ผมจำได้ว่าเคยเห็นโปสเตอร์รูปชาวอินเดียน (หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า อินเดียนแดง) รูปหนึ่งที่ไหนสักแห่งในเมืองเชียงใหม่

ภาพผู้เฒ่าหน้าตาเคร่งขรึม มีขนนกประดับบนหัว ดวงตาคู่นั้นซ่อนเรื่องราวไว้มากมาย ผมใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งผมอยากพบกับชาวอินเดียนสักครั้ง

เวลาผ่านไป ความฝันนั้นถูกพับเก็บไว้จนเกือบถูกลืม ด้วยความคิดที่ว่าต้นทุนอันน้อยนิดที่มีจะทำให้ความฝันเป็นจริงได้อย่างไร

แต่แล้ววันหนึ่งความฝันและโอกาสได้มาบรรจบพบกัน สองเท้าของผมที่เคยท่องไปในภูเขาของแผ่นดินขวานทอง จึงได้สัมผัสกับแผ่นดินของอินเดียน แผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาลที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนที่สงบ พวกเขาเคยอยู่อาศัยกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน มีวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยอิสรภาพและเรียบง่าย

การเดินทางไกลครั้งนี้ผมกลับไม่ได้รู้สึกว่าไกลบ้าน เพราะดวงตาของผู้เฒ่าที่ผมจากมา กับผู้เฒ่าอินเดียน มองเห็นอะไรคล้ายกัน

ขนนกที่ชี้ขึ้นฟ้า ไผ่ที่ปักลงดิน คำขอบคุณธรรมชาติของอินเดียนและปกาเกอะญอ

เพื่อนๆ และผมพักในเมืองมิสซูลา (Missoula) ในรัฐมอนแทนา (Montana) เมืองที่สงบมาก ไม่มีรถติดเป็นทางยาว จังหวะชีวิตไม่เร่งรีบนัก ในเมืองมีต้นไม้มากมาย บ้านเมืองสะอาด มีภูเขาแวดล้อม ทำให้นึกถึงเชียงใหม่นิดๆ

หนุ่ม ปกาเกอะญอ ผู้เดินทางไปร่วมพิธีขอบคุณแม่น้ำและฟังนิทานจากผู้เฒ่าอินเดียนแดง

ห่างออกไปราว 1 ชั่วโมงเป็นเมืองพาโบล (Pablo) เมืองเล็กๆ ในเขตสงวนของ Flathead Nation ซึ่งเป็นเขตสงวนของเผ่าเซลิชและกูเตไน เรากำลังจะได้เห็นการมาชุมนุมกันของพี่น้องอินเดียนในวันขอบคุณแม่น้ำที่จัดขึ้นทุกปี

ที่ลานกว้างริมแม่น้ำแฟลตเฮดที่ไหลอย่างช้าๆ ดูสงบ เกลียวคลื่นสีเขียวเหมือนหยกดูงดงาม อากาศกำลังสดใสเย็นสบาย ท้องฟ้าโปร่ง ต้นสนบนภูเขาเด่นตระหง่าน อีกฟากแม่น้ำมีทุ่งหญ้าสีเขียวกว้างสุดตา Tipi กระโจมอินเดียนสีขาวกางเรียงราย จัดเป็นฐานเรียนรู้เตรียมไว้สำหรับเด็กๆ และพวกเราทุกคน มีการสอนองค์ความรู้ทั้งเก่าและใหม่ในฐานต่างๆ เช่น การนำเปลือกต้นไม้มาใช้บรรจุของ การจับปลาด้วยวิธีต่างๆ การนำปอดของสัตว์มาเป็นถุงเก็บน้ำ การเรียนรู้การดับไฟ การรู้จักสัตว์และพืชชนิดต่างๆ อีกทั้งยังมีเกมให้เล่นด้วย เป็นห้องเรียนที่สนุกมากทีเดียว

หนุ่ม ปกาเกอะญอ ผู้เดินทางไปร่วมพิธีขอบคุณแม่น้ำและฟังนิทานจากผู้เฒ่าอินเดียนแดง

พิธีขอบคุณแม่น้ำกำลังจะเริ่ม มีการปล่อยนกอินทรีตัวหนึ่งคืนสู่ธรรมชาติหลังจากมันบาดเจ็บและถูกรักษาจนหายดี

คนหนุ่มและผู้เฒ่ายืนห้อมล้อมรอบกลองใบหนึ่ง เสียงตีกลองดังพร้อมเสียงร้อง “เว อา เว เฮ ฮา ยา” วนไปมานับครั้งไม่ถ้วน

เสียงร้องเคล้าเสียงกลองดังฟังดูราวฝูงนักรบบนหลังม้ากำลังเคลื่อนทัพไปข้างหน้า กระทั่งเสียงกลองค่อยๆ เบาเสียงและหยุดลง โทนี่ ผู้เฒ่าชาวเซลิช ชวนพวกเรายืนเป็นวงกลมก่อนกล่าวขึ้นว่า

“ขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ช่วยกันดูแลแม่น้ำให้สมาชิกชนเผ่าทุกคนในเขตสงวนของเรา พวกเราได้ช่วยกันดูแลรักษาในสิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ไว้เพื่อเด็กและคนรุ่นต่อไป สิ่งที่พวกเราช่วยกันทำจะกลับคืนมาหาเรา เมื่อลูกหลานเติบโตและเข้าใจว่าแม่น้ำสำคัญ พวกเขาจะดูแลมันเช่นเดียวกับที่เราทำไว้ แม้สิ่งที่เราทำอาจเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ผมก็ขอชื่นชมและขอบคุณพวกเราทุกคน”

ผู้เฒ่าอีกคนเดินเข้าไปในวงกลมพร้อมขนนกในมือ เขาชูขนนกขึ้นฟ้า แล้วหันไปกล่าวขอบคุณทิศทั้งสี่ด้วยท่าทีอ่อนน้อม

ผู้เฒ่าท่านนี้ชวนให้นึกถึงพิธีขอบคุณธรรมชาติในไร่นาของผู้เฒ่าปกาเกอะญอทั้งหลาย ที่ใช้ ‘ต่าหลื่อ’ ซึ่งทำจากต้นไผ่ ปักในไร่ในนา เพื่อใช้ส่งสารขอบคุณธรรมชาติในเดือนสิงหาคมของทุกปี ขนนกและต่าหลื่อมีเจตนาที่เหมือนกัน

ผู้เฒ่าอินเดียนกับผู้เฒ่าปกาเกอะญอเชื่อและรู้สึกเหมือนกันว่า ธรรมชาติมอบชีวิตให้เรา เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างแยกไม่ออก การขอบคุณและการดูแลธรรมชาติอยู่เสมอๆ คือการดูแลชีวิตของตัวเอง

นิทานของชาวอินเดียน

ชาวอินเดียนเป็นนักเล่านิทานตัวยง ในอดีต เมื่อฤดูหนาวมาถึง พวกเขาจะก่อกองไฟในกระโจม ผู้หญิงจะเย็บผ้าที่ได้จากหนังสัตว์ที่เก็บสะสมไว้ ส่วนผู้ชายก็จะทำเครื่องมือเตรียมไว้สำหรับล่าสัตว์และหาของป่า เด็กๆ จะช่วยทำงานที่ทำได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง ทุกวันนี้ยังมีการเล่านิทานให้เด็กฟัง แต่ใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า เพราะเด็กพูดภาษาของตัวเองได้น้อยมาก

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างคนอินเดียนกับคนปกาเกอะญอคือ ระหว่างการพูดคุยกันมักจะมีนิทานแทรกเข้ามาในบทสนทนาเสมอ

หนุ่มปกาเกอะญอผู้เดินทางไปร่วมพิธีขอบคุณแม่น้ำและฟังนิทานจากผู้เฒ่าอินเดียนแดง

ในวันที่เราไปเยี่ยมเวอร์นอน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์ชนเผ่าในเขตสงวนของ Flathead Nation เขาต้องไปร่วมประชุมเพื่อนำข้อเสนอของสหพันธ์ เสนอต่อสภากลางที่วอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่เวอร์นอนกำลังพูดอยู่ เขาได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้เราฟัง เรื่องมีอยู่ว่า

มีพี่น้องสามคน ทั้งหมดเป็นคนหาฟืนเพื่อนำไปแลกอาหาร อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาชวนกันไปหาฟืนในป่าเหมือนเช่นเคย ขณะที่พวกเขากำลังหาฟืนอยู่นั้น เขาไม่ได้สังเกตว่ามียักษ์ที่อาศัยในน้ำตนหนึ่งชื่อ ยามูนิค กำลังจ้องดูพวกเขาอยู่อย่างไม่ละสายตา ทันใดนั้นเอง เจ้ายักษ์ยามูนิคได้จับน้องสุดท้องแล้วกินเข้าไปทันที

พี่ทั้งสองรีบวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิตแล้วกลับไปบอกคนที่หมู่บ้าน พวกเขาช่วยกันคิดหาวิธีช่วยน้องสุดท้องกลับมา ใครบางคนในหมู่บ้านรู้มาว่ามียักษ์อีกตนหนึ่งชื่อ โมนุสกิน เป็นยักษ์ตัวใหญ่ที่ยืนไม่ได้ เพราะมันกลัวหัวของมันชนท้องฟ้า จึงต้องคลานตลอดเวลา ชาวบ้านจึงไปขอให้เจ้าโมนุสกินช่วยน้องสุดท้องที่ตอนนี้กำลังอยู่ในกระเพาะของเจ้ายักษ์ยามูนิค

“เมื่อยักษ์ทั้งสองเผชิญหน้ากัน การต่อสู้ได้เริ่มขึ้น ไม่นานนักยักษ์ยามูนิคก็เพลี่ยงพล้ำให้ยักษ์โมนุสกิน โมนุสกินไม่รีรอ รีบจัดการชำแหละร่างของยามูนิค โดยเอาหัวของยามูนิคโยนทิ้งไปทางตะวันตก เอาอัณฑะโยนไปทางตะวันออก โยนไส้พุงทิ้งไปทางทิศเหนือ และกระดูกไปทางทิศใต้ ส่วนที่เหลือเป็นเลือด โมนุสกินได้เอาฝ่ามือฉาบทาทั่วแผ่นดินตรงนั้น

เมื่อน้องสุดท้องถูกช่วยเหลือจนปลอดภัยดีแล้ว พี่ทั้งสองและชาวบ้านจึงขอบคุณโมนุสกินที่มีเมตตาต่อมนุษย์ตัวเล็กๆ เมื่อหมดหน้าที่แล้ว ยักษ์โมนุสกินจึงขอตัวกลับ ในระหว่างที่กำลังคลานกลับ มันเผลอยืนขึ้น ทันใดนั้นเอง หัวของโมนุสกินก็ชนกับฟ้าอย่างจัง ทำให้มันล้มลงและเสียชีวิตทันที

ชาวอินเดียนเชื่อว่าบริเวณที่ยักษ์โมนุสกินล้มลง ปัจจุบันคือ Grand Prismatic Spring บ่อน้ำพุร้อนที่มีชื่อเสียงในอุทยานแห่งชาติ Yellowstone และยังมีความเชื่อว่าน้ำพุร้อนที่ไหลออกมาคือสมองของยักษ์โมนุสกิน

เวอร์นอนเล่าว่า เลือดที่ฉาบทาแผ่นดินในนิทานนั้นไม่ได้ต่างไปจากประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียนเลย

หลังจากชาวยุโรปมุ่งหน้าสู่แผ่นดินของอินเดียนพร้อมม้า ปืน และโรค ทำให้อินเดียนต้องพ่ายแพ้อย่างเจ็บปวด พวกเขาสูญเสียอะไรมากมาย อย่างน้อยก็ภาษา

เผ่ากูเตไนในปัจจุบันมีประชากรราว 3,000 คน ในรัฐมอนแทนา รัฐดาโคตา และในแคนาดา มีประชากรเพียง 30 คนเท่านั้นที่สื่อสารภาษาของตัวเองได้เป็นอย่างดี ที่น่าใจหายคือ ใน 30 คนนั้น คนที่อายุน้อยที่สุดมีอายุ 78 ปี เข้าไปแล้ว

ทุกวันนี้ ทางสหพันธ์ชนเผ่ากำลังรื้อฟื้นภาษาของพวกเขา โดยทำโรงเรียนและสอนภูมิปัญญาให้แก่เด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติผ่านมุมมองของผู้เฒ่าที่เรียนง่ายไม่ซับซ้อน

หนุ่มปกาเกอะญอผู้เดินทางไปร่วมพิธีขอบคุณแม่น้ำและฟังนิทานจากผู้เฒ่าอินเดียนแดง

รอยเท้าอินเดียนที่เรากำลังย่ำไป

เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมอุทยานแห่งชาติ Yellowstone และอุทยานแห่งชาติ Glacier อุทยานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

ธรรมชาติที่ร่ำรวยด้วยต้นไม้พืชพรรณและเหล่าสัตว์มากมายขนาดนี้ ดูน่ายินดี ไม่มีอะไรขัดหูขัดตา ยกเว้นลูกควายป่าตัวหนึ่งที่ถูกแม่ทิ้ง เพราะมีคนเข้าใจว่ามันอาจจะหนาวตายจึงเข้าไปช่วย แต่สิ่งที่มนุษย์คนนั้นเข้าใจกลับทำให้ลูกควายโชคร้ายกว่าเดิม เพราะกลิ่นของมนุษย์ทำให้แม่ควายคิดว่ามันไม่ใช่ลูกของตน แม่ควายจึงเดินจากไป ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ของที่นี่ ผมจึงคิดถึงคำพูดของคุณลุงโทนี่ที่แกเคยบอกว่า

“ความไม่เข้าใจของคนทำให้เกิดความกลัวและความเกลียดชังได้ เหมือนที่ชาวตะวันตกยึดครองแผ่นดินของอินเดียนแดง เพราะความไม่เข้าใจของคนผิวขาวที่คิดว่าอินเดียนเป็นศัตรู คิดว่าเป็นพวกล้าหลัง จึงคิดจะเปลี่ยนแปลงพวกเขา ทำให้เกิดความทุกข์มากมาย เราต้องสอนให้ลูกหลานของเราเข้าใจผู้อื่น พวกเขาจะได้ไม่กลัว”

ที่มอนแทนา คนอินเดียนเข้าไปในอุทยานแห่งชาติได้ฟรี เพียงแค่แสดงบัตร ต่างกับคนอเมริกันที่ต้องจ่ายค่าบำรุง ซึ่งไม่มากนัก น้ำใจเล็กน้อยของรัฐบาลดูน่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง วิถีชีวิตของอินเดียนเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง จนมาถึงจุดที่พวกเขาปรับตัวกับโลกสมัยใหม่ได้แล้ว แม้ต้องแลกกับความสูญเสียที่ไม่อาจได้รับกลับคืน

หนุ่ม ปกาเกอะญอ ผู้เดินทางไปร่วมพิธีขอบคุณแม่น้ำและฟังนิทานจากผู้เฒ่าอินเดียนแดง

ลึกๆ ข้างในมีเสียงเรียกของอินเดียนที่พวกเขาไม่อาจเมินเฉยได้ ความเรียบง่ายของอินเดียนไม่ใช่ความล้าหลัง แต่เป็นความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ คนรุ่นใหม่มากมายที่ไปทำงานในเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิสและเมืองอื่นๆ ตัดสินใจกลับบ้านมาอยู่ในเขตสงวน พวกเขาเหนื่อยหน่ายกับชีวิตที่เร่งรีบ แข่งขันตลอดเวลา สำหรับใครหลายคน การถอยออกมาน่าจะเหมาะมากกว่า

มองย้อนกลับมาที่เมืองไทย เรารับเอาความรู้แบบตะวันตกจำนวนมากมาใช้จัดการทรัพยากรธรรมชาติ ถามว่าใช้ได้หรือเปล่า ถ้าดูจากสถิติการลดฮวบลงของพื้นที่ป่า หลายคนอาจส่ายหน้าตามๆ กัน การจัดการป่ายุคแรกๆ ในไทยก็เป็นไปเพื่อขายไม้ ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์อย่างรูปแบบของอุทยาน

คำถามก็คือ การอนุรักษ์แบบตะวันตกที่เราเอามาใช้ เหมาะกับบริบทของประเทศไทยมากแค่ไหน ในเมื่อมีชุมชนมากมายที่ตั้งอยู่ในเขตป่าที่พวกเขาอยู่มาอย่างยาวนานก่อน ‘ความถูกต้อง จะถูกประกาศใช้ ชุมชนดั้งเดิมต่างมีภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับป่า ต้นไม้บนภูเขาก็เป็นพยานได้ดีมาช้านาน

เราจะมีส่วนร่วม พูดคุยกันได้อย่างไร ในเมื่อป่าเป็นของทุกคน และทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน วิถีชีวิตอาจแตกต่างกัน ภาษาต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน ผมเชื่อเหลือเกินว่าแค่ความรู้ของคนในประเทศไทยก็เพียงพอแล้วในการดูแลแผ่นดินถิ่นเกิดของเรา

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ผมได้รู้ว่ายักษ์ใจดีไม่มีอยู่จริง ไม่มีคนผิวขาว ไม่มีอินเดียน ไม่มีปกาเกอะญอ ไม่มีคนอเมริกัน ไม่มีคนไทย

มีเพียงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกันเท่านั้น ที่เฝ้ารอการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

ใบไม้ต้องร่วงอีกกี่ใบ คนและป่าจึงจะอยู่ด้วยกันได้ ใบไม้ต้องร่วงอีกกี่ใบ เราถึงจะยอมรับวิถีที่หลากหลาย ใบไม้ต้องร่วงอีกกี่ใบ มนุษย์ถึงจะเท่าเทียมกัน

แด่ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง