เสียงหวูดรถไฟดังสะท้อนไปมาทั่วบริเวณ เสียงปี่ ฆ้อง และกลองดังขานขึ้นประสานกันอึกทึกกึกก้อง กลีบกุหลาบสารพัดสีถูกโปรยขึ้นจากสองข้างของทางเดิน ซึ่งเชื่อมต่อจากลานปูนขนาดกว้างเข้าสู่ชานชาลา ‘สถานีรถไฟฉัตรปตี ศิวาจี มหาราช’ (Chhatrapati Shivaji Maharaj Terminus) แห่งมหานครมุมไบ ประเทศอินเดีย ผู้โดยสารของรถไฟท่องเที่ยวขบวนพิเศษบริษัท The Deccan Odyssey | Luxury Train Travel ค่อยๆ ก้าวขึ้นสู่ชานชาลา เสียงเครื่องดนตรีสารพัดชนิดพร้อมใจกันประโคมขึ้นอีกครั้ง บอกให้รู้ว่าการเดินทางครั้งพิเศษของเรากำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

การเดินทางมายังประเทศอินเดียครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางมาในฐานะนักท่องเที่ยว แต่เดินทางมาในฐานะวิทยากรให้กับบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง การเดินทางของเราประกอบด้วยหมู่คณะจากประเทศไทยทั้งสิ้น 24 ท่าน รวมตัวผมด้วย ในจำนวนทั้งหมดนี้มีสมาชิกร่วมเดินทางหรือ ‘ลูกทัวร์’ จำนวน 22 ท่าน และพี่มัคคุเทศก์อีกท่านหนึ่งชื่อ พี่ตุ้ย 

เราสองคนตกลงแบ่งหน้าที่กัน พี่ตุ้ยรับหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ในภาพรวมทั้งหมดของทริปนี้ 

ส่วนผมเป็นผู้จัดการโปรแกรมและเป็นผู้บรรยายหลักในแต่ละวัน

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน
หน้าสถานีรถไฟ Chhatrapati Shivaji Maharaj Terminus, Mumbai

เส้นทางท่องเที่ยวของ The Deccan Odyssey มีหลายเส้นทาง สำหรับเส้นทางที่เราจะเดินทางกันในครั้งนี้ชื่อว่าเส้นทาง Indian Sojourn เราจะใช้ชีวิตอยู่บนรถไฟถึง 7 คืน 8 วัน ด้วยกัน รถไฟจะออกจากมหานครมุมไบ แล่นพาเราไปยังเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองวาโดดารา (Vadodara) ในรัฐคุชราต (Gujrat) เมืองอุทัยปุระ (Udaipur) เมืองโยธปุระ (Jodhpur) ไสว มัดโฮปุระ (Sawai Madhopur) และชัยปุระ (Jaipur) ในรัฐราชสถาน (Rajasthan) และอีกหนึ่งเมืองคือ เมืองอัครา (Agra) ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) และมีปลายทางอยู่ที่กรุงเดลี (Delhi)

เรานอนบนรถไฟกันทุกคืน ในแต่ละคืนรถไฟจะพาเราวิ่งจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่ง เมื่อถึงเมืองใดในช่วงเช้าของแต่ละวัน เราก็จะเที่ยวชมเมืองนั้นกันทั้งวัน ก่อนจะกลับขึ้นรถไฟอีกครั้งในช่วงค่ำเพื่อออกเดินทางต่อ เป็นเช่นนี้สลับกันไปทุกวัน อย่างไรก็ตามทาง The Cloud อนุญาตให้ผมเขียนต้นฉบับได้เพียง 8 หน้ากระดาษเท่านั้น 

เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ผมจะพาทุกท่านไปพบกับเมืองต่างๆ ในรัฐราชสถานบนเส้นทางนี้ก่อนโดยเฉพาะ 

ส่วนเมืองอื่นในรัฐอื่นๆ ไว้มีโอกาสคงจะได้กลับมาเล่าให้ฟังในรอบหน้านะครับ

เปิดหวูด

ผมรับหน้าที่เป็นวิทยากรให้กับหมู่คณะต่างๆ มาแล้วหลายครั้งด้วยกัน แต่ประเทศที่ผมตื่นเต้นที่สุดเห็นจะเป็นประเทศอินเดีย เพราะอินเดียเป็นแผ่นดินที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหลือเชื่อและไม่คาดฝัน การวางแผนทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว ก็ยังอาจเกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้นระหว่างทาง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการเป็นวิทยากรบนรถไฟสายนี้ของผม เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่บนรถไฟส่วนมาก ตั้งแต่ระดับผู้จัดการจนถึงพนักงานในภาคส่วนต่างๆ ล้วนคุ้นเคยกับผมดี ผมเบาใจไปได้ชั้นหนึ่ง ถ้าผมต้องการความช่วยเหลืออะไรขึ้นมา ‘เพื่อนๆ’ ของผมเหล่านี้ย่อมช่วยผมได้ไม่ยาก

“โปรแกรมเหมือนเดิมแหละทีเค” ผู้จัดการแผนกลูกค้าสัมพันธ์ที่ชื่อ คุณอทิติ (Aditi) บอกกับผม 

คำว่า ทีเค นั้นผมถือวิสาสะย่อเองจากคำว่า ‘ต้นคูน’ ซึ่งเป็นชื่อเล่นของผม ผมตระหนักดีว่าการออกเสียงคำว่าต้นคูนสำหรับชาวต่างชาตินั้นเป็นความทรมานชนิดหนึ่งของคู่สนทนา “ฉันเชื่อว่าคุณรู้หมดทุกอย่าง” เป็นบทสรุปการ ‘บรีฟทริป’ ที่ง่ายมาก เอาล่ะอทิติ รู้หมดก็รู้หมด ถ้าผมเจอเซอร์ไพรส์อะไรที่ผมไม่รู้จะแก้ไขได้อย่างไร 

พวกคุณต้องมาช่วยผมก็แล้วกันนะ…

รถไฟวิ่งออกจากมหานครมุมไบเลียบกับชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของอินเดียมุ่งหน้าสู่รัฐคุชราต 

เราแวะเที่ยวกันที่เมืองวาโดดารากันอย่างเต็มอิ่มตลอดวัน ก่อนจะพากันขึ้นรถไฟอีกครั้งเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองแรกของรัฐราชสถานในการเดินทางครั้งนี้ นั่นคือเมืองอุทัยปุระ ออกเสียงแบบภาษาท้องถิ่นว่า อุดัยปูร์ 

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

Udaipur, The White Palace, and The Silver Lake

ชื่อรัฐราชสถานบ่งบอกความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าเป็น ‘อาณาเขตของพระราชา’ เพราะภายในรัฐราชสถานประกอบด้วยหัวเมืองขนาดใหญ่ เคยมีเจ้าผู้ปกครองเป็นราชวงศ์ผู้มั่งคั่งหลายเมืองด้วยกัน เจ้าเมืองเหล่านี้เรียกตนเองว่ากลุ่มเจ้าราชปุตหรือบุตรของพระราชา และประมาณราวพันกว่าปีมาแล้ว ทางตอนเหนือของอินเดียถูกรุกรานโดยชนเผ่าภายนอก ทำให้บรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ซึ่งป่าวประกาศว่าตนเองนั้นสืบเชื้อสายมาจากวรรณะกษัตริย์ถอยร่นลงมาตั้งมั่นอยู่บริเวณทางตะวันตกของประเทศอินเดีย เจ้าเมืองเหล่านี้ก็คือเจ้าผู้ครองนครที่ขานพระนามว่า ‘มหาราชา’ 

มหาราชาของแต่ละเมืองสถาปนาราชวงศ์ของตนเองขึ้นปกครอง จึงเป็นที่มาของเมืองน้อยใหญ่มากมายที่เต็มไปด้วยพระราชวังอันวิจิตรงดงามและป้อมปราการขนาดใหญ่ ภายหลังเมื่ออินเดียมีการจัดแบ่งเขตการปกครองเป็นระบบรัฐ หัวเมืองเหล่านี้จึงอาศัยอยู่รวมกันภายใต้ชื่อรัฐ ‘ราชสถาน’ แม้ว่าในปัจจุบันนี้มหาราชาซึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองจะไม่ได้มีอำนาจในการปกครองเมืองแล้ว แต่ก็ยังได้รับเกียรติในฐานะราชตระกูลอันเก่าแก่ และพระราชวงศ์ของมหาราชาในแต่ละเมืองก็ยังคงประทับอยู่ในเขตพระราชฐาน หรือ The City Palace ที่พวกเราเข้าไปเยี่ยมชมได้นั่นเอง

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน
พระลานหน้า City Palace of Udaipur
ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

เมืองอุดัยปูร์ต้อนรับเราด้วยอากาศเย็นสบาย ความรู้สึกของลมที่พัดผ่านผิวกายคาดว่าอุณหภูมิในวันนี้อยู่ที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียสเศษๆ อุดัยปูร์เป็นที่มั่นของราชวงศ์เมวาร์ เป็นราชวงศ์นักรบที่ยืนหยัดต่อสู้กับราชวงศ์โมกุล ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวมุสลิมที่ปกครองอยู่ทางอินเดียตอนเหนือ มีเรื่องเล่าว่ามหาราชาแห่งอุดัยปูร์เคยเอางวงช้างปลอมไปติดอยู่ที่หน้าม้าศึก เพื่อหลอกล่อช้างทรงของจักรพรรดิราชวงศ์โมกุลให้สับสนจนได้รับชัยชนะในสงคราม สงครามครั้งนั้นชื่อว่า Battle of Haldighati ใน ค.ศ. 1576 กล่าวได้ว่านอกจากมหาราชาแห่งอุดัยปูร์จะทรงกล้าหาญชาญชัยในการรบแล้ว ยังทรงรู้จักใช้กลยุทธ์อันเป็นเลิศ ความยิ่งใหญ่ของอุดัยปูร์จึงเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้จนถึงทุกวันนี้

เมื่อแรกสร้างเมืองอุดัยปูร์กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 นั้น มหาราชาได้ทรงสั่งให้ขุดดินขึ้นเป็นเนินสูงขนาดใหญ่สำหรับสร้างพระราชวัง เมื่อขุดดินเป็นบริเวณกว้างจึงทำให้บริเวณนั้นเกิดทะเลสาบขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า Pichola Lake นักท่องเที่ยวนิยมมาล่องเรือสัมผัสบรรยากาศยามบ่ายภายในทะเลสาบแห่งนี้ พระราชวังสีขาวที่สะท้อนกับผืนน้ำสีเงินนั้นเป็นภาพที่งามจับตา ถ้าใครมีโอกาสเดินทางมาถึงอุดัยปูร์แล้ว การล่องเรือในทะเลสาบเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

พระราชวังเมืองอุดัยปูร์นั้นมีแผนผังลดเลี้ยวเคี้ยวคดไปมาเพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบโมกุลผสมกับสกุลช่างของรัฐราชสถาน แต่ละห้องแต่ละส่วนที่เรียกว่า นิวาส (Niwas) ประดับประดาด้วยหินสีและอัญมณีอันมีค่า บริเวณหน้าซุ้มประตูทางเข้าประดับรูปดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ เนื่องจากราชวงศ์เมวาร์เชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากดวงอาทิตย์ 

พระราชวังแห่งนี้มีบันไดสูงชันและช่องแคบให้มุดผ่านมากมาย ผมเองก็ต้องทำหน้าที่ของผมอย่างตรงไปตรงมาด้วยการประกาศแจ้งสมาชิกแบบไม่กั๊กว่าทางเดินในพระราชวังจะวิบากอย่างไรบ้าง และเสนอทางเลือกให้ท่านที่ไม่สะดวกจะมุดก้มหรือปีนป่ายปราสาทให้พักรอด้านล่าง สรุปว่าเรามีสมาชิกที่สมัครใจนั่งจิบชาชมปราสาทจากด้านล่างประมาณห้าคนด้วยกัน ส่วนท่านที่ปีนพระราชวังตามผมขึ้นไปก็ได้ผจญภัยสมใจกันทุกคน

ผมในฐานะวิทยากรก็คงคิดไม่ต่างจากผู้ที่เป็นมัคคุเทศก์ อันที่จริงก็อยากให้สมาชิกทุกท่านได้สัมผัสกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพาท่านไปชมอย่างเต็มที่ แต่กระนั้นความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก และความสนุกสนานเพลิดเพลินก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย เพราะความเพลิดเพลินของคนหนึ่งอาจไม่ใช่ความเพลิดเพลินของอีกคนหนึ่งก็ได้

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

อทิติมากระซิบกับผมว่าในวันรุ่งขึ้นทางทีมงานจะจัด Waliking Tour เดินตลาดและนั่งสามล้ออินเดียในช่วงเช้าเป็นโปรแกรมพิเศษ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงเต็ม ผมฟังแล้วก็คุยกับอทิติว่าตลาดในประเทศอินเดียนั้นออกจะมหัศจรรย์สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยมากอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเคยมาอินเดียเป็นครั้งแรก ถ้าอย่างไรวันนี้ช่วงบ่ายเราจะลองแวะตลาดในเมืองอุดัยปูร์ให้สมาชิกทุกท่าน ‘ชิมลาง’ ประกอบการตัดสินใจว่าจะร่วมทริปในวันพรุ่งนี้ สักประมาณ 15 นาทีจะเป็นได้หรือไม่ เพื่อที่ว่าถ้าท่านใดรู้สึกว่าการเดินถนนในอินเดียนั้น ‘หนัก’ เกินไป ก็อาจจะเลือกพักผ่อนบนรถไฟตลอดช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นก็ได้ 

อทิติได้ฟังก็เห็นด้วยกับความคิดของผม เราจึงเลือกตลาดวุ่นวายแห่งหนึ่งในเมืองอุดัยปูร์ เพื่อให้สมาชิกได้สัมผัสกับวิถีชีวิตแบบอินเดีย ปรากฏว่าฝุ่นควัน วัว น้ำครำ และเสียงแตรรถที่แผดดังสั่นประสาทตลอดเวลาทำอันตรายหมู่คณะของเราไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า

พรุ่งนี้เราจะลงเดินตลาดกันต่อเนื่องตลอด 2 ชั่วโมงพร้อมกันทุกคน

“แต่วันนี้พี่ขอแวะร้านขายของที่มีแอร์เย็นๆ ก่อนขึ้นรถไฟหน่อยก็แล้วกันนะคะน้องต้นคูน พี่เหนื่อย”

เอ้า !!! แวะก็แวะครับพี่ ผมยินดีที่สุด เพราะผมเองก็อยากแวะเหมือนกัน!

Jodhpur, the Blue City

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

วันรุ่งขึ้นผมพาหมู่คณะที่ยืนยันกับผมเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเต็มใจและพร้อมใจจะไปลุยตลาดกลางเมืองออกผจญภัยกัน เราจัดโปรแกรมให้กับทุกท่านที่ยินยอมล่มหัวจมท้ายกับเราในเมืองจอดปูร์อย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถสามล้อเครื่องฉวัดเฉวียนไปตามตรอกซอกซอยที่ดูแล้วรถไม่น่าจะผ่านไปได้ จนถึงการเดินย่ำตามตรอกที่เต็มไปด้วยกองผักพะเนินเทินทึก และมีวัวเดินสวนเรามาเป็นระยะๆ ประกอบกับเสียงแตรที่ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ 

บรรยากาศเช่นนี้เป็นของที่ไม่มีใครคุ้นเคย แต่ (ผมก็เข้าใจเอาเอง) ว่าทุกท่านมีความสุขมาก เพราะสังเกตได้จากเสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่ทั้งหมู่คณะมีให้กันตลอดเส้นทาง ดูเหมือนจะไม่มีใครเหนื่อยเลย ได้เห็นอย่างนี้แล้วผมก็อดชื่นใจไม่ได้

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน
ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

แอนดรูว์ (Andrew) บุรุษพยาบาลประจำขบวนรถไฟที่ติดตามคณะของเราไปทุกหนทุกแห่งบอกกับผมว่าเป็นเรื่องดีมาก ที่เมื่อวานนี้ผมให้สมาชิกทุกท่านชิมลางเดินตลาดในอินเดียเสียก่อนเพื่อเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนมาเจอสนามจริง เพราะมีบางคณะที่ผู้ร่วมทริปไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่าต้องมาเจออะไรบ้าง พอเจอของจริงถึงกับเป็นลมล้มพับต้องปฐมพยาบาลกันยกใหญ่ แอนดรูว์ตบบ่าผมแล้วบอกว่าขอบใจมากที่ทำให้เขาว่างงาน ไม่ต้องปฐมพยาบาลใคร ผมฟังแล้วก็หัวเราะแล้วบอกว่าอีกวัน 2 วันอาจจะมีใครสักคนเป็นลมก็ได้ ถ้าสมาชิกของผมเป็นลม นั่นคือหน้าที่ของแอนดรูว์

ด้วยความจำเป็นโดยธรรมชาติที่เราจะต้องหาห้องน้ำเข้าในตอนท้ายของโปรแกรมครึ่งเช้า แต่ใครเคยไปอินเดียคงจะทราบว่าห้องน้ำในประเทศอินเดียนั้นคือการเสี่ยงโชคอย่างหนึ่ง ซึ่งผลมักจะออกมาในทางร้ายมากกว่าดี ผมบอกกับหมู่คณะตามตรงว่าเราไม่มีห้องน้ำดีๆ ให้ นอกจากจำเป็นต้องแวะร้านขายผ้าแห่งหนึ่งกลางเมือง 

นั่นหมายความว่าเราจะต้องฟังการขายผ้าขายพรมผืนแล้วผืนเล่าเพื่อแลกกับการเข้าห้องน้ำ ทุกท่านพอจะรับได้หรือไม่ ปรากฏว่าทุกท่านรับได้ ผมจึงพาทุกท่านไปที่ร้านขายผ้าและฝากให้พี่ตุ้ยช่วยดูแลสมาชิกมิให้เสียดุลการค้าระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น ส่วนตัวผมเรียกสามล้ออีกคันแยกไปกับอทิติเพื่อหาซื้อขนมหวานประจำเมืองจอดปูร์มาให้หมู่คณะลองชิม เมืองจอดปูร์เป็นบ้านเกิดของอทิติ เพราะฉะนั้นผมจึงได้ขนมอย่างที่ผมต้องการทุกรายการไม่มีพลาด เพราะเจ้าถิ่นแนะนำเองกับมือ

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

เมืองจอดปูร์แห่งรัฐราชสถานนี้จะว่าไปก็คล้ายกับจังหวัดเพชรบุรีบ้านเรา มีขนมหวานเลื่องชื่อหลายรายการเป็นของฝาก ผมไม่ลืมซื้อขนมแสนอร่อยกลับมาฝากพนักงานทุกคนบนรถไฟด้วย เพราะผมถือว่าเราควรมีน้ำใจต่อกัน ทุกอย่างไม่มีทางราบรื่นได้เลยถ้าผมไม่มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นทีมคุณภาพเช่นนี้ และขนมนี้เองทำให้ผมมีความลับที่ไม่เคยบอกใคร ทุกมื้ออาหารผมจะได้เนื้อชิ้นใหญ่กว่าใครเขาอยู่เรื่อย เนื่องจากทีมงานในห้องครัวก็เป็นพรรคพวกของผมด้วยขนมเหล่านี้ ท่านไหนทราบแล้วก็ช่วยเก็บไว้เป็นความลับอย่าได้แพร่งพรายไปนะครับ เดี๋ยวผมจะเดือดร้อน (อิอิ)

เมื่อซื้อขนมเสร็จและกลับไปที่ร้านขายผ้าผมก็ต้องแปลกใจ เพราะร้านขายผ้าเงียบสงัดเหมือนไม่มีผู้คน ผมเดินไปถามผู้จัดการร้านว่าคณะของผมหายไปไหน ผู้จัดการหัวเราะแล้วชี้ลงไปที่ห้องใต้ดิน ผมรีบตามลงไปทันที ภาพที่เห็นคือสมาชิกของผมเต็มใจเสียดุลการค้าระหว่างประเทศเกือบทั้งคณะ แถมยังเสียดุลกันอย่างเพลิดเพลิน กระทรวงพาณิชย์น่าจะโกรธคณะของผมอยู่มากในเรื่องนี้ เพราะถึงกับต้องเอารถอีกคันมาช่วยสมาชิกขนผ้ากลับรถไฟเลยทีเดียว

เรื่องช้อปปิ้งเราไม่ทำให้เสียชื่อคนไทยแน่นอน

ตะลุยเที่ยวรัฐราชสถานแห่งอินเดีย โหด มัน ฮา ในทริปรถไฟสุดหรู 7 คืน 8 วัน

เย็นวันนั้นเรามีมื้อค่ำพิเศษกันบน ป้อมปราการเมห์รานคฤห์ (Mehrangarh) เป็นที่มั่นของราชวงศ์มัลวาร์ของมหาราชาผู้ปกครองเมืองจอดปูร์ ป้อมนี้ตั้งอยู่บนภูเขา จึงมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองจอดปูร์ได้อย่างชัดเจน ในเมืองแห่งนี้บ้านแทบทุกหลังในเขตเมืองเก่าจะทาสีฟ้า เพราะเชื่อกันว่าช่วยป้องกันแมลงได้และทำให้บ้านเย็น 

ป้อมเมห์รานคฤห์ได้รับการพรรณนาถึงความวิจิตรบรรจงและความยิ่งใหญ่โดย Radyard Kipling นักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้แต่งเรื่องเมาคลีลูกหมาป่าว่า 

“…เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเหล่านางฟ้า ภูตพราย และยักษ์…” 

สะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ทุกมิติของป้อมแห่งนี้เป็นอย่างดี

ชีวิตบนรถไฟ

ผมเล่าเรื่องโปรแกรมและบรรยากาศการเดินทางติดกันมา 2 เมืองแล้ว เห็นทีต้องพาทุกท่านเที่ยวชมบนรถไฟที่พวกเราใช้ชีวิตกันถึง 7 คืน 8 วัน นั้นเป็นอย่างไรบ้าง อันที่จริงรถไฟขบวนท่องเที่ยวก็มีลักษณะคล้ายกับเรือสำราญ เพียงแต่สิ่งอำนวยความสะดวกจำกัดกว่า มีห้องอาหาร ห้องสมุด ห้องพักผ่อน ร้านทำผม สปา ฟิตเนส ร้านขายของที่ระลึก และบาร์ เรียกได้ว่าเราใช้ชีวิตบนรถไฟนี้อย่างสะดวกสบาย เป็นประสบการณ์โดยสารรถไฟที่พิเศษมากทีเดียว

ห้องสมุด

ด้วยความที่โปรแกรมของเราไม่แน่นมาก จึงมีเวลาใช้บริการสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ พื้นที่ที่ผมใช้งานแต่เพียงผู้เดียวเป็นประจำคือฟิตเนส อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่ผมคนเดียวที่มาใช้บริการ เพราะแอนดรูว์เองก็ชอบมาเล่นฟิตเนสเหมือนกัน แต่มักเป็นช่วงเวลาดึกหน่อยหลังจากที่คณะของเราแยกย้ายกันไปพักผ่อนแล้ว แอนดรูว์ชอบท้าผมงัดข้อ ผมก็ยังไม่รับคำท้าของเขาจนบัดนี้ เพราะตระหนักดีว่ายากจะสู้ไหว และผมชอบไปนั่งอ่านหนังสือที่บาร์ 

บาร์แห่งนี้บาร์เทนเดอร์ชื่อ ศุภาม (Shubham) คุ้นเคยกับผมดี ศุภามรู้ว่าผมไม่เคยเรียกร้องอะไรมากไปกว่าโซดาเย็นๆ หนึ่งขวดและเลมอนผ่าซีก ผมกับศุภามคุยกันบ่อย ผมมักจะคุยเรื่องบ้านเกิดของศุภามในรัฐอุตตรขัณฑ์ (Uttarakhand) ซึ่งผมไม่เคยไป

ผู้เขียน-ศุภาม มุมประจำในบาร์บนรถไฟ

ที่ประจำอีกที่หนึ่งของผมคือห้องอาหาร พี่ตุ้ยซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ตัวจริงจะรับหน้าที่ประสานงานกับพ่อครัวและผู้จัดการห้องอาหารว่าจะทำเมนูเสริมอะไรบ้าง พี่ตุ้ยจะใช้กลเม็ดเด็ดพรายออดอ้อนให้พ่อครัวสับผักชีให้บ้าง เตรียมพริกเตรียมหอม ตลอดจนคั้นน้ำมะนาวสำหรับทำสารพัดเมนูยำบ้าง ตลอดจนสั่งให้พ่อครัวต้มข้าวต้มเอาไว้ทุกเช้า ส่วนผมก็จะต้องรับบรีฟเมนูอาหารเป็นประจำทุกวัน ซึ่งตัวเลือกอาหารในแต่ละมื้อจะมีอาหารจานหลักให้เลือก 4 รายการ

มีเมนูแบบตะวันตก 2 รายการ และเมนูท้องถิ่น อาหารถาดแบบอินเดีย (Thali) อีก 2 รายการ เมนูแบบตะวันตกไม่ได้ยากอะไรมากนักเพราะเป็นเมนูที่ผมคุ้นเคยดีอยู่แล้ว แต่เมนูชุดอาหารแบบอินเดียนั้นจะเสิร์ฟเมนูอาหารท้องถิ่นประจำเมืองที่เราเดินทางไปถึงสลับกันไปทุกวัน ผมจึงต้องทำการบ้านกับเมนูอาหารอินเดียทุกมื้อว่ามื้อนี้จะเสิร์ฟอะไร อาหารแต่ละอย่างประกอบด้วยส่วนผสมอะไรบ้าง เพื่อจะบรรยายรายละเอียดให้สมาชิกฟังถึงมื้ออาหาร 

ด้วยหน้าที่เช่นนี้ทำให้ผมคุ้นเคยกับทีมงานของห้องอาหารด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่ คุณราเชศ (Rajesh) ผู้จัดการห้องอาหาร พนักงานเสิร์ฟอย่างอังกูร (Ankur) และ ศากุน (Shakun) ผมจะต้องไหว้วานทั้งสองคนนี้เป็นประจำ ขอความช่วยเหลือกันไปมาจนกระทั่งสนิทสนมกันไปโดยปริยาย

ที่สุดท้ายแต่สำคัญที่สุดบนรถไฟคือห้องนอนขนาด 9 ตารางเมตร ที่นอนได้สองคนและมีห้องน้ำในตัว รถไฟหนึ่งขบวนจะมีห้องนอนทั้งสิ้น 4 ห้อง มีผู้ดูแลหรือบัตเลอร์ประจำขบวน ถ้าผู้เข้าพักในแต่ละขบวนต้องการความช่วยเหลืออะไรก็เรียกบัตเลอร์ได้ตลอดเวลา นั่นหมายถึงบัตเลอร์หนึ่งคนจะมีหน้าที่ดูแลผู้โดยสาร 8 คน 

เนื่องจากรถไฟเที่ยวนี้มีผู้โดยสารไม่เต็ม และห้องนอนของผมเป็นห้องนอนที่หลุดไปเป็นเศษเพียงห้องเดียวของขบวนสุดท้ายบนรถไฟ ผมจึงเป็นผู้โดยสารเพียงคนเดียวบนรถไฟนี้ที่มีบัตเลอร์ส่วนตัวที่ดูแลผมเพียงคนเดียวไม่ต้องดูแลคนอื่น และบัตเลอร์ของผมว่างมากเพราะผมไม่เคยเรียกร้องอะไรมากไปกว่ากาแฟดำหนึ่งแก้วทุกเช้า 

นี่คือความลับอีกข้อหนึ่งที่ผมยังไม่เคยบอกใครเช่นกันครับ

The Ranthambore National Park of Sawai Madhopur

วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ผมมีหน้าที่น้อยที่สุดตลอดทั้งโปรแกรม เพราะวันนี้เราจะเที่ยวกันแบบทัวร์ซาฟารีใน อุทยานแห่งชาติรันธัมบอร์ (Ranthambore National Park) เมืองสะวายมัดโฮปูร์ (Sawai Madhopur) ซึ่งมีเนื้อที่ 13,499 km2 เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือโคร่งลายพาดกลอนตัวเป็นๆ 

วันนี้เราจะใช้เวลาอยู่กับสิงสาราสัตว์ทั้งวัน หน้าที่การบรรยายประวัติศาสตร์ของผมจึงเป็นอันพักไปชั่วคราว เพราะในผืนป่าไม่มีประวัติศาสตร์อะไรมากนัก ตอนเช้าเราไปเดินเล่นที่หมู่บ้านรามสิงห์ (Ramsingh Village) ตั้งอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติ เป็นหมู่บ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปสัมผัสวิถีชาวบ้านในชนบทของอินเดีย ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีฝีมือด้านศิลปะมากอยู่ เพราะวาดภาพทิวทัศน์ที่งดงามและเสือโคร่งตัวโตเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวได้

ตอนบ่ายเราเปลี่ยนพาหนะจากสองเท้าของเราเป็นรถขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Canter เป็นรถท่องซาฟารียกสูงที่จุคนได้เกือบ 30 คน ผมมีความทรงจำที่ไม่มีวันลืมกับรถ Canter ในอุทยานแห่งชาตินี้เมื่อปีก่อน เพราะรถเจ้ากรรมนี้พาผมและสมาชิกอีกเกือบ 30 คน ติดหล่มโคลนตั้งแต่ต้นทาง ต้องลากจูงเร่งเครื่องอะไรกันยกใหญ่จนเสียงดังอึกทึก ส่งผลให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่หนีหายไปหมด วันนั้นทั้งวันจึงไม่พบสัตว์ชนิดใดเลยนอกจากนก 

ปีนี้ผมภาวนาอย่าให้เราเจอเหตุการณ์เช่นที่ว่านี้อีก แอนดรูว์และอทิติบอกกับผมว่าถ้ารอบนี้รถติดหล่มโคลนอีก ผมอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้มาร่วมทริปนี้ด้วยอีกแล้ว เพราะไม่มีใครเคยเจอเหตุการณ์รถติดหล่มโคลนเลยจนกระทั่งผมมาเยือน (อ้าว!) พอพูดจบคนทั้งคู่ก็หัวเราะ

เคราะห์ดีที่รอบนี้รถของเราวิ่งได้โดยสะดวกจนกระทั่งทะลุเข้าไปถึงกลางอุทยานแห่งชาติ พอดีกับที่เจ้าหน้าที่เห็นรอยเท้าของเสือโคร่งอยู่ที่ชายป่าด้านหนึ่ง เราจึงค่อยๆ ลดความเร็วของรถเพื่อให้แล่นไปอย่างเงียบที่สุด พอรถเคลื่อนไปอีกสักระยะ เราได้กลิ่นซากกวางผู้เคราะห์ร้ายโชยเข้ามาปะจมูก เป็นสัญญาณจากธรรมชาติที่บ่งบอกให้รู้ว่าเข้าใกล้เขตของเสือโคร่งมากเต็มทีแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานบอกกับเราว่าเสือโคร่งจะไม่กินของเหลือของกันและกัน ซากกวางที่ปรากฏอยู่ในวันนี้อาจจะถูกล่ามาตั้งแต่วันหรือสองวันก่อน และเสือโคร่งจะย้อนกลับมากินซากกวางที่ตนเองหาได้ 

เรารอคอยนาทีที่เสือโคร่งปรากฏตัวขึ้นอย่างใจเย็น และแล้วก็สมหวัง เพราะเสือโคร่งปรากฏตัวตรงหน้าถึง 2 ตัว ตัวหนึ่งเดินตรงเข้ามายังซากกวางที่เคยล่าไว้ ส่วนอีกตัวหนึ่งกำลังหมอบคอยอย่างใจเย็นในพงหญ้า สายตาจ้องเล็งไปยังกวางคู่หนึ่งซึ่งกำลังเล็มหญ้าอยู่ไม่ไกล พี่ท่านหนึ่งที่เป็นสมาชิกของเรากระซิบว่า เสือตัวนี้คงจะกดสั่ง Food Delivery เจ้าดังให้มาส่งที่หน้าบ้าน พอพูดจบก็หัวเราะคิกคัก 

เราตั้งใจปล่อยให้ห่วงโซ่อาหารดำเนินไปตามครรลองของระบบนิเวศ ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่งลุ้นเต็มที่ให้การล่าเกิดขึ้น แต่แล้วคุณป้าอีกท่านหนึ่งก็พนมมือขึ้นพร้อมกับสวดมนต์แผ่เมตตาขอให้สัตว์โลกทั้งหลายอย่าได้จองเวรซึ่งกันและกันเป็นการใหญ่ และอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยคงจะมีมาก กวาง 2 ตัวนั้นไหวตัวทันและกระโจนหนีหายเข้าไปในป่า พร้อมกับคุณป้าที่ยกมือขึ้นสาธุ

ในเมื่อธรรมชาติดำเนินไปเช่นนี้ พวกเราก็พร้อมใจกันสาธุด้วยคนครับ

Jaipur, the Pink City

เช้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในรัฐราชสถาน เป็นวันสำหรับเมืองชัยปุระ หรือออกเสียงแบบท้องถิ่นว่า จัยปูร์ (Jaipur) ผมลงมาที่ห้องอาหารตั้งแต่เช้า นั่งคุยกับราเชศ อังกูร ศากุน และศุภามไปพลาง พร้อมอ่านรายละเอียดการเดินทางของวันนี้ไปพลาง สักพักหนึ่งอทิติก็เดินมาทักทายผมพร้อมกับกระซิบกระซาบอะไรบางอย่าง

“ทีเค ฉันมีข่าวจะบอก เมื่อวานนี้ที่จัยปูร์เราเจอนักท่องเที่ยวชาวจีนติดไวรัสสายพันธุ์ใหม่อะไรสักอย่าง เป็นผู้ติดเชื้อรายแรกในอินเดีย แต่ฉันว่าไม่น่ามีอะไรมากหรอก ฉันแค่มาบอกคุณเฉยๆ มันเป็นแค่ไวรัส 

“ฉันคิดว่าไวรัสที่ว่านี้อาจจะอยู่ในอินเดียไม่ได้ก็ได้ ไม่ต้องกังวล” พอพูดจบอทิติก็โยกคอไปมา

มันเป็นแค่ไวรัส… ในวันนั้นอทิติก็เชื่ออย่างที่คนส่วนมากในโลกนี้เชื่อนั่นแหละครับ 

แต่พูดผิดพูดใหม่ได้นะอทิติ ไม่มีใครโกรธคุณเลย (ร้องไห้)

จัยปูร์เป็นเมืองสีชมพู เนื่องจากเมื่อ ค.ศ.1876 มหาราชารามสิงห์ได้มีพระบัญชาให้ทาสีบ้านเรือนทั้งเมืองให้เป็นสีชมพู เพื่อเป็นเกียรติแก่มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษที่เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองนี้ สีชมพูเป็นสีโปรดของพระองค์ จึงทำให้บริเวณเมืองเก่าของจัยปูร์ทั้งหมดกลายเป็นสีชมพูอมส้มไปหมดทั้งเมือง เช้านี้คณะของเราเริ่มต้นเดินทางกันที่ City Palace ซึ่งยังคงเป็นที่ประทับของพระราชวงศ์มาจนถึงปัจจุบัน มหาราชาองค์ปัจจุบันคือ มหาราชาสะวายปัทมนาภสิงห์ (Maharaja Padmanabh Singh) พระชนม์เพิ่งจะ 20 พรรษาเศษๆ เท่านั้นและยังมิได้ทรงอภิเษกสมรส 

ได้ฟังเท่านี้สมาชิกหลายท่านก็ตื่นเต้นเป็นการใหญ่

ส่วนที่น่าสนใจของ City Palace มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ The Blue Room อยู่ส่วนบนของพระราชวัง เป็นส่วนที่เราจะต้องซื้อบัตรเข้าชมพิเศษแยกเข้าไปในราคาสูงพอสมควร ส่วนที่สองคือ พระราชวังสายลม หรือ Hawa Mahal เป็นสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นที่สุดของพระราชวังนี้ที่ปรากฏอยู่ในโปสเตอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวแทบทุกชิ้นของเมืองจัยปูร์ กำแพงสูง 5 ชั้นที่มีช่องหน้าต่างเล็กๆ เจาะอยู่ริมรั้วเขตพระราชฐานนั้นมีไว้สำหรับนางสนมกำนัลของมหาราชาในอดีตได้ออกมานั่งชมความเป็นไปของเมือง โดยที่บุคคลภายนอกมองลอดหน้าต่างเข้าไปเห็นความงามของนางกำนัลเหล่านี้ไม่ได้ 

และส่วนที่สามคือ หอดูดาว Jantar Mantar สร้างขึ้นโดย มหาราชาสะวายจัยสิงห์ที่ 2 (Maharaja Sawai Jai Singh II) ที่สนพระทัยด้านดาราศาสตร์มาก จึงทรงรับสั่งให้สร้างหอดูดาวแห่งนี้ขึ้นมาเครื่องมือทางดาราศาสตร์ทั้ง 19 ชิ้นบนพื้นที่นี้สร้างขึ้นด้วยหินและมีขนาดใหญ่โตมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเอาไว้ใช้สำหรับการคำนวณฤกษ์ยามสำหรับออกศึกหรือการประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ของเมือง

พระราชวังสายลม หรือ Hawa Mahal
หอดูดาว Jantar Mantar

ในตอนบ่ายเราเดินทางออกไปนอกเมืองจัยปูร์เพื่อเที่ยวชม ป้อมปราการแอเมอร์ (Amer Fort) มักจะเรียกกันคลาดเคลื่อนจนคุ้นชินว่า Amber Fort ป้อมปราการแห่งนี้เป็นป้อมสูงตระหง่านอยู่บนสันเขา ประดับประดาด้วยจิตรกรรมอันละเอียดลอออย่างมโหฬาร ส่วนที่น่าสนใจที่สุดเริ่มต้นตั้งแต่ลานประชุมพลบริเวณด้านหน้า (Jaleb Chowk) และที่ประทับสำหรับว่าราชการ (Diwan – i – Am) สีที่นำมาทาตกแต่งนั้นเป็นสีจากพืชพรรณธรรมชาติทั้งหมด

ยิ่งเมืองรายล้อมไปด้วยอัญมณีและหินสีที่มีค่าก็ยิ่งขับเน้นความงดงามของป้อมปราการแห่งนี้ให้งดงามขึ้นไปอีก ภายในเขตพระราชฐานของป้อมปราการแห่งนี้แบ่งออกเป็นหลายชั้น มีส่วนที่ประทับในฤดูร้อนและในฤดูหนาวที่มีการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมต่างกัน ส่วนที่ประทับในฤดูร้อนมีทางน้ำไหลผ่านเป็นช่องให้ลมพัดผ่านได้ ช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนจัดของดินแดนราชสถานได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ประทับในฤดูหนาวก็เป็นห้องประทับที่มิดชิดแต่ก็ไม่อึดอัด ช่วยให้ผ่อนคลายและอบอุ่นสบายในช่วงที่ความหนาวเหน็บปกคลุมดินแดนแห่งนี้

The Summer residence of Amer Fort

ที่ Amer Fort นอกจากจะคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวแล้วก็ยังคลาคล่ำไปด้วยคนเร่ขายของเช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไปในประเทศอินเดีย แต่ที่ Amer Fort นี้ผมเห็นว่าคนขายของออกจะต้องอุตสาหะมากกว่าที่อื่นๆ เพราะการจะเดินตามเพื่อ ‘ตื๊อ’ ให้เราซื้อของนั้น เขาจะต้องเดินขึ้นเดินลงภูเขากันวันละหลายสิบรอบเลยทีเดียว

ใจผมเองซึ่งเป็นคนที่ต้องดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของทั้งหมู่คณะก็ยอมรับว่ากังวลไม่น้อย เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ขณะเดียวกันก็เห็นใจว่าคนขายของทั้งหมดเขาก็ต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเช่นเดียวกับเราทุกคน ผมจึงขอร้องแกมดุเล็กน้อยว่าถ้านักท่องเที่ยวท่านใดปฏิเสธไม่ซื้อของแล้ว พวกคุณก็อย่าเสียเวลาเดินตามอีกเลย เพราะมาเดินล้อมหน้าล้อมหลังกันเป็นสิบยี่สิบคนเช่นนี้ไม่ดีแน่ 

บางคนที่เห็นว่าขายของไม่สำเร็จแน่แล้วก็ถอยกลับไป จนเหลือคนขายของคนสุดท้ายที่พยายามตามวิงวอนให้สมาชิกของผมท่านหนึ่งซื้อปากกาสี โดยลดราคาตั้งแต่ 800 รูปี (ประมาณ 400 บาท) จนเหลือ 100 รูปี (ประมาณ 50 บาท) เท่านั้น ผลสุดท้าย คนขายของผู้นี้เป็นคนเดียวที่ปิดการขายสำเร็จ หลังจากได้รับเงินเรียบร้อย เขาจึงหันมาพูดกับผมซึ่งพยายามจะหยุดลูกตื๊อของทุกคนว่า

“เป็นไงล่ะ ผมชนะ” แล้วเขาก็ยักคิ้วให้ผม เป็นอันว่าผมก็ต้องยอมแพ้ไปโดยปริยาย

จนกว่าจะพบกันใหม่

ผู้เขียน-อทิติ-พี่ตุ้ย

รถไฟของเราเดินทางมาถึงกรุงเดลี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของรถไฟขบวนนี้แต่เช้า

แอนดรูว์เดินมาบอกกับผมว่าเขาตั้งหน้าตั้งตารอที่จะให้ผมพากลุ่มคนไทยมาเดินทางบนรถไฟสายนี้ด้วยกันอีก เพราะคนไทยเป็นนักท่องเที่ยวเพียงกลุ่มเดียวที่เชิญเขาเข้าไปถ่ายรูปหมู่ด้วย โดยไม่ตั้งแง่กีดกันว่าเขาเป็นเพียงพนักงานประจำรถไฟ เช่นเดียวกับอทิติที่สัญญากับผมเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าปีหน้าจะต้องมาล้มลุกคลุกคลานด้วยกันอีก

ตอนที่เราลงจากรถไฟ พนักงานทุกคนรวมตัวกันมาส่งเรา ผมโบกมือลาเพื่อนร่วมงานที่ร่วมงานกันมาตลอด 7 คืน ทุกคนรู้ว่าผมมีกำหนดการให้เดินทางไปอินเดียเป็นระยะ ทั้งเรื่องงานและการเดินทางส่วนตัว เพราะฉะนั้น เราทุกคนจึงรู้สึกว่า เมื่อไหร่ที่ผมมาเดลี เราค่อยนัดไปกินข้าวก็ได้ เราจึงน่าจะได้พบกันอีกเร็วๆ นี้

แอนดรูว์-ผู้เขียน

แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราหวัง เพราะเชื้อโรคตัวร้ายได้หมุนโลกใบนี้ให้ล้มคว่ำคะมำหงายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อโลกหยุดหมุน พวกเราทุกคนแตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทาง บางคนย้ายงานขึ้นไปประจำการที่รีสอร์ตบนเทือกเขาหิมาลัยเป็นการถาวร บางคนกลับไปพักกายพักใจอยู่ที่บ้านเกิดซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่ต้องเดินทางนับวันนับคืนกว่าจะไปถึง บางคนก็ยังรอคอยวันที่รถไฟสายเดิมจะได้กลับมาเปิดหวูดอย่างเต็มที่อีกครั้ง

โชคดีที่โลกออนไลน์ทำให้เราติดต่อกันได้บ้าง หลายคนบอกกับผมว่าบ้านเมืองของพวกเขายินดีต้อนรับผมเสมอ ผมก็ตอบกลับไปทุกครั้งที่ได้คุยกันว่าผมก็รอวันที่ทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติเช่นเดียวกัน

ผมหวังให้ทุกๆ คนสบายดี จนกว่าจะถึงวันที่เราได้พบกันอีก

แหล่งอ้างอิงประเภทเอกสาร

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ และ พาฝัน ศุภวานิช (บรรณาธิการ). Incredible India: Rajasthan, Delhi & Agra. กรุงเทพฯ: วงกลม.

เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระ. (2558). 

ประพาสราชสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง.

Abigail Blasi, Lindsay Brown and Michael Benanav. (2017). Rajasthan, Delhi & Agra. 5th Edition. 

China: Lonely Planet Global.

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก