ภาพที่เห็นนี้ คือภาพของทหารนาวิกโยธินสหรัฐกับเชลยทหารอิรัก ทางตอนใต้ของประเทศอิรักในสงครามอิรัก
สงครามอิรักหรือสงครามอ่าวครั้งที่ 2 (ค.ศ. 2003 – 2011) เกิดขึ้นจากข้อกล่าวหาของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ว่า อิรักภายใต้การนำของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ได้ครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง คืออาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมีชีวภาพ คุกคามความมั่นคงในภูมิภาค จนได้เกิดสงครามขึ้น นำโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และสุดท้ายกองทัพอิรักแพ้สงคราม ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ถูกประหารชีวิต สงครามครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และเด็กกำพร้าหลายล้านคน

ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 2003 เป็นวันเดียวกับที่กรมทหารนาวิกโยธินที่ 15 ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ยกพลข้ามพรมแดนประเทศคูเวตเข้ามาในดินแดนประเทศอิรักเพื่อเปิดฉากสงครามกับกองทหารอิรัก การสู้รบดำเนินไปไม่ถึงชั่วโมง ทหารอิรักสองร้อยกว่าคนได้ยอมจำนน ถูกจับเป็นเชลย และเป็นที่มาของภาพนี้
ช่างภาพได้เข้าไปบันทึกภาพนี้ เป็นภาพเชลยทหารอิรักผู้หนึ่ง และทหารอเมริกัน 2 คน คนหนึ่งดูเหมือนกำลังเอาปืนจ่อไปที่หัวของเชลยทหารอิรัก ขณะที่ทหารอเมริกันอีกคนหนึ่งกำลังให้เชลยดื่มน้ำจากกระติก
อันที่จริงทหารนาวิกโยธินทางซ้ายไม่ได้จ่อปืนไปที่หัวของเชลยศึก แต่เป็นปืนของทหารอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในภาพกำลังถือปืนเฉยๆ แต่มุมกล้องทำให้ดูเหมือนว่าเอาปืนจ่อไปที่หัวของเชลยอิรัก
เป็นภาพข่าวสงครามอันทรงพลังมากภาพหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นภาพที่ดราม่าสุดๆ เพราะมีความรู้สึก 2 อารมณ์แตกต่างกันในภาพเดียวกัน
เพียงภาพเดียวก็บอกอารมณ์ด้านบวกและด้านลบของทหารสหรัฐอเมริกันที่มีต่อเชลยศึกชาวอิรักได้สมบูรณ์แบบ
ภาพนี้ถูกเผยแผ่ในสื่อตะวันตกและสื่ออาหรับ แต่เป้าหมายแตกต่างกันมาก
สำนักข่าวตะวันออกกลางได้ทำการคร็อปภาพหรือตัดเอาเฉพาะด้านซ้ายออกไปตีพิมพ์ หรือเผยแผ่ทางสื่อ ทำให้คนดูเห็นความโหดร้ายของทหารอเมริกันในสงครามอ่าว ที่เอาปืนจ่อหัวเชลยศึกผู้อ่อนล้า

หากมีการเผยแผ่ในสื่อออนไลน์แบบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก ปฏิกิริยาในทางลบหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้รับสารก็อาจจะรุนแรง แสดงความไม่พอใจมาก
หรือที่เรียกเป็นสำนวนว่า ‘ทัวร์ลง’
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวอเมริกันชื่อดังอีกแห่งได้ตัดต่อเฉพาะภาพด้านขวาออกไปตีพิมพ์หรือเผยแพร่ เพื่อทำให้ผู้รับสารเห็นความมีมนุษยธรรมของทหารอเมริกัน

ภาพลักษณ์ของทหารสหรัฐอาจจะดีขึ้นทันตาเห็น ในฐานะผู้เปิดฉากทำสงครามรุกรานประเทศเล็กๆ อย่างอิรัก เพราะในเวลาต่อมา กองทัพสหรัฐอเมริกันก็ค้นหาอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพ ตามที่กล่าวอ้างไม่ได้ จนสุดท้าย เรื่องนี้กลายเป็นแค่ข้ออ้างของสหรัฐเพื่อหาความชอบธรรมในการรุกรานประเทศอิรัก โดยมีเป้าหมายคือการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ผู้ถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง
ภาพนี้ก็จะกลายเป็นภาพโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพสหรัฐได้ยอดเยี่ยม
แต่ในความเป็นจริงภาพเต็มๆ เราอาจจะเห็นทั้งสองด้านของทหารสหรัฐอเมริกัน
การที่สำนักข่าวต่างๆ เลือกนำเสนอส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพออกเผยแพร่ ถือว่าเป็น Fake News ไหม หรือจะเป็นภาพไม่จริงไหม ก็ไม่ใช่ เพราะเป็นภาพจริงๆ
ถามว่าเป็นภาพตัดต่อไหม ก็ไม่เชิง เพราะเป็นภาพจริง ๆ
เพียงแต่ว่า นำเสนอภาพไม่หมด เพราะมีการตัดทอนภาพบางส่วนออกไป เพื่อเป้าประสงค์บางประการ หรือเพื่อชี้นำบางอย่างให้กับคนรับสาร
อยู่ที่ว่าสำนักข่าวที่เป็นผู้ถ่ายทอดสารเหล่านี้จะเลือกมองมุมใดของภาพ แต่ไม่มองภาพจริงทั้งหมด
ภาพข่าวสงครามภาพนี้จึงเป็นภาพที่ถูกนำมาเป็นบทเรียนให้กับคนทำข่าวทั่วโลกที่โด่งดังมาก
เพื่อสอนคนในวงการสื่อว่า
ภาพที่เราเห็น อาจจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หากมันถูกตัดทอนความจริงบางส่วนออก เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ความรู้สึก ความรับรู้ที่มีต่อภาพของคนรับสารก็เปลี่ยนไปทันที
ชี้ให้เห็นว่า พลังของภาพภาพเดียวมีอิทธิพลต่อผู้รับสารเพียงใด
และเป็นการเตือนสติคนรับสารว่า ทั้งสื่อใหญ่หรือสื่อเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ อาจมีส่วนในการชี้นำคนอ่านให้รับข้อมูลที่ผิดพลาด หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยไม่ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนมืออาชีพ ซึ่งทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือให้กับคนอ่านได้
เช่นเดียวกับข่าวสารและเนื้อหาทุกวันนี้ที่แพร่หลายในโลกออกไลน์ บางทีเรายังรับข้อมูลไม่ครบถ้วน บางทีเรายังไม่ตรวจสอบข้อมูล บางทีเรายังไม่ทันอ่านให้ครบ เราก็แชร์กระจายกันออกไป หรือไม่เราก็เขียนคำวิจารณ์อย่างรุนแรง เราก็ด่า เราก็ตั้งหน้าตั้งตาเป็นส่วนหนึ่งของการรุมถล่มแบบทัวร์ลง
โดยไม่สนใจแสวงหาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน
ภาพเพียงภาพเดียวยังบิดเบือนข้อเท็จจริงได้
ประสาอะไรกับข้อมูลมากมายที่ผลิตกันทุกวินาทีในโลกออนไลน์ ว่าจะน่าเชื่อถือเพียงใด
ใจเย็นๆ ครับ ก่อนจะตัดสินอะไรในโลกออนไลน์ ก่อนจะพิพากษาใครในโลกเสมือนด้วยการแชร์หรือการวิจารณ์