นับถอยหลังไปเมื่อ พ.ศ. 2548 โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย มีโอกาสเข้าร่วมศึกษาการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการจาก โรงเรียนรุ่งอรุณ ทำให้เราได้แนวคิดดี ๆ และเอาความรู้ต่าง ๆ มาปรับใช้กับความเป็นท้องถิ่นของเราเอง เพราะโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนวิถีชุมชนท้องถิ่น การเรียนรู้จึงยึดหลักการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่ชีวิต มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนให้ใช้ความรู้เป็นและเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และสังคม (Knowledge-based Society) 

เรานำโจทย์ปัญหาจริงในสังคมหรือประเด็นวิกฤตปัญหาโลกมาเป็นแกนหลักของการเรียนรู้ ผ่านการลงมือทำบนบริบทจริงของโรงเรียน สภาพของปัญหาของสังคม และผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ไข เพื่อเป้าหมายการพัฒนานักเรียนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen) และพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านกระบวนการคิดและปฏิบัติจริง เน้นกิจกรรมแบบบูรณาการ การเรียนรู้จากฐานปัญหา (Problem Based Learning) การเรียนรู้แบบสร้างและพัฒนานวัตกรรม หรือเรียกว่า การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Based Learning) ตามแนวทางพัฒนา กระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบ Active Learning 

วิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา วิชาเอาตัวรอดที่สอนเด็ก ๆ มองเห็นคุณค่าท้องถิ่น จ.ขอนแก่น

เราตั้งชื่อวิชาว่า ‘วิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา’ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการบูรณาการระหว่างวิชา เป็นการเชื่อมโยงหรือร่วมศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 สาขาวิชาขึ้นไป ภายในหัวเรื่องเดียวกัน เป็นการเรียนรู้โดยใช้ความรู้ความเข้าใจและทักษะในศาสตร์ หรือความรู้ในวิชาต่าง ๆ มากกว่า 1 วิชาขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาหรือแสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การเชื่อมโยงความรู้และทักษะระหว่างวิชาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง 

เราไม่ได้สอนเพียงผิวเผิน แต่จัดกระบวนวิชาให้ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากขึ้น เพื่อให้เขาใช้ได้จริงในชีวิต

มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกทักษะผู้เรียน เตรียมความพร้อม เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ กิน-อยู่-เป็น หมายถึง กินอย่างรู้คุณค่า อยู่อย่างมีความหมาย และเป็นพลเมืองที่เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยผู้เรียนวิชานี้ก็คือ นักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย

วิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา วิชาเอาตัวรอดที่สอนเด็ก ๆ มองเห็นคุณค่าท้องถิ่น จ.ขอนแก่น

และด้วยภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทาง โรงเรียนของเราเปิดเรียนตามปกติไม่ได้ และเพื่อเป็นการสร้างการเรียนรู้ ไม่ให้นักเรียนเกิดสภาวะถดถอยและหลุดจากระบบ จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้เรื่องข้าวหลากสี บทเรียนกินได้ และการทำ Eco Printing ลงบนผ้า โดยสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียนและผู้ปกครอง 

แน่นอนว่าจากสถานการณ์ โควิด-19 ที่รุมเร้ามาเกือบ 3 ปี ทำให้ชีวิตใครหลายคนล้มลง แต่ทว่าเรายังมีแรงสู้ต่อจากคนที่รักและครอบครัว แม้แต่เราเองที่เป็นครูก็อยากสานฝันให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ อยากพาไปตะลุยเรียนรู้ที่ต่าง ๆ เหมือนเคยทำมา เพื่อต่อยอดให้เขารู้จักตัวเองและเลือกเรียนสาขาที่ถนัด หรือสิ่งที่เขาต้องการต่อยอดในอนาคตได้ แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การจัดการเรียนรู้ของนักเรียนหยุดไป แต่การเรียนรู้ของนักเรียนชั้น ม.3 หยุดไม่ได้ เพราะการเรียนรู้ของเด็กต้องไปต่อ เราจึงมองวิกฤตเป็นโอกาส เพราะเด็กที่โนนชัยพื้นฐานครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย

เราเลยชวนเด็ก ๆ หันกลับมามองตัวเองว่า ถ้าเราจะกินข้าวในหนึ่งมื้อ เพื่อลดภาระ ลดค่าใช้จ่าย เราจะทำอย่างไร โดยอาหารเหล่านั้นเป็นอาหารที่ประหยัดและมีคุณค่า เราควรหันมาใส่ใจครอบครัว เพราะเราเห็นว่า พ่อแม่ของเด็กหลายคนโดนเลิกจ้างงาน ไม่มีรายได้ แต่ในชีวิตประจำวันของเด็กยังมีรายจ่าย ก็เลยคิดว่าจะทำอะไรดีให้เด็กต่อยอดได้ในภาวะนี้ เลยนึกถึงเรื่องการทำอาหาร กลายมาเป็นการบูรณาการเรื่องอาชีพสร้างสรรค์ บทเรียนกินได้ บทเรียนติดปีก บทเรียนชีวิต และโภชนาการบนถาดหลุม การบูรณาการของเราไม่หยุดเดิน เพราะทุกคนต้องลุยกันต่อ

การจัดการเรียนการสอนแบบ On-Site เรามีการประสานผู้ปกครองเพื่อขออนุญาตนักเรียนก่อนออกจากบ้าน เพราะกระบวนการเรียนรู้ต้องมีการสืบค้นข้อมูลด้วย อย่าง ‘โภชนาการบนถาดหลุม’ เราชวนเด็ก ๆ เลือกอาหารในแบบที่เขาอยากกิน แต่ต้องคำนึงถึงความพอเพียง พอดี พอประมาณ โดยนักเรียนมีสิทธิ์เลือก และเราให้เขาคิดหาเมนูที่ชอบ ครบหลักโภชนาการ คาว หวาน มาหมด จากนั้นวิเคราะห์คุณค่าโภชนาการ เพื่อให้เด็ก ๆ รู้จักคุณค่าทางโภชนาการของเมนูอาหารที่ตนเองเลือก พร้อมทั้งให้นักเรียนประกอบอาหารที่นักเรียนเลือก อย่างเมนูกะเพราหมูกรอบ เมนูธรรมดา แต่จะทำอย่างไรให้ไม่ธรรมดา เห็นแล้วว้าว มีคุณค่าทั้งเบื้องหน้าและภายในใจ จึงเกิดไอเดียข้าวหลากสีขึ้นมา

เราเลือกวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในบ้าน ท้องถิ่น ชุมชน ในความโชคร้ายกับภัยร้ายแบบนี้ เรามีความโชคดีคือ นักเรียนปลูกมะลิไร้สารเคมี จึงคิดเป็นเมนูข้าวกลิ่นมะลิ (หอมมากกก) นักเรียนอีกคน หนูมีอัญชัน เราก็สร้างสรรค์ข้าวสีม่วง นักเรียนคนนู้นเห็นมีดอกเฟื่องฟ้าอยู่ในโรงเรียน ส่วนอีกคนก็ยกมือบอกครู บ้านผมมีใบเตย ให้สีเขียว ทานอร่อย หอมหวานชื่นใจ เมนูอาหารจากข้าวหลากสี เด็ก ๆ ได้เรียนรู้พันธุ์ข้าวและสีธรรมชาติจากเรื่องราวรอบรั้ว

วิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา วิชาเอาตัวรอดที่สอนเด็ก ๆ มองเห็นคุณค่าท้องถิ่น จ.ขอนแก่น

จากการเรียนการสอนที่เน้นสอนทาง On-line, On-demand, On-hand อยู่ต่อเนื่อง เนื่องจากนักเรียน ม.3 ต้องเตรียมตัวหลายอย่างในการต่อยอดและเลือกเรียนสาขาต่าง ๆ หรือสายอาชีพอีกมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการกลับมาอยู่กับครอบครัว ทำให้นึกได้ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ครูอย่างเราไม่ควรลืม คือ การพบปะนักเรียนกลุ่มย่อย ซึ่งเราสอน On-Site เป็นกลุ่มย่อยอยู่แล้ว แต่รอบนี้ต้องขอชวนผู้ปกครองคุยด้วย เพื่อถามข่าวคราวกัน ทั้งเรื่องปากท้องและเรื่องวินัยความเป็นอยู่ จะทำยังไงให้ผู้ปกครองและนักเรียนไม่เบื่อ เพราะเราเองก็เป็นครูประจำชั้น ม.3/1 อยากให้รู้ว่าครูยังห่วงใย 

วิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา วิชาเอาตัวรอดที่สอนเด็ก ๆ มองเห็นคุณค่าท้องถิ่น จ.ขอนแก่น

ระหว่างนั่ง ๆ มองๆ คิด ๆ เราเห็นใบสักที่เติบโตและร่วงหล่น จึงเกิดไอเดียที่น่าเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากเมนูข้าวหลากสีที่เล่าให้ฟัง ถ้ามีผ้าหลากสีบ้างคงจะดี เรามองหาวัสดุรอบตัวทันที และ ‘ใบสัก’ ก็เป็นนางเอกของเรื่องนี้

เราปิ๊งไอเดีย ‘สักศรี (สี)’ ชวนเด็ก ๆ มาทำผ้าพันคอ Eco Printing ด้วยกัน ระหว่างรอนึ่งผ้า ครู เด็ก ๆ และผู้ปกครองก็สรรหาเมนูอาหารง่าย ๆ กินกัน ขอขอบพระคุณแม่น้องเม ที่ทำขนมหวานหลากสีจากธรรมชาติล้วน ๆ และคุณแม่น้องขวัญที่ทำกะเพราหมูไข่ดาวและส้มตำสุดแซ่บ วันนี้เหมือนไม่ได้มาเรียน แต่เหมือนมาทานข้าวนอกบ้าน ได้ทั้งผ้าหลากสีกับข้าวหลากสี รอบหน้าจะมีดนตรีเพื่อสร้างสีสัน มีผลิตภัณฑ์จากสักศรี (สี) โปรดติดตามตอนต่อไป 

วิชาบูรณาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ที่ทำให้เด็กต่อยอดอาชีพ ต่อยอดชีวิต และพัฒนาท้องถิ่นผ่านการลงมือทำ

เทอม 2 นี้ การเรียนการสอนก็ต้องดำเนินต่อไปเช่นกันในรูปแบบออนไลน์ แต่จะดีกว่านี้ถ้าพวกเราได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อยอดอาชีพ ต่อยอดการบริโภค ต่อยอดชีวิตในครัวเรือน เราซึ่งเป็นครูตัวเล็ก ๆ ก็คิดไอเดีย ‘ต่อยอดแบบวิถีพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวี กินดีอยู่ดี แบบมีเงินออม’ ใบไม้แห้งที่โรงเรียนมีเยอะมาก ซึ่งเป็นปัญหาในการทำความสะอาด เราก็คิดช่วยกันจัดการใบไม้เหล่านี้ แต่ใครจะรู้ว่า ไอ้เจ้าปัญหานี่แหละ คือขุมทรัพย์ของเรา เพราะทำปุ๋ยหมักได้ แปลงเกษตรที่โรงเรียนก็มี ถ้าเราปลูกผักกินเอง ปุ๋ยก็ไม่ต้องซื้อ ผักก็ไม่ต้องซื้อ ที่สำคัญปลอดสารพิษ เปิดเทอมเมื่อไหร่ก็เอาผักส่งโรงอาหาร เหลือก็แบ่งกลับบ้าน ขายเก็บออมก็ยังไหว 

ก็เลยคิดไอเดีย ‘ปลูกเอง กินเอง นักเลงพอ ปุ๋ยก็ไม่ต้องขอ เรามีเพียงพอ ต่อยอดชีวี’ ฮิ้ว ๆ ๆ ว่าแล้วก็ชวนเด็ก ๆ มาสร้างพื้นที่เรียนรู้ ทำกิจกรรมภาคปฏิบัติกลุ่มย่อย กลุ่มละ 6 คน (ป.ล. ฉีดวัคซีนครบนะคะ) ช่วยกันทำปุ๋ยหมักเพื่อเตรียมปุ๋ยบำรุงดิน ก่อนที่เราจะไปเตรียมแปลงปลูกกัน นักเรียนที่มาเรียนก็ตั้งใจดี และที่สำคัญ การเรียนรู้ต้องลงมือทำถึงจะมีความหมาย เพราะต้อง Learning by Doing แบบ Active Learning และเรียนรู้แบบร่วมมือและมีส่วนร่วม เมื่อพร้อมแล้วเราก็ลุยทันที นัดหมายประชุมนักเรียน ผู้ปกครอง และ ครูชาญณรงค์ ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมที่ช่วยเหลือกันมาตลอด พร้อมลุย

จากการจัดการเรียนรู้ครั้งนี้ นักเรียนร่วมสะท้อนแง่คิดดี ๆ ให้ครูได้รับรู้ว่าที่ผ่านมานักเรียนได้เรียนรู้แบบไหน ทั้งยังทบทวนและวางแผนต่อยอด ขอบใจลูก ๆ ทำให้ครูรู้ว่านักเรียนมีความสุขดี อดทน น่ารัก 

วิชาบูรณาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ที่ทำให้เด็กต่อยอดอาชีพ ต่อยอดชีวิต และพัฒนาท้องถิ่นผ่านการลงมือทำ
วิชาบูรณาการของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ที่ทำให้เด็กต่อยอดอาชีพ ต่อยอดชีวิต และพัฒนาท้องถิ่นผ่านการลงมือทำ

วิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา ทำให้เรารู้ว่าการเรียนรู้นั้นมีอยู่รอบตัว รอบบ้าน และชุมชน การทำให้นักเรียนหันกลับมาใส่ใจสิ่งรอบตัวในชุมชนและท้องถิ่นของตนเองได้ จะทำให้เขาเห็นประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ พร้อมพัฒนา ประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์และใช้สื่อเทคโนโลยี ช่วยพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ การพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้เราอยู่รอด อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ข้อดีอีกอย่างของวิชาบูรณาการ คือ เป็นวิชาที่ดึงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนได้โดยไม่ต้องมีกรอบบังคับ สะท้อนผ่านการลงมือทำของเด็ก ๆ ได้อย่างชัดเจน ทำให้นักเรียนฝึกอยู่กับปัจจุบัน รู้จักใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและปลอดภัย

ส่วนเราในฐานะครูผู้ออกแบบกระบวนวิชาก็เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ในรูปแบบบูรณาการ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเห็นศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน ทำให้ครูได้เข้าใจชีวิตที่หลากหลายของนักเรียน และเราเชื่อว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หลาย ๆ โรงเรียนคงทำกันอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ การเห็นคุณค่าในสิ่งที่ท้องถิ่นของตนเองมี และประยุกต์ใช้ พัฒนา ต่อยอด สร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่เรามีอยู่ นั่นคือการสร้างนวัตกรรมที่ดีที่สุด 

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราต้องลงมือทำ

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

นันทนา ลีโคตร

ครูผู้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย ที่เชื่อว่านักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างถ่องแท้ หากได้ลงมือทำ