การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่ถูกใจในวันที่เวลาน้อย หรือไม่ก็ความพยายามน้อยผ่านการกดหน้าจอมือถือไม่กี่ครั้ง กลายเป็นเรื่องปกติของคนเมืองไปแล้ว เพราะทำให้ไม่ต้องออกไปผจญการจราจร ฝุ่นควัน และโรคระบาดที่เดาใจไม่ได้ว่าเมื่อไหร่จะมาจะไป

แต่ท่ามกลางของอร่อยมากมายที่สั่งได้จากปลายนิ้ว สิ่งที่ตามมาจากความหวังดีของร้านค้าที่อยากให้ลูกค้าได้กินของอร่อยก็คือขยะที่มีจำนวนมากเกินจินตนาการ จากถุง กล่อง ซอง ห่อ ถ้วย ที่ห่อแล้วห่ออีก แยกทุกส่วนประกอบ และมีเครื่องปรุงมาเผื่อทุกความต้องการ

ดาริน สุทธพงษ์ CEO และ Co-Founder แห่ง Indy Dish

ดาริน สุทธพงษ์ CEO และ Co-Founder แห่ง Indy Dish ธุรกิจบริการส่งอาหารสายอินดี้ก็เลยมีแนวคิดแบบคนแคร์ ว่าอยากทำให้การส่งอาหารของ Indy Dish ดีกับทั้งคนกินและโลกที่คนกินต้องอยู่ด้วยการเป็นบริการส่งอาหารที่จะไม่สร้างขยะเลย 

แม้ แต่ ชิ้น เดียว!

Indy Dish นิยามตัวเองว่าเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งตามหลักการแล้วเป็นธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรน้อย ทำงานได้เร็ว และขยายตัวได้ไว เพราะดารินเห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ขยะที่เกิดจากพฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ของคนเมืองไม่ควรถูกปล่อยทิ้งไว้นานไปมากกว่านี้!

ว่าแล้วก็อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลย เราขอชวนทุกคนมาฟังเรื่องความพยายามคลายปมข้อจำกัดไปพร้อมๆ กับการไม่ยอมละทิ้งความตั้งใจของธุรกิจอายุ 4 ปีที่แสนจะแคร์โลกนี้ไปด้วยกัน

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

จากนักออกแบบสู่ผู้ประกอบการเดลิเวอรี่ 

เบื้องหลังของนักธุรกิจที่มาทำอาหารเดลิเวอรี่ทั่วไปมักหนีไม่พ้นคนที่เคยทำงานโลจิสติกหรือไม่ก็ธุรกิจร้านอาหาร แต่ดารินทำให้เราแปลกใจได้มากกว่านั้น ดารินแนะนำตัวว่าเป็นนักออกแบบที่เคยทำงานแอนิเมชันที่ Warner Bros. แต่ไม่ชอบ เลยเปลี่ยนไปทำงานเป็นนักออกแบบเพื่อประสบการณ์สำหรับผู้ใช้งาน (UX Designer) ให้กับ Amazon อยู่ 4 ปี 

ที่ Amazon ดารินทำงานเป็น UX Design Lead มีหน้าที่ออกแบบภาพรวมของประสบการณ์หลังการขาย อย่างติดตามสถานะการส่งของ รับของ คืนของ คืนเงินจากลูกค้าทั่วโลกที่สั่งสินค้าหลายหมื่นรายการจากคลังสินค้าขนาดรวมกัน 40,000 ตารางฟุตของ Amazon ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เรียบง่าย และถูกใจผู้บริโภคมากที่สุด งานเหล่านี้ทำด้วยกำลังคนไม่ได้แน่ๆ เพราะมีขั้นตอนที่ต้องทำมากมาย แค่การติดตามสถานะการส่งของจากสหรัฐอเมริกามาประเทศไทยเพียง 1 ครั้งก็เหนื่อยแล้ว แต่การสั่งของแบบนี้เกิดขึ้น 35 ครั้งใน 1 วินาที รวมกันแล้วอยู่ที่ 5 พันล้านชิ้นต่อปี ก็เลยจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดขั้นตอนและข้อจำกัดต่างๆ อย่างความเร็ว ระยะทาง ข้อมูลมหาศาลและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากที่สุด 

ปี 2016 ดารินกลับมาประเทศไทย พร้อมความสามารถและประสบการณ์หายากที่กำลังเป็นที่ต้องการของธุรกิจต่างๆ มากมายเต็มกระเป๋า ดารินไปเริ่มงานที่บริษัทใหญ่ๆ ได้ง่ายๆ แต่ดารินเลือกทำเรื่องยากๆ อย่างการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในวัย 30 กว่า 

“การเป็นดีไซน์เนอร์ เราถูกสอนมาให้เป็นนักแก้ปัญหา ตอนที่กลับมาเราเลยไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่หาลูกค้าได้มากๆ แต่เริ่มจากมองหาปัญหาที่ใหญ่พอและมีคนเยอะมากพออยากจะเห็นมันแก้ไข”

ดาริน สุทธพงษ์ CEO และ Co-Founder

ดารินเล่าว่าสนใจธุรกิจหลายอย่าง แต่ก็มาจบที่ปัญหาแบบไทยๆ ก็คือ คนไทยชอบกิน และคนไทยชอบกินของอร่อย แต่ก็อาหารอร่อยเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ในการเสียชีวิตของคนไทยด้วยโรคน่ากลัว อย่างเบาหวาน ความดัน มะเร็ง และอื่นๆ เพราะอาหารที่วางขายกันทั่วไปนั้นไขมันสูง โซเดียมสูง มีคุณค่าทางสารอาหารไม่เพียงพอและไม่ครบถ้วน 

จริงอยู่ที่ไม่มีใครอยากป่วยและตายไว ร้านอาหารเพื่อสุขภาพดีๆ มีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้มีทุกหนทุกแห่งเหมือนร้านอาหารอื่น รวมไปถึงอากาศที่ร้อน การจราจรที่ท้าทาย และความห้ามใจยากหากต้องเดินผ่านร้านหมูปิ้งหอมๆ ไปซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งหมดล้วนเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงอาหารดีๆ เช่นกัน 

ดารินก็เลยมีไอเดียธุรกิจว่าจะทำให้คนเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยทำให้มันเข้าถึงได้ง่ายอย่างการเอาไปส่งให้ถึงที่ และสั่งได้จากหลากหลายร้าน สั่งผ่านมือถือได้สะดวก ส่งได้เลยเมื่อสั่ง ราคาไม่แพง และที่สำคัญมากๆ คืออาหารต้องอร่อย

“เราเลือกธุรกิจที่เราเห็นชัด โดยไม่ต้องคิดเยอะว่ามันต้องใหญ่แน่ๆ บางทีก็ต้องใช้สัญชาตญาณ อย่างเรื่องอาหารสุขภาพ เราเชื่อว่ามันจะใหญ่ขึ้น เพราะคนคงไม่มีใครอยากกินอาหารแย่ลง และบริการเดลิเวอรี่ก็จะใหญ่ขึ้นแน่ๆ เพราะคงไม่มีใครอยากสะดวกน้อยลงกว่าวันนี้ เทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนในเมืองไทยดีขึ้นเรื่อยๆ เรามั่นใจว่าการสั่งอาหารผ่านมือถือของคนไทยจะกลายเป็นพฤติกรรมปกติของคนเมืองในไม่ช้า มันคือการรู้ Mega Trend เพื่อที่จะทำให้เกิดไอเดีย”

ซึ่งดารินก็คาดการณ์ไม่ผิดเลย 

มูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในปี 2019 ที่ผ่านมาสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ตลาดน้ำอัดลมในปีเดียวกันมีมูลค่าตลาดเพียง 5 หมื่นกว่าล้าน และผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติก็บอกด้วยว่าประชากรไทยประมาณ 57 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพิ่มจากปี 2016 ที่ดารินเริ่มทำ Indy Dish เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ และ 94.7 เปอร์เซ็นต์ใช้งานอินเทอร์เน็ตจากมือถือ 

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

เดลิเวอรี่แบบไทยๆ เอาใจคนไทย

Indy Dish มีร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรทุกรูปแบบ ทั้งอาหารไทย จีน ฝรั่ง ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ร้านยำ ขนมปัง รวมถึงของหวานและเครื่องดื่ม ที่เลือกสั่งเป็นมื้อกลางวัน มื้อบ่าย และมื้อเย็นได้ 7 วันแบบไม่ซ้ำ 

แต่ดารินก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น 

หลายครั้งที่มีคนใกล้ตัวเรียกร้องว่าอยากจะกินอาหารอร่อยแบบที่ทำกินเองที่บ้าน คือไม่ต้องคลีนจนสุดขั้ว แต่ให้บาลานซ์พอดีๆ ระหว่างความดีต่อกายและอร่อยลิ้น ดารินจึงเปิดครัวทำอาหารคุณภาพดีรสชาติเยี่ยม 2 ร้านเพื่อเสริมทัพให้ Indy Dish เอง คือร้าน Basil เพื่อตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ และร้าน Indy Dish ร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบดีๆ ปรุงด้วยความเอาใจใส่เหมือนทำให้คนในครอบครัวกิน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพราะรู้ว่ารสชาติมักมาเหนือหลายเหตุผลสำหรับคนไทย

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว
Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

ลูกค้าสั่งอาหารอร่อยๆ จากร้านเหล่านี้ได้เพียงไม่กี่คลิกผ่าน LINE Official Account ของ Indy Dish แบบที่ไม่ต้องรอแอดมินมาคุยด้วยหรือต้องตอบคำถามซ้ำๆ อย่างการบอกที่อยู่ ชื่อ เบอร์โทร หรือแม้กระทั่งการต้องเปลี่ยนหน้าจอไปโอนเงินจากแอปพลิเคชัน E-Banking และทั้งหมดนี้ลูกค้าทำได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนด้วยซ้ำ

“เราต้องลดข้อจำกัดให้ได้มากที่สุด” ดารินบอก “หลักการคือทุกอย่างต้องง่ายที่สุดสำหรับคนสั่ง และต้องมีระบบที่ช่วยจัดการทุกขั้นตอน ซึ่ง Indy Dish ก็พยายามทุกอย่าง ผ่านการเขียนโปรแกรมที่ลิงก์ผ่าน API เข้ามาที่แอปพลิเคชันที่คนไทยใช้กันมากที่สุดอย่าง LINE เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใหม่”

เมื่อลองกดเข้าไปแล้ว ในฐานะคนเมืองที่มีชีวิตยุ่งเหยิงคนหนึ่ง ขอให้คำยืนยันกับทุกคนตรงนี้เลยว่ามันเป็นโปรแกรมที่ใช้ง่ายมากๆ และคิดมาเพื่อเราแล้วทุกอย่างแบบที่ทำเอาเราต้องแอบอมยิ้ม

ร้านอาหารแบ่งประเภทไว้แบบรู้ใจ ทั้งแบ่งตามร้าน แบ่งตามความต้องการ แล้วก็แบ่งตามประเภทอาหาร พร้อมรูปสวยๆ ของเมนูต่างๆ ที่ทำเอาน้ำลายสอ

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

และ Indy Dish ก็ยังจำที่อยู่เราได้เสมอ แถมไม่ลืมถามด้วยว่านี่เป็นบ้านหรือที่ทำงาน แล้วก็ยังถามกันแบบตรงๆ เลยว่าเมื่อถึงแล้วจะให้โทรหาหรือฝากเอาไว้ที่ไหน เมื่อฝากไว้แล้วจะให้โทรหาอีกไหม หรือแค่ฝากไว้แล้วเป็นอันรู้กัน มนุษย์ที่ใช้เวลาในห้องประชุมน่าจะถูกใจข้อนี้มากๆ 

อีกข้อที่อยากเล่าก็คือ หลายครั้งที่เราไม่มีเวลาแม้แต่จะกดสั่งอาหารกลางวันให้ตัวเอง Indy Dish ก็มีโปรแกรมที่เราเลือกเมนูและเลือกเวลาที่อาหารจะมาส่งได้ล่วงหน้าข้ามคืน หรือจะตื่นมาสั่งตอนเช้าก็ยังทันได้กินตอนกลางวัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้จูงใจให้รีบตัดสินใจผ่านค่าส่งที่ถูกสุดๆ เป็นดีลที่มีแต่ได้กับได้ คนสั่งไม่ต้องทนหิว และร้านก็มีเวลาเตรียมอาหารและวางแผนการส่งเพื่อลดความผิดพลาด เพราะก็ไม่มีใครอยากทำพลาดกับคนที่กำลังหิวแน่ๆ 

ธุรกิจเดลิเวอรี่ที่ตั้งใจจะไม่สร้างขยะ

แม้ธุรกิจจะไปได้อย่างราบรื่นเรียบร้อยดี แถมยังเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่ได้รางวัลจากเวทีต่างๆ มาแล้ว ดารินก็ยังมีพันธกิจในใจที่อยากทำให้สำเร็จ คือการสร้างระบบการส่งอาหารเดลิเวอรี่แบบไม่เพิ่มขยะให้กับโลกนี้เลย 

ไอเดียนี้กระตุ้นจากข้อมูลที่ว่าในปี 2019 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขยะที่เกิดจากบริการเดลิเวอรี่อาหารอยู่ถึง 1.7 พันล้านชิ้น 

ปริมาณขยะที่เกิดจินตนาการนี้ทำให้ดารินถึงกับคิดว่า รอไม่ได้ 

 “เราคิดว่าเรื่องขยะจากบริการเดลิเวอรี่รอไม่ได้อีกแล้ว ปีๆ หนึ่งมีขยะเพิ่มขึ้นเยอะมาก เรารู้ว่าเรื่องนี้เดลิเวอรี่เจ้าอื่นเขาก็ใส่ใจ แต่การใช้ภาชนะที่ไม่เป็นขยะในการส่งเดลิเวอรี่จะทำให้การบริหารจัดการยากขึ้นมาก มันคงไม่ใช่วาระที่ผู้ให้บริการเจ้าใหญ่เห็นว่าเร่งด่วน แต่ด้วยความเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ เราอยากทำ และเรามีทรัพยากรที่จะทำได้ ก็เลยคิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ดีกว่าการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้แล้วล่ะ”

ข้อได้เปรียบของการคิดแบบธุรกิจสตาร์ทอัพ คือทำในสิ่งที่องค์กรใหญ่ทำไม่ได้ คือ High Quality Knowledge, High Attention, และ Speed

เมื่อปลายปี 2019 Indy Dish จึงจับมือกับ Super Lock แบรนด์ภาชนะใส่อาหารสัญชาติไทย เพื่อทำภารกิจสร้างบริการส่งอาหารในกล่องพลาสติกที่จะไปรับกลับมาใช้ใหม่หลังผู้สั่งกินเสร็จ และไม่สร้างขยะเลยแม้แต่ชิ้นเดียวได้สำเร็จ 

ตอนนั้นใน LINE ของ Indy Dish มีหมวดหมู่ใหม่เกิดขึ้นมาคือ ‘มื้ออร่อยที่ใช้ภาชนะรักษ์โลกได้’ และสิ่งที่ลูกค้าต้องทำก็แค่ต้องกด ปุ่ม ‘ใส่อาหารในภาชนะรักษ์โลก’ เพื่อบอกร้านค้าว่าจะรับอาหารในกล่อง Super Lock และรับส่วนลด 10 บาท จากร้านค้า

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

ดารินเล่าว่า จากร้านค้าที่อยู่ใน Indy Dish 30 ร้าน ตอนนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการอยู่ 10 ร้าน ซึ่งเป็นร้านที่เห็นตรงกันว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่ที่รอไม่ได้ “พวกเขาไว้ใจ Indy Dish ทั้งที่เขาก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะได้อะไรจากความลำบากที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทั้งหมดทั้งมวลคือมาด้วยใจจริงๆ และเราก็ขอบคุณมากๆ

“วันนี้ Indy Dish เรียกตัวเองว่าเป็นธุรกิจอาหารเพื่อความยั่งยืน นั่นคือยังต้องทำให้คนกินมีความสุขจากอาหารอร่อยที่เข้าถึงได้ง่ายและหลากหลายได้เหมือนเดิม ไม่ทำร้ายโลก แล้วก็ไม่ทำร้ายธุรกิจเราเองด้วย” น้ำเสียงของดารินตรงนี้เราบอกได้เลยว่ามันเป็นน้ำเสียงของความภาคภูมิใจ

“การทำเรื่องนี้มันยากและเราก็เหนื่อยกับมันมาก แต่ถ้าแค่มันยากแล้วเราไม่ทำ เราก็จะทำบริการส่งอาหารที่ฆ่าโลกไปเรื่อยๆ แค่นี้เหรอ เราทุบหม้อข้าวมาแล้วเพื่อทำสิ่งนี้ ฉะนั้นทำไมถึงไม่ทำเรื่องที่เราอยากเห็นให้เป็นจริงได้สักทีดูล่ะ” ดารินเล่าถึงแรงฮึดมหาศาลที่พา Indy Dish มาถึงฝันที่เป็นจริงวันนี้ได้

ความชื่นใจแบบเก็บเล็กผสมน้อยของดารินน่าจะอยู่ที่อัตราการสั่งซ้ำและการบอกกันปากต่อปากของลูกค้า “หลังจากที่ทดลองกับร้าน Basil ซึ่งเป็นอาหารแบบที่ลูกค้าแต่ละคนจะสั่งเป็นประจำสม่ำเสมอแล้วพบว่า ลูกค้าชอบเพราะไม่ต้องรู้สึกผิดจากการสั่งเดลิเวอรี่ แล้วอาหารในกล่อง Super Lock คุณภาพดี รสชาติดี ก็เลยขยับขยายมาชวนร้านพันธมิตรเข้าร่วมด้วย พอมีอาหารหลายหลายขึ้นก็มีลูกค้าสั่งอาหารแบบใช้กล่อง Super Lock มากขึ้น ส่วนใหญ่พอลองแล้วก็จะสั่งซ้ำ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี” ดารินพูดไปยิ้มไป

เพิ่ม (ขั้นตอน) เพื่อลด (ปริมาณขยะ)

ในขณะที่คนสั่งต้องทำเพิ่มเพียงการกดปุ่ม แถมยังได้รับส่วนลดค่าอาหาร แต่ในฝั่งผู้พัฒนาระบบการมีเงื่อนไข ‘ใส่อาหารในภาชนะรักษ์โลก’ เพิ่มขึ้นมา มันคือขั้นตอนมากมายที่ระบบการทำงานเบื้องหลังต้องถูกอัปเกรด ทั้งในฝั่งการเขียนโปรแกรมและในฝั่งของร้านค้าพันธมิตร

เพื่อให้เห็นภาพความยากลำบาก เราขอให้ดารินเล่าวิธีการบริหารจัดการส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันให้ฟัง 

ดารินเล่าว่า “ขั้นตอนดั้งเดิมคือเมื่อลูกค้าสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ระบบก็จะส่งไปมอบหมายคนส่งอาหาร คนส่งอาหารก็จะขับมอเตอร์ไซด์ไปสั่งอาหารที่ร้าน รับอาหาร และเอาไปส่งลูกค้าตามที่หมายที่บอกไว้” 

แต่เมื่อเพิ่มการใช้ภาชนะที่ต้องเอากลับมาใช้ใหม่ ขั้นตอนที่เพิ่มมาก็อย่างเช่น

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

หลังจากลูกค้าสั่งอาหาร Indy Dish ต้องรับมัดจำจากลูกค้าและจำว่าลูกค้าคนนี้เขามัดจำเอาไว้ 

เอากล่องไปไว้ตามร้านพันธมิตร เมื่อลูกค้าสั่งอาหาร ที่ร้านก็ต้องดูว่าลูกค้าเลือกแบบใส่กล่อง Super Lock ไหม ถ้าใช่ก็ต้องเอาใส่กล่องนั้น และรอคนส่งอาหารมารับ

เมื่อคนส่งนำอาหารไปส่ง ก็ต้องดูด้วยว่าลูกค้าจะมีกล่องส่งคืนไหม 

ถ้าคืนต้องคืนมัดจำ 

ทุกๆ วันต้องคอยติดตามว่าตอนนี้กล่องอยู่ที่ใครบ้าง แต่ละร้านยังมีกล่องเหลือพอไหม 

ทุกๆ กล่องที่นำกลับมาต้องล้าง ฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดใหม่ก่อนนำกลับไปแจกจ่ายให้ร้าน 

และนี่ยังไม่นับการสอนพนักงานในร้านให้แพ็กอาหารในกล่องแบบใหม่ การสอนให้ทุกคนเข้าใจขั้นตอนการรับส่งและล้างกล่องให้สะอาด ต้นทุนการเก็บ ล้าง ทำความสะอาด และขนส่งกล่องอีกต่างหาก

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

ฟังดูเป็นเรื่องยากใช่ไหม 

ดารินก็บอกเราพร้อมเสียงหัวเราะเช่นกันว่า “ใช่ มันยาก ก็เลยไม่มีใครเขาทำกัน” 

แต่ข้อได้เปรียบในการเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเจ้าเล็กๆ คือการทำในสิ่งที่เจ้าใหญ่ๆ ทำไม่ได้ 

ด้วยการที่ผู้บริหารมาลงมือทำเอง ใส่ใจรายละเอียดเองทุกขั้นตอน และขนาดองค์กรที่กะทัดรัดทำให้ทำงานได้รวดเร็ว และทำให้เรื่องที่ไม่มีใครเขาทำกันนี้มันเป็นไปได้

ดารินเล่าว่า “สิ่งที่เราทำถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ อาจจะต้องใช้เวลาวางแผนและเตรียมงานเป็นปี แต่เราใช้เวลาแค่ สองถึงสามสัปดาห์ในการรวบรวมกำลังคน กำลังใจ และเตรียมทุกอย่างให้พร้อมเพื่อจะลงมือทำ

“เมื่อเราจะทำเรื่องที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนอื่นเขาไม่ทำเพราะว่ามันซับซ้อน เราก็ต้องลดข้อจำกัดให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่แค่ในเรื่องของระบบการจัดการนะ แต่รวมเรื่องความมั่นใจของคนที่ต้องทำเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับเราด้วย” ดารินพูดถึงเงื่อนไขที่ต้องลดเงื่อนไข เพื่อให้เรื่องยากๆ นี้ทำได้ง่ายขึ้นอีกนิด

จาก Amazon ถึง Indy Dish

เราชวนดารินคุยว่า ประสบการณ์การทำงานที่ Amazon มีประโยชน์กับการทำ Indy Dish ในเรื่องอะไรบ้าง

ดารินบอกเราว่า ทักษะที่ขอบคุณ Amazon ที่สุดไม่ใช่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีหรือการเขียนโปรแกรมที่เปลี่ยนโลกอะไรเลย แต่สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดที่ได้จาก Amazon คือ 14 แนวคิดการเป็นผู้นำแบบของ Amazon ซึ่งเป็นแนวคิดที่พนักงาน Amazon ใช้เป็นสรณะในการทำงานทุกวัน และทำให้ดารินเชื่อว่าถ้ามีแนวคิดพวกนี้ประจำใจ ก็จะแก้ปัญหาอะไรก็ได้ทั้งนั้น 

ดาริน สุทธพงษ์ CEO และ Co-Founder

และนี่คือ 3 หลักการที่ดารินหยิบยืมจากองค์กรระดับโลกมาใช้กับธุรกิจสตาร์ทอัพขนาดเล็กแต่คิดใหญ่อย่าง Indy Dish 

1. Bias for Action อย่ามัวแต่คิด ลองเลย

ประโยชน์ของการเริ่มเล็กคือการเปลี่ยนได้เร็ว และการเปลี่ยนได้เร็วก็หมายถึงการทดลองได้มาก ดารินบอกว่าเรา “บางทีก็อย่าคิดเยอะ ลองทำเลย เพราะถ้ามัวแต่คิดเดี๋ยวจะไม่ได้ทำ” 

ดารินเล่าให้ฟังว่า “ตอนจะทำโปรเจกต์กล่อง Super Lock คุยกับเพื่อนร่วมทีม ไม่มีใครมั่นใจเลย กลัวไปหมดว่าการบริหารจัดการจะเป็นยังไง จะมีคนสนใจไหม ร้านค้าจะเอาด้วยหรือเปล่า ลูกค้าจะล้างกล่องให้ไหม เราจะได้กำไรมากขึ้นสักเท่าไหร่ แล้วมันจะคุ้มเหนื่อยไหม”

แต่ดารินก็โน้มน้าวให้ทุกคนมาลองกันดูสักตั้งได้ในที่สุด

แม้จะเคยทำเรื่องยากๆ อย่างการส่งของข้ามทวีปให้ทันใน 2 ชั่วโมงมาแล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขใหม่ที่เพื่อนร่วมทีมยังไม่มั่นใจ และเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเล็กๆ ดารินถึงกับพูดออกมาบ่อยๆ ในระหว่างการสนทนาของเราว่า “มันไม่ง่าย แต่ก็จะทำ”

ดารินใช้เทคโนโลยีการเขียนโปรแกรมเและความเชี่ยวชาญด้านการสร้างประสบการณ์สำหรับผู้ใช้ (UX) เข้ามาช่วยสร้างขั้นตอนที่รัดกุมผ่านการเขียนคำสั่ง (Coding) ตั้งแต่การรับออเดอร์ที่แสนจะรู้ใจ การส่งคำสั่งไปที่ร้านอาหารที่ต้องมีงานเพิ่มให้เข้าใจแบบง่ายๆ ไปจนถึงการสร้างความแม่นยำในการรับและคืนมัดจำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า 

แม้จะเป็นงานที่เราคิดว่าถึงมีกำลังคนมากพอก็ไม่น่าจะทำได้แม่นยำเท่ากับคอมพิวเตอร์ แต่การจะเขียนโปรแกรมเพื่อวางขั้นตอนได้แบบนี้ก็ต้องอาศัยคนนี่แหละ ที่ต้องเข้าใจทุกขั้นตอนของพฤติกรรมคนด้วยกันเอง และออกแบบคำสั่งไปยังระบบปฎิบัติการทีละขั้นตอนเหมือนการสอนเด็กเล็กๆ ให้หัดทำอะไรสักอย่างที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ถือว่าเป็นงานในวงการเทคโนโลยีที่ต้องคราฟต์สุดๆ ไม่ต่างจากการเย็บผ้าด้วยมือที่จะวัดความเก๋ากันที่ความละเอียดของฝีเข็มเลยทีเดียว

2. Ownership ลงมือทำร่วมกันเป็นทีม ไม่มีใครสั่งการจากเบื้องบน และไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ดารินเล่าวิธีที่ทำให้ทีมงานยอมมาร่วมหัวจมท้ายด้วยกันว่า “เราไปที่หน้างานเพื่อจัดการและวางแผนเองทุกขั้นตอน ทั้งที่ Indy Dish เอง แล้วก็ที่ร้านค้าของพันธมิตร ให้คนทำงานเห็นว่าเราตั้งใจทำให้มันเป็นไปได้จริงๆ ให้ความมั่นใจกับคนทำงานว่าเราจะอยู่ข้างๆ เรามาลุยมันไปด้วยกัน ทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาไปด้วยกัน” 

ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้ชวนทุกคนมาร่วมกันลำบากกับโปรเจกต์นี้ ดารินเชื่อว่าการมีส่วนร่วมแบบคลุกวงในเป็นเรื่องสำคัญมาก

“มันเป็นทางลัดที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะทำได้เร็วกว่าบริษัทใหญ่ เพราะไม่ต้องมีผู้บริหาร ไม่ต้องมีลำดับขั้นตอนอะไร แต่ผู้ก่อตั้งอย่างเราก็ลงไปทำเองเลย ลงไปเห็นปัญหาเองว่ามันคืออะไร ไปใกล้ชิดกับคนทำงานเยอะๆ มันจะได้งานที่คุณภาพสูงมากโดยไม่ต้องใช้เวลานาน เป็นตัวกลางประสานงานด้วยตัวเอง เช่น หน้างานมีปัญหาอย่างนี้ทีมเทคโนโลยีจะต้องช่วยแก้ยังไง เราจัดการได้เลย”

3. Customer Obsession ครุ่นคิดถึงผู้บริโภคให้มาก และให้เขาเป็นเหตุผลของการตัดสินใจทั้งหมด

แม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน แต่ Indy Dish ก็มีความพิถีพิถันมากๆ ในการทำธุรกิจและมุ่งมันทำธุรกิจที่ไว้ใจได้ แม้ในเรื่องที่คนกินไม่มีวันรู้

การเลือกร้านเพื่อสุขภาพเข้ามาอยู่ใน Indy Dish ต้องผ่านการคุยกัน ต้องรู้จักกันก่อนว่าอาหารเขามาจากไหน เขาปลูกแบบไหน Indy Dish จะเลือกแต่ร้านที่จริงใจ ใช้เครื่องปรุงที่ดีต่อสุขภาพจริงๆ เท่านั้น 

“ต่อให้ไม่ใช่สินค้าออร์แกนิกก็ไม่เป็นไรนะ ขอแค่ซื่อสัตย์กับเรา บางทีเราก็ต้องกัดฟันปฏิเสธบางร้านไป ถ้าการยอมรับเงื่อนไขของเขาจะทำให้เราผิดสัญญา” ดารินบอกว่าการรักษา ‘สัจจะ’ เป็นอีกเรื่องที่ไม่มีไม่ได้ในการทำธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอาหาร ที่ผู้ประกอบทำให้ต้นทุนถูกลงได้ด้วยการลดคุณภาพของสินค้า ซึ่งคนกินก็อาจไม่รู้ แต่เมื่อทุกอย่างสะสมในตัวเขา มันก็ไม่ต่างอะไรจากระเบิดเวลา 

“บอกเลยว่ามันคือการวัดใจ” ดารินบอกเราแบบนี้

 Indy Dish มักเลือกทางที่ดีที่สุดเสมอแม้ไม่มีใครเรียกร้อง เพราะดารินเชื่อว่าการเป็นธุรกิจที่ดี จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้นาน และเชื่อว่าคนก็จะสนับสนุนแต่แบรนด์ที่ทำเรื่องดีๆ ผู้บริโภคทุกวันนี้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นและอยากสนับสนุนแต่แบรนด์ที่เขาไว้ใจได้ ซึ่งการเป็นแบรนด์แบบนั้นต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน 

การเลือกใช้กล่อง Super Lock ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเก็บคุณภาพและรสชาติอาหารเอาไว้ให้ดีเหมือนตอนที่เอาไปส่ง แทนที่จะใช้กล่องพลาสติกอย่างอื่นที่ราคาถูกกว่า ประหยัดพื้นที่ในการเก็บได้มากกว่า ก็บอกเรื่องความตั้งใจที่ Indy Dish มักเลือกทางที่ดีที่สุดเสมอแม้ไม่มีใครเรียกร้องได้อีกเรื่องหนึ่ง

Indy Dish ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเพื่อสุขภาพไทยเจ้าแรกในเอเชียที่ไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว

จะเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ผลักดันนวัตกรรมด้วย Real action, Real product

เราถามดารินว่า มองเห็น Indy Dish อยู่ตรงไหนของวงการนวัตกรรมด้านอาหารของไทย 

แบรนด์เล็กๆ แบรนด์นี้มองตัวเองว่าอยู่ที่แถวหน้าสุด และกำลังเป็นขะมักเขม้นในการผลักเส้นขอบของธุรกิจนี้ให้ขยายออกไปเรื่อยๆ ในแง่การทำให้คนได้กินดีและในแง่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“ด้วยความเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ เราไม่มีอะไรจะเสีย หรือถ้าเสียก็ไม่ได้เยอะมาก ฉะนั้นเราพร้อมลองทุกอย่าง เราตั้งใจจะมีบริการใหม่ๆ เพื่อความยั่งยืนออกมาอีก เพื่อให้คนเชื่อว่าอาหารการกินที่ดีมันเป็นไปได้จริงๆ เราจะคอยอำนวยความสะดวกให้การกินที่ดีต่อตัวเองและดีต่อโลกมันทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องลำบากเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลามากเกินไป อาหารต้องหลากหลายขึ้น แล้วก็อร่อยขึ้น”

ตอนนี้การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนยังเป็นทางเลือก แต่วันหนึ่งมันจะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และ Indy Dish ก็อยากทำเรื่องพวกนั้นเสียแต่วันนี้ 

ดารินไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็น CEO Indy Dish ตลอดไป และตั้งใจว่าวันหนึ่งก็จะส่งไม้ต่อธุรกิจนี้ไปให้คนที่ทำสิ่งนี้ได้ดีกว่า เก่งกว่า และพาความตั้งใจที่จะเป็นธุรกิจอาหารเพื่อความยั่งยืนนี้ไปได้กว้างและไกลกว่า 

ดารินบอกให้เราสบายใจว่า “เราก็ไม่ยึดติดและไม่เสียดายสิ่งที่สร้างมา เพราะเราเชื่อว่าทุกวันนี้ที่เราทำคือการสร้างธุรกิจที่ดี และธุรกิจที่ดีก็จะมีทางเลือกให้ไปต่อที่ดีกว่าเสมอ” การดูว่าผู้ประกอบการนั้นๆ มีมุมมองต่อส่วนรวมยังไง ดารินชวนให้ดูกันในเวลาที่ยากลำบากว่าผู้ประกอบการนั้นๆ ยอมที่จะเสียผลประโยชน์ส่วนตัวไปเพื่อส่วนรวมหรือไม่ เขากล้าเอาธุรกิจมาเสี่ยงกับอะไรที่มันใหญ่กว่าตัวเองจริงหรือเปล่า เขายอมสู้เพื่อมันมากแค่ไหน เวลาที่ยอดขายตกหรือโดนร้องเรียนเรื่องความสะดวกสบาย เขาเหล่านั้นรับมือยังไง มันจะเป็นเวลาที่เห็นวิสัยทัศน์ของธุรกิจนั้นๆ ได้ชัดเจน

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็อาจสงสัยว่า อะไรทำให้ดารินยินดีทำขนาดนี้ ซึ่งดารินก็บอกว่า

“ถ้า Indy Dish ไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่มีความหมายกับเรา ธุรกิจนี้ก็คงตายไปตั้งแต่ปีแรกๆ แล้ว เพราะว่ามันยากและเหนื่อยมาก ยิ่งอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่เชื่อ แทบหารายได้จากสิ่งนี้ไม่ได้ สิ่งที่ทำให้เราขับเคลื่อนไปข้างหน้า คือ ความเชื่อของเราที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เราเชื่อว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรมันต้องมีส่วนที่ไม่สนุกมันถึงเรียกว่างาน ชีวิตที่เราอยากใช้ มันเป็นชีวิตที่บาลานซ์สิ่งที่เราชอบและสิ่งที่เราเก่ง และก็ยังตอบจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่างได้ด้วย”

ดาริน สุทธพงษ์ CEO และ Co-Founder

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน