The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลาม (ประเทศไทย)

เสียงอะซานดังแว่วตามลมป่าวประกาศเรียกชาวมุสลิมผู้ศรัทธาทั่วบริเวณซอยตรอกโรงน้ำแข็งยามตะวันเริ่มลับขอบฟ้า พลันปรากฏยอดมัสยิดรูปทรงหลังคาซ้อนชั้นเรียวแหลมแลดูแปลกตาเป็นเงาทะมึน สลับกับแสงไฟระยิบระยับจากอาคารสำนักงานสูงที่รายล้อมย่านธุรกิจใจกลางกรุงอย่างสาทร ที่นี่คือ ‘มัสยิดยะวา’ ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยมุสลิมในย่านที่มีประวัติยาวนานนับร้อยปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

นอกจากนั้น ที่นี่ยังเป็นชุมชนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายยะวาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ชื่อเรียก ‘ยะวา’ หรือ ‘ยะหวา’ แบบที่เรียกกันติดปาก อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยนัก แต่นี่คือคำศัพท์ที่คนเหล่านี้เรียกตนเอง บ่งบอกตัวตนของกลุ่มคนจากเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิดและอาศัยอยู่ในย่านนี้ แม้ว่าจะเป็นรุ่นหลังและไม่ได้มีเชื้อสายยะวาก็ตาม แต่เรื่องของขนบประเพณี การแต่งกาย อาหาร ภาษา ของชาวยะวาก็เป็นสิ่งที่คุ้นเคยและรับรู้ ไม่ว่าจากเรื่องเล่าของของคนรุ่นผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเปรียบเสมือนญาติสนิท ซึ่งทราบว่าในอดีตบรรพบุรุษพวกเขามีความสามารถและมีหน้าที่การงานดีและหลากหลาย ไม่ว่าจะทำงานกับบริษัทฝรั่ง ทำงานสถานทูต สรั่งเดินเรือ ทำถนน สถาปนิก และที่น่าสนใจมากคือ ‘ช่างตกแต่งสวน’ ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่ถูกบอกเล่าโดยชาวยะวาอย่างภาคภูมิใจ

มะขามสนามหลวงที่ยืนต้นเรียงรายและสวนดอกไม้งดงามในพระราชวังสมัยก่อน มีความเชื่อมโยงกับความเป็นมาของชาวมุสลิมในประเทศไทยกลุ่มนี้อย่างที่เราอาจจะคาดไม่ถึง…

ผมขอเท้าความสักนิดหนึ่งว่า ชวาเป็นหนึ่งในเกาะใหญ่ของอินโดนีเซียที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด เป็นแหล่งอารยธรรมของอาณาจักรฮินดู-พุทธเก่าแก่มาแต่ครั้งโบราณ มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และภาษา จนกระทั่งศาสนาอิสลามได้เข้ามาผ่านการค้าทางทะเล ซึ่งได้ ‘เปลี่ยนและปรับ’ เข้ากับวิถีดั้งเดิมของชนกลุ่มนี้จนเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของชาวยะวา

ส่วนการเข้ามาของชาวยะวาในดินแดนประเทศไทยมีมาช้านานแล้วผ่านการค้า แต่จุดเปลี่ยนเปลี่ยนสำคัญเกิดจากเงื้อมมือของชาวฮอลันดาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา เพราะชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งอาณานิคมการค้า นำกองเรือแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองและเข้ายึดครองทรัพยากรมากมายในหมู่เกาะอินโดนีเซีย การใช้นโยบายกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมของเจ้าอาณานิคมทำให้ชาวยะวาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีส่วนผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

ชื่อของชาวยะวานั้นปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา และในพงศาวดารในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เมื่อพระองค์ทรงยึดอำนาจจากพระปิตุลาใน พ.ศ. 2199 ความว่า “…ทรงมีบัญชาให้มิรยาฝัน เมาลามักเมาะตาด คุมไพร่ไปอยู่ ณ ด้านศาลาลูกขุน ให้รายาลิลา คุมศรีต่วนแขกชวา แขกจาม อยู่ ณ ด้านหน้าสรรเพชญ์ปราสาท…” ดังจะเห็นว่ามีกองทหารชวาร่วมก่อการจนนำราชบัลลังก์มาถวายขุนหลวงนารายณ์ได้สำเร็จ แต่ทั้งนี้ชื่อของชาวยะวาก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่ามีบันทึกเกี่ยวกับชาวชวาอีกเลยจนสิ้นแผ่นดินอยุธยา

เมื่อเถลิงศักราชกรุงรัตนโกสินทร์ สยามประเทศไม่ได้โดนอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมตะวันตกครอบงำ กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรและการค้าที่สำคัญ ด้วยพระมหากษัตริย์ของสยามทรงมีพระทัยกว้าง ต้อนรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพึ่งบารมี ช่วงนี้เองที่มีเอกสารราชการซึ่งทำให้ทราบว่าเริ่มมีชาวยะวาเริ่มเดินทางเข้ามายังบางกอกเพื่อประกอบอาชีพต่างๆ แล้วในช่วงรัชกาลที่ 4 เช่น ประกอบอาชีพค้าขาย ครูสอนภาษาอาหรับ และช่างหยอดน้ำมันเครื่องจักร ฯลฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์เสด็จฯ ประพาสชวาซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้อาณานิคมอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Dutch East Indies) ถึง 3 ครั้งด้วยกัน เพื่อทอดพระเนตรความทันสมัยแบบอารยประเทศที่ชาวยุโรปนำเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ กล่าวกันว่าขณะที่พระองค์ประทับที่วังบุยเต็นซอร์ค (Buitenzorg) ใกล้กับเมืองจาร์กาตา ทรงโปรดความงดงามของสวนพฤกษชาติโบกอร์ (Bogor Botanical Garden) ซึ่งตกแต่งในแบบโคโลเนียลสไตล์โดยพืชพรรณท้องถิ่นและพืชนำเข้าจากดินแดนต่างๆ มาก จนเสด็จฯ ชมทุกๆ เย็นของแต่ละวัน

นี่เป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้สร้างสวนแบบเดียวกันในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่มาของ ‘สวนพระราชวังสวนดุสิต’ ซึ่งเป็นพระราชฐานใหม่ ประกอบด้วยวังและสวนต่างๆ มากมาย รวมถึง ‘เขาดินวนา’ ด้วยนั่นเอง

ชาวยะวา ช่างจัดสวนมือดีที่ทำให้เกิดต้นมะขามรอบสนามหลวง

วังบุยเต็นซอร์คและสวนพฤษชาติโบกอร์

ในการเสด็จฯ ประพาสชวาครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2444 ทรงนำนายเอเลนบาส ฝรั่งชาวฮอลันดาซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการเพาะปลูก และชาวยะวา 2 คน เข้ามา จาก ‘คำบอกเล่า’ ในหมู่ชาวยะวาจากรุ่นสู่รุ่นว่าหลังจากนั้นยังทรงโปรดฯ ให้นำชาวยะวาเข้ามาอีกราว 30 คน ในจำนวนนี้มีรายนามของนายกาเซ็ม นายกัสบี้ นายเก๊ะซามัน นายซาระซัน นายซะวัน นายโรสรัน นายอุนุส เป็นต้น

ชาวยะวาเหล่านี้ถือสัญชาติฮอลันดา มีฝีมือและถนัดการจัดสวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาได้เรียนรู้ศาสตร์ที่ถ่ายทอดมาจากเจ้าอาณานิคม ได้เข้ารับงานตกแต่งสวนในบริเวณพระบรมมหาราชวัง วังสราญรมย์ วังสวนสุนันทา พระราชวังบางปะอิน อีกทั้งยังทำสวนบริเวณโรงกษาปณ์ ตกแต่งไม้ประดับในแนวถนนราชดำเนินและปลูกต้นมะขามบริเวณท้องสนามหลวง สนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ ซึ่งถูกขยายใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และตบแต่งใหม่โดยได้รับอิทธิพลจากลานหน้าพระราชวังของเจ้าผู้ปกครองเมืองยอกยาการ์ตา (Yokyakarta) ที่ชวา

ชาวยะวา ช่างจัดสวนมือดีที่ทำให้เกิดต้นมะขามรอบสนามหลวง ชาวยะวา ช่างจัดสวนมือดีที่ทำให้เกิดต้นมะขามรอบสนามหลวง

สนามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5

ชาวยะวา ช่างจัดสวนมือดีที่ทำให้เกิดต้นมะขามรอบสนามหลวง

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 5 และสุสุฮุนันปากูบูโวโนที่ 10 (Pakubuwono X) ขณะเสด็จฯ ประพาสชวา

โชคดีที่ผมได้รู้จักกับอาจารย์ณัฐพล จันทน์งาม ผู้เป็นทั้งรุ่นพี่ อาจารย์ เพื่อนบ้านในซอย และเป็นชาวไทยเชื้อสายยะวา เลยถือโอกาสสอบถามเรื่องราวของคุณเทียดของอาจารย์คือ ‘นายกาเซ็ม บินมุฮัมมัดใย’ ว่าท่านมีต้นกำเนิดจากชวาภาคกลาง และมีความสามารถพิเศษในการผสมพันธุ์ดอกกุหลาบให้เป็นสีสันสวยงาม อีกทั้งสืบได้ความว่าท่านเคยไปจัดสวนในวังสวนดุสิต วังบางปะอิน และรอบๆ สนามหลวง ร่วมกับผองเพื่อนชาวยะวาจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 5

เหตุนี้จึงทรงตอบแทนความดีความชอบโดยการพระราชทานที่ดินให้ แต่นายกาเซ็มไม่รับ เนื่องจากต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมของตนเอง จึงได้รับพระราชทานจานทองแทน อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าภายหลังนายกาเซ็มแต่งงาน มีลูกหลาน สามารถเก็บหอมรอมริบจนสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ จนได้ ‘ฮัจยี’ แล้วกลับมาใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยจนกระทั่งเสียชีวิต ร่างของท่านฝังอยู่ที่สุสานไทยอิสลามอันร่มรื่นข้างๆ มัสยิดยะวานี้เอง และทุกวันนี้ที่ตั้งของหลุมศพก็เลือนหายไปตามกาลเวลาจนลูกหลานจำตำแหน่งที่แท้จริงไม่ได้แล้ว

ชาวยะวา ช่างจัดสวนมือดีที่ทำให้เกิดต้นมะขามรอบสนามหลวง

ภาพถ่ายนายกาเซ็ม บินมุฮัมมัดใย
ภาพจาก: กรรณิการ์ จุฑามาศ. ยะวา-ชวาในบางกอก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2541. น. 57.

ถึงกาลเวลาจะล่วงเลยไปกว่าศตวรรษ บางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ อาชีพและคำบอกเล่าของชุมชน หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องราวของครอบครัว ยังคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ช่วยแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการมีอยู่ของชาวยะวาในประเทศไทย ต่อจากนี้เมื่อมองต้นมะขามที่สนามหลวงหรือสวนในพระราชวังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วนึกจินตนาการถึงเรื่องราวของคนจัดสวนชาวยะวาเหล่านี้ อาจทำให้เราเห็นมิติของความเป็นไทยแบบพหุวัฒนธรรมมากขึ้นก็เป็นได้

อ้างอิง

กรรณิการ์ จุฑามาศ. ยะวา-ชวาในบางกอก. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2541.

ประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ. มุสลิมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โครงการหอสมุดกลางอิสลาม, 2539.

สัมภาษณ์

อ.ณัฐพล จันทน์งาม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

Writer

Avatar

สุนิติ จุฑามาศ

มุสลิมบางกอกย่านเจริญกรุง-สาทร จบการศึกษาด้านโบราณคดี สนใจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและอาหาร