การเดินทางข้ามทะเลทรายท่ามกลางความร้อนแรงและความแห้งแล้ง เป็นประสบการณ์อันล้ำค่าของชีวิต

หลายเดือนก่อนผู้เขียนโดยสารรถข้ามทะเลทรายกลางประเทศอิหร่าน สองข้างทางเป็นผืนทรายสีน้ำตาลสุดลูกหูลูกตา 

เห็นขุนเขาสีเทาอยู่ไกลลิบ ๆ 

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาวอิหร่านอยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

สักพักหนึ่งท้องฟ้ามืดครึ้ม มองไปข้างทางเห็นเมฆสีดำทมึนค่อยๆ เคลื่อนเข้ามา ตอนแรกนึกว่าเป็นเมฆกำลังก่อตัวเป็นพายุฝน แต่คนขับรถบอกว่า ไม่ใช่ นั่นคือพายุทะเลทราย

ลมพายุทะเลทรายค่อยๆ พัดเข้ากลางถนน ความเร็วและแรงของรถและพายุ ทำให้รถสั่นไหว ความมืดเข้าปกคลุมชั่วขณะ อึดใจหนึ่งพายุทะเลทรายก็ผ่านพ้นไป

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาว อิหร่าน อยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

เป็นประสบการณ์ความตื่นเต้นมิรู้ลืม ระหว่างทางที่ดั้นด้นมาเยี่ยมเยียนสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดในโลกกลางทะเลทราย

ที่ยังไม่หยุดเจริญเติบโต

ระหว่างทางเราแวะพักเมืองยาซด์ (Yazd) เมืองโบราณสำคัญที่นักเดินทางสมัยก่อนรู้จักดี อยู่ใกล้ Silk Road เส้นทางการค้าเก่าแก่กลางทะเลทราย ได้ชื่อว่าแห้งแล้งที่สุด ด้วยปริมาณน้ำฝนมากสุดคือ 2.4 นิ้ว

มาร์โค โปโล เคยบันทึกว่า

“นี่คือเมืองที่งามสง่าและการค้าเฟื่องฟูมาก ชาวเมืองมีอาชีพทอผ้าไหมชนิดพิเศษเรียกว่า ยาซดี ซึ่งเหล่าพ่อค้าจะขนย้ายไปขายตามที่ต่างๆ”

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาว อิหร่าน อยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

เรามักสงสัยว่าคนโบราณอาศัยอยู่ได้อย่างไร ในภูมิอากาศอันร้อนแรงของแสงแดด แห้งแล้ง และขาดน้ำ

เราพบว่าชาวอิหร่านมีภูมิปัญญาในการปรับตัวและคิดค้นเทคโนโลยีให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติกลางทะเลทรายได้อย่างน่าทึ่งมานับพันปีแล้ว

บ้านในเมืองยาซด์ล้วนทำด้วยอิฐดิน มักมีชั้นใต้ดิน ขุดลึกลงไปให้มากที่สุด เพราะอุณหภูมิใต้ดินเย็นกว่าผิวดิน จึงเป็นเหมือนแอร์หรือพัดลมธรรมชาติ 

เพื่อนชาวอิหร่านเชื้อเชิญเราไปทานน้ำชาที่บ้าน พอเข้าไปบริเวณบ้าน เราไม่ได้เดินขึ้นบ้าน แต่เดินลงไปชั้นใต้ดินที่ขุดลึกลงไปหลายเมตร ลานหน้าบ้านปลูกต้นไม้ มีน้ำพุอยู่ตรงกลาง ถัดไปเป็นบ้านทำด้วยอิฐดิน แบ่งเป็นหลายห้อง อากาศเย็นสบายกว่าผิวดินจริงๆ

เขาบอกเราว่า ห้องเก็บอาหารอยู่ลึกลงใต้ดินไปอีก อากาศเย็นขึ้นช่วยถนอมอาหารได้ดี

เช่นเดียวกัน หากเรารู้จัก Dreamcatcher หรือเครื่องดักฝันของชาวอินเดียน เป็นตาข่ายรูปวงกลมเล็กๆ ผูกไว้เหนือเปลเด็ก 

เป็นความเชื่อเพื่อดักฝันดีและปล่อยฝันร้ายให้หลุดลอยไป

ในเมืองแห่งนี้ก็มี Windcatcher หรือหอดักลม (Badgir)

เราเดินขึ้นไปสังเกตหอดักลมชั้นบนของโรงแรม 3 ชั้นที่พักคืนนั้น มองออกไปรอบๆ เห็นหอดักลมบนหลังคาบ้านเรือนเต็มไปหมด หน้าตาเหมือนปล่องไฟ มีเสาเล็กๆ วางรายล้อมเหมือนช่องลูกกรง นี่คือหอดักลม เมื่อลมผ่านมาจะไหลลงมาในบ้าน บางครั้งจะพัดผ่านน้ำพุลานบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิ ทำให้อากาศในบ้านเย็นสบายเหมือนแอร์ธรรมชาติ

ปล่องลมยิ่งสูง ยิ่งดักอากาศได้ดี

แต่ขาดความเย็นอย่างไรก็ทรมานสู้ขาดน้ำไม่ได้ อันเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองกลางทะเลทราย จากปริมาณฝนอันน้อยนิด

คนอิหร่านเมื่อสองพันกว่าปีก่อนมีชื่อเสียงในการจัดการน้ำใต้ดินให้ขึ้นมาหล่อเลี้ยงผู้คนกลางทะเลทรายได้อย่างดีเยี่ยม และยังเหลือเฟือพอนำมาทำการเกษตรได้อีกต่างหาก

พวกเขาสร้างระบบอุโมงค์น้ำใต้ดิน (Qanat) โดยขุดแหล่งน้ำที่มีตาน้ำอยู่ระหว่างชั้นหินใต้ดินใกล้ผิวดิน และลำเลียงตามท่อใต้ดินไหลไปตามแรงโน้มถ่วงจนถึงที่รับน้ำปลายทาง อาจเป็นสระน้ำ น้ำพุ หรือแท็งก์น้ำในเมือง หรือตามเรือกสวน โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องปั๊มน้ำแต่อย่างใด

อุโมงค์น้ำใต้ดินกระจายไปทั่วประเทศ มีการพบว่า ระบบน้ำใต้ดินเชื่อมโยงกันมากกว่า 50,000 แห่ง แม้เกินครึ่งหนึ่งมีอายุนับพันปี แต่ก็ยังใช้การได้จนถึงปัจจุบัน

ความรู้ของคนอิหร่านเมื่อหลายพันปีก่อนยังทันสมัย และมีประโยชน์ต่อการอยู่รอดกลางทะเลทรายของพวกเขา

จากเมืองยาซด์ เรามุ่งหน้าไปเมืองอะบาคูห์ (Abakuh) เมืองเล็กๆ เพื่อแวะชมโรงเก็บน้ำแข็ง หรือ Yakhchal อายุนับพันปีที่ยังใช้การได้

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาว อิหร่าน อยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

รูปทรงภายนอกเป็นอาคารรูปโดมหรือทรงกรวยคว่ำขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยอิฐดินแทรกด้วยไม้อย่างหนาเพื่อความยืดหยุ่น

พอเดินฝ่าความร้อนเข้าไปภายใน รู้สึกได้ถึงความเย็นราวกับติดแอร์ ด้านบนสุดเปิดโล่ง เพื่อระบายอากาศร้อนที่ลอยขึ้นมา

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาว อิหร่าน อยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

ภายในเป็นพื้นโล่งและเป็นแอ่งเก็บน้ำแข็ง ในหน้าหนาวอากาศภายในเย็นจัด ทำให้น้ำที่เก็บไว้ภายในกลายเป็นน้ำแข็ง ผนังอาคารหนาทึบ เป็นฉนวนกันความร้อนช่วยรักษาอุณหภูมิความเย็นของน้ำแข็งให้คงสภาพไว้ได้นาน จนกลายเป็นตู้เย็นยักษ์กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านคนใดอยากใช้น้ำแข็งก็เข้ามาตักได้ หรือนำอาหารมาแช่กันบูดเหมือนแช่ตู้เย็น

ความรู้สึกในการมาเยือนทะเลทรายจึงมี 2 ด้านตลอดเวลา คือภายนอกร้อนรุ่ม ภายในเย็นสบาย

แต่เมื่อเดินไปสักพัก เพื่อจุดประสงค์การเดินทางครั้งนี้ จึงรู้สึกถึงความร่มเย็น

ต่อหน้าเราคือต้นสน Cypress ขนาดใหญ่ มีชื่อว่า Abarkooh Cypress เป็นสนไซเปรสชนิด Cupressus sempervirens สูง 25 เมตร เส้นรอบวงประมาณ 11 เมตร และแผ่กิ่งก้านออกมา 18 เมตร

ต้นสนไซเปรสยักษ์นี้คาดว่ามีอายุเก่าแก่มากกว่า 4,000 – 5,000 ปี 

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาว อิหร่าน อยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

ไม่น่าเชื่อว่ากลางทะเลทรายอันสุดแห้งแล้ง กลับมีต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมาได้อย่างงามสง่า ให้ความร่มเย็นแก่สิ่งมีชีวิตรอบๆ มาตลอดหลายพันปี จนแทบจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดที่ยังเจริญเติบโตต่อไป

เรายืนดูยักษ์ใหญ่ใจดีท่านนี้ด้วยความรู้สึกสงบอย่างบอกไม่ถูก

ท่านผู้เฒ่าคงผ่านโลกมายาวนานจริงๆ เห็นตั้งแต่มนุษย์ยังไม่มีอารยธรรมใดๆ เห็นความรุ่งเรือง ความล่มสลาย เห็นสงคราม เห็นความสงบของผู้คนหลายยุคสมัย

ผู้คนมากมายเปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัย แต่ท่านผู้เฒ่ายังอยู่ตรงนั้นเหมือนเดิม เป็นร่มเงาให้ผู้คนมาตลอดไม่ว่าจะเป็นผู้ใด

ทำให้เราคิดถึงสุภาษิตของกรีกบทหนึ่งว่า

“สังคมจะรุ่งเรือง ถ้าคนแก่ปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงาให้เด็กๆ โดยไม่คิดจะเข้าไปนั่งเอง” 

สักพักลมพัด ใบไม้ต้นไซเปรสพลิ้วไหวไปตามลมเหมือนคลื่นสีเขียว ถลาแล่นไปด้วยความเบิกบาน

ยิ่งจ้องมอง ยิ่งปีติ

ฝ่าพายุทะเลทรายไปเรียนรู้เทคโนโลยีพันปีที่ทำให้ชาว อิหร่าน อยู่เย็นได้กลางทะเลทราย

ขอขอบคุณ

สำนักพิมพ์วงกลม

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว