ด้วยความอนุเคราะห์ของ พลเรือตรีสกล สิริปทุมรัตน์ ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ผมและเพื่อนๆ จึงได้มีโอกาสเข้ามาเดินดุ่มๆ อยู่ในพื้นที่อันเป็นมรดกสำคัญของชาติ มรดกที่อาจไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ วัด หรือวัง อย่างที่เราคุ้นเคย เพราะที่นี่คืออู่เรือหลวงแห่งแรกของสยามประเทศ และเป็นเขตโบราณสถานประเภทมรดกอุตสาหกรรม (Industrial Heritage) ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 130 ปีก่อน และยังคงยืนหยัดปฏิบัติภารกิจอย่างแข็งขันจนถึงทุกวันนี้

“ไปเดินดูกันให้สนุกนะครับ เครื่องจักรโบราณล้วนมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง” 

พลเรือตรีสกลกล่าวทิ้งท้ายเมื่อเราเข้าไปพบ ก่อนออกเดินตามหาเครื่องจักรรุ่นคุณปู่คุณทวดที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศไทย ท่านยังได้กรุณาแนะนำพวกเราว่า หากเราเกิดสงสัยอะไร ก็ให้ถาม ‘พี่ๆ ชุดหมี’ กันได้เลย

ก่อนสำรวจเส้นทาง นาวาโทหญิงรศนา สมพงษ์ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ฯ หรือพี่แต้ว แนะนำเส้นทาง Heritage Walk ที่เราเข้าไปชมในวันนี้ว่า ควรเริ่มเดินที่อู่หมายเลขหนึ่ง แล้วค่อยไปชมเตาและปล่องเหลี่ยม แหล่งพลังงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการต่อเรือมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นค่อยไปชมโรงงานต่างๆ โดยพี่แต้วเอื้อเฟื้อพาเราไปเดินชมด้วยตนเอง 

อู่หมายเลขหนึ่ง

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน ‘อู่เรือหลวง’ อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน ‘อู่เรือหลวง’ อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

ที่อู่คอนกรีตขนาดกว้าง ยาว และลึกหลายเมตรนั้น มีเรือหลายลำจอดนิ่งอยู่บนไม้หมอน มีเจ้าหน้าที่กำลังซ่อมแซมและทำความสะอาดเรือเหล่านั้นอยู่

“อู่หมายเลขหนึ่งเป็นอู่ประวัติศาสตร์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2433 เดิมเป็นอู่ไม้ที่สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ยึดโยงเป็นแนวเขื่อนกันดิน นับเป็นอู่ที่ใหญ่เทียบเท่าอู่ของฝรั่งในขณะนั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2459 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เรือหลวงมีจำนวนมากขึ้น ขนาดของเรือก็ใหญ่ขึ้น จึงได้ขยายพื้นที่พร้อมปรับสภาพจากอู่ไม้ให้เป็นอู่คอนกรีตอย่างที่เห็นอยู่ และนี่คืออู่คอนกรีตแห่งแรกของไทย” พี่แต้วอธิบายถึงเหตุการณ์สำคัญบนตำแหน่งที่ผมกำลังยืนอยู่ขณะนี้

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน ‘อู่เรือหลวง’ อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน ‘อู่เรือหลวง’ อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนากองทัพเรือไทยให้เข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังคืบคลานเข้ามาคุกคามอธิปไตยของสยาม ได้ทรงเลือกพื้นที่พระนิเวศน์เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ให้เป็นที่ตั้งกองอู่เรือหลวง สำหรับซ่อมและสร้างเรือรบไว้ป้องกันประเทศ นับเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญของสยาม เมื่อเราสามารถต่อเรือเหล็กคุณภาพใกล้เคียงกับฝรั่งสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง

เตาหม้อน้ำ

จากอู่หมายเลขหนึ่ง เราเดินเลาะอาคารโบราณที่ทำจากสังกะสีดูเข้มขลังไปยังอาคารที่อยู่ติดๆ กัน ที่นั่น เราได้พบกับพี่มนัสและพี่เพทาย หรือ มนัส เลี้ยงรักษา และ เพทาย เหมปั้น ในชุดยูนิฟอร์มสีน้ำเงินเข้ม ผมคิดว่านี่แหละคือพี่ๆ ชุดหมีที่ผมเพิ่งได้ยินมาเมื่อสักครู่ พี่ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำ สังกัดโรงงานเชือกรอกและการอู่

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน ‘อู่เรือหลวง’ อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

“มาดูเตาเหรอครับ ทางนี้เลย” พวกเราเดินตามพี่ทั้งสองไปยังอุปกรณ์อะไรบางอย่างที่เหมือน เอ่อ เหมือนอะไรผมก็ไม่แน่ใจ สิ่งที่พอจะอธิบายได้คือ เป็นเตาอิฐสีแดงสองเตาที่มีขนาดใหญ่มากๆ ด้านหน้ามีโลหะทรงกลมสีดำที่ดูเหมือนคนกำลังทำตาปรืออยู่

“นี่คือเตาหม้อน้ำนะครับ เรียกว่าเตายอร์ค ใช้งานครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2532 ตอนนั้นผมมาทำงานที่นี่แล้ว และยังทันเห็นเขาใช้เตาชนิดนี้กันอยู่เลย” พี่มนัสเล่าให้ฟังถึงเตาวินเทจตรงหน้า ทั้งยังอธิบายวิธีการใช้งานเตา ผมล่ะตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้ฟังเรื่องราวจากผู้ที่ได้ทันเห็นเหตุการณ์ในอดีตด้วยตาตัวเอง นี่เรากำลังอยู่ใน Living Museum ชัดๆ 

พี่มนัสเล่าว่าเตายอร์คก่อจากอิฐดินเผาและสร้างหุ้มรอบหม้อน้ำ ดังนั้นหม้อน้ำจึงอยู่กลางเตา ส่วนที่เห็นเป็นช่องกลมๆ สีดำๆ นี้เรียกว่า ‘ลูกหมู’ เป็นท่อเหล็กกลวงทรงกระบอก วางเป็นแกนตลอดความยาวของหม้อ ปลายลูกหมูฝั่งหัวเตามีหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ละอองน้ำมันจะจุดติดเปลวไฟความร้อนสูง และพ่นไปตลอดความยาวของท่อลูกหมู ความร้อนในท่อก็จะกระจายผ่านผิวเหล็กไปต้มน้ำในหม้อจนเดือดเป็นไอ 

ส่วนเปลวไฟนั้น เมื่อพ่นไปสุดปลายท่อลูกหมูแล้วก็จะปะทะกับผนังอิฐที่ท้ายเตา แล้ววกย้อนกลับใต้หม้อน้ำมายังหัวเตาอีกที เพื่อให้ความร้อนอีกครั้ง การวกกลับของเปลวไฟเช่นนี้ ภาษาช่างเขาเรียกว่าไฟสองกลับ เมื่อเปลวไฟวกกลับมาทางด้านหัวเตาแล้วจะเปลี่ยนสภาพเป็นควัน และควันก็จะไหลย้อนกลับไปยังท้ายเตาอีกครั้ง ก่อนระบายไปยังฐานของปล่องเหลี่ยม และระบายสู่อากาศตอนบนในที่สุด 

“ตรงหน้าหม้อต้ม แต่เดิมมีท่อเหล็กต่อกับหลอดแก้ว ซึ่งมีเส้นแสดงปริมาณน้ำภายในหม้อต้มว่ามากหรือน้อยขนาดไหน ส่วนน้ำที่ใช้ก็สูบขึ้นมาจากบ่อเก็บน้ำด้วยเครื่องสูบ ส่วนมากใช้น้ำประปา และเตานี้จุน้ำได้สิบเก้าลูกบาศก์เมตร” นายช่างเก่าแก่อธิบายอย่างคล่องแคล่ว 

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

ในอดีต โรงงานต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในกรมอู่จะแจ้งปริมาณและเวลาที่ต้องการใช้ไอน้ำล่วงหน้ามาเป็นรายวัน แล้วจึงผลิตไอน้ำตามปริมาณและเวลาที่แจ้งมา โรงงานที่ใช้ไอน้ำเยอะ ได้แก่ โรงงานเหล็ก ซึ่งสมัยก่อนยังใช้เครื่องจักรไอน้ำในการตัด พับ ดัดแผ่นเหล็ก หรือโรงงานยาง ที่ใช้ไอน้ำในการอบยาง เป็นต้น

พี่แต้วอธิบายเสริมว่า กรมอู่ทหารเรือเลิกใช้เตาหม้อน้ำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องเขม่าควันจากชุมชนใกล้เคียง ต่อมากรมอู่ทหารเรือก็ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไอน้ำอีก เพราะมีพลังงานจากเครื่องยนต์ดีเซลและไฟฟ้ามาทดแทน

เกร็ดสนุกของเตาหม้อน้ำที่นี่คือ นอกจากมอบพลังงานให้เครื่องจักรแล้ว ยังทำให้ช่างอิ่มท้องด้วย เพราะช่างสร้างตู้ครอบบริเวณที่ไอน้ำพุ่งออกมาจนเป็นเหมือนตู้นึ่ง ช่างแต่ละคนเอาถ้วยใส่ข้าวสาร เติมน้ำ แล้วนำไปวางไว้ พอพักกลางวัน ข้าวก็สุกพร้อมทานได้ทันที พอพักเที่ยงก็ทานข้าวสวยร้อนๆ กันพร้อมหน้าพร้อมตา ฟังดูเป็นบรรยากาศที่สนุกสนานสามัคคีจริงๆ 

ปล่องเหลี่ยม

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

จากเตาหม้อน้ำ เราเดินตามพี่แต้วไปยังอาคารติดๆ กัน อันเป็นสถานที่ตั้งของปล่องควันหม้อน้ำ หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า ปล่องเหลี่ยม แลนด์มาร์กสำคัญของกรมอู่ทหารเรือ เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แหล่งพลังงานสำคัญคือ ‘ไอน้ำ สำหรับเดินเครื่องจักรทุกชนิด ด้วยเหตุนี้อู่เรือหลวงจึงต้องพัฒนาระบบสร้างพลังงานไอน้ำให้มีครบทั้งหม้อน้ำ (Boiler) และเตา (Furnace) สำหรับผลิตไอน้ำจ่ายไปยังโรงงานต่างๆ รวมทั้งปล่องควัน (Chimney) ที่มีขนาดเหมาะสมเพื่อระบายควันและความร้อนออกสู่บรรยากาศได้ทันท่วงที 

ไม่ปรากฏปีที่ชัดเจนว่าปล่องเหลี่ยมสร้างขึ้นเมื่อใด แต่น่าจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 จากบันทึกของอู่ทหารเรือธนบุรีระบุว่า ใน พ.ศ. 2448 มีการสร้างปล่องสูงขนาด 23.50 เมตรขึ้น เพื่อใช้ระบายควันและความร้อนให้กับเตาหม้อน้ำแบบแลงแคชไชร์ (Lancashire) อันเป็นเตารุ่นแรก ผลิตโดยบริษัท John Marshall & Co., Ltd. จากลอนดอน

“มาดูปล่องเหลี่ยมเหรอครับ มาแล้วต้องมาดูถังน้ำมันกันด้วยนะ อยู่ใกล้ๆ นี่เอง” และแล้วคุณพี่ช่างชุดหมีคนที่ 3 ก็ปรากฏตัวขึ้น นั่นคือ พี่สุชาติ หรือ สุชาติ อ่ำสำอางค์ ช่างระดับสาม สังกัดโรงงานเชือกรอกและการอู่ 

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

“เมื่อก่อน เวลาผลิตไอน้ำ จะใช้ฟืนต้มน้ำ ต่อมาก็เป็นถ่านโค้ก จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นน้ำมันเตา ก่อนเปลี่ยนมาเป็นน้ำมันดีเซล ถังน้ำมันยังตั้งอยู่ตรงนี้เลยครับ” คำว่าถ่านโค้กนั้น พี่สุชาติหมายถึง Coal หรือถ่านหิน ซึ่งป็นคำที่ช่างกรมอู่ใช้กันโดยทั่วไป เพื่อออกเสียงให้ฟังดูง่ายๆ แบบไทยๆ เมื่อผมลองสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า กรมอู่ทหารเรือได้เปลี่ยนจากถ่านหินมาใช้น้ำมันตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา

“สองถังนี้ตั้งอยู่ที่นี่มานานแล้ว ถังหนึ่งจุได้สิบสองตัน หรือราวๆ หมื่นสองพันลิตร น้ำมันเตาจะมาทางเรือนะครับ จากนั้นก็ดูดขึ้นมาเก็บไว้ในถังนี้ แล้วก็จะมีท่อต่อไปยังถังสี่เหลี่ยมเพื่อนำไปใช้ที่เตาหม้อน้ำครับ” พี่สุชาติบรรยายพร้อมกับชี้ให้ดูถังสีดำขนาดใหญ่สองถังที่ตั้งอยู่เหนือศีรษะ

เมื่อ พ.ศ. 2543 กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจโบราณสถานในเขตกรมอู่ทหารเรือ ต่อมาในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า กรมศิลปากรเห็นชอบในการอนุรักษ์ปล่องเหลี่ยม รวมทั้งเตา ไว้ในฐานะโบราณสถานสำคัญประเภทมรดกของอุตสาหกรรม (Industrial Heritage) เพื่อเป็นสมบัติสำคัญของชาติสืบไป

โรงงานยาง โรงงานเครื่องกล และโรงงานช่างต่อเรือไม้และครุภัณฑ์เรือ

การตามหาเครื่องจักรโบราณของเรายังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ จากปล่องเหลี่ยม เราแวะไปที่โรงงานยางในอาคารสุดคลาสสิกที่อยู่ไม่ไกล โรงงานเพดานสูงโปร่งเต็มไปด้วยเครื่องจักรรุ่นเก๋าเช่นเคย และแล้วผมก็ได้เจอกับพี่ช่างชุดหมีคนที่ 4 นั่นคือพี่จรัญ หรือ เรือเอกจรัญ แจ่มปัญญา หัวหน้าช่างโรงงานยาง

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

“ถ้าไปดูเตาหม้อน้ำกับปล่องเหลี่ยมมาแล้ว ผมว่ามาดูท่อที่เคยใช้ส่งไอน้ำกันดีไหมครับ” พี่จรัญชวน “ไอน้ำที่ผลิตจากเตาจะส่งผ่านท่อเหล็กที่หุ้มด้วยฉนวนกันความร้อนชนิดใยหินจำพวกแร่ซิลิเกต โดยภายในกลุ่มโรงงานของกรมอู่ มีท่อไอน้ำแบบนี้เชื่อมต่อกันเป็นระบบ และท่อที่เห็นก็สันนิษฐานว่าเป็นของเดิม” พี่จรัญชี้ให้ดูท่อหุ้มฉนวนที่เคยใช้ส่งไอน้ำมาตั้งแต่แรกและยังปรากฏจนทุกวันนี้

หัวหน้าช่างเล่าว่า เครื่องอัดยางเครื่องใหญ่ระบบไฮโดรลิกเครื่องแรกๆ ของเมืองไทย เป็นการใช้ความร้อนทั้งด้านบนและล่าง อัดยางขนาดความยาวหนึ่งเมตรได้ เครื่องนี้อายุกว่า 50 ปีแล้ว แต่ยังใช้งานได้ดีจนถึงทุกวันนี้ ที่โรงงานยางมีโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมกันพัฒนายางให้มีคุณภาพดีขึ้นและนำมาใช้ในงานยางทุกประเภทของกองทัพเรือ เช่น การทำยางกันเรือกระแทก การปูพื้นยางเรือในเรือรบ เรือขนส่งกำลังพล รวมทั้งงานอื่นๆ

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

ของดีอีกอย่างที่ติดตั้งอยู่เหนือเครื่องจักรเครื่องนี้ นั่นคือเครนชนิด Overhead Crane จากอังกฤษ ซึ่งรับน้ำหนักได้ถึง 12 ตัน สันนิษฐานว่าเป็นของดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างโรงงานเช่นกัน เมื่อผมส่งรูปเครนตัวนี้ให้เพื่อนที่เป็นสถาปนิกอนุรักษ์ช่วยตรวจสอบก็ได้ข้อมูลว่า เป็นเครนรุ่นวินเทจของบริษัท Selig Sonnenthal & Co. อันมีชื่อเสียงแห่งกรุงลอนดอน และมีลักษณะคล้ายกับเครนที่ใช้ในโรงงานอีสต์ เอเซียติก (ปัจจุบันคือ Asiatique) ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้เช่นกัน ว่าแล้วพี่จรัญก็ขอให้ทีมงานช่วนสาธิตการชักรอกเพื่อดึงเครนให้เคลือนที่ไปมา และแน่นอนว่าเครนรุ่นบุกเบิกนี้ ยังคงใช้งานได้ดีจนถึงปัจจุบัน

จากโรงงานยาง เราเดินต่อไปยังโรงงานเครื่องกลที่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน และผมก็ได้พบกับพี่วันชัย หรือ วันชัย สร้างเขต ช่างกลโรงงานชั้น 2 สังกัดโรงงานเครื่องกล ซึ่งใครๆ ก็เรียกว่า ครูบัง และเป็นพี่ช่างชุดหมีคนที่ 5 ที่ผมพบในวันนี้

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

“เครื่องดัดเพลาสายพานสามรางนี้มาจากของเยอรมนี เป็นเครื่องช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นเป็นเครื่องจักรรุ่นวินเทจแน่ๆ และทุกวันนี้ก็ยังใช้งานได้ดีครับ เรานำมาใช้ทำงานละเอียดอย่างงานดัดเพลาเรือ เครื่องยนต์เครื่องนี้จะมีรอบเร่งที่พอดี จึงค่อยๆ ดัด ค่อยๆ กลึง ให้งานออกมาละเอียดได้” 

พี่วันชัยเล่าถึงเครื่องจักรเครื่องใหญ่ แต่ใช้กับงานละเอียดได้ ทำให้ผมคิดถึงวลีที่เคยได้ยินมาว่า เรือรบในอดีตนั้นเป็น ‘เรือรบทำมือ’ ที่มีความประณีตสูง 

“นอกจากภารกิจที่ทำให้กองทัพแล้ว เรายังซ่อมทำและผลิตทดแทนอุปกรณ์โลหะพิเศษบางชนิด เช่น กลอนประตู บานพับ โคมไฟ ราวบันใด ฯลฯ ซึ่งใช้สำหรับปรับปรุงห้องต่างๆ ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วังสระปทุม และวังไกลกังวล เป็นต้น ทั้งนี้เพราะพระตำหนักและวังสร้างขึ้นในรัชกาลก่อนๆ เมื่ออุปกรณ์เกิดชำรุดเสียหาย จำเป็นต้องเปลี่ยน บางทีก็หาซื้อจากที่ไหนไม่ได้ เพราะเลิกผลิตกันไปแล้ว อีกทั้งรัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์อนุรักษ์ให้ทุกอย่างคงรูปแบบเดิมไว้ทั้งหมด ทางโรงงานก็จะรับหน้าที่แกะแบบและผลิตขึ้นใหม่ให้เหมือนเดิม นับเป็นงานฝีมือที่ละเอียดมากๆ” พี่วันชัยเล่าด้วยความภูมิใจ 

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

จุดหมายต่อไปของเราคือโรงงานช่างต่อเรือไม้และครุภัณฑ์เรือ ซึ่งตั้งอยู่ติดคลองวัดระฆัง ไม่ไกลจากอู่หมายเลขหนึ่ง สาเหตุที่โรงงานช่างต่อเรือไม้ฯ ตั้งอยู่บริเวณนั้น ก็เพราะในอดีตซุงท่อนใหญ่ๆ จะล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และต้องลำเลียงซุงจากแม่น้ำเข้ามาเก็บไว้ที่คลองวัดระฆังก่อนจะชักขึ้นมาบนบก และเมื่อเราเดินไปถึงก็พบพี่ช่างชุดหมีคนที่ 6 รออยู่ นั่นคือพี่สุรศักด์ หรือ สุรศักดิ์ เทียนมงคล เจ้าหน้าที่ช่างต่อเรือไม้และครุภัณฑ์เรือที่กำลังทำงานอยู่

“เครื่องพวกนี้อายุหลายปีแล้วครับ แต่สภาพยังดี และมีหลายเครื่องที่ยังใช้งานได้จนถึงทุกวันนี้” 

พี่สุรศักดิ์เล่าให้ฟังพร้อมกับพาชมส่วนต่างๆ ของโรงงานช่างต่อเรือไม้ฯ เครื่องมือวินเทจน่าประทับใจของที่นี่ คือเครื่องเลื่อยไม้สำหรับเปิดปีกไม้และซอยให้เป็นแผ่นๆ ก่อนนำไปแปรรูปเป็นครุภัณฑ์บนเรือ เมื่อก่อนจะลากซุงขึ้นมาตามทางลาดโรงไม้ และซุงทุกต้นต้อผ่านกระบวนการเปิดปีกและซอยเป็นแผ่นก่อนกระบวนการอื่นๆ จากประทับตราอยู่บนเครื่องที่ระบุไว้ว่า พ.ศ. 2479 แสดงว่าเครื่องนี้อายุกว่า 80 ปีแล้ว

“ความจริงยังใช้งานอยู่ได้นะ เครื่องไม่ได้เสีย แต่ทุกวันนี้ก็ไม่มีซุงอีกแล้ว เพราะได้เปลี่ยนมาใช้ไม้แปรรูปแทน”

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

พี่สุรศักดิ์พาเราไปชมเครื่องตัดไม้ทั้งท่อนเล็กท่อนใหญ่ เครื่องลับเลื่อย ฯลฯ ซึ่งล้วนมีอายุกว่า 80 ปีทั้งนั้น และแทบทั้งหมดยังใช้งานได้ดี ไม้เป็นส่วนสำคัญในการต่อเรือ ถึงแม้ลำตัวเรือจะทำจากเหล็ก แต่ส่วนประกอบของดาดฟ้า สะพานเดินเรือ และครุภัณฑ์ทั้งหลายก็ใช้ไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญแทบทั้งสิ้น ดังนั้นบทบาทของโรงงานโรงนี้จึงสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่า เลื่อย รีด ขัด หรือกลึงไม้ นอกจากนี้ไม้ยังเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างต้นแบบ (Mold) สำหรับอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ใบจักร พัดน้ำ เครื่องสูบ ฝาสูบ ฯลฯ เพื่อให้โรงงานหล่อหลอมและไม้แบบนำไปทำงานต่อ

“ที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากๆ เลยนะครับ พวกเศษไม้ ขี้เลื่อย ที่เกิดจากงานไม้ จะมีระบบกัก กรอง และดูด ไปเก็บรวมกันไว้ที่ท้ายโรงงาน เพื่อที่จะได้ไม่ปลิวฟุ้งในอากาศและไม่ไปรบกวนชุมชนใกล้เคียง” 

มิน่าล่ะ เราถึงรู้สึกว่าโรงงานช่างต่อเรือไม้ฯ แห่งนี้จึงสะอาดมาก

โรงหล่อ

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

พี่ช่างชุดหมีคนที่ 7 รอผมอยู่แล้วที่โรงหล่อ เพราะเมื่อเดินไปถึงเราก็ได้พบกับพี่สุทิน หรือ นาวาตรีสุทิน ชื่นชม พอพี่แต้วแนะนำว่าพวกเรามาเดินดูเครื่องจักรวินเทจที่เป็นประวัติศาสตร์ของที่นี่ พี่สุทินจึงพาไปดูสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของโรงงานหล่อหลอมและไม้แบบ เตาคิวโพล่า (Cupola Furnace) ซึ่งเรียงกันเป็นแท่งอยู่ 3 เตาใกล้ๆ กัน โดยเตาซ้ายสุดมีพวงมาลัยดอกดาวเรืองแขวนอยู่

เตาคิวโพล่าเป็นเตาที่ใช้ในการผลิตเหล็กหล่อ โดยการนำเหล็กดิบมาหลอมละลายภายในเตาทรงสูงที่เปลือกรอบนอกทำจากเหล็ก ส่วนภายในก่ออิฐทนไฟโดยรอบ การทำงานของเตาคิวโพล่าเริ่มต้นจากการจุดถ่านโค้กให้ติดไฟ เป่าลมเข้าไปภายในเตา แล้วเติมเหล็กดิบลงไปหลอม เมื่อเหล็กละลายก็จะไหลลงสู่บริเวณก้นเตา จากนั้นก็เจาะรูให้น้ำเหล็กไหลออกลงสู่เบ้ารับน้ำโลหะต่อไป

“ปัจจุบันเตานี้ไม่ได้ใช้แล้วครับ อายุมากกว่าห้าสิบปี เป็นเตารุ่นเก๋าแน่ๆ ผมคิดว่าเตารุ่นนี้มีเฉพาะที่นี่และที่สถาบันเหล็กตรงกล้วยน้ำไทเท่านั้น เราใช้ถ่านโค้กเป็นเชื้อเพลิงครั้งสุดท้ายเมื่อสามสิบปีก่อน แล้วเลิกไปเพราะควันและเขม่ารบกวนชุมชน ก็เลยใช้เตาไฟฟ้าแทน การบูชาเตาคิวโพล่าก็เหมือนการบูชาครู บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเราจะทำปีละครั้ง ช่วงเดือนธันวาคม พวกเราเป็นช่างหลอมโลหะ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรกระทำที่หน้าเตาหลอม ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญที่อยู่คู่กับโรงงานแห่งนี้” พี่สุทินเล่าเรื่องพิธีพิเศษของเตานี้ให้ฟัง 

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

เราตามพี่สุทินไปเดินดูกระบวนการทำงานของโรงงานหล่อหลอมฯ ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การรับต้นแบบที่แกะขึ้นจากไม้ นำแบบมากดในแม่พิมพ์ที่ทำจากทรายพิเศษซึ่งมีส่วนผสมของโซเดียมซิลิเกต โดยฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อช่วยให้ทรายเกาะตัวแน่น ไม่ร่วน และแข็งแรง เมื่อแกะต้นแบบออก ก็จะได้เบ้ารับน้ำโลหะ จากนั้นก็เทโลหะลงในเบ้า รอจนโลหะเย็นตัวลงจึงค่อยๆ แกะออกจากเบ้า ในที่สุดเราก็จะได้อุปกรณ์โลหะต่างๆ ตามต้องการ

“งานจากโรงหล่อหลอมฯ ต้องนำไปกลึงเพื่อปรับแต่งความหนา องศา และขนาดอีกเล็กน้อยครับ เรียกว่าเก็บรายละเอียด เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ทุกประการ ซึ่งการที่เราผลิตทุกอย่างได้เองโดยไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศเช่นนี้ ช่วยประหยัดงบประมาณไปได้ปีละมากๆ เลยทีเดียว” นายช่างโรงหล่อกล่าวทิ้งท้าย

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ 

“ไปชมพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ กันก่อนกลับนะคะ คราวนี้ไม่มีเครื่องจักรรุ่นวินเทจและพี่ๆ ช่างชุดหมีแล้วนะ เดี๋ยวพี่นำชมเอง” พี่แต้วชวนพวกเราไปปิดท้ายกันด้วยนิทรรศการในอาคารแบบเรือนขนมปังขิงที่มีอายุมากกว่าร้อยปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอาคารนั้นได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำ พ.ศ. 2557 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเนื้อที่น่าสนใจหลายประการ เช่น รัชกาลที่ 9 กับงานนาวาสถาปัตย์ ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบและต่อเรือด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงกีฬาแล่นใบ อันนำมาซึ่งพระราชดำริที่พระราชทานให้กรมอู่ทหารเรือ โดยอู่ทหารเรือธนบุรีแห่งนี้ได้ริเริ่มต่อเรือด้วยตนเอง จนสามารถสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต. 91 ขยายผลสู่ชุดเรือ ต. 991 และชุดเรือ ต. 994 ตามลำดับ จนปัจจุบันสามารถต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณของแผ่นดินเป็นอย่างมาก 

นอกจากนั้นยังได้ประมวลความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่อเรือของไทย การต่อเรือรบ การต่อเรือพระที่นั่ง เช่น เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งลำแรกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ท่าน รวมทั้งงานอู่เรือ กระบวนการซ่อมทำเรือรบ ผลงานการซ่อมทำเรือสำคัญๆ งานฝีมือช่างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเนื้อหาที่สำคัญที่สุดก็คือ การสรุปเรื่องราวความเป็นมาของอู่เรือหลวงที่เรามาชมกันในวันนี้ได้อย่างครบถ้วน

ความจริงไทยเราเป็นชาติที่มีฝีมือในการต่อเรือมานานแสนนาน จากรายงานของ จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawford) ราชทูตอังกฤษที่เดินทางมาสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 ระบุว่า เรือสำเภาที่แล่นค้าขายระหว่างหมู่เกาะอินเดียและจีนล้วนต่อขึ้นจากบางกอกแทบทุกลำ เพราะไทยมีทรัพยากรไม้อุดมสมบูรณ์ มีแรงงานฝีมือดี และราคาก็เป็นมิตร เรือสำเภาทำหน้าที่เป็นพาหนะหลักมาจนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง เพราะมี ‘เรือกำปั่น’ แบบฝรั่งที่มีคุณสมบัติดีกว่าเริ่มเข้ามาแทนที่

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เรือกำปั่นเริ่มทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในเชิงการค้า แต่รวมถึงการป้องกันพระราชอาณาจักร รวมทั้งการคมนาคมขนส่งที่เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ อู่ต่อเรือจึงมีบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย อู่เรือในสมัยก่อนเป็นอู่ที่สร้างขึ้นโดยการขุดแอ่งเข้าไปจากฝั่งแม่น้ำ พื้นอู่จึงเป็นดินโคลน ฝรั่งเรียกว่า Mud Dock เมื่อต้องเปลี่ยนมาต่อเรือขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้น จึงต้องพัฒนาการก่อสร้างโดยยกพื้นอู่ให้แห้งสะอาด แข็งแรง และสร้างเป็นโรงงานเต็มรูปแบบ

แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ
แกะรอยเครื่องจักรวินเทจใน อู่เรือหลวง อู่กองทัพเรืออายุ 130 ปี, อู่เรือหลวงแห่งแรกของไทย, กรมอู่ทหารเรือ

ในสมัยนั้น อู่เรือที่ต่อเรือกำปั่นได้มักเป็นอู่เรือส่วนตัว ได้แก่ อู่เรือวังหน้า ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดสร้างขึ้นเพื่อซ่อมและสร้างเรือพระที่นั่งของวังหน้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันคือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรืออู่เรือบ้านสมเด็จที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยงวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สร้างขึ้นอยู่ตรงหน้าวัดอนงคาราม อันเป็นอู่สำคัญที่ได้ต่อเรือกลไฟพระที่นั่งถวายรัชกาลที่ 5 มีนามว่าเรือสยามอรสุมพล ถือเป็นเรือกลไฟลำแรกที่ต่อขึ้นทั้งลำในประเทศได้สำเร็จ นอกจากนั้นยังมีอู่เรือของบริษัทต่างชาติอีกจำนวนหนึ่ง เช่น อู่แมคลีน และอู่บางกอกด๊อก

ส่วนอู่ทางราชการ ก็คืออู่กำปั่นวัดระฆัง ตั้งอยู่ทางใต้วัดระฆังโฆษิตาราม ตรงข้ามท่าราชวรดิศ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมมาแต่โบราณ ด้วยเป็นที่ตั้งของโรงหล่ออันเป็นแหล่งหล่อโลหะสำคัญของพระราชอาณาจักรมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เช่น เพื่อสร้างพระพุทธรูปสำหรับนำไปประดิษฐานยังวัดวาอารามต่างๆ เพื่อผลิตยุทโธปกรณ์อย่าง ปืนใหญ่ ลูกปืนใหญ่ กระสุน มีด ดาบ และศาสตราวุธต่างๆ

เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 การต่อเรือกำปั่นมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมการต่อเรือได้พัฒนาจากไม้ไปสู่เหล็ก ดังนั้นโรงหล่อจึงต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกับอู่ต่อเรือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อการเผยแพร่ลัทธิจักรวรรดินิยมจากชาติตะวันตกทวีความรุนแรงขึ้น ประเทศไทยต้องนำเข้าเรือรบที่สร้างจากเหล็กเป็นจำนวนมาก อู่เดิมๆ ที่มีอยู่ล้วนขาดความทันสมัย รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ผู้บังคับบัญชากรมทหารเรือ ทำการซ่อมแปลงบริเวณโรงหล่อให้เป็นอู่เรือหลวงขนาดใหญ่ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอู่เรือหลวงแห่งนี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อ พ.ศ. 2433 นั่นคือกำเนิดของอู่หมายเลขหนึ่งที่เราไปชมกันมาเมื่อเช้า

ใน พ.ศ. 2479 ได้มีการจัดสร้างอู่ใหม่ขึ้น เพื่อรองรับการซ่อมเรือที่เพิ่มปริมาณขึ้น ปัจจุบันอู่นี้เรียกว่าอู่หมายเลขสอง สถานะของกองอู่เรือหลวงก็ปรับเป็นกรมอู่ทหารเรือมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 พร้อมกับรับผิดชอบภารกิจสำคัญนี้ต่อมา

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของกรุงเทพฯ ส่งผลให้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามากมาย เช่น สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน สะพานกรุงเทพฯ ส่วนสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ก็ปิดอย่างถาวร ไม่มีการยกสะพานเปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ทำให้เรือรุ่นใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่และมาซ่อมบำรุงที่นี่ไม่ได้อีกต่อไป กอปรกับความจำกัดของพื้นที่ที่มีพียง 40 ไร่ และไม่สามารถขยายให้กว้างขึ้นด้วยติดโบราณสถานสำคัญ กองทัพเรือจึงได้สร้างอู่ใหม่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้าได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 และต่อมาใน พ.ศ. 2544 อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชก็เปิดดำเนินการขึ้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 

สำหรับอู่เรือหลวงที่ปัจจุบัน คืออู่ทหารเรือธนบุรีนั้นยังคงปฏิบัติหน้าที่ซ่อมทำเรือต่างๆ อยู่จนทุกวันนี้ โดยเน้นเรือที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น เรือลาดตระเวนของกองเรือลำน้ำ เรือใช้สอยต่างๆ ของกรมการขนส่งทหารเรือ ฯลฯ ซ่อมและจัดทำอะไหล่ รวมทั้งชิ้นส่วนต่างๆ สำหรับใช้ในราชการ เพื่อช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ โดยไม่ต้องจัดซื้อจากต่างประเทศ จัดสร้างนวัตกรรมทางเรือเพื่อสนับสนุนงานบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เช่น เรือผลักดันน้ำ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดคือบำรุง รักษา และซ่อมแซมเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธีทุกลำ ซึ่งจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่งก่อนมีพระราชพิธี โดยกรมอู่ทหารเรือธนบุรีจะรับหน้าที่ตลอดกระบวนการ นับตั้งแต่ซ่อมสภาพเรือ เปลี่ยนแผ่นไม้ อุดเรือ และร่วมกับกรมศิลปากรในการประดับกระจก ลงสี ลงลาย และในอดีตก็เคยเป็นสถานที่ฝึกซ้อมการเห่และการพายกระบวนเรือพระราชพิธีด้วยเช่นกัน

และแล้วการเดินตามหาเครื่องจักรโบราณในกรมอู่เรือหลวงแห่งแรกของประเทศก็จบลง การได้เห็นเครื่องจักรรุ่นปู่รุ่นทวดหลายต่อหลายเครื่องยังตั้งอยู่ในที่เดิมนั้น สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือมีพี่ๆ ชุดหมีที่พร้อมจะทำหน้าที่วิทยากร (จำเป็น) เพื่อให้ความรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร ใช้งานอย่างไร ช่วยสร้างความเข้าใจแบบทะลุปรุโปร่ง ความเป็น Living Museum ได้คืนชีวิตให้กับปล่องควัน เตา เครน และเครื่องจักรทุกๆ เครื่องในวันนี้ 

ผมคิดว่าสิ่งที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ ไม่ว่าด้วยภาพ เสียง หรือตัวอักษร ก็คือคำบอกเล่าของพี่ๆ ทุกคนที่ผมได้มีโอกาสพบตลอดทั้งวันในวันนี้ เพื่อให้เรื่องราวอันทรงคุณค่าจะไม่สูญหายไปไหน

ขอบพระคุณพี่ๆ ทุกคนมากที่มอบประสบการณ์ Living Museum ให้กับผม


สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม 

รับเข้าชมเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ติดต่อ นาวาโทหญิง รศนา สมพงษ์ (พี่แต้ว) โทร. 08 6301 7736

ขอความกรุณาติดต่อล่วงหน้าก่อน อย่างน้อย 5 วันทำงาน

ขอขอบพระคุณ

  • พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
  • พลเรือโทธานี แก้วเก้า เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ 
  • พลเรือตรีสกล สิริปทุมรัตน์ ผู้อำนวยการอู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ
  • พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ
  • นาวาโทหญิง รศนา สมพงษ์ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ฯ 
  • นาวาตรีสุทิน ชื่นชม สังกัดโรงงานหล่อหลอมและไม้แบบ
  • เรือเอกจรัญ แจ่มปัญญา หัวหน้าช่าง สังกัดโรงงานยาง
  • คุณสุชาติ อ่ำสำอางค์ ช่างระดับสาม คุณมนัส เลี้ยงรักษา และคุณเพทาย เหมปั้น ลูกจ้างประจำ สังกัดโรงงานเชือกรอกและการอู่
  • คุณวันชัย สร้างเขต ช่างกลโรงงานชั้นสอง สังกัดโรงงานเครื่องกล 
  • คุณสุรศักดิ์ เทียนมงคล เจ้าหน้าที่ช่างต่อเรือไม้และครุภัณฑ์เรือ และพี่ๆ ช่างในชุดหมีทุกท่าน
  • คุณวทัญญู เทพหัตถี

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือ 100 ปีกรมอู่ทหารเรือ (อรุณการพิมพ์ พ.ศ. 2533)
  2. หนังสือ อู่เรือหลวง 123 ปี เรื่องดี ๆ ที่ฝั่งธน (สำนักพิมพ์พยัญชนะ พ.ศ. 2556)
  3. หนังสือ ไตรภูมิโลกวินิจฉัย จำลองจากฉบับหลวง อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ร.ศ. 131)
  4. ประวัติการทหารเรือไทย โดยพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ (โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ พ.ศ. 2519)
    เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย คุณวทัญญู เทพหัตถี

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan