‘คริสต์มาส’ คือวันสำคัญทางศาสนาของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ เป็นวันระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู พระบุตรของพระเจ้าที่ทรงบังเกิดมาเพื่อไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ตามโบสถ์ของชาวคริสต์จะตกแต่งด้วยต้นสนและถ้ำพระกุมารที่จำลองฉากการบังเกิดของพระเยซู เป็นฉากอันแสนอบอุ่นที่มีพระผู้ไถ่องค์น้อยนอนอยู่บนรางหญ้า มีพระแม่มารีย์และคู่หมั้นคือนักบุญโยเซฟอยู่เคียงข้าง ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์นี้ห้อมล้อมด้วยโหราจารย์และฝูงสัตว์ที่มาชื่นชมพระบารมี

คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
ภาพมัรยัมให้กำเนิดนบีอีซา จิตรกรรมอิหร่าน ค.ศ. 1595 
ภาพ : Bibliothèque nationale de France

แต่รู้หรือไม่ว่า ในคัมภีร์อัลกุรอ่านของศาสนาอิสลามก็มีเรื่องการกำเนิดของอีซา (เยซู ในสำเนียงภาษาอาหรับ) เหมือนกัน แต่มีพล็อตเรื่องคนละแบบ ขอสปอยล์ก่อนจะเล่าเรื่องเต็มนิดว่า ในศาสนาอิสลามนั้น พระนางมัรยัม (มารีย์ ในสำเนียงภาษาอาหรับ) คลอดอีซาเพียงลำพังกลางทะเลทราย และมุสลิมก็ไม่ได้จัดงานใดๆ เพื่อระลึกถึงการกำเนิดของท่านเหมือนอย่างที่ชาวคริสต์ฉลองกันในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี 

แต่มูลเหตุการเกิดของพระเยซูในศาสนาคริสต์และอีซาในศาสนาอิสลามก็มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่บ้าง เพราะทั้งสองศาสนามีที่มาจากศาสนาเดียวกันคือศาสนายูดาห์ มาดูกันว่าศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามเล่าเรื่องการกำเนิดของพระเยซูหรืออีซาไว้ว่าอย่างไร

บุตรพระเจ้าผู้ทรงบังเกิดในคอกสัตว์

คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
ภาพการกำเนิดพระเยซู จิตรกรรมอิตาลี ค.ศ. 1640 โดยกุยโด เรนี 
ภาพ : Chester Beatty Collection
คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
ตัวอย่างถ้ำพระกุมาร 
ภาพ : วัดเซนต์จอห์น

ตามเนื้อความในคัมภีร์ไบเบิล พระเจ้าทรงเลือกพระนางมารีย์ให้เป็นมารดาของพระผู้ไถ่ ทรงบันดาลให้พระนางตั้งครรภ์โดยปราศจากมลทินจากชายใด เมื่อโยเซฟคู่หมั้นของพระนางมารีย์รู้ว่านี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าก็ยอมรับและดูแลพระนางอย่างดี ระหว่างที่ทั้งสองเดินทางไปขึ้นทะเบียนราษฎรตามพระราชโองการของจักรพรรดิออกุสตุส ได้แวะค้างแรมที่เมืองเบธเลเฮม แต่คืนนั้นที่พักทุกแห่งเต็มหมด ทั้งสองจึงจำต้องพักในคอกสัตว์ของโรงแรมแห่งหนึ่ง คืนนั้นเองพระนางมารีย์ได้ให้กำเนิดพระเยซู ท่านใช้ผ้าอ้อมพันพระกุมารและให้นอนในรางหญ้า คืนนั้นท้องฟ้ามีดาวสุกสกาว โหราจารย์ทั้งสามจากแดนไกลเดินทางตามดาวนั้นมาสักการะบุตรของพระเจ้า พร้อมถวายทองคำ กำยาน และมดยอบเป็นเครื่องสักการะ 

การกำเนิดของพระเยซูเป็นการแสดงถึงความรักของพระเจ้าต่อมนุษย์ ที่ทรงกรุณาส่งพระบุตรของพระองค์มาบังเกิดและให้พระบุตรรับทรมานแทนเหล่ามนุษยชาติเพื่อปลดบาปให้แก่มวลมนุษย์

ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย

คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
ภาพมัรยัมให้กำเนิดนบีอีซา จิตรกรรมอิหร่าน ค.ศ. 1570 โดยอิสฮาก อิบนิ อิบรอฮิม 
ภาพ : Chester Beatty Collection

ในคัมภีร์อัลกุรอ่านเล่าไว้ว่า พระเจ้าทรงเลือกพระนางมัรยัมให้เป็นมารดาของนบี (ศาสดา, ศาสนทูต) อีซา พระองค์ทรงเป่าวิญญาณจากพระองค์เข้าไปในร่างพระนางของมัรยัมทำให้ท่านตั้งครรภ์ พระนางมัรยัมกลัวจะถูกผู้คนประณามว่าตั้งท้องทั้งที่ยังไม่แต่งงาน 

เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอดท่านจึงหลบผู้คนไปยังที่ห่างไกล และให้กำเนิดนบีอีซาภายใต้ต้นอินทผลัมกลางทะเลทรายแห่งหนึ่งเพียงลำพัง ทันใดนั้นพระเจ้าก็ทรงบันดาลให้ผลอินทผลัมสุก และบันดาลให้เกิดลำธารขึ้นที่นั่นเพื่อให้ท่านและลูกได้ทานดับกระหาย แล้วพระนางมัรยัมก็พาอีซากลับบ้าน แน่นอนว่าญาติพี่น้องต่างแตกตื่นและตั้งคำถาม พระเจ้าจึงทรงบันดาลให้ทารกอีซาตอบข้อข้องใจของทุกคนว่า 

“แท้จริงฉันเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉันและทรงให้ฉันเป็นนบี” (คัมภีร์อัลกุรอ่าน 19:30)

การที่พระนางมัรยัมให้กำเนิดนบีอีซาโดยที่ยังเป็นหญิงพรหมจรรย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงพระอานุภาพของพระเจ้าที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้หากพระองค์ทรงประสงค์

ความเชื่อที่ต่างกันระหว่าง ‘บุตรพระเจ้าผู้ทรงบังเกิดในคอกสัตว์’ ของชาวคริสต์ กับ ‘ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย’ ของมุสลิม ทำให้ศิลปินทั้งสองวัฒนธรรมถ่ายทอดภาพการกำเนิดของเยซูและอีซาแตกต่างกัน ชาวคริสต์มักจะวาดฉากพระคริสตสมภพเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ มีแสงจากสวรรค์ส่องลงมา เบื้องล่างมีพระเยซูองค์น้อยอยู่ท่ามกลางพระแม่มารีย์ นักบุญโยเซฟ พร้อมด้วยผู้คนและฝูงสัตว์ห้อมล้อมอย่างอบอุ่น ต่างกับศิลปินมุสลิมที่วาดภาพการกำเนิดนบีอีซาอย่างเรียบง่าย เป็นฉากกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้างที่มีเพียงพระนางมัรยัมกับลูก

ไหนๆ พูดถึงการกำเนิดของพระเยซูหรือนบีอีซาแล้ว ก็ขออธิบายเกี่ยวกับเรื่องของพระเยซู (อีซา) และพระแม่มารีย์ (พระนางมัรยัม) ในความเชื่อของศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามอีกนิดเพื่อสร้างความเข้าใจความเหมือนในความต่าง (หรือความต่างในความเหมือน) ของศาสนาทั้งสองนี้ให้มากยิ่งขึ้น

พระเยซู-นบีอีซา

ในศาสนาคริสต์ พระเยซูคือพระบุตรของพระเจ้าที่ทรงลงมาบังเกิดเป็นผู้ไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์ และทรงเป็นพระเจ้าด้วย เพราะพระองค์ทรงเป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ (พระบิดา พระบุตร และพระจิต) พระเยซูถูกทรมานและถูกตรึงกางเขนจนสิ้นชีวิต การพลีชีพของพระองค์คือการไถ่บาปให้แก่มนุษยชาติ 

แต่ในศาสนาอิสลาม อีซาเป็นเพียงมนุษย์ เป็นคนดีที่ถูกเลือกให้เป็นนบีหรือศาสนทูตที่คอยชี้นำผู้คนไปในทางที่ถูกต้อง มีฐานะเทียบเท่าศาสดามุฮัมมัดและศาสดาท่านอื่นๆ อีซายังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘รูฮุลลอฮ์’ แปลว่า วิญญาณจากพระเจ้า เพราะท่านเกิดจากวิญญาณจากพระเจ้าที่ถูกเป่าเข้าไปในร่างของมัรยัม และที่น่าสนใจกว่านั้นคือคัมภีร์อัลกุรอ่านกล่าวว่านบีอีซาไม่ได้ตาย แต่พระเจ้ารับท่านไปอยู่กับพระองค์แล้วทรงบันดาลให้มีคนหน้าคล้ายท่านถูกจับไปตรึงกางเขนแทน 

ถึงแม้ฐานะและเรื่องราวของพระเยซูของชาวคริสต์และนบีอีซาของมุสลิมจะต่างกันไปบ้าง แต่ศาสนาทั้งสองเชื่อตรงกันว่า พระเยซูหรือนบีอีซาจะกลับมาอีกครั้งในวันสิ้นโลก

พระแม่มารีย์-นางมัรยัม

คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
ภาพเทวทูตญีบริล (กาเบรียล) แจ้งนางมัรยัมว่าพระเจ้าจะทรงให้นางตั้งครรภ์โดยนิรมล จิตรกรรมอิหร่าน ค.ศ. 1307 โดยอัลบิรูนี 
ภาพ : University of Edinburgh

ในศาสนาคริสต์ พระแม่มารีย์คือสตรีผู้มีใจศรัทธาที่พระเจ้าทรงเลือกให้เป็นผู้ให้กำเนิดบุตรของพระเจ้าโดยนิรมล เมื่อท่านสิ้นชีวิตลงก็ได้ถูกยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คริสตชนนิยมขอพรจากพระเจ้าผ่านทางพระแม่มารีย์ เพราะเชื่อว่าท่านจะช่วยเหลือผู้ศรัทธาโดยเป็นตัวแทนวอนขอพรจากพระเจ้าให้ มุสลิมก็นับถือพระนางมัรยัมในฐานะสตรีผู้อุทิศตัวเพื่อศาสนา เป็นผู้บริสุทธิ์และทรงคุณธรรม แต่ต่างกันนิดที่ว่าท่านไม่ใช่ ‘มารดาของบุตรพระเจ้า’ แต่เป็น ‘มารดาของนบีอีซา’

พระเจ้าทรงเลี้ยงดูพระนางมัรยัมอย่างดีตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่ท่านภาวนาอยู่ในวิหาร พระองค์จะประทานอาหารให้ท่านเสมอ ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับพระนางมัรยัมถึงขั้นที่ว่ามีบทหนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นชื่อของท่าน คือบทที่ 19 ซูเราะห์มัรยัม ประวัติของท่านและการกำเนิดของนบีอีซาก็ถูกเล่าไว้ในบทนี้

คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
http://www.metmuseum.org/art/collection/search/452704

แม้ว่าชาวคริสต์กับมุสลิมจะมีความเชื่อที่ไม่ตรงกันบ้างในเรื่องของพระเยซูหรือนบีอีซา และพระแม่มารีย์หรือพระนางมัรยัม แต่ความแตกต่างในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญเท่ากับการที่ทั้งศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือสอนให้ผู้คนยึดมั่นในพระเจ้าและพากเพียรทำความดี

หมายเหตุ : คำว่า Christmas ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Cristes Maesse ในภาษาละติน หมายถึง ‘มิสซา (พิธีบูชาขอบพระคุณ) ของพระคริสต์’ คำนี้ปรากฏใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1038 ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า คริสต์มาส พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำนี้ว่าวันสมภพของพระเยซู และก็ช่างบังเอิญว่าคำว่า ‘มาส’ ในภาษาไทยแปลว่าเดือน ดังนั้นคำว่าคริสต์มาสจึงอาจหมายถึง เดือนแห่งการรำลึกถึง (การบังเกิดของ) พระเยซู ก็ได้เหมือนกัน

คริสต์มาสในมุมมองมุสลิม : อีซา (เยซู) ศาสดาผู้ถือกำเนิดกลางทะเลทราย
ภาพ : โมเสกพระเยซูในมหาวิหาร Hagia Sophia โดย Günther Simmermacher จาก Pixabay

ข้อมูลอ้างอิง

วัดเซนต์จอห์น กรุงเทพมหานคร.

บรรจง บินกาซัน, สารานุกรมอิสลาม ฉบับเยาวชนและผู้เริ่มสนใจ, กรุงเทพฯ: อัลอะมีน, 2542.สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับประเทศไทย, ผู้แปล, พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมความหมายภาษาไทย, มะดีนะฮ์: ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน, 2553.

Writer

วสมน สาณะเสน

วสมน สาณะเสน

บัณฑิตตุรกี นักวิชาการด้านศิลปะอิสลาม อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง