แผ่กิ่ง อิงใบ ในก้าน
ผสานดินป่าเขียวเหนียวแน่น
สานต่อศรัทธา กล้าแกร่ง
ฝังลึกในรากแหล่ง ยืนต้น ออกผลงาม
หากคุณฝากฝังความทรงจำไว้ที่ใดก็ได้ที่จะไม่สาบสูญหายหรือเลือนรางจางไป ต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจแต่ไม่อาจเคลื่อนได้นี้ อาจเป็นอีกหนึ่งหนทางในการบันทึกช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ต้นไม้ได้สัมผัส เสมือนเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ไม่อาจถอดถอนได้
ต้นไม้หนึ่งต้นอาจเก็บงำเรื่องราวและสะสมความทรงจำ รวมถึงถ่ายทอดไปยังสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ยิ่งต้นไม้สูงใหญ่ ก็ยิ่งแบกรับความทรงจำเอาไว้มากมาย ดังนั้นการรักษาวงจรการเติบโตอันยาวนานไม่มีที่สิ้นสุดให้ยืนอายุขัยและรักษารุกขมรดกของชาติไว้ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
“ลำพังการมีอยู่ของต้นไม้ที่มีอายุยืนนานเป็นร้อยๆ ปี ก็เป็นแรงบันดาลใจถึงภูมิปัญญาลุ่มลึกที่พร้อมฝ่าร้อนหนาวและหาโอกาสงอกงามได้อย่างลงตัว”
นี่คือแนวคิดของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่กลุ่มธุรกิจฯ ร่วมมือกับผู้คร่ำหวอดในวงการต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็น เริงชัย คงเมือง ช่างภาพสารคดีชั้นแนวหน้า ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักสิ่งแวดล้อมชื่อดัง หรือทีมบรรณาธิการเบื้องหลังนิตยสาร a day และ ฐิตินันท์ ศรีสถิต นักเขียนสายธรรมชาติ จัดทำหนังสือ Gallery of Trees หนังสือรวมภาพและเรื่องของไม้ใหญ่ 45 ต้น อันเปรียบได้กับสถานที่กักเก็บความทรงจำมีชีวิตจากหลากหลายพื้นที่ในประเทศไทย สำหรับเป็นของที่ระลึกทรงคุณค่าขององค์กร เพื่อพาผู้อ่านไปเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์น่าอัศจรรย์จากต้นไม้ อย่างที่ทำให้ชาวเกียรตินาคินภัทรได้ ‘รัก’ และอยาก ‘รักษ์’ รุกขมรดกเหล่านี้ไว้ให้นานที่สุด
วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราได้มีโอกาสแง้มเข้าไปดูบางส่วนของ Gallery หรือ ‘ห้องแสดงศิลปะ’ ของเหล่าต้นไม้น้อยใหญ่ในหนังสือแสนหายากนี้ เพื่อชื่นชมความงามที่ถูกรวบรวมเอาไว้อย่างประณีตบรรจง
01
ต้นท้ายเภา : ต้นไม้ในดินแดนมหัศจรรย์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จังหวัดตรัง

ใครว่าต้นไม้ที่พาเราหลุดลอยออกไปเหมือนกับอยู่ในดินแดนวิเศษจะมีแค่ใน Alice in Wonderland ในประเทศไทยเราเองก็มีพื้นที่ลึกลับอย่างที่กล่าวมานี้เช่นกัน
ต้นท้ายเภาหรือต้นสำรองกะโหลกขนาดสูงใหญ่มหึมากว่า 60 เมตร เติบโตอยู่ท่ามกลางดินแดนผืนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ต้นไม้ยักษ์แห่งป่าดิบชื้นภาคใต้’ เนื่องจากเป็นต้นไม้บนเส้นทางของเทือกเขาบรรทัด เทือกเขาที่กินพื้นที่ดินแดน 4 จังหวัดภาคใต้ ทั้งจังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา
หากยังสงสัยในที่มาของชื่อท้ายเภา ซึ่งถูกตัดทอนลงมาจากคำว่า ‘ท้ายสำเภา’ ด้วยรูปร่างของผลที่เมื่อแตกออกแล้วดูคล้ายท้ายโครงเรือสำเภา เมื่อร่วงออกจากขั้วไม้ก็หลุดลอยไปแผ่อาณาเขตกว้างขวางในพื้นที่อื่นได้ดังเช่นลำเรือ
ต้นท้ายเภาเป็นต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้น โตเร็ว พบในเขตป่าฝนตกชุก มักพบเห็นขึ้นตามเชิงเขาที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก แต่น่าประหลาดยิ่งที่ต้นท้ายเภาต้นนี้กล้าต้านท้าแรง มาเติบโตอยู่บนพื้นที่ที่สูงกว่าต้นอื่นๆ ในเขาบรรทัดได้

ความน่าพิศวงอีกอย่างคือเหล่าคนเดินทางและพรานป่าเก่าแก่มักเล่าถึงดินแดนที่อยู่พ้นท้ายเภาต้นนี้ที่เต็มไปด้วยต้นไม้แคระ ธารน้ำใส และทัศนียภาพสวยงามราวความฝัน ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ ‘เขาเจ็ดยอด’อันเป็นแหล่งรวมเอกลักษณ์ของป่าดิบถิ่นใต้อันอุดมสมบูรณ์ ความมหัศจรรย์นี้ถูกเล่าขานปากต่อปาก จนเป็นอีกหนึ่งจุดพักชมความงดงามของธรรมชาติสำหรับผู้ที่ย่างกรายเข้ามาในเขตพื้นที่
ไม้ใหญ่ชนิดนี้จึงนับเป็นทั้งสัญลักษณ์และกำลังสำคัญที่ต่อชีวิตของผืนป่าให้คงความน่าตื่นตามาจนถึงทุกวันนี้
02
ต้นเชียง : ต้นไม้ต้องห้ามแห่งดอนปู่ย่า
จังหวัดสกลนคร

ต้นเชียงหรือเซียงตามสำเนียงพื้นถิ่นดินแดนอีสาน ต้นเชียงที่เรากำลังพูดถึงนี้เป็นต้นเชียงเพียงต้นเดียวที่เติบโตบนดอนปู่ย่าหรือป่าบรรพบุรุษแห่งบ้านบัว จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นที่ที่ชาวลาวอพยพมาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่นี้ถือเอาความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เข้าไว้ด้วย
ที่ต้นเชียงขึ้นชื่อว่าเป็นต้นไม้ต้องห้ามเพราะห้ามตัด เนื่องจากถือคติตามความเชื่อกันว่า หากตัดต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้ไปแล้วจะเจ็บไข้ได้ป่วย โดยดอนปู่ย่าหรือผืนป่าที่ว่ามานี้ไม่ใช่เขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ หากแต่ผู้คนกลับกลัวเกรง และไม่มีใครกล้าเข้าไปลุกล้ำต้นไม้ในพื้นที่ อาจด้วยเพราะคำว่า ‘ดอนปู่ย่า’ กินความหมายถึงสถานที่ที่บรรพบุรุษจะมาอยู่อาศัยเพื่อคุ้มครองดูเหล่าลูกหลานให้ปลอดภัย จึงทำให้ผืนป่าแห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์
เมื่อฟังคำบอกเล่าจากปาก พ่อเล็ก กุดวงค์แก้ว ปราชญ์อาวุโสแห่งบ้านบัว เราก็ทราบความเชื่อที่ถูกส่งทอดผ่านไม้ที่ยืนต้นอยู่ว่า “ไม่มีใครตัดต้นไม้ อย่างมากก็เข้าไปเก็บสมุนไพรมาทำยารักษาโรคเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ให้เก็บแค่พอใช้นะ อย่าเกินพอดี และไม่ให้เอามาขาย” พ่อเล็กกล่าว

ปัจจุบันต้นไม้อายุกว่าร้อยปีต้นนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าแมลง เพราะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญอย่างน้ำหวาน กระทั่งมีรังผึ้งกว่า 50 รังมาจองเป็นเขตขันธ์ของตนเอง และกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ผึ้งหลวง เพื่อคุ้มครองระบบนิเวศต่อไป
แม้ว่าความเชื่อเรื่องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อาจไม่ได้ถูกพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นกุศโลบายที่สำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยืดหยัดและยั่งยืนอยู่ได้นับศตวรรษ
03
ต้นโพธิ์ : ต้นไม้แห่งประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร

จะมีต้นไม้สักกี่ต้นในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองมานับครึ่งศตวรรษ ต้นโพธิ์จึงนับได้ว่าเป็นประจักษ์พยานสำคัญต่อเส้นทางการเมืองไทย
แม้ไม่ปรากฏความเป็นมาแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่า ต้นโพธิ์ถูกปลูกมาตั้งแต่สมัยบริเวณนี้ยังเป็นเขตของวังหน้า และคงอยู่ต่อมาจนพื้นที่ผืนนี้กลายเป็นกระทรวงกลาโหม ก่อนถือกำเนิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2477 และกลายเป็นคณะศิลปศาสตร์ในปัจจุบัน
การยืนต้นตั้งตรงตระหง่านท่ามกลางความร้อนแรงของการเมืองไทย เริ่มต้นตั้งแต่เหตุการณ์ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 บริเวณลานโพธิ์คือสถานที่หมุดหมายชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนิสิตที่เรียกร้องให้ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นลาออก ไปจนถึงเหตุการณ์ 13 ตุลา จากการเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ออกมาเรียกร้องทั้ง 13 คน โดยการเคลื่อนพลหลายแสนคน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ก็เกิดความร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อเกิดการแสดงละครล้อการเมืองขึ้น จนเป็นเหตุให้มวลชนฝ่ายขวาเข้าล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเกิดเหตุอันน่าเศร้าสลด คือการสังหารนักศึกษาและประชาชนอย่างเหี้ยมโหดในเช้าวันที่ 6 ตุลา
รวมถึงยังเป็นสถานที่ชุมนุมใหญ่อีกครั้งในปีพ.ศ. 2534 เพื่อคัดค้านรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 ก็กลายเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

นับได้ว่าต้นโพธิ์ต้นนี้ร่วมเป็นอีกหนึ่งพยานแห่งเส้นทางสายประชาธิปไตยมาอย่างช้านาน
ปัจจุบันต้นโพธิ์เติบโตสูงใหญ่เทียบเท่าตึก 6 – 7 ชั้น ซึ่งมีอาการบอบช้ำไม่แพ้กันกับเหตุการณ์ที่มันได้รู้เห็น เนื่องจากเกิดโพรงภายในต้นและมีน้ำซึมจนเนื้อไม้ผุพัง แต่ทุกวันนี้เหล่ารุกขกรได้เข้าไปเยียวยารักษา จนปัจจุบันต้นโพธิ์ต้นนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้นและยังแข็งแรงยืนต้นต่อได้ ด้วยหวังว่ามันจะไม่ต้องกลับไปบอบช้ำดังเช่นเดิมอีก
04
ต้นไทรพัน : ต้นไม้นักฆ่า
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ใครว่าต้นไม้ฆ่าไม่เป็น อาจไม่ถึงกับเป็นนักฆ่ามือฉมังที่ดุร้าย แต่ต้นไทรพันนี้ขึ้นชื่อว่าได้เป็น ‘นักฆ่าแห่งการรัดคอ’
ต้นไทรพันถูกพบได้หากเดินทางขึ้นไปยังภูเขียวประมาณ 350 เมตร ต้นไทรพันมีขนาดยักษ์ใหญ่กว่า 14 – 15 คนโอบได้รอบ เราจะเห็นเรือนยอดของต้นแผ่กว้างขวาง การพบเห็นต้นไทรในป่าแถบเส้นศูนย์สูตร เป็นการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ดี
ต้นไทรใช้ชีวิตแนบแอบอิงอาศัยต้นไม้ใหญ่อื่นๆ มาก่อน ในระยะแรกเราอาจไม่ได้เห็นความร้ายกาจมาดหมายของต้นไม้ต้นนี้ เพราะการดำรงชีวิตอยู่ของมัน เริ่มจากการดูดน้ำและอาหารจากซากต้นไม้เท่านั้น เมื่อต้นเริ่มเติบใหญ่ ความร้ายกาจก็บังเกิดกำเนิดขึ้น มันจะแอบแผ่รากพันแนบลำต้นของต้นที่มันอิง และหย่อนรากหยั่งลงสู่เบื้องล่างจนยึดกับพื้น ท้ายที่สุดก็จะขนส่งอาหารไปเลี้ยงตัวเองแบบเต็มกำลัง ทำให้ต้นโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มโอบรัดต้นไม้ต้นขั้วรุนแรงขึ้น เริ่มแทงทะลุทะลวงเข้าเนื้อไม้ จนต้นนั้นทรุดโทรมและยืนต้นตายไป
แม้เราจะเห็นความร้ายลึกจากการเป็นนักฆ่าของไทรพัน แต่ต้นไทรก็มีประโยชน์อย่างมากเช่นกัน อย่างการเป็นที่พำนักของเหล่าบรรดากบ เขียด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า และนักล่าตัวอื่นๆ รวมถึงยอมให้พืชอย่างเฟิร์นและกล้วยไม้ป่ามาอิงอาศัย เมื่อถึงเวลาออกดอกออกผล ลูกไทรผลัดเปลี่ยนสีก็ถึงเวลาบุฟเฟต์ชั้นดี เป็นอาหารอันโอชะตลอดปีของเหล่าสรรพสัตว์น้อยใหญ่
ไทรพันหรือต้นไทรที่อยู่มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ยังคงอยู่ได้มาหลายล้านปีบนโลกใบนี้ ก็ด้วยความเกื้อกูลถ้อยทีถ้อยอาศัย ที่ยังต้องคงอยู่คู่ไปกับธรรมชาติต่อไปนั่นเอง
05
ต้นจัน : ต้นไม้หญิงสาว 18 แผ่นดิน
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

‘จัน’ คือชื่อต้นไม้ที่อยู่มาได้ถึง 18 แผ่นดินหรือว่า 350 ปีแล้ว นับแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสัมผัสมาอย่างหมดจดแล้วทั้งความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์และความโรยราของเมืองลพบุรี
ต้นจันหลายชั่วอายุคนต้นนี้ถูกปลูกขึ้นในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าพระที่นั่งจันทรพิศาล เขตพระราชฐานชั้นกลางของพระราชวังเมืองลพบุรี ที่ประทับและที่ออกว่าราชการ สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2209 เพื่อให้สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นได้ทุกครั้งที่เสด็จฯ ออกว่าราชการ โดยในขณะนั้นลพบุรีเปรียบเสมือนราชธานีแห่งที่ 2 และเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งตลอดรัชสมัย
ต้นจันต้นนี้อยู่ยืนยงผ่านกาลเวลาต่อมา แม้สิ้นสมัยหลังสมเด็จพระนารายณ์และพระราชวังถูกทิ้งร้างไป จนได้รับการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จันเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดทรงพุ่มกลมทึบ ลำต้นตรง และนิยมปลูกกันในเขตวัง อาจเพราะเชื่อกันว่าต้นจันเป็นไม้มงคล หรือเพราะกลิ่นหอมของผลต้นจันสุก ก็สุดจะคาดเดากันไป แต่สิ่งที่เราไม่ต้องคาดเดา นั่นคือต้นจันต้นนี้เป็นผู้หญิง เนื่องจากต้นจันมีลักษณะพิเศษจำเพาะ คือเป็น Dioecious Plant หรือต้นแยกเพศ เป็นกลไกตามธรรมชาติที่พยายามป้องกันการผสมเกสรภายในดอกหรือต้นเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตทางพันธุกรรมที่ดีกว่ารุ่นพ่อแม่

ความแตกต่างของต้นตัวผู้และต้นตัวเมียก็คือสีของดอก ต้นจันตัวผู้จะออกดอกสีครีม ต้นจันตัวเมียจะมีดอกเดี่ยวสีขาวครีม หากต้นตัวเมียไม่ถูกผสมโดยสมบูรณ์ จะได้ผลออกมาเป็น ‘ลูกจัน’ หรือ ‘จันอิน’ ซึ่งมีผลกลมแป้น เมล็ดลีบ แต่หากต้นตัวเมียพัฒนาเต็มที่และถูกผสมเกสรโดยสมบูรณ์ จะได้ผลเป็น ‘ลูกอิน’ หรือ ‘จันโอ’ ซึ่งมีลักษณะผลทรงกลมอ้วนหนาออกมาแทน
ด้วยวิธีการซับซ้อนในการขยายพันธุ์ต้นจัน ทำให้ต้นจันกลายเป็นต้นไม้หายาก และได้รับเลือกให้เป็นรุกขมรดกแผ่นดินใน พ.ศ. 2560 เพื่อให้มนุษย์คอยฟื้นฟูดูแลรักษา ให้ต้นไม้ได้ยืดชีวิตออกไปได้อีกหลายแผ่นดิน
06
ต้นส้มโฮง : ต้นไม้จูบไม่หอมที่ต้องถนอมไว้
วัดดุมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี

ส้มโฮงคือชื่อท้องถิ่นของต้นสำโรง ไม้ยืนต้นที่เติบโตได้ในหลายทวีป ตั้งแต่แอฟริกาใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงออสเตรเลีย และเจริญเติบโตได้ดีทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าโปร่งทั่วไป หากแต่เมื่อป่าหดหาย ต้นสำโรงก็พลอยหายากตามไปด้วย
เมื่อวิเคราะห์ตามรากศัพท์จะพบว่า ชื่อวิทยาศาสตร์ของต้นส้มโฮงคือ Sterulia foetida L. อาจฟังดูยากไปสักนิด หากแต่เมื่อถอดรากของคำว่า Sterculia ซึ่งมาจากคำว่า Sterquilinus จะทราบว่าหมายถึงเทพเจ้าแห่งปุ๋ยคอกตามคติของชาวโรมัน และคำว่า Foetida ในภาษาละติน แปลว่า มีกลิ่นเหม็น จึงไม่น่าแปลกใจหากต้นส้มโฮงมีกลิ่นที่ไม่น่าพึงประสงค์เท่าใดนัก จึงเป็นที่มาของชื่อต้น Skunk Tree ในภาษาอังกฤษ
จุดเด่นนอกจากเรื่องกลิ่นอันรัญจวนใจ คือต้นส้มโฮงเป็นไม้เนื้ออ่อน โตได้รวดเร็ว แตกกิ่งที่ความสูง 8 – 10 เมตร ทำให้ได้ทรงพุ่มใบดกหนาเป็นชั้นๆ คล้ายฉัตร ออกดอกในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นดอกที่ไม่มีกลีบดอก มีเพียงกลีบเลี้ยงและถูกปกคลุมด้วยขนสีขาวเท่านั้น เมื่อลองแกะเปลือกสีดำของเมล็ดส้มโฮง จะเห็นเนื้อในสีดำคล้ายเมล็ดแมคคาเดเมีย รับประทานได้เมื่อผ่านความร้อนก่อน รสชาติก็คล้ายกับถั่วลิสง โดยเนื้อในนี้นำไปทำเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพหรือใช้จุดไฟให้แสงสว่างได้

ต้นส้มโฮงที่เก่าแก่และสูงที่สุดในชุมชนวัดดุมใหญ่โตในเขตป่าช้าสำหรับใช้เผาศพ จึงมีเรื่องเล่าลี้ลับชวนพิศวง ว่าต้นส้มโฮงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ ทำให้ชาวบ้านชอบมาบนบานศาลกล่าว ขอให้สมประสงค์ทั้งการงานและการเรียน
แม้ต้นส้มโฮงไม่อาจเสกสรรสร้างกลิ่นหอมอย่างที่เราปรารถนา แต่ต้นไม้ต้นนี้ก็ออกผลสร้างสรรค์ประโยชน์ได้ รวมทั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกุศโลบายให้คนหันมาดูแลต้นไม้อย่างดีมาตลอดเกือบ 200 ปีเห็นจะได้
07
ต้นหว้าน้ำ : ต้นไม้แห่งรักมั่นคง
หาดทรายสูง จังหวัดอุบลราชธานี

พยานรักอันมั่นคงตั้งตรงอยู่ที่หาดทรายสูง เนินสูงที่มีตะกอนทรายทับถม บริเวณสายน้ำโขงลักษณะเลี้ยวโค้งเป็นรูปตัวยู ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ขนานกับลำน้ำเป็นระยะทางร่วมร้อยเมตร
หาดทรายน้ำจืด ภูมิทัศน์สุดแปลกตาประหลาดใจแห่งบ้านลาดแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของผู้คนเพื่อเข้ามาดูต้นหว้าคู่รัก อีกหนึ่งตำนานรักที่น่าอัศจรรย์ไม่แพ้คู่ขวัญกับเรียม
ต้นหว้าน้ำหรือหมากหว้าในอีกชื่อ คือไม้ยืนต้นแถบทวีปเอเชียเขตร้อน เติบโตได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำ และมีความสามารถในการทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้ดี มักพบได้ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำทั้งหลาย รวมถึงบริเวณป่าบุ่งป่าทามในภาษาอีสาน หรือก็คือพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงเช่นหาดทรายสูงเช่นนี้อีกด้วย
แม้ในบริเวณนี้จะมีพืชเจ้าถิ่นอย่างต้นหว้ามากมายกระจายอยู่ตามแนวชายฝั่ง แต่ต้นหว้าคู่รักที่ตั้งอยู่แนวนอกสุดก็โดดเด่นเป็นสง่ากว่าใคร เนื่องด้วยการยืนต้นมาร่วมกว่า 200 ปี จึงนับว่าเป็นต้นที่คงสายพันธุ์เก่าแก่อยู่ได้ มีลักษณะต้นบิดคู่โค้งและโน้มเข้าหากันเล็กน้อย กลุ่มใบค่อนข้างแน่นทึบ ยืนเคียงข้างกันเสมือนอยู่ใต้พุ่มเรือนยอดเดียวที่โอบกอดสองชีวิตนี้ไว้ด้วยความรัก

นอกจากความรักที่ผสานต้นทั้งสองไว้ด้วยกัน ความมั่นคงก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของต้นหว้าน้ำนี้ เนื่องจากต้นหว้าได้รับอิทธิพลของน้ำหลาก-น้ำแล้ง นั่นคือจะมีช่วงน้ำสูงหลายเดือน ทำให้ต้นต้องอยู่ใต้น้ำนานและทิ้งใบจนหมด พอถึงช่วงน้ำแล้งก็จะผลิใบออกผลอีกครั้ง หากเปรียบเทียบกับความรัก การจมอยู่ใต้น้ำเปรียบเป็นช่วงลำบากทุกข์ยากของชีวิตคู่ การผลิดอกออกผลคือช่วงเวลาแห่งความสุข แต่ด้วยสถานการณ์สภาพอากาศที่เปลี่ยนไปจากภาวะโลกร้อน ทำให้ในปีนี้ ฤดูน้ำแล้งของสายน้ำโขงกินระยะเวลายาวนานกว่าเดิม ซึ่งไม่แน่ว่าอาจส่งผลระยะยาวต่อต้นคู่รักทั้งสอง และหากวันหนึ่งตำนานรักของทั้งคู่จะต้องจบลง ก็คงไม่ต่างจากความโศกเศร้าที่เราได้รับดังเช่นเรื่องของขวัญเรียมเป็นแน่
08
ต้นจำปาขาว : ต้นไม้เสี่ยงทายสมัยสุโขทัย
วัดกลางศรีพุทธาราม จังหวัดพิษณุโลก

ก่อนที่เพลง คุกกี้เสี่ยงทาย จะเป็นกระแส สมัยสุโขทัยเมื่อครั้งที่บ้านเมืองเรายังไม่เป็นปึกแผ่น ต้นไม้เสี่ยงทายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนแล้ว
ต้นจำปาขาวถูกนำมาปลูกไว้ใช้เพื่อเป็นต้นไม้เสี่ยงทายในสมัยโบราณ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงยากแต่ตายง่าย ถือเป็นต้นไม้ปราบเซียนที่ยากจะปลูกให้ขึ้นงอกงาม แต่ไม่น่าเชื่อว่าต้นจำปาขาวที่จังหวัดพิษณุโลกงอกเงยมากว่า 750 ปีแล้ว
ตามบันทึกกล่าวไว้ว่า พ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ได้ปลูกต้นจำปาขาวไว้ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถของวัดกลางศรีพุทธาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์คู่บ้านคู่เมือง ปลูกไว้เพื่อเสี่ยงทายก่อนยกไพร่พลไปกู้เมืองสุโขทัย ซึ่งในขณะนั้นตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของขอม พ่อขุนบางกลางท่าวจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากชนะการศึกและได้สุโขทัยคืนมา ขอให้ต้นจำปาเจริญงอกงามและออกดอกเป็นสีขาว หากพลาดท่าพลั้งไป ก็ขอให้จำปาเหี่ยวเฉาและตายลง
และแล้วก็เป็นไปตามที่ตั้งสัตยาธิษฐานไว้ เมื่อพ่อขุนบางกลางท่าวได้รับชัยชนะ และขึ้นครองราชเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย ดอกจำปาสีขาวก็แตกกิ่งก้านชูช่อเรื่อยมา
ต้นจำปาต้นนี้มีความพิเศษที่มีดอกสีขาว ต่างจากต้นจำปาปกติที่มีสีเหลืองส้มหรือเหลืองเข้ม เหตุเพราะต้นจำปาขาวเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของพิษณุโลก ที่เกิดจากการผสมกันตามธรรมชาติของต้นจำปาและต้นจำปีป่า ทำให้ต้นจำปาเสี่ยงทายกลายเป็นต้นไม้ที่มีลักษณะจำเพาะ และยังออกดอกส่งกลิ่นหอมตามซอกใบมาจนถึงทุกวันนี้
หากแต่ด้วยอายุที่เก่าแก่ ทำให้โคนต้นด้านหนึ่งผุเป็นช่องให้คนลอดผ่านได้ จึงมีความเชื่อต่อกันมาว่า หากเราเดินลอดผ่านโพรงต้นจำปาขาวก็จะได้กลับมาอยู่ที่นี่อีก แต่แรงศรัทธานี้ได้ทำร้ายต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากคนพากันมาเหยียบย่ำบริเวณต้นเพื่อลอดพ้นโพรงต้นจำปา ทำให้กิ่งยอดแห้งเหี่ยวและระบบรากเสียหาย สุดท้ายแล้วจึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการช่วยยืดอายุของต้นไม้ ให้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ ด้วยความศรัทธาที่ไม่ทำร้ายกัน รวมถึงร่วมกันวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุกรรมความแข็งแรงที่ซ่อนอยู่ภายในต้นจำปาขาวที่ขึ้นเฉพาะถิ่นประเทศไทยให้อยู่ต่อไปได้อีกด้วย
09
ต้นพุทรา : ต้นไม้แห่งชัยชนะ
เขตอุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เบื้องลึกเบื้องหลังชัยชนะและความสำเร็จของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีต้นพุทราเป็นแรงเสริมทัพ จากบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง ซึ่งเป็นพงศาวดารตั้งแต่เชลยศึกชาวอยุธยาถูกกวาดต้อนไปอยู่พม่าตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งที่พลายภูเขาทอง ช้างคู่บารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พลาดท่าล่าถอย จึงสบจังหวะเหมาะมั่น ใช้เท้าหลังยันต้นพุทราเอาไว้ เพื่อต้านทานกำลังของพลายพันธกอ ช้างทรงของพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่าเอาไว้ได้ ทำให้สุดท้ายได้รับชัยชนะ
ต้นพุทราที่เราเห็นเป็นจำนวนมากในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จฯ กลับถึงกรุงศรีอยุธยา แล้วรับสั่งให้ปลูกต้นพุทรารอบพระราชฐาน เพื่อรำลึกถึงบุญคุณและที่ระลึกที่ช่วยให้ชนะศึก
ต้นพุทราหลายต้นล้มตายเพราะเกิดจากเพลิงมอดไหม้ช่วงสมัยครั้งเสียกรุง เมื่อสืบสาวราวเรื่องต่อมาก็พบว่า ในเขตอุทยานแห่งนี้ไม่มีต้นพุทราสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ ถูกปลูกและเติบโตหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ต้นพุทราจำนวน 698 ต้น มีอายุเพียง 46 – 130 ปี เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีแนวคิดให้ปลูกต้นพุทรารอบพระราชวังหลวง และอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาเก็บพุทราได้ อีกหนึ่งกุศโลบายที่ให้คนเข้ามาช่วยดูแลโบราณสถานสำคัญของไทยเอาไว้ และต้นพุทราที่มีอายุมากที่สุดในบริเวณนี้เติบโตขึ้นมาก่อนช่วงเวลานั้นเกือบ 10 ปี จึงเป็นไปได้ว่า ต้นพุทรารัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช งอกเงยตามธรรมชาติและสืบทายาทต่อมาเป็นต้นพุทราให้เราได้เห็นกัน
ทัศนียภาพสีเขียวร่มรื่นของต้นพุทรา กลายเป็นภาพที่เรามักนึกถึงเวลาไปเที่ยวชมโบราณสถาน ต้นไม้จึงกลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่เล่าเรื่องขับขานตำนานยุทธหัตถีให้เราได้ทราบกันต่อไป
10
ต้นมะขาม : ต้นไม้เวทย์อาคม
วัดแค จังหวัดสุพรรณบุรี

ต้นไม้อาคมเสกคาถาลงวิชาอย่างต้นมะขามที่วัดแคต้นนี้ มาจากวรรณคดีบทสำคัญอย่างเสภา ขุนช้างขุนแผน ที่เล่าถึงคาถาอาคมและไสยศาสตร์ที่ขุนแผน ตัวเอกของเรื่องได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเณรแก้วจากพระอาจารย์คงแห่งวัดแค และอาคมอันเป็นที่เลื่องลือ คือการเสกใบมะขามให้กลายเป็นต่อแตนเพื่อโจมตีศัตรู
แม้แท้จริงการเสกอาคมลงวิชาต้นมะขามจะเป็นเพียงจินตนาการจากผู้แต่งเท่านั้น หากแต่วัดแคและต้นมะขามมีอยู่จริง เสภา ขุนช้างขุนแผน เป็นเสภามุขปาฐะหรือกลอนชาวบ้านที่เล่ากันปากต่อปาก ประพันธ์ขึ้นในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ยังหลงเหลือมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามะขามต้นนี้ปลูกขึ้นในปีใด สมัยใด แต่บรรดาต้นมะขามในประเทศไทยได้รับการบันทึกว่าเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่บันทึกในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง และมะขามต้นนี้อยู่คู่กับวัดแคจนกลายเป็นเขตคุ้มขุนแผนนับแต่วรรณคดีชื่อดังถูกขับขาน
ต้นมะขามแผ่กิ่งก้านเรือนยอดกว้างที่นับได้ว่าเป็นต้นมะขามที่ใหญ่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันต้นมะขามอาวุโสมากโขประสบการณ์ต้นนี้ต้องมีเสาปูนไว้คอยค้ำยันกิ่งก้านสาขา เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้โคนต้นฉีกขาดและหักโค่นลงมาจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องความแข็งแรงของลำต้นและการป้องกันโรคในพืช เพื่อให้คนรุ่นหลังรับรู้เรื่องราวอันน่าพิศวงและจุดประกายจินตนาการต่อไปได้
เนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นเพียงสรุปย่อเรื่องราวของ 10 จาก 45 ไม้ใหญ่ในหนังสือ Gallery of Trees เมื่อหนังสือจบลง เราอดเห็นด้วยกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้จัดทำหนังสือไม่ได้ว่า ผู้อ่านทุกท่านไม่ควรหยุดความรักและอยากรักษ์ต้นไม้เอาไว้เพียงเท่านี้ เพราะความงดงามยังคงเติบโต งอกเงย ผลิดอกออกผลอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย และกำลังรอให้คุณไปสัมผัสด้วยตนเอง
