8 มกราคม 2025
1 K

อ้อย-อินทิรา ทัพวงศ์ วัย 62 ปี คือตัวแม่สายแฟชั่น

เธอเป็นอดีต Senior Designer Manager ที่อยู่คู่แบรนด์ไทยในตำนานอย่าง Jaspal มานานเกือบ 40 ปี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีดีไซเนอร์ไทยคนไหนที่ได้ทำงานกับซูเปอร์โมเดลระดับโลกมากมายเท่าเธอ ไม่ว่าจะเป็น Cindy Crowford หรือ Kate Moss เธอก็เคยร่วมงาน นอกจากนี้ เธอยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนออกแบบเครื่องแต่งกายในมหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย

ในฐานะลูกเพื่อนในแก๊งของเธอ เราเห็นน้าคนนี้ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่มีสักวันที่เธอดูจะหมดไฟลงไปสักที

หลังเกษียณจาก Jaspal เธอทำโปรเจกต์สนุกหลายอย่าง ไปเป็นที่ปรึกษาให้แบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ บ้าง เปิดโฮสเทลของตัวเอง อย่าง The Kheha ระดมเพื่อนศิลปินวัยเก๋านับสิบมาเพนต์กันจนสวยทั้งนอกตึก ในตึก และล่าสุดเธอเปิดแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองอย่าง ‘INA INTIRA’ ที่ตั้งใจร่วมงานกับศิลปินสายต่าง ๆ แบบไม่จำกัดกรอบ เช่น คอลเลกชันที่ทำร่วมกับ น้อย พรู ซึ่งกำลังจะเปิดขายในไม่ช้า

“รู้สึกเป็นเกียรตินะฮะที่ได้ทำงานนี้ ก่อนหน้านี้ก็มี 3 เจ้าที่ขอให้น้อยช่วยสวมเสื้อผ้าเขาหน่อย แต่ไม่เคยมีใครชวนให้น้อยมาออกไอเดียเหมือนพี่อ้อย นี่เป็นครั้งแรกเลย อยู่ดี ๆ น้อยก็รู้สึกว่าตัวเองเป็น Pharrell Williams หรือ Rihanna เลย” น้อย พรู เล่าอย่างอารมณ์ดี “สนุกดีนะ เหมือนเป็นนักแสดงที่ได้เรียนรู้ Art Form ใหม่ ๆ”

ท่ามกลางผู้คนโปรไฟล์ดีในวงการแฟชั่น บางคนจบนอก บางคนมาจากตระกูลที่เปิดห้องเสื้อมาแต่ไหนแต่ไร เธอคือเด็กชนชั้นกลางย่านบางลำพู ลูกข้าราชการธรรมดา แถมครอบครัวก็ไม่ได้สมบูรณ์นัก

แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ก็โดนครหามามากมาย แต่นั่นก็ทำให้เรื่องราวของเธอน่าสนใจ 

และเจ้าตัวรู้สึกภูมิใจมากที่ในที่สุดชีวิตก็มาถึงวันนี้ได้

รักเกิดที่บางลำพู

วัยเด็กของ อ้อย อินทิรา เป็นยังไงบ้างคะ

ที่บ้านน้าเป็นแนวข้าราชการ มีข้าราชการครู มีตำรวจ มีทหาร เป็นข้าราชการหมดเลย คุณแม่เรียนนาฏศิลป์ ไม่มีใครเรียนศิลปะเลย 

แต่อยู่ดี ๆ ก็เหมือนมีพรสวรรค์ในการวาดรูป ตอนประถม เพื่อน ๆ เห็นเราวาดสวยก็ชอบมาให้เราวาด หลัง ๆ ก็เริ่มเก็บตังค์ 2 บาท 5 บาท อะไรอย่างนี้ บางทีเพื่อนก็ได้คะแนนมากกว่าเราอีก (หัวเราะ) ตอนมัธยมที่สตรีวิทยา 2 เราเรียนวิชาศิลปะได้โดดเด่น จริง ๆ แล้วอาจจะเกี่ยวกับพ่อด้วย เขาเป็นตำรวจที่จบอุเทนถวาย เป็นคนเขียนแบบมาก่อนค่ะ

ความฝันในเส้นทางแฟชั่นเริ่มมาตั้งแต่เด็กเลยไหม

ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้มีความฝันมาก แต่บ้านอยู่บางลำพู ใกล้เวิ้งที่เขาเรียกว่า ‘สิบสามห้าง’ แถบนั้นทั้งแถบจะขายผ้า แล้วก็มีห้างแก้วฟ้า ห้างบางลำพู ตั้งฮั่วเส็งที่ขายอุปกรณ์การทำเสื้อผ้า จริง ๆ เป็นเหมือนย่านทำเสื้อผ้าเลยนะ เวลาขึ้นรถเมล์ไปเรียนเราก็จะไปขึ้นที่สิบสามห้าง รู้สึกว่า โอ๊ย สวยจังเลย แต่ก็ยังไม่ได้คิดอะไร

เราสอบ ม.1 โรงเรียนสตรีที่หนึ่งไม่ได้ เรามีญาติเป็นครูอยู่ที่นั่น เขาบอกว่าคะแนนเราได้ แต่ตกสัมภาษณ์ เพราะว่าอะไรรู้ไหม (เงียบไป) ตอนนั้นเขาถามคำถามเดียวเลยว่า พ่อแม่หย่ากันรึเปล่า เราก็บอกว่า พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันค่ะ ปรากฏว่าไม่ได้ 

อาจารย์ที่เป็นญาติบอกว่าเธอพูดอย่างนี้ทำไม เขาไม่รับเด็กมีปัญหา ตั้งแต่วันนั้นเราก็รู้สึกเลยว่าไม่ยุติธรรม นี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะใช้ตัดสินเรา แต่เราก็เรียนสตรีวิทยา 2 ไป ไม่เป็นไร 

ตอนนั้นอยากเข้าคณะอะไรเป็นพิเศษรึเปล่าคะ

ตอนแรกรู้แค่ว่าตัวเองชอบวาดรูปและมีความสามารถในการวาด แต่ไม่เคยรู้จักคณะมัณฑนศิลป์มาก่อน คิดว่าจบไปจะต้องเข้านิเทศฯ จุฬาฯ เข้าวารสารฯ ธรรมศาสตร์ เราชอบงานโฆษณาน่ะ ดูแมกาซีนแล้วก็ โอ้โห แอดนี้สวยจังเลย ดูทีวีแล้วก็ โอ้ย สนุกจังเลย อยากทำ

แต่พอคณะมัณฑนศิลป์เปิดติวแบบไม่เสียตังค์ เพื่อนก็ชวนมาติว เราตามเพื่อนไป เพิ่งรู้เลยว่า อุ๊ย มีวาดรูปเข้ามหาลัยด้วยเหรอ คณะนี้เจ๋งนะ มีทั้งศิลปะและออกแบบเลย แต่ก่อนเอนทรานซ์ต้องเลือก 6 อันดับ เราเว้นอันดับ 1 ไว้ ใจมันก็คิดว่านิเทศฯ จุฬาฯ หรือวารสารฯ ธรรมศาสตร์ แต่พอวันยื่นใบสมัครก็ตัดสินใจเขียนมัณฑนศิลป์ลงไป

คิดถึงการเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียนเลยไหม

ยัง ยังมุ่งมั่นที่จะเป็นนักโฆษณาอยู่ เราอยากเป็น Creative Director สมัยก่อนงานโฆษณานี่เจ๋งมากนะ (ยิ้ม)

ภาควิชาที่เข้ามาเรียนก็คือออกแบบนิเทศศิลป์ด้วย ตอนนั้นยังไม่มีแฟชั่นดีไซน์ แต่พอขึ้น ปี 2 – 3 มีวิชาเลือกแฟชั่นดีไซน์ มีเจ้าของแบรนด์ Noriko แบรนด์ญี่ปุ่นที่ขายในไทยมาสอน เรารู้สึกว่าชอบเหลือเกิน แล้วก็ทำได้ดีจนผิดสังเกตด้วย เหมือนว่าไม่ต้องคิดอะไรมากเลย เราทำได้โดยธรรมชาติ อาจารย์ก็ชม

ตอนนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของแมกาซีน มี เปรียว มี ดิฉัน มีเยอะเลยค่ะ ตรงท่าช้างมีขายเราก็ชอบไปเปิดดู วันหนึ่งเห็นว่าเป็นวันสุดท้ายที่ เปรียว เปิดรับสมัคร The Best Young Designer รุ่นที่ 2 พอดี น้าก็สเกตช์เสื้อผ้าคืนนั้นเลย โจทย์คือให้ออกแบบ 5 ชุด คืนนั้นทำเสร็จก็ไปส่งที่ เปรียว เองเลย เพราะว่าส่งไปรษณีย์ไม่ทัน (หัวเราะ) แต่ก็ได้รางวัลที่ 1 The Best Young Designer มา

สุดยอดมาก ๆ คนส่งเยอะไหมคะ

คนส่งหลายร้อยเหมือนกัน ตอนนั้นกำลังฮิตมาก มีรุ่นน้องมัณฑนศิลป์ที่ส่ง จากที่อื่นก็มี หลายคนมีอาชีพออกแบบเสื้อผ้ากันอยู่แล้ว แต่ก็ได้มาแบบงง ๆ

คิดว่าที่สำคัญคือ น้าได้ พี่ไข่-สมชาย แก้วทอง (Kai Boutique) ศิลปินแห่งชาติด้านแฟชั่นเป็นสปอนเซอร์ให้ เสื้อผ้าก็เลยออกมาโคตรเป๊ะ สวยเหมือนที่เราคิดเลย เดินออกมาแล้วก็สง่าเป็นที่ชื่นชม เลยได้รางวัลไป

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาทางนี้

พอเราได้รางวัลก็ได้ทุนไปเรียนแฟชั่นที่ฝรั่งเศส 1 เดือน ใจกลางปารีสเลยนะ ตอนนั้นไปกัน 6 – 7 คน คนอื่นเขาเสียตังค์ไป แต่เราได้ที่ 1 เลยได้ทุนไปเรียน

เรื่องที่เกิดขึ้นตอนสอบเข้า ม.1 ก็ยังฝังหัวอยู่นะ การที่เขาบอกว่าคนที่พ่อแม่แยกทางกันจะมีปัญหามากลายเป็นแรงใจของเรา แล้วมันก็ตัดสินเราไม่ได้จริง ๆ เราเรียนจบเกียรตินิยมอันดับ 2 ในตอนที่อันดับ 1 แทบไม่มีเลย เราไปประกวดนู่นนี่นั่น ถ้าตั้งใจทำอะไรเราก็ทำได้ดี ทำให้คนเลิกครหาว่าครอบครัวไม่สมบูรณ์ เราจะเสียคนไหม

เมื่อก่อนได้ยินคำแบบนี้ตลอดนะ เขาชอบพูดกันว่าจะเรียนจบเหรอ สมัยก่อนสังคมยังไม่ได้เปิด ทำงานแฟชั่นก็ดูอะไรไม่รู้ ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่หมอ แต่เราคิดว่า ต่อให้เจออะไร ถ้าเรารักดีเราจะรอดเสมอ

เวลาโลดแล่น

การเรียนแฟชั่นที่ฝรั่งเศสเป็นยังไงบ้าง

ระหว่างเรียนอยู่ในนั้นก็ทำได้ดีนะ เขาเรียนเหมือนที่เราเรียนมานี่แหละ สอนออกแบบ ทำ Composition อาจารย์ชมว่าเราทำได้ดี มีแค่วิชาแพตเทิร์นที่เราโดดไปเดินเล่นเพราะเราไม่เก่ง (หัวเราะ) เสียดายมาก อาจารย์เป็นผู้หญิงแก่ ๆ สอนทำแพตเทิร์น Moulage ถ้าเราเรียนอาจจะดีก็ได้ แต่ตอนนั้นเราไม่ชอบ

พอวันจะกลับ เจ้าของโรงเรียนก็มาถามว่า คุณจะทำงานที่นี่ต่อไหม เสื้อผ้าคุณสวย อยู่ที่นี่ได้สบายเลยนะ แต่เราบอกไปเลยว่า ไม่ แล้วก็ไม่ได้ถามเขาต่อเลยว่าฉันจะอยู่ยังไง ทำงานที่ไหน เพราะคิดว่าเราไม่มีเงิน ภาษาก็ไม่ได้ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะอยู่ก็ได้ แต่เราเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง

กลัวเหรอ

ใช่ กลัว ยุคนู้นมันไม่ง่าย ไม่อยากเสี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ยังเสียดายจนถึงทุกวันนี้เลย

สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาทำงานที่ไทย

สักพักก็อยากไปทำงานโฆษณาอีก แต่บังเอิญมีคนไปทำงาน Gazebo เขาให้เงินเดือน 8,000 บาท ซึ่งเยอะมาก ๆ สำหรับสมัยนั้น เลยเลือกไปเป็นดีไซเนอร์

ทำอยู่สักพักก็มีคนชวนไปสมัคร Jaspal ไปถึงเจ้าของเขาก็โยนตัวอย่างผ้าของญี่ปุ่นให้ 2 – 4 เล่ม ให้ไปออกแบบมา พอยื่นแล้วเขาก็บอกว่าจะโทรกลับนะ เรารออยู่เกือบเดือน หางานทำไปเรื่อย ๆ ไปเป็นคอสตูมละครบ้าง คอสตูมให้แกรมมี่บ้าง ละคงละครอะไรก็ทำ เขียนภาพประกอบหนังสือก็ทำ จนเขาโทรมาบอกว่ามาได้เลย

ซึ่งก็อยู่ Jaspal ยาวถึง 40 ปี!

เกือบ 40 ปีนะ ตั้งแต่เขาเป็นออฟฟิศเล็ก ๆ มีอยู่ 4 สาขา ลาดพร้าว สยาม อัมรินทร์ ราชดำริอาเขต และมีเราเป็นดีไซเนอร์คนเดียว

ทำไมถึงอยู่นานขนาดนั้นคะ

ก็… (นิ่งคิด) 

ต้นทุนที่บ้านเราไม่สูง เปิดอะไรเป็นของตัวเองไม่ได้ ที่นี่เงินเดือนดี เจ้านายก็ไม่ได้กำหนดอะไรเรามาก กลับไปดูงานสมัยก่อนแล้วก็คิดนะ หูย ออกแบบอะไรว้า แต่เขาก็เชื่อใจให้เราทำเต็มที่ เราก็เลยทำทุกอย่างที่อยากทำ ไปถ่ายแบบก็สนุกสนาน ได้รู้จักคนในวงการพอสมควรเลย

บรรยากาศในวงการแฟชั่นยุคนั้นเป็นยังไงบ้างคะ

ตอนนั้นมีแบรนด์พิจิตรา, SODA POP, THEATRE, GREYHOUND มีแบรนด์ดัง ๆ อยู่ 5 – 6 แบรนด์ ถ้าตลาดแมสหน่อยก็จะมี โดม่อน ส่วนดีไซเนอร์ดัง ๆ ก็มีพี่ไข่, ป้อม-ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ หรือ ปริญญา มุสิกมาศ

เมื่อก่อนดีไซเนอร์หลายคนจบจากเมืองนอก จากฝรั่งเศส บางคนก็มาจากครอบครัวรวย ๆ หรือตระกูลที่ทำเสื้อผ้า มีห้องเสื้ออยู่แล้ว แต่เรานี่เด็กบางลำพูนะ โปรไฟล์ธรรมดามาก เข้าวงการมาจากการประกวด ดีที่อยู่คณะมัณฑนศิลป์ คนคงคิดว่าไอ้เด็กคนนี้คงมีดีอะไรแหละ

แต่พอไม่ได้คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เราก็ไม่มีอัตตามาก นอบน้อม ให้เกียรติคนอื่น ดีไซเนอร์ท็อป ๆ สมัยนั้นก็เอ็นดู

งานไหนที่ Jaspal ที่รู้สึกภูมิใจเป็นพิเศษ

มันเยอะไปหมดเลย ภูมิใจทุกงาน ต่อให้เป็นแค่ 3 ชุดที่เอาไปถ่ายแบบ แล้วเห็นงานเราออกมาเป็นหนังสือก็ภูมิใจแล้ว 

ภูมิใจที่สุดอาจจะเป็นตอนที่ Jaspal จัดแฟชั่นโชว์ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นงานยิ่งใหญ่มาก ทุกคนในวงการแฟชั่นมางานนี้ มี พีท ทองเจือ เอามอเตอร์ไซค์ขึ้นไปขี่ เป็นกึ่ง ๆ โชว์ ซึ่งใหม่มากสำหรับสมัยนั้น แล้วเราก็เป็นแบรนด์แรกที่ให้คนหลากหลายมาเดิน นอกจากนางแบบ มีคนแก่แต่เก๋ มีคนอ้วน ถ้าให้นึกก็คงเป็นงานนี้ค่ะ

เห็นว่าเคยได้ทำงานกับนางแบบระดับโลกหลายคนเลย

ใช่ ทำในนามของ Jaspal เราก็ส่งพอร์ตไปให้เอเจนซี่เขาดู

คนแรกที่เริ่มทำก็คือ Cindy Crawford แล้วก็ Claudia Schiffer, Linda Evangelista, Kate Moss, Milla Jovovich, Gisele Bündchen สมัยก่อนทำปีละคนเลย เราพยายามทำให้แบรนด์ Jaspal เป็นอินเตอร์ ตอนนั้นเป็นที่ฮือฮามาก

ทุกคนน่ารักหมดเลย บางครั้งนางแบบจะมีอีโก้สูง แต่ถ้าเป็นมืออาชีพจริง ๆ จะธรรมดามากและให้เกียรติดีไซเนอร์ เขาจะชอบหรือไม่ชอบชุดเรา เขาก็พรีเซนต์เต็มที่ ช่วยให้มันออกมาดีที่สุด อย่าง Cindy Crawford ก็น่ารักมาก เขาแค่บอกว่าให้ระวังผมนะ เพราะผมเขาประกันไว้

หมายถึง ถ้าเสียหายจะได้เงินประกันเหรอ

ใช่ ๆ มันเป็นประกันความงาม ถ้าเราไปทำผมเขาไหม้เขาก็อาจจะได้เงินประกัน คนทำผมก็มือสั่นเลย (หัวเราะ)

ตอนนั้นวงการแฟชั่นไทยกับต่างประเทศต่างกันมากไหมคะ

ไม่ต่างกันเลย ทางของเราก็มีดัง ๆ อยู่ไม่กี่คนนะ มี พี่ม้า-อรนภา กฤษฎี, รุ่งนภา กิตติวัฒน์, อิสรีย์ พินิจภูวดล ส่วนต่างประเทศก็มีไม่กี่คน สมัยก่อนการเป็นนางแบบต้องเพอร์เฟกต์ แต่สมัยนี้ไม่ต้องก็ได้ แค่มีคาแรกเตอร์ก็พอ คิดว่าเพิ่ง 10 ปีเองที่นายแบบ-นางแบบไม่ต้องเพอร์เฟกต์และเป็นเพศอะไรก็ได้ ซึ่งสนุกนะ

แล้วในมุมของการเป็นนักออกแบบ ทุกวันนี้เปลี่ยนไปยังไงบ้างคะ

ยุคนั้นไม่ได้มีแบรนด์เยอะ ทำอะไรก็ขายได้ บางทีน้าออกแบบอะไรไม่รู้ก็ยังขายได้ มันสนุกมากเลย แต่ตอนนี้ยากมาก นอกจากเรื่องเศรษฐกิจก็เป็นเพราะมีแบรนด์ต่าง ๆ เข้ามา ทั้งแบรนด์นอก แบรนด์ IG ที่ประสบความสำเร็จกัน

แฟชั่นดีไซเนอร์อยู่ยากกันพอสมควรนะคะ ต้องสร้าง Brand Identity ของตัวเองให้เด่น แล้วก็จะต้องอาศัยมาร์เก็ตติงในโซเชียลมีเดีย สมัยก่อนจะลงแอดก็ขึ้นบิลบอร์ดตามถนนใหญ่ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เลย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว

นักถ่ายทอดวิชา

ทำไมถึงมาสอนที่คณะมัณฑนศิลป์ได้

มาสอนตั้งแต่เขาเปิดเป็นภาคต่อเนื่อง คือเรียนจบ ปวส. จากที่ไหนก็ได้ แล้วมาต่อที่นี่อีก 2 ปีเพื่อได้ปริญญาตรี พอเขาเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดี เขาก็เปิดเป็นภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกายขึ้นมา เป็นหลักสูตร 4 ปีปกติ เราก็อยู่มาตั้งแต่แรกเลย วางหลักสูตรให้ แล้วก็สอนมา 10 กว่าปี

เหนื่อยมากนะ เราไม่ใช่คนที่สอนตามสไลด์ แต่ต้องคอมเมนต์เขาตัวต่อตัว ไอเดียของเด็กมาจากหลายที่ เราหมดแรงเลยหยุดไปเกือบ 5 – 6 ปี แล้ว อาจารย์เล็ก อนุกูล (อนุกูล บูรณประพฤกษ์) ก็มาคุยว่าถึงเวลาที่ต้องสอนให้เด็กอยู่กับความเป็นจริง รู้จักตลาดแล้ว เลยกลับมาสอน Ready to Wear หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งก็กึ่ง ๆ ว่าเอาประสบการณ์จาก Jaspal มาสอนเด็ก ๆ ว่าเป็นดีไซเนอร์ควรรู้อะไรบ้าง

อะไรคือสิ่งที่มักจะสอนเด็ก ๆ เสมอ

สอนเรื่องความเป็นจริงในการดีไซน์เสมอ

เราต้องดูว่าเราจะขายใคร เธอไม่ได้ทำชุดเพื่อไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์นะ เธอต้องทำให้คนมาซื้อของของเธอ แล้วออกไปทำงานเธอต้องเจอกับอะไรบ้าง ไม่ใช่ทุกคนจะต้อนรับเธอเสมอนะ ไปเจอช่างแพตเทิร์น คุณต้องวาดแบบให้รู้เรื่อง ไม่งั้นช่างจะด่านะ อาจารย์ยังเคยโดนด่าเลย อย่าคิดว่าตัวเองเป็นดีไซเนอร์แล้วจะเลิศลอย ไม่ใช่

มีอะไรที่ได้เรียนรู้จากเด็ก ๆ แต่ละรุ่นบ้างไหมคะ

อย่างหนึ่งที่ทำให้อยากมาสอน คือเราจะได้อะไรใหม่ ๆ จากความคิดเด็กรุ่นใหม่ตลอด ทำให้เราไม่เชย รู้เทคโนโลยี รู้โลกของเด็กวัยรุ่น มันน่าตื่นเต้นนะ

อย่างเช่นอะไรบ้างคะ

เช่น ให้ออกแบบโดยมีแรงบันดาลใจจากอะไรก็ได้ สมัยเราก็จะมีดนตรี หนังคลาสสิกยุคสมัยต่าง ๆ แต่ตอนนี้พอเขาทำมาเราก็ไม่รู้จัก คอลเลกชันหนูมาจากเกมดังค่ะ เราก็ต้องไปถามลูก ลูกบอกว่าเกมนี้ดังมากเลยแม่ บางทีก็มาจากหนังดาร์ก ๆ บ้างก็วงเกิร์ลกรุ๊ป เราจำเป็นต้องรู้ ไม่งั้นเราจะไปสอนเขาได้ยังไงว่าเขาทำชุดเข้าคอนเซปต์วงไหม 

ล่าสุด อาจารย์มาถ่าย OOTD (Outfit of the Day) กันไหม เราก็งงว่าถ่ายอะไร แต่ก็ถ่ายด้วย (หัวเราะ) เขาบอกอาทิตย์หน้าอาจารย์ถ่ายอีกนะ เดี๋ยวนี้ทุกอย่างต้องเป็นคลิปไปหมด แล้วก็แปลกที่ทุกคนมีอิสระในความคิดมาก ๆ แต่ก็ยังเป็นเด็กที่น่ารัก บางคนบอกว่าแต่งตัวเปรี้ยวปรี๊ดแบบนี้ เจาะจมูก เจาะปาก สัก คงจะวีนเหวี่ยง แต่ไม่นะ กลับกลายเป็นพูดจาน่ารัก มีสัมมาคารวะ

ความจริงเด็กไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนหรอก เพียงแต่เขากล้าแต่งตัวมากขึ้นหรือนำเสนอความเป็นตัวเองออกมา

เป็นคนที่เด็กไม่กลัวใช่ไหม

คิดว่าไม่กลัวนะ เขาก็จะเรียกเราแม่ทุกคน แล้วเราก็ไม่ได้สอนเป็นวิชาการ เรามาแชร์ประสบการณ์มากกว่าสอน แต่ก็บอกว่าเธอต้องมาเรียนให้ตรงเวลานะ อย่ามาช้า เวลาพูดกันก็อย่าเสียงดัง เดี๋ยวอาจารย์ห้องข้าง ๆ จะด่าเอา แล้วส่งงานเสร็จจะไปไหนก็ไป การเรียนศิลปะ เรียนออกแบบ ต้องเรียนอย่างมีความสุข เครียดไม่ได้ ว่าง ๆ ก็แจกตังค์ไปกินเต่าบิน (หัวเราะ)

บางทีเห็นเด็กสักก็ถาม เจ็บมั้ยอะ สวยดี เขาก็บอก ถ้าใกล้กระดูกมันจะเจ็บ เด็กผู้หญิงสักทุกคนเลยตอนนี้ เคยคุยกับเด็กสนุก ๆ ว่าก่อนตายฉันอยากสักเหมือนกัน

พ่อแม่สมัยนี้ยังห่วงว่าลูกเรียนแฟชั่นจะจบไปทำอะไรอยู่ไหมคะ

พ่อแม่สมัยนี้เปิดใจค่ะ เขาอายุประมาณ 40 – 50 กว่า เขาก็ยังเป็นคนรุ่นใหม่นะ

เวลาเราสอนเรื่องเทรนด์แฟชั่น แล้วให้โจทย์ว่าอาทิตย์นี้ให้แต่งตัวเทรนด์ยุค 60 เด็กก็มาบอกว่า แม่หนูตื่นเต้นมาก ตื่นเช้ามาคอยเฝ้ามองว่าลูกจะแต่งชุดอะไรมา ก็น่ารัก ชื่นใจ

โห แปลว่าทุกคนจะต้องไปซื้อชุดมาเรียน

ไม่ ใครมีตังค์ก็ซื้อ ใครไม่มีตังค์ก็เอาชุดที่มีมาแมตช์ให้มันได้ลุค เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องของ Styling ด้วยนะ ไม่ต้องเป๊ะ ๆ แต่ให้มีกลิ่น อย่างน้อยเขาก็ได้มีศึกษา เขาก็จะบอกว่าลายหนูไม่เป๊ะนะ หนูหาลาย Geometric แบบยุค 60 ไม่ได้ หนูเอาลายจุดมาใส่แทน อะไรอย่างนี้ เป็นวิธีการสอนของเราที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ใครแต่งถูกก็มีรางวัลให้

ตอนนี้เรียนจบแล้วไปทางไหนได้บ้าง

เดี๋ยวนี้แทบทุกมหาลัยมีวิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย เด็กจบออกไปบางคนเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ บางคนเป็นสไตลิสต์ บางคนทำแบรนด์ของตัวเอง บางคนก็ไปทำแบรนด์ที่อยู่ใต้แบรนด์ใหญ่ ๆ อีกที บางคนไปเปิดแบรนด์ในอินสตาแกรม ไปทำคอสตูมนักร้อง ทำคอสตูมให้ละคร หรือให้ดาราเดินพรมแดงก็มี หลากหลายค่ะ

ก้าวออกมาเป็นตัวเอง

ทำไมถึงเริ่มทำแบรนด์ตัวเองอย่าง INA INTIRA ได้คะ

อยู่ Jaspal เขามี Brand Identity ของเขา ถึงจะเป็นเราด้วยครึ่งหนึ่ง แต่ก็มีกรอบอยู่พอสมควร มันแหวกออกมาไม่ได้ แล้วก็ต้องทำแต่เสื้อผ้าผู้หญิง และต้องทำให้ขายดีด้วย

พอเกษียณออกมาแล้วก็ได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท LME ซึ่งมีแบรนด์ในเครือ 4 – 5 แบรนด์ เพราะเป็นคนไม่ค่อยอยากอยู่นิ่ง ๆ ตอนโควิดแล้วออฟฟิศปิด 1 เดือน นอนป่วย เวียนหัวอยู่บ้าน (หัวเราะ) พอออกไปทำนู่นทำนี่รู้สึกตัวเองสบายดี เลยอยากทำแบรนด์ของตัวเอง

ก็มาคิดว่าเราทำงานเบสิก ทำงานขายมาทั้งชีวิต ต่อให้จะทำแปลกยังไง มันก็กลายมาเป็นชิ้นที่ไม่ได้ยากอยู่ดี พอเห็นแบรนด์เมืองนอกทำงานกับศิลปิน เห็น Louis Vuitton ทำงานกับ Yayoi Kusama ก็เลยอยากทำบ้าง ฉันก็มีเพื่อนที่เป็นศิลปินและชอบงานเขา จ๊วด-วรเศรษฐ์ นพอภิรักษ์กุล อยู่ในเสื้อน่าจะสวย เลยเลือกเพื่อนนี่แหละ อย่างน้อยมันก็ร่วมมือกับเรา (หัวเราะ)

ซึ่งคอลเลกชันใหม่ที่กำลังออกมาได้ไปคอลแล็บกับ พี่น้อย พรู ด้วย

พอได้ทำกับจ๊วดก็คิดว่าสนุกดีนะ เริ่มรู้สึกว่าเป็นไอเดียที่ดี อยากจะทำกับศิลปินที่เขามีคาแรกเตอร์หรือโดดเด่นในทางอาร์ต ก็เลยนึกถึงคุณน้อยที่เป็นศิลปินทางดนตรี

พอลองฟังไอเดียเขาว่าอยากเล่าเรื่องอะไรแล้วก็สนุก เขามีความฝันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เป็นผีเสื้อ เป็นดักแด้ เอเลียน หนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ มาจนถึงหนังเรื่อง The Crow ที่เขาชอบ น้อยอยากได้อันนี้แหละ อันนี้คิดเพิ่มมาแล้ว เราก็ถาม เปลี่ยนเรื่องอีกแล้วเหรอคะ (หัวเราะ) เราจะกำหนดเขาไม่ได้ เราต้องไปตามเขา เขาเป็นศิลปินและมีความตั้งใจมาก เขาไม่ได้คิดเลยว่าเวลาที่มาคุยกับเรามันเป็นเวลาเงินเวลาทองของเขานะ

สุดท้ายก็ต้องทำให้ความต้องการของเขากับเขาเรามาอยู่ด้วยกันให้ได้ โดยให้ความต้องการของเขาเป็นหลัก

เขาอินเรื่องอะไรคะ

เขาอินเรื่องความแตกต่างของคน และคนที่แตกต่างก็ถูกมองเป็นเอเลียน มองเป็นอีกาที่เป็นความโชคร้าย ความไม่ดี เขาคิดว่าคนแตกต่างต้องมีที่ยืนในสังคม เราก็เอาความคิดเขามาใส่

ตอนนี้เพิ่งจะถ่ายแบบกันเสร็จไป คุณน้อยเขาเอ็นข้อเท้าฉีก กระดูกอ่อนแตกจากคอนเสิร์ตก่อนวันมาถ่าย ต้องเข้าเฝือกอ่อน แต่วันที่มาเขาตั้งใจเต็มที่มาก ประทับใจมาก เขาถอดเฝือกออก ถ่ายกันตั้งแต่บ่ายโมงถึง 3 ทุ่ม จนเท้าบวมเลยนะ ให้ทำอะไรเขาก็ทำหมด ถอดเสื้อนอนพื้น จุ่มมือในถังสี เขียนหน้า มีความรู้สึกว่าเราเลือกไม่ผิดเลย เรามีแพสชันซึ่งกันและกัน พอทำงานร่วมกันก็เลยสนุกมาก ๆ 

ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่าเราชอบทำเสื้อผ้าผู้ชาย อาจเพราะว่า 30 – 40 ปีที่ผ่านมาได้ทำแต่เสื้อผ้าผู้หญิง แล้วโชคดีที่สมัยนี้ไม่มี Gender ผู้ชายก็ใส่เสื้อผ้าที่กึ่ง ๆ ผู้หญิงหน่อย Unisex หน่อย เขาใส่เสื้อผ้าได้หลากหลาก มันก็เลยสนุกดี ไม่เคยทำ

เห็นว่าคอลเลกชันนี้มีงานปักของคนในเรือนจำด้วยเหรอ

มีเซตหนึ่งที่เอาเอางานปักไปให้คนในคุกได้สร้างอาชีพ ในคุกจะมีครูที่เข้าไปสอน เขาก็ปักกันเก่ง แต่ตอนนี้มีเปลี่ยนแปลงระบบข้างใน อาจจะต้องรอฟังว่าจะสร้างอาชีพต่อไปได้ไหม แล้วก็มีสร้อยเส้นหนึ่งให้เด็กตาบอดเป็นคนร้อยด้วย

มีแผนการทำงานต่อไปรึยังคะ

ตอนนี้มาทำโครงการ Re-skill, Up-skill ให้กับ Soft Power ด้านแฟชั่น ได้ไปเจอกับชาวบ้านนราธิวาสที่มีความสามารถในการปักมาก แต่อยู่ต่างจังหวัด ไม่มีโอกาส ไม่มีรายได้ ซึ่งราชการเข้าก็พัฒนากันอยู่แล้ว แต่เราเข้าไปช่วยต่อยอดให้มันเป็นเสื้อผ้าที่ขายได้ อนาคตเราก็อาจจะมีการทำงานร่วมกับชาวบ้านได้เหมือนกัน

เวลาเห็นแฟชั่นระดับโลก เราจะพอดูออกว่าอันนี้มาจากญี่ปุ่น อันนี้มาจากฝรั่งเศส แล้วไทยล่ะ คิดว่าแฟชั่นไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอะไรบ้าง

เรื่อง Fabric ผ้าไทยที่เป็นงานคราฟต์เก๋ ๆ ดี ๆ เรามีเยอะนะ คนไทยมีฝีมือ ในโรงงานอุตสาหกรรมเขาก็พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งก็สงสัยว่าทำไมไม่โปรโมตหรือโชว์ออกมากัน 

ส่วนดีไซน์เราไม่กลัวอยู่แล้ว ดีไซเนอร์เราเก่ง แต่เราก็ต้องคุยเรื่องเดียวกันที่โลกคุย มันถึงจะประสบความสำเร็จ

อยากเห็นอะไรในวงการแฟชั่นไทยต่อไปคะ

อยากให้วงการแฟชั่นไทยได้ไปสู่สากล ให้เป็นที่ยอมรับเหมือนประเทศอื่น ๆ อยากให้มี Fashion Week เหมือนนิวยอร์ก มิลาน ปารีส แต่เป็น Bangkok Fashion Week จริง ๆ เราก็มี Bangkok International Fashion Week หรือ BIFW แต่ยังไม่ได้เป็นเมืองแฟชั่นระดับสากล เราอยากให้มันเป็นแบบนั้น เหมือนโตเกียว อาจจะต้องช่วยกัน ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป 

ย้อนดูชีวิต

ยังดูสนุกอยู่เลย

ทุกคนถามว่าเอาแรงมาจากไหน อยากขอคำแนะนำ แต่จริง ๆ เป็นแพสชัน ยังทำได้ก็ทำ ไม่รู้จะหยุดเมื่อไหร่ ไม่อยากกำหนดตัวเองว่าอายุ 60 แล้วต้องอยู่บ้าน แฟชั่นมันมีอะไรใหม่ ๆ ให้รู้สึกท้าทายตลอดเวลา พอดูงานคนอื่น ดู Catwalk ดูแมกาซีน ดู Pinterest ก็ยังอยากทำต่อ เหมือนไอเดียเรายังไม่จบ 

เบิร์นเอาต์บ้างแต่ก็แค่วันเดียวที่ไปเจออุปสรรค พอมานั่งคิดดูแล้วเราก็ไม่ได้เบิร์นเอาต์จากงาน แต่มาจากคน อย่าให้เขามามีอิทธิพลกับชีวิตเรา อะไรที่มีความสุขก็ทำไป ไปเจอคนที่ไม่เวิร์กก็เดินออกมา ชีวิตฉันยังมีคนที่ดี ๆ รอบตัว

เคยคิดมั้ยคะว่าชีวิตจะมาไกลขนาดนี้

ไม่เคยคิดเลย เราเป็นเด็กบ้าน ๆ อยู่บางลำพู ในครอบครัวข้าราชการ ครอบครัวก็ไม่สมบูรณ์ ไม่คิดเลยว่าจะได้ออกแบบเสื้อผ้า และมาไกลถึงขนาดนี้ ขอบคุณตัวเองตลอดที่ไม่ยอมแพ้ ล้มแล้วลุกมาได้ทุกครั้ง

จนถึงตอนนี้ มีอะไรที่รู้สึกอยากกลับไปแก้ไขไหมคะ

อยากกลับไปฝรั่งเศส (หัวเราะ)

ถ้าได้ไปอยู่ที่นั่นชีวิตก็คงต่างออกไปแหละ อาจจะกลายเป็นดีไซเนอร์ไทยที่ดังอยู่ฝรั่งเศสก็ได้ เหมือนดีไซเนอร์ญี่ปุ่นที่ไปดังที่ฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้รู้สึกเฉย ๆ เพราะก็ประสบความสำเร็จอย่างอื่นในชีวิต แต่อาจจะประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้ใช่ไหม เพิ่งมารู้สึกเสียดายตอนสัมภาษณ์นี่แหละ (หัวเราะ) เออ ทำไมเราไม่กล้าเสี่ยงนะ

ถ้ามีลูกศิษย์มาปรึกษาว่าได้โอกาสแบบนี้บ้าง จะเชียร์ไหม

ไปเลย! มันยุคไหนแล้ว ภาษาอะไรเราก็มี Google Translate (หัวเราะ) จะบอกเขาว่า มีโอกาสดี ๆ ต้องคว้าไว้ก่อน อะไรเข้ามาทำให้หมด ตราบใดที่เธอยังมีความรักดี เธอจะไม่ไปอยู่กับสิ่งไม่ดี 

การจะเจอทางของตัวเองไม่ใช่แค่นั่งนึกว่าเราชอบอะไร เราต้องลงไปศึกษา ไปลงมือทำมันจริง ๆ 

พอเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ คาดหวังกับลูกเยอะไหมคะ

ไม่เลย คาดว่าให้ทำอะไรก็ได้ให้ตัวเองมีความสุข ไม่ต้องคาดหวังว่าจะเป็นเศรษฐี เถ้าแก่น้อยร้อยล้าน ไม่ต้องเลย แค่หาเลี้ยงตัวเองให้ได้ ใช้ชีวิตให้มีความสุข เจอกัลยาณมิตร มีครอบครัวที่ดี ถ้าได้งานนี้ล้านหนึ่ง แต่ทำแล้วไม่มีความสุข เธอไปรับงาน 2 แสนที่ทำแล้วมีความสุขดีกว่า

ส่วนเราเอง ตอนนี้ก็หาความสุขในการทำงานเหมือนกัน ยังคิดอยากทำเสื้อ อยากทำแฟชั่นโชว์ ถึงตอนถ่ายแบบจะปวดหัวกัน แต่เห็นงานเราออกไปแล้วมีคนใส่ก็มีความสุข หรือบางทีได้นั่งคุยถึงปัญหาที่เจอในแต่ละวันกับลูกแล้วก็ขำกันไป ดูทีวี ทานอะไรอร่อย ๆ ไป อันนั้นก็คือความสุขแล้ว

ภาพ : อินทิรา ทัพวงศ์, วิทยา มารยาท

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง