ทำไมการส่ายหน้าของคนอินเดียถึงแปลว่าใช่ หรือเป็นเพียงเพราะคนอินเดียปฏิเสธคนไม่เป็น

ในช่วงของการสนทนา ถ้าคนอินเดียส่ายหน้า แปลว่า ใช่ 

คนอินเดียพยักหน้าก็แปลว่า ใช่ อีกเช่นกัน

แต่ถ้าคนอินเดียโยกหัวไปมา ก็อาจแปลความหมายได้ว่า ‘น่าจะ’

ไปนั่งคุยกับแขกพาหุรัดไขปริศนาการส่ายหน้าของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามตีความ, การส่ายหน้าของคนอินเดีย หมายถึง
ไปนั่งคุยกับแขกพาหุรัดไขปริศนาการส่ายหน้าของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามตีความ, การส่ายหน้าของคนอินเดีย หมายถึง

นี่มันอะไรกัน ทำไมคนอินเดียต้องใช้ท่าทางการส่ายหน้าและการโยกหัวเยอะขนาดนี้ และความหมายที่ซ่อนอยู่ในการส่ายหน้าและการโยกหัวเหล่านั้นของพวกเขา ก็เป็นความหมายที่สวนทางกับวัฒนธรรมการพยักหน้าเพื่อตอบรับหรือปฏิเสธของคนในชาติอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ทำไมการส่ายหน้าของคนอินเดียถึงแปลว่าใช่ มันเป็นแบบนั้นได้ยังไง

เอาอย่างนี้ดีกว่า ฉันขอลบทฤษฎีการตีความในท่าทางการพยักหน้าและการส่ายหัวของคนอินเดียที่คุณอาจเคยได้ยินมาทั้งหมด และใช้ประสบการณ์การเดินทางไปกลับอินเดียกว่า 30 ครั้งในรอบ 12 ปีของฉันพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วตอนนี้ฉันควรจะนั่งเขียนบทความนี้อยู่ที่ประเทศอินเดียตามแผนการเดินทางเดิม แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่ขณะนี้ ประเทศอินเดียมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไปถึงอันดับ 3 ของโลกแล้ว และดูไม่มีทีท่าว่าจะไต่ระดับลงมาง่ายๆ เสียด้วย ระหว่างนี้ ในเมื่อไปอินเดียไม่ได้ ฉันก็เที่ยวพาหุรัดไปพลางๆ ก่อนแล้วกันนะ

ว่าด้วยเรื่องของการพยักหน้าและการส่ายหัวของคนอินเดียที่ในภาษาอังกฤษนิยมใช้คำว่า Indian Head Shake บ้าง Indian Head Bobble บ้าง หรือไม่ก็ Indian Head Nod บ้าง กับจังหวะการพยักหน้าและการส่ายหัวของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามจะตีความหมายของท่าทางเหล่านั้นว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่ 

มีถึงขั้นตั้งสมมติฐานเท้าความกันไปถึงยุคอินเดียโบราณ ในสมัยนั้นเมืองเล็กเมืองน้อยล้วนถูกปกครองโดยมหาราชา ซึ่งมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้มักไม่ชอบฟังคำปฏิเสธ เลยทำให้ข้ารับใช้หรือผู้ที่อยู่ในวรรณะต่ำกว่าไม่กล้าปฏิเสธเรื่องใดกับมหาราชาของพวกเขา 

ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีคำตอบของคำว่า ‘ไม่’ อยู่ในใจ แทนที่จะใช้วิธีส่ายหน้า พวกเขาก็เปลี่ยนมาใช้เป็นวิธีโยกหัวจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้ายแทน เพื่อแสดงถึงความหมายของคำว่า ‘ยังไงก็ได้’ หรือ ‘แล้วแต่คุณ’ โดยการแสดงออกด้วยท่าทางเช่นนี้จะทำให้พวกเขาไม่ต้องถูกลงโทษ 

ขณะที่บางสมมติฐานก็อ้างว่า จริงๆ แล้วการส่ายหน้าหรือการโยกหัวของคนอินเดียเป็นวัฒนธรรมที่มีต้นกำเนิดมาจาก Traditional Indian Folk Dance ที่ได้รับการสืบทอดวิชากันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ โดยหนึ่งในทักษะของผู้เรียนที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนกันยาวนานเป็นปีๆ คือการโยกคอไปมาตามจังหวะของเสียงดนตรี ซึ่งการโยกคอเหล่านี้เองก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในที่สุด 

ไปนั่งคุยกับแขกพาหุรัดไขปริศนาการส่ายหน้าของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามตีความ, การส่ายหน้าของคนอินเดีย หมายถึง
ไปนั่งคุยกับแขกพาหุรัดไขปริศนาการส่ายหน้าของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามตีความ, การส่ายหน้าของคนอินเดีย หมายถึง

แต่ก็อย่างที่บอกล่ะว่าเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงสมมติฐานที่ใครต่อใครพยายามตั้งขึ้นมาเพื่อหาคำตอบ ซึ่งเอาเข้าจริง ถ้าเรามีโอกาสได้เข้าไปนั่งอยู่ในวงสนทนาของคนอินเดียที่ประเทศอินเดียอยู่บ่อยๆ จะพบว่าการส่ายหน้าหรือการโยกหัวของคนอินเดียในวงสนทนาถือเป็นเรื่องปกติในการใช้ชีวิต มันเป็นสิ่งที่ติดตัวพวกเขามาตั้งแต่เกิดแล้ว เพราะตั้งแต่เกิดลืมตามา พ่อแม่ปู่ย่าตายายก็โยกหัวในช่วงระหว่างการสนทนาให้ได้เห็นอยู่ตลอด อากัปกิริยาที่เกิดขึ้นเหล่านี้มันก็ค่อยๆ ซึมซับอยู่ในตัวเด็กกระทั่งจนเติบโต โดยฉันขอแบ่งการส่ายหน้าหรือการโยกหัวของคนอินเดียออกเป็น 4 ลักษณะที่เห็นอยู่บ่อยๆ 

แบบแรก การตอบรับด้วยการพยักหน้าที่แปลว่าใช่ เหมือนกับวัฒนธรรมอื่นๆ ทั่วไป

แบบที่ 2 การส่ายหน้าจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย เป็นท่าทางของการปฏิเสธว่า ‘ไม่ใช่’ 

แบบที่ 3 การโยกคอซ้ายขวาซ้ายขวาเป็นระยะในช่วงของการสนทนา ถือเป็นการแสดงออกให้คู่สนทนาที่อยู่ตรงหน้ารับทราบว่า ‘ฉันกำลังฟังเธออยู่นะ’ หรือในบางครั้งก็อาจแปลว่า ‘ใช่’ ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของบทสนทนา

แบบที่ 4 การโยกคอซ้ายขวาซ้ายขวา คล้ายกำลังวาดรูปเลข 8 ที่ลากจากล่างขึ้นบนและบนลงล่าง แปลได้ว่า ‘อาจจะ’ หรือ ‘ก็น่าจะใช่นะ’

นอกจากการส่ายหน้าและการโยกหัวของคนอินเดียในช่วงระหว่างการสนทนาแล้ว ถ้าเราสังเกตบุคลิกลักษณะของคนอินเดียที่ประเทศอินเดียให้ดี จะพบว่าคนอินเดียที่นั่นยังใช้ภาษากายในการสื่อสารได้เต็มที่มาก ไม่ว่าจะดวงตาเบิกกว้าง จ้องมองคู่สนทนาแบบเอาเป็นเอาตาย การเลิกคิ้วหรือการขมวดคิ้วไปตามอารมณ์ของเนื้อหาที่คู่สนทนากำลังเล่าให้ฟัง รวมไปถึงมือไม้ที่แสดงออกถึงปฏิกิริยาของการมีส่วนร่วมในเรื่องราวของบทสนทนาที่อยู่ตรงหน้า 

เหล่านี้ ล้วนบอกถึงความจริงจังของคนอินเดียในเรื่องการสื่อสารและการอธิบายความ มันคือความตั้งใจและความใส่ใจในการให้เวลากับคู่สนทนาที่อยู่ตรงหน้าอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ฟังผ่านๆ หรือฟังตามมารยาท และข้อหนึ่งที่ฉันสังเกตเห็นอยู่บ่อยครั้ง คือคนอินเดียมักปฏิเสธไม่เป็น วิธีการเลี่ยงการปฏิเสธของพวกเขาจึงเป็นการโยกหัวในลักษณะของเลข 8 ที่ให้ความหมายของคำว่า ‘อาจจะ’ หรือ ‘ก็น่าจะใช่นะ’ 

ไปนั่งคุยกับแขกพาหุรัดไขปริศนาการส่ายหน้าของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามตีความ, การส่ายหน้าของคนอินเดีย หมายถึง
ไปนั่งคุยกับแขกพาหุรัดไขปริศนาการส่ายหน้าของคนอินเดียที่คนทั้งโลกพยายามตีความ, การส่ายหน้าของคนอินเดีย หมายถึง

และนักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเคยมีประสบการณ์ของการถามทางจากคนอินเดียที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเรามักจะได้คำตอบผิดๆ อยู่เสมอ เอาเข้าจริง เขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะตอบผิดหรอก แต่อย่างที่บอกว่าคนอินเดียที่นั่นโดยมากไม่ชอบปฏิเสธคน เขาเลยเลือกให้คำตอบกับเราแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าคำตอบที่ให้มานั้น มันอาจจะผิดก็ตาม

ตอบผิดยังมีโอกาสถูก ดีกว่าปฏิเสธที่จะไม่ตอบเลย

ในช่วงของการเขียนบทความนี้ ข้อมูลส่วนหนึ่งได้มาจากการสังเกตการณ์ในช่วงระหว่างการเดินทางในประเทศอินเดียของฉัน รวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ฉันพบว่าวัฒนธรรมการส่ายหน้าและการโยกหัวของคนอินเดีย ระหว่างคนอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศอินเดีย กับคนอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเองก็ไม่เหมือนกันเลย 

คนอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะพยักหน้าหรือโยกหัวด้วยความหมายเดียวกับคนไทยทั่วไป คือการพยักหน้ารับแปลว่า ใช่ การส่ายหน้าแปลว่า ไม่ใช่ รวมทั้งในช่วงของการสนทนา คนอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็จะไม่ได้ส่ายหน้าหรือโยกหัวถี่เท่ากับคนอินเดียที่อาศัยอยู่ที่ประเทศอินเดีย 

ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ล้วนเป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางสังคม เราโตมาในสังคมแบบไหน เราก็ถูกหล่อหลอมให้เป็นแบบนั้น เราใช้ชีวิตอยู่กับสังคมแบบไหนนานๆ เราก็จะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปตามสังคมนั้นๆ รวมไปถึงเรื่องของการใช้ภาษากายในการพยักหน้าและการโยกหัวในการตอบรับด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าการส่ายหน้าและจังหวะของการโยกหัวถี่ๆ ที่ให้คำตอบสวนทางกับชาติอื่นของคนอินเดีย ถือเป็นหนึ่งในบุคลิกลักษณะและเสน่ห์ของคนอินเดีย ที่คนทั่วโลกมักหยิบมาพูดถึงเป็นอันดับแรกๆ อยู่เสมอ

Writer & Photographer

Avatar

พัทริกา ลิปตพัลลภ

นักเขียนและนักเดินทาง เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ที่ชาตินี้ยังคงใช้เวลาเดินทางไปกลับอินเดียอยู่บ่อยๆ จนเป็นเหมือนบ้านที่สอง