17 กุมภาพันธ์ 2020
14 K

หากเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทอิชิซากะ (Ishizaka) ท่านจะเห็นคำเหล่านี้ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา

‘โลกเราจะอยู่ไปได้อีกนานเท่าไรนะ’

‘ปริมาณขยะในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นกว่าตอนนี้อีก 2 เท่า’

‘มีขยะพลาสติก 12.7 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเล’

‘หากเรายังใช้ชีวิตกันแบบนี้ ภายในปี 2030 เราต้องการทรัพยากรบนโลกอีก 2 ใบ ถึงจะเพียงพอ’ 

‘เราต้องการจะเปลี่ยนจากลบให้เป็นบวก’

‘หากเราโยนขยะทิ้งก็คงจบ แต่ถ้าใช้ให้ดี ขยะจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า’ 

‘เราอยากให้ลูกหลานเรา สามารถใช้ชีวิตต่อบนโลกอันงดงามนี้ได้’ 

‘เราจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และสร้างชีวิตที่ดีสำหรับผู้คนในอนาคต’

ข้อมูลอ้างอิง :   https://ishizaka-group.co.jp/

นี่คือสิ่งที่บริษัทอิชิซากะประกาศ 

บริษัทที่เคยถูกคนในเมืองเหยียดหยาม

โนริโกะ อิชิซากะ เข้าทำงานที่บริษัทพ่อตอนอายุ 20 ปี พ่อของเธอก่อตั้งบริษัทอิชิซากะเนื่องจากเห็นปัญหาการทิ้งขยะลงทะเล ทำให้ตัดสินใจสร้างโรงงานที่รีไซเคิลขยะได้ 

บริษัทอิชิซากะเน้นการรีไซเคิลวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้ คอนกรีต เวลามีการรีโนเวตบ้านหรือทุบอาคาร 

ในปี 1999 สื่อรายงานข่าวว่า ผักและผลไม้ในเมืองมีการปนเปื้อนไดออกซิน ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย คนในเมืองส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกิดจากโรงงานรีไซเคิลขยะอย่างอิชิซากะ แต่ภายหลังสื่อรายงานว่าเกิดขึ้นด้วยสาเหตุอื่น 

ทว่าประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดไปเรียบร้อยแล้ว และถึงขั้นยื่นคำฟ้องบริษัทกับศาล มีเสียงขับไล่บริษัท หรือถูกประณามว่าเป็นศัตรูกับชุมชน เกษตรกรบางคนถึงกับบอกว่า “บริษัทกำจัดขยะกับเกษตรกรรม อยู่ร่วมกันไม่ได้”

สำหรับโนริโกะ อิชาซากะ แล้ว คำพูดเหล่านี้จุดประกายให้เธอคิดอะไรบางอย่างได้ 

“ถ้าไม่มีเรา ใครจะจัดการกับขยะอุตสาหกรรมล่ะ จริงๆ แล้วบริษัทอย่างเราสำคัญกับโลกนี้นะ”

พ่อของโนริโกะมีความคิดว่า หากตนเองตั้งใจทำงาน สักวัน ชาวบ้านคงจะเข้าใจสักวันเอง แต่โนริโกะทนไม่ได้ 

ในวัย 30 ปี หลังจากช่วยงานกิจการที่บ้านมา 10 ปี โนริโกะก็ขอให้พ่อยกตำแหน่งประธานบริษัทให้ตนเอง 

“ฉันจะทำให้ผู้คนเห็นความดีของธุรกิจรีไซเคิลขยะให้ได้” 

การเข้ารับตำแหน่งของประธานคนใหม่กับการจากไปของลูกน้องเก่า

โนริโกะตั้งใจปรับภาพลักษณ์บริษัท พร้อมกับการลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ๆ เธอตั้งใจว่า จะทำให้โรงงานรีไซเคิลขยะเป็นมิตรกับชุมชนให้มากที่สุด 

โนริโกะย้ายการกำจัดขยะมาอยู่ในที่ปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้ฝุ่นคละคลุ้งออกมา มีการฉีดน้ำล้างรถบรรทุกก่อนออกจากบริษัท รวมถึงปรับระบบการคิดราคาให้เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ โนริโกะยังผลักดันให้โรงงานผ่านมาตรฐาน ISO ให้ได้ ทำให้พนักงานต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลายครั้ง

ด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายประการที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ทนไม่ไหว

หนึ่งคือ พนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานชาย พวกเขาไม่ยอมรับประธานบริษัทที่เป็นผู้หญิงอย่างโนริโกะ 

สองคือ พนักงานไม่เข้าใจว่าโนริโกะกำลังพยายามทำอะไรอยู่ 

ผลก็คือ พนักงานกว่าร้อยละ 40 ยื่นขอลาออกจากบริษัท จากเดิมอายุเฉลี่ยพนักงาน คือ 55 ปี กลับลดลงเหลือ 35 ปี พนักงานที่เหลืออยู่นั้นไม่ลาออกเพียงเพราะไม่สามารถย้ายงานหรือมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว 

โนริโกะกลัดกลุ้มมากและตัดสินใจปรึกษาพ่อ แต่พ่อกลับบอกกับเธอเพียงว่า 

“ทำให้เต็มที่ การบริหารคนนั้นไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว”

โนริโกะจึงตัดสินใจลุยเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น ‘บริษัทที่เป็นที่รักของชุมชน’ ให้ได้

สอนให้ลูกน้องคิด

สิ่งสำคัญถัดมาที่โนริโกะต้องรับมือ คือพนักงานบริษัทส่วนใหญ่คิดไม่เป็น พวกเขาแค่มาบริษัท ทำตามที่เจ้านายบอก แล้วก็รับเงิน 

คำพูดติดปากของโนริโกะคือ “คิดด้วยตัวเองกันเถอะ”

เธอกระตุ้นให้พนักงานทุกคนคิดมากขึ้น เช่น แค่งานถ่ายเอกสารข่าวในหนังสือพิมพ์ หากขยายข่าวอีกสักนิด เขียนวันที่ที่ลงข่าว คนที่มาอ่านภายหลังก็คงจะอ่านง่ายขึ้น งานทุกงานล้วนมีผู้รับบริการของเราทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานทำความสะอาดห้องน้ำ งานรินน้ำให้แขก หากเราตั้งใจทำเพื่อผู้อื่นและใช้ความคิดเสมอๆ สักวันจะต้องมีคนชม นั่นจะทำให้พวกเขารู้สึกภูมิใจและคิดถึงผู้อื่นมากขึ้น

โนริโกะพยายามไม่แสดงความเห็นเยอะ ยกตัวอย่างตอนที่บริษัทจัดงานรำวง-บงโอโดริให้กับคนในชุมชน เธอกระตุ้นให้พนักงานที่สนใจโปรเจกต์นี้เป็นคนวางแผนเอง ออกไอเดียเอง แน่นอนว่า อีเวนต์นี้เป็นหน้าเป็นตาบริษัท หากพลาดก็อาจกระทบกับภาพลักษณ์ของบริษัทได้ แต่นั่นก็เป็นการเรียนรู้ของพนักงาน 

ในระยะแรก พนักงานยังวางแผนไม่ค่อยเป็นบ้าง หรือจัดงานออกมาดูธรรมดาๆ บ้าง ทางบริษัทเองแก้ปัญหาได้ง่ายๆ ด้วยการจ้างบริษัทมืออาชีพเข้ามาจัดงาน แต่นั่นจะไม่เป็นประโยชน์กับพนักงานเลย หลังงานจบ โนริโกะให้พนักงานประชุมกันว่า ตนเองทำสิ่งใดได้ดีหรือทำสิ่งใดพลาดไปบ้าง ทำให้พนักงานได้เรียนรู้ยิ่งขึ้น

อิชิซากะ อะคาเดมี

ทำอย่างไรให้พนักงานคิดเป็นและภูมิใจในความสามารถตนเองได้อีก

โนริโกะตัดสินใจตั้งอิชิซากะ อะคาเดมี ขึ้นมา 

ที่นี่ ฝ่ายบุคคลไม่ได้เป็นคนยัดเยียดหลักสูตรอบรมต่างๆ ให้พนักงาน

โนริโกะจะถามพนักงานทุกคนว่า สนใจเรียนเรื่องอะไร แล้วเรียงลำดับตามความสนใจของพนักงาน เช่น การฝึกอบรมทักษะที่เกี่ยวกับงานหรือแม้แต่คลาสสอนชงกาแฟ 

ผู้สอนนั้น ก็เป็นคนในบริษัทเอง แต่ละคลาสมีระยะเวลา 60 นาที

พนักงานที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้สอนนั้น จะตั้งใจศึกษาหาความรู้เพื่อเตรียมสอนยิ่งขึ้น และเป็นโอกาสดีให้พนักงานกลับมาสัมผัสสิ่งที่ตนเองทำได้ดีอีกครั้ง แม้หลายคนจะเกร็ง เวลาต้องพูดต่อหน้าคนอื่น แต่สุดท้าย พนักงานจะค่อยๆ รู้จุดแข็งตนเอง และเกิดความมั่นใจในตนเองยิ่งขึ้น 

พัฒนาคน ด้วยเสียงชมจากภายนอก

แม้โนริโกะจะพยายามปรับสภาพแวดล้อมในโรงงานให้สร้างมลภาวะน้อยที่สุด แต่ชาวบ้านกลับรู้สึกว่า “ในอาคารโรงงานนั้นต้องมีการทำอะไรไม่ดีแน่เลย” โนริโกะเลยตัดสินใจสร้างทางเดินให้คนในชุมชนมาทัศนศึกษาดูโรงงานได้

เป้าหมายตอนแรก เป็นเพียงการปรับทัศนคติของคนในชุมชนเท่านั้น แต่ใครจะรู้ว่าการเปิดให้เด็กๆ ในชุมชนหรือบุคคลทั่วไปมาดูโรงงานนั้น กลับสร้างผลลัพธ์ที่เกินกว่าการประชาสัมพันธ์หรือเป็นเพียงโปรเจกต์ CSR 

พนักงานที่ทำงานในโรงงานนั้น เริ่มรู้สึกว่า “มีคนดูเราอยู่นะ” ทำให้เริ่มตั้งใจทำงานยิ่งขึ้น เมื่อพวกเขาได้รับคำชม เช่น “คุณลุงดูตั้งใจทำงานดีจัง” พนักงานก็ยิ่งภูมิใจ 

โปรเจกต์เยี่ยมชมโรงงานนี้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พนักงานตระหนักในความสำคัญของงานตนเอง และบริษัทยิ่งขึ้น

“ต่อให้คนในบริษัทชมเป็นร้อยครั้ง พนักงานก็ไม่รู้สึกดีใจเท่ากับคนนอกชมเพียงครั้งเดียว” โนริโกะกล่าวอย่างยิ้มๆ 

ก้าวสู่การเป็นบริษัทที่รักของคนในชุมชน

ในปี 2014 บริษัทอิชิซากะสร้างป่าการเรียนรู้ชื่อ ‘ซันโตเมะ คอนจะคุมุระ’ ขึ้นมา

A tree in a wooded area

Description automatically generated

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้นั้น เริ่มจากจุดเล็กๆ แค่จิตอาสาช่วยกันเก็บขยะบริเวณชุมชน แต่หลังจากเก็บขยะไป 2 – 3 วัน ก็มีคนโยนขยะทิ้งในพื้นที่รกร้างอีก 

โนริโกะกับทีมจึงพยายามหาสาเหตุ พวกเขาพบว่าพอคนเห็นว่าเป็นพื้นที่รกร้าง ดูสกปรก ก็เลยโยนขยะทิ้งโดยไม่รู้สึกผิด 

พื้นที่ในบริเวณนั้น เดิมเป็นพื้นที่ ‘ซาโตะยามะ’ หรือป่าที่อยู่ใกล้บริเวณเกษตรกรรมในอดีต เกษตรกรจะคอยตัดต้นไม้ ถอนหญ้า หรือปลูกต้นไม้ใหม่ 

พอถึงฤดูใบไม้ร่วงก็จะกวาดใบไม้มารวมกัน เพื่อให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติแก่ต้นไม้ หรือนำปุ๋ยเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่เกษตรของตน

แต่ปัจจุบันคนทำอาชีพเกษตรน้อยลง จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้รกร้าง มีงู และกลายสภาพเป็นป่ารกๆ มืดๆ ได้ 

ในตอนนั้นบริษัทอิชิซากะคุยกับคนในชุมชน ชาวบ้านเองยอมรับว่าพวกตนอายุมากแล้ว ดูแลป่าไม่ไหว ทางบริษัทจึงเริ่มเข้ามาช่วยดูแลแทน

พนักงานช่วยกันตัดไม้ ตัดหญ้า หมักปุ๋ย และเริ่มปลูกผักในบริเวณนี้ 

เมื่อพื้นที่พร้อม ทางบริษัทก็เปิดป่าแห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าสำหรับการเกษตร เพื่อให้ความรู้เด็กๆ และชาวบ้านยิ่งขึ้น

A group of people in a park

Description automatically generated
ในสวนแห่งนี้มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมวิถีชีวิตของเกษตรกรญี่ปุ่นกับการดูแลซาโตยามะ
A house with trees in the background

Description automatically generated
A picture containing table

Description automatically generated
ฟาร์มออร์แกนิกที่ให้เด็กๆ และครอบครัวได้เด็ดผักไปปิ้งบาร์บีคิวเองได้

ฟาร์มออร์แกนิกที่ให้เด็กๆ และครอบครัวได้เด็ดผักไปปิ้งบาร์บีคิวเองได้

รวมถึงมีการเปิดคลาสต่างๆ เช่น คลาสสอนวิธีย่างผักให้อร่อย (สำหรับผู้ใหญ่) หรือคลาสสอนทำสบู่แฮนด์เมด 

จากพื้นที่รกร้าง กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และพื้นที่ให้คนในชุมชนมาพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งสนุกสนานไปกับธรรมชาติได้ 

ปีๆ หนึ่งมีผู้เยี่ยมชมศูนย์แห่งนี้กว่าหมื่นคนเลยทีเดียว

พนักงานก็ภูมิใจในผลงานตนเอง คนในชุมชนก็มีความสุข 

ความสุขที่สุดของโนริโกะ

ในงานเทศกาลทานาบาตะ คนญี่ปุ่นจะเขียนคำอธิษฐานลงในกระดาษและแขวนไว้ที่กิ่งไผ่ 

วันหนึ่ง พนักงานคนหนึ่งส่งภาพคำอธิษฐานที่เขียนด้วยลายมืออวบอ้วนโย้เย้ให้โนริโกะดู

คำอธิษฐานนั้นเขียนว่า “ขอให้พื้นที่แห่งนี้อยู่กับเราตลอดไป” 

สำหรับบริษัทที่เคยโดนคนในเมืองประณามและฟ้องร้อง นี่ถือว่าเป็นคำพูดที่ทำให้โนริโกะซาบซึ้งมากทีเดียว

เคยมีเด็กมหาวิทยาลัยที่มาที่ป่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้บอกกับโนริโกะว่า “หากเรียนจบแล้ว จะขอทำงานที่นี่” 

ลูกของพนักงานบางคนได้มีโอกาสมาทัศนศึกษาที่ป่าแห่งนี้ เด็กๆ เริ่มเห็นภาพว่า พ่อแม่ตนเองทำงานอะไรอยู่ 

ตอนที่โนริโกะเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทในปี 2002 นั้น บริษัทอิชิซากะมีพนักงานเพียง 65 คน แต่ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานกว่า 170 คน ที่น่าดีใจ คือพนักงานส่วนใหญ่เป็นสามีภรรยากัน หรือเป็นพ่อแม่ลูกกัน 

สำหรับบริษัทที่ในอดีต พนักงานทำงานไปวันๆ นั้น นี่ถือว่าเป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว

อุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะเป็นวงการที่หาคนเต็มใจมาทำงานได้ยากมาก แต่บริษัทอิชิซากะแทบไม่มีปัญหานั้นเลย มีแต่คนสนใจ คนอยากสมัคร และอยากร่วมกันทำโลกนี้ให้ดีขึ้น 

โนริโกะเคยตอบคำถามสื่อหนึ่ง 

“สำหรับคุณโนริโกะ สิ่งที่ดีใจที่สุดคืออะไรคะ?” 

“การที่พนักงานรู้สึกได้ว่า การทำงานเป็นเรื่องสนุกค่ะ” 

ภาพ : https://santome-community.com/


Lesson Learned:

1. ให้อิสระในการคิด

สิ่งแรกที่ดิฉันสัมผัสจากการอ่านเรื่องราวของคุณโนริโกะ คือการที่พ่อของเธอไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหาร ให้อำนาจลูกสาวคิดและตัดสินใจเต็มที่ ทั้งๆ ที่บริษัทเผชิญกับวิกฤติ พนักงานลาออกเกือบครึ่งบริษัท แต่พ่อก็ยังให้ลูกจัดการเต็มที่ นั่นแสดงถึงความไว้ใจ ขณะเดียวกันก็คือการฝึกให้ลูกแข็งแกร่งขึ้น 

เช่นเดียวกัน โนริโกะเองก็ฝึกให้ลูกน้องของเธอคิดและลงมือทำเป็น นั่นทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจที่ได้รับคำชม หรือดีใจเวลาแก้ปัญหาบางอย่างได้ด้วยตนเอง 

การให้อิสระในการคิดเอง วางแผนเอง ลงมือทำเอง จะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความรับผิดชอบ และการ

2. ตอบได้ว่า คุณค่าของธุรกิจตนเองคืออะไร สำคัญอย่างไร

หากเป็นคนทั่วไป หากโดนคนในชุมชนต่อว่าประณาม อาจจะรู้สึกท้อใจ แต่ประโยคเหล่านั้นกลับทำให้โนริโกะเห็นความสำคัญของธุรกิจตนเอง “ถ้าบริษัทฉันไม่อยู่ แล้วใครจะจัดการขยะแบบนี้ให้กับสังคมล่ะ” 

โนริโกะทำเวิร์กช็อปและคุยกับพนักงานบ่อย จนทุกคนตกตะกอนได้ว่า บริษัทพวกเขาไม่ใช่แค่บริษัทที่รีไซเคิลขยะ แต่การนำรีไซเคิลนี้ นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและทำให้โลกนี้อยู่ได้นานขึ้น

หากมองว่า บริษัทตนเองมีหน้าที่แค่รีไซเคิลขยะ พนักงานคงไม่รู้สึกภูมิใจในงานที่ตนเองทำ แต่เมื่อพวกเขาเห็นว่า บริษัทตนกำลังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร พร้อมส่งมอบโลกดีๆ ให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เมื่อนั้น พนักงานเดิม ก็ตั้งใจทำงานยิ่งขึ้น เด็กจบใหม่ ก็รู้สึกว่าบริษัทนี้มีเสน่ห์ 

3. ความสำคัญของโครงการ CSR

หลายบริษัทมองว่า โครงการ CSR เป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ และทำเพื่อให้จบไป หลายบริษัทไปวัดที่ยอดเงินบริจาค หรือจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทำวนไปแบบนี้ทุกปี

แต่โครงการของบริษัทอิชิซากะไม่ว่าจะเป็นป่าซาโตยามะและการสร้างศูนย์การเรียนรู้ ตลอดจนการเปิดให้คนมาทัศนศึกษาโรงงาน กลับทำให้พนักงานตื่นตัวขึ้น มีโอกาสได้รับคำชมมากขึ้น และภาคภูมิใจในการทำงานยิ่งขึ้น กลายเป็นผลดีที่เกิดขึ้นกับบริษัทอย่างไม่คาดคิด 

ที่สำคัญ โครงการเหล่านี้ ค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกลบของชาวบ้านให้กลายเป็นเปิดใจ และรู้สึกขอบคุณบริษัทอิชิซากะในที่สุด

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย