21 กุมภาพันธ์ 2019
12 K

การจะสร้างอาคารสักหนึ่งหลัง คุณคิดว่าต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง อิฐหลายร้อยก้อน ปูนซีเมนต์หลายร้อยกิโลกรัม ไปจนถึงเหล็กหลายร้อยเส้น และเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปอาคารหมดอายุขัยการใช้งาน วัสดุมากมายที่ก่อร่างสร้างเป็นอาคารเล่านั้นก็จะถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ในแต่ละวัน โลกมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย วัสดุเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นในอุตสาหกรรมก่อสร้างขนาดยักษ์ใหญ่ที่กำลังและความเร็วในการผลิตไม่ใช่ข้อสงสัยอีกต่อไป การจะทำให้วัสดุที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ถูกใช้งานอย่างยั่งยืนที่สุดต่างหาก คือความท้าทายก้าวต่อไป

เราจึงอยากชวนคุณไปเยี่ยมที่ทำการหลังใหม่ของ International Sustainable Development Studies Institte (ISDSI) หรือสถาบันการศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนนานาชาติ ที่สอนเรื่ององค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับนักศึกษาแลกเปลี่ยนชาวต่างชาติ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

เพราะสอนเรื่องความยั่งยืน ISDSI จึงตั้งใจสร้างอาคารเรียนจากวัสดุเหลือใช้ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมหน้าตาเก๋ไก๋จากตู้คอนเทนเนอร์รียูสจำนวน 17 กล่องถ้วน 

ใต้ร่มจามจุรีต้นใหญ่ท่ามกลางบรรยากาศแสนสบายและลมหนาวที่พัดมาเป็นระลอก เรามีนัดกับ ผศ. ดร.มาร์ค เอ ริชชี่ ผู้อำนวยการบริหารของ ISDSI เพื่อพูดคุยถึงแนวคิด ที่มาที่ไป และขั้นตอนการก่อสร้างอาคารไม่ธรรมดาจากวัสดุเหลือใช้ที่ต้องขนมาไกลจากท่าเรือกรุงเทพฯ หลังนี้

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

มาร์คเล่าว่า แน่นอนล่ะว่าที่นี่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นสำหรับการเรียนการสอนและกิจกรรมของนักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันเขาก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็น Community และ Hub ด้านความยั่งยืนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

โดยที่การก่อสร้างจะต้องรบกวนความสมบูรณ์ของพืชพรรณและต้นไม้เดิมที่แผ่กิ่งก้านสาขาไปรอบรั้วให้น้อยที่สุด มาร์คอธิบายพลางชี้ให้ดูกระรอกที่กำลังไต่ขึ้นลงลำต้นจามจุรีขนาดใหญ่ที่มีอยู่เกือบสิบต้น

เพราะธรรมชาติรอบๆ นั้นสวยงาม ณัฐวิทย์ จงประเสริฐ สถาปนิกจากบริษัท Good Space จำกัด จึงออกแบบ อาคารหลังนี้ให้พื้นที่ภายในและภายนอกเชื่อมต่อถึงกัน ให้ความเย็นของร่มไม้แผ่ขยายเข้ามาถึงผู้ใช้ภายในอาคาร และใช้คอนเซปต์ความยั่งยืนเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสุดเท่แห่งนี้

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

มาร์คอธิบายว่า การ Reuse หรือ Up-cycle ตู้คอนเทนเนอร์พวกนี้เป็นอาคารโดยที่ยังคงสภาพความเป็นสสารเดิมอยู่นั้น ถือเป็นการลดพลังงานและ Carbon Footprint ที่จะเกิดจากการหลอมในกระบวนการ Recycle ตู้คอนเทนเนอร์ไปเป็นเหล็กเพื่อขึ้นรูปใหม่

ตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 17 ตู้ที่ถูกนำมาใช้ เป็นแบบ High Cube ยาว 40 ฟุต สูง 9.5 ฟุตหรือเกือบๆ 3 เมตร ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องความโปร่งของระยะจากพื้นถึงเพดานเลย สิ่งที่ต้องห่วงคือความกว้างของตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีระยะแค่ 8 ฟุต หรือราวๆ 2.5 เมตร ดังนั้น จึงต้องมีการตัด ผ่าครึ่ง เปิดผนังบางส่วน และประกอบตู้เข้าหากันใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นเป็นจนกลายเป็นห้องขนาดใหญ่ได้

มาร์คยิ้มก่อนจะเสริมต่อว่า ชิ้นส่วนทุกชิ้นจากการตัดตู้คอนเทนเนอร์ ถูกนำมา Reuse ใช้ต่อเป็นประตู ผนัง และเฟอร์นิเจอร์ โดยไม่มีส่วนใดเหลือทิ้งเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

นอกจากเชื่อมพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าหากันแล้ว ทุกห้องในอาคาร 3 ชั้นหลังนี้ตั้งใจเปิดช่องให้ลมและแสงธรรมชาติส่องเข้ามามากที่สุด เพื่อลดการใช้พลังงานจากการเปิดหลอดไฟ LED และเพราะตั้งอยู่ใต้ร่มจามจุรี แถมอากาศก็ดีแสนดี ทำให้แทบไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ โดยไม่ต้องกลัวว่าตู้คอนเทนเนอร์เหล็กดัดแปลงจะกักเก็บความร้อนเลยด้วย เพราะอาคารหลังนี้ติดฉนวนกันความร้อนอย่างดีไม่มีอบอ้าว

มาร์คพาเราเดินไปยัง Common Area เปิดโล่งขนาดใหญ่ตรงกลางอาคารที่นักศึกษาหลายคนกำลังนั่งอ่านหนังสือกันอยู่ พลางชี้ให้ดูพื้นพร้อมอธิบายว่า อาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักสร้างบนพื้นที่เทราดด้วยคอนกรีต ซึ่งเป็นที่มาสำคัญของก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดการใช้คอนกรีตในการก่อสร้าง อาคารหลังนี้จึงเลือกที่จะสร้างบนแผ่นคอนกรีตเชื่อมแผ่นเหล็กที่ฝังลงไปในดิน

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีพื้นที่ใดในรั้วของ ISDSI นอกจากความจำเป็นบางส่วนของพื้นอาคารที่เทพื้นคอนกรีตเลย สวนเป็นพื้นหญ้า ในขณะที่ลานจอดรถและทางเดินปูด้วยกรวด เพื่อปล่อยให้น้ำฝนสามารถระบายลงสู่พื้นดินได้ตามธรรมชาติ

นอกจากที่ทำการของ ISDSI ขนาด 3 ชั้น ที่สร้างจาก 17 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ใต้ร่มจามจุรีต้นเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของ Rx Cafe ร้านกาแฟโดยลานนา คอฟฟี่ ซึ่งสนับสนุน Shade Grown Coffee หรือกาแฟออร์แกนิกที่ปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ในป่าต้นน้ำตามธรรมชาติ กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายของ Rx Cafe จะถูกนำไปสมทบทุนให้ระบบสาธารณูปโภคในหมู่บ้านบนพื้นที่ห่างไกล

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

มาร์คเล่าว่า Rx Cafe ถูกสร้างขึ้นเป็นสิ่งปลูกสร้างแรกบนที่ดินผืนนี้ โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานจำนวน 1 ตู้ เป็นการทดลองเทคนิคในการดัดแปลงและทำความเข้าใจโครงสร้างของตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนจะเข้าสู่การออกแบบอาคารหลังใหญ่ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 9 เดือน และขั้นตอนการตัด ประกอบ ทั้งหมดต้องทำที่ไซต์งานเท่านั้น เมื่อโครงสร้างถูกประกอบเข้าหากันเรียบร้อย งานตกแต่งภายในจึงเริ่มขึ้นหลังจากนั้น

ห้องเรียน 6 ห้อง ห้องเตรียมการสอน 1 ห้อง ห้องประชุมใหญ่และเล็ก อย่างละ 1 ห้อง ห้องสมุด สำนักงาน Co-working Space ห้องครัวที่มองผ่านๆ นึกว่าเป็นแค่ผนัง จนกระทั่งมาร์คเดินมาสไลด์ผนังทั้งผนังให้เปิดออก ห้องครัวอย่างเท่ก็เผยโฉมหน้าออกมาให้เห็น และห้องน้ำที่ใช้ชิ้นส่วนที่เหลือจากการตัดตู้คอนเทนเนอร์มาเป็นส่วนประกอบตั้งแต่อ่างหน้าหน้าไปจนถึงผนังกั้นห้องน้ำแต่ละห้อง

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

เราเดินขึ้นมาจนถึงชั้นบนสุด แดดเชียงใหม่ช่วงบ่ายแก่ๆ ส่องรำไรลอดกิ่งก้านต้นจามจุรีลงมาที่ระเบียงซึ่งมีอยู่มากมายรอบอาคาร ตามคอนเซปต์ที่ต้องการดึงความร่มเย็นของธรรมชาติภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร

มาร์คเอ่ยทิ้งท้ายว่า ถ้าสังเกตเราคงเห็นว่าฝาด้านนอกของตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ที่ประกอบกันเป็นสถาปัตยกรรมหลังนี้ยังคงรายละเอียดเดิมแบบตอนที่มันยังถูกใช้ขนของข้ามมหาสมุทรเป๊ะ บางตู้ยังมีตัวอักษรจางๆ บอกรายละเอียด โลโก้ และชื่อของบริษัทที่มันเคยทำงานด้วย ก่อนจะย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่เชียงใหม่อย่างทุกวันนี้

ตู้คอนเทนเนอร์, ISDSI

ที่ ISDSI เลือกเก็บรายละเอียดเหล่านั้นเอาไว้ไม่ทาสีใหม่ทับลงไป ก็เพื่อแสดงให้เห็นคนที่แวะเวียนผ่านมาสังเกต และรับรู้ถึงความพิเศษในการใช้วัสดุ Reuse ว่าการเพิ่มวงจรการใช้งานและอายุขัย ให้ข้าวของทุกสิ่งในโลกไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถเริ่มทำได้ ตั้งแต่ของชิ้นเล็กในมือ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ที่เราเข้าไปอาศัยอยู่ใต้ชายคาได้เลย

www.isdsi.org
Facebook |  International Sustainable Development Studies Institute (ISDSI)

ภาพ: ISDSI

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล