยมาอำลาท่านทูต

อิ่มท้อง… ที่ได้กินของอร่อยนานาชาติในมื้อเดียว

อิ่มสมอง… ที่ได้รับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ และสาระน่าสนใจของอาหารแต่ละจานที่กินเข้าไป

อิ่มใจ… ที่ได้รับไมตรีจิตจากเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยทุกคน

เข้าคอร์สทำอาหาร รับประทานบุฟเฟต์กับ ท่านทูตออร์นา ซากิฟ เพื่อเข้าใจรากฐานอิสราเอลผ่านความอร่อย

จบจากมื้อนี้ ถ้ามีใครถามว่าอาหารอิสราเอลมีรสยังไง

“รสหลากหลาย” นี่แหละ ที่จะเป็นคำตอบของเรา

ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย