ช่วงปีที่ผ่านมา วงการการศึกษาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ กระทบชีวิตของนักเรียนมากกว่า 7.3 ล้านคนทั่วประเทศ และเผยให้ถึงช่องโหว่ของระบบที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซ้ำเติมปัญหาเดิมที่ผู้คนบ่นกันมาอย่างยาวนานในหลายมิติ 

ทั้งการเรียนรู้ในโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการและความถนัดของแต่ละบุคคล 

เบื่อ รู้สึกว่าห้องเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย

คนเก่งไม่ค่อยอยากเข้ามาเป็นครูในระบบ 

ครูที่ดีต้องเผชิญความยากลำบาก หมดไฟไปกับระบบที่ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดดเดี่ยวอ้างว้าง

และอีกสารพัดโจทย์ที่รอคอยการไขหาคำตอบ

จนหลายคนอาจหมดหวังไปแล้ว ไม่เห็นหนทางออก 

แต่ นะโม-ชลิพา ดุลยากร คือคนรุ่นใหม่ที่ยังมีความหวังและลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข

จากความหลงใหลในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เธอพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘insKru’ เพื่อเป็นพื้นที่แบ่งปันไอเดียและเครื่องมือการสอน รวมตัวบรรดาคุณครูไฟแรงที่ยังมีหวัง และปรารถนาให้นักเรียนของพวกเขามีความสุข สร้างเป็นคอมมูนิตี้แห่งการแลกเปลี่ยนความคิด เติมพลังและเยียวยาจิตใจกันและกัน

นะโมก่อตั้งแพลตฟอร์มตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน ในวันที่เธอเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย ด้วยความแตกต่างของคอนเทนต์ที่ดูเข้าถึงง่าย เป็นกันเอง และใช้ประโยชน์ในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี กลายเป็นที่กล่าวขวัญในวงการการศึกษาภายในเวลารวดเร็ว และมีหน่วยงานต่างๆ ทยอยเข้ามาพูดคุย จับมือร่วมงานกัน

จนวันนี้เติบโตขึ้นไปอีกระดับชั้น มีจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น และภารกิจที่มองไกลไปกว่าเดิมเราจึงชวนนะโมกับ พั้นช์-วณิสตา เงินอยู่ Product Owner ที่ดูแลภาพรวมของเว็บไซต์ และ ฝ้าย-เกวลิน สุวรรณโชคอิสาน Project Manager มาร่วมสนทนาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทิศทางต่อจากนี้ของแพลตฟอร์มอันเป็นที่รักของคุณครู

insKru ตั้งใจจะพลิกโฉมห้องเรียนในประเทศนี้เพื่อคุณครูกว่า 500,000 คน และสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับทุกคนอย่างไร ขอชวนคุณมาเริ่มออกแบบห้องเรียนในฝันไปพร้อมกัน

insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข
insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข
01

เพื่อนแกะดำ

insKru ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ดีของผู้นำความสนใจของตัวเองมาสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้สำเร็จ

ชีวิตของนะโมผูกพันเกี่ยวโยงกับแวดวงการศึกษามาตั้งแต่เล็ก เธอเกิดในครอบครัวที่คุณย่าเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนในจังหวัดลพบุรีมานานกว่า 50 ปี ในวัยเด็ก เสียงหัวเราะวิ่งเล่นของเด็กๆ ทักทายเธอทุกวันยามรุ่งอรุณ

“เราเริ่มรู้ตัวตอนเรียนมัธยมว่าเด็กคือพลังชีวิตของเรา เคยฝันว่าอยากเป็นครูอนุบาล เรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเด็ก แต่ตอนจะสอบเข้า เราไปเจอคลิปของนักออกแบบไอศกรีมที่ IceDEA ที่เรียนจบด้านออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) เขาบอกว่าการเรียนสิ่งนี้ช่วยให้เราออกแบบอะไรก็ได้ แม้กระทั่งชีวิตตัวเอง เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้น เราน่าจะเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ (Learning Designer) สร้างประสบการณ์การเรียนแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กได้เหมือนกันนะ” นะโมเล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต การเรียนด้านออกแบบช่วยสร้างทักษะ ทำให้สายตาเธอมองห้องเรียนและระบบการศึกษาที่แตกต่างไป

ในระหว่างที่เรียนอยู่ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นะโมทำกิจกรรมและลองแข่งขันงานประกวดต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเองจนเรียกได้ว่าเป็นชีวิตวัยเรียนที่แสนคุ้ม เธอค้นพบว่าไม่ว่าจะทำอะไร ความคิดของเธอมักวนเวียนกลับมาสู่การหาหนทางทำให้เด็กมีความสุขเสมอ ซึ่งหนึ่งในวิธีการที่ทำได้คือ การพัฒนาและสร้างแรงบันดาลใจให้คุณครู

insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข

“ตอนเริ่มทำทีสิส เราลองกลับบ้านเพื่อไปคุยกับคุณครูที่โรงเรียน และเจอว่ามีครูที่ประยุกต์วิธีการสอนได้ดีมาก เช่น สอนเรื่องแสงและเงาจากนิทาน ทำให้เราเห็นว่าเรื่องเรื่องหนึ่งมีวิธีการสอนได้หลายแบบมาก เราน่าจะมีคลังที่ให้คุณครูมาเก็บไฟล์ของตัวเอง ให้คนอื่นเข้ามาค้นหาและช่วยกันต่อเติมได้ด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาคิดใหม่หมด เพราะจริงๆ ครูมีหน้าที่แบบนักมายากลเหมือนกันนะ ต้องมีทักษะการทำให้ของที่ดูธรรมดาหรือไกลตัวเป็นเรื่องน่าสนใจ และต้องดึงศักยภาพของเด็กออกมาด้วย 

“แต่ระบบที่เป็นอยู่กลับไม่เอื้อให้ครูทำหน้าที่นี้อย่างเต็มที่ ครูหลายคนพูดเหมือนกันว่าเขาอยากเตรียมการสอนให้ดี ซึ่งต้องใช้เวลาคิดให้สร้างสรรค์ แต่เขากลับต้องมานั่งทำงานเอกสาร ถ่ายรูปงาน สร้างภาพลักษณ์ให้โรงเรียน พอระบบทำให้ครูขาดแรงบันดาลใจ เด็กก็เบื่อ ครูก็เบื่อ กลายเป็นวงจรไปเรื่อยๆ ต่อให้เป็นครูที่ดี ถ้าคนรอบตัวเขาไม่ได้ส่งเสริม สักวันเขาจะหมดไฟ” 

เมื่อค้นคว้าเพื่อทำโปรเจกต์นี้ไปเรื่อยๆ นะโมเริ่มเห็นปัญหาที่ชัดเจนและพบผู้คนในวงการที่มีอุดมการณ์อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงตรงกัน หนึ่งในนั้นคือ ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร อดีตคุณครูรุ่นแรกของ Teach for Thailand และผู้ก่อตั้งโครงการ Saturday School ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอย่างแน่วแน่ และ เคนโด้-ศิวกร ธิติศักดิ์สกุล Developer ที่อาสามาช่วยพัฒนาเว็บไซต์ให้ฟรีๆ  

ทั้งสามคนร่วมกันต่อยอด ปรับเปลี่ยนไอเดียจนมาจบที่แพลตฟอร์มแบ่งปันไอเดียการสอนทางออนไลน์ นำไปเข้าแข่งประกวดธุรกิจ จนได้เสียงตอบรับที่ดีกลับมาจากความตั้งใจและแปลกใหม่ 

แม้จะโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างรายได้ในทางธุรกิจบ้าง แต่ในเชิงคุณค่าจะช่วยคุณครูทั่วประเทศได้อย่างมาก แพลตฟอร์มจึงได้รับการต่อยอดและถือกำเนิดขึ้น เป็นการผสมคำว่า Inspire กับ Kru เข้าด้วยกัน เพื่อบ่งบอกว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ ชุบชูจิตใจคนเป็นครูให้มีความหวัง เชื่อว่า ‘ทุกการสอนเป็นไปได้’ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน

“คุณครูที่อยากเปลี่ยนห้องเรียน อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นแกะดำ เราอยากเป็นพื้นที่ที่จะรวมแกะดำเหล่านั้น และบอกว่าเธอยังมีเพื่อนอยู่ตรงนี้” ผู้นำแกะดำเล่าด้วยความมุ่งมั่น

“เราไม่รู้เหมือนกันว่าต่อไปแพลตฟอร์มของเราจะเป็นยังไง คิดอยู่ว่าเอายังไงดีกับชีวิต จริงๆ ยังอยากเป็นครูอยู่นะ แต่จะลองทำสิ่งนี้ไปก่อน เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข” นะโมเคยกล่าวคำพูดนี้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ในวันที่เธอก็ยังสงสัยว่าอนาคตของพื้นที่นี้จะเป็นอย่างไร

วันนี้ เธอยังคงทำสิ่งนี้อยู่ด้วยความมุ่งมั่นและความสุขเช่นเคย พร้อมด้วยผลลัพธ์ที่ช่วยยืนยันความเชื่อของเธอ

02

ห้องเรียนล้ำเส้น

insKru เชื่อว่าคุณครูที่มีไอเดียดีๆ ใส่ใจผู้เรียน กระจายอยู่ทั่วประเทศ 

สิ่งสำคัญคือการทำให้ไอเดียเหล่านั้นส่งต่อถึงกัน เพื่อให้นักเรียนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน จากคุณครูของพวกเขา

แพลตฟอร์มจึงเปิดให้คุณครูและผู้ใช้งานเข้ามาอัปโหลดไอเดียและเครื่องมือการสอนบนเว็บไซต์ แบ่งแยกย่อยตามหมวดหมู่ เช่น รายวิชา ระดับชั้น รูปแบบการสอน สื่อที่ใช้ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน 

หากลองกดเข้าไปดูในแพลตฟอร์ม คุณจะพบว่าบรรดาคุณครูเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สนทนา ให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม เป็นคอมมูนิตี้ของครูที่เต็มไปด้วยพลังและความตั้งใจอยากเปลี่ยนห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้นของวงการการศึกษาเมื่อ 3 ปีก่อน

“ย้อนกลับไปตอนนั้น เว็บไซต์เกี่ยวกับครูมักมีแต่ข่าวราชการและระบบที่ใช้งานยาก รวมถึงยังไม่มีวัฒนธรรมเรื่องการแบ่งปันไอเดียการสอน เพราะคนมองว่าถ้าแชร์แผนการสอน เดี๋ยวจะมีคนลอกไปทำส่งขอวิทยฐานะ กับกลัวว่าถ้าเปิดให้คนรู้จักห้องเรียนของตัวเองจะโดนตัดสิน 

“เราอยากเปลี่ยนตรงนี้ ในฐานะนักออกแบบ เราจึงเริ่มต้นตั้งแต่กราฟิกที่ทำเลย อาจจะดูเด็กหน่อยในสายตาของผู้ใหญ่ในกระทรวง แต่ความตั้งใจของเราคือจะต้อง Student-friendly และ Teacher-friendly” นะโมอธิบายคอนเซ็ปต์ที่เป็นแก่นหลักของแพลตฟอร์มและเพจ ซึ่งลบภาพจำของการสื่อสารแบบเดิมๆ ทิ้งไปได้อย่างหมดสิ้น

insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข

ในช่วงที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว ผู้คนในสังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการศึกษาพอดี เริ่มมีกลุ่มต่างๆ ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อผลักดันคุณครูเป็นเครือข่าย เช่น ครูปล่อยของ, Teach for Thailand, ก่อการครู, Thai Civic Education ทำให้ insKru เข้ามาต่อจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญได้อย่างลงตัว ถูกจังหวะพอดี  ด้วยการเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมไอเดียและข้อมูลทุกอย่างไว้ให้อยู่ในที่เดียว เปรียบเสมือนคลังความรู้ที่จะไม่สูญหายไปตามกาลเวลา

“เราเคยรวม Top Creators ตอนสิ้นปีเพื่อดูว่าช่วงปีที่ผ่านมา มีใครที่แบ่งปันไอเดียเยอะ และคนเข้าไปดูไอเดียเยอะบ้าง แล้วลองไปคุยกับเขาดู เขาบอกว่าการลงไอเดียเป็นการสะท้อนบทเรียน ทำให้ได้กลับมาทบทวนด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นไปบ้างในห้องเรียน พอเขาลองเอาไอเดียในเว็บไปใช้แล้วเด็กมีความสุขมาก เขาก็อยากเป็นคนแชร์บ้าง” พั้นช์เล่าเหตุผลที่คุณครูเปิดรับและพากันมาแบ่งปันไอเดียบนแพลตฟอร์ม จนตอนนี้มีมากกว่า 4,000 ไอเดียบนเว็บไซต์แล้ว

ทาง insKru เปิดรับไอเดียที่หลากหลาย แต่หากอยากเสนอให้ครบถ้วน ไอเดียควรระบุมีที่มาที่ไปชัดเจน เล่าแนวคิดและบริบทของห้องเรียนที่เหมาะสมกับไอเดียนี้ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยให้คนเห็นภาพและนำไปใช้งานต่อได้ โดยไอเดียไม่จำเป็นต้องซับซ้อนแต่อย่างใด

และสิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ การเข้าใจและใส่ใจผู้เรียน

“ในความคิดเรา ไอเดียที่ดีไม่ได้เป็นเนื้อหาที่คุณครูอยากเพียงแค่ป้อนเด็กให้เสร็จ แต่เป็นไอเดียที่คุณครูเห็นเด็กอยู่ในนั้นตอนคิดกระบวนการ อ่านแล้วรู้สึกว่าเขาตั้งใจทำเพื่อเด็กจริงๆ และพร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ได้เป็นคนที่เหนือกว่า แต่เป็นคนที่เท่ากัน” พั้นช์และฝ้ายเสริมหลังจากเห็นไอเดียมานับร้อย

ในยุคสมัยนี้ คุณครูไม่อาจเป็นผู้ยืนอ่านเอกสารหน้าห้องได้อีกต่อไปแล้ว เพราะนักเรียนเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากที่ใดก็ได้ คุณครูจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการที่สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าจดจำ สร้างสรรค์ เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข
พั้นช์ (ซ้าย) – ฝ้าย (ขวา)

เพื่อให้เกิดการแชร์ไอเดียในวงกว้างขึ้นไปอีก แพลตฟอร์มยังใช้ความเข้าใจในระบบประเมินครูที่เป็นอยู่ของไทย ที่ยังคงต้องเก็บเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไปแสดงเป็นผลงาน ให้เป็นประโยชน์ 

ในทุกภาคเรียน insKru จะออกเกียรติบัตรให้ผู้ใช้งานที่เข้ามาลงไอเดีย เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกความคิดมีคุณค่า และช่วยให้คุณครูนำไปใช้ประกอบในเอกสารตามระบบได้อีกด้วย 

รวมถึงรวบรวมไอเดียมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเป็นระยะ จัดแคมเปญเชื้อเชิญให้น่าร่วมสนุก เช่น แคมเปญ ‘ED’s Possible ตามหา 1000 ไอเดีย พลิกโฉมการเรียนรู้ของเด็กไทย’ ที่ทำงานร่วมกับสภาการศึกษา ชวนให้คนเป็นแมวมอง เสนอชื่อคุณครูหรือนักออกแบบการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมผู้เรียนในแง่มุมต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้พวกเขาและไอเดียการสอนได้รับการพูดถึง ตอบรับกับความทุ่มเทที่มอบให้เด็กๆ

และหากไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ แพลตฟอร์มจะได้จัดนิทรรศการ ‘Skip School’ ที่จับคู่ไอเดียการสอนของคุณครูในฐานะ Learning Designers กับศิลปินจากหลากหลายแขนงที่เข้ามารังสรรค์ความคิดของคุณครูให้กลายเป็นงานศิลปะชั้นยอด (ตอนนี้งานถูกเลื่อนออกไปก่อน)

เมื่อการแบ่งปันไอเดียเป็นเรื่องน่าสนุก สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นประโยชน์ กำแพงจากระบบเดิมจึงค่อยๆ ถูกพังทลายลง คุณครูและบุคคลทั่วไปทยอยกันเข้ามาแชร์ความคิดและสร้างคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็งขึ้น

สุดท้าย ผู้ที่ได้ประโยชน์คือนักเรียนที่มีความสุขจากการเรียนการสอน

03

ทุกการสอนเป็นไปได้

นอกจากสร้างพื้นที่ให้คุณครูมาแบ่งปันไอเดียกันแล้ว ทางทีมยังร่วมผลิตคอนเทนต์ เพื่อนำเสนอทั้งไอเดียและเครื่องมือลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากความเข้าใจวงการอย่างลึกซึ้ง 

“เราคุยกับคุณครูและนักเรียนเรื่อยๆ เพื่อเข้าใจ Pain Point ของพวกเขา เช่น ไปจัดเวิร์กชอปให้คุณครู แล้วเขาบอกว่าการเจอคนที่คิดเหมือนกันช่วยเติมพลัง เราตกผลึกได้ว่ามันคือการ Connect ในขณะที่บางคนอาจต้องการพื้นที่ที่ช่วยตอกย้ำคุณค่าที่เขายึดถือหรือ Spotlight เราก็จะคิดว่าคอนเทนต์เราจะช่วย Connect คนหรือ Spotlight สิ่งที่เขาคิดได้อย่างไร โดยพยายามให้คนเห็นภาพมากที่สุด เพื่อให้คนเห็นความเป็นไปได้

“ในวงการการศึกษา มีคำพูดที่ดูเป็นนามธรรมอยู่เยอะ เราต้องยกเหตุการณ์ขึ้นมาประกอบให้ได้ เช่น พื้นที่ปลอดภัย เราต้องสื่อสารได้ว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ครูต้องทำอะไรบ้าง จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ แล้วจบไป” นะโมเล่าวิธีคิดเบื้องหลังคอนเทนต์ที่คนต่างหลงรัก

“อีกอย่างที่ช่วยให้เราคิดคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คือความเชื่อ” ฝ้ายเสริม “พอในทีมเชื่อว่าทุกการสอนเป็นไปได้ เวลามองเห็นอะไรสักอย่าง เช่น ต้นไม้ เราจะคิดกันแล้วว่าต้นไม้สอนอะไรคนได้บ้าง ทุกคนกลายเป็นถอดบทเรียนกับสิ่งรอบตัว ทำให้หยิบเรื่องต่างๆ มาเป็นไอเดียได้ตลอด” 

หากเราลองสังเกตและใคร่ครวญด้วยความสร้างสรรค์ ทุกสรรพสิ่งเป็นบทเรียนให้เราได้เสมอ

เช่น ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนและการอภิปรายสภาเป็นเนื้อหาการสอนในวิชาต่างๆ ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากความเป็นจริงและเท่าทันเหตุการณ์

เมื่อโควิด-19 ส่งผลให้การเรียนต้องเกิดขึ้นทางออนไลน์ insKru หันมาแนะนำไอเดียและเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น เช่น แบบฟอร์มเช็กสภาพจิตใจนักเรียน ช่วยให้คุณครูรับรู้ความเป็นไปของชีวิตลูกศิษย์

และเพื่อตอบรับความแตกต่างของห้องเรียนไทยที่มีบริบทแตกต่างกัน การนำเสนอไอเดียแต่ละเรื่องของแพลคฟอร์มจึงพยายามสอดแทรกวิธีการหลากหลายสไตล์ ครอบคลุมการใช้งานเทคโนโลยีที่แตกต่างกันด้วย เรียกว่าคิดอย่างครบถ้วน พร้อมสนับสนุนและอยู่เคียงข้างคุณครูทุกคน

“ สิ่งสำคัญคือทุกอย่างที่เราทำเกิดจากความตั้งใจ คิดอะไรได้เรายินดีให้หมดเลย และเราว่าคุณครูสัมผัสความตั้งใจตรงนี้ได้” 

insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข
insKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนคุณครูทั่วไทย ที่หวังให้นักเรียนไทยมีความสุข
04

ปรับระบบ

แต่ภารกิจไม่ได้หยุดอยู่ที่การเปลี่ยนห้องเรียนเท่านั้น พวกเขาพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบไปควบคู่กันด้วย

ในหลายโรงเรียน คุณครูมักต้องปฏิบัติตามนโยบาย กฎเกณฑ์ที่กำหนดมาจากผู้บริหารหรือกระทรวง ทั้งที่อาจไม่ได้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ต้องใช้เวลา แรงกายแรงใจ ต่อสู้กับค่านิยมเดิมที่ฝังรากลึกอยู่ภายในโรงเรียน ไม่อาจทำอะไรที่สร้างสรรค์หรือนอกกรอบตามที่นึกคิดได้มากนัก

แพลตฟอร์มจึงสร้างและผลักดันเครื่องมือที่ช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานภายในห้องเรียนและโรงเรียน ให้คุณครูได้ลองนำไปใช้ เพื่อให้ความฝันของคุณครูเกิดขึ้นได้จริง

เช่น รวมแผนการสอนหน้าเดียว ที่กระชับและเข้าใจง่าย ไม่ต้องปั้นแต่งเขียนสิ่งที่ไม่จำเป็น โดยรูปแบบแผนการสอนนี้เกิดขึ้นจากไอเดียของครูกุ๊กกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย และ ทางทีมนำมาขยายผล แนะนำให้คุณครูในคอมมูนิตี้รู้จัก จนตอนนี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย

“เมื่อก่อนแผนการสอนต้องดูอลังการ แต่เราสามารถทำให้อยู่ในหน้าเดียว ช่วงแรกแผนแบบนี้ยังไม่ได้เป็นที่นิยม แต่ปีนี้คุณครูเริ่มทำกันมากขึ้น ผอ. โรงเรียน เริ่มเห็นดีเห็นงาม บอกให้คุณครูทำแผนการสอนหน้าเดียวแทน ครูก็เข้ามาดูตัวอย่างที่เว็บของเรากัน

เมื่อแผนการสอนมีเสียงตอบรับที่ดี การพัฒนาขั้นต่อไปก็ตามมา

“เราคิดกันต่อไปอีกว่าอยากมีตัวช่วยครูสะท้อนความคิดหลังจากที่ได้สอนไปแล้ว เลยทำเป็นแบบประเมินครูที่คุณครูสามารถส่งให้นักเรียนทำหลังจบแต่ละคาบ หลังจากนั้น insKru จะช่วยสรุปผลลัพธ์ในรูปแบบที่คุณครูจะรู้สึกภูมิใจและนำไปพัฒนาตัวเองต่อได้ และยังนำเสียงจากเด็กๆ เหล่านี้ไปประกอบการทำรายงานประเมินตนเอง (Self Assessement Report หรือ SAR) ได้อีกด้วย”

แบบประเมินนี้ถือเป็นการพลิกโฉมห้องเรียนครั้งใหญ่ จากเดิมที่ครูมีอำนาจเป็นผู้ประเมินให้คะแนนเด็กเพียงอย่างเดียว เด็กๆ สามารถพูดความคิดเห็นของตัวเอง ทั้งชื่นชมและแนะนำให้คุณครูพัฒนาได้อย่างปลอดภัย ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนต่างวัยให้กล้าคุยกันมากขึ้น

แม้เป็นเพียงการเริ่มต้นที่ยังไม่อาจส่งผลต่อทั้งระบบ แต่ฝ่ายต่างๆ เริ่มเปิดรับนวัตกรรมเช่นนี้ ส่งสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

“สิ่งที่เราทำอาจยังใช้ไม่ได้กับทุกโรงเรียน เราเคยเอาไอเดียไปเสนอครูที่หนึ่งแล้ว เขาบอกว่าทำไม่ได้หรอก โรงเรียนยังต้องให้ใช้เอกสารปกติอยู่เลย แต่อย่างน้อยเราเปิดทางให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ที่จะช่วยลดภาระ และส่งผลดีต่อตัวนักเรียนแล้ว เราเชื่อว่าในอนาคตโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ เมื่อถึงตอนนั้น เขาจะนึกถึงความเป็นไปได้นี้” พั้นช์กล่าว

จากผลงานที่โดดเด่นและแตกต่างของ insKru หน่วยงานทั้งเอกชนและภาครัฐจึงเข้ามาสนับสนุนและทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องกว่า 20 แห่ง มีทั้งจัดเวิร์กชอป จัดแคมเปญสื่อสารความคิด เป็นสปอนเซอร์ ช่วยให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีรายได้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนตามอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้ในวันแรก

แพลตฟอร์มแชร์ไอเดียการศึกษา ที่ตั้งใจพลิกโฉมห้องเรียนในประเทศนี้ผ่านคุณครูกว่า 350,000 คนทั่วประเทศ
แพลตฟอร์มแชร์ไอเดียการศึกษา ที่ตั้งใจพลิกโฉมห้องเรียนในประเทศนี้ผ่านคุณครูกว่า 350,000 คนทั่วประเทศ
05

เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

3 ปีที่แล้ว ชื่อของนะโมและ insKru มักผูกติดกันจนเป็นเหมือนตัวตนของเธอ 

ในวันนี้พวกเขาขยับขยายตัวเองสู่การทำงานแบบทีมที่แข็งแกร่ง มีพนักงานประจำราว 10 ชีวิต และอาสาสมัครไฟแรงที่แวะเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยเหลือในโปรเจกต์ต่างๆ

จุดร่วมที่มักมีเหมือนกันของผู้คนเหล่านี้คือ การมองเห็นปัญหาที่น่าขัดใจ และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง

“เรารู้สึกว่าการศึกษาไทยไม่ทำให้คนเห็นตัวเองว่าชอบหรือถนัดอะไร ต้องตามเส้นทางที่ระบบวางไว้มาเรื่อยๆ พอเราเป็นเด็กต่างจังหวัด เรายิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปค่ายอาสา ยิ่งเห็นชัดขึ้นไปอีก ตอนแรกสนใจอยากทำงานเกี่ยวกับเด็กเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่คิดว่าถ้าแก้ที่ครูได้ ครูหนึ่งคนจะช่วยเด็กได้หลายสิบหรือร้อยคนเลย แล้วก็เจอที่นี่พอดี” ฝ้าย บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เลือกทำงานที่นี่เป็นที่แรกจนครบปีกล่าว

“เวลาเจอการเรียนการสอนกับครูที่ดี เรามักเห็นคนใช้คำว่าโชคดี ซึ่งเรารู้สึกว่ามันน่าเศร้ามากที่การเจอครูดีๆ เป็นเรื่องของโชคชะตา ทำไมไม่ใช่เรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ แต่กลับต้องมาแข่งกันเพื่อให้ได้โชคนั้น ถ้าเราได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำตรงนี้ มันน่าจะดีมากเลย” พั้นช์ รุ่นน้องร่วมภาควิชาของนะโม เล่า เธอได้รับแรงบันดาลใจจากแพลตฟอร์มนี้จนยินดีมาร่วมทำงานแบบไม่เกี่ยงตำแหน่ง การทำงานตรงนี้ทำให้เธอค้นพบว่ายังมีครูอีกมากในระบบการศึกษาที่ชวนให้ไม่หมดหวัง

เมื่อทีมขยายใหญ่ขึ้น ในฐานะผู้นำ นะโมต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเองตามไปด้วยเช่นกัน

แพลตฟอร์มแชร์ไอเดียการศึกษา ที่ตั้งใจพลิกโฉมห้องเรียนในประเทศนี้ผ่านคุณครูกว่า 350,000 คนทั่วประเทศ

“เคยมีช่วงยุคมืดที่เราชินกับการทำงานคนเดียว เน้นแต่งานจริงๆ แต่พอรับคนเข้ามาเพิ่ม ทำให้เราเริ่มให้ความสำคัญกับคน พยายามให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น และเกิดเป็นกิจกรรมภายในตามมา พอเราเป็นองค์กรที่ทำเรื่องออกแบบการเรียนรู้ เราคิดว่าต้องชวนทุกคนมาช่วยกันออกแบบประสบการณ์การทำงานให้มีความสุข และได้เรียนรู้ด้วยเหมือนกัน” นะโมเล่า

  ทุกคนในองค์กรต่างมีบทบาทเป็นนักออกแบบการเรียนรู้ไม่ต่างอะไรจากคุณครู แต่ละคนจะได้ผลัดกันมาจัดกิจกรรม คิดธีมการประชุมที่ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบแบบบริษัทดั้งเดิม บรรยากาศการทำงานภายในจึงเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ผสมด้วยความห่วงใย จริงใจ ทุกคนต่างดูแลกัน ไม่มีใครทำลายความฝันของใคร เอื้อให้คนกล้าเสนอไอเดียบ้าๆ ที่สุดท้ายนำไปสู่ความสร้างสรรค์

“พอเรามีทีมที่แข็งแกร่ง อะไรก็เป็นไปได้เหมือนกัน จากแต่ก่อนที่ไม่เชื่อเหมือนกันว่าจะอยู่รอดได้ไหม ไม่มั่นใจ ตอนนี้รู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรน่ากลัวเลย และอยากขอบคุณองค์กรการศึกษาและ Incubator ต่างๆ ที่สนับสนุนให้เราอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วย มันเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง Ecosystem จริงๆ”

แพลตฟอร์มแชร์ไอเดียการศึกษา ที่ตั้งใจพลิกโฉมห้องเรียนในประเทศนี้ผ่านคุณครูกว่า 350,000 คนทั่วประเทศ
06

Always inspire, Always insKru

“ปีหน้า เราอยากทำให้ insKru ยังคงความเป็นมิตรอยู่ แต่ดูโตและน่าเชื่อถือมากขึ้น” ฝ้ายเล่าทิศทางและภาพฝันที่หารือกันภายในทีม

“เราอยากเข้าไปทำงานกับโรงเรียนสักแห่งให้เกิดเป็นต้นแบบ อยากรู้ว่าถ้าแพลตฟอร์มแบบนี้เข้าไปช่วยพัฒนาในโรงเรียน จะเกิดผลลัพธ์ยังไง ถ้าไปได้ดี เราอาจต่อยอดให้เกิดเครือข่ายของโรงเรียนในระดับผู้บริหารที่มาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง” 

และนอกเหนือจากวงการศึกษาแล้วแพลตฟอร์มอาจเข้าไปอยู่ในภาคส่วนอื่นๆ ได้อีกด้วย

“ต่อไปเราอาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ครูหรือโรงเรียนอย่างเดียว เพราะมนุษย์ทุกคนต้องเรียนรู้ และสนับสนุนให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ ในระดับองค์กรเองก็เริ่มมีคนหยิบเอาไปไอเดียไปใช้ เราเชื่อว่าฐานคนใช้งานจะกว้างขึ้นมาก และจะช่วยให้ทุกการสอนเป็นไปได้” นะโมกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตที่เธอฝันถึง

เมื่อห้องเรียนไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ 

เด็กนักเรียนยังต้องแสวงหาความสุขในสถานศึกษาเหมือนเป็นเรื่องของโชคชะตา 

มนุษย์ยังต้องการประสบการณ์เรียนรู้ที่น่าจดจำ 

insKru คุณครูและนักออกแบบการเรียนรู้ทุกคนคือความหวังสำคัญที่จะจับมือกันเพื่อช่วยให้ทุกห้องเรียนในประเทศนี้ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และผู้เรียนเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและความสุข

แพลตฟอร์มแชร์ไอเดียการศึกษา ที่ตั้งใจพลิกโฉมห้องเรียนในประเทศนี้ผ่านคุณครูกว่า 350,000 คนทั่วประเทศ

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ