หากคุณกำลังมองหากิจกรรมใหม่ ๆ ที่ทั้งสนุก เปิดโลก และขยายความรู้ให้กว้างไกล เทศกาลนี้อาจเป็นคำตอบ!

ก่อนหน้านี้ CEA หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เคยจัดเทศกาลฮิตอย่าง Design Week ที่ทั้งสร้างบรรยากาศเมืองสร้างสรรค์ รันวงการออกแบบ ทำให้เมืองมีชีวิตชีวาไปแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะที่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ครั้งนี้ กิ๊ฟ-ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการ CEA ขอนแก่น ขอชวนทุกคนมาม่วนกับขอนแก่นใน Isan Creative Festival 2023 บ้าง

เทศกาลนี้จัดตั้งแต่วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 ที่ TCDC ขอนแก่น สวนสาธารณะบึงหนองแวงตราชู ชุมชนเจ้าพ่อขุนภักดี ถนนศรีจันทร์ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ ตึกแก่น Khon Kaen Innovation Center และอีกหลายที่ทั่วเมือง รวมแล้วมีกิจกรรมให้เลือกสรรตามจริตและความสนใจมากกว่า 300 โปรแกรม ทั้งนิทรรศการ โชว์เคส ดนตรี ทอล์ก เวิร์กช็อป ทัวร์ อีเวนต์ และตลาดนัดสร้างสรรค์

“ครั้งนี้ผมโฟกัส 3 อุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวชูโรงของภาคอีสานครับ” ผอ.กิ๊ฟ เริ่มเล่า

ความบันเทิงแบบฉบับอีสาน ทั้งดนตรี หมอลำ การรวมตัวของผู้กำกับภาพยนตร์และเหล่าคนเก่งในแวดวง รวมไปถึงการละเล่นที่สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ นั่นคืออุตสาหกรรมแรก

ถัดมาคือความเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ อีสานบ้านเฮาเป็นแผ่นดินทอง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบมากมาย เทศกาลนี้จึงพาทุกคนไปชิม ไปดม ไปดำดูข้าว ล้วงเคล็ดลับความอร่อยหอมอวลกลิ่นข้าวไทยผ่านเปลือกข้าวสู่ตัวเนื้อข้าวสีขาวนวล เหลืองทอง ม่วงดำ และอีกหลากสีสันตามสายพันธุ์ข้าวไทยแสนอร่อย

อุตสาหกรรมสุดท้าย คืองานคราฟต์และสิ่งทอ พาทุกคนไปย้อมสีผ้าจากสีธรรมชาติ สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง ใส่ไอเดียออกแบบได้เต็มที่ จนได้ผลงานที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนติดมือกลับบ้าน

“เราไม่ใช้นามสกุล Design Week แล้วครับ” ผอ.กิ๊ฟตอบ เมื่อเราถามว่าทำไมถึงใช้ชื่อ Isan Creative Festival “มีแค่ส่วนงานคราฟต์ที่พูดเรื่องดีไซน์มากหน่อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดมากนัก เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่งาน Design Week อีกต่อไป แต่กว้างกว่านั้น เราจึงเลือกใช้ชื่อ Isan Creative Festival”

แล้วทำไมถึงใช้ชื่อเทศกาลว่าอีสาน แทนที่จะเป็นขอนแก่นล่ะ

“เพราะอีสานไม่ได้มีศูนย์กลาง อย่างภาคเหนือต้องนับว่าเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางใช่ไหมครับ แต่อีสานมี 4 เมืองใหญ่ ๆ เท่า ๆ กัน ทั้งอุดรธานี อุบลราชธานี โคราช ขอนแก่น ถ้าจะตั้งชื่อว่า Khon Kaen Creative Festival ก็คงไม่ครอบคลุม

“จริง ๆ แล้วคำว่า อีสาน เป็นคำที่ป๊อป เราเลยคิดว่า Isan Creative Festival จะสื่อถึงการรวมกันได้ชัดเจนที่สุด และดึงทุกคนเข้ามาร่วมงานได้”

ตื่มบ้านตื่มเมือง

Isan Creative Festival ปีนี้มาในธีม ‘Regional (enlight) sation เติมเต็มถิ่นฐาน ตื่มบ้านตื่มเมือง’
‘ตื่ม’ เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า ‘เติม’ ตื่มบ้านตื่มเมือง ก็คือเติมบ้านเติมเมือง เมื่ออยากรู้ว่าตื่มอะไรบ้าง ผอ.กิ๊ฟ ก็ตอบมาถึง 4 ตื่มด้วยกัน

‘ตื่มปากตื่มท้อง’ ก็ตามชื่อ มาเที่ยวเทศกาลนี้ คุณจะได้พบกับข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่อัดแน่นทั้งความแปลกใหม่และน่าสนใจ อาจได้เจอกับข้าวที่มีกลิ่นช็อกโกแลตตลบอบอวล ไม่ก็ข้าวกลิ่นชินนามอน 

“ข้าวตัวแรกที่ผมชิมเข้าไปแล้วตกใจมาก คือข้าวกลิ่นชินนามอน ผมวิ่งรอบเลยนะ ใครได้กลิ่นชินนามอนบ้าง” เขาเล่าอย่างตื่นเต้น และยังมีข้าวจากหลายพื้นที่ให้ชิม เช่น ข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้ในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งให้รสเค็มไม่เท่ากับข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้ในจังหวัดสุรินทร์

ต่อกันด้วย ‘ตื่มตรอกตื่มย่าน’ พาทุกคนไปพบกับย่านศรีจันทร์และย่านกังสดาล

“ศรีจันทร์คือคนแก่ที่กำลังจะตาย” ผอ.กิ๊ฟให้นิยามถึงย่านการค้าเก่าแก่กลางเมืองที่อยู่ในกระบวนการทำให้ ‘เด็กลง’ เพราะย่านนี้อยู่ใกล้สถานีรถไฟ สัญจรไปมาสะดวก จึงมีศักยภาพมากพอในการพัฒนาให้เกิดโครงการทั้งขนาดเล็กและใหญ่ให้เติบโตต่อไปได้ อาจเป็นร้านกาแฟ บาร์ โรงเรียนสอนศิลปะ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ย่านเก่ากลับมาคึกคัก สนุก และสดใสได้อีกครั้ง

10 ความม่วนที่ไม่ควรพลาด ในเทศกาลสร้างสรรค์เมืองขอนแก่น Isan Creative Festival 2023
10 ความม่วนที่ไม่ควรพลาด ในเทศกาลสร้างสรรค์เมืองขอนแก่น Isan Creative Festival 2023

“ส่วนย่านกังสดาลเป็นย่านที่เราเพิ่มขึ้นมา ย่านนี้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความรู้สึกถึงพลังของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความสดใสและสนุกสนาน ดังนั้น ย่านกังสดาลและย่านศรีจันทร์จึงพัฒนาควบคู่กันไปได้” เขาเล่าถึงย่านตรงข้ามบ้านด้วยความภาคภูมิ 

ตามมาด้วย ‘ตื่มช่องตื่มทาง’ ตื่มนี้เป็นการรวมเหล่านักลงทุนที่มาให้ความรู้เรื่องการกิน ซึ่งปีนี้มีทางมิตรผล โรงงานน้ำตาลที่ตามหานักลงทุนหน้าใหม่ในกลุ่มเครือข่าย พร้อมร่วมงานกับเกษตรกรนักลงทุน เพราะพวกเขามองเห็นว่าอุตสาหกรรมทางการเกษตรนั้นพัฒนาต่อยอดต่อไปได้

มิติสุดท้าย ‘ตื่มพี่ตื่มน้อง’ ซึ่ง ผอ.กิ๊ฟยกให้มิตินี้เป็นหัวใจในการทำงานของเหล่าชาวอีสาน

“ธรรมชาติของคนอีสาน เวลาทำงาน เขาลงใจให้ 100 เปอร์เซ็น ถ้าเขารัก เขาจะให้ 120 เปอร์เซ็นไปเลย เพราะฉะนั้น มิติตื่มพี่ตื่มน้องจะแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดของพวกเขา ซึ่งทรงพลังและเป็นหัวใจของพวกเขาจริง ๆ”

และต่อไปนี้ คือ 10 ความม่วนที่เราคัดมาแล้วว่าคุณไม่ควรพลาดในเทศกาลสร้างสรรค์เมืองขอนแก่น Isan Creative Festival 2023 ถูกใจกิจกรรมไหน ตามไปได้เลย 

#01

นิทรรศการหมอลำ

Molam Exhibition

“มีหมอลำหม่องใด๋ มีเงินมีทองงอกเงยหม่องนั่น” ทำนองขับร้องสุดเสนาะ คลอเคล้าเสียงพิณและแคน คือเอกลักษณ์ของเพลงหมอลำ วัฒนธรรมอันเลอค่าของดินแดนที่ราบสูง!

เนิ่นนานนับร้อยปีก่อนที่เพลงป๊อปของต่างชาติเข้ามาตีตลาดในภาคอีสาน ผู้คนที่นี่เคยสนุกสนานกับการ ‘ลำ’ อันหมายถึงการขับขานบรรยายเรื่องราวสารพันด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง หมอลำเป็นมากกว่าแค่มหรสพหรือการละเล่นยามว่าง แต่เป็นจิตวิญญาณของพี่น้องชาวอีสาน ไม่ว่าจะสุข เศร้า หลงรัก หรือล้มเหลว ทุกแง่มุมชีวิตของผู้คนที่นี่ล้วนถ่ายทอดผ่านเพลงหมอลำ

นิทรรศการหมอลำ Molam Softpower Exhibition นำสีสันของเวทีหมอลำมาสร้างสรรค์ใหม่ พร้อมพัฒนาต่อยอดเป็น Soft Power ประจำถิ่น นำเสนอความเป็นอีสานให้ทัดเทียมความบันเทิงนานาชาติ

ชวนพี่น้องไปเบิ่งหมอลำม่วน ๆ กันที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 11.00 – 21.00 น. ตลอดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566 นี้เด้อ!  

Molam Exhibition
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#02

นิทรรศการรสชาติข้าวอีสาน

Isan Rice Flavors Exhibition

รู้ไหม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยปลูกข้าวได้ทั้งหมดกี่สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีรสชาติอย่างไร เหมาะนำไปทำอะไร ต้องกินคู่กับเมนูใดถึงอร่อย

เก็บคำถามเหล่านี้ไว้ แล้วไปหาคำตอบกันที่นิทรรศการรสชาติข้าวอีสาน งานที่จะพาทุกคนไปสัมผัส รูป รส กลิ่น ไขความลับความอร่อยของข้าวกว่า 40 สายพันธุ์ พร้อมทำความรู้จักกับข้าวในมิติใหม่ และคุณอาจนึกไม่ถึงว่าภาคอีสานมีข้าวแบบนี้ด้วย

เชิญร่วมสนุกกับกิจกรรม ‘ชิมข้าวอีสาน’ จัดขึ้นเฉพาะ 2 วันแรกและ 2 วันสุดท้ายของงาน นี่อาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่คุณจะได้ชมและชิมข้าวสายพันธุ์ประหลาดอย่าง ‘ข้าวรสช็อกโกแลต’ ก็เป็นได้

Isan Rice Flavors Exhibition 
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
    พิเศษเชิญร่วมกิจกรรมชิมข้าว เพื่อค้นหาความลับรสชาติข้าวที่ซ่อนอยู่
    วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 19.00 – 21.00 น.
    วันที่ 2, 8 และ 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 – 19.00 น.
  • ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#03

หลายข้าว หลายเล่า (เหล้า)

Diversity of Rice, Diversity of Sato

ชิมข้าวกันไปแล้ว ลองมาชิมสาโทที่หมักจากข้าวอีสานต่อไหม

เมล็ดข้าวเหนียวสีขาวนวลหลากหลายเมล็ดรวมกันพร้อมทาน ให้รสชาตินุ่มละมุนลิ้นเหนียวนุ่มหอมกรุ่น และข้าวเหนียวดำ เรียกกันว่า ‘คนึงนิตย์’ สีดำมันเงาเต็มเมล็ดเต็มฝัก และข้าวเหนียวแดงสีถาวรแดง ชื่อเรียกมาจากกิจกรรมชิมข้าวจากสาโท

พาทุกคนมาเวิร์กช็อปชิมข้าวดัง 3 ตัวที่ปลูกจากภาคอีสาน นำมาทานคู่กับสาโทที่ผลิตในขอนแก่น และหมักรวมกันกับข้าวแต่ละสายพันธุ์หลากหลายชนิด จนออกมาเป็นสาโทให้ทุกคนลิ้มรสชาติความอร่อย เหมือนเมนูอาหารทาปาสให้ทานเป็นคำ ๆ 

หากยังไม่เคยลองที่ไหน แล้วสงสัยว่ารสชาติข้าวเหนียวพันธุ์อีสานกับสาโทจะเป็นอย่างไร มาชิมที่นี่แล้วจะติดใจ

Diversity of Rice, Diversity of Sato
  • วันที่ 2 – 3 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น.
  • ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#04

ยากให้ตาย ต้องได้ย้อม

Dying to Dye Exhibition

เนื้อผ้าสีสันหลากหลายวางจัดแสดงในงานนิทรรศการรอทุกคนมาเยี่ยมชม สีสันธรรมชาติจากภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นคุณค่าของสีธรรมชาติ เพิ่มมูลค่าสีธรรมชาติพื้นบ้าน เปลี่ยนผ้าธรรมดาให้มีสีสันหลากหลาย เพิ่มมูลค่าของผ้าและสีธรรมชาติพื้นบ้านของไทยสู่สายตาประชาชน

เชิญทุกคนมาร่วมชมและรับแรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ ๆ จากการชมนิทรรศการเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการชมผ้าหลากหลายสีสันกันได้เลย

Dying to Dye Exhibition
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#05

ตลาดดีคัก

D-KAK MARKET

ดีคัก แปลว่า ดีมาก

D-KAK MARKET จึงเป็นตลาดสุดเจ๋งสำหรับสายช้อปที่ห้ามพลาดเด็ดขาด โดย D-KAK MARKET ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก๋า และร้านค้ากว่า 65 ร้าน พรั่งพร้อมด้วยสินค้าท้องถิ่นให้หยิบจับ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร อาหาร งานคราฟต์ งานผ้าย้อมธรรมชาติ ตลอดจนงานฝีมือจากความคิดสร้างสรรค์

โดยตลาดแห่งนี้เปิดตลอด 9 วัน มีบริการ 2 จุด 2 ธีม ได้แก่ ธีม Gastronomy Market ที่ย่านกังสดาล เป็นตลาดรวมสินค้าเกษตรดีไซน์ใหม่ และอาหารอีสานแซ่บนัวที่พัฒนาจากความคิดสร้างสรรค์ และธีม Crafts & Design Market ที่ย่านศรีจันทร์ เดินเล่นท่ามกลางร้านค้างานฝีมือจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นักออกแบบ และช่างฝีมือ 

Gastronomy Market
  • วันที่ 1 – 4 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 – 21.00 น.
Crafts & Design Market
  • วันที่ 6 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 – 21.00 น.
    โซนอาหารและเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#06

ศรีจันทร์ ย่านเก่าเล่าใหม่ 

Re-telling Srichan 

ศรีจันทร์ คือย่านการค้าเก่าแก่ใกล้ตลาดบางลำภู ตั้งอยู่กลางเมือง ใกล้สถานีรถไฟ เหมาะแก่การได้รับเลือกเป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจทุกขนาด จากความเหงาหงอย เมื่อเวลาผ่านไปร้านรวงเริ่มเข้ามาคืนชีวิตชีวาให้ศรีจันทร์มากขึ้น จากนิยามที่ใกล้เคียงคำว่า หมดอายุขัย ย่านแห่งนี้จึงได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนผ้าผ่อน เฉิดฉายเรียกแขกให้กลับมาเดินเล่นอีกครั้ง

ตื่มชีวิตชีวาและความคึกคักบนพื้นที่เก่าเล่าใหม่ พบกับจุดเช็กอินสุดเก๋ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้ประกอบการและวิถีชีวิตของคนชุมชนเจ้าพ่อขุนภักดี มีสตรีตอาร์ตให้ดื่มด่ำอย่างจุใจพลางนึกถึงอดีตที่ผู้คนซื้อผ้าจากตลาดมาสั่งตัดที่เซ็นเตอร์พอยต์แห่งนี้ผ่านงานดีไซน์ผ้าของคนรุ่นใหม่

Re-telling Srichan center point 
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • ชุมชนเจ้าพ่อขุนภักดี ซอยศรีจันทร์ 5 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#07

อีสานโชว์เคส

Isan Showcase

ขอนแก่นยังไม่หยุดแค่ที่การฟื้นตัวของย่านขายผ้าเก่าแก่ประจำจังหวัดเท่านั้น ณ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ ย่านศรีจันทร์แห่งนี้ยังมี ‘อีสานโชว์เคส’ รวบรวมงานจากดีไซเนอร์สัญชาติอีสานมากฝีมือไม่จำกัดอายุ ทั้งผู้ประกอบการมืออาชีพและนักเรียน ต่างขนผลงานมาอวดกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น สิ่งทอ จิวเวลรี่ ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน

ขอบอกเลยว่าเป็นการตื่มแรงบันดาลใจจากอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้มข้นจริง ๆ เพราะนอกจากเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมสัมผัสความเป็นอีสานผ่านผลงานที่ออกแบบมาอย่างดี เจ้าของผลงานยังถือโอกาสนี้แบ่งปันและผลักดันไอเดียสร้างสรรค์ของกันและกันให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

Isan Showcase
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ถนนกลางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#08

คู่เซิ้ง คู่แซ่บ

Isan Music Pairing

CEA ชวนเที่ยว ISANCF2023 :  Isan Creative Festival 2023 เทศกาลที่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักสร้างสรรค์ชาวอีสาน ช่วยกันต่อยอดความดีงามของท้องถิ่น
ภาพ : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) CEA

ถ้าไปดูหนังต้องกินป๊อปคอร์น แล้วดูหมอลำต้องกินอะไร

จากพฤติกรรมธรรมดา ๆ ของผู้คนที่มักหาอะไรเข้าปากพร้อมดูการแสดงที่ตนชื่นชอบ จนหนังกับป๊อปคอร์นกลายเป็นของคู่กัน ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจงาน ‘คู่เซิ้ง คู่แซ่บ’ ที่พยายามดึงเอาเอกลักษณ์ของอาหารอีสานออกมาจากงานรื่นเริงแบบอีสาน ๆ ยกตัวอย่าง ‘ปลาอีฮือ’ ซึ่งเป็นอาหารรถเข็นที่เห็นได้ทั่วไปตามงานรื่นเริง ปลาอีฮือนี้คือปลาหมึกแห้งที่ถูกนำมาบดอีกทีหนึ่ง รสชาติจึงเค็มถึงเครื่อง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีดนตรีให้ฟังถึง 5 สไตล์ พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์เลยอยากเชิญชวนทุกคนมาลิ้มรสอาหารกับเครื่องดื่ม และสนุกสุดเหวี่ยงไปกับดนตรีอีสานแบบเต็มอิ่ม

Isan Music Pairing
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 – 21.00 น.
  • พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น ถนนกลางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
  • ติดตามตารางกิจกรรมทางเฟซบุ๊ก Isan Creative Festival
#09

เสวนาและเวิร์กช็อป โชยุ น้ำปลา ปลาแดก

Shoyu, Nampla and Pladaek

หากพูดถึงซอมเมอลิเยร์ หลายคนก็อาจจะนึกถึง ‘ไวน์ซอมเมอลิเยร์’ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านไวน์ แต่จริง ๆ แล้ว ‘โชยุซอมเมอลิเยร์’ ผู้รู้ด้านการชิมซีอิ๊วญี่ปุ่นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ล่าสุดนี้ ประเทศเราก็ตามมาติด ๆ ในการพยายามพัฒนาการชิมน้ำปลา คนกินอาหารไทยเช้าเย็นอย่างพวกเรารู้ดีว่าน้ำปลาแต่ละยี่ห้อรสชาติไม่เหมือนกัน ความเค็มไม่เท่ากัน กลิ่นหอมไม่เหมือนกัน จนหลาย ๆ คนพิถีพิถันในการเลือกน้ำปลามาทำกับข้าวกินที่บ้านมาก แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอย่างจริงจังอย่างโชยุญี่ปุ่นเขา

เสวนาและเวิร์กช็อปครั้งนี้ The Japan Foundation จะพาสัมผัสอาหารญี่ปุ่นและไทยจากโชยุ น้ำปลา และปลาแดก 3 ซอสหลัก หมักดอง เค็ม ของเอเชียกันให้บันเทิงลิ้น

Shoyu, Nampla and Pladaek
  • วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.00 – 16.30 น.
  • ชั้น 2 ตึกแก่น Khon Kaen Innovation Center ถนนศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
#10

โชว์เคสจากโครงการเกษตรปังพลังคิด และมักหมัก

Creative Business Cultivation and Isan Fermentation Project

เรามักได้ยินบ่อย ๆ ว่า เกษตรกรไทยประสบปัญหาเพราะพืชผลทางการเกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ราคาตกต่ำ โครงการ ‘เกษตรปัง พลังคิด’ คิดมาเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์นั้น โดยการนำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าเดิม ๆ ที่ชุมชนมี ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่ไฉไลขึ้น และสุดท้ายจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย

ส่วนโครงการ ‘มักหมัก’ ชื่อเป็นตาฮักแบบนี้ เป็นโครงการของผู้ประกอบการที่สนใจการหมักการดอง ซึ่งต่อยอดมาเป็นปีที่ 2 แล้ว

การหมักการดองที่ว่า เราไม่ได้พูดถึงแค่ผักดอง ขิงดอง ปลาร้า ปลาส้ม แหนม ธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่ชีสหรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ใช้จุลินทรีย์ในการย่อย ก็เข้าข่ายสินค้าในโครงการนี้เช่นกัน นี่ก็เป็นอีกโครงการสร้างสรรค์ที่ตั้งต้นด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน

Creative Business Cultivation and Isan Fermentation Project
  • วันที่ 1 – 9 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • Glowfish Space ชั้น 1 ตึกแก่น Khon Kaen Innovation Center ถนนศรีจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)

เชิญม่วน!

จากที่ร่ายมาทั้งหมด จะเห็นว่าเรื่องที่โดดเด่นมาก ๆ ในเทศกาลครั้งนี้ก็คือ ‘อาหาร’ ทั้งหลาย ด้วยความที่อีสานมีพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรมากมาย ทั้งยังมีประชากรหลักเป็นเกษตรกร ทาง CEA ก็มองเห็นศักยภาพหากผู้ประกอบการเกษตรจะร่วมมือกับนักสร้างสรรค์

ความป๊อปของอีสานก็เป็นปรากฏการณ์น่าตื่นเต้นในยุคนี้ และกลุ่ม ‘อีสาน Lover’ ที่สนใจวัฒนธรรมที่ราบสูงแห่งนี้เป็นพิเศษก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาจเรียกได้ว่านี่เป็น ‘เวลาของอีสาน’ จริง ๆ แล้ว เพราะฉะนั้น Isan Creative Festival 2023 จึงไม่ใช่แค่อีเวนต์สนุก ๆ สำหรับ CEA นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มหยิบจับเอกลักษณ์พื้นที่มาพัฒนา ทำให้กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปจนถึงการแอบมองไปไกล ๆ ระดับประเทศเรื่องการพัฒนารถไฟความเร็วสูงในอนาคต

“อย่างที่เห็น คนอีสานจะมีความม่วน!” เขาเชิญชวนให้มางานก่อนจากกัน “แล้วอีสานก็มีอะไร Unseen เยอะมาก เราชวนนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการอีสาน มาขุดคุ้ยเอาเรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏมาต่อยอดเป็นเครื่องมือในการทำมาหากินในอนาคตมากมาย

“ม่วนมาก ๆ ครับ เชื่อเถอะ แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็จะได้คอนเทนต์ดี ๆ และรู้จักอีสานมากขึ้นนะครับ”

เรื่อง : ชญานี หัสสนะ, พู่กัน เรืองเวส, วโรดม เตชศรีสุธี, พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล, พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น