The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย

ทุกครั้งที่ผู้เขียนกับสหายนึกอยากทานอาหารมุสลิมแล้วหลงทางหรือหาร้านไม่เจอ จะต้องมองหาสถานที่ที่มีเครื่องหมายรูปดาวกับจันทร์เสี้ยว ซึ่งอาจจะอยู่บนป้ายร้านค้าหรือบนยอดโดมของมัสยิดหลังใดหลังหนึ่ง หากพบเห็นเมื่อใดก็แสดงว่าเราได้เข้ามาในเขตชุมชนมุสลิมแล้ว และจะต้องมีมะตะบะหรือข้าวหมกไก่ที่เราตามหาอย่างแน่แท้ เพราะสัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิมจนแทบจะกลายเป็น ‘โลโก้’ ของศาสนาอิสลาม จนสังคมรับรู้ไปในทางเดียวกันว่า ที่ไหนมีรูปดาว-เดือน ที่นั่นมีมุสลิม

แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วเครื่องหมายรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวมิได้มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาอิสลาม หากแต่เป็นอารยธรรมเมโสโปเตเมียที่นับย้อนไปได้ถึง 4,000 ปีก่อนคริสตกาล วัฒนธรรมอื่นๆ ก็ประดิษฐ์เครื่องหมายนี้ขึ้นใช้ในบริบทแตกต่างกัน บางครั้งรูปดาวที่มีรัศมีหลายแฉกกลับไม่ใช่ดาว แต่เป็นดวงอาทิตย์ เครื่องหมายดาว-เดือนได้ผ่านการตีความมาอย่างยาวนาน ก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามในปัจจุบัน

พัฒนาการของสัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยว

รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวที่เก่าแก่ที่สุดพบในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ในฐานะสัญลักษณ์ของสามเทพสูงสุดของชาวบาบิโลน ได้แก่ ‘ชามาส’ สุริยเทพ แทนด้วยรูปดวงอาทิตย์ ‘ซิน’ จันทราเทพ แทนด้วยรูปจันทร์เสี้ยว และ ‘อิชตาร์’ ดาราเทพ แทนด้วยรูปดาว เมื่อกล่าวถึงเทพทั้งสาม ชาวบาบิโลนจึงใช้สัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์ จันทร์เสี้ยว และดาวเรียง อยู่ด้วยกัน

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

แผ่นหินของชาวบาบิโลน รูปกษัตริย์นำพระราชธิดาถวายแก่ดาราเทพ จันทราเทพ และสุริยเทพที่ปรากฏในรูปดาว จันทร์เสี้ยว และดวงอาทิตย์
ภาพ: www.newworldencyclopedia.org

ในอารยธรรมกรีกโบราณก็พบการทำสัญลักษณ์ดังกล่าวเช่นกัน เห็นได้จากเหรียญเงินที่ผลิตขึ้นในเมืองไบแซนทิอุม ด้านหนึ่งของเหรียญปรากฏรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวหมายถึง ‘เฮคาเต้หรืออาร์ทิมิส’ เทพีแห่งดวงจันทร์ที่ชาวกรีกยกให้เป็นเทพประจำเมือง ส่วนในอาณาจักรซัสซาเนียน พบเหรียญเงินที่พิมพ์เป็นรูปกษัตริย์สวมมงกุฎที่มียอดเป็นรูปดาวกับพระจันทร์

ชาวเติร์กในเอเชียกลางใช้รูปดาวกับจันทร์เสี้ยว หรือรูปดวงอาทิตย์กับจันทร์เสี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของขั้วตรงข้ามเหมือนกับเครื่องหมายหยิน-หยางของชาวจีน โดยดาวหรือพระอาทิตย์คือผู้หญิง และจันทร์เสี้ยวคือผู้ชาย ขณะที่ชาวฮั่นมีพิธีบูชาดวงจันทร์ และถือว่าตนเป็นทายาทของพระอาทิตย์และพระจันทร์ ดังปรากฏในจดหมายของกษัตริย์ชาวฮั่นถึงพระเจ้ากรุงจีน พระองค์ทรงเรียกตนเองว่า ‘ผู้สืบทอดบัลลังก์แห่งสุริยันจันทรา’

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

เหรียญเงินของชาวกรีก อายุ 100 ปีก่อนคริสตกาล รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวหมายถึงเทพีแห่งดวงจันทร์
ภาพ: www.wildwinds.com

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

เหรียญของชาว สวมมงกุฎรูปดาวกับจันทร์เสี้ยว
ภาพ: www.coinshome.net

หลังจากถูกตีความในหลากหลายบริบท ในที่สุดความหมายของสัญลักษณ์ดาว-เดือนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยชาวอาหรับในคาบสมุทรอาระเบีย พวกเขาอาศัยในพื้นที่เดิมของอารยธรรมเมโสโปเตเมียและรับเอาความเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ของเมโสโปเตเมียมาด้วย

กล่าวกันว่า ชาวอาหรับเคยใช้กะบะฮ์ (อาคารสีดำที่เป็นสถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมในปัจจุบัน) เป็นวิหารบูชาเทพเจ้า ภายในมีเทวรูปหลายองค์ หนึ่งในนั้นคือจันทราเทพที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปดวงจันทร์ เมื่อศาสนาอิสลามถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ชาวอาหรับได้เข้ารับอิสลามและนำรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าในอารยธรรมเมโสโปเตเมียมาใช้เป็นเครื่องหมายของศาสนาอิสลาม โดยดัดแปลงจำนวนรัศมีของดาวให้มีหกแฉก เพื่อสร้างความแตกต่างจากเครื่องหมายของลัทธิความเชื่ออื่นที่มีมาก่อนหน้า ดาวกับจันทร์เสี้ยวจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามไปด้วยประการฉะนี้

การที่ชาวอาหรับนำเครื่องหมายดาว-เดือนมาปรับใช้ ยังเป็นเพราะความผูกพันของชาวอาหรับที่มีต่อดวงดาวและดวงจันทร์อีกด้วย เพราะชาวอาหรับส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า ต้องเดินทางไปค้าขายในแดนไกลจึงต้องเดินทางรอนแรมในทะเลทรายเป็นเวลานาน และเพื่อหลีกหนีความร้อนของทะเลทรายในเวลากลางวัน ชาวอาหรับจึงมักจะเดินทางในยามค่ำคืนที่อากาศเย็นสบายกว่า โดยมีดาวกับดวงจันทร์เป็นเครื่องกำหนดทิศ บอกช่วงเวลาของวัน และให้แสงสว่างท่ามกลางทะเลทรายอันมืดมิด

ความสำคัญของดาว-เดือนถูกเขียนไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นเดียวกัน เช่น

“เขาเหล่านั้นจะถามเจ้าเกี่ยวกับ เดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิดมันคือกำหนดเวลาต่างๆ สำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธีฮัจญ์…” (อัลกุรอาน 2:189)

นอกจากนี้ยังมีบทกล่าวชมความงามของดวงดาวกับดวงจันทร์ และสรรเสริญอัลลอฮ์ผู้ที่สร้างมันขึ้นมา เช่น “แท้จริงเราได้ประดับท้องฟ้าแห่งโลกดุนยาอย่างสวยงามด้วยดวงดาวทั้งหลาย” (อัลกุรอาน 37:6) และ “ความจำเริญยิ่งแด่พระผู้ทรงทำให้ชั้นฟ้ามีหมู่ดวงดาว และได้ทรงทำให้มีตะเกียงในนั้น และดวงจันทร์มีแสงนวล” (อัลกุรอาน 25:61)

เมื่อวิถีชีวิตของมุสลิมผูกพันกับดวงดาวกับดวงจันทร์ จึงมีผู้เปรียบจันทร์เสี้ยวเป็นอัลลอฮ์ และดวงดาวคือศาสดามุฮัมมัด ทั้งสองคือหัวใจหลักของศาสนาอิสลามที่จะไม่มีวันแยกจากกัน

ชาวมุสลิมใช้รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิอิสลามเรื่อยมาและแพร่หลายยิ่งขึ้นในช่วงสงครามครูเสด แต่ผู้ที่ทำให้บทบาทของสัญลักษณ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้นคืออาณาจักรออตโตมัน (เรืองอำนาจ ค.ศ. 1299 – 1922 ปัจจุบันคือสาธารณรัฐตุรกี)

พวกเขานำเครื่องหมายนี้ไปประดับมัสยิด ฉลองพระองค์ ธงประจำกองทัพ ฯลฯ โดยเฉพาะภายหลังจากที่สุลต่านออตโตมันพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และเปลี่ยนเป็นนครของอิสลามในนามใหม่ว่า ‘อิสตันบูล’ สัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวก็ถูกนำไปใช้ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงในเขตอาณานิคมของออตโตมันด้วย โดยใช้เพียงรูปจันทร์เสี้ยวหรือจันทร์เสี้ยวคู่กับดวงดาว

แต่ภายหลังดวงดาวเริ่มถูกเปลี่ยนเป็นรูปดวงอาทิตย์ ซึ่งอาจรับมาจากแนวคิดของศิลปะตะวันตก ดังปรากฏในตราของอาณาจักรออตโตมันที่ออกแบบโดยชาวอังกฤษเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เหนือตรามีรูปจันทร์เสี้ยวซ้อนทับอยู่บนดวงอาทิตย์ที่แผ่รัศมีออกมา หมายถึงความเรืองรองของอาณาจักร ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวตุรกีได้ประดิษฐ์ธงขึ้นใช้ มีพื้นเป็นสีแดง ตรงกลางมีรูปดาวห้าแฉกกับจันทร์เสี้ยวสีขาว ซึ่งเป็นต้นแบบให้ธงของประเทศมุสลิมต่างๆ ในเวลาต่อมา

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ตราของอาณาจักรออตโตมัน
ภาพ: Kemal Özdemir. Osmanlı Arması. Ankara: Dönence, 1997.

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ธงของสาธารณรัฐตุรกีและประเทศมุสลิมอื่นๆ ในปัจจุบัน
ภาพ: www.quora.com

เมื่อมุสลิมแทนตนเองด้วยรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวอย่างชัดเจน ชาวตะวันตกจึงเข้าใจว่ามันคือสัญลักษณ์ของชนมุสลิม เห็นได้จากภาพพิมพ์ชิ้นหนึ่งของศิลปินตะวันตกเป็นรูปสุลต่านสุลัยมานกับช้างในพระราชวัง ที่ซุ้มประตูมีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่ใต้พระนามของอัลลอฮ์ มงกุฎของช้างก็เป็นรูปจันทร์เสี้ยวด้วย

ทั้งยังมีช่วงหนึ่งที่ชาวตะวันตกหลงใหลอารยธรรมอิสลาม เนื่องจากการติดต่อกับมุสลิมในสงครามครูเสด จึงมีศิลปินยุโรปไม่น้อยที่นำรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวมาเป็นแรงบันดาลใจในงานศิลปะ ทั้งยังปรากฏในรูปแบบอาหารอีกด้วย

กล่าวกันว่า เมื่อครั้งที่ออตโตมันพ่ายแพ้ในการบุกยึดเวียนนาเมื่อ ค.ศ. 1683 ผู้คนในเวียนนาได้ทำขนมอบรูปจันทร์เสี้ยวชื่อ ‘คิปฟัล’ ขึ้นแทนตัวทหารออตโตมัน แล้วนำมาฉีกกินอย่างเอร็ดอร่อยเพื่อฉลองชัยชนะของตนต่อออตโตมัน เจ้าคิปฟัลนี้เองที่เป็นต้นแบบของ ‘ครัวซองต์’ ขนมอบสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งชื่อของมันแปลว่า พระจันทร์เสี้ยว

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ภาพพิมพ์ของชาวตะวันตก รูปสุลต่านสุลัยมานและช้างที่สวมมงกุฎรูปจันทร์เสี้ยว บนซุ้มประตูมีรูปจันทร์เสี้ยวใต้พระนามของอัลลอฮ์
ภาพ: www.britishmuseum.org

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

คิปฟัล (kipferl) ที่ชาวเวียนนาทำขึ้นแทนตัวทหารออตโตมัน
ภาพ: www.haubis.com/en

จะเห็นได้ว่าสัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวนั้นมีความเป็นมาอันยาวนาน ผ่านการตีความจากอารยธรรมต่างๆ จนทำให้เกิดเครื่องหมายรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวขึ้นหลายรูปแบบ หลากความหมาย แต่สุดท้ายผู้ที่นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของตนอย่างประสบความสำเร็จคือชาวมุสลิม โดยมีออตโตมันเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้เครื่องหมายนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของโลกอิสลาม

สัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวในสังคมของชาวไทยมุสลิม

เครื่องหมายดาว-เดือนในฐานะตัวแทนของศาสนาอิสลามได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศไทยเช่นเดียวกัน ชาวไทยมุสลิมนิยมนำเครื่องหมายนี้มาประดับตามส่วนสำคัญของมัสยิดหรือจุดที่เห็นได้เด่นชัด เช่น บนยอดหลังคาหรือบนหอคอยประกาศเวลาละหมาด รั้ว กรอบหน้าต่าง และตามส่วนต่างๆ ของมิห์รอบ (ซุ้มในมัสยิดสำหรับกำหนดทิศในการละหมาด) และมิมบัร (ธรรมาสน์สำหรับการเทศนาในวันศุกร์) แม้ในส่วนเล็กๆ อย่างเชิงชายของมัสยิดที่เป็นเรือนไม้ยังสอดแทรกลายฉลุรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวเอาไว้อย่างน่าชม

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ดาวกับจันทร์เสี้ยวบนโดมและหอคอยของมัสยิดแก้วนิมิตร

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ลายฉลุรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวบนเชิงชายของอาคารเจริญวิทยาคาร ข้างมัสยิดบางอ้อ

ลักษณะของเครื่องหมายนิยมใช้เป็นรูปดาวห้าแฉกที่มีจันทร์เสี้ยวอยู่ด้านข้างหรือด้านล่าง อย่างไรก็ดี มีมัสยิดหลายแห่งที่พยายามออกแบบเครื่องหมายดาว-เดือนให้ต่างออกไป เช่น รูปดาวสามแฉกบนซุ้มประตูของมัสยิดยามิอุ้ลมุตตะกีน (ลำสาลี) ขณะที่บางแห่งเลือกใช้ดาวหรือจันทร์เสี้ยวเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ลายเขียนรูปดาวห้าแฉกบนผนังของกุฎีเจริญพาศน์หลังเดิม

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ดาวสามแฉกกับจันทร์เสี้ยวเหนือซุ้มประตูของมัสยิดยามิอุ้ลมุตตะกีน (ลำสาลี)

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ลายเขียนรูปดาวห้าแฉกบนผนังของกุฎีเจริญพาศน์หลังเดิม
ภาพ: สุดารา สุจฉายา (บรรณาธิการ). ธนบุรี. กรุงเทพฯ: สารคดี. 2553, 150.

ไม่เพียงแต่ในมัสยิดเท่านั้น บ้านเรือนของมุสลิมที่อยู่รายรอบมัสยิดก็มักจะมีรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวติดไว้บริเวณหน้าบ้าน ร้านค้าหรือหน่วยงานต่างๆ ของมุสลิมก็นำรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวมาทำเป็นตราสัญลักษณ์กันอย่างคึกคัก เช่น ตราของสมาคมสนธิอิสลาม หรือตราของร้านอาหารต่างๆ ซึ่งเจ้าของอาจต้องการแจ้งให้ลูกค้าที่เป็นมุสลิมทราบว่า ทางร้านปรุงอาหารอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา และยังใช้เป็นโลโก้ของอาหารฮาลาลเพื่อเรียกลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิม แต่ชื่นชอบอาหารฮาลาล บางร้านไม่มีรูปดาวกับจันทร์เสี้ยวแต่แฝงไว้ในชื่อร้าน เช่น ‘ดาวเดือนสเต็ก’ ร้านดังของชุมชนมุสลิมในตำบลท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวจากบ้านหลังหนึ่งในย่านมัสยิดญามิอุ้ลคอยรียะฮ์ (บ้านครัว)

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ตราสัญลักษณ์ของสมาคมสนธิอิสลาม
ภาพ: สุกรี สะเร็ม

อิสลาม, อิหม่าม, มัสยิด, อัลกุรอาน, ดาวกับจันทร์เสี้ยว

ดาวกับจันทร์เสี้ยวบนบ้านของมุสลิมหลังหนึ่งในเขตมัสยิดดารอสอะดะห์

สำหรับที่มาของสัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวในประเทศไทยยังคงเป็นปริศนา บ้างก็ว่าชาวไทยมุสลิมพบเห็นเครื่องหมายนี้บนโปสการ์ดหรือของที่ระลึกจากการไปแสวงบุญในกลุ่มประเทศอาหรับ บ้างก็ว่ารับมาจากอาณาจักรออตโตมันผ่านทางอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย เพราะทั้งสองเคยเกี่ยวข้องกับอาณาจักรออตโตมันและมีมัสยิดหลายแห่งที่ประดับด้วยเครื่องหมายดาว-เดือน ชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ก็ติดต่อกับมุสลิมในอินโดนีเซียและมาเลเซียอยู่เสมอ จึงเป็นไปได้ว่าสัญลักษณ์รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวจะเข้ามาในสังคมไทยด้วยเหตุผลดังกล่าว

ผู้เขียนมีโอกาสไปสัมภาษณ์อิหม่ามของมัสยิดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อครั้งพานักศึกษาไปเยี่ยมชมมัสยิด ท่านถามว่า “ให้ทายว่าอะไรคือสัญลักษณ์ของมุสลิม ก. ไม่กินหมู ข. ข้าวหมกไก่ ค. ดาวกับพระจันทร์” หลายคนไม่กล้าตอบ บางคนเลือกตอบข้าวหมกไก่ บางคนตอบว่าถูกทุกข้อ อิหม่ามหัวเราะแล้วให้คำเฉลยที่น่าประทับใจ จึงขอยกมาเป็นตัวจบบทความนี้ ท่านตอบว่า

“ไม่ใช่ทั้งสามอย่าง การละหมาดต่างหากคือสัญลักษณ์ของมุสลิมที่แท้จริง”

บรรณานุกรม

สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย, ผู้แปล. พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมความหมายภาษาไทย. มะดีนะฮ์: ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน, 2553.

รอมฎอน ท้วมสากล. อิหม่ามประจำมัสยิดบางหลวง. สัมภาษณ์, มิถุนายน 2561.

อาดิศร์ รักษมณี. มัสยิดในกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.

Andrew Peterson. Dictionary of Islamic Architecture. London: Routledge, 1996.

Fezvi Kurtoğlu. Türk Bayrağı ve Yıldız. Ankara: TTK, 1987.

Madonna Gauding. Signs and Symbols Bible. London: Octopus, 2009.

Sinan Ceco. İstanbul’un 100 Sembolü. İstanbul: İBB Kültür A.Ş., 2012.

Writer & Photographer

วสมน สาณะเสน

วสมน สาณะเสน

บัณฑิตตุรกี นักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง