Irrational Man (2015)

Genre : Comedy

Country : America

Director / Writer : Woody Allen

Actor / Actress : Jamie Blackley, Joaquin Phoenix, Emma Stone, Parker Posey 

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์*

ทุกครั้งที่ผมบอกกับคนอื่นว่าเรียนจบเอกปรัชญา คำถามแรกของพวกเขาเหล่านั้นคือ “ปรัชญาเรียนเกี่ยวกับอะไร คำคมคนอื่นเหรอ” ผมเพียงแต่ตอบว่า “ประมาณนั้นแหละ แต่จะคิดวิเคราะห์กันมากกว่า” หลังจากนั้นบรรยากาศเดดแอร์ก็ตามมาติดๆ 

เมื่อใดที่หัวข้อสนทนาขึ้นต้นด้วย ‘ปรัชญา’ มักไม่มีใครอยากกล่าวถึงหรือพยายามเข้าใจว่ามันคืออะไร ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด 

หากคุณกำลังหาข้ออ้างในการลางานหลังตื่นนอนในเช้าวันจันทร์ที่ฝนตกกระหน่ำ หรือพยายามหาหลักการเพื่อวิจารณ์ว่าอาหารจานนี้อร่อยหรือไม่อร่อย เมื่อใดที่คุณสร้างข้อโต้แย้ง (Arguments) หาเหตุผลเพื่ออธิบายหรือสนับสนุนบางสิ่งบางอย่าง นั่นหมายถึงคุณกำลังทำการปรัชญาอยู่ แต่แน่นอนว่าปรัชญาพาเราไปไกลได้ถึงการอธิบายว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้อาจไม่มีอยู่จริง ซึ่งแม้จะมีคำอธิบายด้วยหลักของเหตุผลมากมาย คนส่วนใหญ่ในสังคมยังมองว่าปรัชญานั้น ‘เลื่อนลอยเกินกว่าที่จะพิสูจน์ได้’ 

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

Irrational Man เป็นภาพยนตร์ดราม่าคอเมดี้จากผู้กำกับเดียวกับเรื่อง ‘Midnight in Paris’ ที่แสนโด่งดัง น้อยคนจะรู้ว่าผู้กำกับคนนี้หรือ วู้ดดี้ อัลเลน (Woody Allen) เรียนจบสาขาวิชาปรัชญามา ในครั้งนี้เขาตั้งใจทำภาพยนตร์ออกมาเพื่อประชดประชันคนที่ดูถูกว่าปรัชญานั้น ‘เลื่อนลอย’ โดยเพ่งเล็งไปที่เรื่องของจริยศาสตร์ (Ethics) ศาสตร์แขนงหนึ่งของปรัชญาที่ว่าด้วยความถูกต้อง (Righteousness) ความยุติธรรม (Justice) ซึ่งเป็นการวัดคุณค่าว่าการกระทำอย่างไรถึงเรียกว่าถูกต้องที่สุด 

เรื่องราวของภาพยนตร์เริ่มด้วยตัวละครอาจารย์ปรัชญาที่หมดไฟในการสอนจากการมองเห็นว่าทฤษฎีทางปรัชญาไม่ได้ช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น แต่ความคิดนั้นกลับเปลี่ยนไป เมื่ออาจารย์คนนี้ได้ยินข่าวมาว่ามีผู้พิพากษาคนหนึ่งตัดสินคนอย่างไม่เป็นธรรม เลยมีความคิดว่าจะเป็นอย่างไร หากเขานำเอาทฤษฎีปรัชญามาใช้จริง ด้วยการลงมือวางแผนฆาตกรรม เพื่อหวังให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่

ผมค่อนข้างแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เรตติ้งเพียง 44 เปอร์เซ็นต์จาก Rotten Tomatoes และได้คะแนนเพียง 6.6 / 10 จาก IMDb จนแอบคิดว่า เป็นเพราะนักวิจารณ์ไม่เข้าใจว่าปรัชญาจริงๆ คืออะไร หรือการเล่าเรื่องนี้ด้วยกรอบของภาพยนตร์ทำออกมาได้ไม่ดีนัก 

แต่จากมุมมองของคนที่เคยเรียนปรัชญามาตลอด 4 ปี ผมชอบหนังเรื่องนี้เพราะมันพยายามเสียดสีเรื่องความถูกต้องที่เป็นอุดมการณ์ (Ideology) กับความจริง (Reality) ที่เป็นอยู่ในสังคมมนุษย์ 

ปรัชญาทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นจริงหรือ

วาคีน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) รับบทเป็นเอบ ลูคัส (Abe Lucas) อาจารย์ปรัชญาเก่งกาจที่ย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยในเมืองเล็กๆ แต่ตัวละครไม่ได้เป็นอาจารย์ที่เต็มไปด้วยแพสชันในการสอนหนังสือ

ตรงกันข้าม เอบ ลูคัส เป็นแอลกอฮอลิกที่พกเครื่องดื่มซิงเกิลมอลต์ไปด้วยทุกที่ ร่างกายของเขาห่อเหี่ยว แววตาดูสิ้นหวัง มีประโยคหนึ่งที่เอบพูดขึ้นมาระหว่างการสอนเรื่องจริยศาสตร์ของอิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) ว่า “มันมีความแตกต่างระหว่างโลกที่เต็มไปด้วยทฤษฎีทางปรัชญากับชีวิตจริง” 

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

ในจริยศาสตร์ของคานต์ การโกหกถือเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมันขัดกับกฎสากล (Universal Laws) ถ้าจะอธิบายกฎที่ว่านี้อย่างง่ายที่สุดก็คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา อะไรที่ไม่ดีกับตัวเรา เราก็ไม่ควรทำกับคนอื่น หากเราไม่อยากให้ใครโกหกเรา เราก็ไม่ควรโกหกคนอื่นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เอบมองว่าหลักการปรัชญาที่สวยหรูใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง เช่น ถ้ามีคนที่ดูเหมือนฆาตกรมาเคาะประตูบ้านแล้วถามว่าพ่อแม่เราอยู่ไหม เราคงโกหกว่าพ่อแม่ไม่อยู่ ทั้งที่จริงๆ แล้วพ่อกับแม่อาจจะนอนอยู่บนบ้าน

เอบเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของนักปรัชญาสุดโต่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลก และการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ไม่ได้มาจากการสอนหนังสือ แต่ต้องลงมือทำ จุดที่น่าสนใจในการเริ่มเรื่อง คือความขัดแย้งกันระหว่างบทบาทที่เอบเป็นอาจารย์สอนปรัชญา แต่เขากลับไม่เชื่อในปรัชญาเสียเอง

ความเศร้าสร้อยช่างดูโรแมนติก

เอมม่า สโตน (Emma Stone) รับบทเป็นจิล พอลลาร์ด (Jill Pollard) นักศึกษาสาวผู้คลั่งไคล้ในตัวเอบตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกันในคลาสเรียน จิลเป็นนักเรียนที่ดีในคลาส แม้ตัวเธอจะอยู่ในครอบครัวที่เล่นดนตรี แต่ด้วยความชาญฉลาดของเธอจึงสามารถเขียนรายงานปรัชญาถูกใจเอบอย่างน่าเหลือเชื่อ

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

จิลเป็นตัวละครที่ทำให้หนังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ เช่น การแอบคบกันระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ซึ่งตรงกับเรื่องราวของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoevsky) นักเขียนรัสเซียชื่อดัง เรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับอดีตของเอบที่พัวพันกับความสัมพันธ์ชู้สาวกับแฟนเพื่อน ซึ่งตรงกับเรื่องราวของ ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre) ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) และ อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) สามนักปรัชญาแห่งดินแดนน้ำหอม

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

เรื่องราวพวกนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อประดับให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้คือหนังปรัชญา ก็ควรจะใส่อะไรที่เป็นเรื่องราวของนักปรัชญามารวมๆ กัน แต่มันบ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่โยงใยอยู่กับความเศร้า ความทุกข์ ทั้งในโลกของวรรณกรรมและปรัชญา ความทุกข์คือความโรแมนติก เป็นความไม่ปกติที่มีเสน่ห์ เป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่าตัวเองเติมเต็มได้ เอบนำแนวคิดของโบวัวร์ขึ้นมาพูดกับจิลว่า 

“สังคมถูกหล่อหลอมขึ้นโดยผู้ชาย ผู้หญิงเป็นสิ่งมีชิวิตที่มีปฏิสัมพันธ์แค่ในความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้ชาย” 

แน่นอนว่าประโยคนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าผู้หญิงแลดูเป็นวัตถุ (Object) ที่มีไว้เพื่อผู้ชาย จิลเองก็เห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่มันช่างดูย้อนแย้งเหลือเกินที่เธอดันทำตัวแบบนั้นเสียเอง ในขณะที่เอบมีช่องโหว่อยู่ในใจ จิลอาสาที่จะเข้าไปมีความสัมพันธ์กับเอบเพื่อเติมเต็มช่องโหว่นั้น และได้กลายเป็นวัตถุที่มีไว้เพื่อเอบ มากไปกว่านั้น จิลยังเชิดชูอุดมการณ์ แนวคิด หลักการ ทุกอย่างของเอบจนหลงเสน่ห์ พร้อมจะโยนตัวเองเข้าไปหาอย่างถึงที่สุด จนไม่สนใจว่าตัวเองมีแฟนเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว

อุดมการณ์ vs ความเป็นจริง

เอบและจิลเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่งแล้วเผอิญได้ยินโต๊ะข้างหลังพูดคุยกันด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อย สิ่งที่ทั้งสองคนจับใจความได้คือ มีผู้พิพากษาคนหนึ่งตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรม 

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

“ฉันขอให้เขาเป็นมะเร็ง” เอบได้ยินเสียงคนข้างหลังพูดขึ้น ซึ่งเป็นคำสาปแช่งจากผู้เคราะห์ร้ายที่แพ้คดี 

มีบางอย่างจุดประกายเขา เขาคิดว่าการแช่งให้ผู้พิพากษาเป็นมะเร็งไม่ได้ผลหรอก แต่สิ่งที่ได้ผลที่สุดคือต้องลงมือทำเท่านั้น และตัวเขาเองที่จะเป็นคนลงมือทำ โลกนี้จะได้น่าอยู่ขึ้นโดยปราศจากผู้พิพากษาที่เลวทราม

ตรงนี้มีกฎจริยศาสตร์อีกหนึ่งสำนักมารองรับ คือกฎว่าด้วยความสุขส่วนมาก (For the Greater Good) ของปรัชญาสายประโยชน์นิยม (Utilitarianism) การกระทำใดก็ตามที่ส่งผลให้ความสุขกับคนส่วนใหญ่ล้วนถูกต้องและดีงาม

ทันทีที่เอบวางแผนฆาตกรรมผู้พิพากษา ชีวิตกลับกลับดูสดใสและกลับมามีความหมายขึ้นมาทันทีทันใด เขาตื่นเช้าขึ้น กระปรี้กระเปร่า ไม่ห่อเหี่ยว และเริ่มใส่ใจกับเรื่องความสัมพันธ์กับจิลมากขึ้น เขาติดตามดูพฤติกรรมของผู้พิพากษา แล้วแอบวางยาพิษในน้ำส้มที่ผู้พิพากษาซื้อมาดื่มทุกครั้งหลังจากที่วิ่งเสร็จในเวลาเช้าตรู่ 

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

แผนการดำเนินไปด้วยดี เอบรู้สึกดีที่เป้าหมายสำเร็จลุล่วง ทีนี้โลกก็น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมหลังจากกำจัดคนมีอำนาจที่ถือคำสัตย์แต่ไม่ทำตาม แต่สิ่งที่เอบต้องเจอคือ แม้ว่าเขาจะคิดว่าตัวเองลงมือฆาตกรรมได้อย่างเนียบเนียนเท่าใด ก็ยังทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยที่สืบสาวไปถึงตัวเขาได้อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สาวที่เขามักเล่าเรื่องให้ฟังบ่อยๆ นักศึกษาที่ไปเจอเขาโดยบังเอิญที่ห้องเก็บสารเคมี ทุกคนล้วนเล่าเรื่องความเป็นไปได้ที่เอบจะเป็นฆาตรกรให้จิลฟัง 

จิลเป็นตัวแทนของสังคมมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมาย ซึ่งยึดหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ว่าไม่ควรมีใครฆ่าใครเว้นแต่จะถูกตัดสินโดยศาลหรือกฎหมาย หรือที่เราเรียกกันรวมๆ ว่าเป็นการมี ‘มนุษยธรรม’ จริงอยู่ที่จิลชื่นชอบหลักการของเอบ แต่เมื่อมีฆาตกรรมเกิดขึ้น สิ่งที่เรียกกว่ามนุษยธรรมในตัวจิลจึงถูกดึงออกมาแทนที่อุดมการณ์ เป็นการเสียดสีให้เห็นว่าไม่ว่าเรื่องใดๆ ที่ถูกวัดด้วยเหตุด้วยผลอย่างลึกซึ้ง หากมันขัดต่อศีลธรรมเดิม จารีตเดิม สังคมเดิม มันอาจจะกลายเป็นผิดในทันที

เอบยังคงความสุดโต่งกับวิธีคิดของตัวเอง ซึ่งเขามองว่ามันถูกต้องเสมอ เขาไม่ยอมมอบตัวกับตำรวจ สิ่งที่เขาตัดสินใจทำคือการลงมือฆาตกรรมจิลต่อเพื่อปิดปาก หนังจบด้วยความประชดประชันแสบสันกับชีวิต เพราะแทนที่จิลจะโดนฆาตกรรม กลับกลายเป็นเอบที่ต้องตาย

Irrational Man เป็นหนังที่ไม่มีจุดจบชัดเจน แต่กลับให้ข้อคิดว่า การที่เอบลงมือทำฆาตกรรมคนที่ไร้ความยุติธรรมมันเหมาะสมแล้วหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสม เราควรมีวิธีการอย่างไรในการจัดการกับคนที่มีอำนาจในกฎหมายแบบนี้ในสังคม อีกทั้งยังทำให้เราทุกคนกลับไปคิดว่า สุดท้ายแล้วสังคมแบบไหนจะดีกว่ากัน ระหว่างสังคมแห่งกฎหมายที่ถูกตั้งโดยผู้มีอำนาจ กับสังคมที่ถูกตรวจสอบด้วยความเป็นเหตุเป็นผล เรื่องนี้สืบย้อนไปได้ถึงสิ่งที่นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเพลโต (Plato) พยายามบอกสังคม หลังจากที่โสกราตีส (Socrates) ผู้เป็นอาจารย์ของเพลโตถูกประหารชีวิต เพียงเพราะเขาพยายามทำให้เยาวชนในกรุงเอเธนส์หันมาตั้งคำถามกับความยุติธรรม ซึ่งทำให้ผู้มีอำนาจในกฎหมายไม่พอใจ

แม้ว่าพล็อตหนังอาจฟังดูเป็นหนังซีเรียส เคร่งเครียด และลุ้นระทึก แต่จริงๆ แล้วหนังตั้งใจถ่ายทอดให้เป็นหนังคอเมดี้ มีการใช้เพลงแจ๊สบรรเลงประกอบอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน หลังจากที่ดูจบ ผมรู้สึกขบขันอยู่ในใจ พลางคิดในใจต่อไปอีกว่า “ชีวิตมันน่าตลกสิ้นดี”

รีวิว Irrational Man แนวคิดทางปรัชญากับเส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างอุดมการณ์และโลกของความจริง

สามารถชมภาพยนตร์เรื่อง Irrational Man ที่ Apple TV หรือ iTunes

Writer

Avatar

ภูมิ เพชรโสภณสกุล

อดีตนักศึกษาเอกปรัชญา นักหัดถ่าย นักหัดเขียน เป็นทาสแมว ที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักดนตรี