ในดินแดนอีสานนั้นพื้นที่เกินกว่าร้อยละ 70 มีเกลือจำนวนมหาศาลถูกซ่อนเร้นไว้ใต้ดิน ลึกลงไปราว 100 เมตรเกลือที่ตกตะกอนมานานนับร้อยล้านปีอันเป็นผลจากที่ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นมหาสมุทรขนาดใหญ่ ทำให้ผู้คนชนอีสานมีความผูกพันกับการทำเกลือ ใช้เกลือ และพึ่งพาเกลือ อย่างแนบแน่น

ในพื้นที่แอ่งสกลนครอันเป็นเขตอีสานตอนบนที่ถูกแบ่งโดยแนวจากเทือเขาภูพาน มีชุมชนที่ประกอบการทำเกลือดินหรือเกลือสินเธาว์แบบโบราณอยู่ในหลายพื้นที่ อาทิ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสงครามของจังหวัดสกลนคร จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดนครพนม เกลือที่ทำขึ้นในดินแดนแห่งนี้ถูกนับว่าเป็นสินค้าสำคัญที่ใช้แลกเปลี่ยนและค้าขายกับผู้คนต่างดินแดน เส้นทางของเกลือในบริเวณนี้ถูกจำหน่าย จ่าย แจก และแลกเปลี่ยน ไกลถึงนครเวียงจันทน์ นครหลวงพระบาง ไกลออกไปถึงดินแดนเขมรและเวียดนาม ทำให้การทำเกลือในดินแดนแถบนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับหลายร้อยปี

การทำเกลือที่ว่าจะเริ่มต้นหลังการสิ้นสุดของฤดูฝนและย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้คนจากต่างถิ่นพากันมุ่งหน้ามาต้มเกลือในพื้นที่นี้เพื่อการยังชีพ มหกรรมการรวมตัวขนาดใหญ่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ชั่วคราว และทำให้ภายในพื้นที่ดังกล่าวเกิดการดำรงรักษาจารีตและระเบียบปฏิบัติให้กับผู้คนร้อยพ่อพันแม่ที่มารวมตัวกันอยู่ชั่วคราวภายใต้มีผู้มีอำนาจสูงสุด ทว่าผู้มีอำนาจสูงสุดประจำบ่อเกลือโบราณเหล่านี้หาใช่ผู้ถือกฎหมาย หาใช่ผู้ที่มีอำนาจจากรัฐ หาใช่พวกเจ้าขุนมูลนาย หากแต่เป็น ‘ผี’ ผีที่รู้จักกันมาเนิ่นนานในนามของ ‘ผีอารักษ์เกลือ’

เกลือ

กิติมา ขุนทอง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ออกตามหาและพยายามเข้าถึง ‘ผี’ เหล่านี้ สำหรับเธอ ‘ผีอารักษ์เกลือ’ เป็นผีที่ควรค่าแก่การรู้จัก และเธอน่าจะเป็นบุคคลที่พบกับผีเหล่านี้มากที่สุดคนหนึ่งตลอดการเดินทางไปตามบ่อเกลือโบราณ การได้สนทนากับเธออาจทำให้เราได้พบว่าท่ามกลางกระแสความเป็นปัจจุบันสมัย ผีอารักษ์เกลือเหล่านี้ยังมีคุณค่าและยังทรงคุณค่าเยี่ยงไร

“ทำไมถึงมาสนใจเรื่องผีประจำบ่อเกลือหรือผีอารักษ์เกลือได้”

“ตอนแรกเราสนใจหมอเหยานะ เป็นความเชื่อเรื่องผีเหมือนกัน (การเหยาคือการรักษาความเจ็บป่วยด้วยการสื่อสารกับผี มีร่างเทียมคือหมอเหยาทำหน้าที่สื่อสาร) แต่พอมาเจอ คุณบำเพ็ญ ไชยรักษ์ นักเขียนและนักวิจัยอิสระด้านมนุษยวิทยาที่สนใจเรื่องเกลือ มันเลยทำให้เรามาสนใจเรื่องเกลือไปด้วย และได้มีโอกาสลงไปดูแหล่งทำเกลือโบราณในภาคอีสานหลายแห่ง

“เราเป็นคนเชียงดาวแต่มาทำงานที่สกลนคร ดังนั้น เวลาขับรถออกจากเชียงดาวเพื่อมาสกลนครผ่านทางอำเภอนครไทยที่พิษณุโลก ก่อนเข้าอำเภอด่านซ้ายที่เลย เราก็จะเจอแต่หมู่บ้านที่ขึ้นป้ายว่าเป็นบ่อเกลือโบราณพันปี ตอนแรกเราก็ผ่านเฉยๆ แต่ตอนหลังพอสนใจ บ่อเกลือพวกนี้ก็เลยกลายเป็นสถานที่วิจัยไปเลย นั่นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือเราสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่องเหมืองแร่โปแตชที่สกลนคร เราสนใจทั้งองค์ความรู้ของชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องโปแตช เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเหมืองหรือสถานที่กับชุมชน เพราะผลกระทบของสารเคมีต่างๆ ที่มีต่อพื้นที่การเกษตรมันกว้าง

“โปแตซเป็นวัตถุดิบซึ่งใกล้เคียงกับเกลือ และหากทำโปแตชก็จะได้กองเกลือขนาดมหึมา ซึ่งมันจะกระทบกับชุมชนกับสิ่งแวดล้อม แล้วการจัดการระบบพวกนี้ทำแบบอุตสาหกรรมโดยนายทุนนอกชุมชน ในกรณีวานรนิวาสนี่คือนายทุนจากประเทศจีน เราเลยคิดว่าถ้าเรารู้ว่าชาวบ้านเขาอยู่กับการทำเกลืออย่างไรโดยมันไม่กระทบสิ่งแวดล้อม มันน่าจะทำให้เราพอมองเห็นหนทางในการจัดการเรื่องนี้ เราเลยเสนอขอทำงานวิจัยสักชิ้น โดยต้องการดูว่าบ่อเกลือที่ยังทำกันอยู่ในแบบโบราณกับบ่อเกลือที่ทำในระบบอุตสาหกรรม ทั้งสองแบบนี้เขามีการจัดการอย่างไรให้มันยั่งยืนได้ เพราะการใช้เกลือหรือการทำบ่อเกลือของชาวบ้านนี่แทบไม่เคยกระทบหรือส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของที่ดินในบริเวณใกล้เคียงเลย ซึ่งสำหรับเรามันน่าสนใจมาก”

“สรุปว่าได้ไปบ่อเกลือที่ใดบ้างสำหรับการทำวิจัย”

“เราเลือกมา 2 ที่ ที่แรกเป็นบ่อเกลือและการทำเกลือแบบโบราณที่บ้านขาวัว ตำบลพังงู อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ส่วนอีกที่เป็นการทำเกลือในระบบอุตสาหกรรมที่บ้านกุดเรือคำ ตำบลกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร พอเราเริ่มลงพื้นที่แรกที่บ้านขาวัวก็เจอกับความเชื่อเรื่องผีเกลือหรือผีอารักษ์เกลือเลย ซึ่งความเชื่อเรื่องนี้ไม่มีในบ่อเกลือสมัยใหม่หรือบ่อเกลือที่ทำในระบบอุตสาหกรรม เราเลยขยายความคิดไปสนใจเรื่องผีเกลือด้วย โดยตระเวนไปตามบ่อเกลือโบราณเท่าที่จะทำได้หรือเท่าที่เราพอมีโอกาสไปถึง”

“สำหรับเรามันน่าสนใจตรงไหนหรือผีเกลือ ในแง่อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรืออะไรทำนองนี้ไหม”

“ไม่เชิง ที่น่าสนใจน่าจะเป็นด้านอำนาจในการจัดการของผีเกลือต่อบ่อเกลือนั้นๆ มากกว่า เราพบว่าแม้สังคมจะเปลี่ยนไป แต่หากวิถีการผลิตยังเป็นแบบเดิม แบบเดิมในที่นี้หมายถึงระบบคิดที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาตินะ ความเชื่อเรื่องผีเกลือก็ยังคงอยู่ คงอยู่แบบแข็งแรงและใช้การได้ดีด้วยซ้ำไปในเรื่องของการควบคุมการจัดการทรัพยากร

“อีกอย่างที่น่าสนใจมากคือผีเกลือหรือผีอารักษ์เกลือส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อย่างที่บ้านขาวัวเป็นผีผู้หญิงชื่อแม่ตู้เพีย หรือแม่เพียแก้ว แล้วแต่จะเรียก วิถีการทำบ่อเกลือแบบโบราณเขาจะทำกันหลังหมดฤดูฝน ประมาณสักเดือนสามคือมกราคม กุมภาพันธ์ ราวๆ นี้ เริ่มด้วยการเปิดบ่อเกลือ ซึ่งจะมีการบวงสรวงผีเกลือแต่แรกเลย พอบวงสรวงเสร็จก็จะเริ่มประกาศข้อห้ามสำหรับคนที่เข้ามาทำเกลือร่วมกันในบ่อเกลือ ข้อห้ามนี้จะมีหลายข้อด้วยกัน เช่น ห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์อื่นในการทำเกลือนอกจากจอบ ห้ามด่าหรือห้ามพูดคำหยาบใส่กัน ห้ามเสพสังวาสกันในบริเวณบ่อเกลือ อันนี้รวมถึงผัวเมียด้วย ห้ามลักขโมยกัน

“ข้อห้ามเหล่านี้ที่จริงก็เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่พอมันออกมาจากโองการของผีเกลือเขาก็ถือกันตามนั้น ไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน พอไม่มีคนฝ่าฝืนก็จะมีเรื่องเล่าตามมาว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของผีเกลือ เช่นถ้าปฏิบัติตามอย่างดีปีนั้นก็จะได้เกลือมาก ได้เกลือดี แต่ถ้าฝ่าฝืนก็จะเจอกับการลงโทษ อย่างเรื่องหนึ่งที่คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาก็เป็นเรื่องที่มีครอบครัวหนึ่ง สองแม่ลูกแอบแฝงมาที่บ่อเกลือทั้งที่มีอาชีพขายของเก่า พอสบโอกาสก็แอบขโมยฮางเกลือหรือรางเกลือโบราณที่มีอายุนับร้อยๆ ปีจะเอาไปขายให้คนสะสม แต่พอขับรถออกไปไม่ไกลนักก็ประสบอุบัติเหตุ รถพุ่งเข้าชนต้นไม้จนเสียชีวิตหมดทั้งครอบครัว เรื่องเล่าแบบนี้ยิ่งทำให้คนไม่กล้าฝ่าฝืนอำนาจของผีเกลือ การจัดการเรื่องราวในบ่อเกลือที่ขาวัวนี้เลยสงบกว่าที่อื่น”

“ความเชื่อเรื่องผีเกลือนี่มีแค่ทำให้ระบบการจัดการในบ่อเกลือเรียบร้อยแค่นั้นหรือ”

“ไม่นะ จริงๆ แก่นสารของการบูชาหรือเคารพผีเกลือก็เพื่อให้ทำเกลือได้เกลือเม็ดสวย ปริมาณมาก ไม่มีอุปสรรคทำนองนั้น”

“ก็ไม่ต่างจากการบูชาแม่โพสพหรือทำขวัญข้าว”

“น่าจะไม่ต่างกัน อย่างคำสวดบูชาผีเกลือของบ้านขาวัวที่เริ่มในช่วงเดือนสามจะเป็นแบบนี้ ‘แม่ตู้เอ้ย มื้อนี้ลูกหลานมาไหว้มาสา สิพากันมาเฮ็ดเกลือแล้วเด้อ ขอเด้อในระหว่างต้มเกลือให้ตู้เพียเบิ่งเด้อ เบิ่งลูกบ้านหลานเมืองเด้อ อย่าให้ฝนฟ้ามาตกมาฮ่ำ หื้อต้มเกลือได้หลายๆ หื้อเกลือเป็นต่อนๆ หื้อขาวๆ เด้อตู้เด้อ’ ทำนองนี้”

คนกล่าวคำสวดต้องเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน แถวนั้นเขาเรียกพ่อจ้ำ คำกล่าวนี้เป็นของพ่อจ้ำบัวพัน ถ้าจะเล่ารายละเอียด งานบวงสรวงผีเกลือนี่จะเริ่มแต่เช้าราว 7 โมง คนที่ตั้งใจจะต้มเกลือในปีนั้นจะพากันลงไปที่บ่อเกลือ แต่ละคนจะนำอาหารคาวหวานใส่กระทงกาบกล้วย พร้อมด้วยขันที่มีหมากมีพลูไปวางร่วมกัน ต่อมาพ่อจ้ำจะเริ่มทำพิธี โดยกล่าวคำสวดดังกล่าว แล้วตามด้วยข้อห้าม พิธีบวงสรวงผีเกลือใช้เวลาไม่นาน ทำเสร็จแล้วถ้าใครพร้อมก็สามารถต้มเกลือได้ทันที หรือใครจะมาต้มวันหลังก็ได้

เกลือ เกลือ

ทั้งนี้ ในวันที่จะเริ่มต้นลงมือต้มเกลือ คนต้มเกลือต้องทำพิธีไหว้แม่เพียด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากเครื่องไหว้แบบเดิมแล้ว สิ่งที่เพิ่มมาคือ ‘ดอกบัว’ ซึ่งทำจากท่อนไม้ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 8 นิ้ว ตรงหัวไม้จะเหลาให้คล้ายดอกบัว จะใช้ดอกบัวที่ว่าจำนวน 3 ดอก เอาไปวางไว้บริเวณฮางเกลือและเตาต้มเกลือของตนเอง ก่อนจะบอกกล่าวในถ้อยคำทำนองเดียวกันกับพ่อจ้ำข้างต้น

“การแกะสลักไม้แบบนี้เหมือนกันทุกที่ไหม และถ้าไม่ทำจะมีบทลงโทษใดบ้างหรือเปล่า”

“มีนะ จากการสัมภาษณ์พบว่าหากคนต้มเกลือคนใดไม่ทำดอกบัวถวายจะถือเป็นการละเมิด เกลือที่ต้มมักไม่ขึ้นเม็ดหรือได้เกลือสีคล้ำ ไม่สวย และพอคลุกคลีกับคนทำเกลือ เราพบว่า ‘ดอกบัว’ อาจเป็นคำพูดที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อปกปิดสัญญะหรือความหมายที่แท้จริง เดิมดอกบัวตูมนี่เขาใช้แทน ‘บักแป้น’ ซึ่งก็คือ ‘ปลัดขิก’ ไม้เหลาที่มีรูปลักษณ์อย่างอวัยวะเพศชายนั่นเอง แต่ก่อนชาวบ้านจะแต้มสีแดงที่ปลายด้วยเพื่อให้ใกล้เคียงกับอวัยวะเพศชายมากที่สุด เพราะเชื่อว่าแม่เพียยังไม่มีสามี การบวงสรวงด้วยอวัยวะเพศชายจะทำให้แม่เพียพอใจและให้เกลือที่ดีเป็นการตอบแทน

“พิธีกรรมที่มีสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศแบบนี้มักสะท้อนโลกทัศน์ของชาวบ้านเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ แบบที่เราเห็นในงานบุญบั้งไฟหรืออีกหลายงาน โดยเฉพาะการจบสิ้นฤดูกาลที่จะต้องมีการคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ อย่างในเรื่องของการต้มเกลือ เมื่อสิ้นสุดฤดูต้มเกลือชาวบ้านจะทำพิธีที่เรียกว่า ‘วานเกลือ’ คือการนำเกลือที่ได้มาหว่านกลับไปในบริเวณบ่อเกลืออีกครั้ง เสมือนเป็นการคืนเกลือให้กับแม่เพียเพื่อขอบคุณ และขอให้ปีต่อไปมีเกลืออุดมสมบูรณ์”

“เราไม่ค่อยได้ยินเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของเกลือ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของข้าว ของปลา เกลือในอีสานสำคัญมากแค่ไหนจากการตระเวนไปตามบ่อเกลือโบราณ”

“จากการศึกษาและการอ่านบทความจำนวนมาก เราว่าเกลือในอีสานเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารนะ ที่นี่ เกลือไม่ใช่เพียงแค่เครื่องปรุง แต่เกลือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการถนอมอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทหมักดอง เช่น ปลาส้ม ส้มผัก หน่อไม้ดอง หรือปลาร้า ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนอีสาน อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เคยพูดถึงวัฒนธรรมปลาร้าหรือปลาแดกว่า ปลาแดกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอีสานที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการด้านอาหารภายใต้ข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศที่ร้อนแล้ง

“ในอดีตทุกครัวเรือนในอีสานจะมีปลาแดกติดบ้าน ครัวเรือนส่วนใหญ่จะต้องมีความสามารถในการหมักปลาแดกไว้กิน เมื่อปลาแดกสำคัญ เกลือที่ใช้ทำปลาแดกจึงสำคัญตามไปด้วย โดยเกลือที่ได้รับความนิยมจะต้องไม่ใส่สารฟอกขาว เป็นเกลือธรรมชาติที่ได้จากการต้มหรือการขูดหน้าดิน อย่างเกลือต้มบ้านขาวัวนี่นับได้ว่าเป็นแหล่งเกลือที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนในและนอกพื้นที่ กระทั่งคนทางฝั่งลาวจากเวียงจันทน์ก็มาหาซื้ออเกลือจากที่นี่ไปบริโภค เนื่องจากสะอาดและเป็นเม็ดเล็กสวยงาม”

เกลือ เกลือ

เรื่องที่สอง นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างเกลือกับอาหารแล้ว ในอีสานเกลือยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชน งานบุญที่เกี่ยวข้องกับการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเช่นในช่วงเดือนเก้าและเดือนสิบที่เรียกว่า งานบุญข้าวสาก หรืองานบุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะต้องเตรียมเครื่องคาวหวานเพื่อใช้ในงานพิธีกรรม จะมีข้าวห่อใหญ่ 1 ห่อ ใส่พริก เกลือ ผลไม้ และอาหา รลงไปในใบตองแล้วเอาไปให้พระสวด ก่อนจะกรวดน้ำและนำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ โดยจะเปิดห่อข้าวออกและฝังกลบดินแล้วเรียกให้แม่พระธรณีมารับเอาไป หรือในงานบุญพระเวส ชาวบ้านจะนำห่อข้าว ถุงพริก และถุงเกลือ ใส่ลงไปในกัณฑ์เทศน์มหาชาติด้วย เกลือจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน

เรื่องสุดท้าย เกลือในอีสานยังมีฐานะที่เป็นสิ่งของสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าอีกด้วย ในอดีตหลายชุมชนมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพหลังหมดฤดูทำนา และบางปีข้าวปลูกได้ปริมาณน้อยไม่พอต่อการบริโภค เกลือจึงกลายเป็นอีกหนทางหนึ่งของความมั่งคั่งและความมั่นคงทางอาหาร ในชุมชนที่ทำเกลือ เมื่อเริ่มฤดูกาลต้มเกลือจะมีพ่อค้าคนกลางทั้งในและนอกหมู่บ้านมาปักหลักรอซื้อถึงที่เลยทีเดียว ราคาขายสมัยก่อนจะอยู่ที่กระทอหรือกองละ 7 บาท พ่อค้าคนกลางจะเอาเกลือพวกนี้ขายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งที่อุดรฯ หนองคาย หรือเวียงจันทน์

การชื้อขายที่ว่านี้ไม่จำกัดด้วยเงิน บางครั้งพ่อค้าคนกลางก็เอาสินค้าชนิดอื่นมาแลกเกลือไป โดยเฉพาะสินค้าหรือสิ่งของที่ชาวบ้านขาดแคลน อย่างมีชาวบ้านขาวัวชื่อเเม่บุญเรืองเล่าให้ฟังว่า สมัยสาวๆ ที่บ่อเกลือจะมีพ่อค้าแม่ค้าจากต่างถิ่นนำสินค้ามาตระเวนแลก สินค้านี้มีหลากหลายมาก เช่นนำขนมลอดช่องมาแลก นำปลาสดมาแลก ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งต้มเกลือได้เป็นปริมาณมากก็จะเอาเกลือไปตระเวนแลกข้าวกับหมู่บ้านอื่นเช่นกัน อัตราส่วนการแลกเปลี่ยนนั้นจะเป็นเกลือ 1 ถังต่อข้าวเปลือก 1 ถัง การแลกเปลี่ยนที่ว่าจะช่วยให้ครัวเรือนที่ปลูกข้าวไม่พอกินในปีนั้นผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความหิวโหยไปได้

“นอกจากผีเกลือที่บ้านขาวัวแล้ว ยังได้เจอผีเกลือที่อื่นอีกไหม”

เกลือ เกลือ

“เราเจออีกที่บ่อเกลือบ้านหัวโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก และบ่อเกลือที่บ้านเหมืองแพร่ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ที่บ้านท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ และอีกหลายๆ ที่ในอีสาน ที่บ้านหัวโพธิ์นี่ก็น่าสนใจ ผีเกลือที่นี่เป็นพี่น้อง 2 คนชื่อนางเอ้ยกับนางน้อย ทั้งสองคนนี้อยู่ภายใต้การปกครองของผีอีก 2 ตนที่มีอำนาจมากกว่า คือเจ้าหลวงและหันห้าว ซึ่งเป็นพี่ชาย ดังนั้น เวลาทำพิธีบวงสรวงจะบวงสรวงทั้งสี่ตน แต่เวลาแก้ปัญหาหรือจัดระเบียบจะเป็นผี 2 ตนนี้ที่คอยดูแล

“คำบวงสรวงเหมือนกับบ่อเกลือที่บ้านขาวัวไหม”

“คล้ายกัน แต่อาจจะออกไปทางมีภาษาเหนือร่วมด้วย คำบวงสรวงจะเป็น ‘สาธุ นางเอ้ย นางน้อย  มื้อนี้สิกวักบ่อ (เกลือ) ขอให้รักษาลูกหลานเด้อมื้อนี้ ความเจ็บอย่าให้ได้ใกล้ ความไข้อย่าให้ได้มี ขอให้อยู่ดีกินดี ผิดนั้น ผิดนี้ ไม่ถูกต้องก็ขอให้อภัย ขอให้ได้น้ำเกลือหลายๆ’ และที่แตกต่างจากบ่อเกลือบ้านขาวัว คือบ่อเกลือที่หัวโพธิ์จะมีความศักดิ์สิทธิ์ตลอดเวลาแม้จะไม่อยู่ในช่วงต้มเกลือก็ตาม จะไม่มีใครเข้าไปทำความเสียหายหรือลบหลู่พื้นที่ที่ว่า สายเกลือที่บ้านหัวโพธิ์นี้เป็นสายเกลือขนาดใหญ่ ไล่มาตั้งแต่โนนไทยมานครไทย ที่บ้านหัวโพธิ์นี้มีบ่อเกลือถึงสามสิบกว่าบ่อ จากนั้นสายเกลือก็เข้าไปที่นาแห้ว จังหวัดเลย แล้วข้ามไปฝั่งลาวที่บ้านส้าน เมืองบ่อเตน”

“ที่ลาวนี่เขายังทำบ่อเกลือไหม”

“เรายังไม่ได้ข้ามไปดู  แต่เท่าที่สอบถามชาวบ้าน บ่อที่อยู่ฝั่งไทยตรงเหมืองแพร่ชาวบ้านเลิกทำแล้ว คนลาวที่เคยข้ามมาทำก็มาไม่ได้ อีกอย่างทางฝั่งลาวห่างจากชายแดนไปสิบกว่ากิโลเมตรก็มีบ่อชื่อบ่อส้าน ที่ผ่านมาเคยต้มมาขายฝั่งไทย แต่ปีนี้ไม่ได้ส่งมาขายแล้ว เพราะทางการไทยเข้มงวดเรื่องการขนสินค้าข้ามแดน แต่ที่น่าสนใจคือเส้นพรมแดน นี่เป็นปัญหาของการขีดเส้นพรมแดนเลย ตอนฝรั่งเศสมาขีดเส้นกันแบ่งระหว่างไทย-ลาวทำให้พื้นที่แยกจากกัน ฝรั่งเศสไม่ได้สนใจเรื่องความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเลย ผืนดินที่เป็นอันเดียวกัน พอถูกแบ่ง การไปมาหาสู่ การทำกิจการร่วมกันอย่างบ่อเกลือ ที่คนงาน คนทำ ถ่ายเทไปมาก็หยุดชะงักลง สายเกลือมันอยู่เป็นสิ่งที่อยู่ข้ามพรมแดน นอกเรื่องราวของพรมแดน พอเกิดปัญหาเช่นนี้ วัฒนธรรมการทำเกลือแบบดั้งเดิมก็สูญหายไปด้วย แต่เท่าที่คุยกับชาวบ้าน สาเหตุหนึ่งที่ไม่ทำเกลือแล้ว เพราะว่าการทำเกลือขายในไทยอาจมีข้อจำกัดมากกว่าทางลาว คือหาไม้มาทำฟืนไม่ได้”

“แล้วถ้าเป็นบ่อเกลือสมัยใหม่เขามีการบวงสรวงด้วยไหม”

“มีนะ แต่เป็นแบบประยุกต์แล้ว อย่างบ่อเกลือกุดเรือคำที่วานรนิวาส คนทำเกลือหรือเจ้าของสัมปทานเกลือเลื่อมใสศรัทธาพญานาค ก็ติดตั้งเครื่องไหว้บวงสรวงไป แต่มันเป็นแบบสมัยใหม่แล้ว คงพอนึกออก ถวายน้ำแดงอะไรทำนองนั้น แต่ในระบบอุตสาหกรรม เขาบอกว่าที่ต้องบวงสรวงอย่างจริงจังไม่ใช่ผีเกลือ แต่เป็นผีแบบอื่น”

“แบบไหนครับ”

“ผีคนงาน (ยิ้ม) คนงานนี่ต้องบวงสรวงหนักเลย ต้องมีโอที เบี้ยขยัน ปลายปีมีการเลี้ยง หรือให้เบิกเงินค่าแรงล่วงหน้า ถ้าไม่มีของเหล่านี้คนงานหนี ทำเกลืออย่างไรก็ไม่ได้กำไรหรอก สรุป ผีคนงานศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในการทำเกลือแบบสมัยใหม่ (หัวเราะ)”

ภาพ : กิติมา ขุนทอง

Writer

Avatar

อนุสรณ์ ติปยานนท์

นักเขียน นักแปล เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม อาทิ ลอนดอนกับความลับในรอบจูบ, แปดครึ่งริคเตอร์, จุงกิงเซ็กซ์เพรส, เพลงรักนิวตริโน โดยปัจจุบันเขายังคงจริงจังกับการเขียนและมีผลงานต่อเนื่องในโลกวรรณกรรม