“อีนี่มันหนีมาจากโรงพยาบาลหลายปีแล้ว พวกหมอเขาจำมันได้ เพราะว่าเวลามันหงุดหงิดหรือโมโห มันชอบเปิด ‘ของดี’ ให้คนดู” สมทรง ม่ายสาวเสียสติจากนวนิยายรางวัลซีไรต์เรื่อง คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ (หลายคนจดจำตัวละครนี้ได้ดีจากการแสดงของ บงกช คงมาลัย ในภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายเล่มนี้ในชื่อ ไอ้ฟัก) เป็นตัวละครที่ติดตรึงอยู่ในใจของผู้อ่านผู้ชมทุกยุคสมัยเพราะเธอคือนางเอกผู้แสนแตกต่าง สมทรงเปิดเปลือยกายใจให้ผู้คนได้ฉุกคิดถึงมุมมองของมนุษย์และสังคมที่ตีตราความวิกลจริต อะไรกันแน่คือความบ้า และอะไรกันหนอคือความปกติ

สมทรงรักการแต่งกายสีจัดจ้าน พูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพียรแต่เก็บของที่ดูไร้ค่ามาสะสมจนเกลื่อนกระต๊อบ ที่ดูจะร้ายแรงที่สุดสำหรับคนในหมู่บ้าน เห็นจะเป็นพฤติกรรมชอบเผยของสงวนของหล่อน 

“ฟักไม่แน่ใจในอาการของนางที่เริ่มผิดปกติขึ้นเรื่อยๆ จากการยิ้มยั่วหยอกผู้ชาย เปิดนมให้ครูปรีชาดู แก้ผ้าแก้ผ่อนในสวนพุทรา เปิดผ้าถุงใส่หน้าทิดส่ง” 

พ่อของฟัก ตัวละครเอกของเรื่อง พบสมทรงเข้าโดยบังเอิญและลงเอยด้วยการได้เสียเป็นเมียผัว ฟักในฐานะลูกเลี้ยงของสมทรงพยายามถามถึงที่มาที่ไปของแม่เลี้ยง 

“ไม่รู้นางมาจากไหนเสียด้วย ถามทีไรตอบแต่กรุงเทพฯ คลองสาน กรุงเทพฯ คลองสาน” 

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : www.thairath.co.th

ทุกวันนี้เราอาจจะนึกถึงคลองสานในภาพของย่านที่ตั้งห้างสรรพสินค้ามหาทุนนิยม ท่าเรือข้ามฟากที่มีของกินของขายหลากหลาย หลายคนนึกถึงโครงการ The Jam Factory ร้านหนังสือ ร้านกาแฟที่สุขสงบ 

แต่เมื่อเอ่ยถึงคลองสานในยุคก่อน คนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึงโรงพยาบาลในตำนานอย่างโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ที่มีชื่อลำลองอันติดปากติดหูอย่าง ‘หลังคาแดง’ สถานที่แห่งนี้เป็นโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทย และได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลหลวงลำดับที่ 2 เกิดขึ้นหลักจากโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลหลวงแห่งแรกเพียงไม่กี่ปี จนถึงขวบปีนี้ โรงพยาบาลหลังคาแดงแห่งคลองสานมีอายุถึง 131 ปีแล้ว 

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต สำหรับเมืองจำลองดุสิตธานี ปกหลังของ ดุสิตสมิต ทุกเล่มมีคำประพันธ์ลงท้ายไว้ว่า

“ชมเราก็แทงคิว

ผิวะฉิวก็ซอร์รี่

แม้แม็ดมิคืนดี

ก็จะเชิญ ณ คลองสาน ฯ”

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า

บทกวีดังกล่าวบอกเป้าประสงค์ของหนังสือพิมพ์ที่จะลงบทความวิพากษ์วิจารณ์ผสมผสานการแซวบุคคลในราชสำนัก และเหน็บแนมว่าหากผู้ใดคิดเป็นจริงเป็นจังกับคำล้อเลียนนั้นถึงขั้น ‘แม็ด’ (Mad) ก็จะขอเชิญไป ‘คลองสาน’ ที่ตั้งของโรงพยาบาลหลังคาแดง ที่ในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่าโรงพยาบาลคนเสียจริต แสดงถึงกิตติศัพท์อันเลื่องลือของสถานที่แห่งนี้

การตีตราของสังคมที่มีต่พฤติกรรมอันแตกต่าง ซ้อนประสานกับเรื่องเล่าลึกลับที่ระคนไปด้วยความไม่รู้พอๆ กับความอยากรู้อยากเห็น ทำให้ภาพของคลองสานและหลังคาแดงแปดเปื้อนไปด้วยอคติเสมอมา ภาพความคลุมเครือของสถานที่แห่งนี้แจ่มแจ้งขึ้นมาหน่อยในนิทรรศการ ‘ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา’ ที่จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) เราได้เห็นแวบหนึ่งของสถานที่ที่ผู้คนเรียกว่าโรงพยาบาลบ้าและเหล่า ‘คนบ้า’ ในหลืบมุมหนึ่งของกาลเวลา

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : หนังสือ ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม 2

ย้อนกลับไปพิจารณา ความบ้า ความเสียสติ ความวิกลจริต ความผิดปกติทางจิต หรือเราจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ เราพบว่าอาการเหล่านี้มีเส้นทางอันยาวนาน และเหมือนจะอยู่คู่กับสังคมโลกมาตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของมนุษยชาติ 

เรื่องราวของความบ้าปรากฏอยู่ในทุกอารยธรรม ในเบื้องแรกความเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานเหล่านี้มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับศาสนาหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์ยุคแรกเชื่อว่าเป็นการดลบันดาลของสิ่งที่มองไม่เห็น ผู้ที่ถูกมองว่าบ้าอาจมีฐานะเป็นทั้งผู้วิเศษที่ติดต่อกับสิ่งลี้ลับได้ ในขณะเดียวกับคนบ้าบางคนก็ถูกมองว่าเป็นปีศาจร้ายที่ถูกวิญญาณชั่วสิงสู่ 

ร่องรอยของความพยายามที่รักษาความวิกลจริตปรากฏขึ้นตั้งแต่ 10,000 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าสะพรึงกลัวว่า หัวกะโหลกจำนวนหนึ่งของมนุษย์โบราณที่พบในหลายภูมิภาคของโลก ต่างมีร่องรอยการเจาะรูบนกะโหลก สันนิษฐานกันว่าเป็นหลักฐานของการรักษาสุดสยองที่เรียกว่า Trepanning ที่มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ทำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยอันรวมถึงอาการผีเข้าหรือความวิกลจริต โดยการใช้ของแข็งเจาะลงไปในกะโหลก ด้วยความเชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยความกดดันหรือความชั่วร้าย 

หลายคนยังมีชีวิตต่อไปได้หลังจากการรักษานี้ และแน่นอนว่าผู้ป่วยจำนวนมากก็เสียชีวิตจากการรักษาวิธีนี้เช่นกัน เศษกะโหลกที่ได้จากการเจาะจะเก็บไว้ใช้เป็นเครื่องราง หัวกะโหลกที่ถูกเจาะนี้ค้นพบในประเทศไทยด้วยที่แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ไม่น่าเชื่อว่าวิธีการรักษานี้ใช้กันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : images.immediate.co.uk
ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
รายละเอียดจากภาพเขียน The Extraction of the Stone of Madness โดย Hieronymus Bosch แสดงให้เห็นถึงวิธีการรักษาด้วยการเจาะกะโหลก
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Trepanning

ในยุครุ่งเรืองของกรีกโบราณ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) นายแพทย์ชาวกรีกผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก ตีความสาเหตุอาการทางจิตเวชต่างออกไป ฮิปโปเครตีสเสนอว่าความบ้าเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนึ่ง ไม่ต่างไปจากโรคทางกายอื่นๆ ที่เกิดจากความไม่สมดุลของของเหลวในร่างกาย 

ของเหลว 4 ประการนี้ ได้แก่ เลือด น้ำดีดำ น้ำดีเหลือง และเสมหะ อันเป็นสิ่งที่บ่งถึงความร้อน ความเย็น ความชื้น และความแห้งในร่างกายมนุษย์ 

อย่างไรก็ดี การรักษาอาการเหล่านี้ยังเป็นการรักษาเชิงจิตวิญญาณ ผู้ป่วยต้องทำพิธีชำระร่างกายจิตใจในเทวสถาน และเข้าไปนอนในทางเดินใต้ดินของสถานที่นั้น เชื่อกันว่าเมื่อผู้ป่วยหลับ แอสคลีเพียส (Asklepois) เทพเจ้าแห่งการแพทย์จะมาปรากฏในฝันในรูปแบบของบุรุษ เด็ก งู หรือสุนัข มาสัมผัสผู้ป่วย และผู้ป่วยก็จะหายจากอาการคลุ้มคลั่งด้วยสัมผัสนั้น

วิธีการรักษาที่แพร่หลายอีกวิธีหนึ่งคือการกรอกเลือด (Bloodletting) ที่เริ่มมีใช้ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ด้วยแนวคิดคล้ายๆ กันที่ว่าโรคภัยต่างๆ รวมถึงโรคจิตเวช เกิดจากเลือดเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกาย การถ่ายเลือดเสียออกจากร่างกายจะทำให้อาการดีขึ้น 

ชาวต่างชาติที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกว่า ในกรุงศรีฯ ก็มีการรักษาโดยการใช้ปลิงดูดเลือดผู้ป่วยออกด้วย สุนทรภู่ก็เคยกล่าวถึงวิธีการรักษาแบบนี้ไว้ใน นิราศพระประธม ในท่อนที่ว่า

“ถึงบางกอกกรอกเลือดให้เหือดโรค แต่ความโศกจะกรอกออกที่ไหน”

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : www.castlesandmanorhouses.com
ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : www.researchgate.net

 การกรอกเลือดเป็นวิธีการรักษาที่เป็นที่นิยมทั่วไปจนมาเสื่อมความนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของจิตเวชศาสตร์ไทย ได้เล่าเรื่องวิธีการกรอกเลือดรักษาในโลกตะวันตกสมัยก่อนว่า

“ถ้าผู้ป่วยหนุ่มแน่น ให้กรอกเลือดออกขยาดเก้าออนซ์ สามครั้ง โดยมีระยะห่างสามวัน จะช่วยลดความเพ้อคลั่งได้ ถ้ายังไม่หายให้จองจำ ล่ามโซ่ หรือชกต่อยกันหนักๆ ต่อไป”

บรรยากาศความหดหู่ของการรักษาดังกล่าวพาเราย้อนกลับไปยังกำเนิดของโรงพยาบาลจิตเวชในโลกตะวันตก ที่มีวิวัฒนาการมาจากอาศรมวิกลจริต (Lunatic Asylum) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 โรงพยาบาลนักบุญแมรีเบธเลเฮม (St Mary Bethlehem Hospital – ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Bethlem Royal Hospital) ในมหานครลอนดอน ซึ่งแต่เดิมเป็นสถาพยาบาลและที่พำนักของผู้ยากไร้ได้กลายเป็นที่พำนักกักกันของผู้คนที่สังคมมองว่าบ้า ชื่อเล่นของโรงพยาบาลอย่าง Bedlam กลายเป็นชื่อเรียก ‘โรงพยาบาลบ้า’ โดยทั่วไป และยังกลายเป็นศัพท์ที่แปลว่าภาพอันโกลาหลอลหม่าน 

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
โรงพยาบาล St Mary Bethlehem
ภาพ : en.wikipedia.org

สถานพำนักกึ่งกักกันรูปแบบนี้เกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ทั่วยุโรป มีลักษณะคล้ายกันคือกระเดียดไปทางคุกมากกว่าสถานพยาบาล มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญ วิเคราะห์ศึกษาความบ้าในแง่ปรากฏการณ์ทางสังคม ฟูโกต์อธิบายว่า เมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 สังคมเชื่อมั่นและให้ความสำคัญยิ่งในเหตุผลและความสามารถของมนุษย์ ที่จะบรรลุสัจธรรมอันสูงสุดเพื่อนำโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

ความวิกลจริตที่เคยเชื่อมโยงกับเรื่องเชิงจิตวิญญาณถูกมองอย่างวิทยาศาสตร์ ให้กลายเป็นโรคทางการแพทย์อย่างสิ้นเชิง จิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) จึงกำเนิดขึ้นในยุคนี้ คนบ้าซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามกับคนมีเหตุผลจึงสมควรถูกแยกออกไปจากสังคม ไม่ให้มาขัดขวางการดำเนินไปของยุคแห่งเหตุผล มิใช่เพียงผู้มีอาการทางประสาทอย่างเดียวเท่านั้นที่ถูกกักขัง ผู้ประพฤติผิดจารีตศีลธรรม คนไร้บ้าน คนเกียจคร้านไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอาชญากรถูกจองจำไร้อิสระ

ภาพในอาคารทึบทึมแยกส่วนออกไปจากสังคมของผู้เจริญ ที่ Bedlam คนไข้อาการรุนแรงจะถูกขังไว้ในห้องมืดๆ เช่นในกรณีของผู้ป่วยชายนาม วิลเลียม นอร์ริส (William Norris) ที่ถูกแยกขังเดี่ยวและพันธนาการไว้ด้วยเครื่องกักขังเหล็กเป็นเวลากว่า 10 ปี ส่วนคนไข้ที่มีอาการสงบจะถูกบังคับให้ออกไปรับบริจาคตามท้องถนน

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
วิลเลียม นอร์ริส ผู้ถูกกักขังที่ Bedlam กว่า 10 ปี
ภาพ : Wellcome Collection

เมื่อความกระหายใคร่รู้ใน Bedlam เพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงสนองความต้องการของชาวลอนดอนโดยการเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาชมคนไข้ ไม่ต่างอะไรกับการไปชมสวนสัตว์ โดยเก็บค่าเข้าชม 1 เพนนี 

ในทศวรรษ 1750 โรงพยาบาล Bedlam มีผู้เข้าชมมากกว่าหมื่นคนต่อปี กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 2 ของชาวลอนดอน เป็นรองแค่เพียงมหาวิหารนักบุญพอล (St Paul’s Cathedral) เท่านั้น 

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพพิมพ์โดย William Hogarth แสดงบรรยากาศความโกลาหลในโรงพยาบาล Bedlam 
ภาพ : en.wikipedia.org

กระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงวิธีการปฏิบัติต่อคนเหล่านี้ โดยทางฝั่งฝรั่งเศส นายแพทย์ฟิลิป พิเนล (Philippe Pinel) เป็นหัวหอกในการปฏิวัติครั้งนี้ เขามองกว่ากักขังทารุณคนไข้และปฏิบัติกับคนเหล่านั้นเยี่ยงสัตว์เป็นวิธีการที่แสนจะไร้มนุษยธรรม ฟิเนลสั่งปลดโซ่ตรวนในสถานกักกันท่ามกลางความตกตะลึงของผู้คนในสังคม ฟิเนลพิสูจน์ให้เห็นว่าอิสรภาพ แสงสว่าง และความเมตตา ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการดีขึ้นได้

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า

ประจวบกับฝั่งอังกฤษ มีกษัตริย์นามว่าพระเจ้าจอร์จที่ 3 (George III) ทรงประสบภาวะสติวิปลาสในปั้นปลายพระชนม์ชีพ เมื่อพระชนมพรรษา 50 ทรงสูญเสียความเข้าใจในเหตุผล พระเนตรมืดบอดลง และเริ่มสูญเสียความทรงจำ พระองค์ทรงได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนป่วยทั่วไปในสมัยนั้น คือถูกล่ามไว้ในที่กักขังในปราสาทวินด์เซอร์ 

มีบันทึกว่าในวันคริสตมาส ค.ศ. 1819 พระองค์ตรัสไม่เป็นภาษานานติดต่อกันถึง 58 ชั่วโมง หลังจากทุกข์ทรมานจากความวิกลจริตถึง 10 ปี ก็สวรรคต สภาวะที่น่าสมเพชเวทนาของกษัตริย์ทำให้ผู้แวดล้อมพระองค์ตลอดจนประชาชนทั่วไปมองเห็นความโหดร้าย และเริ่มปรับปรุงการดูแลแบบการกักกันให้กลายเป็นการรักษาที่มีมนุษยธรรมในที่สุด

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
พระเจ้าจอร์จที่ 3 เมื่อแรกขึ้นครองราชย์ ภาพเขียนโดย Allan Ramsay ค.ศ. 1762
ภาพ : en.wikipedia.org
ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
พระเจ้าจอร์จที่ 3 ในบั้นปลายพระชนมชีพ ภาพพิมพ์โดย Henry Meyer
ภาพ : en.wikipedia.org

 อ้อมโลกกันมานาน ถึงเวลากลับมาสำรวจความวิกลจริตในสยามประเทศกันบ้าง ในพงศาวดารสยามมีการกล่าวถึงเจ้านายหลายพระองค์ที่มีพระอาการสติวิปลาส เช่นในกรณีระดับตำนานอย่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จารึกตำรายาที่วัดราชโอรสารามในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็กล่าวถึงอาการป่วยอย่างหนึ่งที่แพทย์แผนปัจจุบันอาจมองว่าเป็นอาการทางจิตเวชไว้ว่า 

“อันว่าลมหทัยวาตกำเริบนั้น คือพัดดวงหทัยให้ระส่ำรสาย คลุ้มดีคลุ้มร้าย แลมักขึ้นโกรธให้หิวโหยหาแรงมิได้”

ต่อมาในสมัยต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศเรื่องมิให้ละทิ้งคนเสียจริต (คำว่า ‘จริต’ นอกจากจะมีความหมายว่ากิริยาอาการ ยังมีความหมายว่าความประพฤติปกติ ‘เสียจริต’ จึงอาจหมายถึงภาวะที่คนเราเสียความเป็นปกติไป) 

ประกาศฉบับนี้มีเนื้อความส่วนหนึ่งว่า 

“ถ้าญาติพี่น้องบุตรหลานบ่าวทาสของผู้ใด แลลูกวัดคฤหัสถ์สามเณรศิษย์ของพระองค์ไร เสียจริตเปนบ้าคลุ้มคลั่งฤๅคลุ้มดีคลุ้มร้ายเปนคราวๆ มีอยู่ ก็ให้ผู้นั้นเอาใจใส่รักษาพยาบาลกักขังระวังให้แน่นหนามั่นคง อย่าปล่อยให้เที่ยวไปมาตามลำพังได้” 

นี่ก็คล้ายกับแนวคิดเรื่องการกักขังคนวิกลจริตไว้ไม่ให้ออกมาปะปนในสังคมของผู้เจริญ อย่างที่ชาวตะวันตกเชื่อกันมาแต่ก่อน

 ความรู้เรื่องโรงพยาบาลจิตเวชเผยแพร่สู่สาธารณชนสยามครั้งแรกโดยมิชชันนารีคนสำคัญอย่างหมอบรัดเลย์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ เมื่อ พ.ศ. 2409 ในเนื้อหาที่ว่า 

“ในประเทศยุโรปนั้น ถ้าเป็นบ้าแล้วจะมีธรรมเนียมให้กักขังรักษาไว้แต่โดยดี แลให้บำรุงใจคอสบายชื่นมื่นอย่าให้คนบ้าลำบาก คนบ้าก็กลับหายจากบ้าโดยมาก อันจะปล่อยคนบ้าไว้แต่ลำพังนั้น ก็มังจะเกิดความวุ่นๆ วายๆ บางทีคนบ้าไปเที่ยวทิ่มแทงฆ่าฟันคน ทิ้งไฟเผาเย่าเรือน กระทำให้บ้านเมืองเปนอันตรายต่างๆ จะไว้ใจคนบ้านั้นมิได้ จึ่งมีธรรมเนียมในประเทศยุโรปแลอเมริกา เมื่อเหนผู้ใดเปนบ้าแน่แล้ว ก็เอาตัวไปไว้ที่หัศปิตัล แปลเปนไทยว่าที่รักษาโรคต่างๆ” 

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : หนังสือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 5 แผ่นดิน

คำทับศัพท์ที่สะกดอย่างหรูว่า ‘หัศปิตัล’ ทำให้เห็นว่าคำว่า ‘โรงพยาบาล’ ยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น

ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยุวกษัตริย์พระชนมพรรษา 17 พรรษาเสด็จฯ ประพาสสิงคโปร์และหัวเมืองมลายู เป็นการเสด็จฯ ต่างประเทศครั้งแรก ได้ทรงเยือนสถานที่น่าสนใจอย่างมิวเซียม โรงกลั่นน้ำโซดา โรงโอเปรา สวนพฤกษศาสตร์ คุกขังนักโทษ รวมไปถึงโรงพยาบาลคนเสียจริตด้วย 

หลักจากนั้นเกือบ 20 ปี โรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งแรกของไทยก็ตั้งขึ้นที่คลองสาน เมื่อ พ.ศ. 2432 ที่ตั้งแรกสุดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยดัดแปลงบ้านเก๋งจีนของ พระยาภักดีภัทรากร (เกงซัว ภัทรนาวิก) ให้กลายเป็นโรงพยาบาล

เมื่อแรกตั้งโรงพยาบาลมีผู้ป่วยเพียง 30 คนเท่านั้น แต่เพียงในปีแรกของการทำการก็มีคนไข้มารักษาถึง 820 คน จากบันทึกของโรงพยาบาลจนถึง พ.ศ. 2447 พบว่าเพียง 17 ปีแรกของการก่อตั้ง มีคนเสียจริตเข้ามารักษาเป็นจำนวนถึง 19,576 ราย ประกอบไปด้วยคนทุกชนชั้น ตั้งแต่ราษฎรไปจนถึงเจ้านาย ด้วยมีรายชื่อคนไข้คือ หม่อมเจ้าสุวรรณ ใน กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ เข้ามารักษาในโรงพยาบาลคนเสียจริตเป็นเวลาหลายเดือนด้วย

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพจำลองบ้านพระยาภักดีภัทรกร (เจ้าสัวเกงซัว) ที่ใช้เป็นโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งแรก จินตนาการขึ้นจากแผนผังและข้มูลวิจัย 
ภาพ : หนังสือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 5 แผ่นดิน

หลวงวิเชียรแพทยาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริต เล่าถึงบรรยากาศในโรงพยาบาลเมื่อท่านยังเด็กไว้ว่า 

“ขอสารภาพว่าไปรู้จักด้วยความซน คือไปขึ้นต้นหว้าหลังโรงพยาบาลดูคนไข้แก้ผ้าเปลือยกายนอนตากแดด ดูเขามัดล่ามโซ่ติดกับเสา ติดกับลูกกรงเหล็ก ไปฟังคนไข้ด่า ร้องเพลงหยาบๆ คายๆ ซึ่งสนุกไปตามภาษาเด็ก” 

ทำให้เราพอจะเห็นความเป็นไปของสถานที่แห่งนี้ ใน พ.ศ. 2453 นายแพทย์ไฮเอ็ต (Dr.H Campbell Highet) เจ้ากรมสุขาภิบาล เขียนรายงานการตรวจโรงพยาบาลคนเสียจริตความว่า 

“ในจำนวนคนไข้ทั้งหมดเปนชาย 264 หญิง 32 มีอาการคลั่งร้ายแรงอาจทำอันตรายได้ถึง 54 คน ต้องแยกขังไว้ต่างหาก แต่ห้องแยกมีน้อย จึงต้องขังรวมคนอื่นซึ่งยัดเยียดทำร้ายกันเสมอ มีหลายคนนำมาล่ามโซ่ไว้กับพื้นกระดานเช่นเดียวกับสัตว์ที่ดุร้าย ห้องหลายห้องชำรุดและรักษาความสะอาดไม่ได้จนมีผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้มาก โรงพยาบาลนี้ชำรุดน่าอับอายอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเองไม่สามารถสรรหาคำพูดที่แรงพอเพื่อแสดงว่าอับอายและขยะแขยงเพียงใด”

ด้วยความแออัดและความชำรุดทรุดโทรมที่ไม่อาจฟื้นฟูขึ้นได้ โรงพยาบาลคนเสียจริตได้ย้ายขยับขยายมาตั้งยังสถานที่ที่เป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบันเมื่อต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และสถานที่นี่เองที่ปรากฏในฟิล์มกระจกหลายภาพ ตำนานหลังคาแดงเกิดขึ้นในยุคนี้ดังที่หลวงวิเชียรแพทยาคมอธิบายว่าเป็รความคิดของ นายแพทย์คาธิวส์ (Dr.M Cathews) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริตคนแรก 

“สังกะสีที่มุงหลังคา หมอได้สั่งสีแดงจากห้างๆ หนึ่งเป็นสีค้างสตอกคงหลายปีมาแล้วจนสีนั้นแห้งแต่คุณภาพยังดี แต่ซื้อได้อย่างราคาถูกมาก แล้วก็ซื้อน้ำมันผสมสีมาผสมใช้ทาหลังคาเพื่อกันสังกะสีจะเกิดสนิมเท่านั้น แต่ได้บอกไว้แล้วว่าโรงเรือนในโรงพยาบาลนี้มีมากหลัง เมื่อลงสีแดงทั่วหมดเมื่อใครผ่านหรือเข้าไปในโรงพยาบาลก็จะเห็นเป็นสีแดงไปหมดทั้งโรงพยาบาล เพราะโรงเรือนเหล่านี้เป็นอาคารเตี้ยๆ ก็มองเห็นใกล้ตาคนพบเห็นได้ถนัน แต่เรื่องนี้ชาวต่างประเทศมาพบเห็นกลับชมว่าสวยดี เพราะโรงพยาบาลเต็มไปด้วยต้นไม้สีเขียว เมื่อตัดกับหลังคาสีแดงจะเห็นเด่นงามดี” 

หมอคาธิวส์ยังเป็นผู้ดำริให้ปลูกต้นไม้ใหญ่หลากชนิดให้รื่นครึ้มทั่วบริเวณโรงพยาบาล ด้วยความคิดที่ว่าธรรมชาติจะช่วยบำบัดผู้ป่วยด้วยอีกทาง ต้นไม้พันธุ์แปลกหลายชนิดปลูกอยู่ที่นี่เป็นที่แรก จนเจ้านายและคหบดีผู้เป็นนักเลงต้นไม้สมัยนั้นต้องมาดูต้นไม้ใหญ่ที่สวยและแปลกที่โรงพยาบาลแห่งนี้

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : หนังสือ ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม 2

จากภาพฟิล์มกระจก เราจะเห็นคลองเล็กที่เป็นเส้นทางสัญจรมายังโรงพยาบาลในสมัยนั้น แลเห็นสิงโตจีนที่นอกจากจะใช้เป็นหลักผูกเรือแล้ว ยังมีเรื่องเล่าว่าญาติและผู้ป่วยมักจะกราบไหว้สิงโตและบนบานให้หายโรค ในภาพอื่นเราจะเห็นผู้ป่วยชายหญิงในชุดเครื่องแบบ ที่ตรงกับบันทึกของโรงพยาบาลสมัยนั้นที่ว่า ผู้ป่วยหญิงจะสวมเสื้อคอกลมสีขาว นุ่งโจงกระเบนสีน้ำเงินหรือผ้าถุงสีกรมท่า ส่วนผู้ป่วยชายแต่งชุดกากี หรือเสื้อขาวกับกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน ถ้าสติดีจะนุ่งกางเกงจีนขายาวสีดำ 

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : หนังสือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา 5 แผ่นดิน

การรักษาดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลคนเสียจริตเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับมุมมองและเทคโนโลยีทางการจิตเวชศาสตร์สากล ใน พ.ศ. 2475 โรคพยาบาลคนเสียจริตเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลโรคจิตต์ ธนบุรี เพื่อลดการตีตราของสังคม และเมื่อผู้คนตีตราให้กับคำว่า ‘โรคจิต’ อีก สถานที่นี่จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาตามชื่อของถนนที่ตั้ง ปัจจุบันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ตั้งอยู่ ณ สถานที่เดิมที่ผู้คนเคยแลเห็นหลังคาสีแดงและเลื่องลือกันไปต่างๆ นานามิรู้จบ

ประวัติศาสตร์การรักษาอาการจิตเวชในไทย จากเจาะกะโหลกคนไข้ถึง หลังคาแดง, โรงพยาบาลบ้า
ภาพ : หนังสือ ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม 2

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง