The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลาม (ประเทศไทย)

 

อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร อัชฮะดุอัลลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ อัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรรอซูลลุลลอฮ์…

(คำแปล-พระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ พระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ ข้าฯของปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุฮัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮ์…)

เสียง ‘อะซาน’ ประกาศเรียกบอกเวลาละหมาดในแต่ละวัน 5 เวลา คือเสียงจะได้ยินชุมชนมุสลิมอย่างสม่ำเสมอ การประกาศเรียกศรัทธาชนให้ระลึกถึงหน้าที่ภารกิจในการรำลึกสักการะอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวแห่งสากลโลกในความเชื่อของชาวมุสลิม

การอะซานเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ และเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการปฏิบัติศาสนกิจต่อเนื่องยาวนานกว่าพันปี การประกาศอะซานมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการตีระฆังวัดหรือโบสถ์ของชาวพุทธและชาวคริสต์ ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีเครื่องขยายเสียง ผู้ประกาศอะซานที่เรียกว่า ‘มุอัซซิน’ (แต่ชาวไทยมุสลิมเรียกว่า ‘บิหลั่น’ ตามชื่อท่านบิลาล สาวกของท่านศาสดามุฮัมมัด ผู้ประกาศอะซานคนแรกของอิสลาม) โดยจะต้องปีนหอขึ้นไปประกาศ ด้วยหลักการของเสียงที่เดินทางได้ไกลจากที่สูงซึ่งไม่มีอะไรขวางกั้น สถาปัตยกรรมของมัสยิดแถบตะวันออกกลางจึงมีหอสูงๆ ให้ขึ้นไปส่งเสียงเรียกชาวมุสลิมตั้งแต่โบราณ

เมื่อพิจารณาดูวัฒนธรรมและประเพณีปฏิบัติที่หลากหลายของชาวมุสลิมในโลกแล้ว ประเทศไทยและเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมมลายู-ชวา มีรูปแบบการส่งสัญญาณที่เป็นเอกลักษณ์แบบที่ไม่มีชาวมุสลิมที่ไหนในโลกเหมือน นั่นคือ “การตีกลองมัสยิด”

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

หอกลองและกลองอายุ 200 ปีที่มัสยิดกมาลุ้ลอิสลาม (ทรายกองดิน) มีนบุรี

การตีกลองมัสยิดส่งสัญญาณไม่ได้มีแบบอย่างจากสมัยของท่านศาสดา หรือวัฒนธรรมของชาวอาหรับ ดังนั้นกลองมัสยิดจึงแสดงลักษณะท้องถิ่นของเอเชียอาคเนย์อย่างชัดเจน มัสยิดเก่าแก่หลายแห่งในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มักมีอุปกรณ์ 2 ชิ้น คือ กลอง (เบอโด๊ะ-Beduk) ขนาดใหญ่ขึงหน้ากลองด้วยหนังสัตว์ (หนังวัวหรือควาย) และอาจจะมีเกราะไม้ (เกนตุง-Kentung) โดยจะถูกใช้ตีบอกสัญญาณ ก่อนที่จะมีการประกาศอะซานตามซึ่งเป็นเงื่อนไขหลัก ธรรมเนียมการตีกลองมัสยิดในทุกวันนี้นับว่าหาได้ยากมากๆ ในประเทศไทย แต่อาจจะยังพอมีมากหน่อยในประเทศอินโดนีเซียที่ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมของมุสลิมแถบนี้ไว้ได้

กลอง เป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งอยู่ร่วมกับมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เสียงจังหวะของกลองนั้นนอกจากจะเป็นเครื่องประกอบจังหวะดนตรี และใช้ส่งสัญญาณสื่อสาร ใช้ในการสงคราม และยังมีการใช้กลองที่เกี่ยวกับพิธีกรรมความเชื่อ เช่น การตีกลองขอฝน การบำบัดปัดเป่าโรค ฯลฯ

กลองที่ปรากฏในวัฒนธรรมของเอเชียอาคเนย์สมัยโบราณทั้งภาคพื้นทวีปและหมู่เกาะ เช่น กลองมโหระทึกสำริดวัฒนธรรมดองซอน (Dong Son culture) ซึ่งแพร่หลายต่อเนื่องจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยต้นประวัติศาสตร์ ในสมัยที่อารยธรรมฮินดู-พุทธได้เข้ามาตั้งรากฐานที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ กลองหลายรูปแบบก็ยังเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญทั้งในอารามวิหาร ราชสำนัก และการละเล่นทั่วไป

เมื่อศาสนาอิสลามได้ถูกเผยแพร่มายังดินแดนห่างไกลอย่างเอเชียอาคเนย์ผ่านเส้นทางการค้าทางทะเลโดยนักเดินเรือและพ่อค้าชาวมุสลิมจากตะวันออกกลาง อินเดียและจีน จนกระทั่งปรากฏรัฐอิสลามขึ้นในบริเวณที่เป็นหมู่เกาะอินโดนีเซียและคาบสมุทรมลายูปัจจุบันตั้งแต่ช่วงคริสตศตวรรษที่ 13 (ก่อนที่จะเข้ามายังดินแดนประเทศไทยในเวลาต่อมา) ลักษณะการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในเอเชียอาคเนย์นั้นมีความพิเศษ คือไม่เคยมีการใช้คมหอกคมดาบบังคับให้เข้ารีต แต่เป็นวิธีการเผยแพร่อย่างค่อยเป็นค่อยไปตลอดหลายศตวรรษ

นักการศาสนาอิสลามสายรหัสยนัย (ซูฟี) คิดหาวิธีสอดแทรกคำสอนและวิถีแบบอิสลามที่ถูกปรับให้เป็นท้องถิ่นซึ่งผู้คนนับถือผี ผสมกับจารีตฮินดู-พุทธ อย่างเหนียวแน่นมาแต่โบราณ เช่น การเผยแพร่ศาสนาอิสลามบนเกาะชวา การปรับความเชื่อโดยใช้จารีตประเพณีดั้งเดิม (อาดัต) และทำให้เป็นอิสลาม (Islamization)

เห็นได้จากความเชื่อเรื่องนักบุญหรือบุคคลที่แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ถูกปรับให้เชื่อว่าเกิดจากการบันดาลของอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว ครูสอนศาสนาที่สามารถรักษาโรคร้ายได้ (เพราะวิทยาการที่ก้าวหน้ากว่าของชาวมุสลิมในยุคนั้น) การแต่งวรรณกรรรมทางศาสนาโดยเขียนด้วยภาษาถิ่น การทำบุญเกนดูรี รวมไปถึงการละเล่นอย่าง วาหยัง (หนังตะลุงชวา) และ กาเมลันซึ่งเป็นดนตรีที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีทองเหลือง ฆ้องและกลอง โดยใช้วิธีการเล่าชีวประวัติศาสดาและสาวกผสานลงไป ฯลฯ

ด้วยลักษณะเช่นนี้เอง จึงไม่แปลกที่เครื่องดนตรีเก่าแก่อย่างกลองจะถูกปรับเปลี่ยน meaning และ function มาใช้กับกิจการของศาสนาอิสลามได้ในที่สุด เช่นเดียวกับชาวมุสลิมในประเทศไทยมีปูมหลังความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย และผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนและธำรงอัตลักษณ์ของความเป็นชาวมุสลิมในสังคมพหุวัฒนธรรมมาเช่นกัน

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

กลองเก่าแก่ที่มัสยิดบ้านอู่

จากการเซอร์เวย์มัสยิดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ผู้เขียนพบว่ามัสยิดเก่าแก่อายุเกิน 100 ปีหลายแห่ง มักจะมีกลองเก่านี้ แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว หรือที่น่าเสียดายกว่านั้นก็คือผุพังแล้วก็ทิ้งไป ที่ยังพอหลงเหลือให้เห็นอยู่ก็เช่น มัสยิดบ้านอู่ หลังโรบินสันบางรัก มีกลองอยู่ถึง 2 ใบ ใบแรกมีสองหน้าคล้ายๆ กับกลองเพล กับอีกใบหนึ่งใหญ่และยาวกว่าทาสีเขียว ลักษณะเป็นการขุดจากไม้ซุง หนังหน้ากลองแตก มีป้ายแปะข้างกลองเขียนไว้ว่า “ญะมาดุซานี 1325” หมายถึง ชื่อเดือนที่ 6 ตามปฏิทินอิสลาม ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 1325 (ปัจจุบันก็อายุ 114 ปีแล้ว!)

ถัดมาที่มัสยิดดารุ้ลอาบิดีน (ตรอกจันทน์) ริมถนนเจริญกรุง มีกลองหน้าเดียวใบไม่หนานัก เดิมเคยตั้งอยู่ในมัสยิด ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานเลยย้ายไปเก็บไว้ในโรงเก็บของ นอกจากนี้มัสยิดริมคลองแสนแสบย่านมีนบุรี-หนอกจอก หลายแห่งก็ยังพอมีให้เห็นบาง เช่นที่มัสยิดกมาลุ้ลอิสลาม (ทรายกองดิน) มัสยิดดรุ้ลมุตตะกีน (คู้) และ มัสยิดดาริสลาม (บาหยัน) ที่มีหอกลองสร้างขึ้นมารองรับโดยเฉพาะอีกด้วย

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

กลองที่มัสยิดดารุ้ลมุตตะกีน (คู้) หนองจอก

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

กลองมัสยิดดาริสลาม (บาหยัน) อุทิศวันที่ 12 มิ.ย. 2511

การตามรอยกลองมัสยิดของผู้เขียนคงไม่พ้นมัสยิดยะวา ชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายชวาและมลายู ย่านสาทรใจกลางกรุง ซึ่งน่าจะเหลือเพียงมัสยิดแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร (ชั้นใน) ที่ยังคงรักษาธรรมเนียมในการตีกลองนี้ไว้ได้ และยังคงปฏิบัติอยู่แม้ว่าจะค่อยๆ น้อยลงทุกทีก็ตาม

 

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

มัสยิดยะวา

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

กลองของมัสยิดยะวาที่ยังใช้งานอยู่ในบางโอกาส

ผู้เขียนเองคุ้นเสียงกลองมาตั้งแต่จำความได้เวลาไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ ซึ่งมุสลิมชายทั้งหลายจะไปรวมตัวกันเพื่อฟังเทศนาธรรม แต่หลังๆ นี้รู้สึกว่าไม่มีการตีแล้ว เมื่อได้สอบถามคำบอกเล่าของคนเก่าคนเก่าแก่ในชุมชนถึงที่มาที่ไปของกลองใบนี้ บ้างก็บอกว่ากลองถูกนำเข้ามาจากชวา ที่ซึ่งยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในอดีต เมื่อก่อนกลองของมัสยิดยะวามีขนาดยาวกว่านี้ (ส่วนหน้ากลองขึงด้วยหนังวัว เส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 1 เมตร) และยังเคยมีเกราะไม้แขวนอยู่ข้างๆ แต่ก็ผุพังไปแล้ว ต่อมาภายหลังมีแนวคิดที่จะรักษากลองไว้ให้เป็นมดกของชุมชน จึงได้ซ่อมแซมเสียใหม่

เมื่อก่อนการตีกลองนั้นจะสามารถตีได้ในหลายโอกาส อาทิ เมื่อเข้าเวลาละหมาดในจังหวะก่อนการประกาศอะซาน (ตีเป็นจังหวะที่บ่งบอกแต่ละเวลาด้วย) การตีกลองบอกสัญญาณการเห็นดวงจันทร์ของเดือนตามปฏิทินจันทรคติ และที่สำคัญมากเลยคือช่วงเดือนรอมฎอน ช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมถือศีลอด ต้องตีบอกเวลาตื่นขึ้นมาทานข้าวสุโฮรก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และตีบอกเวลาละศีลอดเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน

การตีกลองประกาศวันตรุษเล็ก-ใหญ่ (วันตรุษอีดิลฟิฏรี ตอนออกจากเดือนรอมฎอน และตรุษอีดิลอัฎฮาช่วงประกอบพิธีฮัจญ์) การตีกลองประกาศข่าวของชุมชน เช่น มีคนเสียชีวิต มีเหตุด่วนหรือฉุกเฉินอะไรก็จะตีกลองฟาดเกราะกันรัวๆ เป็นต้น เมื่อก่อนเสียงกลองจะได้ยินไปไกลทั่วทั้งกำปง (ชุมชน) ทีเดียว ปัจจุบันเห็นจะเหลือเพียงการตีบอกเวลาละหมาดคนตายเท่านั้น

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

กลองมัสยิด,มุสลิม,ศาสนาอิสลาม, ประวัติ กลองมัสยิด

ด้วยบริบทของคนและสถานที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ธรรมเนียมการตีกลองมัสยิดของมุสลิมยุคโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีเหมือนกำลังหายไป เพราะนวัตกรรมของไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียงที่ส่งเสียงอะซานไปได้ไกลกว่าและง่ายต่อการใช้งาน

หากมองในมิติด้านศาสนา ชาวมุสลิมหลายคนในทุกวันนี้ก็บอกว่าในสมัยท่านศาสดาไม่ปฏิบัติกัน มองว่าเสียงกลองเหมือนการส่งสัญญาณออกศึก หรือว่าการตีกลองไปคล้ายกับการส่งสัญญาณของศาสนาอื่น มุสลิมที่รับข่าวสารและความรู้จากตะวันออกกลาง ศูนย์กลางของความรู้ทางศาสนาอิสลาม ก็อาจปฏิเสธการใช้กลอง ทั้งที่ความจริง เราอาจมองข้ามข้อเท็จจริงและการพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างของบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒธรรมอิสลามแต่ละแห่ง

นอกจากนี้ ‘ความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ทำให้เสียงเสียงกลองบอกเวลาไม่อาจทะลุผ่านความโหวกเหวกวุ่นวายของเมืองใหญ่ เสียงรถยนต์ เสียงแตร ได้เหมือนครั้งอดีต จึงทำให้กลองมัสยิดเหล่านี้หมดหน้าที่ไปในที่สุด บางทีจึงเหลือการใช้สอยเพียงเล็กน้อยเป็นเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น

การตีกลองมัสยิดซึ่งเป็นเอกลักษณของมุสลิมถิ่นนี้ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันเสียงกลองมัสยิดส่วนใหญ่ได้เงียบลงแล้ว มันได้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องขยายเสียงทันสมัย รวมถึงการปรับเปลี่ยนนวคิดของชาวมุสลิมในปัจจุบัน กลองมัสยิดจึงหมดความสำคัญลง แต่กระนั้นผู้เขียนมองว่าหากเรายังต้องการรักษาให้คนรุ่นหลังรู้ถึง “รากเหง้า” ความเป็นมาของบรรพชนมุสลิมและความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในประเทศไทยและภูมิภาคนี้แล้ว กลองมัสยิดนี่แหละคือหนึ่งในหลักฐานเชิงวัตถุ เป็นอนุสรณ์จากอดีตที่ควรค่าแก่ศึกษาและการอนุรักษ์ไว้

บรรณานุกรม

ทวีศักดิ์ เผือกสม. วีรบุรุษไพร่ชวา รัฐมุสลิม สภานักบุญ และผู้มีกำเนิดจากไส้เดือนดิน. กรุงเทพฯ: ยิปซีกรุ๊ป, 2560.

ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ. มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โครงการหอสมุดกลางอิสลาม, 2539.

เสาวนีย์ จิตต์หมวด. กลุ่มชาติพันธุ์: ชาวไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ: กองทุนสง่ารุจิระอัมพร, 2531.

Abdul Ghoffir Muhaimin. The Islamic Traditions of Cirebon: Ibadat and Adat Among Javanese Muslims. ANU E Press, 2006.

Michael Feener, Terenjit Sever. Islamic Connections Muslim Societies in South and Southeast Asia. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2009.

Writer & Photographer

Avatar

สุนิติ จุฑามาศ

มุสลิมบางกอกย่านเจริญกรุง-สาทร จบการศึกษาด้านโบราณคดี สนใจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและอาหาร