10 พฤศจิกายน 2018
5 K
01

เกาะเกี่ยว

ถ้าสะบัดแผนที่แอฟริกาให้คลี่กาง โมซัมบิกคือประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกค่อนมาทางใต้ของทวีป อยู่ติดมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับเกาะมาดากัสการ์

ถ้าก้มหน้าลงไปมองให้ใกล้ขึ้น ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโมซัมบิกมีเกาะเล็กจิ๋วอยู่ห่างจากชายฝั่งออกไป 3.8 กิโลเมตร

โมซัมบิก, Mozambique

ภาพ : www.geology.com

ประวัติศาสตร์ของเกาะนี้นับย้อนหลังไปได้อย่างน้อยก็ 500 ปีปฏิทิน

ที่นี่เหมือนโลกย้อนยุคที่มีคนสักคนกดปุ่มหยุดเวลาเอาไว้ จนได้รับการแปะป้ายมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ. 1977

เกาะแห่งนี้ยาว 3 กิโลเมตร กว้าง 200 – 500 เมตร เดินเที่ยวทั่วเกาะได้โดยไม่รบกวนแข้งขาจนเกินไป และให้ความรู้สึกคล้ายเดินเล่นอยู่ในภาพถ่ายเก่า

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ปีนี้เป็นปี ‘เฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี เกาะโมซัมบิก’ ซึ่งนับจากปีที่เกาะโมซัมบิกปกครองและหารายได้จากการทำการค้าได้ด้วยตัวเอง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต เลยร่วมฉลองด้วยการนำเสียงเพลงจากวงโปงลาง อาหารไทย และความสัมพันธ์อันดี มามอบให้กับชาวเกาะ

คอนเสิร์ตครั้งนี้ไม่ได้เล่นในหอประชุม ไม่ได้บรรเลงให้แขกผู้ทรงเกียรติฟัง แต่เป็นการตระเวนเล่นในที่สาธารณะทั่วเกาะ เพื่อให้ชาวเกาะทุกคนมีความสุขไปพร้อมๆ กับรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

เกาะแห่งนี้มีชื่อเป็นภาษาโปรตุเกสว่า อียา ดือ โมซัมบิก (lha de Moçambique) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Island of Mozambique

02

ตั้งป้อม

โมซัมบิก, Mozambique

ย้อนหลังกลับไป 500 กว่าปีก่อน

วัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) นักสำรวจชาวโปรตุเกสเดินเรือจากทวีปยุโรปลงมาทางใต้อ้อมแหลมกูดโฮปจนมาถึงที่นี่ใน ค.ศ. 1498 ขณะนั้นดินแดนแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่านอาหรับชื่อ Ali Musa Mbiki ซึ่งชื่อของเขากลายมาเป็นชื่อเกาะในเวลาต่อมา และชื่อเกาะแห่งนี้ก็กลายมาเป็นชื่อประเทศในท้ายที่สุด

ที่นี่อยู่ภายในการปกครองของโปรตุเกสมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 มีการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่มากมาย อย่างเช่น ป้อมเซาเซบาสเตียว (São Sebastião) ป้อมปราการขนาดยักษ์ริมทะเลที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหินสูง 65 ฟุต มันแข็งแรงขนาดกองทัพเรือดัตช์พยายามยกทัพเรือมาตีหลายคร้ั้ง แต่ก็ยึดป้อมไม่ได้ เลยต้องเปลี่ยนไปขยายอำนาจทางเมืองเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้แทน

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ตอนนี้กำลังมีการบูรณะป้อมครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์

สถานที่สำคัญภายในป้อมที่น่าเดินเข้าไปดูมี 2 ที่ ที่แรกเป็นห้องซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกับโบสถ์ขนาดย่อม แต่ทั้งห้องนี้ไม่มีอะไรนอกจากน้ำ เพราะเป็นพื้นที่เก็บน้ำจืดที่ได้จากน้ำฝนซึ่งไหลมารวมกันจากหลังคาทั้งหมด

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ที่ถัดมาต้องเปิดประตูป้อมเดินออกไปทางทะเล เราจะพบกับโบสถ์บาลูอาร์ตือ (Baluarte Chapel) ซึ่งสร้างเมื่อค.ศ. 1522 ที่นี่คือตึกยุโรปที่เก่าที่สุดในซีกโลกใต้ จุดเด่นอย่างนึงของโบสถ์แห่งนี้คือการเจาะผนังฝั่งที่ติดกับทะเลให้เป็นช่องแสงรูปไม้กางเขน ราวกับเป็นบรรพบุรุษของงานออกแบบโบสถ์ฝีมือ ทาดะโอะ อันโดะ สถาปนิกมินิมัลชื่อดังชาวญี่ปุ่น

03

โบสถ์ต่อไป

โมซัมบิก, Mozambique

ภาพ : wikipedia.org

ป้อมเซาเซบาสเตียวอยู่ทางใต้สุดของเกาะ บริเวณนั้นเรียกว่า Stone Town ซึ่งยังมีอาคารเก่าอีกมากมาย เช่น โบสถ์เซาเปาโล (Chapel of São Paulo) สร้างเมื่อค.ศ. 1610 และอาคารเก่าอีกหลังที่สร้างขึ้นเพื่อรอรับรองกษัตริย์โปรตุเกส ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้มา อาคารหลังนี้ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์จากยุโรป อาณานิคมของโปรตุเกสในเอเชียและแอฟริกา ต่อมาอาคารถูกปรับมาใช้เป็นมหาวิทยาลัยเยสุอิต (นักบวชอีก

นิกายในสายโรมันคาทอลิก) เคยเป็นที่พักของผู้ว่าราชการจังหวัด และปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

เกาะแห่งนี้เคยมีสถานะเป็นเมืองหลวงของ Portuguese East Africa เป็นศูนย์กลางของมิชชันนารีที่สำคัญ เป็นเมืองท่าสำคัญของโปรตุเกสในการเดินทางเพื่อนำงาช้าง ทองคำ และทาส จากแอฟริกา ไปแลกกับเครื่องเทศ ผ้า และเหล้า ที่อินเดียกับอาหรับ

ที่นี่จึงมีส่วนผสมทั้งวัฒนธรรมแบบยุโรป อาหรับ และอินเดีย อยู่ในทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ศาสนา และอาหาร รสชาติของอาหารท้องถิ่นบนเกาะแห่งนี้ถือว่ามีความจัดจ้านกว่าอาหารบนแผ่นดินใหญ่

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

04

เกาะเก่า

ขยับจากด้านล่างของเกาะขึ้นมาอีกนิด เป็นเขตเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารทรงนีโอคลาสสิกแบบยุโรป ตึกที่คลาสสิกที่สุดในย่านนี้คือโรงพยาบาลที่สร้างเมื่อค.ศ. 1877 โดยชาวโปรตุเกส มีสวนและน้ำพุด้วย มันเคยเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในเขตทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า (ประมาณครึ่งล่างของทวีป) อยู่หลายปี ปัจจุบันถึงแม้ว่ามันจะมีสภาพทรุดโทรมมาก แต่ก็ยังมีคุณหมอประจำการ รักษาคนไข้ในระดับคลินิกอยู่ 1 คน

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

อาคารทรงยุโรปอื่นๆ ส่วนใหญ่ถูกปรับปรุงให้กลายเป็นร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และที่พัก แบบที่สวยคลาสสิกจนน่าแวะเข้าไปดู

โมซัมบิก, Mozambique

ส่วนโรงหนังเก่าตอนนี้ทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน แต่ก็มีโรงหนังยุคใหม่ที่สร้างเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ให้คนเข้าไปนั่งดูโทรทัศน์จอนูนร่วมกันแบบง่ายๆ ริมทะเล

ช่วงนี้มีการบูรณะอาคารต่างๆ ทั่วทั้งเกาะ นั่นทำให้เราเห็นว่าวัสดุหลักในการก่อสร้างอาคารของที่นี่คือ หินปะการัง (Coral Stone) ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นที่มีมากมาย

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ความคลาสสิกของเกาะนี้ไม่ได้มีแค่อาคารเท่านั้น การเดินทางภายในเกาะก็เช่นกัน คนที่นี่ใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมือนบ้านเรา ต่างกันตรงคนขับไม่สวมเสื้อกั๊ก และใช้มอเตอร์ไซค์ทรงคลาสสิกทั้งเกาะ

05

คนบนเกาะ

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

เกาะขนาดกะทัดรัดแห่งนี้มีประชากร 14,000 คน มีบันทึกในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 ว่าประชากรชาวสวาฮิลีดั้งเดิมของเกาะนับถือศาสนาอิสลาม ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น ที่นี่มีพี่น้องมุสลิมมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ บนเกาะแห่งนี้มีทั้งมัสยิด โบสถ์ และวัดฮินดู ซึ่งทุกศาสนาต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

โมซัมบิก, Mozambique

ประชากรส่วนใหญ่ของเกาะอาศัยในชุมชนซึ่งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเกาะ อาชีพหลักคือประมง เท่าที่เห็นด้วยสายตาคือประมงพื้นบ้านที่ใช้เรือใบลำเล็กแล่นออกไปจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง บางคนก็เดินเก็บสาหร่ายบริเวณชายหาด

ชาวเกาะโมซัมบิกเป็นมิตรและน่ารักมาก พวกเขามักจะส่งยิ้มให้ผู้มาเยือน บางคนก็ชวนนักท่องเที่ยวคุยก่อนด้วยซ้ำ คนส่วนใหญ่ยินดียิ้มให้กล้องเมื่อถูกขอถ่ายรูป หลายคนก็เป็นฝ่ายชวนเราให้บันทึกภาพพวกเขา

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ชาวเกาะที่เป็นมิตรที่สุดคงจะเป็นเด็กๆ พวกเขายินดีจะพานักท่องเที่ยวเดินเที่ยวทั่วเกาะ เล่าเรื่องเท่าที่เขารู้ และภาษาอังกฤษของเขาจะอำนวย พวกเขาเดินหานักท่องเที่ยวอยู่ทั่วเกาะ ไม่ว่าจะเป็นย่านเมืองเก่าทางตอนใต้ หรือรีสอร์ตสุดหรูทางตอนเหนือ

06

วาฬก่อน

เดิมทีเกาะนี้เชื่อมต่อกับโลกผ่านท่าเรือฝั่งทิศตะวันออก ที่ปักเสาอยู่บนมหาสมุทรอินเดีย แต่พอมีการขุดคลองสุเอซที่อิยิปต์ เส้นทางการเดินเรือจากยุโรปสู่เอเชียจึงไม่ต้องอ้อมทวีปแอฟริกาอีกต่อไป เกาะแห่งนี้จึงลดความสำคัญลง เมืองหลวงก็ถูกย้ายไปอยู่ที่เมืองมาปูโตซึ่งอยู่ติดทะเลฝั่งแผ่นดินใหญ่ทางตอนใต้ของประเทศแทน

ฝั่งทิศตะวันตกของเกาะเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ผ่านสะพานยาว 3.8 กิโลเมตร สร้างเมื่อค.ศ. 1960 ช่วงเช้าและเย็นเราจะเห็นคนเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มาทำงานในเกาะ ทั้งนั่งรถขนส่งสาธารณะมา ขี่จักรยานมา เดินมา วิ่งมา และนั่งเรือใบแบบโบราณที่เรียกว่า ดาว (Dhow)

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ทุกวันนี้เรือดาวยังคงกางใบออกจากฝั่งทางทิศตะวันออก หนึ่งในภารกิจสำคัญของเรือดาวเหล่านี้ก็คือ การพานักท่องเที่ยวไปชมฝูงวาฬหลังค่อม ซึ่งว่ายวนเวียนอยู่รอบๆ เกาะ

เป็นประสบการณ์การชมวาฬที่เรียบง่ายแต่น่าประทับใจมาก

07

โปงลางสถาน

ทีมนักดนตรีโปงลางนำโดย พงศ์ เพ็ชรลังการ และ ซัน-ปรัชญา นันธะชัย ทีมเชฟนำโดย เชฟดอล์ฟ-สหัส จันทกานนท์ และทีม The Cloud จากประเทศไทย เดินทางมาลงที่สนามบินในเมืองนัมปูลา เช่นเดียวกับทีมจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต พวกเราทั้งหมดนั่งรถตู้ราว 3 ชั่วโมงก็มาถึงที่เกาะแห่งนี้

ส่วนทีมงานจากสถานเอกอัครราชทูตอีกกลุ่มเดินทางด้วยรถตู้มาจากเมืองมาปูโต เมืองหลวงของโมซัมบิก ระยะทาง 2,000 กว่ากิโลเมตร เดินทางอยู่ 3 วันก็มาถึงในเวลาใกล้เคียงกับพวกเรา

ภารกิจของเชฟดอล์ฟคือการปรุงอาหารที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับโมซัมบิก ซึ่งอาหารบางส่วนก็มีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น ไก่ย่าง อาหารเหล่านี้จะแจกให้ชาวเกาะได้ชิม และเข้าครัวเปิดคอร์สสอนเชฟทำอาหารไทย

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ภารกิจของทีมโปงลางคือ การแสดงคอนเสิร์ตทั้งหมด 4 ครั้งในจุดต่างๆ ของเกาะ ช่วงบ่ายวันแรก พงศ์ อดีตสมาชิกวงโปงลางสะออน ที่ตอนนี้ผันตัวมาเป็นครูเพลงอีสาน มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และมีประสบการณ์แสดงในต่างประเทศมาแล้วบ่อยครั้ง ชวนซัน นักดนตรีหนุ่มเลือดอีสานที่มีฝีไม้ลายมือในการเล่นโหวดและแคนจัดจ้าน หยิบจับเครื่องดนตรีอีสานไปแจมกับวงแจ๊สได้แบบไม่เคอะเขิน ออกไปดูความพร้อมของสถานที่กัน

08

ซ้อมมือ

ท่านเอกอัครราชทูต รัศม์ ชาลีจันทร์ เคยได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยบนเกาะแห่งนี้ให้มาบรรยายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโมซัมบิก ครั้งนั้นท่านทูตบรรยายโดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยของ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโมซัมบิกที่มีอินเดียอยู่ตรงกลาง

โมซัมบิก, Mozambique

ฝั่งโมซัมบิกได้รับผ้าสีสันสดใสจากอินเดีย (ซึ่งใส่กันจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ) มีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นว่า คาปูลานา มีอาหารที่ทำจากแกงกะหรี่ และมีมาตาป้า (อาหารรสชาติคล้ายแกงขี้เหล็ก ทำจากหัวมัน) ส่วนฝั่งไทยในสมัยอยุธยา เราก็ได้รับอิทธิพลจากขนมโปรตุเกส และแกงกะหรี่จากอินเดีย

ท่านทูตเห็นว่าสถานเอกอัครราชทูตไทยเป็นสถานทูตน้องใหม่ของประเทศโมซัมบิก เลยอยากร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 200 ปีของเกาะนี้ด้วย จึงทำเทศกาลอาหารไทย โดยมีทั้งการแจกให้ชาวเกาะได้ลองชิม และพาเชฟดอล์ฟมาสอนเชฟในโรงแรมบนเกาะทำอาหารไทย พร้อมกับช่วยผลักดันให้บรรจุอาหารไทยไว้ในเมนู ซึ่งจะทำให้เกิดการสั่งซื้อวัตถุดิบจากไทย

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

ท่านทูตซึ่งเป็นนักกีตาร์ฝีมือดีเห็นว่าที่นี่มีเครื่องดนตรีท้องถิ่นคล้ายระนาดเรียกว่า ทิมบีล่า ถ้าเราพาวงโปงลางมาร่วมแจมน่าจะสนุกมาก จึงชวนพงศ์และชาวคณะมา แล้วท่านก็เห็นว่าอยากให้ทั้งอาหารและดนตรีเข้าถึงคนท้องถิ่นจริงๆ จึงเลือกเล่นในที่สาธารณะ ทั้งในสวนสาธารณะ ถนนคนเดิน และหน้าโบสถ์เก่า

09

รำลอง

ในระหว่างที่คุยกัน เสียงซ้อมของวงโปงลางก็ดังข้ามกำแพงของวิลล่าออกสู่ถนนใหญ่ จนมีตำรวจมาเคาะประตู ทีมงานฝั่งไทยรีบอธิบายว่า เราเตรียมแสดงคอนเสิร์ตซึ่งขออนุญาตเรียบร้อยแล้ว ตำรวจโบกมือบอกว่า เขาไม่ได้จะเข้ามาต่อว่า แต่เสียงเพลงมันสนุกมากเลยขอเข้ามาดูว่ามันคือเสียงอะไร เขาบอกให้ทีมงานซ้อมกันต่อได้เลย

เมื่อเสียงโปงลางและแคนดังขึ้น นางรำร่ายรำต่อ ตำรวจโมซัมบิกก็สนุกจนขอออกไปรำกับนางรำ และรำอยู่หลายเพลง

โมซัมบิก, Mozambique

โชว์แรกของวงโปงลางก็ไม่ต่างกัน

พวกเราเริ่มเล่นที่ศาลาไม้หกเหลี่ยมในช่วงเย็นวันธรรมดา ก่อนการแสดงจะเริ่ม มีเด็กๆ นั่งรอดูอยู่หน้าเวทีหยิบมือเดียว แต่พอเสียงดนตรีดัง พ่อแม่พี่น้องชาวโมซัมบิกก็เดินตามเสียงดนตรีออกมายืนดูแบบมืดฟ้ามัวดิน รถกระบะที่ขนคนผ่านมาหลายต่อหลายคันถึงกับจอดให้คนลงมาดู

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

จะบอกว่ายืนดูก็คงไม่ถูก เพราะพวกเขาเต้นตามไปกับจังหวะของเสียงเพลง ช่วงไหนที่นางรำรำในท่วงท่าที่ไม่ยากมาก พวกเขาก็พยายามตั้งวงรำตาม ราวคุ้นเคยกับเสียงดนตรีและท่ารำเหล่านี้มาเนิ่นนาน

ปิดท้ายด้วยการที่ผู้ชมทั้งหมดทั้งไทยและโมซัมบิกรำวงร่วมกันรอบศาลา

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

10

สวัสดี

โชว์ที่สอง วงโปงลางเล่นริมถนนกลางย่านถนนคนเดินที่สองข้างทางเป็นตึกเก่า

พอเสียงดนตรีดัง ชาวบ้านก็ตามมาดูกันแน่นขนัดเช่นเดิม แต่รอบนี้พิเศษตรงที่มีนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจำนวนมากมาร่วมชมด้วย

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

โชว์สุดท้ายจัดกันหน้าโบสถ์เก่า คราวนี้มีคนมานั่งรอดูก่อนงานเริ่มนับร้อยคน ทุกคนสนุกไปกับเสียงของเครื่องดนตรีอีสานเหมือนเดิม ไฮไลต์ของโชว์ก็คือ ศิลปินท้องถิ่นเอาทิมบีล่ามาร่วมแจมด้วย ซึ่งเล่นด้วยกันได้อย่างกลมกลืน ถึงขนาดว่านักดนตรีของสองชาติสลับเครื่องดนตรีกันเล่นได้สบาย นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่บอกเราได้ว่า ไทยกับโมซัมบิกนั้นมีความคล้ายกันมากกว่าที่เราคิด

โมซัมบิก, Mozambique โมซัมบิก, Mozambique

อาหารที่เชฟดอล์ฟทำมาให้ผู้ชมชิมก็เป็นข้าวไทย ซึ่งเป็นข้าวที่มีขายในตลาดโมซัมบิกอยู่แล้ว หลายคนก็อาจจะเคยกิน เพียงแต่อาจจะไม่เคยสนใจว่าข้าวของแต่ละประเทศแตกต่างกันยังไง แต่หลังจากนี้ พวกเขาน่าจะรู้จักข้าวไทยมากขึ้น

ชิน-ชินวุฒิ เศรษฐวัฒน์ เลขานุการโทผู้เป็นพ่องานครั้งนี้ รับบทบาทพิธีกรขึ้นเวทีอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับวงโปงลางและประเทศไทยผ่านภาษาอังกฤษและโปรตุเกส

สิ่งที่พวกเราทุกคนเจอเหมือนๆ กันในระหว่างเดินอยู่บนเกาะก็คือ เราจะถูกทักทายว่า “หนีห่าว” ไม่ก็ “คนนิจิวะ” เพราะคนที่นี้อาจจะรู้จักชาวเอเชียเพียงแค่ 2 ชาติ

บนเวทีชินพูดหลายต่อหลายครั้งว่า พวกเรามาจากประเทศไทย และคำทักทายของคนไทยคือ ‘สวัสดี’ ชินให้ผู้ชมพูดคำว่า ‘สวัสดี’ ตามเขาอยู่หลายรอบ

หลังจากงานนี้ ชาวเกาะแห่งนี้น่าจะรู้จักประเทศไทยมากขึ้น รู้จักอาหารไทยมากขึ้น และรู้ว่าเรามีความสัมพันธ์ มีความคล้ายกันในหลายเรื่อง อย่างน้อยก็เรื่องดนตรีและอาหาร

ไม่แน่ ถ้าพวกเขาเจอนักท่องเท่ี่ยวชาวเอเชียบนเกาะแห่งนี้ พวกเขาอาจจะทักทายคนเหล่านั้นว่า

“สวัสดี”

โมซัมบิก, Mozambique

Facebook | โฮโยๆ โมซัมบิก

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป