The Cloud X Air Asia

เมืองที่เป็นต้นกำเนิดหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาต่างๆ ก็น่าจะนับได้ว่าใกล้เคียงกับคำว่าศักดิ์สิทธิ์ คนมุสลิมนั้นมีมักกะฮ์เป็นเมืองที่ควรไปสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต อย่างคนพุทธก็อยากจะไปสักการะที่เมืองอย่างพาราณสีและสังเวชนียสถาน และสำหรับคนญี่ปุ่น เมืองศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาก็คือ อิเสะ เมืองเล็กๆ ในจังหวัดมิเอะอย่างแน่นอน (ถ้านึกกันไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน ก็ให้คิดซะว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ระหว่างนาโกยาและโอซาก้านั่นเอง) เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอิเสะ ศาลเจ้าที่ควบตำแหน่งทั้งใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดด้วยอายุกว่า 2,000 ปี ที่ทั้งพระจักรพรรดิและคนญี่ปุ่นต่างต้องมาสักการะกัน ว่ากันว่าในแต่ละปีมีคนญี่ปุ่นมาที่นี่ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคนเลยทีเดียว

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

สาเหตุที่ศาลเจ้านี้มีความสำคัญขนาดนี้ก็เพราะว่าศาลเจ้าแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนคริสตกาลหรือตรงกับ พ.ศ. 539 ถือเป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด เพื่อให้เป็นที่สถิตของเทพีแห่งดวงอาทิตย์ หรืออามาเทราสึนั่นเอง (ใช่ครับ เทพีพระอาทิตย์นั้นเป็นผู้หญิงครับ)

จากความเชื่อในทางศาสนาชินโตที่ว่าธรรมชาติรอบตัวนั้นมีเทพเจ้าคอยดูแลอยู่ และเทพเจ้าที่เป็นเทพสูงสุดก็คือเทพีแห่งดวงอาทิตย์นี่แหละ ก็ด้วยความที่เป็นดินแดนที่เห็นพระอาทิตย์ก่อนคนอื่นๆ ธงชาติตัวเองก็เป็นรูปพระอาทิตย์ ชื่อประเทศเองก็มีตัวอักษรคันจิพระอาทิตย์อยู่ในนั้น แม้แต่จักรพรรดิของญี่ปุ่นนั้นก็เชื่อกันว่าสืบสายเลือดมาจากเทพเจ้าอามาเทราสึนี่เอง และจึงทำให้เวลาที่จักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ก็ต้องมาทำพิธีที่นี่ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นก็ตั้งประจำอยู่ที่นี่ 1 ชิ้นเช่นกัน และเป็นหน้าที่ที่พระจักรพรรดิ์ของญี่ปุ่นต้องมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

แม้จะเรียกว่าเป็นศาลเจ้า แต่ความเป็นจริงแล้วที่นี่เป็นเหมือนป่ากลางเมืองขนาดยักษ์มากกว่า เพราะขนาดพื้นที่รวมทั้งหมดของศาลเจ้านี้นั้นมีขนาดเทียบเท่ากับพื้นที่ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทีเดียวแหละ นอกจากตัวศาลเจ้าหลักแล้วก็ยังมีศาลเจ้าเล็กๆ กระจายกันอยู่ในป่ายักษ์กว่า 125 ศาลด้วย ในสมัยโบราณนั้นมีคนเดินทางมายังศาลเจ้าแห่งนี้เยอะมาก จนเริ่มมีการก่อร่างสร้างร้านค้าและที่พักเพื่อรองรับผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญจนกลายมาเป็นเมืองอิเสะขึ้นมาในภายหลัง

หลังจากเราลงเครื่องที่สนามบินโอซาก้า ก็เดินทางมายังเมืองอิเสะ จังหวัดมิเอะ ด้วยตั๋วรถไฟ Kintetsu Pass มุ่งหน้าสู่ศาลเจ้าอิเสะในทันที ตัวศาลเจ้าอิเสะนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนนอก และส่วนใน ทั้งสองส่วนต่างก็ใหญ่โตและห่างกันหลายกิโลเมตรจนมีรถบัสบริการระหว่างศาลเจ้าทั้งสองส่วน ซึ่งถ้าใช้ Kintetsu Pass ก็สามารถขึ้นรถบัสบางสายในเมืองอิเสะได้ฟรีอีกด้วย

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

เราเลือกจะไปที่ศาลเจ้าส่วนในก่อน เพราะที่ด้านหน้าของบริเวณนั้นมีถนน Oharai-machi และ Okage-yokocho ซึ่งเป็นชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นมาเนิ่นนานเพื่อรับคนที่เดินทางมาให้ได้พักกินข้าวและน้ำก่อนจะเดินทางต่อเข้าไปในยังศาลเจ้า เก่าขนาดที่ร้านค้าที่เก่าที่สุดบนถนนเส้นนี้ที่ยังคงเปิดกิจการอยู่มีอายุกว่า 300 ปีเชียวนะ

เมื่อลงจากรถบัสที่หน้าถนนสายนี้เราก็ประทับใจในบรรยากาศบ้านตึกแถวเก่าที่กลายมาเป็นร้านค้าหลากหลาย เรียงกันเป็นแถวเหมือนย้อนยุคกลับไปยังสมัยญี่ปุ่นโบราณเลยทีเดียว มีร้านขนมและอาหารที่วางที่นั่งไว้ด้านนอกเพื่อให้นักเดินทางนั่งพักกินง่ายก่อนออกเดินทางต่อ

ญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นญี่ปุ่นจริงๆ ในเรื่องการผสมผสานของใหม่กับของเก่าให้ออกมาสั่นคลอนเงินในกระเป๋าของเราอยู่เสมอๆ เพราะในถนนโบราณสายนี้ยังคงต้องมีคาเฟ่น่ารักๆ สอดแทรกให้ได้ตื่นเต้นอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับที่นี่ก็คือคาเฟ่สนูปี้นั่นเอง ก็ไม่รู้สนูปี้มาเกี่ยวข้องกับเทพพระอาทิตย์ตั้งแต่ตอนไหน แต่ก็ถือเป็นสีสันน่ารักเรียกรอยยิ้มอีกอันหนึ่งของถนนเก่าแก่สายนี้ขึ้นมาทันที

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

หลังจากที่เดินทะลุถนนคนเดินมาก็มาถึงด้าหน้าของศาลเจ้า ด้านหน้าเป็นซุ้มประตูโทริอิขนาดใหญ่ที่ทุกคนที่มาถึงจะโค้งคำนับก่อนจะเดินขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเข้าไปยังด้านใน บริเวณริมแม่น้ำนั้นเห็นมีการประดับธงชาติญี่ปุ่นอยู่ด้วย ซึ่งไม่ค่อยได้พบเห็นในประเทศนี้เท่าไหร่ สมกับเป็นสถานที่บูชาเทพีแห่งพระอาทิตย์จริงๆ

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

พอผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเข้ามาเราก็จะเจอกับบ่อน้ำที่เอาไว้ชำระล้างมือให้สะอาดก่อนจะเข้าไปยังตัวศาลเจ้า พอผ่านจุดนี้ไปเราก็เข้ามายังพื้นที่ของป่าสนแล้ว ได้เห็นป่าสนขนาดยักษ์ที่ทำให้ตื่นตะลึงจริงๆ เพราะมันมีขนาดใหญ่มากๆ ทั้งบริเวณและขนาดลำต้น สมกับเป็นต้นไม้อายุ 2,000 ปี ต้นสนแต่ละต้นนั้นมีขนาดลำต้นใหญ่จนไม่รู้ต้องใช้คนกี่คนมาโอบได้รอบ และความสูงก็สูงลิบซะจนต้องแหงนคอมองถึงจะเห็นยอดได้ ความรู้สึกที่เรามีระหว่างที่เดินผ่านป่าสนเหล่านั้นมันมีบรรยากาศเหมือนการเดินมาหาญาติผู้ใหญ่ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่น ผสมกับความขลังเล็กๆ แม้จะไม่ได้มีป้ายห้ามทำอะไร แต่ก็ชวนให้รู้สึกสำรวมขึ้นมาเองเลยโดยอัตโนมัติ

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

แต่เมื่อเราเริ่มเดินไปเห็นตัวศาลเจ้าก็พบว่าตัวอาคารนั้นถูกก่อสร้างด้วยโครงสร้างที่เรียบและง่ายมากๆ ไม่มีการแกะสลัก วาดลวดลาย หรือตกแต่งประดับความหรูหราใดๆ สมแล้วที่เป็นประเทศที่ยึดถือในความเรียบจริงๆ แม้แต่ของบูชาเทพเจ้าสูงสุดยังทำออกมาได้เรียบง่ายขนาดนี้ และที่สำคัญคือ ศาลเจ้าตรงหน้านั้นมันช่างใหม่เอี่ยม สะอาด สดใส แตกต่างกับป่าสนที่ล้อมรอบที่ไม่เห็นเก่าและขลังสมกับอายุ 2,000 ปีเลย

นั่นก็เป็นเพราะว่าศาลเจ้าของอามาเทราซึนั้นมีอายุใช้งานเพียงแค่ 20 ปีเท่านั้น เมื่อครบกำหนด 20 ปีแล้วก็จะทำการรื้อถอนศาลเจ้าออกจากที่เดิมและย้ายไปสร้างศาลเจ้าที่สถานที่แห่งใหม่ โดยใช้ไม้สนจากป่าที่สงวนไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ นี่จึงเป็นหนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นที่ดูใหม่มากนั่นเอง และการย้ายศาลเจ้านั้นก็เพิ่งทำไปเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา

ถ้าจะเข้าร่วมพิธีอีกครั้งก็ต้องรอไปถึงปี 2033 เลยทีเดียว ผมเคยอ่านว่าเวลาที่เข้าไปสักการะในศาลเจ้าแห่งนี้จะมีป้ายเป็นภาษาญี่ปุ่นบอกไว้ด้วยว่า ห้ามขอพรสำหรับเรื่องส่วนตัว (ที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังไม่รู้เลย) เพราะการขอพรในศาลเจ้าแห่งนี้ควรจะเป็นการขอพรให้กับคนญี่ปุ่นทุกคนที่เป็นเหมือนลูกหลานของเทพีพระอาทิตย์มากกว่า

ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น ศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

และความพีกที่สุดในการมาที่แห่งนี้ก็คือตัวศาลเจ้าด้านในสุดนั้นห้ามถ่ายภาพ… และเป็นการห้ามถ่ายภาพที่จริงจังด้วย เพราะมี รปภ. มายืนเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลาเลยทีเดียว เราเลยทำได้แค่เพียงเดินไปไหว้ศาลและจดจำบรรยากาศรายรอบไว้แค่นั้นเอง

แม้จะถ่ายภาพมาให้ทุกคนเห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ แต่แค่ได้เห็นต้นไม้ใหญ่อายุหลักพันปียังมีที่ยืนอยู่ได้แบบนี้ก็นับว่าศาลเจ้าแห่งนี้ศักดิ์สิทธิ์อยู่มากจริงๆ และมันคุ้มค่ามากพอที่จะมาเยือนให้เห็นกับตาสักครั้งหนึ่งในชีวิตแล้วล่ะศาลเจ้าอิเสะ, ญี่ปุ่น

บินตรงกับ Thai AirAsia X ไปลงโอซาก้า แล้วนั่งรถไฟสาย Kintetsu ไปลงที่เมืองอิเสะ ก็เดินทางไปสักการะศาลเจ้าอิเสะ ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ของชาวญี่ปุ่นได้แล้ว

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan