ในวิกฤตการป้องกันโรค COVID-19 ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารและเชื่อมต่อระหว่างผู้คนในสังคมครั้งยิ่งใหญ่ บริษัทต่างๆ ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อ Work from home ห้างร้านมากมายจำต้องปรับตัวมาพึ่งแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อความอยู่รอด จวบจนในวงการพิพิธภัณฑ์เอง ที่ถึงจะถูกสั่งปิดไปในระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องปรับวิธีการนำเสนอข้อมูล และเข้าถึงผู้ชมให้ได้ผ่านช่องดิจิทัล 

ในความอลหม่านนี้ เรามองเห็นทั้งปัญหาและโอกาสที่มากับเทคโนโลยีในภาวะปกติใหม่ของสังคม (New Normal) จึงอยากพาทุกคนไปพูดคุยกับท่าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นี้ เคียงคู่กับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศไปพร้อมๆ กัน 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

บางคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ และสงสัยว่าพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นตั้งอยู่ที่ไหน แต่ถ้าเราบอกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ติดอยู่กับ ‘ตึกลูกเต๋า’ หลายๆ คนคงถึงบางอ้อแน่นอน 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

ที่นี่เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ภายใต้จุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ แรงบันดาลใจ ความสนใจในเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เมื่อเข้าไปด้านในของอาคารสีเงินแห่งนี้ เราจะได้พบกับการจัดแสดงวิวัฒนาการเทคโนโลยีสื่อสารจากอดีตถึงปัจจุบัน อาทิ การสื่อสารของมนุษย์ในยุคโบราณ การสร้างภาษา ไปจนถึงการสื่อสารในระยะทางที่ไกลขึ้นกว่าเดิม ผ่านเครื่องมือในอดีตเช่น สัญญาณควัน การบันทึกข้อมูลด้วยสื่อบันทึกอย่างสมุดใบลาน สมุดข่อย การคิดค้นการพิมพ์เพื่อถ่ายทอดข้อมูลในวงกว้าง
พอถึงยุคที่กระแสไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทในสังคม เกิดการสื่อสารในระยะที่ไกลขึ้น เป็นระบบโทรเลขและชุมสายโทรศัพท์ จวบจนการส่งสัญญาณไร้สายและระบบดาวเทียมในปัจจุบัน 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงระบบการคำนวณ ระบบคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของไทย (IBM 1620) ไปจนถึงเกมในโลกเสมือน (Virtual Reality) และ หุ่นยนต์สมองกล (AI) ด้วย 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

“สิ่งของทุกชิ้นที่เราเก็บเป็นชิ้นที่มีความสำคัญ มีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ของเหล่านั้นมันสะท้อนถึงความรู้ เป็นการตกผลึกวิธีคิดที่จะแก้ปัญหาของคนในแต่ละช่วงเวลา เหมือนกับเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดและการแก้ปัญหาของมนุษยชาติในยุคต่าง ๆ 

“น่าสนใจตรงที่ของบางชิ้นมันแก้ปัญหาได้ในบางเวลา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป มันกลับมีสิ่งอื่นที่ช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่า และการศึกษาในรายละเอียดของสิ่งของชิ้นนั้นก็จะทำให้เราทราบว่า ทำไมสิ่งของเหล่านั้นถึงตกรุ่น และที่สำคัญกว่านั้นคือ ของที่ตกรุ่นไปแล้วแต่ความรู้ต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังมันยังมีอยู่ ซึ่งนำไปปรับ พัฒนา ต่อยอด หรือใช้แก้ปัญหาใกล้เคียงได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะหาพบหรือไม่ การที่มิวเซียมเก็บของเหล่านั้นก็เป็นเหมือนการเก็บและเชื่อมต่อความรู้ วิธีการแก้ปัญหาจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน” ดร.รวินกล่าว 

เราเดินผ่านตู้จัดแสดงที่โชว์เครื่องมือในอดีต อย่างเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องส่งแฟ็กซ์ เทปคาสเซ็ต เพจเจอร์ จนมาถึง โทรศัพท์มือถือพกพาที่คุ้นตา ชวนให้คิดถึงบทบาทของอุปกรณ์สื่อสารที่เป็นเสมือนอวัยวะชิ้นใหม่ของมนุษย์ไปแล้วโดยปริยาย 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

“คงต้องยอมรับกันว่า โลกปัจจุบันและอนาคตต่อไป เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้” สำหรับ ดร.รวิน การรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ถือเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน ท่านยังเห็นว่าสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงและความเข้าใจเทคโนโลยีอยู่มาก 

“สำหรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เราต้องคิดให้มากๆ เพราะในหลายสถานการณ์เราต้องการความรวดเร็ว แต่ต้องไม่ลืมเรื่องความถูกต้อง เหมาะสม และเรื่องของจริยธรรม” 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

ดร.รวิน ขยายความว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ใช้เทคโนโลยีมากกว่าสร้างเทคโนโลยีเอง หากจะให้ประชาชนรู้เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น เราจะต้องสร้าง ‘จิตวิทยาศาสตร์’ หมายถึงต้องรู้จักวิธีหาและใช้ข้อมูล รู้การเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถวิเคราะห์ข้อมูลให้รอบด้านก่อนที่จะเชื่อหรือยอมรับสิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องปลูกฝังกันจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน สื่อ ไปจนถึงองค์กรของรัฐอย่างพิพิธภัณฑ์ 

“เราต้องเร่งทำให้ทุกภาคส่วนเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญในชีวิตจริง ไม่จำเป็นว่าคุณต้องเป็นหมอ เป็นวิศวกร ถึงจะเข้าใจวิทยาศาสตร์นะ นักดนตรี สื่อมวลชน เกษตรกร หรือแม้แต่นักการเมือง ก็ต้องเข้าใจและใช้วิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิตเช่นกัน ทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์จะช่วยให้ประชาชนสนใจ และเลือกต่อยอดความรู้ในเรื่องที่เขาสนใจได้เองโดยที่เราไม่ต้องไปยัดเยียดเลย”

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

การปรับตัวช่วง COVID-19

ว่าแล้วเราจึงไถ่ถาม ดร.รวิน ถึงบทบาทที่ท่านวางไว้สำหรับพิพิธภัณฑ์ในเครือ อพวช. อีกทั้งการปรับตัวที่จำเป็นในช่วงที่ผ่านมาด้วย

“ในภาวะวิกฤตนี้ นอกจากเราจะสื่อสารเรื่องราวของ COVID-19 และแนวทางการรับมือออกไปสู่สาธารณะชนแล้ว ทาง อพวช. ยังมุ่งสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทยผ่านทางช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เราพัฒนากิจกรรมทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องพักหรือทำงานอยู่บ้าน ด้วยการผลิตกิจกรรม สื่อ รวมถึงเกมต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถมาใช้บริการพิพิธภัณฑ์ที่คลองห้ายังไม่ขาดความสนุกและความรู้จากเรา 

“ด้วยเวลาอันจำกัดเป็นเรื่องที่ท้าทายเราอย่างมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องทำ” ดร.รวิน กล่าว “เราเสนอช่องทางเลือกให้คนทางบ้านได้เพลิดเพลินไปกับกิจกรรม และเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปกับเรื่องต่างๆ ที่เราพยายามสร้างสรรค์ขึ้น อย่างน้อยในช่วงเวลาที่เขาร่วมกิจกรรมกับเรา ก็ถือเป็นการช่วยให้พวกเขาอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เช่นกัน”

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ของ อพวช. ปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยปรับนโยบายให้พนักงานส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต้องพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันมากขึ้น แต่ในส่วนสำนักงานและงานด้านวิชาการนั้นไม่ได้หยุดทำงานกันเลย ทางพิพิธภัณฑ์ยังคงนำเสนอสาระทางด้านวิทยาศาสตร์แทบทุกวัน เช่น รายการโทรทัศน์ที่นำเสนอนับสิบรายการไม่ซ้ำกันให้ได้ชมผ่านเฟซบุ๊ก มีกิจกรรมนำชมพิพิธภัณฑ์ 360 องศา โดยนักวิชาการจากแต่ละพิพิธภัณฑ์เป็นผู้นำชมแบบถ่ายทอดสด มี Virtual Museum Rally กิจกรรมร่วมสนุกชิงของรางวัลในพิพิธภัณฑ์เสมือน ฯลฯ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทางพิพิธภัณฑ์ยังส่งรายการต่างๆ เข้าระบบของโทรทัศน์ดาวเทียมด้วยเช่นกัน 

“เราพบว่าพนักงานของเรามีศักยภาพสูงมาก ในวิกฤตครั้งนี้หลายคนได้มีโอกาสแสดงความสามารถใหม่ๆ เราพัฒนากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ใหม่ๆ ออกมาได้อย่างมากมาย” ดร.รวิน กล่าวว่าในเชิงนโยบายนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าหลังวิกฤตนี้ อพวช. จะมุ่งสู่การขยายงานเชิงรุกมากขึ้นด้วย

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

“จริงๆ แล้วมันเป็นโอกาสดีที่เราจะได้หาหนทางเพื่อปรับปรุงหลายๆ สิ่งในการบริการให้ไปในทางที่ดีและเหมาะสมขึ้น” 

บทสนทนาของเราโยงไปถึงแนวคิดการปรับตัวสู่ Green Technology อย่างพิพิธภัณฑ์เองนั้น ต้องเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการออกแบบนิทรรศการ คำนึงถึงขั้นตอนหรือลดพลังงานในการผลิต การขนย้าย ติดตั้ง วางแผนหมุนเวียน นำวัสดุอุปกรณ์บางส่วนมาดัดแปลง จนถึงแรงงานที่จะใช้ในนิทรรศการ ตรงกับแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเราเห็นพ้องกันว่าเป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

Digital Engagement และการเกิดขึ้นของลูกค้ากลุ่มใหม่ 

ต้องยอมรับว่าการมาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ในเครือ อพวช. ครั้งนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มาลิบลับ เนื่องจากกลุ่มผู้เข้าชมหลักของที่นี่คือคณะนักเรียนจำนวนมหาศาล ที่เคยยกขบวนมาวิ่งกันเสียงดัง แต่วันนี้นิทรรศการกลับค่อนข้างเงียบ มีเพียงเสียงจากโซนกิจกรรมต่างๆ ที่ดังขึ้นบ้างเป็นระยะ ทำให้เรารู้สึกเหงาแทนเหล่าเจ้าหน้าที่พอสมควร และถึงแม้ ดร. รวิน จะบอกว่าพวกเขายังคงทำงานทางดิจิทัล แต่หลายอย่างก็คงแทนที่บรรยากาศการเรียนรู้แบบเดิมไม่ได้เสียทีเดียว

“สิ่งที่กังวลคือผู้ใช้บริการของเรามีหลากหลายระดับ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรเพื่อให้บริการในรูปแบบดิจิทัลกับผู้ใช้บริการของเราได้อย่างครอบคลุม” ดร.รวิน เล่าว่า สำหรับกลุ่มนักเรียนนั้น ทางทีมงานพยายามเข้าถึงพวกเขาด้วยโปรแกรมต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์หรือเดลิเวอรี่

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

นอกจากนี้ก็เตรียมแผนการเพื่อหาลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่ม MICE กลุ่มบริษัทภาคเอกชน ประชาชนในวัยทำงานที่ต้องการสถานที่และบริการเพื่อพักผ่อนจากความเหนื่อยล้า รวมถึงกลุ่มที่ชอบค้นหาประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ฯลฯ 

“เราพยายามเพิ่มกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ให้มากขึ้น อยากเห็นคนในพื้นที่มาใช้พิพิธภัณฑ์ให้เป็นเหมือน Community Center มีความภูมิใจและผูกพันที่เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” 

เรียกได้ว่า กิจกรรมที่ดำเนินไปในช่วง COVID-19 นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ได้ขยายกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่หลายๆ กลุ่ม ส่วนผู้ใช้ก็ได้เห็นถึงคุณภาพและความเป็นตัวตนของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อความคาดหวังของพวกเขาในเวลาที่พิพิธภัณฑ์เริ่มกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

การกลับมา (ไม่) เหมือนเดิม

เมื่อทราบว่าในเดือนมิถุนายนนี้ พิพิธภัณฑ์ในเครือของ อพวช.จะเริ่มเปิดให้บริการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เราจึงชวนท่านพูดคุยต่อถึงเรื่องมาตรการใหม่ๆ ที่พิพิธภัณฑ์ต้องมีในสถานการณ์ ‘New Normal’ เสียเลย

“บางทีมันอาจเป็นเพียง Abnormal ในช่วงเวลาสั้นๆ หรือเป็นเพียงทางเลือกเพื่ออยู่รอดในภาวะวิกฤตเท่านั้น เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ มันอาจจะกลับเป็นเหมือนเดิมก็ได้ ดังนั้นเราอาจจะต้องเฝ้าดูและประเมินกันยาวๆ” 

อย่างไรก็ดี หากใครอยากเห็นภาพเป็นรูปธรรมของวิถีชีวิตแบบ New Normal ล่ะก็ เราขอแนะนำโซนจัดแสดง Digital City เป็นการจำลองบ้านแห่งอนาคตที่มีฟังก์ชันใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด แถมยังเหมาะกับการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแบบมีระยะห่างทางกายภาพ โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวประสานช่องว่างนั้น ให้เรายังใช้ชีวิตและทำงานต่างๆ ร่วมกันได้อย่างสะดวกสบาย 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

ในภาพรวมของ อพวช. นั้น มีการเตรียมความพร้อมให้บริการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และสอดคล้องกับนโยบายด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

การให้บริการของพิพิธภัณฑ์จะยึดหลักสุขอนามัยของทั้งสถานที่และบุคคล ในด้านความสะอาดและการเว้นระยะห่างทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ยังกำหนดมาตรฐานการบริการของ อพวช. ขึ้นมาใหม่ โดยอบรมผู้ให้บริการให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติตนขณะให้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และมีการอบรมทักษะให้ความรู้ต่อผู้ใช้บริการ เพื่อให้พวกเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อีกด้วย ทั้งหมดนี้จึงเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ทั้งสองฝ่าย 

“เราอยากให้ความสนุกของการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไม่ลดลงจากเดิม แต่ก็ต้องเข้าใจกันด้วยว่า ความปลอดภัยและสุขอนามัยนั้นมาก่อนเสมอครับ” ดร.รวิน กล่าว

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

ระลอกคลื่นของความเปลี่ยนแปลง

เนื่องด้วยขนาดพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตมโหฬาร เราคงไม่สามารถพูดถึงโซนจัดแสดงทุกโซนในบทความนี้ แต่หากจะยกหนึ่งโซนให้เป็นไฮไลต์สำหรับเรา จะต้องเป็นโซน Disruptive Technology ที่แสดงระลอกคลื่นของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันชวนให้เราเห็นถึงความอจีรังของสิ่งต่างๆ รวมถึงความคิดและความนิยมของเราเอง ที่จะถูกทดแทนด้วยสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ 

ในที่สุด การเผชิญหน้ากับ RoboThespian หรือหุ่นยนต์ทรงมนุษย์ ในโซนจัดแสดงนี้ ทำให้เราทึ่งกับความก้าวหน้าที่มาจากความอยากรู้ อยากเห็น อยากพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งและไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษยโลก มันให้ความหวังว่าพวกเราจะคิดค้นผลลัพธ์ที่นำพาเรา ‘ชนะ’ การเปลี่ยนแปลง อีกทั้งสถานการณ์อันตรายที่เรากำลังเผชิญนี้ในเร็ววัน 

พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, New Normal ของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ปรับให้เด็กๆ เข้าถึงได้ทางออนไลน์

ดร.รวิน ยังทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า เทคโนโลยีอาจจะไม่ใช่คำตอบของทั้งหมด “สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรมองข้ามไปคือเรื่องของจิตใจ เราต้องพัฒนามันไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยี เพื่อจะได้ความสมบูรณ์ของโอกาสที่จะช่วยให้เราก้าวพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น”


ตรวจสอบวันทำการและจองรอบเข้าชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ที่ www.nsm.or.th
สอบถามเพิ่มเติมโทร 0 2577 9999 ต่อ 2122, 2123

ติดตามข่าวสารล่าสุดและกิจกรรมของ พิพิธภัณฑ์ได้ทาง Facebook : พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน