23 กุมภาพันธ์ 2021
7 K

ฉันเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าชาติที่แล้วตัวเองคงเคยเกิดเป็นแขกอินเดียมาก่อน เป็นที่มาของหนังสือเล่มแรกที่ชื่อ ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ในช่วงระหว่างการซื้อขายหนังสือ ฉันพบว่ามีคนอีกจำนวนมากมายเหลือเกินที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับประเทศอินเดีย คือกลับไปเที่ยวซ้ำๆ อยู่นั่นล่ะ บ่นว่าเขาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไป รวมทั้งผู้หญิงคนนี้ด้วย 

แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ เดินทางไปใช้ชีวิตและเรียนเต้นกถัก นาฏศิลป์เก่าแก่ของอินเดียที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย เข้าสู่ปีที่ 8 ปีแล้ว แพรว่า กถักคือเหตุผลหลักที่พาเธอไป แต่ความสัมพันธ์กับผู้คนในอินเดียจนก่อเกิดเป็นความรัก ทำให้เธอแอบเชื่อว่า ชาติที่แล้วเธอก็คงเคยเกิดเป็นคนอินเดียกับเขาเหมือนกัน

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

‘กถัก’ (Kathak) คือนาฏศิลป์ทางภาคเหนือของอินเดีย ที่ถักทอเรื่องราวของเทพทางศาสนาฮินดู และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย ผ่านท่าทางการเต้นที่ต้องใช้ทั้งความแข็งแรงและความอ่อนโยนของผู้เต้นในเวลาเดียวกัน สมัยเริ่มแรก ชาวฮินดูจะนิยมเต้นกถักกันตามสถานที่มงคล เช่น วัดหรือในพระราชวัง เพื่อเป็นการถวายเทพเจ้า โดยชาวฮินดูมีความเชื่อว่า การเต้นกถักนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 4 แล้ว

องค์ประกอบหลักในการเต้นกถักคือการแสดงสีหน้า (Abhinaya) การตบเท้าที่รัวและเร็ว ลีลาการวาดมือที่มีลักษณะคล้ายกับการเต้นรำร่วมสมัย การฝึกลมหายใจ การหมุนตัว ที่ยิ่งหมุนได้จำนวนรอบมากเท่าไหร่ โดยยังสามารถควบคุมจังหวะการตบเท้าให้ประสานกับจังหวะของดนตรีได้ โดยไม่คร่อมจังหวะ ก็ยิ่งแสดงถึงความแข็งแรงและสมาธิของผู้เต้นได้มากเท่านั้น 

ในช่วงของการเต้นกถักร่วมกับการบรรเลงจังหวะจากคณะวงดนตรีสด ผู้เต้นจะเต้นสลับกับการพูดออกเสียงนับจังหวะ (Padhant) เช่น ตา เถย เถย ตั๊ต อา เถย เถย ตั๊ต โดยการออกเสียงนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการนับจังหวะเพื่อการเต้น แต่ยังเป็นการเปล่งเสียงเพื่อทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระแม่ธรณี เพื่อให้การแสดงที่เกิดขึ้นมีความราบรื่น 

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

หนึ่งองค์ประกอบของเครื่องแต่งกายในการเต้นกถักที่ถือเป็นของสูง และยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้เต้นสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ คือกระพรวนที่พันไว้บริเวณข้อเท้าทั้งสองข้าง การใส่กระพรวนข้อเท้าจากวัสดุทองเหลืองนี้มีตั้งแต่ข้างละ 10 – 20 ลูก ไปจนข้างละ 150 ลูก หรือ 200 ลูก ก็มี ชาวฮินดูเชื่อกันว่า เสียงกระพรวนที่ดังก้องกังวานจะช่วยปัดเป่าโชคร้าย และยังเป็นการสื่อสารกับทวยเทพ ยิ่งจำนวนลูกกระพรวนมากเท่าไหร่ เสียงที่เกิดขึ้นก็ยิ่งแน่น แต่นั่นหมายถึงผู้เต้นเองก็ต้องมีกำลังข้อเท้าและกำลังขาที่แข็งแรง ในการแบกรับน้ำหนักของจำนวนลูกกระพรวนเหล่านี้ไว้ด้วย

“จำนวนลูกกระพรวนที่ใส่ก็แล้วแต่กูรูจี (ครู) ค่ะ ว่าจะให้นักเรียนแต่ละคนใส่เท่าไหร่ เพราะสรีระแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ข้างละหนึ่งร้อยเก้าเขาถือว่าเป็นเลขสิริมงคล อย่างของแพร ใส่ข้างละร้อยห้าสิบบ้าง สองร้อยบ้าง “

แพรบอกฉันขณะกำลังแต่งตัวในชุดกระโปรงยาว เธอกรีดอายไลเนอร์สีดำเข้มไว้บริเวณขอบตา เส้นวาดขอบตาคบกริบที่เกิดขึ้น ทำให้ฉันนึกถึงคณะนางรำในช่วงเทศกาล ตามท้องถนนของอินเดียทางภาคใต้ 

โอ้ย คิดถึงอินเดีย

เธอแปะบินดิไว้ตรงดวงตาที่ 3 บริเวณหว่างคิ้ว และทาสีแดงบนฝ่ามือฝ่าเท้าด้วยอารตะ (ดอกชบา บดเป็นสี) ซึ่งเป็นการเลียนแบบมาจากพระแม่เทพแห่งฮินดู เธอพันลูกกระพรวนไว้ที่ข้อเท้าทั้งสองข้าง เดินไปมา เสียงดังกุ๊งกิ๊ง กุ๊งกิ๊ง 

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

“วันนี้แพรใส่ข้างละร้อยห้าสิบลูก เพราะช่วงหนึ่งแพรขาดวิตามินดี ทำให้กระดูกเปราะ หมอเคยบอกให้แพรหยุดเต้นกถักไปเลยนะคะ เพราะถ้าฝืนต่อไปอาจจะร้าวไปถึงส่วนอื่นได้ ช่วงนั้นแพรใส่เฝือกอ่อนอยู่ระยะหนึ่ง ใช้วิธีฉีดสปเรย์ช่วยเอา จากกระพรวนที่แต่ก่อนเคยใส่ข้างละสองร้อยลูก กูรูจีก็เลยให้ลดมาเหลือข้างละร้อยห้าสิบลูก

“สมัยลองหัดเต้นอินเดียใหม่ๆ แพรก็แยกไม่ออกหรอกค่ะ ว่าการเต้นอินเดียแต่ละแบบมันต่างกันยังไง”

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า
8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

เธอแค่เป็นคนคนหนึ่งที่ชอบดูหนังอินเดียมาตั้งแต่เด็ก เมื่อไหร่ที่หมู่มวลตัวละครลุกขึ้นมาเต้นกัน เธอก็จะพยายามเต้นตาม โดยที่ไม่รู้เลยว่า นั่นเขาเรียกการเต้นแบบบอลลีวูด จากนั้นมา ตั้งแต่อายุ 12 ที่ไหนมีสอนเต้นบอลลีวูด เธอก็ยอมเสียเงินเสียทองไปเรียนมันทุกที่ จนวันหนึ่ง มีคนแนะนำให้เธอไปเข้ากลุ่ม Indian Women’s Club ซึ่งที่นี่จะมีชั่วโมงสอนเต้นอินเดียให้กับคนไทยที่สนใจ 

พอได้ลองเต้นอินเดียหลายรูปแบบเข้า แพรก็รู้สึกว่า เอาล่ะ ฉันมาถูกทางแล้ว เธอเลยไปลงเรียน ภารตนาฏยัม (Bharatanatyam) ซึ่งเป็นหนึ่งในนาฏศิลป์อินเดียเก่าแก่ที่ Indian Council for Cultural Relations, Thailand (ICCR) จนพอเข้าอายุ 16 เธอมีโอกาสได้เรียนเต้นกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่ทำให้เธอได้รู้จักกับโลกของการเต้นกถักแบบดั้งเดิม

“ตบเท้าแตกแค่ไหน ก็ต้องเต้นต่อไปค่ะ” แพรอธิบายสั้นๆ ถึงการเต้นกถักตามวิถีโบราณ 

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า
8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

 เริ่มแรกของชีวิตเด็กนักเรียนทุน แพรได้ทุน 5 ปี จาก ICCR เพื่อไปเรียนเต้นกถัก ที่สถาบัน Shriram Bharatiya Kala Kendra ในเมืองเดลี เวลาเรียกสถาบันเก่าแก่ที่เปิดสอนนาฏศิลป์อินเดีย คนอินเดียเขาจะไม่ใช้คำว่าสถาบันหรือโรงเรียน แต่เขาจะใช้คำเรียกว่าสำนัก และเรียกครูผู้สอนว่ากูรูจี โดยแพรเป็นนักเรียนไทยเพียงคนเดียวที่เรียนเต้นกถักอยู่ที่นั่น

“เราชอบอินเดียอยู่แล้ว พอได้ไปเรียนถึงที่นั่นมันก็เลยยิ่งอิน เพราะโดยธรรมชาติ เราเป็นคนทำอะไรเร็ว ซึ่งการเคลื่อนไหวโดยมากของการเต้นกถักเอง มันรัวและเร็ว แต่ก็มีบ้างที่ผสมด้วยจังหวะช้าและปานกลาง เลยตอบโจทย์เรามาก ภาษาอังกฤษเราตอนนั้นห่วยแตกสุดๆ เวลาเรียนก็เลยมีปัญหาบ้าง แต่ข้อโชคดีคือเราเรียนจบวิทยาลัยนาฏศิลป์มา ซึ่งท่าทางของการเต้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันสัมพันธ์กันหมด เราเลยพอจะมีสกิลล์ในการคัดลองท่า การรู้องศา แต่ไอ้การปาดันต์ (ออกเสียงนับจังหวะ) ตา เถย เถย ตั๊ต อา เถย เถย ตั๊ต แบบรัวๆ เร็วๆ นี่ ตอนนั้นเรายังทำไม่ได้นะคะ มันยากมาก”

ถ้าใครเคยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ คงเข้าใจดีว่าเรื่องภาษามีความสำคัญมากขนาดไหนในชีวิตประจำวัน ยิ่งสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษของคนอินเดียด้วยแล้ว เวลาฟังเขาพูดทีนี่ ต้องใช้ทั้งพื้นฐานด้านภาษาที่เราแต่ละคนมีติดตัวมา บวกด้วยสติ เวลาไปอินเดีย ฉันเจอประจำกับเรื่องค่าโดยสารรถตุ๊กตุ๊ก ประเภทก่อนขึ้นรถบอกเรามาว่า Fifteen แต่พอถึงที่ เอ้า จะมาเนียน เก็บ Fifty 

“ในช่วงเริ่มเรียนครั้งแรก สิ่งที่ต้องฝึกคือจังหวะการตบเท้าและการปาดันต์ การตบเท้าเป็นทักษะที่ฝึกแบบไม่มีที่สิ้นสุด ฝึกไปทั้งชีวิตของการเต้น ส่วนการปาดันต์เป็นเรื่องของการหายใจ และมีคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย บอกเลยค่ะว่ายากมาก”

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

การเต้นกถักต้องใช้ทั้งสมาธิ ร่างกายที่แข็งแรง การเกร็งข้อเท้าอยู่ตลอดเวลาในจังหวะของการตบพื้น และสำหรับผู้เต้นกถักแล้ว อาการเลือดตกยางออกที่บริเวณเฝ่าเท้าถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอแน่ๆ

“ใช่ค่ะ ตบเท้ากันจนเลือดออกอยู่บ่อยๆ เลย พอเท้ามันเสียดสีกับพื้นมากๆ เข้า มันพอง ชิ้นเนื้อก็หลุด พอตบลงไปซ้ำ แผลมันก็จะใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังต้องฝืนเต้นกันต่อไป เพื่อจะได้ชิน”

แพรว่า กูรูจีของแพรเองก็ใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอดค่ะ แผลที่เท้าไม่ใช่อุปสรรคในการหยุดเต้น จนทำให้ผู้เต้นกถักหลายคนกลายเป็นคนเท้าด้านไปเสียแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่เท้าแตก ผู้เต้นกถักจะรู้กันเองว่าให้ใช้วาสลีนป้ายลงไป จากนั้นเอากระดาษทิชชูหรือสำลีมาปิดไว้และใช้สก็อตช์เทปพัน บางคนก็เอาเท้าไปแช่น้ำอุ่นที่ผสมด้วยเกลือ บางคนก็ปล่อยไว้แบบนั้นล่ะ ไม่ทำอะไรเลย

 อินเดี๊ย อินเดีย ประเทศที่สก็อตช์เทปใช้ได้กับทุกสถานการณ์

ตั้งแต่เรียนเต้นกถัก จนเข้าสู่ปีที่ 8 แพรก็ยังไม่เคยเห็นใครต้องไปหาหมอจากอาการเท้าแตก เพราะผู้เต้นกถักทุกคนรู้วิธีในการรักษาตัวเอง

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า
8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

การหมุนตัวเป็นอีกทักษะที่สำคัญของผู้เต้นกถัก ความยากคือจะหมุนเป็นสิบๆ รอบยังไงไม่ให้อาเจียน ไม่ให้ล้มหน้ามืดไปเสียก่อน โดยการหมุนตัวในการเต้นกถักมี 2 แบบหลักๆ ถ้าหมุนตัวแบบไจปูร์ (Jaipur) ก็จะอย่างหนึ่ง ถ้าหมุนตัวแบบลัคเนา (Lucknow) ก็จะอีกอย่าง เพราะลัคเนาเองก็รับรูปแบบนาฏศิลป์กถักมาจากไจปูร์ ซึ่งเป็นต้นทาง โดยอาจมีการตัดหรือดัดแปลง เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มขึ้นมา

“ช่วงฝึกแรก ๆ หมุนสามสี่รอบก็จะตายแล้วค่ะ คนเต้นกถักนี่ ใครยิ่งหมุนได้เยอะ เขายิ่งมองว่าเก่ง แข็งแรง เวลาฝึกหมุนตัวในห้องเรียน พอครูเขาสั่งให้เราหมุน เราก็ต้องหมุนไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะบอกให้หยุด แรกๆ ที่เริ่มเรียนก็นับรอบในใจนะคะ แต่หลังๆ เลิกนับแล้ว เมื่อไหร่ที่หมุนจนรู้สึกอยากอาเจียน จะมีเสียงกูรูจีคอยดังอยู่ในหัวเราว่า You have to push yourself! เราก็อะ โอเค แพร I have to push myself. นะ ที่ผ่านมายังไม่เคยอาเจียนนะคะ จะมีแค่เลือดกำเดาไหล ช่วงแรกที่ฝึกมีปัญหาบ้างเรื่องจังหวะการหายใจ หลังๆ พอได้ฝึกสมาธิ ฝึกลมปราณ ก็เลยหายใจถูกจังหวะ หมุนพริ้วเลยคราวนี้”

ในภาษาฮินดี Guru Shishya Parampara หมายความถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกูรูจีและศิษย์ ที่เหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เรียกหากันได้ตลอด 24 ชั่วโมง แพรว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ครูเรียกไปซ้อมเต้นนอกเวลาเรียน จะดึกดื่นเที่ยงคืนแค่ไหนก็ต้องไป 

กูรูจีในวัฒนธรรมของชาวอินเดียยังเปรียบได้กับตัวแทนของพระเจ้า การทำความเคารพระหว่างศิษย์กับครู คือการที่ศิษย์ก้มลง ใช้มือแตะเท้าครู แต่ถ้าเป็นระดับครูของครูขึ้นไปอีกขั้น ศิษย์บางคนจะใช้หน้าผากลงไปแตะที่เท้าของครูผู้นั้น สิ่งที่ผู้เต้นกถักห้ามลืมเด็ดขาดในช่วงเริ่มต้นของทุกการแสดง คือการกล่าวชื่อของของกูรูจีผู้สอน เพราะถือเป็นการให้เกียรติ (ถ้าใครลืม นี่เรื่องใหญ่มาก)

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

.. My Guru ‘s name is…

“การก้มแตะเท้า มันเป็นการลดอัตตาด้วยละค่ะ เมื่อคุณเรียนกับคนคนนี้ คุณก็ต้องยอม แม้จะต้องเอาหน้าผากตัวเอง ก้มลงไปแตะที่เท้าของเขา หรืออย่างบางที ถ้ากูรูจีป่วย เราก็ต้องดูแลเขา กูรูจีของแพรเคยเป็นไทฟอยด์ แพรกับเพื่อนคนไต้หวันก็ต้องคอยดูแลเช็ดตัวให้ ตอนเช็ดตัว ด้วยความที่กูรูจีท่านนี้แกเป็นผู้ชาย แกก็มีเขินแพรกับเพื่อนบ้าง ไม่ยอมให้เช็ด เราบอกกูรูจีว่า ถ้ายูไม่อยากป่วยมากไปกว่านี้ อย่าเพิ่งมาเขินอะไรพวกเรา มันไม่ใช่เวลา ตอนนั้นกูรูจีตัวร้อนมากค่ะ สุดท้ายท่านก็ยอมให้เช็ด เพราะเห็นว่าเราเป็นนักเรียนต่างชาติ คงไม่ถือ”

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

ใน ค.ศ. 2019 แพรเป็นผู้หญิงไทยเพียงคนเดียวที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันการเต้นกถักในงาน Pratibha Sangeet Kala Sansthan ที่เมือง Ujjain ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งมีผู้เต้นชาวอินเดียเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนั้น จำนวนหลายร้อยคน

ในช่วงก่อนขึ้นแข่งขัน แพรเกิดอาการป่วยจากไข้ไทฟอยด์ที่ติดเชื้อมาจากกูรูจี ซึ่งถ้าใครเคยผ่านประสบการณ์การป่วยในอินเดีย ก็คงเข้าใจดีว่ามันทรมานขนาดไหน 

ไหนจะความร้อนของอุณหภูมิ พลังที่ถดถอย ไหนจะเชื้อโรครอบตัวที่พร้อมจะเข้าสู่ร่างกายในยามที่เรากำลังอ่อนแอ ส่วนแพร ต้องบวกเพิ่มเข้าไปด้วยความกดดันในช่วงของการเตรียมตัวขึ้นแข่งขัน แต่สุดท้าย แพรก็ติดเข้าไปอยู่ในรอบ 4 คนสุดท้ายของการแข่งขันในรอบแรก และเข้าสู่รอบที่ 2 ซึ่งเป็นรอบของการตัดสิน

“ตอนนั้นยืนอยู่ข้างเวที คิดอย่างเดียว นี่เราจะต้องเต้นจนตายที่นี่เลยไหมวะเนี่ย เพราะนอกจากไข้แล้ว ช่วงนั้น เรามีภาวะกระดูกเปราะอยู่แล้วด้วย”

แต่ก็นั่นละค่ะ จะเจ็บปวดปางตายยังไงก็ตาม พลังแห่งความอึดถึกของกูรูจีได้ถูกส่งผ่านไปยังศิษย์ ด้วยคำพูดกรอกหูที่หน้าเวทีว่า “แพร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอต้องขึ้นไปเต้น”

“แล้วไม่ใช่แค่ขึ้นไปเต้นนะคะ กูรูจีบอกว่า เธอต้องขึ้นไปเต้นให้แรงกว่ารอบแรกด้วย แพรนึกในใจ Oh My God จะให้แรงกว่าเก่าอีกเหรอ แรงก็มีแค่นี้ล่ะ” (แพรหัวเราะอย่างเมามัน)

ด้วยแรงเฮือกสุดท้ายที่เหลืออยู่ ตายเป็นตายว่างั้นเถอะ เพราะถึงจะต้องตายที่นี่ ก็ถือว่าตายในชุดสวยๆ เนอะ แพรขึ้นไปเต้นต่อเนื่อง 10 นาทีในรอบตัดสิน ทั้งหมุนตัว ตบเท้า ออกเสียงนับจังหวะ ในที่สุด เธอได้รางวัลที่ 4 จากการแข่งขันในครั้งนั้น ซึ่งไม่ได้ตัดสินแค่เพียงลีลาในการเต้น แต่ผู้แข่งขันจะต้องตอบคำถามเพื่อทดสอบภูมิความรู้ในเรื่องนาฏศิลป์อินดียด้วย

“หลังรับรางวัล เราก็นั่งโทรมๆ อยู่ตรงนั้นละค่ะ คือรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไรอีกแล้ว”

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

ถามแพรว่า เคยเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้เต้นกถักชาวอินเดียที่อยู่รอบตัวไหม เพราะคนอินเดียกับศาสตร์การเต้นนี่มันอยู่ในสายเลือด แต่สำหรับแพร มันแทบจะเป็นการเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่

“ไม่มีใครเต้นเป็นมาตั้งแต่เกิดหรอกค่ะ อย่างถ้าให้คนอินเดียมารำไทย เขาก็คงทำไม่ได้เหมือนกัน แพรคิดว่า ไหนๆ เราก็พาตัวเองมาเรียนถึงประเทศต้นตำหรับแล้ว เราก็ต้องไปให้ถึงที่สุด ฝึกตบเท้าในช่วงแรกๆ แพรตบไม่ดัง แพรก็ต้องฝึกตบให้มากกว่าคนอื่น ภาษาอังกฤษเราไม่ดี ก็ต้องฝึกพูดมันไปเรื่อยๆ พูดผิดพูดถูกก็ต้องพูด หรืออย่างการออกเสียงนับจังหวะนี่ แพรใช้เวลาฝึกสามปีนะคะกว่าจะทำได้ เรามาเจอเทคนิคว่า ที่คนอินเดียเขาออกเสียงนับกันได้เร็วๆ เพราะเวลาออกเสียง เขาเอาลิ้นออกมาแตะที่ฟัน ขณะที่เวลาพูดปกติในชีวิตประจำวัน เราจะเคยชินกับการเก็บลิ้นไว้ข้างใน”

8 ปีในอินเดียของ แพร-อิงครัตน์ ศิวเมธีวิทย์ นักเต้นกถัก นาฏศิลป์โบราณถวายเทพเจ้า

ปัจจุบัน แพรเรียนเต้นกถักเข้าสู่ปีที่ 8 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแล้ว เธอเรียนอยู่ที่ 2 สำนัก ทั้งที่ Shiram Bharatiya Kara Kendra ในระดับผู้เชี่ยวชาญการเต้นกถัก (Specialisation) และที่สำนัก Prayag Sangeet Samiti ในระดับปริญญาตรี เธอมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งจะนำความรู้ที่ได้มาประกอบวิชาชีพในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเต้นกถัก โดยเธอก็ตอบไม่ได้ว่าเมื่อเรียนจบแล้ว เธอจะกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยแบบถาวรหรือเปล่า เพราะสำหรับเธอ อินเดียเป็นเหมือนบ้านไปเสียแล้ว เธออยากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น

“กถักคือเหตุผลที่พาเรามาอินเดีย แต่อินเดียคือโรงเรียนในโลกกว้างที่สอนให้เราได้เห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะคุณค่าของการได้มีข้าวกิน อินเดียสอนให้เราไม่สนใจเสียงตัดสินตามบรรทัดฐานของสังคม อยู่ที่นั่น เราจะใส่เสื้อซ้ำกันอาทิตย์ละสามสี่ครั้งก็ไม่มีใครว่า จนพอกลับมาทำที่เมืองไทยเท่านั้นล่ะ เดี๋ยวก็เจอทักแล้ว อ้าว แพร ไม่มีเสื้อใส่เหรอไง ไอ้ตัวเราเองก็ไม่เคยได้ทันคิดหรอก ว่าตัวไหนใส่ซ้ำหรือไม่ซ้ำ ตัวไหนใส่บ่อยหรือไม่บ่อย หรือเวลาเห็นคนอาบน้ำในคลองดำๆ ตามข้างทางรถไฟที่อินเดีย เราจะรู้สึกขอบคุณชีวิตตัวเองมากเลยว่า เท่าที่เรามีอยู่ทุกวันนี้มันก็ดีมากแล้ว รอยยิ้มของพวกเขาเหมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่สะท้อนให้เราเห็นความสุขจากสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น”

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าผู้อ่านจำนวนหนึ่งก็คงมีความผูกพันกับประเทศอินเดียอยู่บ้างไม่มากก็น้อย และบางคนอาจถึงขั้นรู้สึกเหมือนกับฉันและแพรว่า 

ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ The Factory of Inspiration

Writer & Photographer

Avatar

พัทริกา ลิปตพัลลภ

นักเขียนและนักเดินทาง เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ที่ชาตินี้ยังคงใช้เวลาเดินทางไปกลับอินเดียอยู่บ่อยๆ จนเป็นเหมือนบ้านที่สอง