ผมเพิ่งย้ายมาอยู่อีสาน หลายสิ่งจึงยังดูแปลกตาออกไป ไม่นับว่าหมู่บ้านที่ผมโยกย้ายตนเองมาอยู่นั้นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในภาคอีสาน อย่างเป็นที่รู้กันว่าเมื่อมนุษย์คนหนึ่งเปลี่ยนแปลงสถานที่อยู่อาศัยของเขา สิ่งที่จะติดตามมาคือการได้รับซึ่งประสบการณ์ใหม่ๆ และผมก็ได้รับประสบการณ์ดังว่าจริงๆ

กระนั้นมีสิ่งที่น่าสังเกต 2 ประการจากประสบการณ์เหล่านั้น ประการแรกคือ ผมไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับอีสาน ว่าไปแล้วอีสานเป็นดินแดนแรกนอกเหนือกรุงเทพฯ ที่ผมเคยใช้ชีวิตอยู่ยาวนานที่สุด การบวชเรียนอยู่ในจังหวัดชัยภูมิเมื่อหลายสิบปีก่อนทิ้งร่องรอยหลายอย่างไว้ในความทรงจำของผม

นับตั้งแต่ภาษาพูด (ที่ทำให้จนบัดนี้ ผมสามารถฟังการสนทนาของคนอีสานได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ) อาหารการกิน (ชีวิตนักบวชนำพาผมให้คุ้นเคยกับอาหารอีสานจำนวนมาก ทั้งที่ไม่เป็นที่กินกันอย่างแพร่หลายและที่นิยมกินกัน เช่น ตัวด้วงไหมทอด (ไปจนถึงตำหมากหุ่ง) วิถีชีวิต (การใส่บาตรที่บ้านซึ่งมีแต่ข้าวเหนียว ก่อนจะตามด้วยการนำอาหารมาให้ที่วัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจมากสำหรับผม)

ทว่าการกลับมาอีสานอีกครั้งของผมกลับมีหลายสิ่งที่ทำให้ผมไม่รู้สึกคุ้นเคย และความรู้สึกไม่คุ้นเคยนั่นเองทำให้ผมทำการสำรวจอีสานในโลกทัศน์ของตนเองอย่างละเอียดลออ

ประการที่สอง การกลับมาอยู่อีสานในครั้งนี้ผมมีเป้าหมายชัดเจนที่จะออกสำรวจเรื่องราวของอาหารอีสานเป็นหลัก ในแง่หนึ่งนั้นมาจากความชื่นชอบส่วนตนที่ผมมีต่อการกิน การปรุง และวัตถุดิบนานามีในอีสาน แต่แล้วการที่พยายามกักกันบริเวณตนเองไว้ที่อาหารอีสานของตนเองกลับไม่สำเร็จ ยิ่งค้นลึกมากลงไปเพียงใด ยิ่งพบว่าอาหารอีสานเกาะกุมข้องเกี่ยวทั้งกับประเพณี ศิลปะท้องถิ่น วรรณกรรมดั้งเดิม ไปจนถึงเรื่องราวหลายเรื่องที่ไม่น่าจะข้องเกี่ยวกับอาหารเลย เช่นความเชื่อและตำนานปรัมปรา

หลายเรื่องที่ผมพบในระหว่างที่ออกตามหาอาหารอีสานจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจทอดทิ้งได้ และในฐานะของสิ่งที่ไม่อาจทอดทิ้งได้ ผมจึงตั้งใจรวบรวมเรื่องราวทั้งหลายที่ผมได้พบไว้ในที่เดียวคือในที่นี้ ภายใต้หัวข้อธรรมดาว่า-อีสานคลาสสิก

 

เรื่องราวของชายผู้วาดผ้าผะเหวดที่ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์อันห่างไกล

วันที่ผมเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียที่สิงคโปร์ หรือ Asian Civilisations Museum เมื่อหลายปีก่อนนั้น ผมคาดว่าจะได้เจอกับพระพุทธรูปจากไทยหลากสมัย ลูกปัดสมัยทวารวดี หรือที่ไม่น่าพลาดเลยน่าจะเป็นผ้าทอของไทยที่ขึ้นชื่อ

ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์ ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์

มีของทำนองที่ว่าอยู่จริง แต่สิ่งของจากประเทศไทยที่ชวนให้แปลกตาที่สุดกลับเป็นผ้าผืนยาวนับ 30 เมตรที่แสดงเรื่องราวของพระเวสสันดร ซึ่งเดินทางมาจากบ้านท่าโพศรี ตำบลเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ผ้าผืนยาวผืนนั้นบอกที่มาที่ไปว่าถูกสร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาในปีกุน พ.ศ. 2502 หรือ ค.ศ. 1959 โดย 5 ครอบครัวด้วยกัน คือครอบครัวของนายอ่อนสี พรมมะกอง ครอบครัวของนายสอน โคตตัสสา ครอบครัวของนายพรมมา ค้ำคูน ครอบครัวของนายเป สมพร และครอบครัวของนายสาน พิมพา โดยมีผู้เขียนคือ นายโสภา ปางชาติ

ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์

สำหรับครอบครัวทั้งห้าผู้มีจิตศรัทธานั้น เราไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับพวกเขา (แต่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นอุบาสก อุบาสิกาในหมู่บ้านท่าโพศรีนั่นเองตามประเพณีการทำบุญผ้าผะเหวด) ทว่าสำหรับ นายโสภา ปางชาติ ผู้เป็นช่างวาดนั้น เขาได้ลงที่อยู่ไว้อย่างชัดเจนว่า พำนักอาศัยอยู่ที่บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และรับเขียนภาพทุกเรื่อง ฉาก โบสถ์ วิหาร ศิลาเลข เชิญติดต่อ

ปริศนา 2 ข้อที่เกิดขึ้นในขณะที่ผมยืนจ้องผ้าผะเหวดผืนนี้ ข้อแรกคือ ผ้าผืนนี้มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร สถานที่ที่เหมาะสมกับผ้าผืนนี้น่าจะเป็นศาสนสถานในวัดท่าโพศรี ไม่ว่าจะเป็นสิมหรืออุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ วิหาร หรือแม้แต่หอฉัน

การเดินทางของผ้าผะเหวดผืนนี้ช่างน่าสนใจยิ่งนัก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือภาพในผ้าผะเหวดผืนนี้มีความงามอย่างน่าประหลาด (และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่งที่มันมาอยู่ที่นี่) ทั้งรายละเอียดของตัวละครในเวสสันดรชาดก ไม่ว่าจะเป็นพระเวสสันดร พระนางมัทรี ชูชก กัณหา ชาลี ทั้งรายละเอียดของฉากอย่างป่าหิมพานต์ ดังนั้น ปริศนาข้อที่ 2 ก็คือ ใครคือ โสภา ปางชาติ ช่างเขียนมากฝีมือผู้นี้

ปริศนาข้อแรกถูกเฉลยในคู่มือการชมผ้าผะเหวดผืนนี้ ในปี 2539 หรือ ค.ศ. 1996 ทางพิพิธภัณฑ์ได้ผ้าผืนนี้มาจาก เพอร์ซีย์ วัทสาลู (Percy Vatsaloo) นักจัดหางานศิลปะที่กว้างขวางผู้หนึ่งในสิงคโปร์ เพอร์ซีย์นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและวัตถุทางศิลปะของอีสาน เขาจัดหาสิ่งของต้องประสงค์ให้กับนักสะสมศิลปะในสิงคโปร์อยู่เสมอ (แม้ในตอนนี้เขายังมีแกลเลอรี่ส่วนตนในสิงคโปร์ที่มีชื่อว่า Isan Gallery)

ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์, จิตรกรรม ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์, จิตรกรรม

ส่วนสาเหตุที่เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัตถุอีสานนั้นน่าสนใจมาก ในช่วงทศวรรษที่ 80 อันเป็นยุคที่ประเทศสิงคโปร์มีงานก่อสร้างสาธารณูโภคพื้นฐานเป็นจำนวนมาก แรงงานชาวไทยโดยเฉพาะจากภาคอีสานต่างหลั่งไหลไปทำงานที่นั่น เพอร์ซีย์ซึ่งมีอาชีพเป็นหัวหน้าคุมงานก่อสร้างได้ผูกมิตรกับคนงานชาวอีสานจำนวนมาก

เขาเริ่มต้นเรียนภาษาอีสานและถือโอกาสติดตามแรงงานผู้เป็นทั้งลูกน้องและเพื่อนของเขาเหล่านั้นกลับไปยังบ้านเกิดทุกครั้งที่มีโอกาส และทุกครั้งที่เขาไปที่นั่นเขาจะขนหยูกยาและเสื้อผ้ามือสองที่ขอรับบริจาคจากคนสิงคโปร์กลับไปแจกจ่ายด้วย นอกจากนี้เขายังออกเงินส่วนตัวสร้างและซ่อมโรงเรียนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ จนในที่สุดเพอร์ซีย์ก็มีบ้านหลังที่ 2 ที่อีสาน

อีกทั้งเขายังจัดตั้งโครงการส่งเสริมการทอผ้าของชาวบ้าน โดยร่วมออกแบบลายผ้าและนำผ้าที่ได้ออกจำหน่ายผ่านทางแกลเลอรี่และเพื่อนของเขา เพื่อช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้าน จนโครงการสร้างงานผ่านการทอผ้าของเพอร์ซีย์ได้รับการกล่าวถึงในนิตยสาร Forbes ในปี 2011 ว่ามันช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านเป็นอย่างยิ่ง (ชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้าน Borang แต่ไม่มีการเอ่ยถึงที่ตั้งของหมู่บ้านนี้)

ความผูกพันระหว่างเพอร์ซีย์กับชาวบ้านน่าจะทำให้เขาได้พบกับความงามของผ้าผะเหวด และผ้าผะเหวดของวัดโพศรีที่เขานำมอบให้พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียที่สิงคโปร์ก็มีความงามอย่างยิ่ง

งานบุญผะเหวดเป็นหนึ่งในงานบุญสำคัญของอีสาน เป็นหนึ่งในจารีตสิบสอง ครรลองสิบสี่ หรือฮีตสิบสอง คองสิบสี่ อันเป็นคติธรรมสำคัญของอีสาน งานบุญผะเหวดจะมีการสวดเล่าเรื่องราวของผะเหวดหรือพระเวสสันดรเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ในช่วงประเพณีนี้ชาวบ้านจะจัดทำผ้าผะเหวด โดยมีส่วนร่วมทั้งการหาผ้า เย็บผ้า ติดต่อช่างเขียนภาพประวัติของผะเหวด

ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์, จิตรกรรม

และเมื่อผ้าผะเหวดสำเร็จลงจะมีพิธีแห่ผ้าผะเหวดไปถวายให้วัด ชาวบ้านจะตั้งขบวนแห่ที่มีระยะทางยาวเพื่อสมมติให้ใกล้เคียงกับขบวนเดินกลับเข้าเมืองกบิลพัสดุ์ของผะเหวดหรือพระเวสสันดร หลังจากที่ต้องออกไปอยู่ในป่าเป็นระยะเวลานานเพราะขัดใจพระบิดา ขบวนแห่จะเดินผ่านท้องนา ป่า ทุกที่ที่ผ่านจะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ในระหว่างการแห่อาจมีการละเล่นต่างๆ อาทิ การตั้งตัวละครชูชกให้ทำหน้าที่ลากเด็กน้อยไปในขบวน ไม่ต่างจากที่ชูชกดึงฉุดกัณหาและชาลีในเวสสันดรชาดก

ช่วงเวลานั้นเองผ้าผะเหวดจะทำหน้าที่เป็นดังฉากกั้นที่แบ่งพื้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ของขบวนแห่กับพื้นที่ปกติ ความยาวของผ้าจะบ่งบอกถึงความยาวของขบวนแห่และศรัทธาของผู้เข้าร่วม ผ้าผะเหวดซึ่งเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑ์ที่สิงคโปร์มีความยาวถึง 31 เมตร แสดงให้เห็นถึงผู้เข้าร่วมสร้างบุญกุศลจำนวนมาก และนั่นทำให้อาจต้องใช้ช่างเขียนที่มีฝีมือเพื่อให้งานถวายผ้าผะเหวดครั้งนี้สมบูรณ์แบบมากขึ้น โดยช่างเขียนที่ถูกเลือกในครั้งนี้ก็คือ โสภา ปางชาติ

ผ้าผะเหวด, ช่างเขียนภาพ, ผ้าพิมพ์, พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์

ประวัติของ โสภา ปางชาติ ที่ถูกบันทึกในหนังสือคู่มือการชมผ้าผะเหวดชิ้นนี้คือ เขาเกิดใน พ.ศ. 2442 และเสียชีวิตใน พ.ศ. 2509 สิริอายุได้ 67 ปี ดังนั้น ผ้าผะเหวดผืนนี้จึงถูกเขียนขึ้นในบั้นปลายของชีวิตเขาแล้ว ผ้าผะเหวดผืนนี้เขียนใน พ.ศ. 2502 และเสร็จในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2503 ในวันที่ โสภา ปางชาติ อยู่ในวัย 61 ปีแล้ว

โสภา ปางชาติ เกิดที่บ้านทุ่งใต้ในจังหวัดอุบลราชธานี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 10 ขวบ ก่อนจะลาสิกขาในวัย 17 ปี โสภาไม่เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เราไม่รู้ว่าเขาบรรพชาและพำนักอยู่ที่วัดใด ลูกสาวของโสภาที่เป็นผู้ให้ประวัติของบิดาอ้างว่า โสภาเคยเล่าให้ฟังว่าเขาเรียนการเขียนรูปจากช่างเขียนคนหนึ่งที่เดินทางมาจากร้อยเอ็ด หลังจากลาสิกขา โสภาเริ่มทำงานด้านช่างเขียนอย่างจริงจัง เขารับงานเขียนภาพในผนังสิมหรืออุโบสถ เขียนภาพประกอบคอสองในศาลาการเปรียญ ผลงานของโสภาที่ยังหาชมได้คือภาพที่ฝาผนังสิมบ้านหนองเหล่า ที่อำเภอเขื่องใน

ช่วงชีวิตต่อมา โสภา ปางชาติ แต่งงานกับ บัวหล้า หญิงสาวจากหมู่บ้านยางน้อยที่เขื่องใน ทำให้โสภาต้องโยกย้ายตนเองจากบ้านทุ่งใต้อันเป็นถิ่นกำเนิดมาสู่บ้านยางน้อย โสภา ปางชาติ มีลูกทั้งหมด 8 คน ลูกสาวของโสภาเล่าว่า หากไม่ได้รับงานเขียนภาพประกอบสิมหรือศาสนสถาน โสภาจะรับงานจารใบลานทั้งตัวอักษรลาวและตัวอักษรไทย (อันแสดงให้เห็นว่าเขามีชำนาญทั้งสองภาษา ดังปรากฏในผ้าผะเหวดผืนนี้ด้วย)

นอกจากนี้ เขายังรับงานออกแบบนกหัสดีลิงค์อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานปลงศพของพระผู้ใหญ่ งานสร้างนกหัสดีลิงค์นี้ทำให้โสภาต้องออกเดินทางไปทั่วจังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งเขายังรับงานดูหมอและเป็นหมอยาอีกด้วย

ในด้านหนึ่งชีวิตของโสภาคล้ายดังชีวิตของศิลปินในยุคเรเนซองส์ที่ทำทุกอย่างซึ่งถือว่าเป็นงานศิลปะ เขาสร้างสรรค์งานของตนเองอย่างเงียบๆ ในดินแดนที่ห่างไกลความเจริญ และทำสิ่งที่คนหมู่ใหญ่ได้เห็นและชื่นชมแม้ว่าจะไม่มีใครรู้จักพวกเขาเลยก็ตามที แต่ทุกอย่างย่อมไม่อาจกำหนดกฎเกณฑ์ได้ ภาพวาดผืนยาวกว่า 30 เมตรที่ถูกแห่ออกไปสู่วัดโพศรีในวันนั้น ได้เดินทางไกลพ้นจากวัดและมันคงถูกอวดแสดงฝีมือของ โสภา ปางชาติ ที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชียที่ประเทศสิงคโปร์ไปอีกเนิ่นนาน

Writer

Avatar

อนุสรณ์ ติปยานนท์

นักเขียน นักแปล เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม อาทิ ลอนดอนกับความลับในรอบจูบ, แปดครึ่งริคเตอร์, จุงกิงเซ็กซ์เพรส, เพลงรักนิวตริโน โดยปัจจุบันเขายังคงจริงจังกับการเขียนและมีผลงานต่อเนื่องในโลกวรรณกรรม