“Inside the Sandbox ทำงานจากคน ไม่ใช่จากห้องประชุมนี้”

นี่คือประโยคบนสไลด์หน้าแรกที่ใช้ในการนำเสนองานของ ‘Inside the Sandbox’ บริษัทเอเจนซี่โฆษณาของคนรุ่นใหม่ที่ศรัทธาความเป็นมนุษย์ มุ่งใช้พลังของการเล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และตั้งใจคุยกับคน Generation Z (เกิดประมาณ พ.ศ. 2540 – 2555) โดยเฉพาะ 

ลืมภาพงานเล่าเรื่องและโฆษณาที่เอาแต่ขายของที่เราไม่ได้สนใจไปก่อนได้เลย ทีม Inside the Sandbox เน้นการทำงานแบบออกนอกห้องประชุม เดินไปคุยกับผู้คนนับพัน เพื่อสร้างผลงานที่ตกผลึกจากประสบการณ์ชีวิตจริง และสัมผัสเข้าไปถึงก้นบึ้งจิตใจมนุษย์

ผลงานของพวกเขาที่สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาบนโซเชียลมีเดียอยู่ช่วงหนึ่งคือ ‘Deadline Always Exists’ และ ‘วิชาชีวิต’ ที่ชวนผู้คนสละเวลา 5 – 7 นาที กลับมานั่งไตร่ตรองทบทวนเส้นทางชีวิตและความฝัน

ด้วยลำดับการตั้งคำถามที่ร้อยเรียงอย่างคมคาย ภาพประกอบ เสียงบรรเลงที่อ่อนโยน รูปแบบการโต้ตอบบทสนทนา เมื่อประกอบรวมกันแล้ว กระตุ้นให้คนจำนวนไม่น้อยฉุกคิดถึงสิ่งสำคัญ ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่ต่างจากเมื่อวาน หวนนึกถึงจิตวิญญาณความเป็นเด็ก รู้สึกได้รับการโอบกอดปลอบประโลม และมีพลังใจใช้ชีวิตในวันต่อไป (หากใครยังไม่เคยเล่น ขอชวนให้คุณกดลิงก์เข้าไปสัมผัสประสบการณ์นี้สักครั้งก่อนอ่านบทความต่อ) 

ล่าสุด สัปดาห์นี้พวกเขาเพิ่งปล่อยผลงานนิทรรศการออนไลน์ ‘Journey within You‘ ที่ช่วยเลือกหนังสือให้เหมาะกับตัวตนของคุณ และ ‘Journey to the Moon‘ ที่ชวนคุณบันทึกความฝันและปั่นจักรยานไปดวงจันทร์ได้อย่างมั่นคงแน่วแน่

แต่งานของพวกเขาไม่ได้มีเพียงเท่านี้ และไม่ได้มุ่งหวังจะเรียกน้ำตาของผู้คนตลอด Inside the Sandbox เป็นพื้นที่ทดลองสร้างงานศิลปะที่พร้อมเล่าเรื่องให้ใครสักคนที่ต้องการ ด้วยเนื้อหาและรูปแบบที่หลากหลาย และด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ที่เข้าใจมนุษย์เหมือนกัน

ที่สำคัญ พวกเขายังเป็นกลุ่มเด็กที่มีพลังล้นเหลือ ยินดีทุ่มเทให้การทำงานแบบพิถีพิถัน

Inside the Sandbox เอเจนซี่โฆษณาของคน Gen Z ที่อยากเปลี่ยนสังคมด้วยการเล่าเรื่อง

นำทีมโดย มินนี่-เมธาวจี สาระคุณ บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัย 24 ปี ที่สร้าง Deadline Always Exists ตั้งแต่สมัยเรียน และเลือกลาออกจากงานประจำ ตั้งบริษัทกับผองเพื่อน เพื่อเป็นพื้นที่ให้ทีม Gen Z ได้เติบโตไปด้วยกัน 

หากค้นหาตามอินเทอร์เน็ต คุณจะเจอที่มาที่ไปของแต่ละโปรเจกต์ที่พวกเขาทำ แต่ในบทสนทนานี้ เราอยากชวนคนที่เล่าเรื่องคนอื่น มาเล่าเรื่องราวของตัวเองในฐานะนักเล่าเรื่อง Gen Z ให้ฟังบ้าง

ไม่ว่าคุณจะอยู่ช่วงวัยใดของชีวิต ขอเวลาไม่เกิน 10 นาที มาร่วมรับฟังมินนี่ และเล่นในกระบะทรายนี้อย่างไม่ต้องกลัวหกล้มไปด้วยกัน

Inside the Sandbox เอเจนซี่โฆษณาของคน Gen Z ที่อยากเปลี่ยนสังคมด้วยการเล่าเรื่อง

เพราะสงสัยจึงหาคำตอบและเล่าเรื่อง

ในวัย 23 ปี ทำไมถึงตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเอง

เราลาออกเพราะรู้สึกว่ายิ่งทำงานไป ยิ่งลืมว่าโลกข้างนอกมีอะไรที่เรายังทำได้มากกว่านี้ ตั้งคำถามตลอดว่าถ้าลาออกไปทำอะไรสักอย่าง เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน เลยออกมาเพื่อตอบคำถามนี้ ตอนแรกไม่ได้จริงจัง ทำกลุ่มเล็กๆ แล้วทำต่อมาเรื่อยๆ

ตอนนี้ตอบไม่ได้ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ตอบตัวเองได้ว่าวันนี้เราทำอะไรได้บ้าง มีงานที่ใช่ เพื่อนร่วมทีมที่ใช่ นี่คือ Dream Job ของเรา

นิยาม Inside the Sandbox ว่าเป็นอะไร

พูดแบบตรงไปตรงมาคือเอเจนซี่โฆษณา แต่ถ้าพูดถึงจิตวิญญาณจริงๆ สิ่งนี้คือพื้นที่สร้างงานศิลปะ เราอยากสร้างงานเล่าเรื่องที่เปลี่ยนแปลงสังคมแทนหลายคนที่ไม่มีโอกาสได้เล่า

อีกความหมายคือ เป็นกระบะทรายให้ทีมเราได้เล่นและลองปั้นความฝันขึ้นมา พวกเราพูดกันเสมอว่าอยากเห็นประเทศนี้เปลี่ยนแปลง เห็นบางประเด็นถูกพูดถึงมากขึ้นในมุมมองอื่น เราอยากรู้ว่าจะทำสิ่งนี้ไปได้ไกลแค่ไหนกัน

ความโชคดีคือทีมเรายังเด็กกันอยู่ เด็กพอที่พร้อมจะเสียเวลาชีวิตไปกับความฝันบ้าๆ บอๆ และเรียนรู้ไปด้วยกันใน Sandbox นี้ เรายังมีแรง เวลา ดังนั้นเมื่อความฝันเข้ามา เราเลยลงมือทำ วันก่อนเพิ่งคุยเรื่องทิศทางบริษัทกัน เรามีแผนว่าจะทำอะไร เราจะทำสิ่งเหล่านั้นและมาฟีดแบ็กกันว่าได้ผลไหม ชอบสิ่งที่ทำหรือเปล่า อาจจะผิดพลาดบ้าง เจ็บปวดบ้าง แต่ไม่เป็นไร เราจะเติบโตไปด้วยกัน

โลกนี้มีเอเจนซี่โฆษณาเยอะมาก ทำไมถึงยังต้องมี Inside the Sandbox

เพราะมันยังมีไม่เยอะพอ ถ้ามีเยอะพอ เราคงเห็นคนออกมาเล่าเรื่องเต็มไปหมด แต่ตอนนี้เราเห็นนักพูดเยอะมาก พูด พูดสิ่งที่คิด แต่ไม่ได้เล่าเรื่องราวอะไรให้ใคร

ประเทศนี้มีคนทำเพื่อสังคมเยอะมากเป็นแสน จริงๆ ควรสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เยอะ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น อิมแพคที่พวกเขาทุ่มเทแรงกายใจไปยังอยู่ในวงแคบ เลยอยากเล่าเรื่องเพื่อจะทำให้ใครสักคนในกระทรวง คนที่กำลังอ่าน คนที่กำลังเรียนอยู่ ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบตัวเอง

เราเป็นเด็กที่โตมากับโฆษณา Nike เมื่อสิบปีก่อน เแค่รู้สึกว่าเป็นโฆษณาที่ดี ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่สิบปีต่อมา วันที่เรากำลังจะลาออกจากบริษัท ประโยค ‘Just do it’ ดังขึ้นมาในหัว นั่นคือสิ่งที่การเล่าเรื่องทำกับเรา สังคมนี้ประกอบขึ้นจาก Narrative ที่เราเชื่อในอะไรสักอย่างร่วมกัน เราเชื่อในเรื่องเล่าของเงินตรา มันจึงมีคุณค่า เราเชื่อในเรื่องเล่าของยศถาบรรดาศักดิ์และปฏิบัติตามเรื่องเล่าเหล่านั้น สิ่งที่เราอยากทำคือการเปลี่ยน Narrative ของประเทศ ถอดรื้อมายาคติบางอย่างแล้วเล่าในรูปแบบใหม่

เชื่อในพลังของการเล่าเรื่อง

ใช่ โลกนี้มีคนเยอะมากที่อยากให้คุณช่วยเล่าเรื่องให้ สิ่งที่ทำให้เราตาเป็นประกาย คือการได้นั่งฟังใครสักคนเล่าชีวิตของเขา โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีพื้นที่สื่อหรือไม่ได้พูดเก่ง แล้วคิดต่อว่าจะพูดแบบไหน คนอื่นถึงรับสารนี้ได้ดีที่สุด มันเป็นเกียรติมาก 

การพูดคุยแบบนี้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของสองคนเชื่อมต่อกัน เรารู้สึกแบบเดียวกับที่เขารู้สึก เชื่อมโยงกันผ่านความเศร้า ความสุข ความเจ็บปวด ทั้งที่อาจเป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งคุยกันไม่กี่ชั่วโมง ได้เห็นคนที่ซ่อนบาดแผลไว้ใต้รอยยิ้มในชีวิตประจำวัน คนที่ซ่อนความสุขไว้ภายใต้บทบาทที่เคร่งขรึม เห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนผิดประหลาด แต่ความผิดประหลาดของคุณจะไปเชื่อมโยงกับความผิดประหลาดของใครสักคนเสมอ

เมื่อคุณเชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่น สุดท้าย คุณจะกลับมารู้สึกว่าเรายังเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ยังหายใจอยู่เหมือนกัน นั่นคือแรงบันดาลใจที่ทำให้ไม่เคยเบื่อกับการฟังและเล่าเรื่องราวของคน

มีเรื่องที่อินเป็นพิเศษไหม 

ไม่มี ตอนเรียนนิเทศศาสตร์ ปัญหาหนึ่งที่เจอคือการคิดว่าเราต้องมีแพสชันกับเรื่องอะไรมากๆ แล้วเล่าออกไปให้ดีแบบเนิร์ดๆ แต่สิ่งที่เราค้นพบเมื่อโตขึ้นคือ เราไม่จำเป็นต้องอินกับอะไรเป็นพิเศษ แต่ต้องอินกับการเล่าเรื่อง

หลายคนมักบอกว่าให้มีแพสชันก่อนค่อยทำอะไร แต่จริงๆ แพสชันเกิดจากการลงมือทำหรือ ‘Just do it’ นั่นแหละ ทุกวันนี้เรารับงานจากโจทย์ที่รู้สึกว่าลงมือทำบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ หรือโจทย์ที่ไม่รู้จะทำยังไงเลย แต่ว่าตื่นเต้น มีคำถามเยอะว่าเป็นแบบนี้ได้หรือเปล่านะ ถ้าไม่ได้คำตอบคงนอนไม่หลับ เราจะรับงานแบบนั้น

อาจเพราะเราขี้สงสัยตั้งแต่เด็ก เคยสงสัยว่าทำไมเราต้องเป็นผู้หญิง ความดีกับความเลวมีจริงไหม ทำไมคนนี้ถึงเป็นแบบนี้ เมื่ออยากรู้แล้วเราโง่เกินไปที่จะตอบเอง เราเลยเริ่มถาม ถามแล้วปัญหาอาจไม่ได้ถูกแก้ แต่เราจะเข้าใจอะไรมากขึ้น

โชคดีที่เราเปิดตัวมาด้วยท่าแปลก ลูกค้าที่เข้ามาไม่ได้ต้องการงานขายของจ๋าๆ แต่มีโจทย์แปลกๆ ให้เราลองค้นหาคำตอบด้วย

Inside the Sandbox เอเจนซี่โฆษณาของคน Gen Z ที่อยากเปลี่ยนสังคมด้วยการเล่าเรื่อง

ทำงานด้วยความเคารพตัวเองและเพื่อนมนุษย์

สนใจอะไรถึงคิดท่าแปลกแรกอย่าง Deadline Always Exists ที่ขอเวลาชีวิตผู้คนให้ได้กลับมาทบทวนตัวเอง จนคนอยากมีชีวิตอยู่ต่อ แชร์กันทั่วโซเชียลมีเดีย

เราแค่มีคำถามเข้ามาในหัวว่า ทุกคนมีอะไรที่อยากทำก่อนตายบ้างหรอ และศิโรราบต่อความอยากรู้ของตัวเอง อยากทำสักอย่างเพื่อให้ได้ไปคุยเรื่องนี้กับคน Deadline กลายเป็นข้ออ้างที่ดีมากให้เราได้ทำอย่างนั้น ไปนั่งคุยกับคนเป็นชั่วโมงๆ ว่าชีวิตคืออะไร ความฝัน อดีต ปัจจุบัน อนาคตคืออะไร เรารีเสิร์ชเพื่อทำโปรเจกต์นี้ไปเป็นพันคนเลย

กระแสตอบรับและการได้ทำบริษัทต่อเป็นเหมือนผลพลอยได้ที่เราขอบคุณมากๆ ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเราโตขึ้นเยอะมาก ทั้งในแง่คนทำงานและจิตวิญญาณ 

ยังไง

ปกติเวลาไปสัมภาษณ์ คนมักมองว่ามันคือการถามฝ่ายเดียว แต่สำหรับเรา มันคือการพูดคุยแลกเปลี่ยน 

ขอยกตัวอย่างหนึ่งเรื่อง เราเคยถามคนว่าทำไมถึงเปลี่ยนความฝันไปเรื่อยๆ เขาตอบกลับมาว่าแล้วทำไมความฝันต้องมีอย่างเดียว ต้องยิ่งใหญ่ ต้องผูกมัดไปจนเราถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ล่ะ จริงๆ เราอาจมีความฝันอยู่แล้ว แค่ไม่ยอมรับมันและใช้ชีวิตอย่างคนที่ไร้ฝันไปเรื่อยๆ 

พอจบวันนั้น เราเริ่มเดินตามความฝันของตัวเองในทุกวันเลย เช่น วันนี้อยากกินข้าวที่อร่อย อยากเจอเพื่อน อาจดูเรื่องเล็กนะ แต่จริงๆ ยิ่งใหญ่และสำคัญสำหรับเรา เรารู้สึกขึ้นมาว่าคนยุคนี้เครียดกับความฝันที่ยิ่งใหญ่มาก พอทำตามไม่ได้ก็รู้สึกล้มเหลว แต่อาจลืมไปว่าความฝันเปลี่ยนได้เสมอ โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวด้วย กลายเป็นหนึ่งใน Narrative ที่เราอยากเปลี่ยนในสังคมไปเลย 

เราเคยต้องวางแผนอนาคตว่า สิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า จะเห็นตัวเองอยู่จุดไหน แต่จุดนี้ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นการไม่ให้เกียรติการเติบโตของตัวเองเลย ไม่คิดบ้างหรอว่าตัวเองอีกยี่สิบปีข้างหน้า เราจะเจอตัวตนและความฝันใหม่ ทุกวันนี้เลยใช้ชีวิตแบบที่ไม่รู้ว่าห้าปีข้างหน้าจะไปอยู่ไหน แต่ใช้ทุกวันให้คุ้มค่าแบบที่ไม่เสียดายเลย เป็นการเรียนรู้ว่าให้เคารพการเติบโตของตัวเอง และปล่อยให้อนาคตเป็นเรื่องของอนาคตบ้างก็ได้

คนรักงานนี้เพราะเหมือนมีเพื่อนพูดคุยที่เข้าใจเขาและทำให้ฉุกคิดบางอย่าง ไอเดียการทำเว็บไซต์รูปแบบนี้เกิดขึ้นได้ยังไง

เริ่มจากโจทย์ว่าอยากให้คนมีโอกาสได้คิด มนุษย์รู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งตัวเองต้องตาย รู้ แต่อาจไม่มีโอกาสได้คิดจริงๆ เลยตั้งใจออกแบบให้เป็นงานศิลปะที่เล่าเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ไม่ได้เริ่มจากฟอร์แมต เพราะจริงๆ Inside the Sandbox ทำอะไรก็ได้เลย ขึ้นอยู่กับโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์แบรนด์ เวิร์กชอป นิทรรศการศิลปะ ทอล์ก หลากหลายมาก

แต่ในการทำงานสื่อสาร เรามักเจอลูกค้าที่มาบอกว่าจะเอาหนังโฆษณาหนึ่งตัว Key Visual สองแบบ Bumper Ads สามตัว แบบที่ผู้บริหารที่นั่งอยู่แต่ในห้องอยากได้ แต่คุณเคยถามคนจริงๆ โดยเฉพาะ Gen Z ไหมว่าเขาอยากดูอยากได้อะไร เราว่าสิ่งนี้ทำลายความเชื่อในฐานะคนทำงานมาก เราไม่ใช่เครื่องจักรผลิตหนังที่เล่าเรื่องได้ไม่เป็นมนุษย์ ความอัดอั้นคับข้องใจนี้มาตอนช่วงที่เราทำ Deadline พอดี

เราเชื่อว่านักเล่าเรื่องควรเดินออกไปเจอโลก เจอคนจริงๆ เพราะคุณกำลังจะเล่าเรื่องให้คนฟังนะ และเราอยากเล่าอย่างที่เป็นมนุษย์ที่สุด ไอเดียของ Deadline เกิดขึ้นแบบนี้ คิดไอเดียแล้วทดสอบกับคน ฟังว่าเขาอยากได้อะไร เอาฟีดแบ็กกลับมาแก้ แต่ละงานไม่เคยต่ำกว่ายี่สิบดราฟต์ อย่างวิชาชีวิตนี่ทำไปห้าสิบเอ็ดดราฟต์ ทดสอบกับสองร้อยคน

ทำไมต้องละเอียดขนาดนั้น

เรามีประโยคหนึ่งในหัวเสมอว่า ถ้างานนี้มีชื่อเราติดอยู่ กล้าปล่อยให้ไม่ดีหรือเปล่า คำตอบของคำถามนี้อาจทำให้แก้ได้แม้กระทั่งจุดทศนิยมหรือเส้นที่เบี้ยวไปหนึ่งมิลลิเมตร เราอยากเคารพตัวเองในฐานะคนทำงานที่ทำแต่ละวันให้ดีที่สุด ทำแบบที่มีแค่เราที่ทำได้ คนทั้งโลกไม่ต้องชอบงานเรานะ แต่สิ่งสำคัญคือเราชอบงานตัวเองไหม และทำให้ลูกค้าชอบงานของเราได้ไหม แค่นั้นเลย 

งานที่ตัวมินนี่ชอบต้องเป็นระดับไหน

เป็นงานที่ทำดีกว่านี้ไม่ได้แล้วในตอนนี้ งานที่ไม่บิดพลิ้วไปจากความเชื่อของฉัน เคารพทุกคนที่ไปสัมภาษณ์ คิดทุกประโยคที่ใส่มาหมดแล้ว ลงแรงจนไม่มีคำว่ารู้งี้มากวนใจทีหลัง 

แต่เราอาจทำได้เพราะยังเป็นเด็ก มีแรงเหลือนะ ถ้าไปถามมินนี่อีกสิบปีข้างหน้า อาจจะแค่ดราฟต์เดียวพอ ต้องไปดูแลลูกแล้ว (หัวเราะ)

Inside the Sandbox เอเจนซี่โฆษณาของคน Gen Z ที่อยากเปลี่ยนสังคมด้วยการเล่าเรื่อง
คุยกับซีอีโอเอเจนซี่โฆษณาวัย 24 ปีที่อยากเล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนสังคม และสร้างงานที่ไปไกลกว่า Deadline Always Exists และวิชาชีวิต

เติบโตแบบเป็นเด็กตลอดไป

ช่วงที่ Deadline Always Exists เป็นที่รู้จัก รู้สึกยังไง

เลิกเล่นโซเชียลมีเดียไปพักหนึ่ง เราเป็นเด็กที่ใช้ชีวิตแบบปลาทองที่ว่ายน้ำในขวดโหลของตัวเองมาตลอด แต่อยู่ๆ วันหนึ่งโดนปล่อยลงทะเล ไปเจอปลาที่แปลกประหลาดจากที่เคยรู้จัก กลายเป็นน้องปลาทองที่ต้องไปทักทายว่าสวัสดี เพิ่งมาใหม่ในทะเลค่ะ แพนิกมากที่ถูกพูดถึงเยอะขนาดนี้

แต่มันจำเป็นต่อการเติบโต เราใช้เวลาจัดการความรู้สึกตัวเองเยอะมาก และ The Cloud เป็นสื่อแรกที่เรายินดีเปิดเผยหน้าว่าเราเป็นใคร จากปกติที่ปฏิเสธหรือขอไม่ลงรูปมาตลอด เราคิดได้ว่าต่อให้อยู่ท่ามกลางคนเยอะมาก แต่ไม่ต้องแคร์คนทั้งโลกก็ได้ สุดท้ายจะมีคนคัดค้านความเชื่อและทำให้เสียงเราเบาลง แต่เราเป็นอินโทรเวิร์ตที่ไม่ได้ต้องการผู้คนมากมายในชีวิต แค่เสียงกระซิบเราไปถึงคนรอบข้างในแบบที่เราเชื่อก็พอแล้ว

ผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและสังคมจากผลงานนี้

ไม่รู้เหมือนกัน คิดว่าการสื่อสารไม่ได้ทำงานกับคนเร็วขนาดนั้น นี่เพิ่งปีกว่าเอง อีกสิบปีข้างหน้า อาจมีคนที่นึกถึง Deadline Always Exist ขึ้นมา ตอนกำลังจะลาออกแล้วคิดว่าถ้าไม่ได้ทำอะไรก่อนตายจะเสียดายก็ได้ เราไม่รู้หรอก บางทีมันอาจไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สังคมเลย เป็นแค่ความเชื่อของเราที่คิดว่ามันทำได้แหละ 

แต่จริงๆ ก็ไม่อยากอ้างว่าตัวเองทำงานเพื่อสังคมนะ ดูโอเวอร์ไปหน่อย ไม่ได้มีใครเป็นหนี้บุญคุณเราจากการทำสิ่งนี้ เราทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อตัวเอง เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่ไม่ถูกต้องแบบนี้ไม่ได้ ทำเพราะเชื่อว่าถ้าประเทศนี้มีสวัสดิการที่ดี ตอนแก่เราจะมีชีวิตที่อยู่ได้ดีกว่านี้ ทำเพราะชอบฟังเพลง เลยอยากเห็นนักดนตรีมีงานทำ เราไม่ใช่ฮีโร่ เพราะคงไม่มีฮีโร่ที่ไหนเห็นแก่ตัวขนาดนี้ เราแค่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเอง

ความเจ็บปวดหนึ่งของคนทำงานสายสื่อสาร คือเราจะไม่เห็นผลลัพธ์ทันที ยอดไลก์ ยอดแชร์ ไม่ได้บอกว่าสังคมเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่วันหนึ่ง ถ้าลูกเราถามว่าวันนั้นที่ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง แม่ทำอะไรอยู่ เราจะมีเรื่องเล่าเยอะมากจากงานที่กำลังทำ ต่อให้แพ้หรือชนะในการต่อสู้ แต่เราเชื่อว่าทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งอาจผิดสำหรับคนอื่นนะ แต่นี่คือประวัติศาสตร์ที่เราอยากสร้าง และเรา Just do it เพื่อมันแล้ว

อีกหนึ่งผลงานขึ้นชื่อของมินนี่คือ ‘วิชาชีวิต’ ที่ทำคนเสียน้ำตากันมากมาย โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้ยังไง

ต้องขอบคุณ พี่พิ (พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน), พี่ป่าน (ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์), พี่บี๋ (นภัส มุทุตานนท์) จาก Glow Story เลย เริ่มจากพี่ป่านติดต่อมาว่าสนใจทำโปรเจกต์ด้วยกันไหม ตอนนั้นยังไม่รู้ว่า Glow Story ทำอะไรเลยนะ แต่พี่เขาพูดว่ามินนี่อยากทำอะไรทำเลย เดี๋ยวพี่ประสานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีโจทย์นี้ให้ เราก็ทำตามนั้นเลย เป็นความโชคดีที่เขาเชื่อน้ำเสียงการเล่าเรื่องของเราและปล่อยให้ทำเต็มที่

ผลลัพธ์เป็นไปตามคาดหวังไหม มีคนเข้ามาตกตะกอนและส่งต่อบทเรียนชีวิตกันเต็มเว็บไซต์เลย

เป็นมากกว่าที่คาดหวังอีก และมันน่ากลัวมาก เราทำด้วยความคิดว่าดีสุดคงเท่า Deadline แต่มันไปไกลกว่านั้น กลายเป็นว่ามาตรฐานที่เราต้องกระโดดข้ามสูงขึ้น เหมือนมีผีที่ตามหลอกหลอนเรา เวลาไปสัมภาษณ์สื่อหรือติดต่อลูกค้า ทุกคนจะถามถึงวิชาชีวิตหมด แต่เราอยากเป็นมินนี่ที่มีนามสกุลอื่นนอกจากสองนามสกุลนี้ 

โจทย์การทำงานของเราทุกวันนี้คือการหานามสกุลใหม่ให้ตัวเอง มันดีตรงที่ทำให้เราต้องวิ่งเร็ว ไกล และสม่ำเสมอขึ้น 

เคยมีนามสกุลอื่นๆ ที่ไม่ดังด้วย

ใช่ มีงานที่เราทำโดยคาดหวังว่าต้องดังกว่าวิชาชีวิต แต่นอกจากจะไม่ดังแล้ว เรายังเกลียดงานนั้น เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวเรา มีแต่แก้ตามคอมเมนต์ของผู้คนทุกอย่าง จริงๆ นักเล่าเรื่องก็เป็นคน ต้องเคารพตัวเองเหมือนกันว่าเรามีจิตวิญญาณที่ต้องใช้ ไม่ได้เป็นเครื่องจักรที่รับและแก้ตามคอมเมนต์อย่างเดียว เรามีตัวตน

งานนี้เป็นบทเรียนมากว่าชีวิตเราอาจมีผีตัวหนึ่งที่ไล่ตามเรานานมาก แต่ช่างมันเถอะ เราอาจฆ่าไม่ได้ภายในสองปีแรก แต่สำคัญกว่าว่าเรามองกลับไปในสองปีนั้นแล้วชอบทุกงานหมด

ในวัย 24 ปี หลังเปิดบริษัทมาปีครึ่ง รู้สึกว่าต้องแลกอะไรในชีวิตไปเพื่อทำสิ่งนี้บ้างไหม

ไม่นะ ไม่ได้รู้สึกว่าสูญเสียอะไรไปเพื่อให้ได้อะไรกลับมา เราแค่เปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน 

จริงอยู่ที่ว่ามันหนักสำหรับคนอายุเท่านี้ มีเจอลูกค้าแย่ๆ โจทย์ยากๆ เป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง แต่มันสนุกในทุกวันเหมือนกัน การเป็นเด็กที่ยังมีแรงและเวลากลับเป็นข้อดีที่สุดในการทำงานของเรา และเราคาดหวังว่าจะเป็นเด็กได้ตลอดไป

จะมีวันไหนที่เราเติบโต จนไม่รู้สึกว่าเป็นเด็กอีกแล้วไหม

ยังไม่รู้ แต่เราว่าความเป็นเด็กคือจิตวิญญาณ ไม่ใช่อายุ

แรงบันดาลใจของเราคือพ่อ ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่มีวันไหนที่รู้สึกว่าพ่อเราแก่เลย ในเชิงกายภาพอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่เรื่องจิตใจคือไม่เลย พ่อยังมีเพื่อนวัยเราและหยิบหัวข้ออะไรมาแลกเปลี่ยนกันได้หมด อายุหยุดพ่อเราไม่ได้ 

ถ้ายังคิดว่าไปต่อได้ไหว เราคงยังเป็นเด็กได้เรื่อยๆ และยังเล่นในกระบะทรายนี้ได้ต่อไป

คุยกับซีอีโอเอเจนซี่โฆษณาวัย 24 ปีที่อยากเล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนสังคม และสร้างงานที่ไปไกลกว่า Deadline Always Exists และวิชาชีวิต
คุยกับซีอีโอเอเจนซี่โฆษณาวัย 24 ปีที่อยากเล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนสังคม และสร้างงานที่ไปไกลกว่า Deadline Always Exists และวิชาชีวิต

เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ต่อ

ในกระบะทรายนี้ มีใครเป็นสมาชิกบ้าง มารวมตัวกันได้ยังไง

มินนี่เป็นครีเอทีฟหลัก พี่ไนล์เป็น Art Director ผิงเป็น Illustrator และ Account Executive (AE) ขวัญเป็น AE และ Strategist กฤตกับน้ำแข็งเป็น Developer เมย์เป็น Content Creator และงิ้ม น้องที่ฝึกงานจนจะทำงานประจำได้อยู่แล้ว

เรารวมทีมกันเพราะเราทำ Deadline กับพี่ไนล์ที่ทำสิ่งนี้เป็นโปรเจกต์จบตอนเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์แค่สองคนไม่ไหว เลยเรียกเพื่อนมาด้วยการหลอกว่าเป็นงานง่ายๆ ทำแป๊บเดียว แต่พอทำจริงมันไม่ง่าย เพื่อนก็ตามเพื่อนมาช่วยอีก จนกลายเป็นเจ็ดคน พองาน Deadline ปล่อยวันแรก เราถามว่าต้องทำอะไรกันต่อ ทุกคนตอบว่าทำอะไรก็ได้ ขอแค่ทำ เลยทำงานด้วยกันมาจนถึงวันนี้ 

ทุกครั้งที่หันไปเห็นพวกเขาทำงานในออฟฟิศเล็กๆ ของเรา จะมีคำถามว่าทำไมพวกเขามาอยู่ตรงนี้วะ คนพวกนี้ไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ คงไปได้ไกลมาก แต่คำตอบคือเพราะเมื่อวานเราตัดสินใจด้วยกันว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในวัยนี้ และวันนี้เรายังตัดสินใจเหมือนเดิมอยู่ เป็นเกียรติมากที่ชีวิตเจอคนแบบนี้

ทำงานด้วยกันมา เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ทุกสามเดือน ทั้งทีมจะตกตะกอนกันว่าคนในทีมโตขึ้นแค่ไหน มันเป็นคำถามที่เราอาจตอบไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องให้เพื่อนร่วมงานที่เห็นเราโตมาตลอดช่วยตอบ และเราเห็นว่าเพื่อนเราเติบโตขึ้นมาก จากที่เคยร้องไห้บ่อย ท้อง่าย ทุกวันนี้เพื่อนลุกขึ้นสู้เพื่อไอเดียตัวเอง จากที่เคยประสานงานไม่เก่ง แต่ทุกวันนี้เพื่อนทำได้ดีมากๆ ภูมิใจที่ได้สร้าง Sandbox นี้

ในฐานะผู้นำ เคยกลัวเจ๊งไหม

เราเคยถามพี่พิ Glow Story ว่า พี่ หนูจะเจ๊งไหม พี่พิบอกความลับของจักรวาลว่า ทุกคนกลัวแบบนี้เหมือนกันหมด พอรู้ว่าคนที่เรานับถือขนาดนี้ยังกลัวเจ๊งเลย งั้นเด็กอายุยี่สิบสามที่เรียนจบได้ปีเดียว เจ๊งคงเป็นเรื่องปกติ อีกยี่สิบหรือสามสิบปี เราก็คงยังกลัวแบบนี้ สิ่งที่ทำได้คือ ทำยังไงให้สิ่งที่กลัวไม่เกิดขึ้นจริง 

พี่ป่านพูดกับเราในวันสุดท้ายที่ทำวิชาชีวิตว่าให้เราไปเปิดบริษัท เราถามว่าจะไปรอดหรอวะ พี่ป่านตอบว่าไม่รู้ แต่เขาเห็นว่าทีมเราจะสนุกกับการนั่งคิดว่าจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง หาทางปั้นอะไรเป็นของตัวเองแน่นอน ถ้าสนุกและอยู่กับความกลัวนี้ได้ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทนทำงานออฟฟิศต่อ พวกเราก็บ้าจี้ ลาออกกันทั้งทีม

เคยมีช่วงเวลาที่เราทุกข์มากนะ แต่เรารอคอยว่าต้องมีช่วงเวลาที่เรามีความสุขมากๆ บ้าง ซึ่งมันมีจริงๆ ขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้จนมีช่วงเวลาดีๆ กับคนเหล่านี้ ในอนาคต ช่วงเวลาที่แย่จะหมุนมาอีก แต่เราจะไม่ยอมแพ้เหมือนเดิม

ตอนนี้ทีมกำลังพยายามทำเรื่องอะไรอยู่

พยายามสลัดภาพคนชอบทำคอนเทนต์ให้คนร้องไห้ ขอโทษ ไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น ตอนนี้อยากหมุนด้านอื่นให้คนเห็นว่า เราทำงานสนุกๆ หรือพูดเรื่องวิชาการก็ได้ ไม่ได้พูดแค่เรื่องจิตใจอย่างเดียว งานต่อจากนี้จะหลากหลายมาก 

เพิ่งปล่อยสองงาน (Journey within You และ Journey to the Moon) ที่ลองลูกเล่นใหม่และได้ร่วมงานกับพี่ๆ เก่งๆ มากมาย ฝากติดตามในเพจและฟีดแบ็กได้เลย กับอีกงานที่กำลังพัฒนาอยู่คือ โปรเจกต์สามจังหวัดชายแดนใต้ ยอมรับว่าตอนแรกเข้าใจประเด็นนี้น้อยมาก เห็นแค่ภาพตามสื่อ โปรเจกต์นี้เปิดโอกาสให้เราทำความรู้จักประเด็นนี้จริงๆ เปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่ออกมาเล่า

ความยากคือ เมื่อคุณไม่ใช่คนที่เล่าเอง คุณจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถเขียนสคริปต์ให้แล้วบอกว่า พี่ๆ พูดอันนี้ให้หน่อย แต่สนุกมาก เพราะไม่รู้ว่าสัมภาษณ์แต่ละวันแล้วจะได้อะไรกลับมา ทำให้ตื่นเต้นทุกวัน ไม่ได้หวังว่าโปรเจกต์นี้จะดังกว่าวิชาชีวิต แต่หวังว่าจะช่วยคนที่เกี่ยวข้องได้จริงๆ กำหนดไว้ว่าจะปล่อยเร็วๆ นี้ และมีงานอื่นๆ ที่ขอไม่เปิดเผยว่าเราทำ แต่หลายคนน่าจะเห็นกันอยู่ 

ขอเวลามินนี่มานานแล้ว คำถามก่อนสุดท้ายคือ ถามคนมาเยอะมากๆ ชอบคำถามไหนที่สุด

ช่วงเวลาที่ทำให้คุณรู้สึกว่ามีชีวิตที่สุดคือตอนไหน เราชอบมองตาคนตอบคำถามนี้มากเลย มันมีบางอย่างเปล่งประกายอยู่ในนั้น

แล้วคำถามที่คนอื่นถามกลับมาล่ะ ชอบคำถามไหนที่สุด

ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองปกติ คำถามนั้นคือมินนี่ ตอนนี้มีความสุขอยู่ไหม เคยมีคนถามและเราค้นพบว่าตอบยาก เพราะความสุขของเราถูกแขวนไว้กับอนาคตว่าเราจะเป็นใคร ถูกแขวนไว้กับอดีตว่าเราเคยเป็นใครมา 

แต่พอเจอคำถามนี้ เราเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เป็นคำถามที่ดีนะ 

คุยกับซีอีโอเอเจนซี่โฆษณาวัย 24 ปีที่อยากเล่าเรื่องเพื่อเปลี่ยนสังคม และสร้างงานที่ไปไกลกว่า Deadline Always Exists และวิชาชีวิต

ภาพ : ศุภกานต์ ผดุงใจ

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป